ส่วนการดูแลปฏิบัติการกับสวนทุเรียนนั้น คุณบุญเรือง เล่าว่า

ต้องใช้ความขยันหมั่นเพียร อดทนกับสภาพพื้นที่ต้องดูแลทุเรียนแต่ละต้นว่า ต้น ใบ กิ่ง ก้าน ดูสดใส ก็แสดงว่าต้นทุเรียนมีสุขภาพดีอยู่ ก็ไม่ต้องใส่ปัจจัยการผลิตใดๆ มากนัก หรือสังเกตว่าหลังการใส่ปัจจัยการผลิตลงไปแล้วสักระยะหนึ่ง การตอบสนอง การเจริญเติบโตเป็นเช่นไร กล่าวถึงการใส่ปัจจัยการผลิต ขณะที่ต้นทุเรียนยังมีอายุไม่มาก ก็จะใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 สลับกับ สูตร 15-15-15 ทยอยใส่ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ต่อต้น ใส่ทุก 2-3 เดือน และใส่ปุ๋ยคอกจากขี้วัว กับใช้น้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวกและฮอร์โมนสังเคราะห์แสง ฉีดพ่นเพื่อเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง

น้ำหมักชีวภาพ หรือจุลินทรีย์จากจาวปลวก

– ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของรากต้นทุเรียน รากแข็งแรง

– ช่วยลดความรุนแรงของโรคในดินที่ระบบราก เช่น รากเน่า รากขาว รากปม เป็นต้น

– ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน

ฮอร์โมน หรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน

– กระตุ้นรากดูดซึมธาตุอาหารได้ดี

– ช่วยตรึงไนโตรเจนในดิน

นอกจากนั้นก็ต้องมีการตัดแต่งกิ่ง วัตถุประสงค์เพื่อจัดรูปทรงหรือทรงพุ่มของต้นทุเรียนที่ต้องการ โดยตัดแต่งกิ่งแขนงและกิ่งรองออกทั้งหมด เพื่อให้โคนใหญ่ กิ่งใหญ่

การใส่ปุ๋ยคอกนั้น ก็ต้องปรับพื้นที่ดินโดยขุดร่องให้อยู่เหนือโคนต้นทุเรียน ป้องกันการชะล้างหน้าดิน เวลาให้น้ำหรือฝนตกไม่ให้ไหลลงตามพื้นที่ลาดเอียง หากเมื่อได้ขุดหรือแหวกหน้าดินดู เห็นมีไส้เดือน หรือมีต้นหญ้าเล็กๆ ขึ้นเขียวขจี แสดงว่าดินบริเวณนั้นมีความสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารพืช เรื่องระบบน้ำบางส่วนใช้สปริงเกลอร์ ช่วงฤดูฝนไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ มีการเก็บสำรองน้ำฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง ใส่แท็งก์น้ำไว้บนที่สูงแล้วระบายลงไปตามท่อ ถ้ายังไม่พอใช้ก็สูบขึ้นมาจากบ่อบาดาลบรรจุไว้ในแท็งก์น้ำ นำมาใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูกาล ส่วนสารเคมีสำหรับพืชที่สวนแห่งนี้ไม่ได้นำมาใช้ ใช้วิธีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงแบบธรรมชาติ เช่น การใช้กับดักแมลง น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย เป็นต้น

“ปลูกทุเรียนบนพื้นที่ลาดเชิงเขา ที่อยู่สูงกว่าที่ตั้งบ้านเรือนต้องรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ใช้สารเคมี” คุณบุญเรือง กล่าว การปฏิบัติดูแลต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว

คุณบุญเรือง บอกว่า ต้นทุเรียนเมื่ออายุได้ 5 ปี ก็จะทยอยให้ผลผลิตแล้ว หลังจากเก็บผลทุเรียนจะให้ต้นได้พักตัวระยะหนึ่ง ก็จะถึงเวลาเตรียมต้นสำหรับการออกดอกในฤดูกาลต่อไป คือราวๆ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม

