หลังจากที่ทดลองปลูกดอกดาวเรืองแล้ว เริ่มมี พ่อค้า แม่ค้า

พื้นที่ติดต่อขอซื้อกันเป็นจำนวนมากจึงขยายแปลงปลูกเพิ่มขึ้น พร้อมกับปลูกพืชผลชนิดอื่นๆแบบผสมผสานจนเต็มพื้นที่ ส่วนดอกดาวเรืองก็จะมีราคาเริ่มต้นที่ดอกละ 80 สตางค์ จนถึง 1 บาท ในแต่วันละจะทำรายได้ตกวันละ 5,000-8,000 บาท ในแต่ละเดือนจะทำรายได้นับแสนบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดี

นอกจากนี้ยังจะขุดบ่อน้ำเพิ่มเพื่อเลี้ยงปลา และปลูกพืชที่ให้ผลผลิตเร็วแบบผสมผสานเข้าด้วยกัน เช่น พริก ต้นหม่อน มะนาว และพืชผลอื่นๆ ส่วนปุ๋ยก็ใช้ขี้วัวที่มีอยู่เพื่อประหยัดต้นทุน ส่วนน้ำก็เป็นบ่อขุดที่มีน้ำใต้ดินซึมมีใช้ตลอดทั้งปี

ช่วงวันเสาร์เป็นวันว่าง หลังกินข้าวเช้าเสร็จ รอข้าวเรียงเม็ด สัก 1 ชั่วโมง ก็ถึงเวลาแต่งตัวเพื่อปั่นจักรยานออกกำลังกาย จากที่พักแถวบ้านสันมะเค็ด ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไปตามถนนสายเวียงป่าเป้า-เชียงราย วันนั้นปั่นรถจักรยานผ่านบ้านหลังหนึ่งในตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า สะดุดตา ต้นไม้เถาที่ออกลูกใหญ่เท่ากำมือขนาดใหญ่ จึงแวะลงไปดูและถ่ายรูปไว้ ส่งรูปและสอบถาม คุณอินโต บุญวงค์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพจังหวัดเชียงราย บอกว่า เป็น แตงสา หรือสุคนธรส และได้ให้ข้อมูลพืชชนิดนี้ว่า

สามารถพบเห็นได้ทั่วประเทศ มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นว่า สุคนธรส (ภาคกลาง) แตงกะลา มะแตงสา หรือ แตงสา (ภาคกลาง และตะวันตก) มะละกอย่าน (ภาคใต้) มะถั่วรส หรือ มักซูรด (ภาคเหนือ) รวมทั้งกะทกรกยักษ์ เนื่องจากมีขนาดผลใหญ่ที่สุดในบรรดากะทกรก (เสาวรส) ทั้งหลาย

ในหนังสือพรรณไม้แห่งประเทศไทย ของ ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ระบุว่า พืชชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passifloraquadrangularis L. ชื่อสามัญ Giant Granadilla เป็นพืชสกุลเดียวกันกับ เสาวรส (กะทกรกฝรั่ง) และกะทกรกป่า (หญ้ารกช้าง) ผลดิบและผลสุก นำมากินได้เช่นเดียวกับกะทกรก หรือเสาวรสชนิดอื่นๆ

มีสรรพคุณทางยา ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด หากนำใบมาตากแห้งเป็นชาชงดื่ม แก้ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และลดไขมันในเส้นเลือด

“แตงสา” เป็นไม้เถาเลื้อย ใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึก ออกดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ กาบดอกหุ้มสีเขียว กลีบชั้นนอกเป็นรูปกระบอก ปลายแฉกด้านหลังมีสีเขียวแก่ ด้านในมีสีม่วงอ่อน ประกอบด้วยจุดแดงๆ กลีบชั้นในลักษณะคล้ายกับตัวแฉกของกลีบชั้นนอก สีม่วงอ่อนหรือชมพูอ่อนมีประสีแดงแซม กลีบย่อยกลางมีเป็นชั้นๆ สองชั้น แต่ละกลีบค่อนข้างกลม สีม่วงแก่ พาดด้วยปลายสีขาวสลับแดง มีเกสรอยู่ตรงกลางสีเขียวนวล ดอกมีกลิ่นหอมแรงจัดมาก

