ส่วนขั้นตอนในการสกัดหัวน้ำหอมจากดอกจำปี ใช้ถังสแตนเลส

ขนาดความจุ 100 กิโลกรัมในถังจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ใส่น้ำเปล่าลงไป 1 ส่วน แล้ววางตะแกรงกั้น ก่อนจะเทดอกจำปีลงไป 30,000-40,000 ดอก ใช้ความร้อนจากแก๊สนึ่งเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ความร้อนจะควบแน่นเป็นไอน้ำ จากนั้นใช้ความเย็นจากน้ำเปล่าเทลงไปในท่ออีกด้านหนึ่งเพื่อให้เกิดการควบแน่นและน้ำมันหอมละเหยจะไหลออกมาพร้อมๆ กับน้ำ ซึ่งส่วนของน้ำมันหอมละเหยจะลอยอยู่ด้านบน ซึ่งต้องกรองแยกออกมาใส่ภาชนะซึ่งเป็นขวดโหลที่เตรียมไว้ ในแต่ละครั้งจะสามารถสกัดหัวน้ำหอมได้ 20-25 ซีซี เพื่อรอสำหรับการนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป

การแปรรูปดอกจำปี ช่วยดึงปริมาณผลผลิตดอกจำปีออกจากตลาดหลายล้านดอก ทำให้ผลผลิตไม่ล้นและช่วยพยุงราคาให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเกษตรกรสร้างรายได้จากการจำหน่ายดอกจำปีและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างดี อาศัยวิธีการขายตรงให้กับลูกค้า เมื่อมีการไปออกร้านกับหน่วยงานราชการต่างๆ ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่สนใจจะสั่งซื้อสินค้าของทางกลุ่มอาชีพแปรรูปดอกจำปี สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-807-2769 , 086-090-9608 และ 081-645-1507 โดยมีบริการจัดส่งทั่วประเทศ

สวัสดีครับ ยินดีที่ได้พบกันผ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย ช่วงนี้คนไทยทุกคนทุกสาขาอาชีพต่างก็ต้องอดทนฝ่าฟันวิกฤติโรคระบาดไปพร้อมๆ กัน ธุรกิจบางอย่างบางอาชีพอาจจะถึงขั้นสิ้นเนื้อสิ้นตัว หากยังไม่มีวัคซีนมาเอาชนะเจ้าไวรัสร้ายตัวนี้

ในส่วนของมนุษย์เงินเดือน หลายคนอาจจะนอนร้อนๆ หนาวๆ ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นมนุษย์เงินหมดจากการถูกเลิกจ้างกันหรือไม่ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องคนไทยทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน ดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้วยความมีสติและอดทน

มาเข้าเรื่องของเราครับ คิดใหญ่แบบรายย่อยฉบับนี้ ผมจะพาท่านไปพบกับเกษตรกรคนเก่งที่ขยันขันแข็งในงานการเกษตร ปลูกนี่ปลูกนั่นมากมายหลายชนิดประสบความสำเร็จแบบที่หลายคนอิจฉา ลิ้นจี่ ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เขาทำได้ดีจนมีตลาดแน่นอนมารอรับผลผลิตทุกปี

ตามผมไปชมกันครับ
สวนลิ้นจี่ ในหุบเขา

พาท่านมาพบกับ คุณอังคณา และ คุณเกียรติชัย โชสนับ 2 แม่ลูกเกษตรกรคนเก่ง ที่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 5 ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี คุณอังคณา ทำสวนผสมผสานแบบเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกพืชผักหลายชนิดและเลี้ยงสัตว์เอาไว้ร่วมกัน ที่สวนลิ้นจี่แห่งนี้ก็ปลูกลิ้นจี่ร่วมกับส้มโอ มะนาว กล้วย และส้มต่างๆ

คุณอังคณา เล่าให้ฟังว่า สวนตรงนี้มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ อยู่ติดกับแม่น้ำแควน้อย และเป็นพื้นที่หุบเขาลาดเอียงหาแม่น้ำ ที่นี่จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ในช่วงนี้ที่อากาศร้อน กาญจนบุรี อุณหภูมิ 38-40 องศาทุกวัน แต่ที่สวนนี้ยังเย็นสบายจนถึงหนาวในช่วงกลางดึก

