ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ

(ชาวบ้านเรียกหัวแจก) นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือมีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้าเล็กน้อย เป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้ง

ทั้งนี้ประเพณีบุญข้าวจี่จัดขึ้นโดยทั่วไปในภาคอีสาน โดยเฉพาะแถบ อ.พังโคน และ อ.สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยจะมีการทำบุญและกิจกรรมการละเล่นต่างๆในงาน

กรมวิชาการเกษตรหนุนชาวไร่เมืองดอกบัวขยายพื้นที่ปลูก “มันสำปะหลังอินทรีย์” ดึงโรงงานแป้งมันร่วมแจมรองรับผลผลิต ชี้ความต้องการหัวมันอินทรีย์สดปีละกว่า 80,000 ตัน มุ่งเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกร พร้อมขยายช่องทางทำเงินเพิ่มรายได้

​นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 (สวพ.4) จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโรงงานแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน ในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล

ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์นำร่องในพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอนาเยีย พิบูลมังสาหาร และวารินชำราบ โดยมุ่งผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ หรือออร์แกนิก (Organics) ป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันที่มีความต้องการหัวมันอินทรีย์สด ปีละกว่า 80,000 ตัน ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นแป้งมันได้ ประมาณ 20,000 ตัน

ขณะนี้แปลงเกษตรกรต้นแบบผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ จำนวน 9 ราย พื้นที่กว่า 36 ไร่ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวมันสดป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันแล้ว ภายหลังเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ 1 ตัน/ไร่ หรือใส่ตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยด้วยปุ๋ยชีวภาพ PGPR3 การปลูกและไถกลบปอเทืองระหว่างร่องมันเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด การใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และการใช้เครื่องกำจัดวัชพืชแบบรถไถเดินตาม สามารถช่วยให้เกษตรกรต้นแบบได้ผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เฉลี่ยต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นจาก 4.5 ตัน/ไร่ เป็น 5.4 ตัน/ไร่ บางรายได้ผลผลิตสูงถึง 7.63 ตัน/ไร่ และยังมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงด้วย

​”ปี 2561 นี้ คาดว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มอีกอย่างน้อย 100 แปลง พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มขึ้น พร้อมจัดกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรจะได้รวมกลุ่มกันเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มได้ ที่สำคัญการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับชาวไร่ และช่วยลดการผันผวนด้านราคาเนื่องจากได้ราคาที่แน่นอน ตลอดจนช่วยลดพื้นที่การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชอย่างยั่งยืนด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกับนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการผลักดันการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ด้วย” นายสุวิทย์กล่าว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า มันสำปะหลังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งอาหารและพลังงาน เป็นสินค้าที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะแป้งมันออร์แกนิกสามารถผลิตเป็นอาหารสำหรับทารกและผู้สูงอายุ รวมถึงแคปซูลยา ซึ่งเป็นที่นิยมในแถบสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความต้องการแป้งมันออร์แกนิกสูงถึง 20,000 ตัน/ปี ซึ่งจะต้องมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ประมาณ 22,850 ไร่ จึงจะสามารถผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานแป้งมันได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ การขยายพื้นที่การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในประเทศไทยเพื่อป้อนตลาดแป้งมันออร์แกนิก จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังที่จะเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ที่มีศักยภาพ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 445,649 ไร่ ส่วนหนึ่งสามารถที่จะปรับเปลี่ยนมาผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ได้

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่บริเวณตลาดประชารัฐ อ.เมืองชัยนาท ถนนลูกเสือ2 ในตัวเมืองชัยนาท นายยุทธพร พิรุณสาร นายอำเภอเมืองชัยนาทได้เปิดกิจกรรม”นายอำเภอชวนชิม”ซึ่งก่อนที่จะชวนชิมอาหารเมนูต่างๆที่แม่ค้าพ่อค้าส่งเข้าประกวดแข่งกัน มีการเต้นเรียกน้ำย่อยด้วยเพลง”ปานามา”ซึ่งงานนี้นายอำเภอเมืองชัยนาท ทุ่มสุดตัวโดยการออกมาร่วมเต้นกับแม่บ้าน สาวน้อย สาวใหญ่ อย่างสนุกสนาน เพื่อเป็นออเดิร์ฟก่อนเข้ากิจกรรมสร้างความสนุกสนานและประทับใจ ให้กับประชาชนผู้มาใช้บริการตลาดประชารัฐกันถ้วนหน้า จากนั้นจึงเป็นกิจกรรมที่นายอำเภอเลือกชิมอาหารจำนวน 10 เมนูที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เพื่อหา 3 เมนูเด็ดที่รสชาติประทับใจนายอำเภอที่สุด เพื่อประกาศเป็นเมนู “นายอำเภอชวนชิม” ของสัปดาห์นี้

