ส้มเขียวหวานแต่ละรุ่นจะให้ผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการ

รุ่นใดต้องการให้ออกผลมากน้อย ดิน น้ำ ปุ๋ย มีส่วนสำคัญ บวกกับความเอื้ออำนวยของสภาพลมฟ้าอากาศ คุณกรณ์ธนามีประสบการณ์และความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะคุณกรณ์ธนาเป็นประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ดังนั้น วิธีการและกำหนดการระยะเวลาในการให้ปุ๋ยกับต้นส้มเขียวหวาน จึงมีความพอดีและเหมาะสม คุณกรณ์ธนาบอกว่าก่อนถึงช่วงจังหวะเวลาที่ส้มเขียวหวานจะผลิดอกออกผล จะผสมปุ๋ยด้วยสูตร 46-0-0 บวกกับ สูตร 15-15-15 และปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1:2:2 นำไปใส่รอบทรงพุ่ม ต้นละ 1-1.5 กิโลกรัม ตามขนาดของลำต้น แล้วให้น้ำทันที เพื่อให้ปุ๋ยละลาย ทั้งนี้ จะต้องจัดการตัดแต่งกิ่งที่แห้ง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ เล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย

หลังจากได้เตรียมความพร้อมให้แก่ต้นและใบแล้ว ก็ต้องมีกระบวนการในการจัดการให้ต้นส้มเขียวหวานเกิดอาการเครียดด้วยการงดน้ำ สังเกตใบส้มแสดงอาการเหี่ยวเฉา จึงให้น้ำอย่างเต็มที่ และให้ปุ๋ย หลังให้ปุ๋ย 1 วัน ก็จะฉีดพ่นธาตุอาหารทางใบ พร้อมกับสาหร่ายทะเลสกัด กระตุ้นตาดอก ก็จะเกิดการผลิดอกออกมาให้เห็น คุณกรณ์ธนาอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นส้มเขียวหวานต้องการทั้งธาตุอาหารหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนที่คนเราต้องกิน หมู ไก่ ปลา เป็นวัตถุดิบ กับต้องการธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม เพื่อช่วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ ให้เป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมกิน จึงมีความสำคัญต่อการออกดอกของส้มเขียวหวาน

หลังจากนั้น ก็ดูแลไปตามปกติ ไม่ให้มีโรคและแมลงมารบกวน ถ้าเห็นว่าอาจจะมีก็จะใช้วิธีการป้องกันมากกว่าการรักษาเมื่อเกิดการระบาดแล้ว ด้วยการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือราเขียว ฉีดพ่นป้องกันโรค กับผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย หรือราขาว ฉีดพ่นป้องกันแมลง ซึ่งกระบวนการผลิตส้มเขียวหวานของคุณกรณ์ธนาผลิตตามมาตรฐาน GAP

จากการฝึกฝนและเป็นประธานศูนย์ฯ คุณกรณ์ธนาจึงสามารถใช้ประสบการณ์และความรู้ในการอธิบายสาเหตุ อาการของต้นและใบส้มเขียวหวานว่าอาการเช่นนั้นเช่นนี้ส้มกำลังขาดธาตุอาหารใด หรือเป็นอาการของโรคอะไร โดยคุณกรณ์ธนาได้พาไปดูในแปลงและชี้ให้เห็นลักษณะอาการบางอย่าง แม้จะหาไม่ค่อยพบแต่ก็มีบ้าง คุณกรณ์ธนาอธิบายว่า ส้มเขียวหวานก็เป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารเช่นเดียวกับไม้ผลอื่นๆ ถ้าได้รับครบทุกธาตุมากน้อยต่างกันของระยะการเจริญเติบโตจะส่งผลให้ต้น กิ่ง ก้าน ใบ เจริญเติบโตให้ผลผลิตที่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพ

ที่แปลงส้มเขียวหวานของคุณกรณ์ธนาจึงต้องใช้ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ผสมกันเพื่อให้ต้นส้มเขียวหวานได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ถ้าต้นแข็งแรงโรค/แมลงก็จะมีน้อย ดังนั้น การขาดธาตุอาหารใดธาตุหนึ่ง หรือหลายๆ ธาตุ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของส้มเขียวหวานด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการ ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ช่างสังเกต เพื่อจะได้วินิจฉัย ป้องกันได้ถูกต้องหรือหากไม่แน่ใจว่าอาการนั้นๆ ขาดธาตุอาหารใดแน่ อาจตัดกิ่ง ใบ ที่มีอาการให้นักวิชาการดูก็ได้

