ส่วนการบริหารจัดการน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการคาดการดังกล่าว

คือ 1.การหน่วงน้ำ/ตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย/ฝั่งขวา รวม 55 ลบ.ม./วินาที และ ผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที ทั้งสองส่วนตัดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชร อ.ท่ายาง ซึ่งเป็นพื้นที่กระจายน้ำ 2.ระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแม่น้ำเพชรบุรีมีการพร่องน้ำเตรียมไว้แล้ว ประกอบกับเสริมคันกั้นน้ำจะไหลผ่าน อ.หนองหญ้าปล้อง อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบและไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีไม่มาก ทำให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง/พื้นที่ชุมชนประมาณ 0.2 – 0.3 เมตร

สำหรับมาตรการเตรียมการช่วยเหลือ ได้กำหนดให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในจุดเสี่ยงที่อาจมีน้ำเอ่อเข้าท่วมชุมชน 30 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ทร. ของกองทัพเรือ ในแม่น้ำเพชรบุรีใกล้ปากอ่าวทะเลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่ระบายน้ำได้ช้า 44 เครื่อง เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่นรถโกยตัก 7 คันเพื่อขุดเปิดทางน้ำ หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติมในบริเวณเหนืออ่างแก่งกระจาน เชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤตเหมือนปีที่ผ่านมา”

“พาณิชย์” ลุยโปรโมต 3 สินค้าเกษตรอินทรีย์ แชมป์ประกวดรางวัลนวัตกรรมออกลุยตลาดต่างประเทศ เตรียมบุกฮ่องกงก่อนใช้เป็นฐานเจาะเข้าตลาดจีน หลังนำเปิดตัวงานออร์แกนิก เอ็กซโป ประสบความสำเร็จเกินคาด สร้างยอดขายทันที 1 ล้านบาท พร้อมเป็นที่ปรึกษาส่งผลงานเข้าประกวดเวทีนวัตกรรมทั่วโลกด้วย

น.ส.สุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ จะนำสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรางวัลในการประกวดนวัตกรรมอินทรีย์ (Thailand Organic Innovation Award – TOIA) จำนวน 3 สินค้า ได้แก่ น้ำส้มสายชูหมักจากน้ำกะทิไขมันต่ำอินทรีย์ ยี่ห้ออะกรีไลฟ์ ของ บริษัท เอิร์ธบอร์น จำกัด, ซอสปรุงรสจากมะพร้าวอินทรีย์ ยี่ห้อชีวาดี ของ บริษัท ชีวาดี โปรดักส์ จำกัด และเวชสำอางออร์แกนิกจากสะเดา เพื่อรักษาอาการจากโรคผิวหนัง ยี่ห้อ Znya ของ บริษัท เบลสท์ โพรดักส์ ออฟ เอเซีย จำกัด ออกไปทำตลาดต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายแรกที่ตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ และยังสามารถใช้ฮ่องกงเป็นฐานในการขยายเข้าสู่ตลาดจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้ด้วย

“สินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้ง 3 รายการนี้ เป็นสินค้าที่ผ่านการประกวดสินค้าที่นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการผลิต ซึ่งถือเป็นสินค้าที่โดดเด่นรายการใหม่ในแวดวงสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยกรมได้นำไปทดลองขายในงานออร์แกนิก เอ็กซ์โป ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มียอดขายรวมกันประมาณ 1 ล้านบาท ถือเป็นการเปิดตัวได้เป็นที่น่าพอใจ และมั่นใจว่าสินค้าจะมีโอกาสจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น เพราะกรมฯ มีแผนที่จะนำออกไปทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอีก” น.ส. สุทัศนีย์ กล่าว

นอกจากนี้ กรมยังได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการ ในด้านการทำตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรม สินค้าเกษตรอินทรีย์ และการเตรียมความพร้อมนำสินค้าไปประกวดในเวทีผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งเวทีระดับสากลและระดับโลกด้วย

