ส่วนสหกรณ์ในภาคเหนือ จะเน้นรับซื้อข้าวเปลือกเหนียว

ขณะนี้มีสหกรณ์การเกษตรเมืองเชียงราย จำกัด จังหวัดเชียงราย และสหกรณ์การเกษตรหนองม่วงไข่ จำกัด จังหวัดแพร่ ได้เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวความชื้น 25% ที่ราคาตันละ 7,300-7,700 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เฉลี่ยตันละ 900-1,400 บาท ส่วนในภาคกลาง รับซื้อข้าวเปลือกขาว เช่น สหกรณ์การเกษตรคลองหลวง จำกัด จังหวัดปทุมธานี

รับซื้อข้าวเปลือกความชื้น 25% ตันละ 6,700 บาท ส่วนข้าวเปลือกความชื้น 15% ตันละ 7,700 บาท ซึ่งเทียบกับปีที่ผ่านมา ราคารับซื้อข้าวเปลือกขาวเพิ่มสูงขึ้นตันละ 300 บาท ซึ่งราคาข้าวเปลือกที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากพื้นที่ทำนาในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่ผ่านมา

“ราคารับซื้อข้าวเปลือกขึ้นอยู่กับคุณภาพและข้าวชื้นของข้าว อยากให้สมาชิกสหกรณ์รักษาคุณภาพของข้าวเปลือกและรวบรวมนำมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์ที่ตนเองสังกัด ซึ่งจะได้ราคาที่ยุติธรรม และเมื่อสหกรณ์มีผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปข้าว สหกรณ์ได้จัดสรรกำไรดังกล่าวมาปันผลเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยอนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2561/62 ผ่าน ธ.ก.ส.

โดยจัดสรรวงเงินสินเชื่อไว้ 12,500 ล้านบาท ให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศุนย์ข้าวชุมชน กู้ยืมเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นข้าวสาร คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ชำระหนี้ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2562 ขณะนี้มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว 399 แห่ง วงเงินที่ขออนุมัติสินเชื่อ จำนวน 16,890 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ไม้เลื้อยส่วนใหญ่มักเป็นไม้หน้าฝน มาเองกับธรรมชาติ และจากไปในฤดูกาลเมื่อถึงเวลาของมัน

เราจะเห็นเถาตำลึง มะระขี้นก กะทกรก พวงชมพู อัญชัน เถาคัน ฯลฯ แตกต้นเล็กๆ ขึ้นมาจากผืนดินในที่รกร้างพร้อมกับฝนแรก และไม่นานหลังจากนั้นมันก็จะระบัดใบรวดเร็ว เลื้อยไต่พันเกาะทุกสิ่งที่มือของมันยึดเกี่ยวไปถึง

ในบรรดาไม้เลื้อยเหล่านี้ ต้นที่แข็งแรงกว่าจะได้ชัยชนะในการปีนป่ายทับไม้อื่นเสมอ และมันจะไม่ยอมหยุดยั้งการแผ่อาณาเขตตราบเท่าที่มีช่องว่างให้ผ่านไป

แถวบ้านฉัน ราชาและราชินีแห่งไม้เถาที่เลื้อยเก่งแบบไม่เกรงใจผู้ใดเลยก็คือ มะระขี้นก กับกะทกรก เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ฝังอยู่ในดินมีมากมายก่ายกอง มีน้ำชุ่มเมื่อไหร่ก็แทงยอดใหม่ทันที

แต่สุดยอดแห่งความทรหดอดทนนั้นต้องยกให้เป็น “ตำลึง” ซึ่งไม่ต้องรอฝนตกเลยก็เกิดและเติบโตได้ในทุกที่ ขอเพียงให้มีหยาดน้ำค้างพร่างพรมอยู่บ้างในยามค่ำคืน

ส่วนเถาไม้งามประดับรั้วในฤดูฟ้าฉ่ำนั้น ไม่มีไม้ใดงดงามเท่า พวงชมพู กับ อัญชัน อีกแล้ว

