หม้อดินเผาก้นกลมหม้อเราชาวบ้านใช้กันมาแต่บรรพกาล

นักโบราณคดีขุดค้นโบราณสถานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองโบราณอู่ทอง บ้านเก่าเมืองกาญจน์ หรือบ้านเชียง แต่ละแห่งมักพบหม้อโบราณ เพราะว่าหม้อเป็นเครื่องมือของใช้สำคัญในการดำรงชีพประจำวัน หม้อโบราณส่วนใหญ่เป็นหม้อดินเผา

รูปแบบมีหลากหลาย เป็นต้นว่า หม้อก้นกลม ปากกว้าง ก้นลึก และหม้อก้นกลม ปากแคบก้นลึก และยังมีหม้อก้นตื้นมีสันปากกว้างก็มีให้เห็น

หม้อดินเผาก้นกลม เป็นหม้อโบราณชนิดหนึ่ง มีการขุดค้นพบในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมทวารวดีเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ศูนย์กลางวัฒนธรรมนักโบราณคดีชี้ว่าอยู่ที่บริเวณจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน

และยังมีการค้นพบโบราณวัตถุ ตามโบราณสถานต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียงอีก คือที่คูบัว จังหวัดราชบุรี และที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี น่าแปลกใจว่าเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากพบโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือของใช้สมัยทวารวดีมากมายแล้ว ยังพบรูปเคารพ และหลักฐานทางพุทธศาสนาหนาแน่นอีกด้วย

หม้อโบราณวัสดุดินเผาก้นกลม นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะใช้สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์พืชหรือใส่น้ำมากกว่าจะใช้หุงต้มเหมือนหม้อทั่วไป

เรื่องนี้ เป็นเรื่องสันนิษฐาน คนสมัยก่อนเก่าอาจจะใช้หุงต้มเป็นหลักก็ได้ เพราะสมัยก่อนการหุงอาหารต้องใช้ฟืนเป็นหลัก การใช้หม้อดินก้นกลม ลึก เหมาะสำหรับการตั้ง การวางบนก้อนเส้า

คำว่า ก่อนเส้า คนสมัยใหม่อาจไม่เข้าใจ

ก้อนเส้า หมายถึง ก้อนหิน 3 ก้อน ขนาดความสูงและใหญ่พอๆ กัน ตั้งวาง 3 มุม ระยะห่างกันประมาณ 1 คืบเศษๆ ใช้สำหรับเป็นเตาไฟในครัวเรือน หรือไม่ก็ในดงในป่าก็ได้ เมื่อถึงคราวต้องใช้ก็นำเอาฟืนไม้แห้งๆ มาก่อไฟ แล้วเอาหม้อ กระทะ หรือภาชนะหุงต้ม ปิ้ง ย่าง อื่นๆ ไปวางเพื่อทำอาหารตามต้องการ

การใช้ประโยชน์ของหม้อก้นกลม ถ้ามองในแง่ของความเป็นอยู่ของชาวบ้านเก่าก่อนแล้ว อาจใช้ทั้งสองกรณีก็ได้ คือใช้ทั้งหุงต้ม เก็บเมล็ดพืชพันธุ์ และใส่น้ำไว้ดื่ม

หม้อที่ใช้เก็บเมล็ดพันธุ์ อาจจะเป็นหม้อที่รั่ว ซึม ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว จะทิ้งก็เสียดายเพราะรูปทรงยังดีอยู่ จึงนำมาใส่เมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ ไว้ เมื่อถึงหน้าฝนโปรยปรายเม็ด ก็นำเอาเมล็ดพันธุ์ออกมาหยอด หรือหว่านตามพื้นดินใกล้ที่อยู่อาศัย ย่อมมีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน

หม้อดินโบราณ ที่นักโบราณคดีพบ มีทั้งเป็นรูปหม้อกลม เกลี้ยง ปราศจากลวดลายๆ ใด และมีลวดลายประดับประดาสวยงาม

ลวดลายนอกจากบ่งบอกอายุแล้ว ยังอาจบ่งบอกถึงสถานภาพของผู้เป็นเจ้าของหม้อได้ด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ น่าจะใช้หม้อที่กลมเกลี้ยง เพราะคงไม่สนใจเรื่องความสวยงามอะไรมาก อีกทั้งถ้าซื้อก็คงไม่ต้องการลวดลายอะไรมากมาย

ส่วนคนมีฐานะทางสังคม พอมีกำลังทรัพย์หรืออำนาจอยู่บ้าง การประกาศตัวตนด้วยเครื่องมือของใช้ถือเป็นเรื่องสำคัญแต่ไหนแต่ไรมา จึงต้องมีลวดลายแต้มแต่งให้ดูดีเป็นเรื่องธรรมดา

การมีลวดลายประดับหม้อ แสดงความเป็นคนมีฐานทางสังคมดี แต่ถ้าการออกลาย ชนิดออกลายมาเลย ออกลายให้เห็นอย่างที่นักร้องเขย่าลูกคอร้องนั้นคนละเรื่องกันเพราะคนออกลาย ความหมายออกไปในทางลบมากกว่าจะเป็นทางบวก ไม่เชื่อก็ลองออกลายดูก็แล้วกัน