สำหรับการจัดโครงการประกวดนวัตกรรมอินทรีย์ กรมได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์จากทั่วประเทศส่งสินค้าเข้าประกวด 62 สินค้า และได้คัดเลือกสินค้าที่ผ่านเกณฑ์จนเหลือ 13 รายการ จากนั้นได้ตัดสินให้สินค้าน้ำส้มสายชูหมักจากน้ำกะทิไขมันต่ำอินทรีย์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 2 คือ ซอสปรุงรสจากมะพร้าวอินทรีย์ และอันดับ 3 คือ เวชสำอางออร์แกนิกจากสะเดา

ส่วนสินค้าที่ได้รับรางวัลชมเชยมี 10 รางวัล ได้แก่ คริสป์มีแก่นตะวัน, ออร์แกนิกไรซ์แครกเกอร์ Bin Bin , สุราข้าวหอมออร์แกนิก Moon Master, กาแฟ ม่อนดอยหลวง, นมข้าวผงออร์แกนิก Naturals CF , น้ำนมข้าวยาคูออร์แกนิก Daimond Fresh, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมายุคินุโกะ, เครื่องดื่มลำไยอินทรีย์ สวนในเวียง, เห็ดเข็มทองอบกรอบ ครัวมารยาท และปุ๋ยอินทรีย์ Green Cal

มรสุมถล่มทั่วไทย กรมอุตุฯ เตือนวันนี้ฝนตกหนักทั่วประเทศ ร้อยละ 70 ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จนถึง วันที่ 9 ส.ค. นี้ ภาคใต้มีคลื่นสูง 3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
มรสุมถล่มทั่วไทย / เมื่อวันที่ 7 ส.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึง วันที่ 9 สิงหาคม 2561

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ เวลา 06.00 น. ของวันนี้ ถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 8 ส.ค. นี้ ภาคเหนือ มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคกลาง มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง และพังงา อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการตรวจราชการ “การบริหารจัดการลำไยภาคเหนือ” จ.ลำพูน ว่า ปี 2561 ผลผลิตลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และแพร่ มีปริมาณออกสู่ตลาด 654,329 ตัน แบ่งเป็นลำไยในฤดู 381,498 ตัน คิดเป็น 60% และนอกฤดู 272,831 ตัน หรือ 40% โดยลำพูนมีความโดดเด่นในด้านการทำงานร่วมกับเกษตรกร ทำให้มีผลผลิตในฤดูและนอกฤดูเท่ากัน 50% เป็นผลจากการนำแนวความคิดเชิงรุกมาดำเนินการ ส่งผลให้ลำไยในฤดูลดน้อยลง ไม่กดดันเรื่องราคามากเกินไป

ทั้งนี้ การบริหารจัดการปีนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.การบริโภคสด 28,084 ตัน 2.การแปรรูป 270,870 ตัน และ 3.การส่งออก 82,544 ตัน ได้มีการหารือกับคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) อยากให้จังหวัดมีการวางแผนการจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ ผ่านกลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมที่มีผลผลิตออกมากที่สุดถึง 62%

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า 8 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 8 แสนกว่าไร่ ผลผลิตสูงขึ้น จากการส่งเสริม พัฒนาคุณภาพ และการกระจายการผลิตไปนอกฤดูมากขึ้น จากปี 2554 มีสัดส่วนลำไยในฤดู 70% นอกฤดู 30% ในปี 2561 เปลี่ยนเป็น 60% และ 40% ตามลำดับ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯพยายามส่งเสริมการทำลำไยต้นเตี้ยและตัดแต่งช่อผล เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ตอนนี้มีลำไยเกรด AA 60% จากเดิม 20% และเกรด A 40% จากเดิมมีถึง 60% และเดิมมีเกรด B 5% แต่ปัจจุบันไม่มีลำไยเกรด B แล้ว เป็นผลจากการส่งเสริมแปลงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 53 กลุ่ม