ส่วนลิ้นจี่ที่ปลูกเป็นลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่คุณอังคณาบอกว่า ตัวเธอเองเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม พ่อของเธอได้ย้ายมาทำสวนที่นี่และได้นำพันธุ์ลิ้นจี่มาจากตำบลแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม นำมาปลูกเอาไว้ที่สวนแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

ซึ่งคุณอังคณา บอกว่า ลิ้นจี่ที่สวนแห่งนี้น่าจะเป็นลิ้นจี่ต้นแรกของจังหวัดกาญจนบุรี มีอายุกว่า 40 ปี และยังให้ผลผลิตได้ดี บางปีต้นอายุ 40 กว่าปีนี้ให้ผลผลิตตันกว่าๆ โดยทุกวันนี้มีลิ้นจี่อยู่ประมาณ 50 ต้น ทั้งต้นดั้งเดิมและต้นที่ปลูกเพิ่มใหม่

พันธุ์ค่อม ลิ้นจี่ ที่ปลูกได้ ให้ผลผลิตดีในภาคกลางของไทย

สำหรับพี่น้องเกษตรกรมือใหม่หรือผู้อ่านท่านที่ยังไม่ค่อยรู้จักสายพันธุ์ของลิ้นจี่ ผมขออนุญาตบอกเล่าถึงลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่ปลูกอยู่ที่สวนของคุณอังคณาครับ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเป็นพันธุ์ลิ้นจี่ที่ออกดอกง่าย ปลูกได้ดีในภาคกลาง

งานของ รศ.ดร. รวี เสรฐภักดี บอกไว้ว่า ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเป็นลิ้นจี่กลุ่มพันธุ์ที่ต้องการช่วงความหนาวเย็นสั้น (low-chilled cultivar) จากข้อมูลที่ศึกษาเบื้องต้นคาดว่าลิ้นจี่พันธุ์ค่อมต้องการอุณหภูมิต่ำ ประมาณ 19-20 องศาเซลเซียส ในช่วงระยะเวลาประมาณ 7 วัน ก็เพียงพอสําหรับการชักนําให้ออกดอก ต่างจากพวกลิ้นจี่พันธุ์ออกดอกยาก หรือลิ้นจี่ที่ต้องการช่วงความหนาวเย็นที่มีอุณหภูมิที่ต่ำและนานมาก (high-chilled cultivar) เช่น ลิ้นจี่ที่ปลูกในภาคเหนือ อย่างพันธุ์ฮงฮวย

การปลูกลิ้นจี่ของคุณอังคณา จะปลูกแบบอินทรีย์ให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง

“ในสวนของเราปลูกแบบผสมผสานปลูกพืชไว้หลายอย่างให้เกื้อกูลกัน ที่ผ่านมาเราปลูกแบบเทวดาเลี้ยง ไม่ได้ให้น้ำ ไม่ได้ดูแลลิ้นจี่มากนักแต่ด้วยสภาพอากาศ สภาพของสวน ทำเลที่ตั้งของสวน จึงทำให้พืชทุกอย่างในสวนของเราสมบูรณ์แข็งแรงไม่แพ้สวนที่ใช้การปลูกแบบเคมี ข้อได้เปรียบอีกอย่างเนื่องจากลิ้นจี่ในสวนนี้เป็นต้นอายุมากที่ขนาดใหญ่มีร่มเงาใต้ต้นมากจึงไม่มีหญ้าขึ้น นอกจากนั้นคุณอังคณาบอกว่า ด้วยสภาพธรรมชาติใบของลิ้นจี่จะมีน้ำมันมากเมื่อร่วงหล่นสู่โคนต้นจะทำให้หญ้าไม่ขึ้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องการกำจัดวัชพืช”

ส่วนการดูแลต้นลิ้นจี่ คุณอังคณา บอกว่า ไม่มีเทคนิคพิเศษอะไร เพียงแต่ให้ปุ๋ยคอกอินทรีย์อย่างขี้วัว หรือขี้ไก่ ปีละ 1 ครั้ง โดยใส่ให้ลิ้นจี่ต้นละครึ่ง ถึง 1 กระสอบ ทุกปี ในช่วงต้นฝนประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะทำให้ลิ้นจี่เจริญเติบโตได้ดี

นอกจากนั้น ใบลิ้นจี่ที่ร่วงหล่นและเศษหญ้าต่างๆ ในสวน คุณอังคณาจะนำมาหมักเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ ขี้วัวที่นำมาทำปุ๋ยก็เป็นขี้วัวที่มาจากวัวที่เลี้ยงไว้เอง ทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นอินทรีย์แท้ๆ ส่วนการตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งผลมีบ้างแต่ไม่มากนัก

