หนุ่มร้อยเอ็ดหัวใส ลาออกจากงานประจำ มาทำสวนมะนาว

แปรรูปคิดสูตรน้ำมะนาวลดความอ้วน สร้างรายได้งามคุณมงคล สุทธิสาร หรือ คุณกอล์ฟ เจ้าของบ้านสวนช่อจันทร์ เลขที่ 20 หมู่ที่ 2 บ้านสะอาด ตำบลพรสวรรค์ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การตลาด โดยก่อนหน้านี้คุณกอล์ฟทำงานที่ร้านอาหารระดับ 5 ดาว อยู่ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายการตลาด ด้วยหน้าที่ต้องมีการจัดหาซื้อวัตถุดิบ บวกกับร้านอาหารที่คุณกอล์ฟทำ มีมากถึง 6 สาขา

ช่วงหน้าแล้งร้านอาหารประสบปัญหาขาดแคลนมะนาวเป็นอย่างมาก ทางเชฟไม่สามารถหามะนาวมาทำอาหารได้พอ คุณกอล์ฟจึงต้องลงมาช่วยหาวัตถุดิบ ช่วงนั้นไปเกือบทุกตลาดก็ไม่ค่อยมี หายากมาก มะนาวแป้นรำไพที่เคยใช้ขาดตลาด จึงหันมาใช้มะนาวพันธุ์อื่นแทน แต่ด้วยคุณสมบัติของมะนาวพันธุ์อื่นไม่สามารถสู้แป้นรำไพได้ เพราะมะนาวแป้นรำไพมีลักษณะเด่น เปลือกบาง น้ำหอม ได้รสชาติ

ช่วงนั้นลูกค้าที่ร้านขาดหายไปเลย คือรสชาติไม่ได้ กลิ่นไม่ได้ คุณกอล์ฟจึงต้องกลับไปใช้มะนาวแป้นรำไพอย่างเดิม ถึงแม้ว่าราคา ลูกละ 15 บาท ก็ต้องยอม ณ ตอนนั้น คุณกอล์ฟเลยมีความคิดว่าหันมาปลูกมะนาวดีกว่า ปลูกแล้วส่งร้านอาหารที่ตนเองทำงานอยู่นี่แหละ ปลูกแล้วได้ผลดีมาก ทีนี้ผลผลิตไม่พอที่จะส่งร้านอาหารทั้ง 6 สาขา ด้วยเมนูที่หลากหลาย วันหนึ่งต้องใช้มะนาวเป็นหมื่นลูก คุณกอล์ฟจึงลาออกจากงานมาลุยสวนมะนาวเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง ปลูกแต่พันธุ์แป้นรำไพป้อนให้ร้านอาหารก็ไม่พอขาย ปัจจุบัน ที่สวนของคุณกอล์ฟปลูกมะนาว 500 กว่าต้น หรือประมาณ 3 ไร่ จึงต้องไปหาลูกไร่อีกทีให้เขาปลูกช่วย

ปลูกมะนาวอย่างไรให้ได้ผลผลิตนอกฤดู

มะนาว เป็นไม้ผลขนาดเล็กที่นิยมนำมาปรุงอาหารต่างๆ หลากหลายเมนู มะนาวยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง สามารถนำมาทำน้ำสมุนไพรต่างๆ ได้หลากหลายชนิด การปลูกมะนาวสามารถปลูกได้หลากหลายวิธี แต่ถ้าต้องการบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดูโดยไม่ใช้สารเคมี ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันคือ การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ โดยมีขั้นตอนดังนี้

การคัดเลือกพันธุ์
1.1 พันธุ์มะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ เพื่อบังคับให้ออกดอก ติดผลนอกฤดู สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ทุกสายพันธุ์ มะนาวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ คือมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 มะนาวพันธุ์ตาฮิติ มะนาวพันธุ์แป้นรำไพ มะนาวพันธุ์ด่านเกวียน

ส่วนผสมดินสำหรับปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
2.1 หน้าดินที่มีความสมบูรณ์ 2 ส่วน

2.2 ปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว 1 ส่วน

2.3 ปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว 1 ส่วน

2.4 ขี้เถ้า (แกลบดำ) 1 ส่วน

การปลูก
นำดินที่ผสมแล้วมาใส่ในวงบ่อซีเมนต์ที่จัดเตรียมไว้ ย่ำให้แน่นพอควร พรวนดินปลูกขึ้นมา เมื่อปลูกมะนาวไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ดินจะยุบตัวพอดีกับขอบวงบ่อซีเมนต์

