หน่วยงานภาครัฐ จึงสนับสนุนให้ชาวบ้านนำหน่อพันธุ์กล้วยหิน

เพราะกล้วยหินเป็นพืชที่ปลูกง่าย แตกกอเร็ว แข็งแรงโตดีทนต่อสภาพแห้งแล้ง ทั้งยังทนต่อโรคและแมลงด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความมั่นคงในอาชีพเพิ่มขึ้น เพราะกล้วยหินสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในระดับอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อยกระดับกล้วยหินสู่ระดับสากลส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ นำเงินตราเข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล

กล้วยหิน ขายดีในกลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก

ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้กว่า 100,000 ครัวเรือน นิยมเลี้ยงนกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุกด้วย ไม่น้อยกว่า 200,000 ตัว โดยทั่วไป นกกรงหัวจุก 1 ตัว จะกินกล้วยหิน เฉลี่ยวันละครึ่งผล หรือประมาณ 100,000 ผล ต่อวัน หรือประมาณ 10,000 หวี ต่อวัน ดังนั้น ตลาดกลุ่มนี้จึงน่าจับจองเป็นอย่างยิ่ง เพราะขายได้ตลอดทั้งปี แถมขายได้ราคาดีอีกต่างหาก

กล้วยหิน ของดีจังหวัดยะลา จำหน่ายได้ทั้งผลดิบและผลสุก มีราคาซื้อขายไม่ต่ำกว่า หวีละ 25-35 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ขนาดผล และขนาดหวี สำหรับช่วงฤดูฝน มีผลผลิตเข้าตลาดน้อย ราคากล้วยหินก็ยิ่งขยับตัวสูงขึ้นถึงหวีละ 40-50 บาท ทีเดียว สำหรับกล้วยหินผลสุกนิยมนำไปต้มสุกเพื่อแปรรูปเป็นกล้วยบวชชีหรือกล้วยเชื่อมบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นสินค้าให้กับผู้สนใจ ส่วนกล้วยดิบก็เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับใช้ผลิตกล้วยฉาบที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ปีละ 40-41 ล้านบาท

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาแปรรูป “กล้วยหินนังตา”

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา โดย กศน. อำเภอบันนังสตา ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เพื่อมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพการแปรรูปกล้วยหิน ให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปกล้วยหินนังตา ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปกล้วยหินนังตา อยู่ภายใต้การนำของ คุณฮารอเม๊าะ โต๊ะแต โทร. (081) 388-9158 ซึ่งเป็นประธานกลุ่มฯ ได้พัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน “กล้วยหินนังตา” ให้ได้รับการยอมรับ เป็น “โอท็อป” ระดับจังหวัดยะลาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

เดิมทีก่อนหน้านี้ คุณฮารอเม๊าะ โต๊ะแต เคยเป็นสมาชิกของกลุ่มแม่บ้านป่าหวังนอก ที่มีการแปรรูปกล้วยหินฉาบมาก่อน ทำให้คุณฮารอเม๊าะมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการผลิตกล้วยหินฉาบ เธอต้องการขยายกลุ่มอาชีพนี้สู่ชาวบ้านในวงกว้าง จึงแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ จากการรวบรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในท้องถิ่นที่สนใจ และต้องการหารายได้เสริมหลังอาชีพการทำสวนยางพารา

คุณฮารอเม๊าะ ได้เริ่มต้นจากการกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 600,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์และต่อเติมอาคารผลิต เริ่มผลิตใน ปี 2555 ต่อมา คุณฮารอเม๊าะ ได้จดทะเบียนกลุ่มกับสำนักงานเกษตรอำเภอบันนังสตา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรพัฒนาแปรรูปกล้วยหินนังตา” มีสมาชิกเริ่มต้น 20 คน มีการแปรรูปกล้วยหินฉาบรสชาติต่างๆ ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน โดยใช้แหล่งวัตถุดิบ เช่น กล้วยหิน ทุเรียน ฯลฯ ที่ปลูกในท้องถิ่นและของสมาชิกกลุ่ม

ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านงบประมาณและปัจจัยการผลิต เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมพัฒนาชุมชน รวมทั้ง สำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา โดย กศน. อำเภอบันนังสตา เป็นต้น จากการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทำให้ทางกลุ่มฯ ได้รับการพัฒนาศักยภาพสินค้าให้มีความหลากหลาย พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และมีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้กลุ่มมีผลประกอบการที่ดี และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ ได้พัฒนาสินค้าสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์โอท็อป โดยสินค้าหลัก ได้แก่ กล้วยหินฉาบ ผลิตภัณฑ์รองคือ เผือกเส้น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน และข้าวยำ ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้มีการฝึกอบรมสมาชิก และมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ ขณะเดียวกัน สมาชิกก็มีอาชีพเสริมจากการทำสวนยางพารา ซึ่งประสบปัญหาราคาตกต่ำ ก่อให้เกิดความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน สมาชิกมีการทำงานร่วมกัน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การผลิตกล้วยหินนังตา

ทางกลุ่มแม่บ้านฯ จะใช้วัตถุดิบหลักคือ กล้วยหินดิบที่แก่พอดี น้ำมันพืช เกลือ และเนย ขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก คัดเลือกกล้วยหินที่แก่ ประมาณ 80% นำมาปอกเปลือก แช่น้ำและล้างให้สะอาด นำกล้วยหินมาสไลซ์เป็นแผ่นบางๆ ลงในน้ำมันที่ร้อนให้กรอบเหลือง ยกขึ้นมาสะเด็ดน้ำมันออก ทอดน้ำมันที่ร้อนจัดให้เหลืองกรอบ นำกล้วยขึ้นมาพักไว้บนกระดาษซับมัน ตั้งไว้ให้เย็นและนำกล้วยมาคลุกเกลือ บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทและพร้อมจำหน่าย

เคล็ดลับการผลิตที่ทำให้สินค้ากล้วยฉาบแปรรูปมีรสชาติอร่อยก็คือ เลือกกล้วยที่แก่ ประมาณ 80% มาทอด เพราะหากนำกล้วยที่สุกมาทอด เนื้อกล้วยจะออกสีแดงไหม้ กินไม่อร่อย นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ได้นำกล้วยไปแช่น้ำก่อนปอก ช่วยให้ปอกกล้วยได้ง่าย เพราะเปลือกกล้วยมันกรอบ ประการต่อมา ผู้ที่จะปอกเปลือกกล้วย จะทาน้ำมันพืชที่มือและมีด ทำให้ยางกล้วยติดไม่มาก และกล้วยหินฉาบกรอบแก้วที่ปรุงเสร็จแล้ว ถูกวางให้พ้นแสงแดด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และเก็บรักษาให้มิดชิด เพราะหากปล่อยให้อากาศเข้าไป ทำให้กล้วยเหนียวติดมือ เพราะน้ำเชื่อมละลาย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เชิญผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์ระดับโลก เปิดเวที TILOG-LOGISTIX 2018 จัด Symposium เสวนาเจาะลึกสถานการณ์และทิศทางโลจิสติกส์ของโลกโดยเฉพาะเอเชีย พร้อมเผยกลยุทธ์บริหารห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย ภายใต้แนวคิด The Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chain หนุนทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ปรับตัว รับการขยายตัวตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำหนดจัดงาน Symposium ภายในงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ (TILOG-LOGISTIX) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลสถานการณ์การค้า และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจของไทยกับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ตอบรับยุทธศาสตร์กระทรวงฯ

ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของไทย ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน Symposium 2018 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chain หรือ ทิศทางในอนาคตของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคมนี้ ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 3 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