คุณอังคณา บอกว่า ลิ้นจี่ที่สวนจะออกดอกในช่วงกลางเดือนธันวาคม และใช้เวลาประมาณ 110 วัน หลังจากออกดอกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ถ้าปีไหนอากาศยิ่งหนาวผลผลิตจะยิ่งเยอะ อย่างช่วงปลายปี 62 อากาศหนาวทำให้ปีนี้ผลผลิตลิ้นจี่ที่สวนมีมาก ปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ที่ได้ในปีนี้ประมาณ 3 ตัน แต่เราก็ไม่กังวลกับเรื่องตลาดเพราะลิ้นจี่ที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ยังมีน้อยเราจึงมีตลาดที่แน่นอน

บริษัทรับซื้อลิ้นจี่ทั้งหมด ในราคาประกัน

ตลาดของลิ้นจี่จากสวนของคุณอังคณา จะมีบริษัท Blue River ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกผลผลิตเกษตรที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มารับซื้อผลผลิตทั้งหมดเพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน คุณอังคณา บอกว่า ราคาของลิ้นจี่ปีนี้พออยู่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสองสามปีที่แล้วเคยขายได้ถึงราคา กิโลกรัมละ 100 บาท

“ปีนี้ราคาลิ้นจี่ที่สวนค่อนข้างต่ำ ตอนนี้ขายส่งบริษัทอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท แต่ผลผลิตบางส่วนเราจะเก็บไว้ให้ตลาดในประเทศซึ่งจะมีห้างสรรพสินค้าต่างๆ มารับซื้อ เช่น Tops สาขาในกรุงเทพฯ ปีนี้สั่งมา 300 กิโลกรัม ตลาดในประเทศจะขายปีละประมาณ 1 ตัน”

คุณอังคณา บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบการปลูกและราคาของลิ้นจี่กับพืชชนิดอื่นๆ คุณอังคณา บอกว่า ลิ้นจี่ดูแลไม่มาก ผลผลิตราคาดี ที่สวนจึงมีลิ้นจี่และส้มโอเป็นพืชหลัก แต่ปัญหาของลิ้นจี่ก็คือ เมื่อลิ้นจี่แก่แล้วไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเพราะผลจะระเบิดทำให้เสียราคา ผลผลิตลิ้นจี่ที่สวนของคุณอังคณาจะมีขายตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคมไปจนถึงช่วงสงกรานต์

แนะนำให้ขยายพื้นที่ปลูก ขายกิ่งพันธุ์

คุณอังคณา เล่าว่า หากตลาดต่างประเทศอยู่ในสภาพปกติลิ้นจี่ของที่สวนก็จะมีราคาดี แต่เพราะปีนี้มีปัญหา Covid 19 ราคาลิ้นจี่จึงตกลงมาเพราะตลาดต่างประเทศมีคำสั่งซื้อลดลง อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะเมื่อปีที่แล้วอากาศเย็นปีนี้จึงมีผลผลิตลิ้นจี่ออกมามากพร้อมๆ กัน

คุณอังคณา บอกว่า พยายามปลูกลิ้นจี่เพิ่มเติมเพื่อทดแทนต้นที่เริ่มมีอายุมากและสนับสนุนให้เกษตรกรคนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ปลูกลิ้นจี่เพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ในอำเภอไทรโยคมีไม่ถึง 10 ไร่ แต่ต้องปลูกแบบอินทรีย์จริงๆ จึงจะมีบริษัทมารับซื้อ หากเราผลิตได้แบบอินทรีย์จริงๆ รถห้องเย็นของบริษัทจะมารอรับผลผลิตของเราเลย

อาชีพเสริมของคุณอังคณาตอนนี้คือ ขายกิ่งตอนของไม้ผลในสวนของตัวเอง ทั้งลิ้นจี่ที่ขายในราคา ต้นละ 100 บาท มะนาวไข่ ต้นละ 100-150 บาท เลม่อน ต้นละ 100 บาท ทั้งหมดส่งทางไปรษณีย์ได้ ใครสนใจต้นพันธุ์ไม้ผลจากสวนของคุณอังคณา สามารถติดต่อมาได้ที่โทร. (095) 330-5012 ครับ