หลังเก็บผลผลิต จะตัดแต่งกิ่ง วัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นทุเรียนแตกใบรุ่นใหม่ ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 ร่วมกับปุ๋ยคอก โดยหว่านปุ๋ยคอกก่อน แล้วตามด้วยปุ๋ยเคมี ช่วงเวลานี้ต้องหมั่นคอยสังเกตโรคและแมลงมีมารบกวนหรือไม่ แมลงจะมีพวกแมลงปีกแข็ง ตั๊กแตน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่แจ้ จะเริ่มเข้ารบกวนเมื่อทุเรียนเริ่มแตกใบอ่อน พวกนี้กำจัดได้โดยใช้จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หรือใช้ขี้เถ้าผสมน้ำ ตั้งไว้ 1 คืน แล้วกรองเอาแต่น้ำ นำไปผสมกับน้ำเปล่าในแท็งก์น้ำด้วยระบบน้ำหยด และสูบขึ้นตามท่อสายส่งของสปริงเกลอร์แบบบิ๊กกันที่ติดตั้งไว้สูงกว่ายอดต้นทุเรียนเล็กน้อยฉีดพ่น

ก่อนถึงการส่งเสริมการออกดอก ต้องทำใบให้ได้ 2-3 รุ่นใบ ในแต่ละรุ่นใบดูการพัฒนาของใบ ใบเขียวสดใส ให้มีการสะสมธาตุอาหารอย่างเพียงพอ เน้นการจัดการเรื่องน้ำ เพื่อให้มีการแทงยอดอ่อนให้เร็วที่สุด เป็นการสร้างใบใหม่ ไม่ให้มีการถ่ายใบ จากนั้นก็ต้องปฏิบัติการทำให้ต้นทุเรียนเกิดสภาวะเครียด ด้วยการงดให้น้ำ เราใช้ภาษาใบในการสื่อสารให้เห็นพฤติกรรมการแสดงออกของใบ คือใบเขียวเข้ม ใบเริ่มสลดลง ใบจะห่อเหี่ยวเข้าขอบใบ ใบเริ่มตก ต้องเริ่มให้น้ำทีละน้อยๆ เพื่อกระตุ้นตาดอกทุเรียนให้เจริญ หากต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ ผ่านช่วงแล้งเพียง 10-14 วัน และมีอากาศเย็นเล็กน้อย ทุเรียนก็จะออกดอก อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการให้ต้นทุเรียนออกดอกในแต่ละฤดูกาล ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพต้นว่าพร้อมสร้างตาดอกแล้วหรือยัง กับสภาพดินฟ้าอากาศ และปัจจัยการผลิตที่ใช้

ช่วงเวลาแห่งการรอคอย เมื่อทุเรียนออกดอกติดผล

เป็นช่วงเวลาที่คุณบุญเรืองต้องใช้เวลาในการดูแล สังเกต ตั้งแต่เริ่มออกดอก จนดอกบานและติดผล กับการต้องแต่งดอก แต่งผล เป็นการรักษาสมดุลให้พอเหมาะกับต้นและใบ ว่าแต่ละกิ่งก้านจะให้มีผลได้กี่ผล ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค โดยบอกว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน ต้นทุเรียนจะออกดอก เป็นระยะไข่ปลา เหยียดตีนหนู กระดุม มะเขือพวง หัวกำไล ดอกบาน จนถึงช่วงหางแย้ที่มีความสดใส ต้องหยุดการให้น้ำ งดฉีดพ่นสารใดๆ งดให้ปุ๋ย ต้องรอลุ้นว่าหากปล่อยตามธรรมชาติจะมีผึ้งหรือแมลงใดๆ มาช่วยผสมเกสรบ้างหรือไม่ มากหรือน้อยในช่วงดอกบาน

พอถึงต้นเดือนเมษายน เมื่อดอกทุเรียนได้พัฒนาเข้าสู่การติดผล ก็จะเริ่มให้น้ำ ร้อยละ 20 รอบรัศมีจากโคนต้นทุเรียน ถึงตรงนี้คุณบุญเรืองอธิบายว่า หากรัศมีทรงพุ่มของต้นทุเรียนระยะ 10 เมตร จะให้น้ำจากโคนต้นออกมาประมาณ 2 เมตร ทั้งช่วงนี้จะยังไม่ให้ธาตุอาหารใดๆ ทางดิน ส่วนทางใบนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 15-20 วัน จากช่วงหางแย้ จะฉีดพ่นแคลเซียมโบรอน ธาตุสังกะสี

แคลเซียม เป็นธาตุอาหารรอง ช่วยเคลื่อนย้ายโปรตีน การทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลและเมล็ด