ในตู้ปลานอกจากปลาที่เลี้ยงเป็นพระเอกนางเอกแหวกว่ายสยายครีบกันงามสง่าแล้ว หลายคนยังนิยมเอาสัตว์น้ำอื่นๆ มาเลี้ยงปะปนไปด้วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตู้ใบโปรด อย่างเช่นกุ้งแคระ กุ้งเครฟิช ปูตัวจิ๋ว และหอยเปลือกสวยชนิดต่างๆ สัตว์น้ำพวกนี้นอกจากเลี้ยงเพื่อความสวยงามแล้วยังช่วยทำหน้าที่ด้านความสะอาด อาทิ กินเศษอาหารที่ตกค้างตามซอกกรวดพื้นตู้ กินตะไคร่น้ำบนใบไม้หรือก้อนหิน บางทีก็มีหน้าที่เป็นสัปเหร่อคอยจัดการกับซากปลาตายที่อาจไปแอบตายซุกซ่อนตามซอกหลืบที่เรามองไม่เห็น เป็นการช่วยไม่ให้น้ำเน่าเสียเร็วเกินไป

สมัยผมยังเด็กเมื่อสักสามสิบปีก่อนเคยซื้อหอยชนิดหนึ่งมาเลี้ยง ชื่อว่าหอยเชอรี่ เปลือกของมันมีสีหวานจับใจดูคล้ายผลไม้สดฉ่ำ ปล่อยให้มันคืบคลานไปตามพื้นตู้เพื่อกินเศษอาหารตกหล่นที่ปลากินไม่หมด ดูเพลินเสียยิ่งกว่าปลาเสียอีกในตอนนั้น ผ่านมาอีกไม่เท่าไหร่หอยเชอรี่กลายเป็นหอยปิศาจรุกรานไปทั่วแหล่งน้ำเมืองไทย ไปไหนก็เจอหอยเชอรี่ไข่เกาะเป็นพวงสีชมพูสด ชาวบ้านรำคาญหนักเข้าเลยจับมาทำเป็นเมนูอาหารสำราญกันไปถ้วนหน้าเพราะมีเหลือเฟือ

หอยในธรรมชาติเป็นสัตว์กินซาก คล้ายกับหนอนในระบบนิเวศบนบก ทำให้เกิดสภาวะสมดุล ไม่ทำให้น้ำเน่าเสียเนื่องมาจากการตายของสัตว์และพืช หอยยังช่วยควบคุมปริมาณตะไคร่น้ำไม่ให้เติบโตเร็วเกินไป และในห่วงโซ่อาหาร หอยก็เป็นแหล่งพลังงานชั้นดีให้กับสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือมนุษย์

หอยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวของมันอ่อนนิ่ม สามารถปกป้องตัวเองได้ด้วยเปลือกแข็งๆ ตัวเปลือกนี้เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้หอยหลายชนิดที่มีเปลือกสวยกลายมาเป็นอุปกรณ์ตกแต่งตู้ปลา ทั้งแบบตายแล้วคือเปลือกเปล่าๆ และแบบยังมีชีวิตที่คลานไปมาเก็บทำความสะอาดเป็นแม่บ้านประจำตู้ ดูสวยงามแถมยังทำประโยชน์ได้อีกโสดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ไปตามร้านขายปลามักเห็นมีหอยขายด้วย ที่ยอดนิยมก็ได้แก่ หอยเขา (Horn Snail) หอยแอปเปิ้ล หอยกินหอย (เอาไว้กำจัดหอยที่ไม่พึงประสงค์) หอยเขาแกะ ฯลฯ และอีกหนึ่งชนิดที่อยากจะขอกล่าวต่อไปนี้ เนื่องจากมีเอกลักษณ์โดดเด่นและน่าสนใจมาก นั่นคือหอยกระต่าย หรือแรบบิทสเนล

หน้าตาของแรบบิทสเนลดูคล้ายกระต่ายสมชื่อ มันมีอวัยวะที่คล้ายเขาเป็นก้านอ่อน ๆ ยื่นยาวออกมาเหนือตา ดูคล้ายหูของกระต่าย ตาของมันเล็กๆ กลมๆ ส่วนปากเป็นอวัยวะยืดหดได้ดูหนาๆ ย่นๆ ที่สำคัญจุดเด่นของเจ้าหอยชนิดนี้แทนที่จะอยู่ตรงสีสันลวดลายของเปลือกอย่างหอยทั่วๆ ไป กลับไปโดดเด่นอยู่ที่สีของเนื้อที่มีทั้งชนิดสีเหลืองสด ชนิดสีส้ม ชนิดสีดำลายจุดเหลือง ชนิดสีดำลายจุดขาว ฯลฯ รูปร่างของเปลือกก็ดูแปลก คล้ายไอติมโคน มีทั้งสีดำ สีน้ำตาลเข้ม สีเทา พื้นผิวมีลวดลายคล้ายลายประดับนูนต่ำของสถาปัตยกรรมบาหลี บางสายพันธุ์ดูคล้ายมีฟองน้ำหุ้มซึ่งเกิดจากหินปูนเคลือบเกาะเอาไว้