สำหรับคุณกรณ์ธนาแล้วบอกว่า จากประสบการณ์ของตนสังเกตอาการของส้มเขียวหวานพอประเมินได้ว่า ถ้าอาการสีของใบส้มเขียวหวานที่เปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลือง หากขาดต่อเนื่องอาจขาดธาตุไนโตรเจน แต่ถ้าต้นแคระแกร็นใบบิดเบี้ยวไม่แบนราบอาจเป็นอาการของการขาดธาตุฟอสฟอรัส หรือถ้าอาการใบเหลือง ใบแห้งโดยเฉพาะบริเวณขอบหรือปลายใบ กรณีใบแห้งอาจพบเป็นจุดๆ เริ่มที่ใบแก่ก่อนจะลุกลามสู่ใบอ่อน การเจริญเติบโตของรากจะไม่ดี ทำให้เติบโตช้า อ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายของโรค/แมลง ผลส้มมีขนาดเล็กลักษณะเหี่ยวย่นให้นึกถึงธาตุโพแทสเซียม ส่วนอาการอื่นๆ ที่เคยพบก็เช่น ผลแตก ใบเขียวเข้มผิดปกติ ใบด่าง มักจะขาดธาตุอาหารเสริมบางธาตุต้องนำ ผล ใบ ไปสอบถามนักวิชาการอีกทีหนึ่ง

“แต่ทั้งนี้ อาการต่างๆ อาจจะเกิดจากการขาดธาตุอาหารใด ธาตุอาหารหนึ่ง หรือหลายธาตุ จากการสังเกต อาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการเกษตรเสียทั้งหมด ประสบการณ์ที่มีก็ได้มาจากการไปอบรม สอบถามผู้รู้ และเป็นคนช่างสังเกต การเรียนรู้เรื่องส้มเขียวหวานไม่มีที่สิ้นสุด” คุณกรณ์ธนา กล่าว

ส่วนอาการของโรคพืชนั้น ในแปลงส้มเขียวหวานแห่งนี้ก็มีอยู่บ้าง แม้จะใช้วิธีการป้องกันมากกว่าการกำจัดด้วยสารเคมี แต่เท่าที่พบก็มีไม่มาก คุณกรณ์ธนา ชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างบางลักษณะจากอาการเข้าทำลายของโรคแคงเกอร์ โรคราสนิม โรคราดำ อันมักจะเกิดในฤดูฝน การป้องกันคุณกรณ์ธนาบอกว่าก็จะฉีดพ่นด้วยไตรโคเดอร์มา 2 ครั้ง ช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน หรืออย่างแมลงที่เข้าทำลายเห็นได้ที่ใบและผลส้ม อย่างเพลี้ยอ่อนพบช่วงแตกใบอ่อน เพลี้ยไฟช่วงติดดอก หากผลส้มโตก็จะเป็นผลลาย ไรแดง หนอนชอนใบ ต้องป้องกันด้วยบิวเวอเรีย ฉีดพ่น 15 วัน ต่อครั้ง เพียง 2 ครั้ง ก่อนแตกตาดอก และติดผลอ่อน

คุณกรณ์ธนา ย้ำว่า การปฏิบัติการของตนมิได้ดำเนินการทุกครั้ง เพียงแต่ใช้การสังเกตการคาดการณ์เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศที่พยากรณ์ประกอบไปด้วย แต่หากพิจารณาแล้วว่าจากการสำรวจตรวจนับแล้วพบเจอก็ต้องฉีดพ่น เพราะหากปล่อยให้เกิดการระบาดแล้วมากำจัดด้วยสารเคมี จะทำให้ต้นทุนสูงและตนเองก็จะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพไปด้วย

เก็บผลผลิตส้มเขียวหวานให้ได้คุณภาพ

คุณภาพของส้มเขียวหวานได้จากการนับอายุของผลเมื่อจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว คุณกรณ์ธนาบอกว่านับตั้งแต่ส้มเขียวหวานดอกบาน นับเวลา 10 เดือน ดูผลส้มว่าสุกได้ที่พอดี ผิวเหลือง เปลือกบาง ชิมดูมีรสหวาน เคยวัดความหวานได้ 12 องศาบริกซ์ ก็เก็บขายได้ตามที่ผู้ซื้อต้องการ ซึ่งขนาดของผลส้มที่เก็บได้จะมีขนาด เบอร์ 0 ถึงเบอร์ 1 เป็นส่วนใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด ผลผลิตที่เก็บได้มากที่สุดจะเป็นรุ่นที่ 2 ราวๆ เดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม ปลายๆ รุ่นจะมีสีผิวเป็นส้มเขียวหวานสีทอง แต่ถ้าเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม ผิวส้มจะเป็นสีทองเกือบทั้งหมด ทั้งนี้สภาพลมฟ้าอากาศหนาวเย็นเป็นปัจจัยหลัก