โบรอน เป็นธาตุอาหารเสริม ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสง ช่วยให้พืชดูดและใช้ประโยชน์ธาตุแคลเซียมได้มากขึ้น

สังกะสี เป็นธาตุอาหารเสริม สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต ต้านทานโรคและป้องกันสภาวะเมื่ออากาศแปรปรวน

“เมื่อผลทุเรียนขนาดเท่าไข่ไก่ จะให้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 เข้าไปช่วยเสริม และให้แคลเซียมเม็ดทางดิน น้ำก็ยังให้ที่ร้อยละ 20 เช่นเดิม แต่จะเพิ่มปริมาณน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ การให้น้ำกี่มากน้อยและการให้ธาตุอาหารก็จะเริ่มมีผลต่อรูปทรงของผลทุเรียน ว่าผลจะออกมาลักษณะกลมหรือยาว เรื่องนี้ก็เป็นเทคนิค ทั้งนี้จะใช้ประสบการณ์ในการดูแลพัฒนาการของผลทุเรียน มีการตัดแต่งผล 2 ครั้ง เพราะหากไว้ผลบนต้นมาก การสุกแก่ก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นเรื่องทางเทคนิคอีกเช่นกัน แต่ผมไม่ได้ยึดตามหลักวิชาการเกษตรเสียทั้งหมด” คุณบุญเรือง กล่าว

การดูแลช่วงเก็บผลทุเรียน

คุณบุญเรือง กล่าวว่า จะอยู่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในอำเภอศรีสัชนาลัย จะทยอยตัดทุเรียนขาย เมื่อนับอายุของผลทุเรียนก็ราวๆ 125-130 วัน นับจากระยะหางแย้ ทางวิทยาการสมัยใหม่อาจใช้เครื่องตรวจคุณภาพความสุกแก่หรือเปอร์เซ็นต์การสุกแก่ของผลทุเรียน หรือทางราชการใช้เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของเนื้อแป้ง แต่ที่สวนของตนดูว่าผลทุเรียนสุกแก่ดูได้จากภายนอก เสียงเคาะที่ผล เป็นประสบการณ์และเทคนิค จะไม่ตัดผลทุเรียนอ่อนออกขายอย่างเด็ดขาด โดยจากประสบการณ์จะดูจาก

สังเกตที่ร่องหนาม เห็นเป็นจุดสีน้ำตาลระหว่างร่องหนาม (ภาษาถิ่น เรียกว่า จับหมัด คำว่า “หมัด” หมายถึง จุดสีน้ำตาลที่อยู่ในร่องหนาม) แสดงว่าผลแก่จัด ราวๆ ร้อยละ 80 เช่นนี้ตัดได้
สังเกตที่ปลายหนามแห้ง ถ้าใช้มือหักที่ปลายหนาม หนามจะกรอบ
ใช้ไม้เคาะที่ปลายหนาม ปลายหนามจะหัก แต่ฐานหนามไม่แตก
ดูที่ปลิงหรือจับปลิง จะเป็นปมใหญ่ ถ้าจับที่ขั้วจะรู้สึกสากมือหรือเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ก็ใช้มีดพับ (อุปกรณ์การตัดทุเรียนของท้องถิ่น) แทงเข้าไปในปลิง จะมีน้ำใสๆ ซึมออกมา ลองชิมจะมีรสหวาน

มีเทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่คุณบุญเรืองว่า คือ จะยอมตัดผลทุเรียนมา 1 ผล ใช้มือจับขั้วแล้วแกว่งผลทุเรียน ถ้าทุเรียนผลแก่ขั้วจะแข็งตรึง ทุเรียนศรีสัชนาลัย คุณภาพดี มีตลาดรองรับ

เมื่อถามถึงผลผลิตทุเรียนที่สวนของคุณบุญเรือง ได้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาใด ขณะที่ทุเรียนจากภาคตะวันออก จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน และภาคใต้เดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม “ทุเรียนที่สวนของผมตามฤดูกาลจะตัดขายช่วงกลางเมษายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม แต่ปีนี้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหลายครั้งในช่วงหน้าแล้ง บางช่วงก็มีอากาศเย็น คาดว่าผลผลิตจะเคลื่อนออกไป ส่วนจำนวนผลที่ได้นั้นไม่แน่นอน ในบางปี และต้นทุเรียนมีอายุแตกต่างกัน แต่เท่าที่เคยบันทึกตัวเลข ต้นที่มีอายุ 10-12 ปี จะได้ผลที่ 120-300 กิโลกรัม ต่อต้น”