ในที่รกร้างรอบบ้านทุกฤดูต้นฝน พวงชมพูกับอัญชันจะแผ่ขยายอาณาจักรไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ต้องมีเสารั้วให้เกาะก็ไม่เป็นปัญหา พวกเธอจะคืบคลานไปในทางระนาบทุกทิศทาง

แต่หลังจากธรรมชาติเล่นเอาล่อเอาเถิดกับมนุษย์ยุคนี้อย่างไม่ปรานี ให้ฝนทิ้งช่วงบ้าง ฉ่ำแฉะเกินไปบ้าง แล้งยาวนานบ้าง หรือไม่ก็ปล่อยน้ำมาท่วมเมืองกันง่ายๆ ฤดูกาลปกติของต้นไม้ก็ผิดเพี้ยนไปเหมือนกัน

สองฝนมาแล้วฉันไม่ได้เห็นพวงชมพูกับเถาอัญชันเกิดขึ้นในที่เดิมของมัน อัญชันที่ปลูกอยู่ข้างบ้านในดินลักปลูกบนที่สาธารณะเวลานี้จึงไม่ใช่เถาไม้ตามธรรมชาติ แต่ฉันไปถอยมันมาจากร้านต้นไม้ซึ่งปลูกเลี้ยงโด๊ปปุ๋ยมาเต็มที่แล้วในกระถาง ขนาด 8 นิ้ว

พอเอามาลงดินแค่ไม่กี่วัน อัญชันจากร้านขายต้นไม้ก็ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เนียนสนิทภายในสัปดาห์เดียวก็ทยอยออกดอกสีครามเข้มไปพร้อมๆ กับการยืดแขนยาว อีกไม่นานรั้วลวดหนามตรงนั้นก็คงจะเต็มแน่นไปด้วยดอกอัญชันที่มีลักษณะเหมือนดอกถั่วแต่สีเข้มจัดจ้านกว่ามากมาย

การที่อัญชันมีดอกคล้ายดอกถั่วก็เพราะมันเป็นไม้เถาวงศ์เดียวกับถั่ว (pea) นั่นเอง เพียงแต่เราไม่รับประทานฝักของมันเหมือนที่เรารับประทานถั่วชนิดต่างๆ และดอกอัญชันก็แปลกไปจากดอกถั่วทุกชนิดตรงที่มีดอกซ้อนหลายกลีบด้วย ขณะที่ดอกถั่วเป็นดอกชั้นเดียวแถมขนาดยังเล็กกว่า ชื่อภาษาอังกฤษของอัญชันจึงเรียกว่า Butterfly pea

อัญชัน เป็นพืชล้มลุกชอบขึ้นกลางแจ้งในที่ได้รับแดดเต็มที่และจะเลื้อยยาวไปไกลได้ถึง 7 เมตร เลยทีเดียว พอถึงฤดูแล้งเถาจะแห้งตายไป แต่ถ้าหากมีน้ำเพียงพอและดูแลอย่างเหมาะสมก็จะสามารถปลูกอัญชันให้ออกดอกงามได้ตลอดปีและมีอายุยาวนานไปเรื่อยๆ
เฉพาะอัญชันพันธุ์ที่ขึ้นเองตามที่รกร้างว่างเปล่าเท่านั้นถึงจะเป็นพันธุ์ดอกชั้นเดียว ขนาดดอกเล็ก สีไม่เข้มมากนัก

แต่ขณะนี้เราสามารถพัฒนาพันธุ์ให้มีดอกขนาดใหญ่ขึ้น มีสีน้ำเงินเข้มจัด กลีบดอกซ้อนและดก เป็นที่นิยมปลูกกันมาก เพราะนอกจากสวยงามแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