เนื่องจากการเก็บผลส้มเขียวหวานยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีใดๆ มาเก็บผลได้ ต้องอาศัยเทคนิคในการดูผล เก็บผล และเลือกพิจารณาเป็นผลๆ ไป จึงต้องใช้แรงงานในครอบครัวกับภรรยา คือ คุณสาวิตรี นิพนธ์ ผลผลิตที่เก็บได้ถ้าเป็นต้นส้มเขียวหวานที่อายุ 8-12 ปี จะได้ 5 ตัน ต่อไร่ แต่ทั้งสวนโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2 ตัน ต่อไร่

ลักษณะเด่นของส้มเขียวหวานจากสวนคุณกรณ์ธนา เป็นส้มเปลือกบาง ล่อน แกะง่าย ผลแป้น น้ำหนักดี เนื้อกุ้งฉ่ำน้ำ ผิวเกรียนไม่ติดลาย รสชาติหวานกลมกล่อม ที่สำคัญเป็นส้มปลอดภัย

ตลาดส้มเขียวหวาน ปีนี้ตลาดตอบรับดี

ด้านการตลาด คุณกรณ์ธนา ระบายความรู้สึกว่าแรกๆ ก็พะว้าพะวังว่าราคาจะขึ้นหรือจะลง เพราะปีก่อนราคาส้มเขียวหวานไม่ดีเลย แต่ละปีของวงจรการผลิตตนเองมีความตั้งใจที่จะดูแลผลผลิตส้มเขียวหวานให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่ปีนี้เป็นช่วงจังหวะโอกาสดี ส้มเขียวหวานมีราคาเป็นที่พอใจ ถ้าขายตามขนาด เบอร์ 0 สวยที่สุด ราคาจากสวนขายได้กิโลกรัมละ 22 บาท ส่วน เบอร์ 1 ขายได้กิโลกรัมละ 18 บาท

คุณกรณ์ธนา ฝากความหวังไว้ว่า ส้มเขียวหวานหาดรั่ว วังชิ้น จะเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค จึงต้องการการแก้ไขปัญหาด้านราคา จะด้วยวิธีการใดก็ได้ที่เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะผลิตส้มคุณภาพออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้มีการต้องมาตัดต้นส้มเขียวหวานทิ้งขว้างดังเช่นพืชตัวอื่นๆ

ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง หรือร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สนใจจะสั่งซื้อหรือสั่งจองส้มเขียวหวานคุณภาพบ้านหาดรั่ว วังชิ้น ติดต่อ คุณกรณ์ธนา สอนสี บ้านเลขที่ 40/1 หมู่ที่ 6 ตำบลวังชิ้น อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทร. 099-945-475

หน่วยงานรัฐให้การส่งเสริม

ขับเคลื่อนทั้งปริมาณและคุณภาพ

คุณปฏิวัติ วงศ์รัตนธรรม เกษตรอำเภอวังชิ้น ได้ให้ข้อมูลโดยรวมของพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานว่า อำเภอวังชิ้นเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานมากที่สุด 16,048 ไร่ จำนวนเกษตรกรผู้ปลูก 1,334 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561) ซึ่งมีปลูกกระจายอยู่ทั่วทุกตำบล มากน้อยแล้วแต่บริบทของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น ตำบลนาพูน ปลูกมากที่สุด รองลงไปเป็นตำบลวังชิ้น แม่เกิ๋ง คุณปฏิวัติ มองว่าสถานการณ์ส้มเขียวหวานในปัจจุบันยังเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค เมื่อปี 2561ที่ผ่านมา ฝนฟ้าอากาศดี ผลผลิตส้มเขียวหวานในอำเภอวังชิ้น เกษตรกรขายได้ราคาดีสมเหตุสมผล