อีกคำถาม ถามว่า ลักษณะเด่นและสิ่งที่น่าจะพัฒนาต่อไปในเรื่องทุเรียน มีอะไรบ้าง “ทุเรียนที่สวนผมถ้าแกะผลออก จะเห็นทุเรียนออกสีเหลือง ไม่เข้มมาก รสมัน ไม่หวานจัด แต่นุ่มลิ้น กลิ่นไม่ฉุน เนื้อแห้งหนา ละเอียด เมล็ดจะลีบ และเปลือกยังค่อนข้างหนาอยู่ (เนื่องจากอายุของต้นทุเรียนยังเล็กอยู่) ที่สำคัญเป็นทุเรียนปลอดสาร ปัญหาที่ต้องพัฒนาต่อไปคือ การมุ่งมั่นที่จะผลิตทุเรียนอินทรีย์ให้ได้ครับ” คุณบุญเรือง ตอบ

ส่วนเรื่องการตลาดรับซื้อนั้น คุณบุญเรือง บอกว่า เมื่อปีที่แล้วขายให้กับผู้ซื้อในท้องถิ่น ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นทุเรียนหลง-หลิน ลับแล ผู้ซื้อจะขอจองทั้งหมด ราคาขายปีที่แล้วหมอนทอง ขายได้กิโลกรัมละ 90 บาท แต่ปีนี้ผลผลิตหลายแหล่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติ คาดว่าราคาอาจจะแกว่งตัว

ในช่วงท้าย คุณบุญเรือง กล่าวว่า จากเดิมที่ปลูกทุเรียนอย่างเดียว ปัจจุบันได้เริ่มปลูกไม้ผลชนิดอื่นๆ ให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง มะไฟ พริกไทย กาแฟ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดหลากหลาย และออกตลอดทั้งฤดูกาล

คุณสาธิต วิสุทธิพันธุ์ เกษตรอำเภอศรีสัชนาลัย ได้ให้ข้อมูลการปลูกทุเรียนในอำเภอศรีสัชนาลัย มีจำนวน 3,500 ไร่ จำนวนเกษตรกร 500 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกอยู่ในตำบลบ้านตึก ซึ่งเป็นเขตติดต่ออำเภอลับแล และตำบลแม่สิน บางส่วนเท่านั้น และกล่าวอีกว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนที่อำเภอศรีสัชนาลัยมีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคตะวันออก ที่นี่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ผลที่ปลอดภัย ไม่ส่งเสริมการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ปุ๋ยเคมีก็มีการใช้กันค่อนข้างน้อย ให้ใช้วิธีอาศัยปัจจัยจากธรรมชาติเป็นหลัก ทางสำนักงานเกษตรอำเภอได้ดำเนินการฝึกอบรมการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อบิวเวอเรีย และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ภายในสวน

คุณสาธิต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จะเริ่มตัดผลผลิตโดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ด้วยกัน รุ่นที่ 1 เก็บผลผลิตประมาณเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน ซึ่งมีผลผลิตไม่มากนัก รุ่นที่ 2 ช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เกษตรกรที่นี่เขาให้ความร่วมมือดีมากในการเก็บผลผลิตทุเรียนที่แก่จัด ไม่มีการตัดทุเรียนอ่อนออกจากสวน เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้รับข้อมูลจากผู้บริโภคว่า ทุเรียนศรีสัชนาลัย มีรสชาติดี เนื้อแห้ง เมล็ดลีบ เปลือกบาง

การส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนศรีสัชนาลัยอีกประการหนึ่ง คุณสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าไปส่งเสริมจัดระบบการผลิตเป็นกลุ่มผู้ผลิตทุเรียนอยู่ 2 กลุ่ม มีจำนวนสมาชิกกว่า 200 ครัวเรือน มีคณะกรรมการบริหารดูแลจัดการกันเอง จนให้พึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือในการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้กับสมาชิกกลุ่ม ทางสำนักงานก็ได้เข้าไปติดตามส่งเสริมเพื่อให้กลุ่มขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ และที่สำคัญกำลังส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการบริหารจัดการน้ำด้วยการวางระบบน้ำเพื่อใช้ในสวนทุเรียนของเกษตรกรให้มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกทุเรียน

หากท่านมีข้อสงสัย หรือประสงค์จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โปรดติดต่อ คุณบุญเรือง ธิวงค์ษา หมายเลขโทรศัพท์ (098) 556-5829 หรือติดต่อ คุณสาธิต วิสุทธิพันธุ์ เกษตรอำเภอศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ (081) 785-4043, (055) 671-036

เมื่อเอ่ยถึง ทัณฑสถาน หรือ เรือนจำ หลายคนอาจจะนึกถึงภาพผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ถูกจองจำไร้อิสรภาพ แต่สำหรับทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกภาพที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้รับรู้กันในวงกว้างมากนัก โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าเรือนจำแห่งนี้มีฐานะเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งเป็นที่แรกของกรมราชทัณฑ์ พร้อมเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ การปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์ และการเลี้ยงสัตว์

ศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังสมัครใจฝึกวิชาชีพก่อนพ้นโทษ เพื่อให้ออกไปเป็นพลเมืองดี มีงานทำ ซึ่งถือเป็นเกษตรแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งส่งผลผลิต อย่าง กล้วยหอมทอง และกล้วยน้ำว้า ขายในห้างใหญ่ๆ อย่าง เทสโก โลตัส

เตรียมปลูก องุ่น-แก้วมังกร

คุณวิเชียร ทองพุ่ม ผู้อำนวยการทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ให้ข้อมูลว่า มีนักโทษทั้งหมด 4,115 คน โดยได้คัดผู้ต้องขังประพฤติดีที่ใกล้จะพ้นโทษ จำนวน 315 คน มาปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งทางเรือนจำมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 30,000 ไร่ ส่วนที่ปลูกพืชได้ มีประมาณ 1,000 กว่าไร่ และในจำนวนผู้ต้องขัง 315 คน นี้จะทยอยพ้นโทษไปเรื่อยๆ ดังนั้น จะคัดเลือกผู้ต้องขังรายใหม่เข้ามาทดแทน

คุณวิเชียร เล่าว่า ความจริงเรือนจำแห่งนี้มีการฝึกอาชีพให้กับนักโทษหลากหลายสาขา แต่อาชีพเด่นๆ ของที่นี่คือด้านการเกษตร ซึ่งเน้นด้านการปลูกพืชไม้ผลเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะละกอ ข้าวโพด แตงโม และทุเรียน นอกจากนี้ กำลังจะปลูกองุ่นและแก้วมังกร อย่างไรก็ตาม พืชเด่นๆ ในช่วงนี้เป็น กล้วย ข้าวโพด และมะละกอ ที่มีอยู่แปลงใหญ่ๆ

ส่วนการเกษตรด้านอื่นๆ เป็นการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ โดยมีไก่อยู่ 100,000 ตัว มีหมูอยู่ 2,400 ตัว ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงพระกรุณามาดำเนินการที่นี่ เปิดมาร่วมปีแล้ว และพระองค์ท่านจะเสด็จทรงเปิดศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

ศูนย์ดังกล่าว ปลูกพืชหลากหลายชนิด มีทั้ง เมล่อน ไผ่เลี้ยง และไผ่กิมซุง รวมถึงพืชผักสวนครัวด้วย ส่วนสัตว์มีทั้งโค ไก่ดำมองโกเลีย ไก่งวง ไก่พันธุ์ และนกกระจอกเทศ