“Symposium 2018 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การบรรยาย และการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ระดับนานาชาติ ผู้ร่วมงานจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ และแนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ รวมไปถึงปัจจัยความสำเร็จของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งปีนี้จะเน้นไปที่โลจิสติกส์สินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่ายที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ผู้ร่วมงานสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางจันทิรา กล่าว

ในส่วนของ การบรรยาย ปีนี้มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่ อุปทาน มาร่วมบรรยาย 5 ท่าน ประกอบด้วย ดร. ทอม เดน แฮร์ทอค (Drs.Tom Den Hertog) อดีตประธานบริหาร Ahold Asia Pacific (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) ผู้บุกเบิกและมีวิสัยทัศน์ในการจัดการค้าปลีกและซัพพลายเชนอาหารผักผลไม้สดระดับโลก บรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโซ่อุปทานอาหารของโลก” เปิดเผยถึงเทคโนโลยีการพัฒนากลยุทธ์และนวัตกรรมของธุรกิจชั้นนำในโซ่อุปทานอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป

นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ (Mr. Tej Mayur Contractor) ผู้มีประสบการณ์ยาวนานในวงการ โลจิสติกส์ ผู้นำนวัตกรรมมาพัฒนาองค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce, Multimodal Transportation และ Last Mile Delivery บรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์ของโซ่อุปทานอาหารในเอเชีย”

ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในระบบการจัดการโซ่อุปทานอาหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรและผู้ผลิต โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน และมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูง

นายจอห์น พาร์ค (Mr. John Parkes) ผู้เชี่ยวชาญในวงการโลจิสติกส์ระดับนานาชาติ ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค (Fast Moving Consumer Goods: FMCG) บรรยายในหัวข้อ “ระบบโลจิสติกส์ของสินค้าอุปโภค-บริโภค” กล่าวถึงเทคโนโลยีระบบการค้าปลีกยุคใหม่ (New Retail) ซึ่งบูรณาการการค้าออนไลน์ การค้าออฟไลน์ ระบบโลจิสติกส์ และข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค

นายริชาร์ด เหย่ (Mr. Richard Yeh) ประธานกิตติมศักดิ์ของ Taiwan International Logistics Supply Chain และที่ปรึกษารัฐบาลไต้หวันในการส่งเสริมมาตรฐานสากลสำหรับผลิตภัณฑ์การเกษตร บรรยายในหัวข้อ “การจัดการโซ่ความเย็นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เกษตรกรรม” เปิดแนวคิดใหม่ด้านการบริหารจัดการโซ่ความเย็น เพื่อเพิ่มคุณค่าของสินค้า ยืดอายุการเก็บรักษา ลดต้นทุนการขนส่ง และการลดความเสี่ยงในการจัดการสินค้าควบคุมอุณหภูมิ

นายโทนี่ หยิน (Mr. Tony (Zhigao) Yin) ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ กลุ่มบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ จากประเทศจีน บรรยายในหัวข้อ “แพลตฟอร์มการค้า B2B ระดับโลก” เปิดเผยถึงโอกาสทางธุรกิจในการขยายตลาดสู่ผู้ซื้อระดับองค์กรทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์ม Alibaba.com ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business e-Commerce) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ

สำหรับ การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จัดขึ้น 2 หัวข้อ ได้แก่ “โอกาสและความท้าทายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานอาหารและสินค้าเน่าเสียง่าย” โดย นายประวิทย์ โชติปรายนกุล ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ส่งเสริมและผลักดันมาตรฐานสากลร่วมกับระบบการสืบย้อนกลับ (Traceability) ในทุกกระบวนการที่ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า นายเรมอน กฤษณัน (Mr. Raymon Krishnan) ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านการบริหารจัดการโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