การส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น ทั้งเกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามส่งเสริมแนะนำอย่างต่อเนื่อง อย่างเกษตรแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน ซึ่งมีอยู่แล้ว 1 แห่ง ในอนาคตจะส่งเสริมให้มีเกษตรแปลงใหญ่ทุกตำบล เพื่อต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เช่น แนะนำเรื่องการตรวจวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าการวิเคราะห์ดิน การงดใช้สารเคมี โดยให้ความรู้การสำรวจตรวจนับในแปลงปลูกส้มเขียวหวาน ก่อนจะใช้สารชีวภัณฑ์ หรือสารเคมี และเพื่อการเพิ่มผลผลิตจากการแนะนำการตัดแต่งกิ่งป้องกันหรือให้ปราศจากโรคและแมลง เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตจากผลส้มที่เป็นผลเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ครบทุกแปลง ให้ผู้บริโภคได้บริโภคส้มเขียวหวานที่ปลอดภัย ซึ่งตนเองมองว่าเกษตรกรวังชิ้นมีการใช้สารเคมีน้อยมาก ส่งผลให้ส้มเขียวหวานวังชิ้นมีคุณภาพที่ดี มีรสชาติกลมกล่อม อร่อย

ด้านการตลาดนั้น คุณปฏิวัติเห็นว่า ต้องการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดส้มเขียวหวานสู่ตลาดปลอดภัย และกระจายผลผลิตสู่ตลาดสากล ซึ่งมีความต่อเนื่องที่จะป้อนผลผลิตสู่ตลาด แนวทางหนึ่งที่ผ่านการประชาสัมพันธ์ก็ด้วยการจัดให้มีการประกวดผลผลิตส้มเขียวหวานเพื่อคัดเลือกผลผลิตคุณภาพสื่อไปยังตลาดผู้บริโภคทุกระดับ

ในอนาคตอันใกล้นี้วางแผนไว้ว่าจะดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวาน เพื่อจัดการองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรอย่างครบวงจร ให้เกษตรกรได้มีโอกาสพบปะกันบ่อยๆ โดยจะจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนเกษตรกร ควบคู่กันไปด้วย ความมุ่งมั่นดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายจึงจะประสบความสำเร็จ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานเป็นสำคัญ

คุณพิเชษฐ กันทะวงค์ เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 12 ถนนพหลโยธิน ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ได้บริหารจัดการพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน ให้เป็นทั้งฟาร์ม/แหล่งเรียนรู้/แหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร/ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย/ร้านอาหาร และที่พักอาศัย จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ 2-3 แสนบาท ต่อเดือน

สร้างสินค้าคุณภาพสูง สู่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2546 ได้มีโอกาสเรียนรู้สะสมประสบการณ์ด้านการทดสอบสายพันธุ์พืชและการควบคุมศัตรูพืชกับบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นกว่า 10 ปี จึงได้ตัดสินใจออกมาทำฟาร์มเมล่อนปลอดสารพิษ ในปี 2555 บนพื้นที่ของตนเอง 3 ไร่ 3 งาน จากเดิมที่เป็นทุ่งนา มาเป็นฟาร์มระบบโรงเรือนแบบปิด เพื่อผลิตเมล่อนปลอดสารพิษคุณภาพสูงเกรดพรีเมี่ยม (Premium) สาเหตุที่เลือกทำฟาร์มเมล่อนปลอดสารพิษ เนื่องจากเมล่อนโดยทั่วไปเป็นผลไม้ที่มีโรคและแมลงศัตรูมาก จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด การผลิตเมล่อนปลอดสารพิษจึงเป็นความท้าทาย แต่คุ้มค่าต่อการลงทุนและเมล่อนปลอดสารพิษ มีราคาและความต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะผู้บริโภคหรือลูกค้าที่รักสุขภาพ

คุณพิเชษฐ ได้วางแผนการผลิตเมล่อน เพื่อออกจำหน่าย จำนวน 250 ลูก ต่อ 15 วัน โดยวางจำหน่ายที่ร้านค้าภายในฟาร์ม จำหน่ายทางออนไลน์ https://www.facebook.com/ozonefarm และ http://ozonefarm.lnwshop.com/ รวมทั้งห้างสรรพสินค้า (Trade Market) นอกจากนี้แล้วยังผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยชนิดอื่นๆ ได้แก่ มะเดื่อฝรั่ง มะเขือเทศเชอร์รี่ สตรอเบอรี่ ราสป์เบอรี่ และพืชผักสมุนไพร ภายใต้แบรนด์สินค้าโอโซนฟาร์ม ปัจจุบัน ได้ขยายพื้นที่และสร้างสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ของจังหวัดเชียงราย เพื่อผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยกว่า 100 โรงเรือน มีการบริหารจัดการร่วมกับสมาชิก โดยวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยคุณภาพสูง เพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาด (Over Supply) สำหรับราคาที่จำหน่ายเมล่อนผลสด เกรดพรีเมี่ยม กิโลกรัมละ 180 บาท, เมล่อนผลสด เกรดเอ กิโลกรัมละ 150 บาท, มะเดื่อฝรั่งแบบรับประทานสด กิโลกรัมละ 350 บาท, มะเขือเทศเชอร์รี่ กิโลกรัมละ 150 บาท