แรบบิทสเนลหรือหอยกระต่าย มีถิ่นอาศัยอยู่ในทะเลสาบต่างๆ บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย เกาะนี้มีความสำคัญต่อนักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา นักชีววิทยา และอีกหลายๆ วิทยารวมทั้งนักมีนวิทยาด้วย เนื่องจากเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งธรรมชาติ มีสิ่งมีชีวิตที่รูปแบบแตกต่างไปจากดินแดนอื่น จัดได้ว่าเกาะสุลาเวสีเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปออสเตรเลีย สัตว์น้ำขึ้นชื่อที่กล่าวถึงกันอย่างมากมายได้แก่ปลาสวยงาม กุ้งแคระสุลาเวสี และหอยสุลาเวสี ซึ่งก็รวมถึงเจ้ากระต่ายน้อยตัวนี้ไปด้วยครับ

หอยแรบบิทสเนลกระจายพันธุ์ไปตามแหล่งน้ำตื้นของทะเลสาบต่าง ๆ บนเกาะสุลาเวสี โดยเฉพาะทะเลสาบมาตาโน จัดอยู่ในสกุล Tylomenia มีชนิดพันธุ์มากมายทั้งที่ค้นพบและถูกบันทึกในอนุกรมวิธานกับสายพันธุ์แปลกใหม่ที่ยังตกสำรวจอีกนับไม่ถ้วน วงการสัตว์น้ำสวยงามเพิ่งเข้าถึงโลกลี้ลับแห่งเกาะสุลาเวสีได้ไม่ถึงสิบปี มันจึงยังใหม่มาก มีอะไรให้เรียนรู้อย่างสนุกสนานตื่นเต้นอีกมากมายมหาศาล

หอยแรบบิทสเนลเมื่อเทียบกับหอยสวยงามชนิดอื่นที่นิยมเลี้ยงกันจะดูใหญ่กว่า มันสามารถโตเต็มที่ได้ถึง 3 นิ้ว เปลือกไอติมโคนที่ดูใหญ่และหนักทำให้การเคลื่อนตัวของเจ้ากระต่ายน้อยอืดอาดยืดยาด ไม่สมชื่อกระต่ายก็ตรงนี้แหละ นิสัยรักสงบของมันบางทีก็ดูซุกซนบ้าง เช่นชอบปีนป่ายไปตามขอนไม้หรือข้างตู้กระจก แต่ด้วยเปลือกเจ้ากรรมอันหนักหน่วงเราจึงมักเห็นมันไปได้ไม่สูงนัก คอยจะร่วงตกลงมาบนพื้นเสียทุกครั้ง

การเลี้ยงหอยแรบบิทสเนลนั้นง่ายมาก มันรักสงบ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครยกเว้นต้นไม้บางอย่าง เช่นต้นเฟินรากดำ เจ้ากระต่ายน้อยจะออกอาการลิงโลดเมื่อเห็นต้นไม้ชนิดนี้และจะตรงเข้าไปกัดแทะอย่างเมามัน ส่วนต้นไม้ชนิดอื่นดูมันไม่ค่อยให้ความสนใจมากเท่าไหร่ อาหารที่มันชอบก็มักเป็นเศษอาหารตกหล่นตามพื้น ตะไคร่น้ำ และซากสัตว์ตาย หากมีตัวอะไรสักอย่างตายในตู้ ไม่กี่นาทีหอยกระต่ายน้อยของเราก็จะคลานกระดุบๆ มาแทะกินเป็นเจ้าแรก

บางท่านนิยมเสริมอาหารด้วยอาหารสำเร็จรูปชนิดจม ซึ่งมันก็ไม่ปฏิเสธ ทว่าปริมาณการให้ต้องระมัดระวัง เนื่องจากหอยนั้นกินอาหารช้า ค่อยเป็นค่อยไป กินได้เรื่อยๆ ทั้งวัน เพราะฉะนั้นการให้อาหารที่มากเกินไปในคราวเดียวอาจทำให้น้ำเสีย และเมื่อน้ำเสียเกิดก๊าซแอมโมเนีย ไนไตรท์ในระดับค่อนข้างสูง สิ่งมีชีวิตที่เราเลี้ยงไว้แม้กระทั่งหอยจอมอึดก็อาจตายได้ภายในเวลาไม่นานเช่นกัน

