ส่วนกล้วยที่เกิดจากลูกผสมของกล้วยทั้งสองชนิดจะมีจีโนม

แตกต่างกันไปโดยสามารถจำแนกกลุ่มพันธุ์ โดยใช้การรวมพันธุ์เป็นคะแนน สำหรับบ่งชี้ความสัมพันธ์ของกล้วยป่าเป็นบรรพบุรุษทั้ง 2 ชนิด โดยใช้ลักษณะภายนอก 15 ลักษณะ คือ สีของกาบใบ ร่องของกาบใบ ก้านช่อดอก ก้านดอกออวุล ไหล่ของกาบปลี การม้วนของกาบปลี รูปร่างของกาบปลี ปลายของกาบปลี การซีดของกาบปลี รอยแผลของกาบปลี กลีบรวมเดี่ยว สีของดอกเพศผู้ สีของยอดเกสรเพศเมีย สีของกาบปลี

ต่อจากนั้นดำเนินการสกัดดีเอ็นเอและการวิเคราะห์ลำดับนิวโอไทด์ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม และดำเนินการจัดทำแปลงอนุรักษ์ ขยายพันธุ์ โดยการจัดทำแปลงสำรองพันธุ์กล้วยพื้นเมืองที่รวบรวมได้ ไปปลูกรวมในแหล่งอื่นๆ นอกจากในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยการขยายพันธุ์และจัดทำป้ายเรียนรู้กล้วยพื้นเมืองหายาก

บันทึกข้อมูล และทำแปลงอนุรักษ์ขยายพันธุ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ได้บันทึกชื่อพันธุ์ ชื่อท้องถิ่น วันที่เก็บ วันที่ปลูก พิกัด/สถานที่เก็บรวบรวมพันธุ์ เจ้าของพันธุ์ และแหล่งพันธุ์ รวมทั้งบันทึกสีของของลักษณะภายนอก 15 ลักษณะตามที่กล่าวมาแล้ว ตลอดจนบันทึกผลการสกัด DNA และการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์

ในปี 2564 พบเพิ่มอีก 3 สายพันธุ์ 1.กล้วยในแปลงจำนวน 1 พันธุ์ ที่สามารถนำมาแปรรูปในลักษณะแป้งกล้วย ใช้บริโภคสำหรับผู้รักสุขภาพ คือกล้วยแกง และกล้วยหายากเป็นที่นิยมของนักสะสมมีจำนวน 2 พันธุ์ คือ กล้วยตะเภา หรือกล้วยเภา และกล้วยงาช้าง กล้วย 2 ชนิดนี้เป็นที่ต้องการของนักสะสมกล้วยแปลก มีราคาจำหน่ายในท้องตลาดค่อนข้างสูง ประมาณ 250-500 บาท ต่อหน่อ ซึ่งน่าสนใจจะนำมาขยายผลให้ได้คุณค่าทางเศรษฐกิจ

คุณปฏิวุฒิ บอกว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ได้จัดทำแปลงสำรองพันธุ์และขยายผล โดยสนับสนุนหน่อกล้วยให้แก่โรงเรียนบ้านโคกศิลา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนวนทั้งหมด 15 พันธุ์ สถานีทดลองพันธุ์ไม้พิกุลทอง จำนวนทั้งหมด 36 พันธุ์ และในศูนย์วิจัยฯ ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายของกล้วยพื้นเมืองภาคใต้ และเป็นแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยพื้นเมืองตามพระราชดำริ

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจเข้าชมศึกษาเรียนรู้พันธุ์กล้วยหายากตามพระราชดำริ ติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส 96140 โทร. 073-651-397 และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้…แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”

ข้างต้นคือพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปี 2539 สะท้อนถึงคุณค่าของน้ำต่อชีวิต ทั้งในแง่บริโภคและอุปโภค

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ จึงสนับสนุนงบประมาณรวม 3.14 ล้านบาท โดยร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) รวมถึงชาวบ้าน ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างแปลงเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ และสร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต

พลิกฟื้นที่ดินแห้งแล้งหลายพันไร่ ขาดแคลนน้ำ ให้กลายเป็นที่ดินปลูกพืชผลนานาพันธุ์ มีแหล่งกักเก็บน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี มีผลผลิตคุณภาพส่งจำหน่าย สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นความสำเร็จ อันแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น

โอกาสที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ครบรอบ 10 ปี จึงจัดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร่วมสรุปแนวทาง “โครงสร้างพื้นฐานสังคม และเศรษฐกิจใหม่บนหลักของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่” เยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และ ไอ.ซี.ซี. รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลงพื้นที่