มะนาวที่จะออกดอกออกผลได้จนถึงการเก็บผล ต้องมีความสมบูรณ์ และสัมพันธ์กันในทุกๆ ส่วน ตั้งแต่วัสดุปลูกไปจนถึงการรักษายอด

สูตรน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งลดความอ้วน

ส่วนผสม น้ำผึ้ง 1 ช้อน น้ำมะนาว 1 ช้อน โรยเกลือนิดนึง แล้วคนใส่น้ำอุ่นดื่ม ไม่เกิน 20 วินาที เราจะรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ แต่คุณกอล์ฟบอกว่า เมื่อดื่มน้ำมะนาวสูตรนี้เข้าไปแล้วไม่ส่งผลให้ถ่ายพร่ำเพรื่อ ถ่ายรอบเดียวแล้วจบ ซึ่งสูตรนี้ทดสอบมาแล้วว่าช่วยลดความอ้วนได้ ช่วยล้างไขมันตามลำไส้ เพราะในลำไส้จะมีเศษไขมันเล็กๆ น้อยๆ ที่เกาะ น้ำผึ้งและน้ำมะนาวจะช่วยล้าง คุณกอล์ฟใช้ระยะเวลาดื่มเป็นเวลา 4 เดือน จากที่เคยน้ำหนัก 108 กิโลกรัม ตอนนี้เหลืออยู่ 80 กิโลกรัม คุณกอล์ฟจึงได้แนะนำสูตรให้กับเพื่อนๆ ชิม

ซึ่งได้ผลตอบรับดี เพื่อนบอกอร่อยต่อๆ กันมา และที่ลดน้ำหนักได้ตามๆ กันคือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ท่าน ผอ. ของ กศน. ในอำเภอ และคนในหมู่บ้าน คุณกอล์ฟจึงลองทำขาย ออกผลิตภัณฑ์ชื่อแบรนด์ “น้ำช่อจันทร์” ซึ่งส่วนผสมน้ำช่อจันทร์คุณกอล์ฟใช้วัตถุดิบอย่างดี น้ำมะนาวก็ใช้จากสวนตัวเอง น้ำผึ้งก็ต้องเป็นน้ำผึ้ง 3 ดอก หมายความว่า ต้องสั่งซื้อน้ำผึ้งจากสวนที่ปลูกต้นไม้มากกว่า 3 ชนิด ขึ้นไป เพื่อความหอม หวาน ของน้ำผึ้ง ซึ่งคุณกอล์ฟก็ขายไม่แพง เพียงขวดละ 120 บาท รสชาติอร่อย หอม หวาน จะผสมกับโซดาดื่มดับกระหายคลายร้อนก็ดีไม่น้อย

ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ โดยในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ประสานการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำข้อมูลด้านการเกษตรระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมสำรวจและจัดทำข้อมูล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวทั้งระบบครบวงจร

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวในด้านต่างๆ โดย นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ในส่วนของการป้องกันการลักลอบ และนำเข้ามะพร้าวผิดกฎหมาย ได้มอบหมายให้กรมศุลกากร กำหนดระบบบริหารความเสี่ยงในการตรวจสอบสินค้า โดยให้สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงและกำหนดเป็นสินค้านำเข้าที่ต้องทำการเปิดตรวจทุกกรณี ต้องนำไปผ่านการ X-Ray และชั่งน้ำหนักทุกตู้สินค้าที่นำเข้า และเสนอให้มีการควบคุมสินค้านำเข้าเพียงท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง

โดยอาศัยมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 อีกทั้งให้กรมการค้าต่างประเทศ แก้ไข/เพิ่มเติม ประกาศและบทลงโทษกรณีผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ โดยให้พักหรือ เพิกถอน การขึ้นทะเบียนนำเข้าจะไม่สามารถขอหนังสือรับรองได้จากเดิม 2 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี รวมทั้ง เงื่อนไขการออกหนังสือรับรองฯ นำเข้ามะพร้าวตามกรอบความตกลง AFTA ว่าจะไม่นำมะพร้าวนำเข้าไปจำหน่าย จ่าย โอน ให้นิติบุคคล หรือบุคคลทั่วไป หรือแปรสภาพมะพร้าวโดยการกะเทาะภายนอก โรงงานของตนเอง