ปัจจุบัน การแข่งขันด้านการตลาดสูง เกษตรกรต้องรักษาคุณภาพผลผลิตเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ สร้างแบรนด์/สร้างความแตกต่าง/จุดเด่นเพื่อเป็นจุดขาย พัฒนาการบรรจุภัณฑ์ให้น่าซื้อ ประชาสัมพันธ์สินค้าทุกช่องทางและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย สำหรับผู้ที่จะผลิตเมล่อน ต้องมีใจรัก มีความดูแลเอาใจใส่อย่างดีทุกระยะการเจริญเติบโตและเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณพิเชษฐ กันทะวงค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานชมรมเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงราย มีสมาชิกเครือข่าย 170 ราย และในทุก 2 เดือน จะจัดเวทีสัญจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสถานที่ของสมาชิกแต่ละคนหมุนเวียนกันไป เพื่อพบปะพูดคุย/วางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาด รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ พร้อมทั้งให้คำชี้แนะแก่สมาชิกรายใหม่ นอกจากนี้แล้วโอโซนฟาร์ม ยังเป็นแหล่งที่รวบรวมและจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสมาชิกเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มช่องทางและส่งเสริมขยายโอกาสทางการตลาด

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ความสำคัญในการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เพื่อทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุและสืบทอดอาชีพการเกษตร และ คุณพิเชษฐ กันทะวงค์ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและสร้างช่องทางการตลาด สามารถจำหน่ายเอง อีกทั้งได้สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง น่ายกย่อง และเป็นตัวอย่างที่ดีในการขยายผลสร้างอนาคตใหม่ให้แก่เกษตรกรต่อไป เกษตรกรที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิเชษฐ กันทะวงค์ บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 12 ถนนพหลโยธิน ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โทร. (089) 201-6654

– ให้ปุ๋ย 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสร้างต้น ระยะสร้างใบ ระยะสร้างตาดอก

– เก็บผลผลิตไว้เพียง 1 ลูก ต่อต้น

– งดปุ๋ยก่อนตัดเมล่อนเป็นระยะเวลา 10 วัน ก่อนตัด เพื่อลดปัญหาสารไนเตรตที่ตกค้างในเมล่อน

– ใช้ชีววิธีมาจัดการแมลงศัตรูพืชและโรคพืช เช่น ใช้เชื้อ Tricoderma sp. และเชื้อ Bacillus Subtilis ในการป้องกันกำจัดโรคพืช – เชื้อ Beauveria bassiana และเชื้อ Bacillus Thuringiensis ในการป้องกันกำจัดแมลง

– หลังปลูก 75 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้

– เมล่อน มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในปริมาณสูง มีทั้งวิตามินซี วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก ซึ่งล้วนให้ประโยชน์แก่ร่างกายทั้งนั้น แถมยังไม่มีไขมันและคอเลสเตอรอล อีกทั้งแคลอรีต่ำ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าเอนไซม์ในน้ำเมล่อน ชื่อว่า superoxide dismutase มีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดกระบวนการทางเคมีภายในร่างกาย ส่งผลให้สามารถลดระดับความเครียดของคนเราได้ และสร้างกระบวนการรับรู้ที่ดีขึ้น เช่น มีสมาธิมากขึ้น สามารถปรับพฤติกรรม ลดอารมณ์ฉุนเฉียวโมโหง่าย ดูเป็นมิตร เป็นต้น

“มะกรูด” พืชผักสวนครัว จำพวกเดียวกับขิง ข่า ตะไคร้ หอมแดง ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องต้มยำ ส่วนใบของมะกรูด ก็มีน้ำมันหอมระเหยกลิ่นหอมมากๆ เป็นได้ทั้งพืชผักที่นำมาประกอบอาหาร และสมุนไพร บำรุงหัวใจ แถมปลูกที่ไหนขายได้ตลอดทุกฤดูกาล ราคาขึ้นลงตามภาวะของตลาด มะกรูดตัดใบขายส่งแต่ละสวนแม้นจะขายได้ราคาไม่แพง ตั้งแต่ 10 บาท ต่อกิโลกรัม ไปจนถึงราคาแพงแบบสุดๆ หลังฝนไปแล้ว 35 บาท ต่อกิโลกรัม ขายลูกก็ได้ราคาดี 50 สตางค์ ต่อผล หรือจะจำหน่ายขายกิ่งพันธุ์ก็โกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ

คุณสันติ คงคา อาศัยอยู่บ้านเลขที่176/2 หมู่ที่ 1 ตำบลจระเข้เผือก อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี โทร.087-161-2074 และ 093-682-1067

การทำสวนมะกรูดครอบครัว “คงคา” เรียกได้ว่า สมัครเว็บคาสิโน เป็นอาชีพมรดกจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก สร้างฐานะและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับครอบครัวเกษตรกรตัวอย่างรายนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบัน คุณสันติ นับเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมะกรูดรายใหญ่ในท้องถิ่นแห่งนี้ โดยปลูกมะกรูดบนที่ดินของตัวเอง และรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรลูกไร่ ประมาณ 200 ไร่

คุณสันติ เล่าให้ฟังว่า สวนแห่งนี้แต่เดิมเคยใช้ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง มาก่อน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ ขาดแคลนแหล่งน้ำชลประทาน ปลูกโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ระยะหลังพื้นที่ปลูกพืชไร่ เจอปัญหาภัยแล้งคุกคาม และเจอการแพร่ระบาดของหนอนด้วง กัดกินอ้อยตั้งแต่ราก กอ กระทั่งต้นอ้อย สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก

“มะกรูด” พืชทางเลือกที่มีอนาคตสดใส

ต่อมาปี 2540 เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอด่านมะขามเตี้ย เข้ามาดูพื้นที่ทำกินของเกษตรกรในพื้นที่ และมอบกิ่งพันธุ์ต้นมะกรูด จำนวน 20 ต้น ให้คุณแม่ของคุณสันตินำไปปลูกเพื่อเสริมรายได้ โดยปลูกในระยะห่างประมาณ 4×4 เมตร ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 50 เซนติเมตร โดยปลูกต้นมะกรูดติดบริเวณชายป่าชุมชน พบว่า ต้นมะกรูดเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตงาม ปลอดโรคและแมลงรบกวน

คุณแม่ของคุณสันติ ปลูกมะกรูดไปได้ประมาณ 5 ปี จนต้นมะกรูดเติบโตสูงประมาณ 5 เมตร มีขนาดลำต้นใหญ่มาก ต่อมาเจอปัญหาภัยแล้งคุกคามอีกครั้ง ทำให้ต้นมะกรูดขาดน้ำ ลำต้นแห้งตายไปมาก เหลือรอดอยู่เพียงไม่กี่ต้น คุณแม่ของคุณสันติขยายพันธุ์ต้นมะกรูดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าที่วิ่งรถผ่านบริเวณหน้าบ้าน สังเกตเห็นว่า บ้านแห่งนี้ ปลูกต้นมะกรูดไว้เป็นจำนวนมาก จึงติดต่อขอซื้อผลผลิตเพื่อนำไปขายในท้องถิ่นอื่น

คุณแม่ของคุณสันติ นำมะกรูดตัดใบออกขายในราคาไม่แพง โดยขายส่งในราคากิโลกรัมละ 15 บาท นอกจากนี้ ยังนำมะกรูดตัดใบออกขายในลักษณะเป็นกำ โดยมีราคาขายส่งอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาท ต่อมาคุณแม่ได้มอบหมายให้คุณสันติดูแลรับผิดชอบสวนมะกรูดแห่งนี้ ปัจจุบัน มะกรูดที่ปลูกรุ่นแรก มีอายุมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตที่ดี โดยมะกรูด 1 ต้น สามารถตัดใบออกขายได้ครั้งละ 20-30 กิโลกรัม ขึ้นไป

ส่วนต้นมะกรูด ที่ปลูกรุ่นหลังๆ มีอายุโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3-5 ปี ขึ้นไป สามารถเก็บเกี่ยวผลมะกรูดออกขายได้ครั้งละประมาณ 2,000 ลูก สมัยก่อนแม่ค้ามารับซื้อผลมะกรูดในราคาหน้าสวน เฉลี่ย 100 ลูก ต่อราคา 20 บาท แต่ตอนนี้เกษตรกรสามารถขายผลมะกรูดในราคาที่สูงขึ้น เฉลี่ยผลละ 50 สตางค์