พร้อมด้วย ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค และ นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ และหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โซ่ความเย็น” โดย นายซาลดี้ย์ อิลฮัม มาสิตา (Mr. Zaldy IIham Masita) ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศอินโดนีเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ และซัพพลายเชนที่มีประสบการณ์กว่า 15 ปี ในบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง นายเลอย์ ดุย เฮียบ (Mr. Le Duy Hiep) ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศเวียดนาม

ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และห้องเย็นมาตรฐานสากล พร้อมด้วย นายริชาร์ด เหย่ และ นาย โทนี่ หยิน โดยมี นายไกรซาร์ กีลิตวาลา (Mr.Kraisar Gilitwala) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ การตลาด อีคอมเมิร์ซ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่มีประสบการณ์กว่า 25 ปี ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

แรกที่เดินเข้าไปในอาณาบริเวณบ้านหลังนั้น ก็สะดุดตากับตัวหนังสือบนหน้าจั่วเรือนหลังเล็ก เขียนไว้ว่า “ต้นไม้คือชัยชนะ” แม้ว่าชื่อเจ้าของบ้านฝ่ายชาย จะชื่อ ชัยชนะ ศรีภักดี แต่ประโยคที่เขียนไว้นั้น ไม่ได้มาจากชื่อ ทว่ามาจากแนวคิดของเขาที่เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คือทางรอดของโลก ที่กำลังรุ่มร้อนอยู่ในเพลานี้ ถ้าจะพูดคำใหญ่ การปลูกต้นไม้นั่นคือการฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งมนุษย์มีส่วนสำคัญในการทำลาย กระทั่งมนุษย์นั่นเองที่กำลังเผชิญกับผลกระทบ ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นบทลงทัณฑ์จากธรรมชาติ

ชัยชนะ ศรีภักดี อดีตประธานสหกรณ์ ปัจจุบัน เป็นเกษตรกรเต็มตัว พำนักอยู่ที่ หมู่บ้านโพธิ์ศรี หมู่ที่ 12 อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ประสบการณ์ทำงานในสหกรณ์มายาวนาน ทำให้เขายืนยันอย่างมั่นใจว่า “ถ้าระบบสหกรณ์เข้มแข็ง จะต้านทุนนิยมได้” ดังนี้ เขาจึงอยากรณรงค์ให้เกิดระบบสหกรณ์อันเข้มแข็งในทุกพื้นที่

ก่อนที่จะหันเหมาสนใจการปลูกต้นไม้และทำธนาคารต้นไม้ เขาเคยผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อน ไม่ต่างจากเกษตรกรทั่วไป “พืชเชิงเดี่ยวเลี้ยวกลับสู่วงจรหนี้สิน ที่ผ่านมาเกือบทุกชนิดแรกๆ ราคาดี แห่กันปลูก พอราคาถูก หาพืชตัวใหม่มาอีก ทุกชนิดผ่านมา ผมทำเกือบทุกชนิดเพราะคิดว่าปลูกเพื่อเอาเงิน สุดท้ายได้หนี้เพิ่ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง กล้วย ถั่วลิสง งา ฝ้าย สุดท้ายไม่ใช่ มาลงท้ายด้วยการสะสมทรัพย์กับต้นไม้กับแผ่นดิน ด้วยโครงการเมื่อทำไร่แถมต้นไม้ 100 ต้น แล้วค่อยเพิ่มเติมด้วยความหลากหลายต้นไม้หลายชนิด”

เขาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงจุดเปลี่ยนชีวิตที่ผ่านมา ระหว่างชวนเดินไปดูสวนยางหลังบ้าน ซึ่งมิได้มีแต่สวนยางเท่านั้นยังมีต้นไม้อื่นๆ ที่ปลูกแทรกไว้ อย่าง ต้นมะฮอกกานี ที่โตจนเกือบโอบไม่รอบ ดีปลีพันเลื้อยต้นไม้ใหญ่ เป็นสวนที่ร่มครึ้มชุ่มชื้นให้ความรู้สึกคล้ายเดินอยู่กลางป่า