ผล เป็นรูปไข่ หรือไข่ยาว ผลดิบมีสีเขียว ลักษณะคล้ายลูกมะละกอลูกเล็กๆ เนื้อภายนอกนำไปปรุงอาหารหลากหลายเมนู เช่น ผัดใส่ไข่ ต้มจืด แกงเลียง หรือนำไปลวกจิ้มกับน้ำพริก ภายในผลดิบจะมีเมล็ดสีดำ ที่ถูกหุ้มด้วยรกสีขาว มีรสเปรี้ยว เช่นเดียวกับเสาวรส ชาวบ้านนิยมนำเมล็ดไปคลุกกับเกลือก่อนกิน เพื่อเพิ่มรสชาติ ผลสุกมีสีเหลือง ภายในผลจะมีรสชาติเหมือนกะทกรก แต่มีรสหวาน หอมกว่า

การขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด จากผลที่สุกจัดนำมาเพาะต้นกล้า ผลสุกสามารถกินได้สดๆ นำผลสุกมาเขย่าให้เนื้อข้างในเข้ากัน แล้วผ่าครึ่งผล ใช้ช้อนตักกินได้เลย มีกลิ่นหอม หวานกว่าเสาวรสมากนัก คุณอินโต บอกว่า ถ้าปลูกเป็นซุ้มโค้งแล้วให้ลูกย้อยอยู่ข้างในจะสวยงามมาก

อาจารย์วินัย วิริยะอรงค์กรณ์ อาจารย์สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ข้อมูลว่าเคยนำมาปลูกและส่งเสริมให้ปลูก ที่สาขาเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการปลูกแพร่หลายมากขึ้น สุคนธรส สามารถกินได้เกือบทุกส่วน ยกเว้นรากและเถา

ผู้เขียนเองได้ต้นพันธุ์มาจากบ้าน ลุงเสาร์แก้ว ใจบาล บ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา นำมาปลูกตอนแรกโดนจิ้งโก่งกัดตาย เลยขอมาปลูกใหม่ ตอนนี้กำลังเจริญเติบโต รออีกหน่อยคงได้มีโอกาสชื่นชมความงามของดอกและรสชาติของยอดและผลของแตงสา หรือสุคนธรส แน่นอน

ในปี 2560 กระแสความนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากใครยังคิดไม่ออกว่าควรปลูกพืชชนิดไหน ขอแนะนำให้ทดลองปลูก “หม่อนยูนนาน-มะนาวหอม” เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะพืชทั้ง 2 ชนิด ปลูกง่าย ให้ผลดก ขายได้ขายดี เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นผลสด หรือกิ่งพันธุ์

“หม่อนยูนนาน-มะนาวหอม” เป็นผลผลิตจาก สวนเอฟเวอร์กรีน เขาใหญ่ เจ้าของสวนแห่งนี้คือ คุณน้อย หรือ คุณนิรันดร์ชัย เกษบึงกาฬ โทร. (081) 790-1924 และ seedplannet.biogspot.com ได้ยืนยันว่า “หม่อนยูนนาน-มะนาวหอม” เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อในวงกว้าง หลังจากได้เปิดขายในงานแสดงสินค้า และสื่อออนไลน์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับหม่อนยูนนาน ขายส่งในราคา กิ่งละ 80 บาท มีออเดอร์จากทั่วประเทศ เดือนละนับ 1,000 กิ่ง

คุณน้อย เรียนจบสาขาพืชสวน จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตบางพระ สาขาพืชสวน หลังจากนั้นทำงานกับโบนันซ่า เขาใหญ่ และทำอาชีพรับจ้างจัดสวนอยู่หลายปี ก่อนจะหันมาทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างเต็มตัว โดยใช้ชื่อสวนเกษตรแห่งนี้ว่า สวนเอฟเวอร์กรีน เขาใหญ่ ตั้งอยู่ เลขที่ 10 หมู่ที่ 7 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130 คุณน้อยชื่นชอบการบริโภค “หม่อนกินผลสด หรือมัลเบอร์รี่” มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพสูง เขาจึงสะสมพันธุ์มัลเบอร์รี่สายพันธุ์ไทยและต่างประเทศไว้เป็นจำนวนมาก