ซึ่ง 3 เมนูที่ได้รับการขึ้นแท่นเป็นเมนู “นายอำเภอชวนชิม” 3เมนูแรกคือ ข้าวต้มหมูทรงเครื่อง ข้าวเกรียบปากหม้อ และขนมจีบสูตรเมืองชัย ที่รับโล่ห์รางวัลไปโชว์ในร้านก่อนใคร กิจกรรมนี้จะมีขึ้นทุกวันอังคาร ที่ตลาดประชารัฐ อ.เมืองชัยนาทเปิดให้บริการ จะมีทุกวันอังคารตั้งแต่เวลา06:00-12:00น.

วันที่ 24 ม.ค. นายอดิศักดิ์ วุฒิทรงสกุล ปลัดอำเภอเมืองน่าน ร่วมกับอบต.ผาสิงห์ และหน่วยทหารมณฑลทหารบกที่ 38 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จ.น่าน เข้าตรวจสอบที่ น่านฟ้าพืชผล จำกัด ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน จ.น่าน ซึ่งเป็นสถานที่รับซื้อพืชผลทางการเกษตร หลังชาวบ้านระแวกดังกล่าว เข้าร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมอ.เมืองน่าน ว่าได้รับความเดือดร้อน จากกลิ่นมูลวัว ที่ทางไซโลเลี้ยงไว้ เหม็นคลุ้งกระจายไปทั่ว

จากการตรวจสอบพบว่าในไซโลดังกล่าว ได้แบ่งพื้นที่ด้านหลังทำคอกไว้เลี้ยงโคขุน จำนวนมากกว่า 50 ตัว และทำการชะล้างมูลวัวลงบ่อล้าง แต่ไม่มีการบำบัด ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นกระจายไปทั่วบริเวณ อีกทั้งบ่อล้างดังกล่าว ยังติดกับลำห้วยสาธารณะของชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเตรียมการก่อสร้างเพื่อขยายโรงเลี้ยงโค

เจ้าหน้าที่จึงให้ยุติการก่อสร้างไว้ก่อน พร้อมทั้งแนะนำให้เจ้าของสถานประกอบการเรื่องการเลี้ยงวัว การขออนุญาตประกอบกิจการ การสร้างโรงเรือนสำหรับการเลี้ยงวัว การรักษาความสะอาด ที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนการแนะนำให้ติดต่ออบต.ผาสิงห์ เรื่องขออนุญาตก่อสร้างโรงเรือน ภายใน 15 วัน พร้อมทั้งให้เจ้าของสถานประกอบการ ขอคำแนะนำการเลี้ยงวัว ตลอดจนการลดกลิ่นมูลวัว จากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งนายประเสริฐ ธรรมเกตุ เจ้าของน่านฟ้าพืชผล จำกัด ได้รับทราบ และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ในการรับปากเร่งแก้ไข ปรับปรุง ป้องกันไม่ให้มูลวัวส่งกลิ่นเหม็นและไหลลงสู่ลำห้วย ซึ่งอาจเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านได้

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านบริหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดกลางยางพาราจังหวัดหนองคาย ตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา และตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา มีระเบียบมาตรฐานในการกำหนดราคากลาง หากมีการประมูลยางราคาต่ำกว่าราคากลาง 2 บาท จะไม่มีการซื้อขายในวันนั้นและหากราคาสูงกว่าราคากลางที่ประกาศ ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้าตลาดนั้นๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์และส่งผลดีแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดย กยท. จะประกาศราคากลางประจำวัน ณ ตลาดกลางยางพาราทุกแห่ง และบนหน้าเว็บไซต์ กยท. (www.raot.co.th) ในทุกวันทำการที่มีการซื้อขาย