มุมมองกลยุทธ์การตลาด
แบบคอลัมน์ คิดใหญ่แบบรายย่อย

หากมองกันเรื่องการตลาดในแบบคอลัมน์คิดใหญ่แบบรายย่อยแล้ว คุณอังคณา ใช้กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ เพราะผลผลิตจากสวนของคุณอังคณามีจุดเด่นที่เต็มไปด้วยพลังคือ การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ที่สามารถดึงดูดใจลูกค้าจากความสะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารเคมี นอกจากนั้น คุณอังคณา ยังใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ (Brand) ด้วยเรื่องราว (Story) ด้วยการใช้ประวัติที่ยาวนานกว่า 40 ปี ของการทำสวนมาผูกโยงให้เป็นเรื่องที่เห็นภาพได้ชัดเจนถึงความมุ่งมั่น การมองการณ์ไกลตั้งแต่รุ่นพ่อที่นำลิ้นจี่ต้นแรกมาปลูกที่จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ทำให้สวนของคุณอังคณาได้รับการยอมรับทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี

การทำสวนแบบผสมผสานในระบบเกษตรอินทรีย์ของคุณอังคณา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในข่ายระบบการผลิตแบบยั่งยืน มีรายได้จากหลากหลายช่องทาง แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ต้องแลกมาด้วยความขยัน ทุ่มเท เหนื่อยยากจากงานที่หลากหลายในไร่ในสวน ใครรักใครชอบใครพร้อมทำการเกษตรแบบนี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีมากๆ ครับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้ลากันไปก่อน สวัสดีครับ

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม จนถึงการทอเป็นผืนผ้า ล้วนต้องใช้การถ่ายทอดประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน สู่รุ่นต่อไป เช่นเดียวกับ “แม่สงวน ทิพย์ลม” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2563 รางวัลแห่งความภาคภูมิใจมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นต่อไป

นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมได้คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2563 นี้ นางสงวน ทิพย์ลม เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา มีความโดดเด่นในหลากหลายด้าน ทั้งในความเป็นผู้นำเกษตรกรที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสร้างผลผลิตด้านหม่อนไหมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่มีมาตรฐาน และสร้างรายได้ให้ครอบครัว ตลอดจนสมาชิกได้อย่างยั่งยืน จนได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปี 2563 นี้

นางสงวน ทิพย์ลม ได้เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น สมัยนั้นอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมยังเป็นเพียงรายได้เสริมที่ช่วยเลี้ยงครอบครัว รองจากการทำนา โดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ วัสดุอุปกรณ์ใช้แบบดั้งเดิม ปริมาณน้ำในการปลูกหม่อนยังไม่เพียงพอ แต่ด้วยความรักในอาชีพแม่สงวนยังคงทำอาชีพนี้มาโดยตลอด

จนปี พ.ศ. 2557 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน แม่สงวน ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม โดยมีสมาชิกจากบ้านคึมมะอุ บ้านสวนหม่อน บ้านหนองผือ และบ้านหนองจาน เริ่มต้นจำนวน 134 ราย เพื่อเป็นกลุ่มในการจำหน่ายใบหม่อนและผ้าไหม

จากนั้น กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนความรู้ในการทำหม่อนแปลงใหญ่ และระบบน้ำในแปลงหม่อน จึงทำให้มีผลผลิตของใบหม่อนมีมากขึ้น เพียงพอกับความต้องการเลี้ยงไหมตลอดทั้งปี และยังมีเพียงพอที่จะจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้ามาขอซื้อใบหม่อนอยู่เป็นประจำ

เมื่อมีปริมาณใบหม่อนที่เพียงพอในการเลี้ยงไหม ทำให้มีปริมาณเส้นไหมที่ดี มีคุณภาพในการทอผ้า กรมหม่อนไหมจึงได้จัดอบรมเรื่องการฟอกย้อมสีธรรมชาติให้กับสมาชิก โดยการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังพัฒนามาเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบหม่อนและเส้นไหม สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน สบู่โปรตีนไหม และแผ่นใยไหม ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร และได้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 170 ราย จนทำให้อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้แก่แม่สงวนและสมาชิกในกลุ่ม สามารถสร้างรายได้มากกว่า 130,000 บาทต่อปี