ด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ให้กรมวิชาการเกษตร เพิ่มความเข้มงวดและป้องกันการระบาดของโรค และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษามาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลงเกษตรของ WTO ในสินค้ามะพร้าว

นอกจากนี้ ได้กำหนดให้สินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าควบคุม มีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายสินค้าดังกล่าว โดยให้นำเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาต่อไป พร้อมทั้งให้กรมการค้าภายใน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางดำเนินการตามที่ผู้แทนเกษตรกรเสนอให้มีการรับซื้อเนื้อมะพร้าวในราคานำตลาด เพื่อแก้ไขปัญหามะพร้าวงอกที่คงเหลืออยู่ในระบบ ส่วนการบริหารการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าวผล มะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ปี 2562 ภายใต้กรอบ WTO AFTA และ FTA

ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับปี 2561 โดยหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตามะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าวให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ยกเว้น มะพร้าวผลภายใต้กรอบ AFTA ขอให้นำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ แนวทางบริหารจัดการข้างต้น จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วต่อไป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคามะพร้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น

สมาคมโรงสี-ชาวนาภาคใต้ โวยโรงงานผลิตอาหารสัตว์-ฟาร์มเลี้ยงหมู-ไก่ รายใหญ่ ลักลอบนำเข้า “รำข้าวละเอียด” ราคาถูก 6 บาท/กก. ผ่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย เดือนละกว่า 4,000 ตัน มาใช้เป็นวัตถุดิบผสมอาหารสัตว์ หวั่นทำราคาข้าวเปลือกทั่วประเทศร่วงหนัก

แหล่งข่าวจากเจ้าของอุตสาหกรรมโรงสีข้าวรายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการลักลอบนำเข้ารำข้าวละเอียดเข้ามาทางรถบรรทุกผ่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย บริเวณพื้นที่จังหวัดสงขลาหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งนำเข้ามาประมาณ 2,000-4,000 ตัน/เดือน ก่อนกระจายส่งต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ตามออร์เดอร์

โดยผู้ซื้อมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งจะนำรำข้าวละเอียดส่วนใหญ่ไปผสมทำอาหารสุกร อาหารไก่ และบางส่วนเป็นอาหารกุ้ง เป็นต้น ทั้งนี้ ราคานำเข้ารำข้าวละเอียดจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 6 บาท/กก. หรือกว่า 6,000 บาท/ตัน ซึ่งถูกกว่าราคาในประเทศไทย

นายลิขิต เลขาพันธ์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวและชาวนาภาคใต้ เปิดเผยว่า การนำเข้ารำละเอียดจากต่างประเทศไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 แต่เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ครั้งนั้นมีการนำเข้าในปริมาณมากจนส่งผลกระทบต่อโรงสีข้าว และชาวนาภาคใต้มาแล้ว

โดยราคารำละเอียดภายในประเทศได้ทยอยปรับลดลงมาจากกว่า 9 บาท/กก. หรือกว่า 9,000 บาท/ตัน ลงมาเหลือ 6 บาท/กก. และในที่สุดลดลงถึง 3-4 บาท/กก. หรือ 3,000-4,000 บาท/ตัน

ดังนั้น หากภาครัฐยังปล่อยให้มีการนำเข้ามาเช่นนี้ อนาคตจะส่งผลกระทบต่อชาวนาภายในประเทศทั้งหมด ไม่ต่างกับนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศจนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว

แนวโน้มหากจะมีการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายปี 2561 อาจส่งผลกระทบจนรำละเอียดปรับราคาต่ำลงไปเหลือ 3-4 บาท/กก. มูลค่าที่หดหายไปประมาณ 9 ล้านบาท/เดือน จากโรงสีข้าวทั่วภาคใต้ ประมาณ 100 โรง โดยส่วนหนึ่งจะมีโรงสีขนาดใหญ่ ผลผลิตประมาณ 300-250 ตัน/วัน ท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อชาวนาทันที