“หากตลาดกลางไม่มีการกำหนดราคากลางในการซื้อขาย เกษตรกรจะต้องขายยางตามราคาที่มีการประมูล ซึ่งเกษตรกร ผู้ขายยาง และผู้ประมูลซื้อยางจะไม่มีราคาอ้างอิงในการตัดสินใจซื้อ หรือขาย และราคาที่มีการประมูลอาจจะต่ำกว่าราคาท้องตลาด และอาจเกิดการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมขึ้นได้ ดังนั้น การกำหนดราคากลางประจำวันในการซื้อขายยางผ่านตลาดกลางของ กยท. จะช่วยสร้างความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน”นายสุนันท์ กล่าวย้ำ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ นำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี 2561-2563 ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฯ กำหนดให้ ดังนี้ 1. ข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 1005.90.90 ซึ่งมีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (From D) หนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือ เอกสารอื่นใด ซึ่งแสดงว่าสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต หรือสุขภาพของมนุษย์สัตว์หรือพืช

2. การนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังนี้ 2.1 กรณีองค์การคลังสินค้า ต้องนำเข้าระหว่าง 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. ของแต่ละปี และต้องจัดทำแผนการจัดซื้อ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาดภาวะราคา และความต้องการใช้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ 2.2 กรณีผู้นำเข้าทั่วไป ต้องนำเข้าระหว่าง 1 ก.พ.- 31 ส.ค. ของแต่ละปี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ ในที่ประชุมครม. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร แต่การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำกับดูแลการนำเข้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศและรายได้ของเกษตรกร อีกทั้งควรเร่งดำเนินการออกประกาศการนำเข้าให้ทันเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการใช้วัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

อ.ส.ค.ชี้สถานการณ์โรคปากและเท้าเปื่อยระบาดในฟาร์มโคนมกระทบผลผลิตน้ำนมดิบเข้าโรงงานแปรรูปลดเหลือวันละ 550 ตัน ขณะที่ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในสต็อกแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เร่งหารือกรมปศุสัตว์ร่วมปูพรมวัคซีนป้องกันโรค หวั่นเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

​ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ปกติในช่วงฤดูหนาวและช่วงที่สภาพอากาศเย็นแม่โคนมจะให้ผลผลิตสูงและมีปริมาณน้ำนมดิบออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเกิดปัญหา โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ Foot and Mouth Disease (FMD) ระบาดในฟาร์มโคนมหลายพื้นที่ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำนมดิบโดยรวมทั้งประเทศ ซึ่ง อ.ส.ค.ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรค FMD ด้วยเช่นกัน โดยฟาร์มเกษตรกรสมาชิกที่ประสบปัญหาเรื่องโรคดังกล่าวไม่สามารถรีดนมส่งขายได้ ทำให้มีน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานนม อ.ส.ค. 5 แห่ง ลดลงเหลือประมาณ 550 ตัน/วัน จากเป้าหมายที่คาดว่าจะมีวันละกว่า 600 ตัน ส่งผลต่อสต็อกผลิตภัณฑ์ นมไทย-เดนมาร์ค ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด

​ผลกระทบจากโรค FMD นอกจากทำให้สุขภาพโคนมทรุดโทรมลงแล้ว ยังทำให้ผลผลิตลดลง เกษตรกรรีดนมส่งขายไม่ได้จนกว่าจะรักษาโคนมให้หายขาด ส่งผลให้สูญเสียรายได้ นอกจากนั้น ยังทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งควบคุมและป้องกันโรคโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

​อย่างไรก็ตาม อ.ส.ค.ได้เร่งหารือกับกรมปศุสัตว์เพื่อวางแนวทางควบคุมและป้องกันโรค FMD ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เบื้องต้นอาจใช้วิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรค FMD ปูพรมพร้อมกันทั้งในโคนม โคเนื้อ กระบือ สุกร และสัตว์กีบคู่ชนิดอื่นๆ โดยต้องฉีดวัคซีนตามโปรแกรมปีละ 2 ครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เคลื่อนย้ายสัตว์ต้องทำอย่างมีวินัยและรัดกุมมากยิ่งขึ้นเป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมาย เป็นแนวทางที่จะสามารถช่วยป้องกันและควบคุมโรค FMD ได้อีกทางหนึ่ง โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง คาดว่า จะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