สภาพน้ำที่จะเลี้ยงหอยแรบบิทไม่ควรเป็นกรด ค่าpHควรจะอยู่ประมาณ 7.0-8.5 หากเอาไปเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำหรือตู้ที่ต้องคุมค่าpHไม่ให้เกิน 6.5 จะสังเกตเห็นเปลือกหอยนั้นเริ่มกร่อน ผุเป็นหลุม ดูแล้วเหวอ อุณหภูมิไม่ควรสูงเกิน 28 องศาเซลเซียส และหากเลี้ยงรวมกับปลาอื่นก็ไม่ควรเป็นปลาที่มีอุปนิสัยดุร้าย หรือชอบจิกแทะด้วยจะงอยปากคมๆ

หอยเป็นสัตว์น้ำที่แพร่พันธุ์เร็วมากถ้ามีอาหารสมบูรณ์ ตู้ปลาที่ไม่ได้เลี้ยงหอย แต่ชอบให้อาหารปริมาณมากๆ หลายๆ มื้อ ปลากินไม่หมด ไม่นานเท่าไหร่จะพบว่าเกิดหอยขึ้นเป็นสิบๆ ร้อยๆ ตัว พวกมันมาในรูปของไข่ที่ติดมาพร้อมกับวัสดุตกแต่งตู้ปลาบางอย่าง เช่น ขอนไม้ ต้นไม้น้ำ เมื่อเจออาหารตกค้างในตู้อย่างอุดมสมบูรณ์จึงปรีเปรมออกลูกออกหลานกันจ้าละหวั่น

หอยที่เอามาเลี้ยงเพื่อทำประโยชน์หลายชนิดก็สามารถแพร่พันธุ์ได้ทีละมากๆ แม้ไม่เท่าหอยกลุ่มแรก แต่กับหอยแรบบิทสเนลนี่คนละเรื่องเลยครับ มันเพาะพันธุ์ช้าและค่อนข้างยาก ให้ลูกน้อยมากแค่ครั้งละเพียงตัวเดียว ลูกหอยที่ออกมาจากท้องแม่จะมีเยื่อบางๆ หุ้มอยู่ ไม่กี่นาทีต่อมามันก็จะเจาะเยื่อนั้นออกมาดูโลกภายนอก ลูกหอยแรบบิทสเนลเกิดใหม่น่ารักมาก ตัวเล็กไม่ถึงเซ็นแต่มีรูปร่างและสีของเนื้อเหมือนพ่อแม่ทุกอย่าง ยกเว้นแต่ส่วนเปลือกรูปไอติมโคนที่ดูป้อมสั้นกว่าเท่านั้น ผมเคยลองเพาะพันธุ์หอยชนิดนี้เล่นๆ ได้ลูกมาสองตัวดีใจแทบตาย

เห็นร้านขายปลาสวยงามหลายร้านนิยมเอาหอยแรบบิทสเนลมาขายมากขึ้นในระยะนี้ ใช้ชื่อว่า “หอยสุลาเวสี” โดยมากจะเห็นเป็นชนิดเนื้อเหลืองกับเนื้อส้ม ซึ่งดูสวยอ่อนหวานมากที่สุด นานๆ ครั้งจะเจอชนิดเนื้อลาย คือตัวสีดำมีจุดขาวหรือจุดเหลืองกระจาย ถ้าเจอก็รีบซื้อทันที เพราะเป็นของแปลกหายาก ใครสนใจหาอะไรมาเลี้ยงในตู้นอกจากปลาและกุ้ง จะลองดูหอยกระต่ายน้อยสักตัวสองตัวก็ไม่เลวนะครับ น่ารักดี

ขึ้นชื่อว่า “หงส์” ความรู้สึกสง่างาม ทรงพลัง มีอำนาจในการต่อรอง ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับความเชื่อของชาวจีนด้วยแล้ว หงส์ จัดเป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญญลักษณ์แห่งดวงอาทิตย์และความอบอุ่นสำหรับฤดูร้อน และฤดูเก็บเกี่ยวพืชไร่ ทั้งยังเป็นเครื่องหมายแห่งคุณงามความดี

แต่หงส์ที่กำลังจะกล่าวถึงในที่นี้ อาจต้องพิเคราะห์อีกครั้งว่า จะมีนัยหรือความหมายตามความเชื่อของชาวจีนหรือไม่เพราะสีขนของหงส์แปรเปลี่ยนเป็นสีดำ จึงเรียกกันว่า “หงส์ดำ”

บางท่านอาจเคยเห็นแต่หงส์ขาว หงส์ที่มีขนสีขาวตลอดทั้งตัว คราวนี้ หงส์ขาวละไว้ก่อน ขอยกหงส์ดำ หงส์ที่มีขนสีดำตลอดทั้งตัวขึ้นมาแทนอันที่จริง มีหงส์ที่ขนตลอดลำตัวสีขาว ส่วนขนช่วงลำคอกลับเป็นสีดำ ด้วย แต่ก็ขอกล่าวถึงเฉพาะ “หงส์ดำ” เพียงชนิดเดียวก่อน