เจ้าของสวนที่เราเดินสูดออกซิเจนที่ต้นไม้คายออกมานี่ เรียกสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่า ธนาคารต้นไม้ เพราะการปลูกสะสมไปแต่ละต้นแต่ละวัน ก็เหมือนหยอดกระปุกออมสินหรือฝากธนาคารนั่นเอง เพียงแต่ไม่ใช่เป็นเม็ดเงิน หากว่าเป็นต้นไม้ที่เติบโตให้ร่มเงา ให้ชีวิต

“เมื่อเรานำความมั่นคง ยั่งยืน กลับมาได้ ความมั่งคั่งก็จะตามมาเอง สิ่งที่มองว่าง่ายที่สุดในการนำความยั่งยืนกลับมาคือ การปลูกต้นไม้ ปลูกไว้ให้โตขึ้นก็นำมาใช้ได้”

เขามองว่า การทำเช่นนี้คือ การแข่งกับทุนนิยมสามานย์ได้ “ถ้ารัฐจริงใจที่จะช่วยประชาชนมันเป็นไปได้อยู่แล้ว รัฐมีเงินให้หมู่บ้านอย่างเดียวมันแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องให้ปัญญา ทำยังไงให้ชาวบ้านได้คิดเอง ไม่ใช่เอาความคิดเข้าไปใส่ชาวบ้าน”

เขามองว่า พืชเกษตรอะไรก็ตาม ที่รัฐเข้ามาส่งเสริม แต่ไม่จริงใจที่จะพยุงให้มันอยู่ได้ เกษตรกรจะกลายเป็นผู้รับเคราะห์ เพราะส่วนใหญ่จะล้มเหลวเต็มไปด้วยหนี้สิน เขาจึงมักจะทำอะไรที่สวนทางกับรัฐ และมองว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดในการนำไปสู่ความยั่งยืนโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย คือการปลูกต้นไม้ ปลูกทุกวันได้เงินทุกวัน ไม้ยืนต้นเติบโตขึ้นทุกวัน จนสามารถใช้ประโยชน์ได้ นั่นคือ คำตอบของการนำไปสู่ความมั่งคั่ง

นอกจากปลูกต้นไม้สะสมทุน เกษตรกรควรหาทางแปรรูปผลผลิตของตัวเอง และหาตลาดรองรับ สร้างให้เกิดเกษตรต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นั่นคือ เกษตรสามารถทำกระบวนการทุกอย่างได้เองโดยไม่ต้องอาศัยใคร เป็นการพึ่งตัวเองได้อย่างจริงแท้

นอกจากสวนร่มครึ้มในอาณาบริเวณบ้าน ยังมีแปลงอื่นที่อยู่ห่างแค่ขับรถไม่นานนาที เป็นสวนยางโปร่งสวยสายแดดยามเย็นสาดส่องเป็นลำงดงาม ระหว่างทิวยางมีไม้ปลูกแซม อย่าง มะฮอกกานี และอีกหลายอย่าง นอกจากนี้ ยังมีแปลงต้นยางนา แปลงต้นสัก ต้นพะยูง ที่ปลูกไว้อีกมาก แม้ว่าไม้ใหญ่โตช้า อาจจะปลูกไว้แต่ตัวเองไม่ทันใช้ ทว่าลูกหลานก็ได้ใช้ประโยชน์ต่อ

แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้มาพบปะกับผู้ชายชื่อ ชัยชนะ และในช่วงเวลาไม่นานที่ได้เดินชมประดาต้นไม้ที่เขาปลูกสะสมเอาไว้ ทว่าความรู้ที่ได้รับในเวลาน้อยนิดกลับไม่น้อยเลยทีเดียว คล้ายๆ กับเขาได้เพาะปลูกบางอย่างลงในความคิด ลงในจิตใจ ทั้งเมื่อได้เดินไประหว่างแถวแนวต้นไม้ สัมผัสกับกลิ่นของดิน ต้นไม้ใบไม้ ก็ยิ่งสัมผัสถึงความจริงแท้ของชีวิต ทำให้เข้าใจในบัดดลนั้นว่า ความหมายของ…ต้นไม้คือชัยชนะ คืออะไร