สำหรับปัจจุบันรำละเอียด ราคาหน้าโรงสีข้าว ประมาณ 9.50 บาท/กก. หรือประมาณ 9,500 บาท/ตัน หน้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ประมาณ 9.90 บาท/กก. ประมาณ 9,900 บาท/ตัน ส่วนราคานำเข้าไม่น่าจะเกิน 7 บาท/กก. หรือประมาณไม่เกิน 7,000 บาท/ตัน มีส่วนต่างกันมาก แล้วมาทำการกดดันทางด้านราคา

“การนำเข้ารำละเอียดจะมีผลต่อดีมานด์ซัพพลาย ทำให้รำละเอียดในพื้นที่ภาคใต้ราคาตกต่ำ แล้วจะสะท้อนผลไปยังราคาข้าวเปลือกของชาวนาทันที โดยข้าวเปลือกราคาอาจจะไหลลงถึง 400-500 บาท/ตัน รำละเอียดที่นำเข้ามาราคาถูก เพราะบางประเทศจะบริโภครำละเอียดน้อย ไม่มีการทำฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ ทำให้วัตถุดิบรำละเอียดถือเป็นส่วนเหลือที่ไม่ใช้ในต่างประเทศ ต่างกับประเทศไทยซึ่งมีฟาร์มเลี้ยงสุกรและฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่รายใหญ่อยู่จำนวนมาก” นายลิขิต กล่าว

นายปรีชา กิตติสัตยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลดำเนินงานของกลุ่มสมาชิกกองทุน กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ บ้านห้วยทราย ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู

นายปรีชา กิตติสัตยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยจะเปิดกว้างต่อบทบาทสตรีในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงมีการยอมรับในความเท่าเทียมกันระหว่างชาย – หญิง มากขึ้น รัฐบาลจึงสนับสนุนให้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมศักยภาพและบทบาทของสตรีในทุกด้าน โดยมอบหมายให้ สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (สกส.) กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนภารกิจ

“กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกองทุนเพื่อให้สตรีได้เข้าถึงแหล่งทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินสูงสุดโครงการละ 200,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี นำไปประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือพัฒนาอาชีพ โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของสตรี บริหารจัดการด้วยสตรี สตรีมีความสุข และสตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับ จ.หนองบัวลำภู มีสมาชิกกองทุนในประเภทบุคคลธรรมดา จำนวน 121,834 คน และสมาชิกประเภทองค์กรสตรี จำนวน 538 องค์กร ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 ได้อนุมัติ ทุนหมุนเวียน 12,000,000 บาท ให้สมาชิกกองทุนฯ จำนวน 88 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 11,987,725 บาท อนุมัติเงินอุดหนุนให้องค์กรสตรี จำนวน 120 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท ซึ่งช่วยส่งผลให้สมาชิก ในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ รายได้ การพัฒนาศักยภาพและบทบาทสตรี และการยอมรับจากสังคม

กองทุนฯ ได้มีการจัดกิจกรรม “Inside Product By Thai Womenfund สัญจร” ขึ้น โดยวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ บ้านห้วยทราย ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน

ด้าน นางหนูส่วน ภาภักดี ประธานกลุ่ม เปิดเผยว่า กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ มีสมาชิกกลุ่ม อยู่จำนวน 15 คน กลุ่มตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม คือ ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ กระเป๋าสะพาย ผ้าคลุมไหล่ กลุ่มได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมา จำนวน 120,000 บาท เป็นทุนหมุนเวียน เงินที่ได้นำไปซื้อวัตถุดิบ เช่น เส้นไหม สีย้อม สีฟอกฯลฯ มาดำเนินการตามกระบวนการ จำหน่ายในพื้นที่ตำบล อำเภอ จังหวัด และต่างจังหวัด รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของสมาชิก อยู่ที่ 8,000 บาท/เดือน/คน เพิ่มขึ้นจากเดิม จำนวน 3,000 บาท ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจาก กลุ่มมีการบริหารจัดการที่ดี มีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหาร มีการรักษามาตรฐานและคุณภาพการผลิต มีเครือข่ายการตลาด ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้า สินค้ามีอัตลักษณ์และมีลวดลายเป็นของตนเอง มีเงินหมุนเวียนอย่างเพียงพอ มีระบบการควบคุมทางการเงิน และสมาชิกกลุ่มมีความขยันหมั่นเพียร