หงส์ดำ (Black Swan) เป็นสัตว์สวยงามชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Cygnus atratus” เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย เป็นสัตว์ปีกที่มีความสง่างาม เวลาว่ายน้ำลำคอจะโค้งเป็นรูปตัวเอส มีลำคอที่ยาวระหง มีขนสีดำตลอดลำตัว มีขนสีขาวแซมอยู่เล็กน้อยบริเวณปีก ลูกตามีสีแดง ที่ปากจะมีสีแดงสดและมีแถบขาวตรงปลายปาก

ธรรมชาติของหงส์ดำรักการอยู่รวมเป็นฝูง อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ทะเลสาป แม่น้ำ หนอง บึง ลำน้ำ ที่ไม่ลึกนัก เพราะหงส์ดำจะดำน้ำลงไปจับสัตว์น้ำหรือพืชน้ำกินเป็นอาหาร

แม้หงส์ดำ จะมีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย คนไทยก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าเครื่องบินลัดฟ้าไปชมถึงถิ่นแล้ว เพราะหงส์ดำ มีฟาร์มที่มีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์หงส์ดำอยู่ในประเทศไทยแล้ว

หนองจอก เขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ แม้จะไม่ทั้งหมดของพื้นที่ แต่ก็ยังคงเหมาะกับการทำเกษตรกรรมอยู่

คุณถาวร สมานตระกูล เจ้าของลำไทรฟาร์ม ฟาร์มที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ปีกหลายชนิด “หงส์ดำ” เป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่ดึงดูดและเรียกความสนใจให้กับฟาร์มได้ดีทีเดียว คุณถาวร เล่าว่า กลุ่มสัตว์ปีกเป็นกลุ่มสัตว์ที่รักและนิยมเลี้ยงมานาน นับแต่วัยรุ่น ถึงปัจจุบันเข้าสู่งวัยชรา แต่ก็ยังไม่คิดละทิ้งหรือเลิกเลี้ยง แม้จะเริ่มต้นจากสัตว์ปีกทั่วไปที่คนนิยมเลี้ยงในประเทศ เช่น ไก่ นก เป็ด ห่าน หงส์ขาว และเป็นต้นตำรับของผู้ค้าส่งสัตว์ปีกให้กับแหล่งจำหน่ายสัตว์ปีกสวยงามให้กับตลาดนัดสนามหลวง ตลาดนัดสวนจตุจักร ก็ตาม

เมื่อมีสัตว์ปีกตามจำนวนที่ต้องการเกือบครบทุกชนิดแล้ว คุณถาวร มองว่า ความแตกต่างของสัตว์ที่เพาะเลี้ยง น่าจะสร้างประสบการณ์เพิ่มขึ้น จึงมองหาสัตว์ปีกต่างประเทศที่ไม่พบในประเทศไทย และตัดสินใจซื้อ เมื่อพบ “หงส์ดำ” ขายที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) คู่แรก

“เลี้ยงหงส์ดำคู่แรกก็หวังจะได้ลูก เลี้ยงมานาน 2 ปี เพิ่งรู้ว่า คู่แรกที่ซื้อมาเป็นเพศผู้ทั้งคู่”

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คุณถาวร แสวงหาแหล่งเพาะเลี้ยงหงส์ดำ และซื้อเพศเมียมาอีก 2 ตัว เพื่อให้เข้าคู่กับหงส์ดำเพศผู้ 2 ตัวที่มีอยู่

ไม่นานนัก ธรรมชาติของสัตว์ก็ส่งผลให้ลูกหงส์ดำครอกแรกเกิดขึ้น

คุณถาวร ขายพ่อและแม่หงส์ดำ พร้อมลูกอีกจำนวน 5 ตัว วัย 2 เดือน ให้กับลูกค้าที่มาติดต่อขอซื้อ รวมเม็ดเงินที่ได้รับครั้งนั้นเกือบ 1 แสนบาทคุณถาวร บอกว่า ในยุคนั้น ไม่เคยคิดว่าจะจับเงินแสน และการขายหงส์ดำครั้งนี้จุดประกายให้ตัดสินใจขยายพันธุ์หงส์ดำเพื่อการพาณิชย์

“การสั่งซื้อจากแหล่งเพาะขยายพันธุ์ในต่างประเทศ น่าจะได้หงส์ดำสายพันธุ์ที่ดี จึงสั่งซื้อจากเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าจะไม่ใช่ประเทศต้นกำเนิดหงส์ดำ แต่ก็เป็นประเทศที่มีนักวิจัย ทำงานวิจัยและรวบรวมพันธุ์สัตว์เข้ามาเพาะขยายพันธุ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก”

หงส์ดำ จำนวน 10 ตัว ถูกส่งมาจากเนเธอร์แลนด์มายังลำไทรฟาร์ม ทำให้ลำไทรฟาร์มเป็นสถานที่ที่เพาะเลี้ยงหงส์ดำมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย

“ความพิเศษของหงส์ดำ คือ การใช้ชีวิตเป็นคู่ เมื่อได้รักแล้วจะไม่เปลี่ยนคู่รักเด็ดขาด ยกเว้นคู่ของมันจะตาย ซึ่งถ้าตายจะนำคู่ใหม่มาทดแทนให้ได้ แต่ถ้ายังไม่เคยมีคู่มาก่อน จับให้คู่กัน หงส์ดำก็จะรักกันไปเอง ” คุณถาวร บอก