สำหรับถิ่นกำเนิดของอัญชันเป็นพันธุ์ไม้ในเขตร้อน บางตำราบอกว่าอยู่ที่ประเทศอินเดีย บางตำราว่าอยู่ในทวีปอเมริกาใต้แล้วจึงแพร่มาถึงอินเดีย ส่วนประเทศไทยคงรับเข้ามาจากประเทศอินเดียอีกต่อหนึ่ง โดยอัญชันขึ้นได้ดีในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง ขึ้นงอกงามดีในดินที่มีอินทรียวัตถุสูงและชอบแสงทั้งวัน อัตราการเจริญเติบโตดีมาก เมื่อปลูกแล้วมักไม่ค่อยตายง่ายๆ

เรามักจะคุ้นเคยกับดอกอัญชันสีน้ำเงินเข้มกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้วอัญชันมี 3 สี เลยนะ คือ สีขาว สีน้ำเงิน และสีม่วง ว่ากันว่าพันธุ์ดอกสีม่วงซึ่งเพิ่งมีภายหลังนั้นเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ดอกสีขาวกับพันธุ์ดอกสีน้ำเงิน แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการสำหรับทฤษฎีนี้

การแพทย์แผนไทยใช้ประโยชน์ของอัญชันในแง่ยารักษาโรคมาแต่โบราณ โดยใช้ทุกส่วน ทั้งราก ใบ ดอก ราก ซึ่งมีรสเย็นจืด บำรุงสายตา ทำให้ตาสว่าง ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ใช้ถูฟันแก้ปวดฟัน และเชื่อว่าทำให้ฟันทน

น้ำคั้นจากใบสดและดอกสด ใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ ฝ้าฟาง ตาแฉะ มืดมัว

น้ำคั้นจากดอก เป็นยาปลูกผมและขน ทำให้ผมดกดำเงางาม ใช้ทาคิ้ว ศีรษะ หนวด เครา โดยคนโบราณนิยมใช้ทาคิ้วเด็กเพื่อทำให้คิ้วดกดำ
และดอกสามารถสกัดสีมาทำสีประกอบอาหารได้

สีจากดอกอัญชันสีน้ำเงินมี สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) มีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็กๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมและนัยน์ตาได้มากขึ้น

สารแอนโทไซยานินนี้จะพบในผลไม้และดอกไม้ที่มีสีน้ำเงิน สีแดง หรือสีม่วง มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ โดยพืชจะสร้างสารนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันดอกหรือผลตัวเองจากอันตรายของแสงแดดหรือโรคภัย

แอนโทไซยานินละลายน้ำได้ดีและยังเปลี่ยนสีไปตามความเป็นกรด-ด่าง ได้ด้วย จึงนิยมใช้ทำเป็นสีธรรมชาติผสมในอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ได้อย่างปลอดภัย เช่น ขนมดอกอัญชัน ขนมช่อม่วง ขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ขนมขี้หนู น้ำดื่มสมุนไพร และใช้หุงกับข้าวเพื่อให้ได้สีสวยงาม เป็นต้น

ความที่อัญชันเป็นดอกไม้รับประทานได้นี่เอง เราจึงเห็นดอกไม้ชนิดนี้เกาะรั้วบ้านคนส่วนใหญ่อย่างเจนตา หลายคนนิยมเอาไปรับประทานแบบผักพื้นบ้าน ใช้จิ้มน้ำพริกสดๆ หรือไม่ก็ชุบแป้งทอด ทำไข่เจียว บ้างก็เอาไปทำเครื่องดื่ม ใช้เป็นส่วนผสมหลักในการทำผลิตภัณฑ์บำรุงผมจำพวกแชมพูและครีมนวดผม

และเนื่องจากอัญชันเป็นพืชตระกูลถั่ว เกษตรกรจึงนำมาปลูกคลุมดินเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ได้ดี ขณะเดียวกันลำต้นและใบสดยังใช้เลี้ยงสัตว์เป็นอาหารของแพะ แกะ ได้ด้วย