“เงินที่รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทำให้กลุ่มมีเงินหมุนเวียนเพียงพอ สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ส่งงานลูกค้าได้ตามกำหนด กลุ่มสตรีที่อยู่บ้านเป็นแม่บ้านจากที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงานอะไร ไม่มีรายได้ ก็ได้มีอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ครอบครัวมีฐานะที่มั่นคงขึ้น” นางหนูส่วน กล่าว

คุณทองคำ พิลากรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอบรบือ ผู้เพาะปลูกผักหวานป่า ในพื้นที่ บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 5 บ้านเปลือย ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า ส่วนตัวแล้วทำอาชีพรับราชการในสำนักงานเกษตร อีกทั้งเป็นเกษตรกรทำไร่มันสำปะหลังและทำนามาจนถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของการปลูกผักหวานป่า เนื่องจากเป็นเกษตรกรที่ทำไร่ทำสวนแบบผสมผสาน ประกอบกับมีความสนใจในตัวของผักหวานป่า เนื่องจากเป็นพืชที่คุ้นเคยมีอยู่แล้วในแถบภาคอีสาน และเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง เติบโตต่อเนื่อง จึงได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งจากการค้นคว้าและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ทำให้ทราบว่า ผักหวานป่า นั้นมีข้อดีหลักๆ อยู่ 2 อย่าง คือ

เป็นพืชที่ดูแลง่าย อายุยืน สามารถปลูกแล้วปล่อยไว้โดยไม่ต้องดูแลมาก ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้นาน
เป็นพืชเกษตรอินทรีย์ หมายความว่า การปลูกพืชชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี ใช้เพียงปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น
คุณทองคำ เริ่มต้นปลูกผักหวานป่า ในพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 200 หลุม ปัจจุบันขยายพื้นที่เป็น 2 ไร่แล้ว และยังสร้างเครือข่าย ให้ความรู้กับเพื่อนบ้านผู้ที่สนใจอยากสร้างรายได้จากการปลูกผักหวานป่า ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกทั้งหมด 30 ราย สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวานไปแล้วกว่า 2,000 เมล็ด เพื่อทดลองปลูกกับเครือข่าย

“ส่วนตัวแล้วหลังจากที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผักหวานป่า ก็พบว่า ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ปลูกผักหวานป่าขาย และมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าด้วย จึงได้ซื้อเมล็ดจากที่อำเภอบ้านหมอ จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมล็ดจะถูกส่งมาให้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี” คุณทองคำ กล่าว

เมล็ดผักหวานป่าที่คุณทองคำเลือกซื้อจากอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรีนั้น เป็นเมล็ดที่กะเทาะเปลือก และล้างทำความสะอาดด้วยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มาแล้ว เพื่อกำจัดเชื้อราป้องกันเมล็ดเน่าเสีย ราคาเมล็ดพันธุ์ที่กะเทาะเปลือก ขายเป็นเมล็ด เมล็ดละ 3 บาท ไม่กะเทาะเปลือก ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท

วิธีการเพาะเมล็ด

เมื่อมีเมล็ดพันธุ์ ให้นำมาล้าง ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นนำผ้าหรือกระสอบป่านชุบน้ำให้เปียกนำมาคลุมเมล็ดพันธุ์ไว้ ประมาณ 7-10 วัน เมล็ดจะแตก แต่ก็ยังไม่มีต้นอ่อน เนื่องจากต้นผักหวานป่าจะงอกช้ามาก ไม่ต้องรอต้นอ่อนงอก เพียงแค่ให้เมล็ดแตกก็สามารถนำลงดินที่เตรียมไว้ได้เลย

ก่อนที่จะนำเมล็ดพันธุ์ลงดิน ต้องเตรียมพื้นที่ปลูกก่อน ด้วยการขุดหลุม ขนาด 30×30 เซนติเมตร แล้วนำดินผสมกับปุ๋ยคอกเก่า ที่ทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี ในอัตรา 1:1 ส่วน ก่อนที่จะนำเมล็ดลงดิน จะใช้เหล็กเส้น ขนาด 6 หุน ยาว 1 ศอก แทงลงในดินที่ขุดหลุมไว้ เพื่อเป็นเส้นทางให้รากของผักหวานลงไปในดินโดยง่าย วางเมล็ดผักหวานแนวขวางและให้เมล็ดโผล่อยู่เหนือดินครึ่งเมล็ด