ทั้ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ สสน. และกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ คุณอาสา สารสิน อดีตราชเลขาธิการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิบัวหลวง คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ ไอ.ซี.ซี. คุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด คุณดำรัสสิริ ถิรังกูร ประธานบริหารไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี ฯลฯ

เรียนรู้ความเข้มแข็งของชุมชน พร้อมเดินหน้าส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมยกเป็นตัวอย่างชุมชนต้นแบบ ที่สามารถขยายผลความสำเร็จไปยังเกือบ 2,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

พลิกที่ร้าง สู่ที่รุ่ง

“เดิมพื้นที่นี้เป็นสนามกอล์ฟร้าง มีเนื้อที่ราว 3,565 ไร่ ซึ่งรัฐซื้อจากเอกชนมาจัดสรรที่ดิน โดยในปี 2552 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร 1,889 ราย และนำมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้มีหนี้สินและไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่เพชรน้ำหนึ่ง จำนวน 238 ครัวเรือน

“แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ค่อนข้างลาดเอียงและเป็นดินลูกรัง ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ เกษตรกรจึงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถขายผลผลิตในราคาหรือปริมาณที่คาดไว้ได้ ต้องอยู่ในวังวนของภาระหนี้สิน” คุณกิตติกากนก คนซื่อ ชาวบ้านชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง กล่าวถึงสภาพพื้นที่ที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ

กระทั่งปี 2557 ชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ที่ลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งแนวทางการพัฒนาของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ คือ จัดการที่ดินและพื้นที่เกษตร จัดการน้ำ และจัดการกระบวนการผลิต โดยเป็นการจัดการทุกด้านที่จำเป็น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

ส่วนไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี ก็เข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพสมาชิกชุมชน โดยเฉพาะการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริ ซึ่งมีทั้งแปลงครัวเรือนและกลุ่ม เมื่อได้ผลผลิตทางการเกษตรแล้วก็นำออกจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

จากผืนดินโรยรา เมื่อมีการปรับปรุงพัฒนา ก็ค่อยๆ ฟื้นคืนชีวิต ด้วยน้ำพักน้ำแรงของทุกฝ่ายที่ร่วมกันดูแล

“ตลอดระยะเวลาการพัฒนา พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์แล้วประมาณ 1,300 ไร่ หรือร้อยละ 36.4 ของพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด เกิดประโยชน์กับสมาชิก 238 ครัวเรือนอย่างมาก ส่วนปีนี้ เรามีเป้าหมายในการพัฒนาระบบกระจายน้ำในพื้นที่เพิ่มเติม ประมาณ 130 ไร่ เพื่อขยายความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ต่อไป” คุณกิตติกากนก เผย

หนุนพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งชุมชน

ภาพสระน้ำขนาดใหญ่หลายสระ พร้อมลำรางเชื่อมต่อถึงสระอื่นในพื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง และหอเก็บน้ำต่างระดับ คือตัวอย่างบางส่วนของความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันระหว่างชาวบ้าน มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และการสนับสนุนอย่างแข็งขันของภาคเอกชนอย่าง ไอ.ซี.ซี.

“การได้มาร่วมงานวันนี้ ทำให้ทราบว่างานนี้มีเอกชนหรือองค์กรเข้ามาช่วยมากพอสมควร สำหรับผม การมาช่วยที่นี่เกิดจากท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ได้เอ่ยถึงโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำขึ้นตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สามารถดูแลน้ำ ดูแลพืช ดูแลการเกษตร ให้เกษตรกรสามารถพยุงตัวและมีรายได้ที่เหมาะสม จึงมอบหมายให้ คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ (กรรมการของ ไอ.ซี.ซี.) ช่วยประสานงานกับ ดร.สุเมธ เพื่อดำเนินการ” คุณบุญเกียรติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้น

ความร่วมมือระหว่างเครือสหพัฒน์กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ย้อนไปได้ในปี 2560 ที่บริษัทในเครือสหพัฒน์ ร่วมจัดแฟชั่นกาล่าดินเนอร์การกุศล ร่วมกับมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา และนำรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจากงานนี้ จำนวน 3,325,999 บาท สนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริฯ และยังคงสนับสนุนจนถึงปัจจุบัน