คุณวิเชียร อธิบายถึงจุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้ว่า เป็นเรื่องของการเกษตรแบบครบวงจร อย่างเช่น พืชจะมีตั้งแต่พืชสวน อย่าง ทุเรียน และกล้วยน้ำว้า ถือเป็นตัวอย่างการจัดการพื้นที่ 16 ไร่ ที่มีการปลูกพืช 3 ชั้น พืชชั้นบนเป็นทุเรียนหมอนทอง ชั้นกลางเป็นกล้วยน้ำว้า ส่วนชั้นล่างเป็นพวกฟักทอง พืชทั้ง 3 ชนิดนี้ ปลูกอยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด เป็นการเรียนรู้การจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ปลูกเมื่อปีที่แล้ว ยังไม่มีผลผลิตออกมา ต้องใช้เวลาอีก 4 ปี เพราะทุเรียนปลูก 5 ปี ถึงจะออกลูก ซึ่งในช่วงระยะเวลา 4-5 ปี ก่อนที่จะได้รับผลทุเรียน เราจะมีผลผลิตของกล้วย เป็นกล้วยน้ำว้า ที่ใช้เวลาประมาณ 10 เดือนกว่าจะได้รับผล ขณะที่ปลูกฟักทอง 90 วัน ก็ออกลูกแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีพืชพวกนี้เป็นตัวอย่างการจัดสรรพื้นที่ให้กับประชาชนที่เข้ามาดูหรือมาเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ในการจัดสรรพื้นที่ให้มีรายได้ เป็นพืชที่ปลูก 3 เดือน ได้ผลผลิต ปลูก 1 ปี ได้ผลผลิต และปลูกทุเรียน 5 ปี ได้ผลผลิต ซึ่งเป็นผลไม้ที่ยั่งยืน”

นำผลผลิตมาแปรรูป

สำหรับวิธีการดูแลบำรุงพืชผลไม้นั้น คุณวิเชียร ระบุว่า สภาพดินบริเวณทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริกนั้น เป็นดินที่ราบเชิงเขา ที่มีเขาอยู่ 2 ลูก คือเขาพริก กับเขาสะเดา ดินเดิมจึงไม่ค่อยเหมาะกับการปลูกพืชสักเท่าไร แต่ที่สามารถปลูกพืชได้ดีเป็นเพราะได้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช ซึ่งทางเรือนจำไม่ได้ใช้สารเคมีอะไรเลย เป็นสารอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเองทั้งหมด โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด

ผู้อำนวยการทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก บอกด้วยว่า กรณีผลผลิตที่เหลือ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือตกเกรด จะนำมาแปรรูป เช่น กล้วย แปรรูปเป็นกล้วยฉาบบ้าง กล้วยอบ หรือกล้วยตาก เพราะทางเรือนจำมีศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย

อย่างที่เกริ่นไปแต่แรกว่า เรือนจำเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริกปลูกกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมทองส่งขายห้างเทสโก้ โลตัส ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้เชิญสื่อมวลชนจากส่วนกลางไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เกษตรอุตสาหกรรมด้วย พร้อมสาธิตการตัดกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าให้ดู ทำให้ได้รู้ได้เห็นวิธีการตัดกล้วยแต่ละหวีแบบไม่ให้มีร่องรอยขีดข่วนหรือช้ำ โดยเมื่อใช้บันไดสูงตัดจากต้นกล้วยแล้ว จะนำมาตัดแบ่งเป็นหวีๆ ในถังน้ำขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้กล้วยถูกกระแทกช้ำ พร้อมใช้มีดคมๆ ที่เป็นลักษณะโค้งตัด แค่นี้ก็จะได้กล้วยหวีงามๆ ที่พร้อมจะส่งห้างได้

คุณวิเชียร แจกแจงว่า ที่ผ่านมาทางทัณฑสถานได้อบรมความรู้เรื่องเกษตรให้แก่ผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ผลผลิตที่ปลูกได้ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้มีข้อจำกัดในด้านช่องทางการขายอย่างมาก จนกระทั่ง เทสโก้ โลตัส เข้ามารับซื้อผลผลิตในราคาตลาด และมีซัพพลายเออร์ คือ บริษัท วัน บานาน่า ซึ่งปลูกกล้วยขาย เทสโก้ โลตัส อยู่แล้ว เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ทำให้เรียนรู้ถึงการปลูกพืชตามที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าในเชิงพาณิชย์ ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพตามมาตรฐานของโมเดิร์นเทรด สามารถขายผลผลิตในช่วงแรกเป็นระยะเวลา 3 ปี

สำหรับรายได้จากการขายผลผลิต 50% ใช้ดำเนินการ อีก 50% จะกลับไปที่ผู้ต้องขัง เพื่อเป็นเงินขวัญถุงเมื่อถึงเวลากลับบ้าน ซึ่งเป็นการคืนคนดีสู่สังคม ตามนโยบายการบริหารงานราชทัณฑ์ของอธิบดีกรมราชทัณฑ์