“ผักหวาน เป็นพืชที่จะหยั่งรากลงดินก่อนโดยที่ยังไม่มีต้นอ่อน หลังจากหยั่งรากลงดินประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มแตกต้นอ่อนให้เห็น ช่วงเวลาระหว่างรอต้นอ่อนแตกยอดออกมา ต้องคอยสังเกตเมล็ดว่าเน่าหรือไม่ หากเมล็ดเปลี่ยนสีไปจากเดิม ไม่เหมือนวันแรกที่ลงปลูก หรือเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ให้สันนิษฐานว่า เมล็ดนั้นเน่า” คุณทองคำ กล่าว

ดูแลรักษาและให้น้ำ

ผักหวาน เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากนัก เนื่องจากเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าอยู่แล้ว การดูแลจึงไม่ยุ่งยาก ศัตรูพืชของผักหวานคือ จิ้งหรีด ที่จะมากัดกินยอดอ่อนในช่วงแรก คุณทองคำป้องกันด้วยการนำขวดพลาสติกตัดหัวท้ายให้เป็นรูปทรงกระบอก นำมาครอบเพื่อเป็นการล้อมต้นอ่อนผักหวานไว้ เมื่อต้นอ่อนมีความสูง ประมาณ 1 คืบ จึงสามารถนำขวดน้ำออกได้และปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ผักหวานเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยมาก จะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เท่านั้น ในฤดูแล้ง ที่แล้งจัดให้น้ำ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ส่วนในฤดูฝนจะไม่ให้น้ำเลย

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยคอกมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น เริ่มใช้มูลสัตว์ในการผสมกับดินใส่หลุมปลูก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงเตรียมการให้ผลผลิตจะโรยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณรอบโคนต้น และบำรุงใบไปด้วย ด้วยการฉีดน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ ในอัตรา 1:200 ส่วน ช่วยทำให้ใบเขียว นอกจากนี้ จุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำหมักจะช่วยย่อยสลายปุ๋ยคอกที่โคนต้นอีกด้วย

หลังจากที่ต้นเติบโต อายุได้ประมาณ 2 ปี จะให้ปุ๋ยมูลสัตว์ 2 ครั้ง ต่อปี คือช่วงต้นฝนและปลายฝน และฉีดน้ำหมักอีกเดือนละ 1 ครั้ง แต่การให้ปุ๋ยสำหรับต้นผักหวานป่าก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน คือห้ามใส่ปุ๋ยในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต จะให้ก่อนหน้าในช่วงต้นและปลายฝนเท่านั้น ซึ่งอายุของต้นผักหวานที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้คือ อายุตั้งแต่ 2-3 ปี ขึ้นไป

เก็บเกี่ยวผลผลิต

ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะต้องตัดแต่งกิ่ง โดยคุณทองคำจะใช้วิธีการหักกิ่งด้วยมือเปล่า โดยหักช่วงปลายยอดของกิ่งทิ้ง ประมาณ 10-15 เซนติเมตร สามารถหักได้ทั้งกิ่งตรงและกิ่งแขนง จากนั้นลิดใบออก ให้เหลือกิ่งละประมาณ 3-4 ใบ เท่านั้น หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ ผักหวานจะเริ่มแตกยอดใหม่ อีกประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดผักหวานจำหน่ายได้

“การเก็บยอด ต้องเลือกยอดที่มีขนาดมาตรฐาน ที่ส่งขายกัน ความยาวจะอยู่ที่ 1 ฟุต สามารถเก็บได้ทั้งปี ช่วงที่ผักหวานให้ผลผลิตตามธรรมชาติคือช่วงปลายเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนเมษายน” คุณทองคำ กล่าว

ราคาขายผักหวานจะขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตออกมาในช่วงนอกหรือในฤดู ราคาขายส่งในฤดู อยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ขายปลีกกิโลกรัมละ 200 บาท หากขายนอกฤดูราคาจะเพิ่มขึ้นอีก 50 บาท คือขายส่งอยู่ที่ 200 บาท ต่อกิโลกรัม และขายปลีก 250 บาท ต่อกิโลกรัม โดยการขายส่งจะมีแม่ค้ามารับถึงที่ มีทั้งเจ้าประจำและขาจร เป็นรายได้ที่หาได้ตลอดทั้งปี