ส่วนการช่วยเหลือชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เกิดขึ้นในปี 2561 เมื่อ ไอ.ซี.ซี. ออกคอลเล็กชั่นพิเศษ WBG (White Black Gold) และร่วมกับ มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา และบริษัทในเครือสหพัฒน์ นำรายได้ส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่นนี้ จำนวน 2,000,000 บาท สนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่ อาทิ งานขุดลอกคลองส่งน้ำระยะทาง 1.720 กิโลเมตร พร้อมท่อลอด อาคารบังคับน้ำ รางรับน้ำและผนังยกระดับน้ำ รวมถึงงานแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ พื้นที่ 34 ไร่

“สระ 10 มีพื้นที่ราว 17 ไร่ รับน้ำในหน้าฝนจากเทือกเขาที่ตั้งโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ในอำเภอท่ายาง มีลำรางเชื่อมไปสระ 9 และเชื่อมต่อไปสระอื่นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมีฝน น้ำก็จะไหลเต็มทุกสระ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี ต้นไม้รอบๆ ก็เขียวชอุ่ม” คุณอภิชัย ชาติเอกชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนสหพันธ์เกษตรกรเพชรน้ำหนึ่ง ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น

จากนั้นปี 2562 ไอ.ซี.ซี. ได้สนับสนุนงบประมาณ 700,000 บาท ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และชุมชน สร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต ส่งตรงผลิตภัณฑ์การเกษตรสดใหม่จากไร่ ทั้ง ผักชี คะน้าฮ่องกง มะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเปราะ ตะไคร้ ผักบุ้งจีน พริกขี้หนู ฯลฯ ในชื่อ “ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี” ที่ผ่านการคัดสรรคุณภาพแล้วอย่างดี จำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่ร้านค้ามูลนิธิชัยพัฒนา 1 สาขา และร้านโกลเด้น เพลซ 15 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 12 สาขา หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 สาขา และ จังหวัดเพชรบุรี 1 สาขา

ปีที่ผ่านมา ไอ.ซี.ซี. ยังช่วยเหลือชุมชน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ 440,000 บาท ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สร้างหอเก็บน้ำต่างระดับกว่า 10 หอ เพื่อนำน้ำจากสระขนาด 23 ไร่ กระจายแจกจ่ายน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกกว่า 500 ไร่

“พอมาถึงจุดนี้ได้ จะเป็นประโยชน์ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มาก หวังว่าจะได้มีโอกาสสนับสนุนโครงการนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะครอบคลุมเกือบทั้งประเทศได้ บริษัทในเครือสหพัฒน์มีสาขาอยู่มากมายในประเทศไทย หวังว่าจะได้เป็นพี่เลี้ยงให้โครงการต่างๆ อีกได้มากพอสมควร ต้องขอขอบคุณ ดร.สุเมธ ที่จุดประกายให้ผมและทีมงานได้มีโอกาสเข้ามาทำโครงการนี้ รู้สึกปลื้มใจที่ได้เห็นการพัฒนาที่เป็นประโยชน์กับชุมชน” ประธานกรรมการ ไอ.ซี.ซี. กล่าวอย่างภูมิใจ

“ชุมชน” คือหัวใจการพัฒนาประเทศ

หลังจากเยี่ยมชมจุดต่างๆ แล้ว ดร.สุเมธก็กล่าวว่า วันนี้มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ภาคเอกชน และชุมชน ได้ร่วมกันดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนปรากฏเป็นความสำเร็จ เป็น 3 ประสานที่ทรงพลังยิ่ง

“ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกัน “เทิด ด้วย ทำ” คือทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สานต่อพระราชปณิธานที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์ จึงจะเป็นการเดินตามรอยพระองค์อย่างแท้จริง”

ด้าน ดร.รอยล เผยว่า อยากขับเคลื่อนความสำเร็จของชุมชนเพชรน้ำหนึ่งให้เป็นโมเดลรูปแบบใหม่ ที่สามารถนำไปสร้างความเข้มแข็งให้กว่า 1,800 หมู่บ้าน ที่ สสน. ดูแลอยู่ ให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

“อย่าคิดว่า กทม. เป็นหัวใจของการผลักดันให้ประเทศพัฒนา เพราะที่จริงแล้วเป็นชุมชนต่างๆ ทั่วไทย ที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า” ดร.รอยล กล่าวหนักแน่น

ส่วนคุณอาสา ก็กล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้มาชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของภาครัฐ เอกชน และชุมชน เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง มีผลผลิตจำหน่าย ช่วยลดภาระหนี้สินและเพิ่มรายได้ในระยะยาว อยากชวนให้เอกชนอื่นๆ มาร่วมกันพัฒนา เพื่อสร้างชุมชนเช่นนี้ให้เกิดขึ้นทั่วไทย