แต่ที่บ้านฉันนิยมใช้ดอกอัญชันมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร
น้ำดอกอัญชัน ทำง่ายมาก แค่เด็ดดอกสดๆ จากต้นสักหนึ่งกำมือมาล้างน้ำให้สะอาดและนำไปต้มในน้ำเดือดสักสองสามนาที ความร้อนก็จะดึงสารแอนโทไซยานินสีน้ำเงินเข้มออกมาเต็มหม้อจะเห็นชัดเลยว่าอัญชันกลีบสีซีดจางลงมาก จากนั้นก็ช้อนเศษดอกไม้ทิ้งแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลเล็กน้อยหรือไม่ก็ใช้น้ำผึ้งแทนพอให้หวานติดปลายลิ้นเท่านั้นเอง

เพราะบ้านเราไม่นิยมรับประทานอาหารและเครื่องดื่มรสหวาน และเราอยากคงสภาพรสตามธรรมชาติของสมุนไพรไว้ให้มากที่สุด ดังนั้น จึงใช้น้ำตาลน้อยจริงๆ

อัญชัน เป็นผักรสอ่อนมาก แทบไม่รู้สึกเลยว่ามีรสผัก และน่าเสียดายที่ไม่มีกลิ่นหอม ไม่เช่นนั้นคงจะช่วยเพิ่มรสชาติในเครื่องดื่มได้มากยิ่งขึ้น

ปกติพืชผักสีเข้มมักจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และไม่ต้องกังวลว่าต้องใช้ปริมาณดอกอัญชันเป็นสัดส่วนแค่ไหนกับน้ำ ขอให้ดึงสารแอนโทไซยานินออกมาให้เยอะๆ เถอะ สีเข้มเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะมากเกินไป

ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะทำเครื่องดื่มน้ำดอกอัญชันไว้สำหรับดื่มแบบเย็นจัด ถ้าไม่ใส่น้ำแข็งเกล็ดก่อนเสิร์ฟก็มักจะนำไปแช่ตู้เย็นเสียก่อน รสชาติเครื่องดื่มเย็นๆ จะดีขึ้นมาก ดื่มแล้วจะรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย สบายใจในทันที โดยเฉพาะถ้าดื่มตอนที่ทำเสร็จใหม่ๆ สดๆ เดี๋ยวนั้นเลย คุณค่าทางอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินต่างๆ จะยังอยู่ครบถ้วน

และเรายังสามารถเล่นสนุกกับสีสันของน้ำดอกอัญชันได้ด้วย “น้ำมะนาว” ที่ทำให้น้ำผักผลไม้เปลี่ยนสีไปได้อย่างน่าทึ่ง
น้ำมะนาว มีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดซิตริก กรดมาลิก นอกจากนั้น ยังมีวิตามินซีสูง และมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในผิวมะนาวอีกด้วย

เมื่อเติมน้ำมะนาวซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดลงในน้ำที่มีสีจากพืช สีของน้ำนั้นจะเปลี่ยนไปทันที!

ในทางกลับกันถ้าเราเติมโซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) หรือน้ำสบู่ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างลงไป สีของเครื่องดื่มจากผักผลไม้นั้นก็จะเปลี่ยนไปอีกเป็นสีหนึ่ง แตกต่างไปจากการเติมฤทธิ์กรด

ปฏิกิริยาของดอกอัญชันที่มีต่อฤทธิ์กรดจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง แต่ถ้าเจอสารที่เป็นด่างจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียว! อันนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางเคมีล้วนๆ มิใช่ความแปลกมหัศจรรย์อันใดค่ะและเราจะสนุกมากเลย ถ้าใช้น้ำสีจากพืชหลายๆ ชนิดมาทดลองดู

มีข้อแนะนำจากผู้รู้ว่า ถ้าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของสีในน้ำอย่างชัดเจน ควรใช้น้ำผักผลไม้ที่คั้นมาใหม่สดจะได้ผลดีที่สุด ถ้าหากเก็บไว้นานเกินไปคุณสมบัติของสีอาจเปลี่ยนแปลงไปจากค่าเดิมของมัน