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแผนแนวทางการจัดการลำไยแบ่งออกเป็น 2 แผน ได้แก่ 1.แผนการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ เน้นการกระจายผลผลิตออกนอกฤดู มีการพัฒนาคุณภาพภายใต้โครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ โดยการตัดแต่งช่อผล หรือเรียกว่าการทำลำไยต้นเตี้ย ทำให้ได้ผลผลิตลำไยช่อใหญ่ ลูกโต คุณภาพดีขึ้น และลดต้นทุนในการผลิต โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 2.แผนการบริหารจัดการเชิงปริมาณ มีการประชาสัมพันธ์ จัดทำ MOU ระหว่างเกษตรกรแปลงใหญ่กลุ่มลำไยเนื้อสีทอง และผู้ผลิตน้ำสกัดลำไยเข้มข้น

มวลน้ำเขื่อน แก่งกระจาน ไหลท่วมเมืองเพชร ระดมเสริมคันกั้นน้ำ เพิ่มเครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำ สกัดกั้นไม่ให้เข้าเขตเมือง ระวังอีก 2-3 วัน น้ำจากเทือกเขาตะนาวศรีสมทบ ขณะที่ “จิสด้า” ชี้อีก 7 วัน น้ำทะเลหนุนซ้ำ กระหน่ำเพชรฯ อีกระลอก
แก่งกระจาน / “บิ๊กตู่”ไปตรวจน้ำเพชรบุรี
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะที่ จ.เพชรบุรี น้ำจากเขื่อนแก่งกระจานล้นและต้องเร่งระบายออกจนท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ลงไปดูในพื้นที่ จากนั้นตนจะลงไปดู คาดว่ายังรับมือได้ แต่ไม่อยากบอกว่าต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือ 150 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ จากการตรวจสอบเขื่อนพบยังแข็งแรงอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี วันที่ 8 ส.ค. เพื่อติดตามสถานการณ์ และรับสรุปการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หลังจากติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เพชรบุรีแล้ว นายกฯ วางแผนจะลงพื้นที่ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ จ.บึงกาฬ เพราะน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบ

เสริมคันกั้น-ระดมเครื่องสูบ
ส่วน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ช่วงดึก วันที่ 5 ส.ค. นายกฯ ได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าน้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานเฉลี่ย 245 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที แต่อัตราการระบายน้ำสูงสุดของสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำล้น อยู่ที่ 1,380 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที มากกว่า 5 เท่า ของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ดังนั้น จึงไม่ล้นสันเขื่อนแน่นอน

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ส่วนสถานการณ์บริเวณใต้เขื่อนแก่งกระจานนั้น ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีน้อยมาก ยังรองรับน้ำได้อีก 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน กรมชลประทาน นำบทเรียนจากปี 2559 และ ปี 2560 มาใช้เตรียมการป้องกันน้ำท่วม อ.เมืองเพชรบุรี โดยเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี และย้ายเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไปยังจุดเสี่ยง โดยเฉพาะจุดที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมทั้งได้พร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าจะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงไปได้มาก

ระวัง 2-3 วัน-น้ำเขาตะนาวศรี
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าช่วงบ่ายวันที่ 6 ส.ค. ปริมาณน้ำจะใกล้เคียงกับสปิลเวย์ จึงสั่งให้กรมชลประทานติดเครื่องระบายน้ำเพิ่มเติม เพราะต้องควบคุมระดับน้ำที่ออกจากเขื่อนแก่งกระจานก่อนลงไปที่เขื่อนเพชร เพื่อไม่ให้น้ำผ่านมากเกินไป โดยจะผลักดันน้ำผ่านคลองชลประทาน 2 ด้าน ออกทะเลให้มากที่สุด และได้รับรายงานว่าหากระบายน้ำได้ตามเป้า ปริมาณน้ำที่จะเข้าถึงตัวเมือง 50 เซนติเมตร แต่พื้นที่ลุ่มต่ำอาจสูงขึ้น แต่ไม่สูงขึ้นเป็นเมตร

รองนายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ หากมีน้ำเข้ามาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ภายใน 2-3 วันนี้ จะส่งผลกระทบด้านตะวันตกของประเทศ เพราะน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงที่เอ่อท่วม จ.สกล นคร และ จ.หนองคาย ดีขึ้น น้ำลดลง แต่พื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำยังมีปัญหาหากแม่น้ำโขงสูง

3 ทัพ ระดมช่วยเมืองเพชร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการช่วยเหลือใน จ.เพชรบุรี นั้น ทุกเหล่าทัพระดมกำลัง พร้อมยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือ โดยกองทัพบกมอบหมายให้มณฑลทหารบกที่ 15 กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 จัดกำลังพล 300 นาย เข้าร่วมสนับสนุน รวมถึงแบ่งกำลังพลไปร่วมสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน จัดส่งรถบรรทุกทหาร 15 คัน เรือท้องแบน 6 ลำ ชุดครัวสนาม ชุดแพทย์เคลื่อนที่ และกระสอบทราย 8,000 ใบ เข้าพื้นที่

ขณะที่กองทัพเรือลำเลียงเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ กำลังพล 70 นาย ติดตั้งบริเวณปลายแม่น้ำเพชรบุรีเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ส่วนกองทัพอากาศสั่งการกองบิน 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมประเมินสถานการณ์ ประสานการปฏิบัติกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยเกี่ยวข้อง พร้อมเตรียมกำลังพล 30 นาย และยุทโธปกรณ์ อาทิ รถบรรทุก เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำพร้อมปฏิบัติทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ

เตือนกิจกรรมเที่ยวทางน้ำ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำที่มีอยู่จำนวนมากใกล้บริเวณเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ส่วนใหญ่งดให้บริการแล้ว ขณะเดียวกันเรื่องที่พักก็ตรวจสอบเส้นทางน้ำว่าจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ใดบ้าง กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวใดบ้าง เพื่อเตือนล่วงหน้าไม่ให้มีนักท่องเที่ยวต้องไปติดอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น

รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบจากการยกเลิกการจองที่พักเพื่อการท่องเที่ยวนั้น ยังไม่ได้มาก ส่วนใหญ่โทรศัพท์เข้ามาสอบถามว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่เสี่ยงมีผลกระทบ และเข้าใจว่าเวลามีน้ำท่วมจะเป็นพื้นที่เฉพาะที่ท่วม ไม่ได้ท่วมทั่วไป และแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มที่ไม่โดนท่วมนั้น ก็น่าจะมีมากกว่าพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

เขื่อนแก่งกระจาน-น้ำล้นแล้ว
ที่กรมชลประทาน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ฟังสรุปสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ จากศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต โดยระบุว่า ขณะนี้ไทยไม่มีฝนตกหนัก แต่เมียนมาและลาวมีฝนตกหนัก และกินวงกว้าง โดยฝนที่ตกหนักในพม่าจะไหลลงมายังไทยลงเขื่อนแก่งกระจาน และกระทบน้ำในเขื่อนให้มีมาก และไหลลงท่วม จ.เพชรบุรี ส่วนฝนที่ประเทศลาวไหลลงแม่น้ำโขง ส่งผลให้ปริมาณน้ำโขงยกตัวสูงขึ้น กระทบจังหวัดริมฝั่งโขงที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมได้

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ขณะนี้น้ำล้นระดับสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำล้นแล้ว น้ำจะไหลไปสู่เขื่อนเพชรบุรี ระยะทาง 60 ก.ม. ในเวลา 10-12 ชั่วโมง หลังจากนั้น น้ำจะเคลื่อนตัวไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรี อาจใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง หรือช่วงเย็นวันที่ 7 ส.ค. นี้ ปริมาณน้ำในรอบนี้จะกระทบ 5 อำเภอ จ.เพชรบุรี คือ แก่งกระจาน ท่ายาง บ้านลาด เมืองเพชรบุรี และบ้านแหลม โดยกรมชลฯ มีแผนระบายน้ำและอพยพแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งเตือนประชาชนเรียบร้อยแล้ว