แม่สงวนประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นเวลา 36 ปี มีพื้นที่ปลูกหม่อนจำนวน 2 ไร่ โดยปลูกหม่อนพันธุ์สกลนคร จำนวน 1 ไร่ และพันธุ์บุรีรัมย์ 60 จำนวน 1 ไร่ ได้ผลผลิตใบหม่อน จำนวน 5,000 กิโลกรัมต่อปี เลี้ยงไหมพันธุ์เหลืองสระบุรี จำนวน 13 รุ่นต่อปี รุ่นละ 1 แผ่น ได้เส้นไหม จำนวน 45 กิโลกรัมต่อปี และเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน จำนวน 7 รุ่นต่อปี รุ่นละ 1 แผ่น ได้เส้นไหม จำนวน 6 กิโลกรัมต่อปี

ทั้งนี้ ในการปลูกหม่อนได้มีการดูแลรักษาแปลงหม่อนตามมาตรฐาน มกษ.3500-2553 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับหม่อนเพื่อผลิตใบ โดยมีการวางแผนการตัดแต่งหม่อน เพื่อให้มีใบหม่อนเพียงพอสำหรับการเลี้ยงไหม และสำหรับจำหน่ายใบหม่อน

ด้านการเลี้ยงไหม มีการเลี้ยงไหมตามหลักวิชาการตามคำแนะนำของกรมหม่อนไหม มีการนำเครื่องสาวไหม เครื่องตีเกลียว เครื่องลอกกาว และเครื่องเดินเส้นยืนมาใช้ ทำให้เส้นไหมมีคุณภาพมากขึ้น ช่วยทุ่นแรง และลดเวลาในแต่ละขั้นตอนได้เป็นอย่างดี

ด้านการทอผ้า ได้มีการทอผ้าลายโบราณที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจากบรรพบุรุษ เช่น ผ้าไหมปาโด ผ้ายกดอก และผ้าไหมมัดหมี่ เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมแบบพื้นบ้าน โดยยังได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานสีทอง (Royal Thai Silk) และตรานกยูงพระราชทานสีเงิน (Classic Thai Silk) สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ต้องการซื้อผ้าไหมอีกด้วย

แม่สงวน ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ ที่ต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ตลอดจนยังคงตั้งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลานให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจต่อไป

สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือผู้สนใจเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไหม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ แม่สงวน ทิพย์ลม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน โทร.08-0012-5848 หรือศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 044-214102

โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จัดโครงการ “ศึกษาออนไลน์ อุ่นใจ ไร้โควิด 19” ขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 ด้วยการเปิดสอนบทเรียนออนไลน์เกี่ยวกับการทำเกษตรอย่างง่าย

ทั้งเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ เช่น การผลิตปุ๋ยใช้เองจากวัสดุเหลือใช้ภายในครัวเรือน การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักสูตรต่าง ๆ ตลอดถึงการเพาะกล้าพันธุ์พืช วิธีการปักชำ การเพาะเห็ดชนิดต่าง ๆ การทำสบู่ และน้ำยาเอนกประสงค์ เป็นต้น

ในหลักสูตรออนไลน์เหล่านี้จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในโครงการฯ ทำการบันทึกเทปเป็นคลิปวิดีโอ พร้อมตัดต่อให้เข้าใจได้ง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด -19 ทางโครงการฯ จะมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคนต่อปี แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ไม่มีผู้เดินทางมายังโครงการฯ เลย เพราะจะต้องอยู่กับบ้านลดการเคลื่อนไหว

“ แต่ทุกคนยังต้องบริโภคซึ่งหากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ก็สามารถทำการเพาะปลูกเองได้โดยใช้พื้นที่ข้างบ้าน ริมรั้ว แม้แต่ระเบียงคอนโดก็จะสามารถทำได้ ก็จะทำให้มีพืชผักบริโภคได้อย่างต่อเนื่อง และได้ใช้เวลาที่อยู่กับบ้านให้เป็นประโยชน์อีกด้วยทางโครงการฯ จึงจัดทำหลักสูตรการเพาะปลูกออกเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ขึ้น” นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า หลักสูตรที่ได้ผลิตและเผยแพร่คลิปออกไปแล้วนั้นเป็นเรื่องการผลิตน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือน ทั้ง 2 เรื่องนี้จะช่วยให้ผู้ที่นำไปใช้สามารถบำรุงต้นพืชที่ปลูกให้มีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตได้ดีมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ขณะที่เกษตรกรทั่วไปก็สามารถลดต้นทุนการผลิตและลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี ทำให้มีกำไรจากการขายมากขึ้น โดยผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook ของโครงการฯ และทาง YouTube ช่อง “เขาชะงุ้มชาแนล khao-Changum-Chanel”

นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังได้มีการจัดทำโครงการผลิตชุดปลูกผักพร้อมปลูก เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจนำไปปลูกที่บ้านได้เลย ในกิจกรรมแจกจ่ายชุดปลูกผัก “ปลูกเองกินเอง ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” ประกอบด้วย ภาชนะสำหรับปลูก อาทิ เข่งไม้ไผ่ ดินปลูกที่ผสมสมปุ๋ยเรียบร้อยแล้ว พร้อมเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งประชาชนที่รับไปจะสามารถทำการเพาะปลูกแล้วนำไปวางในบริเวณบ้านคอยรดน้ำบำรุงไว้เก็บเกี่ยวมาบริโภคเองในครัวเรือนได้เลย ซึ่งเป็นการปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือมีน้อยใช้น้อยแค่พอตัว เป็นภูมิคุ้มกัน โดยมีปัจจัยเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนรองรับสถานการณ์ในยามเกิดวิกฤติ

ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้จัดเตรียมชุดพืชผักพร้อมปลูกไว้ จำนวน 500 ชุด โดย 300 ชุดจะแจกแก่ผู้สนใจที่เดินทางมารับด้วยตนเองที่บริเวณด้านหน้าศูนย์ฯ ส่วนอีก 200 ชุด จะแจกด้วยการจัดส่งให้กับผู้สนใจทางไปรษณีย์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ Facebook : ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะมีคำแนะนำสำหรับการติดต่อเพื่อขอรับชุดพืชผักพร้อมปลูกได้

สำหรับโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ให้จัดตั้งโครงการฯ ขึ้นมา เพื่อดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ ทดสอบ วางแผนและจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยดำเนินการในลักษณะเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

“ภายในโครงการฯ มีกิจกรรมสาธิตต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน การพัฒนาพันธุ์พืช และวิธีการในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการทำกินได้อีกครั้ง ประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำเอาไปปรับใช้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางเข้ามาดูงานในกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้ธรรมชาติของพื้นป่าไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูจากป่าเสื่อมโทรม ดินเลว ลักษณะเป็นเขาหัวโล้น ที่สามารถฟื้นคืนกลับมามีป่าไม้อย่างสมบูรณ์ ตลอดถึงการพัฒนาป่าเต็งรังให้กลายเป็นป่าเบญจพรรณในปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง และนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จทั้งในครัวเรือน และเชิงพาณิชย์มาแล้วเป็นจำนวนมาก”นายอนุรักษ์ กล่าวในที่สุด

สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 นับเป็นรางวัลอันน่าภาคภูมิใจของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิกสหกรณ์ ที่ได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคและช่วยกันพัฒนาสหกรณ์จนมีความเจริญก้าวหน้าจวบจนถึงปัจจุบัน ผลักดันให้สหกรณ์แห่งนี้ ได้เดินทางมาถึงวันแห่งความสำเร็จได้ในที่สุด

หากย้อนกลับไปในวันแรกตั้งของสหกรณ์เมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2520 มีสมาชิกเริ่มแรกเพียง 194 คน ปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเป็น 2,075 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ มีอาชีพทำนา ทำไร่ และเกษตรผสมผสาน สหกรณ์จึงมุ่งดำเนินงานโดยคำนึงถึงการดูแลส่งเสริมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับสมาชิกและคนในชุมชน ซึ่งธุรกิจของสหกรณ์ มี 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ การให้สินเชื่อ จัดหาสินค้ามาจำหน่าย การรวบรวมผลผลิต และการรับฝากเงิน

นางสาวสุมาลี ทองธีระ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เปิดเผยว่า ในอดีตสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เคยประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจจนประสบภาวะขาดทุนเกือบต้องยุบเลิกสหกรณ์ แต่ด้วยความอดทนและร่วมมือร่วมใจกันของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการและสมาชิก นำความผิดพลาดและล้มเหลวมาเป็นบทเรียน ทำให้มีแรงฮึดสู้อีกครั้ง จนสหกรณ์สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารงาน สร้างการมีส่วนร่วมโดยเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับสหกรณ์มากขึ้น ทำให้สหกรณ์สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ พัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าและสามารถสร้างผลกำไรมาจนถึงปัจจุบัน