ตลอดทุกเย็น หงส์ดำ จะลอยตัวในน้ำ พร้อมกับส่งเสียงร้องไพเราะก้องหู สำเนียงเสียงร้องดังคล้ายเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ชื่อ “ทรัมเป็ต” หากเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนหนึ่ง มีเครื่องดนตรีประโคมให้ฟังในเวลาเย็น

พื้นที่ทั้งหมดของลำไทรฟาร์ม ราว 10 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่บ้านพักของปลูกต้นไม้ ส่วนที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ปีกราว 7 ไร่ เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ 5 ไร่ ถูกกั้นด้วยตาข่ายเป็นล็อค ขนาดล็อคละ 30-40 ตารางเมตรต่อหงส์ดำ 1 คู่

พื้นที่เลี้ยงหงส์ดำ ควรเป็นน้ำ 80 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่บก 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะธรรมชาติของหงส์ดำจะอาศัยอยู่ในน้ำช่วงเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ จะขึ้นบกเมื่อต้องการกินอาหารหรือพักผ่อนเท่านั้น

คุณถาวรใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับไก่ เลี้ยงหงส์ดำด้วย ให้อาหารเสริมเป็นผัก เช่น ผักตบชวา ผักบุ้ง ซึ่งผักที่หงส์กินเข้าไปจะช่วยระบบขับถ่าย ทั้งนี้ การให้อาหารจะให้วันละ 2 รอบ เช้าและเย็น ปริมาณอาหารต่อรอบ 1 กิโลกรัม แม้หงส์จะเป็นสัตว์สวยงาม แต่เวลากินจะเลอะเทอะไปทั่วบริเวณเลี้ยง เพราะเป็นสัตว์ปากแบน เวลากินจะใช้ปากคีบอาหารเม็ดจุ่มลงในน้ำก่อนกลืน ทำให้อาหารละลายไปกับน้ำบ้าง ดังนั้น อาหารเม็ดที่ให้ไว้ 1 กิโลกรัมต่อรอบ หงส์จะกินเข้าไปไม่ถึงตามจำนวน

การให้วิตามินสำหรับสัตว์ปีก คุณถาวร เลือกให้เฉพาะหงส์เกิดใหม่ หลังออกจากไข่ในวันที่ 3 ส่วนวิตามินบำรุงขนเลือกให้ได้ทุกฤดู ยกเว้นฤดูร้อนที่หงส์จะผลัดขน

วัยเจริญพันธุ์ของหงส์อยู่ที่อายุ 2 ปีขึ้นไป

“การดูเพศในหงส์ เป็นเรื่องยาก” คุณถาวร บอกการดูเพศที่แน่ชัด ต้องขึ้นกับความชำนาญของผู้เลี้ยง แต่การสังเกตเบื้องต้นดูได้จาก หงส์เพศผู้จะคอยาวกว่าเพศเมีย ส่วนเพศเมียนอกจากจะคอสั้นกว่าแล้ว ลำตัวยังป้อมกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ พฤติกรรมของหงส์ยังบ่งบอกเพศได้ เช่น เพศเมียจะดูเรียบร้อย อ่อนแอและนุ่มนวลกว่า ส่วนเพศผู้ มักแสดงอาการก้าวร้าว เป็นต้น
การผสมพันธุ์ของหงส์ เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อหงส์จับคู่แล้วจะผสมพันธุ์กัน เมื่อหงส์เพศเมียตั้งท้อง ทั้งคู่จะช่วยกันทำรัง โดยเก็บหญ้าแห้ง เศษฟาง ใบไม้แห้งมาทำรัง และออกไข่ครั้งละ 5-6 ฟอง ขนาดของไข่หงส์จะใหญ่กว่าไข่เป็ดประมาณ 2 เท่า

ในแต่ละปี หงส์ดำจะผสมพันธุ์และตั้งท้อง 4 รอบ

การฟักไข่ พ่อแม่หงส์จะพลัดเวรยามกันกกไข่ หงส์เป็นสัตว์ที่หวงไข่มาก ไม่เหมือนสัตว์ปีกบางชนิดที่ออกไปหาอาหารและทิ้งไข่ไว้ในรัง โดยไม่มีพ่อหรือแม่กก

คุณถาวร อธิบายว่า อัตราการรอดของลูกหงส์มีน้อย หากให้พ่อและแม่หงส์ฟักไข่เอง บางครั้งจากจำนวน 5-6 ฟอง อาจไม่เหลือลูกหงส์รอกสักตัว ดังนั้น เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกหงส์ จึงใช้วิธีให้พ่อและแม่หงส์ดำกกไข่เองประมาณ 7 วัน จากนั้นนำมาตรวจหาเชื้อ หากพบว่ามีเชื้อก็จะเจาะรูเล็กๆ ที่ไข่ นำกลับไปให้พ่อแม่หงส์กกไข่เองต่ออีก 20 วัน จากนั้นนำเข้าตู้ฟัก 5-7 วัน ใช้อุณหภูมิภายในตู้ 105 องศาฟาเรนไฮต์ หมั่นกลับไข่ภายในตู้ฟักเรื่อยๆ