ทั้งนี้ ในการปลูกกล้วยหอมนั้น บริษัท วัน บานาน่า ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปลูกกล้วยหอมและเป็นบริษัทที่ส่งกล้วยหอมให้ เทสโก้ โลตัส ได้เข้ามาให้คำแนะนำในการปลูก เริ่มตั้งแต่การวางแผนเพาะปลูก และการจัดการอย่างเป็นระบบ

ชวนร่วมทำเกษตรแปลงใหญ่

ด้าน คุณพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส เล่าถึงความร่วมมือระหว่างเรือนจำแห่งนี้กับ เทสโก้ โลตัส ว่า ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริกมีพื้นที่เพาะปลูกที่ดี และมีผู้ต้องขังที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ จึงได้เริ่มดำเนินโครงการกับทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้า เพื่อส่งขายให้กับ เทสโก้ โลตัส โดยมีการปลูกกล้วยหอมทองทั้งหมด 10,180 ต้น บนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และกล้วยน้ำว้าทั้งหมด 6,136 ต้น บนพื้นที่ 58 ไร่

กล้วยทั้งหมดเพาะปลูกโดยผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ เพื่อเป็นการฝึกทักษะวิชาชีพด้านการเกษตรให้กับผู้ต้องขังได้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงหลังจากพ้นโทษไป

“จากความร่วมมือกันครั้งนี้ มองว่าเรือนจำเขาพริกน่าจะปลูกผลไม้อื่นๆ เพื่อส่งขายให้ทางห้างเทสโก้ โลตัส ได้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะแก้วมังกร ซึ่งเป็นผลไม้ที่ปีหนึ่งๆ สั่งนำเข้ามาจำนวนมาก เพราะผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ จึงอยากจะให้ทางเรือนจำเขาพริกปลูกขายให้กับเรา เงินทองจะได้ไม่รั่วไหลไปประเทศอื่น” คุณพรเพ็ญกล่าว

ขณะเดียวกันทางเรือนจำเขาพริกยังได้ร่วมกับบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่งในการปลูกพืชผักผลไม้ ซึ่งจะทำให้มีตลาดแน่นอน เนื่องจากบริษัทเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องการผลผลิตจากเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มกัน โดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากตามความต้องการ โดยมีทั้งปลูกเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี ในการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรฯ ซึ่งแผนความร่วมมือดังกล่าว มีระยะเวลา 15 ปี และผลผลิตที่ได้ทาง ซีพี จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบางบริษัทในการปลูกกล้วยหอมเขียว ส่งขายในต่างประเทศ

ผู้ที่ผ่านไปยังศูนย์การเรียนรู้เกษตรอุตสาหกรรมเรือนจำเขาพริก จะเห็นผลผลิตของที่นี่นำออกมาขายที่หน้าศูนย์ฯ ในราคาค่อนข้างถูก ที่สำคัญสดใหม่ มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพดสวีท ฟักทอง ผักสวนครัว และไข่ไก่ ฯลฯ

ผู้อำนวยการ ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ฝากบอกด้วยว่า ทางศูนย์มีพื้นที่อีกเยอะที่จะปลูกพืชผักผลไม้ในปริมาณมากๆ ถ้าผู้ประกอบการรายใดสนใจจะทำเกษตรแปลงใหญ่ หรือต้องการผู้ต้องขังที่ประพฤติดีใกล้พ้นโทษไปทำงานข้างนอก ก็สามารถติดต่อมาได้ ที่เรือนจำ และหากผู้สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยชีวภาพหรือการทำปุ๋ยหมัก ก็เข้ามาศึกษาดูงานได้

นับเป็นแหล่งผลิตพืชผักผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอีกแห่งของบ้านเรา ทั้งยังเป็นแหล่งฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้อาชีพเกษตรกรรมอย่างครบวงจร ซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้วสามารถนำวิชาความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติจริงไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างแน่นอน

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลไม้ของไทยเป็นสินค้าที่สามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นมูลค่าหลายล้านบาท เพราะสินค้าที่ส่งออกจัดเป็นผลไม้ที่ปลูกได้ดีในเขตร้อน จึงทำให้รสชาติของผลไม้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญเกิดจากการดูแลใส่ใจเป็นอย่างดีของเกษตรกรไทย จึงทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ จัดเป็นผลไม้ส่งออกที่ได้มาตรฐานตามกฎเกณฑ์ของประเทศนั้นๆ เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ฯลฯ