เมื่อชุมชนแข็งแกร่ง ก็ช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขึ้นชื่อว่าผัก ผู้คนมักสนใจไขว่คว้าเสาะหา เพราะเราท่านต่างรู้ว่าเป็นของดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นทั้งอาหารการกิน เป็นทั้งสมุนไพร ยารักษาป้องกันโรค เป็นยาบำรุงร่างกาย มีคุณค่าประโยชน์สารพัด สิ่งสำคัญของผักทั้งหลาย คือคุณค่าทางอาหาร ที่รู้จักกันมานานคือ ผักมีเส้นใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหาร การขับถ่าย ร่างกายคนเราถ้าระบบย่อยอาหารดี ระบบขับถ่ายไม่มีปัญหา คนนั้นมักมีสุขภาพดี มีผลทางด้านอารมณ์และจิตใจก็ดีตามมาด้วย

ผักหวานบ้าน เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากในทุกภูมิภาคของไทย พบมากในป่าผสมผลัดใบ ป่าทุ่ง ป่าแดง ริมทุ่งนา นิยมนำมาปลูกริมรั้ว หลายคนนิยมชมชอบในรสชาติ หลายคนพึงใจในความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เพราะแทบจะหาศัตรูรบกวนไม่มี จึงไม่มีใครนำสารเคมีไปฉีดพ่น ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างในผักหวานบ้าน แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังไม่อยากลิ้มรส เพราะไม่ชอบกลิ่นที่ออกจะเหม็นเขียว เอียน ก็ไม่รู้จะเป็นอุปาทานของบางคนหรือไม่ ก็เหมือนรักชอบสิ่งไหน ก็ดูดีมีเสน่ห์ไปหมด เกลียดสิ่งใด ก็เห็นเป็นสิ่งรำคาญใจนั่นแหละ

ผักหวานป่า หรือชื่อสามัญ Star Goose Berry เป็นพืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ Sauropus androgynus Merr .

มีชื่อเรียกในถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือ เรียก จ้าผักหวาน ผักก้านตง ใต้ใบใหญ่ ภาคใต้เรียก ผักหวานใต้ใบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียก มะยมป่า สตูลและมลายู เรียก นานาเซียม เป็นไม้พุ่ม ต้นแข็ง สูง 0.5-2 เมตร กิ่งก้านค่อนข้างเล็ก ทรงตั้งตรง เปลือกต้นขรุขระสีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเขียวเข้ม กิ่งแก่สีเขียวปนเทา

ผิวเปลือกเรียบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยแตกเป็นคู่สลับ ใบย่อยกลมขอบขนาน หรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ มีหูใบเป็นแผ่นเล็กๆ ที่โคนก้านใบ ก้านใบสั้น

ดอกสีเขียวอมเหลือง และน้ำตาลแดง หรือม่วงแดง หรือแดงเข้ม เป็นกลุ่ม 2-4 ดอก ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกซอกใบ ติดผลกลมมีพู คล้ายผลมะยม แต่มีแค่ 3 พู ผลสีขาวนวล ออกสีชมพูเรื่อๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ฐานผลสีแดงหรือชมพูเข้ม ติดผลใต้ใบ สวยงามมาก มีเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมสีดำมันเลื่อม

การปลูกผักหวานบ้าน ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกขยายพันธุ์ง่ายมาก ไม่ยุ่งยากเหมือนพืชอื่น ถ้าใช้ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ก็เก็บเอาผลแก่ที่แก่จัด สังเกตได้จากผลจะเริ่มแตกตามรอยร่องพู เมล็ดสีดำ นำไปผึ่งลมให้เริ่มแห้ง แช่น้ำ แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะที่ผสมดิน ทราย แกลบ เมื่องอกและเจริญเติบโต ผลิใบ 2-3 ใบ ย้ายไปปลูกหรือไปเพาะเลี้ยงในถุงให้โตพอเหมาะที่จะนำไปปลูกลงแปลงได้ อายุประมาณ 6 เดือน นำลงแปลงปลูก

อีกวิธีหนึ่ง คือ การชำกิ่ง โดยตัดกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ จากต้นแม่ ยาวท่อนละ 3 ข้อ หรือประมาณ 20 เซนติเมตร ปักชำในกระบะทราย ผสมแกลบและดิน ไว้ในที่แสงแดดรำไร ประมาณ 45-60 วัน สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้ หรือจะปักชำลงถุงดิน เพื่อการเคลื่อนย้ายได้สะดวก หรือสำหรับจำหน่าย แล้วแต่ความต้องการ และเหมาะสมกับสถานการณ์