เรื่องคุณสมบัติทั่วไปของมะนาวซึ่งมีมากมายมหาศาลนั้นจะหาโอกาสนำมาเล่าในคราวต่อไป

และถ้าที่บ้านท่านมีเด็กๆ ลองทำเครื่องดื่มนี้ด้วยกันในลักษณะแล็บทดลองในบ้านก็จะเป็นวิธีเรียนรู้ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ให้เทน้ำดอกอัญชันใส่แก้วใสไว้หลายๆ ใบ เพื่อจะได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนสีได้ง่าย ให้เหลือสีต้นฉบับของเดิมเอาไว้เปรียบเทียบสักแก้ว จากนั้นบีบมะนาวลงไปในน้ำดอกอัญชันแต่ละแก้ว ลองเปรียบเทียบปริมาณของน้ำมะนาวที่ใส่ลงไปด้วย ถ้าใส่มากยิ่งจะเปลี่ยนสีจากเดิมไปมาก

กรดของมะนาวจะทำปฏิกิริยากับน้ำดอกอัญชัน ทำให้น้ำดอกอัญชันเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเข้มกลายเป็นสีม่วงสดใส และน้ำดอกอัญชันก็จะเปลี่ยนรสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ อร่อยชื่นใจยิ่งกว่าเดิม ….

ฤทธิ์ของมะนาวนี่เด็ดขาดจริงๆ สมควรที่จะมีไว้เป็นยาสามัญประจำตู้เย็นมิให้ขาด

เพราะไม่ว่าเราจะเป็นหวัด ไอ ระคายคอ มีเสมหะ ถ้าไม่มียาแผนใหม่ก็ใช้น้ำมะนาวนี่แหละ คั้นสดๆ เติมเกลือเข้าไปหน่อย จิบบ่อยๆ อาการก็จะทุเลาในทันที

แม้แต่ตอนรับประทานอาหาร แค่บีบมะนาวลงไปสักหน่อย รสของปลาก็จะดีขึ้น เนื้อที่จะนำไปปรุงอาหารเพียงบีบน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อยก่อนนำไปปรุง กรดจากมะนาวก็จะแทรกเข้าไปในเนื้อทำให้เนื้ออ่อนนุ่มเคี้ยวง่ายขึ้น

น้องสะใภ้ปลูกอัญชันไว้เป็นดง ตอนที่ดอกออกดกมากเธอเสียดายที่จะปล่อยให้มันเหี่ยวแห้งทิ้งไปเปล่าๆ ก็เลยลองทำชาดอกอัญชัน โดยเก็บดอกสดมาผึ่งแดดจัดสัก 2 วัน จากนั้นผึ่งลมต่อไว้ในที่แห้ง รอจนดอกอัญชันแห้งสนิทกลายเป็นชาดอกไม้จึงค่อยเก็บไว้ในโถปิดสนิท วิธีนี้จะใช้ได้นานประมาณ 6 เดือน เลยทีเดียว

เธอบอกว่าให้เลือกเก็บดอกสีเข้มๆ เข้าไว้ เวลานำมาชงเป็นชาก็ให้เพิ่มปริมาณมากหน่อยจะได้น้ำสีเข้มสมใจ คือ อาจจะต้องใช้อัญชันแห้งมากถึง 10 ดอก เทียบกับการใช้อัญชันดอกสดแค่ 5 ดอก ต่อการชงชา 1 แก้ว

อีกวิธีหนึ่งคือ การเก็บแบบดอกสดใส่ในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาแบบนี้รักษาความสดได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่จะให้สีชาไม่ค่อยสวยเท่ากับดอกสดที่เพิ่งเก็บมาจากต้นใหม่ๆ

แต่ถ้าอยากเก็บดอกสดไว้นานกว่านั้น ก็ต้องแพ็กใส่ถุงพลาสติกเก็บเข้าช่องฟรีซไปเลย โดยให้ดึงกลีบเลี้ยงข้างในดอกออกให้หมด นำไปล้างน้ำเบามือเสียก่อนค่อยบรรจุถุง ดอกสดอัญชันแบบแช่แข็งนี้สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน ไม่เสื่อมสี และไม่เสียคุณค่า