การดูเชื้อภายในไข่หงส์ ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณถาวร บอกว่า จำเป็นต้องใช้ความชำนาญ เพราะเปลือกไข่หงส์หนากว่าเปลือกไข่ไก่หรือไข่เป็ดปกติ การส่องไฟในบางครั้งก็ไม่ได้ประโยชน์

“อัตราการรอดของลูกหงส์มีน้อยมาก แม้จะนำเข้าตู้ฟักแล้วก็ตาม หากจะปล่อยให้พ่อแม่หงส์ฟักเอง โอกาสเหยียบลูกตายมีสูง และลูกหงส์อาจถูกมดเข้าไปกับก่อนฟักเป็นตัวด้วย”

คุณถาวร เล่าว่า ลูกหงส์เกิดใหม่จะขี้เหร่ ไม่สวย สีเทาหม่น ไม่น่ารักเหมือนพ่อแม่ แต่เมื่อลูกหงส์มีอายุประมาณ 2 เดือน เริ่มถ่ายขน ขนใหม่ขึ้นมา ทางฟาร์มจะตัดปลายปีก เพื่อไม่ให้บิน จะแยกลูกหงส์ไว้ นำไปอนุบาล และเริ่มจำหน่ายเมื่ออายุ 3 เดือน ในราคาคู่ละประมาณ 20,000 บาท

การตัดปีก ไม่มีผลใดๆ ต่อหงส์ ยกเว้นทำให้หงส์บินไม่ได้เท่านั้น และลูกค้าที่ซื้อไปเลี้ยงจะสังเกตว่าหงส์ถูกตัดปีกก็ต่อเมื่อ หงส์กางปีก จึงจะทราบว่าปีกทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

คุณถาวร ย้ำชัดเจนว่า การเลี้ยงหงส์ดำ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสัตว์ที่ปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ เลี้ยงไว้สวยงาม ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ลูกค้าจำนวนหนึ่งอยู่ในกลุ่มมีฐานะ เพราะหงส์เป็นสัตว์ที่อยู่ในตระกูลสูง จะเสริมบารมีให้กับผู้เลี้ยง

สำหรับ ลำไทรฟาร์ม คุณถาวร บอกว่า ไม่ได้มีขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อจำหน่ายเท่านั้น แต่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สำหรับผู้สนใจ เพราะนอกเหนือจากหงส์ดำที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสัตว์ปีกหาชมได้ยากอีกหลากชนิด อาทิ นกมาคอว์บลูแอนโกล์ด นกแอฟริกันเกรย์ นกเลิฟเบิร์ด เป็นต้นการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำทั่วไปตามธรรมชาติ อีกทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถสร้างอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้

บริเวณริมเขื่อนวชิราลงกรณ หรือชื่อเดิมคือเขื่อนเขาแหลม ตั้งอยู่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีมีชาวบ้านตั้งรกรากเพื่อทำมาหากินด้วยการจับสัตว์น้ำ บางรายมีที่ดินก็ปลูกบ้าน บางรายไม่มีที่ดินก็สร้างแพ

คุณสมชาย ศาลาคำ อายุ 51 ปี เป็นอีกคนที่มีชีวิตครอบครัวพักอาศัยในแพและยึดอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณริมเขื่อนเขาแหลมมากว่า 17 ปี ด้วยการซื้อพันธุ์ปลาแล้วมาเลี้ยงส่งขายเองตามร้านอาหารเรียกว่าเป็นทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขายตรงในเวลาเดียว ถือว่าทำงานแบบครบวงจรเลย และด้วยความเพียร ความอดทน การเป็นผู้เรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง จนกระทั่งเขาสามารถสร้างฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง สร้างรายได้นับหลายแสนในแต่ละเดือน สามารถส่งบุตรสาวเรียนได้ถึงระดับปริญญาโท จนทุกวันนี้เขามีความสุขกับครอบครัวแล้วยังมีแผนที่จะต่อยอดอาชีพนี้อีก

กว่าจะมาถึงจุดสำเร็จแห่งอาชีพนี้ คุณสมชายต้องฝ่าฟันปัญหานานับประการ ถูกมองจากชาวบ้านด้วยความคิดแปลกๆ แต่ด้วยความมุ่งมั่น อดทน ประหยัด รู้จักคิด จึงทำให้เขาเดินฝ่าปัญหาเหล่านั้นจนมายืนในแถวหน้าในฐานะผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังในทองผาภูมิได้อย่างภาคภูมิใจ