​“อ.ส.ค.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและสัตวแพทย์ประสานสหกรณ์โคนม ในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. 56 แห่ง ให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรค FMD ในฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกอย่างใกล้ชิด พร้อมให้บริการรักษาสัตว์ป่วยให้หายโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือฟาร์มเลี้ยงโคนมที่ประสบปัญหาโรค FMD ให้สามารถรีดนมส่งขายได้และกำชับให้เกษตรกรทำวัคซีนโคนมตามโปรแกรมและระยะเวลาที่กำหนดด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

วันที่ 24 มกราคม 2561 บริเวณริมถนนสายอ่างทอง – สิงห์บุรี (สายใน) หมู่ที่ 4 ตำบลราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง พบชาวนารวมกลุ่มกันกำลังเฉาะลูกตาลขายบริเวณริมถนน หลังจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกรอต้นข้างเจริญเติบโตรอการเก็บเกี่ยว ซึ่งใช้เวลาว่างจากการ เตรียมพื้นที่นาในการเพาะปลูกหารายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยการนำลูกตาลมาเฉาะขายริมถนน ซึ่งมีทั้งลูกค้าขาประจำและขาจรแวะเวียนกันมาอุดหนุนจนขายหมดทุกวัน เพื่อนำไปทำเป็นขนมอาหารคาวหวาน เนื่องจากส่วนประกอบของตาล อย่างเช่น ลอนตาลและหัวตาล นำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง

นาย พิชัย หาญกล้า อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/1 หมู่ที่ 4 ตำบลราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ตนเองและเพื่อน ๆ ชาวนา หลังจากว่างจากการเตรียมเพาะปลูกข้าวในฤดูกาลใหม่ ได้รวมตัวกันนำลูกตาลมาเฉาะขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวก่อนที่จะรอให้ต้นข้าวในนาเจริญเติบโตจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนำไปขาย โดยลูกตาลที่ได้มาตนเองและเพื่อนชาวนา ได้เช่าต้นตาลที่ขึ้นอยู่บริเวณคันนาจากเจ้าของนา ในราคา 100 บาท ต่อปี นำลูกตาลที่ขึ้นมาได้มาเฉาะขาย ซึ่งช่วงนี้ผลผลิตจากลูกตาลมีจำนวนน้อย เนื่องจาก เป็นตาลทวายไม่ใช่ตาลปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยตนเองจะขายลอนตาลในราคาถุงละ 60 – 70 บาท ส่วนหัวตาลจะขายในราคาถุงละ 10 บาท ซึ่งหลังจากตนเองและเพื่อน ๆ ชาวนา นำมาเฉาะขายบริเวณริมถนน โดยมีลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำมาสั่งจองและแวะเวียนเข้ามาซื้อกันเป็นจำนวนมากจนไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า โดยลอนตาลลูกค้านิยมเอาไปทำขนม และรับประทานสด ส่วนหัวตาลก็จะนำไปต้มปลาร้าหัวตาล แกงหัวตาล และนำไปต้มจิ้มกับน้ำพริก ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวนาในช่วงที่กำลังรอต้นข้าวเจริญเติบโตออกรวงจนเก็บเกี่ยวผลผลิตนำไปขายได้ต่อไป

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นางมิ่งขวัญ พุกเปี่ยม ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า การขึ้นค่าแรงนั้นไม่กระทบกับโรงสีเนื่องจากโรงสีนั้นค่าแรงของคนงานต่างๆ สูงอยู่แล้วโดยเฉพาะช่าง หรือวิศวกร เพราะเราจ้างต่อคนวันละ 500 บาท ขั้นต่ำโรงสีจ้าง 450 บาท เท่านั้น แต่จะมีผลกระทบบ้างคือกรรมกรแต่ไม่เยอะ โรงสีจะทำอะไรได้ เมื่อทางรัฐบาลจะปรับราคากรรมกร ก็ต้องทำตามนโยบายอยู่แล้วถ้าจะกระทบจริงๆ ก็น่าจะเป็นค่าแรงกรรมกรก่อสร้าง ผู้รับเหมา เพราะเขาใช้แรงงาน แต่กรรมกรแบกหามโรงสีนั้นส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักร ใช้แรงงานส่วนน้อยเพราะเราจ้างเป็นกระสอบ