แม้จะเป็นสหกรณ์เล็กๆ แต่ธุรกิจก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% ซึ่งการขยายธุรกิจของสหกรณ์จำเป็นต้องใช้เงินทุน แต่ที่นี่จะไม่พึ่งพาเงินกู้จากแหล่งทุนภายนอก แต่จะใช้การระดมทุนของสหกรณ์เอง ด้วยการส่งเสริมการออมเงินและการถือหุ้นของสมาชิก

เช่นเดียวกับแนวทางส่งเสริมอาชีพทำการเกษตรให้กับสมาชิก นำหลักทฤษฎีใหม่ที่เน้นการปลูกพืชผสมผสานและริเริ่มโครงการส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน เพื่อลด ละ เลิกการใช้สารเคมีที่ทำลายสุขภาพทั้งคนและดิน และสามารถลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ในการทำการเกษตรมาแนะนำถ่ายทอดสู่สมาชิกได้ทดลองทำตาม จนเกษตรกรมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง

สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด จะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 25,000-30,000 บาท/เดือน หรือประมาณ 300,000-360,000 บาท/ครัวเรือน/ปี จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สหกรณ์และเกษตรกรสมาชิกนำมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ

เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และตัวสมาชิกมากนัก สังเกตได้จากเงินที่สมาชิกกู้ยืมจากสหกรณ์ ยังสามารถส่งชำระคืนได้ตามปกติ ไม่มีหนี้ค้าง

ส่วนเรื่องอาหารการกินของแต่ละครัวเรือนก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์ แทงบอลออนไลน์ เพราะแต่ละครัวเรือน นอกจากการปลูกข้าวเป็นหลักแล้ว ผลผลิตส่วนหนึ่งจะเก็บไว้บริโภค ที่เหลือจึงจะนำไปขาย ขณะเดียวกัน สมาชิกส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ไว้บริโภคในครัวเรือน ผลผลิตที่มีจึงเพียงพอสำหรับการบริโภคโดยไม่เดือดร้อน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายให้กับคนในชุมชน เพื่อเป็นรายได้เสริมของครอบครัว

นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืชผักปลอดสารเคมีและปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่จำหน่ายเป็นรายได้เสริม โดยสหกรณ์จะช่วยหาตลาดให้ ขณะนี้สมาชิกที่เข้ามาร่วมโครงการประมาณ 100 ราย พื้นที่ทำการเกษตรของสมาชิกประมาณ 10% ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP

ขณะนี้สหกรณ์กำลังผลักดันให้ยกระดับเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนโรงเรือนปลูกผักจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการ การลดต้นทุน การพัฒนาผลผลิต และการตลาดจากมหาวิทยาลัยสุรนารี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยเกษตรกรที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว บางส่วนก็เป็นผลไม้

ส่วนเรื่องการหาช่องทางจำหน่าย บางส่วนเกษตรกรจะเก็บผลผลิตและนำไปขายเองที่ตลาด เพราะพืชผักของสหกรณ์ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในพื้นที่อำเภอปักธงชัย ว่าสดสะอาดปลอดภัย

ยังมีผลผลิตบางส่วนที่เกษตรกรรวบรวมและนำมาวางขายที่ “ร้านต้นข้าวต้นน้ำลำพระเพลิง” ซึ่งสหกรณ์เปิดดำเนินการเป็นตลาดเกษตรกร หรือ Farmer Market จำหน่าย ผัก-สมุนไพร พื้นบ้าน ผลไม้ในพื้นที่และตามฤดูกาล อาหารแปรรูป และอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้คนในพื้นที่โดยรอบสหกรณ์ได้มีโอกาสเข้ามาเลือกซื้อผลผลิตและสินค้าที่มีคุณภาพของสหกรณ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ทางสหกรณ์ได้เริ่มเจาะไปที่กลุ่มผู้บริโภคตลาดบน โดยนำผลผลิต เช่น ฝรั่งกิมจู ส้มโอ ละมุด ไปวางจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ ภายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างเซ็นทรัล จังหวัดนครราชสีมา ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รี่ส่งไปจำหน่ายที่ห้างแม็คโครและร้านเลมอนฟาร์ม

ปัจจุบันยอดขายของพืชผักปลอดสารตกประมาณเดือนละ 50,000-60,000 บาท ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 6,000-13,000 บาท สหกรณ์ได้วางแผนขยายจำนวนผู้ผลิตผักปลอดสารเคมีเพิ่ม 200 ราย คาดว่าประมาณปลายปี 2563 จะได้ตามเป้าหมาย