ก.เกษตรฯ ลุยยุทธศาสตร์พระพิรุณเปิดตลาดเกษตรบนเว็บไซต์ดีจีทีฟาร์ม-หวังกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคยกระดับรายได้ -พัฒนาคุณภาพเกษตรกรมุ่งสู่เกษตร 4.0 พร้อมผนึกเอกชนผลิตสินค้าคุณภาพ หนุนแบรนด์ไทยไปต่างประเทศ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเปิดตัวยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์พระพิรุณ ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล เพื่อเปิดมิติใหม่ของการปฏิรูปการผลิตภาคเกษตร โดยจะร่วมบูรณาการร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์ม e-Matching Market (อีเอ็มเอ็ม) ด้วยเครื่องมือจับคู่ซื้อขายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่จะพัฒนาต่อยอดจากเว็บไซต์ ดีจีทีฟาร์ม หรือ www.dgtfarm.com ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2560

กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตรที่ยังมีปัญหาด้านการตลาด และราคา เพื่อให้ผลผลิต และความต้องการเกิดความสมดุล สามารถพัฒนาไปสู่สินค้าคุณภาพที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก ตามนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

นอกจากการสร้างตลาดสินค้าเกษตรบนเว็บไซต์ดีจีทีฟาร์มแล้ว จะใช้ระบบตรวจสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (QR Trace on Cloud) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นแอพพลิเคชั่น Hello Trade

สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระพิรุณให้บรรลุผล จะมีการเปิดร้านค้าปลีกสินค้าเกษตรทันสมัย ฟรีแฟรนไชส์ คิวฟอร์ยู และแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรที่มีบริการจับคู่ซื้อขาย ( ตลาดสุขใจ) โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถใช้งานได้แล้วบน www.dgtfarm.com และจะสามารถพัฒนาใช้บนสมาร์ทโฟน ในรูปแบบแอพพลิเคชั่น Hello Trade ภายใน 3-6 เดือน นับจากนี้

“การยกระดับเกษตรไทยสู่เกษตร 4.0 จะมีการพัฒนาต่อเนื่อง ตั้งแต่การจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขาย การบริการข้อมูลการผลิต เช่น ด้านราคา พื้นที่ ปริมาณสินค้า ไปจนถึงตลาดเกษตรดิจิทัลแบบเรียลไทม์ โดยตลาดเกษตรดิจิทัลแห่งนี้ ถือเป็นตลาดนำการผลิต เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกร รวมถึงยกระดับสินค้าเกษตรของไทยโดยรวม และจะสามารถสร้างฐานข้อมูลการเกษตรทุกมิติ ไว้ในรูปบิ๊กดาต้า ไปจนถึงสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ พัฒนาไปสู่องค์กรอัจฉริยะต่อไป”

นายลักษณ์ กล่าวว่า แผนยกระดับการเกษตร 4.0 ภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิต จะมีความร่วมมือกันระหว่างเอกชนกับสหกรณ์ โดยสหกรณ์จะผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่เอกชนต้องการ และติดตราสัญลักษณ์ หรือแบรนด์สินค้าร่วมกัน หรืออาจจะผลิตสินค้าป้อน โดยใช้แบรนด์ของเอกชน เพื่อส่งขายทั่วโลก อาทิ บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด เจ้าของการจัดการแข่งขันชกมวยไทยโลก (ไทยไฟท์) จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกสินค้าคุณภาพ มีความปลอดภัย นำไปติดแบรนด์ไทยไฟท์ เพื่อจำหน่ายและกระจายสินค้าตามช่องทางตลาดของบริษัทไปทั่วโลก เป็นต้น