ผักหวานบ้าน เป็นพืชที่เจริญเติบโตง่ายกับทุกสภาพอากาศ ทุกสภาพดิน ขอให้มีปริมาณน้ำหรือความชื้นมาก ดินดี น้ำดี มีปุ๋ยบำรุงดี จะเจริญเติบโตได้ดีมากกว่าสภาพที่แล้ง และปลูกครั้งเดียว ยืนต้นให้เก็บยอดกินได้หลายปี ถ้าคอยดูแลอายุจะยืนยาว

การปลูกผักหวานบ้าน
การเตรียมดินขึ้นแปลง ปลูกระยะ 1×1 เมตร Star Vegas รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกที่แห้ง หรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายตัวดีแล้ว หลุมละ 1-2 กิโลกรัม ผสมดินก้นหลุม หรือถ้าเป็นไปได้ มีทุนพอที่จะใช้ปุ๋ยเคมีผสมลงรองก้นหลุมด้วย ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 10-20 กรัม ต่อหลุม ปลูกผักหวานหลุมละ 1 ต้น เมื่ออายุ 90 วัน ใส่ปุ๋ยเสริมแต่ง ด้วยปุ๋ยน้ำตาลสูตร 21-0-0 อัตรา 10-20 กรัม ต่อต้น หรือปุ๋ยยูเรีย 5-10 กรัม ต่อหลุม เร่งการออกยอด ใส่ปีละ 3 ครั้ง

หลังย้ายปลูก 60 วัน สามารถเก็บเกี่ยว โดยเด็ดยอดอ่อนไปบริโภค หรือจำหน่ายได้ และอีก 15 วัน ยอดชุดใหม่จะแตกออกมาให้เก็บ เป็นอย่างนั้นทั้งปี ถ้าสภาพแวดล้อมดี ผลผลิตเฉลี่ย 3,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าขยันดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย ให้น้ำสม่ำเสมอ ส่วนโรคแมลงศัตรูผักหวานมีน้อยมาก เท่าที่มีประปรายคือ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แต่ก็มีศัตรูธรรมชาติช่วยควบคุมดูแลอยู่ เช่น มดง่าม มดแดง เลยทำให้หมดห่วงเรื่องการปราบศัตรูพืชด้วยการใช้สารเคมี

ผักหวานบ้าน เป็นพืชอาหารที่ชาวบ้านนิยมมากชนิดหนึ่ง ใช้ใบอ่อนยอดอ่อนนำมาปรุงอาหารเป็นแกงเลียงผัก แกงแค แกงส้ม ผักหวานไฟแดง ลวก ผักต้มกะทิ ผัดฉาบน้ำมัน จิ้มน้ำพริก รสชาติหวานกรอบอร่อย สมดังชื่อผักหวาน

ผักหวานมีคุณค่ามากมาย โดยเฉพาะวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา มีมาก 8,500-16,500 iu. ปริมาณใบยอดอ่อน 100 กรัม ให้พลังงาน 39 กิโลแคลอรี มีส่วนประกอบของน้ำ 87% เป็นเถ้า 1.8 กรัม เส้นใยอาหาร 2.1 กรัม โปรตีน 0.1 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.3 กรัม แคลเซียม 24 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม เหล็ก 1.3 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.12 กรัม วิตามินบีสอง 1.65 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 3.6 มิลลิกรัม

ที่สำคัญและหาไม่ค่อยได้จากพืชอื่นคือ วิตามินเค ที่มีผลเกี่ยวกับการบำรุงตับ และทำให้เลือดที่ออกบาดแผลแข็งตัว อีกทั้งเป็นตัวที่ทำงานกับวิตามินดี ควบคุมปริมาณแคลเซียมในร่างกายให้ปกติ แนะนำไม่ควรรับประทานเป็นผักสดปริมาณมาก เพราะมีสาร papaverine มีพิษต่อปอด เวียนศีรษะ ท้องผูก

ผักหวานบ้าน หมอพื้นบ้านใช้ประกอบเป็นยารักษาโรคได้มากกว่า 30 ชนิด ทั้งส่วนราก ต้น ใบ สามารถใช้รักษาโรคเลือด แก้ขัดปัสสาวะ เป็นยาขาง โรคที่มีอาการเสียดข้าง เสียดท้อง ไอ เจ็บคอ ปากเหม็น คอพอก น้ำยาหยอดตาแก้ตาอักเสบ แผลในจมูก แผลในปาก ฝ้าขาวทารก โรคคางทูม ฝีหนอง ส่วนประกอบยาเขียว ใช้รักษากระทุ้งพิษไข้ และอีกหลายโรคภัยที่ผักหวานบ้านรักษาได้