นางมิ่งขวัญกล่าวอีกว่า ราคาข้าวจังหวัดพิจิตรขณะนี้เริ่มดีแล้ว ตันละ 7,000 กว่าบาท ทุกจังหวัดชาวนาพอใจ มีแต่จังหวัดพิจิตรมีชาวนาบางคนไม่พอใจในเรื่องราคาข้าวซึ่งอยู่ที่ข้าวเปลือกว่ามีมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่ ซึ่งราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละกว่า 10,000 บาท ส่วนข้าวอื่นก็อยู่ในราคาตันละ 7,000 บาท ซึ่งยอมรับว่าดีกว่าเดิม

เพจ หอข่าว ชาวปราการ ได้รายงานเรื่องราวแห่งการแบ่งปัน เมื่อร้านค้าขายไก่สดในตลาดแห่งหนึ่งได้ติดป้ายประกาศว่า “ผู้พิการและผู้ยากไร้ รับเนื้อไก่ฟรี 1/2 กิโลกรัม” โดยระบุว่า การให้และแบ่งปันเกิดขึ้นได้จากจิตสำนึกของสังคมที่มีคำว่า..กันและกัน แอดมินฯประทับใจมาก ใจคุณหล่อมากบนสังคมเล็กๆ ณ ที่นี้ พี่น้องหอข่าวชาวปราการ ใครผ่านแวะอุดหนุนได้นะครับ เพื่อช่วยต่อยอดความดี และ สำหรับท่านที่ยากไร้หรือพิการ ก็ฝากบอกๆต่อๆกันได้นะครับว่าที่นี่มีน้ำใจของคนไทยด้วยกันพร้อมที่จะ “แบ่งปัน” กันและกัน….ทุกๆวัน พิกัด..ตลาดสดแพรกษา (ปากซอยแพรกษา7)

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ร่วมประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ ร่วมกับนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ภาคเอกชน ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ จ.อุบลราชธานี เพื่อชี้แจงนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ และเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ

นายกฤษฎา กล่าวว่า วันนี้เรามาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคเกษตรและของประเทศไทย หากเราต้องการผลลัพธ์ใหม่ ทีมกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำร่วมกันทำสิ่งใหม่ ปรับวิธีคิด วิธีทำงานกันใหม่อย่างไร้รอยต่อ แบ่งเป็น 4 สิ่งที่ ต้อง ทำ คือ 1. ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด 2. ต้องรู้ลึก รู้จริง ทำได้จริง ลงพื้นที่จริง ให้ได้มากกว่าเกษตรกรหรืออย่างน้อยต้องรู้เท่าทันเกษตรกร 3. ทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อสู่เป้าหมายความสำเร็จเดียวกัน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย และ 4. เห็นแก่ประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ต้องกล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ต่อสู้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติ

ภายใต้ 5 เป้าหมาย คือ 1. เกษตรกรไทยจะต้องหลุดพ้นจากความยากจน โดยจะมีรายได้มากกว่าในปัจจุบันอย่างน้อย 1 เท่าตัวภายในปี 2565 และภายในปี 2570 ครอบครัวเกษตรกรไทยในบัญชีคนยากจนจะหมดไป 2. ระบบสหกรณ์และวิสาหกิจการเกษตรต้องเข้มแข็ง สามารถปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเกษตรกรไทยจะเข้าสู่ระบบสหกรณ์ทุกครัวเรือน 3. เกิดสังคมและชุมชนเกษตรกรไทยแบบพออยู่พอเพียงอย่างทั่วถึง 4. ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย 100% ภายในปี 2565 และผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 60% ภายในปี 2570 และ 5. ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องเป็นเพื่อนร่วมคิดเป็นที่พึ่งของเกษตรกร

ปัจจุบันไทยผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลก GDP ภาคเกษตรประมาณ 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 6% ของ GDP รวม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังยากจน หรือ ประมาณ 5.1 ล้านคน จากประชากรภาคเกษตร 23.59 ล้านคน และลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 3.9 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาหนี้สิน ขาดทุนไม่รู้ระบบการตลาด โครงสร้างตลาดสินค้าเกษตรและตลาดปัจจัยการผลิตถูกควบคุมโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ ระบบสหกรณ์ยังไม่เข็มแข็งพอ จำนวนมากขาดความเป็นมืออาชีพแต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเกษตร เอาชนะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ดิน ฟ้า อากาศ เราควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกได้ ประกอบกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรแทนกำลังแรงงาน เทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาพันธุ์พืชที่มีลักษณะพิเศษเหนือธรรมชาติปกติ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการประชุมสัมมนา“การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ” กระทรวงเกษตรฯ กำหนดจัดการประชุมจำนวน 5 ครั้ง ในระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 24 ม.ค. 2561 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น ในวันที่ 29 ม.ค. 2561 ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ในวันที่ 9 ก.พ. 2561 ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 21 ก.พ. 2561 ภาคใต้และชายแดนใต้ จ.สงขลา ในวันที่ 23 ก.พ. 2561

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่บริเวณโรงเรือนปลูกเมล่อน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการลงนามในโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างคณะทรัพยากรธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลนำใช้งานด้านการเกษตรเพื่อมุ่งสู่การเป็น “สมาร์ทฟาร์ม” โดยนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตและลดต้นทุน และ เกิดคลังข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาให้มีการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือหาแนวทางของธุรกิจอัจฉริยะในอนาคต นอกจากนั้นยังเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ผลิตในประเทศ มาใช้งานด้านการเกษตรแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

นายทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้มีการนำร่องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาเพื่อใช้กับกระบวนการปลูกเมล่อน ซึ่งเป็นพืชที่กำลังเป็นที่นิยมบริโภคและได้ราคาดีแต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลเพราะไม่ใช่พืชพื้นถิ่นดั้งเดิมของภาคใต้ โดยใช้ในระบบการให้น้ำและการให้ปุ๋ย สามารถช่วยในการกำหนดปริมาณและระยะเวลาในการให้น้ำและปุ๋ย และหลังจากนั้นจะนำไปพัฒนาเพื่อใช้ในการปลูกพืชชนิดอื่นในระยะต่อไป นอกจากนั้นยังจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับสู่การเรียนการสอนนักศึกษาและผู้สนใจอื่นๆ โดยเชื่อว่าจะมีความพร้อม สามารถเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชมระบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สู่ “สมาร์ทฟาร์ม” ในงานวันเกษตรภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2561

ทั้งนี้ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเกษตรครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยแบบบูรณาการ ระหว่างศาสตร์ทางด้านการเกษตรและด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งถือว่าการเริ่มต้นที่ดีและเป็นแนวโน้มรูปแบบการวิจัยใหม่ที่รัฐบาลและมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุน เนื่องจากในการให้ทุนวิจัยปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนงานวิจัยแบบบูรณาการมากขึ้น เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ สามารถใช้ได้จริง

วันที่ 24 มกราคม 2561 นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ กล่าวว่า สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับข่าวดีว่ามีสมาชิกสัตว์เกิดใหม่ เป็นลูกนกเพนกวินฮัมโบลด์ ซึ่งฟักออกจากไข่ จำนวน 1 ตัว เกิดจากพ่อชื่อเรนและแม่ชื่อเล็ก ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับมาจากสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งพ่อแม่นกเพนกวินได้วางไข่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2560 และลูกนกได้ฟักออกจากไข่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ลูกเพนกวินฮัมโบลด์ในเบื้องต้นสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่ยังไม่ทราบเพศ นับเป็นความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ ทำให้ปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่มีนกเพนกวิน ฮัมโบลด์ เพิ่มรวม ทั้งสิ้น 13 ตัว พร้อมจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมความน่ารักได้แล้วทุกวัน