จากสถานการณ์ในช่วงนี้ ผลไม้ที่กำลังอยู่ในฤดูกาลและกำลังเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ คงจะหนีไม่พ้นทุเรียนที่มีผลผลิตออกมาให้ได้เลือกซื้อเลือกรับประทานมากมายหลายสายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบในรสชาติแบบใด จึงทำให้ตลาดทุเรียนในบ้านเราขณะนี้ค่อนข้างคึกคักกันเลยทีเดียว

เมื่อมีความต้องการมากขึ้น เกมส์ยิงปลาออนไลน์ จึงส่งผลให้มีทุเรียนอ่อนออกมาสู่ท้องตลาด และก่อให้เกิดความเสียหายในด้านการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และคุณภาพของทุเรียนไทยมิใช่น้อย จึงได้มีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การส่งออกทุเรียนแบบแช่แข็ง ที่ลูกค้าสามารถเห็นเนื้อข้างในได้ก่อนส่งออก โดยไม่ต้องส่งออกไปพร้อมเปลือก หรือมีการนำเทคโนโลยีอื่นเข้ามาช่วยหากไม่ส่งออกด้วยวิธีแช่แข็ง เช่น การนำสารเคลือบบริโภคได้ที่มีส่วนผสมของคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxymethyl cellulose : CMC) ที่ได้จากพืช เช่น เปลือกทุเรียน เปลือกมะพร้าวอ่อน นุ่น หรืออื่นๆ สำหรับเคลือบเนื้อผลไม้สดตัดแต่งพร้อมรับประทานเข้ามาช่วยในการรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาออกไปให้ยาวนานขึ้น

ดร. อภิตา บุญศิริ นักวิจัยเชี่ยวชาญ ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้ข้อมูลว่า สารเคลือบเนื้อที่บริโภคได้เกิดจากผลงานวิจัยร่วมกันของ 4 มหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ 4 ท่าน ดังนี้ คือ

ดร. อภิตา บุญศิริ ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
2. ผศ.ดร. โศรดา กนกพานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. รศ.ดร. พรชัย ราชตนะพันธุ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ

4. รศ.ดร. วรดา สโมสรสุข ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งนี้ ดร. อภิตา และ ผศ.ดร. โศรดา ได้ทำการทดลองวิจัยเกี่ยวกับสารเคลือบเนื้อบริโภคได้มาตั้งแต่ ปี 2547 โดยเริ่มทำการทดลองกับเนื้อทุเรียนและได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ของสารเคลือบบริโภคได้นี้อย่างต่อเนื่อง “งานวิจัยนี้เราก็ได้ทดลองนำสารเคลือบหลายชนิดมาทดลอง ในช่วงแรกจะใช้สารเคลือบที่มีส่วนผสมของเจลาติน แต่ก็จะมีปัญหาตามมาว่า ถ้าใช้เจลาติน สารตั้งต้นของสารตัวนี้มาจากไหน ถ้าเป็นโปรตีนที่ได้มาจากสัตว์ เช่น หมู หรือ โค ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องของความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผู้บริโภคบางรายอาจจะไม่ทานเนื้อโค หรือบางรายอาจจะไม่ทานเนื้อหมู ทางคณะวิจัยก็เลยเริ่มหันมาหาสารเคลือบตัวใหม่ที่เป็นสารที่มีส่วนผสมจากพืชน่าจะดีที่สุด”

ดร. อภิตา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคจากจุลินทรีย์ก่อโรคมนุษย์ จึงได้มีการขยายเครือข่ายการทำงานวิจัยร่วมกับ รศ.ดร. พรชัย และ รศ.ดร. วรดา เพื่อพัฒนาสารเคลือบเนื้อบริโภคได้ที่มีส่วนผสมของคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxymethyl cellulose : CMC) ที่ได้จากพืช โดยก่อนที่จะได้สารคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสนั้น ในขั้นแรกจะสกัดเซลลูโลสที่ได้จากพืชมาแล้วเติมหมู่คาร์บอกซีเมทิลเข้าไป เพื่อเปลี่ยนเซลลูโลสให้มาอยู่ในรูปของสารที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ ที่เรียกว่า คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxymethyl cellulose : CMC) ออกมา