สีของน้ำอัญชันนั้นลองเอาไปประยุกต์ใช้แบบไม่มีกรอบจะสนุกขึ้นเรื่อย ไม่ว่าจะเอาไปหุงกับข้าวสวย หรือข้าวมัน การทำน้ำแข็งสีฟ้าหรือสีม่วง นำไปผสมวุ้น หรือน้ำมะพร้าวอ่อน ก็จะได้สีแปลกตา ฯลฯ
บ้านใครยังไม่มี อัญชัน ลองไปหามาปลูกสักต้นนะคะ แล้วจะไม่ผิดหวังเลย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ จัดงานเสวนา “ขีดสมรรถนะในการขับเคลื่อน วาระการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพ โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน

รศ.ดร.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ นักวิจัยจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หัวหน้าโครงการวิจัย “ขีดสมรรถนะที่จำเป็นของหน่วยงานไทยในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สกว. กล่าวว่า เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของโครงการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคืบหน้าด้านการดำเนินงานและประสบการณ์ในปัจจุบันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและวงการวิชาการ

โดยโครงการนี้คณะผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือที่จะใช้ประเมินขีดสมรรถนะโดยปรับจากเครื่องมือที่พัฒนาแล้วของ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่นำไปประยุกต์พร้อมปรับใช้มาแล้วในหลายโครงการ จากนั้นนำเอาเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมานำไปทดสอบ-แล้วปรับให้ตรงกับวัตถุประสงค์เฉพาะของหน่วยงานและของโครงการและนำเครื่องการประเมินสมรรถนะไปใช้จริงกับ 2 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย

ด้าน รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ปัญหาโลกร้อน” เป็นปัญหาระดับโลกที่กระทบทุกประเทศ แม้จะไม่เท่ากันและจะโดยสถานการณ์และรูปแบบยากที่จะคาดการณ์ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การสั่งสมของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาได้เกินระดับปลอดภัย อันตรายที่จะเกิดกับมนุษย์และระบบนิเวศอาจรุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มนุษย์จำเป็นต้องเตรียมรับมือมากขึ้นกว่าเดิมเป็นปกติอยู่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติเช่นประเทศไทยและประเทศยากจนทั้งหลาย การรับมืออย่างเป็นระบบหรือการปรับตัว โดยมีระบบและแผนงาน การปรับตัวมีความสำคัญและควรจะต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ให้ประเทศมีการวางกลไกและสามารถนำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อประโยชน์แก่การเรียนรู้และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ดังนั้น การปรับตัวต้องเป็นภารกิจโดยตรงของพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยมีหน่วยงานสนับสนุนทางยุทธศาสตร์และเทคนิคจากภาครัฐ ทั้งนี้

ต้องอาศัยการพัฒนาขีดสมรรถนะที่ประเทศและหน่วยงานที่มีอยู่ให้เพียงพอกับการรับมือควบคู่ไปกับการสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศที่ถูกต้องและทันการณ์แก่ภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด ซึ่งการประเมินขีดสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานมีนโยบาย แผนงาน และกลไกเพื่อสนับสนุนแผนการปรับตัวอยู่แล้วทั้งในระดับชาติและในระดับสาขา ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการประเมินขีดสมรรถนะของหน่วยงานอย่างเป็นระบบ ดังนั้น

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญยิ่งสามารถนำข้อมูลการประเมินที่ได้ไปจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณเพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดสมรรถนะขององค์กรให้สามารถสนับสนุนการปรับตัวให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ การจัดงานในวันนี้ สกว. มีความคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมตระหนักและมีความรู้ด้านการเตรียมรับปรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดทำร่างแผนการพัฒนาขีดสมรรถนะขององค์กรโดยใช้ประโยชน์จากผลการประเมินสมรรถนะ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา

“การขับเคลื่อนการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ” ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทในการวางแผนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และหน่วยงานที่มีแนวนโยบายหรือพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับปรับตัวต่อปัญหาดังกล่าว อันประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมพูดคุยและให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศที่เข้าร่วมงานครั้งนี้

คนไทยมีคำ “อู่ข้าว-อู่น้ำ” ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า อู่ข้าวอู่น้ำของดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นพื้นฐานให้กับ อารยธรรมไทย ตั้งแต่โบราณกาลมา

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา ข้าวเป็นสินค้าส่งออก ที่มีมูลค่าถึง 70-80% ของ GDP ประเทศ ติดต่อกันมาหลายสิบปี ในปัจจุบันและอนาคต ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ล้วนมีเรื่องราวตำนานที่น่าสนใจ ที่จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ทำให้ข้าวไทยยังคงเป็น เสาหลักของสินค้าเกษตรของไทยต่อไป

ข้าวลืมผัว เป็นข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย แถมมีวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดเสี่ยงโรคมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ บำรุงสมอง ป้องกันโรคหัวใจและอัลไซเมอร์ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง

พญาลืมแกง มีที่มาจากความอร่อย ออกรสหวานมัน อร่อยเสียจน เผลอกินแต่ข้าวเปล่า ลืมกินแกงไปเลย พญาลืมแกง เป็นข้าวเหนียว ลักษณะเป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ต้นอ่อน ล้มง่าย แตกกอน้อย เมล็ดแบน นิยมปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่นาลุ่มมักมีน้ำขัง สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ข้าวชนิดนี้ ขึ้นชื่อในเรื่องความหอมนุ่ม อร่อยมาก จึงเป็นที่นิยมบริโภคในพื้นที่ภาคอีสาน

สินเหล็ก เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนา โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) ซึ่งเป็นของสถาบันวิจัยข้าว กับ ข้าวเจ้าหอมนิล (พันธุ์พ่อ) ของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม. เกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2545

ข้าวสินเหล็ก เป็นข้าวขาว ที่ให้ผลผลิตดี รูปร่างเมล็ดเรียวยาว มีกลิ่นหอม จะเป็นพันธุ์ข้าวที่มีบทบาททางเศรษฐกิจสูงในอนาคต เพราะ ข้าวสิน มีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณที่สูงและมีดัชนีน้ำตาลในระดับปานกลางถึงต่ำ จึงทำให้เมล็ดข้าวสินเหล็กมีมูลค่าสูง จึงเป็นที่มาของชื่อพันธุ์ว่า “สินเหล็ก”

ไรซ์เบอร์รี่ เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนา โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์เจ้าหอมนิล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พันธุ์พ่อ) กับข้างพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากสถานบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) โดยเริ่มผสมพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์วิจัยข้าว ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม

ข้าวพันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูง ติดเมล็ดดี ขนาดเมล็ดใหญ่ ยาวเรียว, ไม่เป็นโรคไหม้คอรวง, เปลือกเมล็ดสะอาด, ข้าวเจ้า เมล็ดเรียวยาว สีม่วงเข้ม จึงใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ไรซ์เบอร์รี่” มีคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณธาตุเหล็กสูง 1.5 – 1.8 มก./100 ก. ปริมาณสารเบต้นแคโรทีน60 µg/100 ก. มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงผลักดันให้เมล็ดข้าวไรซ์เบอร์รี่มีมูลค่าสูง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

“ข้าวสังข์หยด พัทลุง” เป็นข้าวที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศรับรอง ตั้งแต่ วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา ให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(จีไอ) พันธุ์แรกของประเทศไทย ข้าวสังข์หยด มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ คือ มีกากใยอาหารสูง จึงมีประโยชน์ในการชะลอความแก่

นอกจากนี้ มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัสสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ แล้วยังมีประโยชน์ในการบำรุงโลหิต บำรุงร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันโรคความจำเสื่อม และยังมีสารแอนติออกซิแดนต์ พวก oryzanol และมี Gamma Amino Butyric Acid (GABA) ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง จึงนับได้ว่า ข้าวพันธุ์สังข์หยดเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางอาหารสูง

ข้าวเฉี้ยง เป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่นภาคใต้ นิยมปลูกมากในจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง คุณภาพการหุงต้มดีทั้งข้าวเก่า และข้าวใหม่ เมื่อหุงสุกเมล็ดร่วนแข็ง และหอม

ข้าวปิ่นเกษตร เป็นข้าวที่เกิดจากการผสมพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 กับข้าวไม่ไว้แสงที่ทนแล้ง (CT9993)คัดเลือกได้ ข้าวหอมสีขาวที่ มีกลิ่นหอมนุ่มเหนียว ข้าวกล้องมีความนุ่มนวล มีเมล็ดยาวและใสมาก โดยใช้ชื่อว่า ปิ่นเกษตร

ข้าวชนิดนี้มีธาตุเหล็กในปริมาณสูงมาก ข้าวพันธุ์ปิ่นเกษตรได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากการประกวดข้าวโลก (2nd World Rice Competition) ในปี พ.ศ. 2547 ขณะนี้ข้าวปิ่นเกษตรกำลังทำการส่งเสริมและทดลองปลูกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม

ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์และมะลินิลสุรินทร์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว คณะเทคโนโลยี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ สามารถสนองต่อการเรียกหาของคนรักสุขภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งยังมีข้อดีทางด้าน คุณภาพทางกายภาพ ทางเคมี และคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี คือ เป็นข้าวเมล็ดเรียวยาว เปอร์เซ็นต์อมิโลสต่ำ

ข้าวสุกเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอมและมีสารต้านอนุมูลอิสระ ในปริมาณที่สูง ประกอบด้วย สารประกอบฟีโนลิก และแอนโธไซยานิน ที่มีผลทำให้ผิวหนังของเราไม่เหี่ยวแห้งเร็วก่อนไวอันควร แถมยังช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งและยังออกฤทธิ์ในการขยายเส้นเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมองและโรคอัมพาตอีกด้วย

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข45 ได้จากการผสมพันธุ์ ข้าวพันธุ์หอมนายพล กับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีเมื่อ ปี 2532 กข 45 เป็นข้าวเจ้าน้ำลึกไวต่อช่วงแสง เมล็ดข้าวขาวใส มีท้องไข่น้อย สีเป็นข้าว 100% ได้ ปริมาณอมิโลสต่ำ 16.35 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ความคงตัวของแป้งสุกอ่อน 80 มิลลิเมตร อัตราการยืดตัวของข้าวสุก 1.67 เท่า ข้าวเมื่อหุงต้มด้วยอัตราส่วน ข้าวต่อน้ำเป็น 1 ต่อ 1.7 เท่า(โดยน้ำหนัก)นุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม

ข้าวเล็บนก เป็นข้าวเจ้าพื้นบ้านของภาคใต้ นิยมปลูกมากแถบ จ.นครศรี ธรรมราช พัทลุง สงขลา และปัตตานี ที่มาของชื่อ “เล็บนก” ก็เนื่องมาจากว่า เป็นข้าวที่มีเมล็ดเล็ก และเรียวมาก จึงเป็นข้าวที่นกชอบกินมาก ข้าวเล็บนก คุณภาพการหุงต้มดี ข้าวสุกอ่อน รสชาติดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค นิยมแปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว เพราะคุณภาพดี นุ่มเหนียว

ปะกาอำปึล เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนิยมปลูกแถบชายแดนไทยกัมพูชา ทางฝั่งไทยปลูกกันแถบจังหวัดสุรินทร์ ส่วนกัมพูชาคือจังหวัดอุดรมีชัย เนื่องจาก ข้าวชนิดนี้มีเปลือก ข้าวสีเหลืองทองเหมือนดอกมะขาม คนเขมรจึงเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่า ปะกาอำปึล แปลว่า ดอกมะขาม