คุณสมชาย ย้อนอดีตว่าด้วยความที่พ่อ-แม่ทำงานเป็นพนักงานอยู่ที่เขื่อนวชิราลงกรณ จึงทำให้ตัวเขาต้องย้ายตามมาด้วยวัยเพียงสิบกว่าขวบ พอจบม. 6 ที่กาญจนบุรี ย้ายกลับไปที่ระยองไปประกอบอาชีพที่ต้องหาเงินเองด้วยการค้าขาย และขายของทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ผลไม้ แต่แล้วไม่ประสบความสำเร็จจึงกลับมาทองผาภูมิอีกครั้งเมื่ออายุเกือบ 30 ปี แล้วมาแต่งงานมีครอบครัวที่นี่

เจ้าของกระชังปลา บอกอีกว่า ตอนมาอยู่ใหม่ๆยังคงยึดอาชีพค้าขายต่อไปอีก พอมาเมื่อปี 2540 เศรษฐกิจไม่ดีจึงต้องเลิก ประจวบกับจังหวะนั้นทางหัวหน้าประมงอำเภอทองผาภูมิคนเดิมแนะให้ทำอาชีพยกยอและเลี้ยงปลาในกระชัง จึงเกิดความสนใจและเริ่มทดลองทำดู

“จากจุดเริ่มต้นที่ไม่เป็นอะไรสักอย่าง ลูกปลายังไม่รู้จัก แม้กระทั่งว่ายน้ำยังไม่เป็น พายเรือก็ไม่เป็น จึงขอให้คนที่มีความสามารถมาช่วยสอนให้ยกยอ สำหรับการยกยอในช่วงนั้นมีพวกปลาซิวแก้ว ปลาแป้น แล้วนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงปลาคัง ปลากด ปลาช่อน และปลาชะโดที่มีอยู่ในกระชังที่มีอยู่ ทั้งนี้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารให้ปลา”

ต่อมาอีก 3-4 ปี ปลาที่ยกยอเพื่อนำมาเป็นอาหารปลาในกระชัง เริ่มน้อยลงทำให้ต้องเลิกยกยอเพราะไม่คุ้ม จึงทำให้ต้องหาซื้ออาหารเป็นปลานิลจากทางบางเลน จากนั้นไม่นานปลาจากแหล่งที่เคยซื้อกลับมีราคาแพงและน้อยลง จึงจำเป็นต้องหันมาใช้ไส้ไก่จากสุพรรณบุรีแทนในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนปลาหาได้บ้างในบางช่วงถ้ามีราคาถูกและต้องไม่เกิน 9-10 บาทต่อกิโลกรัม

คุณสมชาย บอกว่า ครั้งแรกปลากระชังที่เลี้ยงไว้ได้แก่ปลาช่อน และปลาชะโด เพราะสามารถหาอาหารในเขื่อนเลี้ยงได้ง่าย จะได้ทุ่นค่าใช้จ่าย ช่วงนั้นมีอย่างละ 2 กระชัง แต่ประสบปัญหาการตักปลาที่ไม่ชำนาญจนทำให้ล่าช้ากว่ารายอื่น จึงต้องหยุดเลี้ยง แล้วเปลี่ยนมาเป็นการลองไปซื้อลูกปลาคังมาเลี้ยง เพราะเมื่อประเมินรายรับแล้วน่าจะดีกว่า ตอนนั้นปลาช่อนขายได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท แต่หากเป็นปลาคังต้องมีราคาร้อยกว่าบาทขึ้นไป แต่ติดปัญหาตรงที่ลูกปลาคังหาค่อนข้างยาก ซึ่งคนละแวกนี้เขาหาโดยใช้วิธีดักลอบ หรือดำน้ำไปตามหน้าผาหรือรูหิน แต่เราทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะว่ายน้ำไม่เป็นจึงต้องไปหาซื้อ

“ลองเปิดหนังสือหาแหล่งที่เพาะลูกปลาเพื่อซื้อมาเลี้ยง แต่กลับมีชาวบ้านดูแคลนว่าปลาที่เพาะเลี้ยงมีอายุสั้น เดี๋ยวก็ตาย แต่เราไม่เชื่อและต้องลองเลี้ยงดู สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถทำในสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่ แต่ผมกลับทำได้สำเร็จ เมื่อเลี้ยงปลาเพาะได้น้ำหนักขนาดถึงเกือบ 4 กิโลกรัมต่อตัว หลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้ลองทำแบบเดียวกับผม ทั้งนี้เพราะปลาตามธรรมชาติหาไม่ได้แล้วหากต้องการจำนวนมากขนาดนั้น มัวแต่ไปจับคงไม่ทันขายแน่”

ปลาคังขายดี ลูกค้านิยมเปิดขายตรง กับร้านอาหารคุณสมชาย บอกว่า ปลาที่นิยมเลี้ยงมากคือปลากดคัง เพราะตลาดรับซื้อมีรองรับมากกว่า รองลงมาคือปลากลดเหลือง ส่วนปลาทับทิมและปลานิลเลี้ยงกันน้อย เพราะความต้องการมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น อีกประการคือต้นทุนสูง ไม่คุ้มกับการเลี้ยง