เมื่อ 3 ปีก่อน คุณน้อยได้ไปเที่ยวดูงานเกษตรที่เมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปเจอต้นหม่อนกินผลสดสายพันธุ์ยูนนาน ที่มีผลผลิตดกมาก จึงนำกิ่งพันธุ์หม่อน จำนวน 2 กิ่ง เข้ามาปลูกขยายพันธุ์ในลักษณะการปักชำ หลังจากทดลองปลูกพบว่า ต้นหม่อนยูนนานพันธุ์นี้มีลำต้นแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว ไม่มีแมลงรบกวน ให้ผลดกตลอดทั้งปี และมีผลขนาดใหญ่ รสหวานอมเปรี้ยว ถือว่ามีรสชาติอร่อย เมื่อเทียบกับหม่อนลูกแดง สายพันธุ์อื่น

ที่สำคัญหากใครมีปัญหาข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ปลูก เพราะพักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือหอพัก ก็ไม่ต้องกังวล เพราะคุณสามารถปลูกต้นหม่อนพันธุ์ยูนนานในกระถางได้ และได้ผลดกเหมือนปลูกในแปลงปลูกทั่วไป ต้นหม่อนพันธุ์ยูนนานเหมาะสำหรับปลูกเพื่อเก็บผลสดไว้บริโภคหรือขาย เพราะปัจจุบัน ผลหม่อนสด ซื้อขายในราคาสูง ถึงกิโลกรัมละ 300 บาททีเดียว

ต้นหม่อนพันธุ์ยูนนาน ปลูกง่าย มีอัตราการรอดสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คุณน้อยแนะนำให้ขุดหลุมปลูก ขนาด 30×30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยอินทรียวัตถุและปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 และปลูกเป็นแถว ในระยะห่างประมาณ 2.50×2 เมตร ถึง 4×4 เมตร หลังปลูกคอยดูแลให้ปุ๋ยและน้ำตามปกติ เมื่อต้นหม่อนอายุประมาณ 3 เดือน ค่อยตัดแต่งทิศทางทรงพุ่ม ให้อาหารเสริมพืชทางใบ ปล่อยไปทางระบบน้ำและใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 บำรุงรักษาต้น เมื่อต้นหม่อนพันธุ์ยูนนานอายุ 5 เดือน ให้ตัดแต่งกิ่ง คงกิ่งหลักไว้เพื่อให้แตกกิ่ง เป็นทรงพุ่มตามต้องการทุกๆ 3 เดือน ต้นหม่อนพันธุ์ยูนนาน 1 ต้น จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 10-12 กิโลกรัม นอกจากนี้ ใบหม่อนยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นใบชาหม่อน บำรุงสุขภาพได้อย่างดีเยี่ยม และขายใบชาได้ในราคาสูงอีกต่างหาก

“มะนาวหอมเขาใหญ่” พันธุ์ทะวาย ปลูกง่าย ขายดี

สวนเอฟเวอร์กรีน เขาใหญ่ ยังมีสินค้าเด่นอีกชนิดคือ “มะนาวหอมเขาใหญ่” เป็นมะนาวพันธุ์ทะวาย ให้ผลดกตลอดทั้งปี และสามารถต้านทานโรคแคงเกอร์ได้ดี เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว คุณน้อยได้กิ่งพันธุ์มะนาวคุณภาพดี พันธุ์ปลอดโรค จากไต้หวันมาทดลองปลูก ปรากฏว่าให้ผลผลิตดกดีมาก ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยรดน้ำหรือให้ปุ๋ยสักเท่าไหร่ แถมปลอดโรคแคงเกอร์อีกต่างหาก ที่สำคัญน้ำมะนาวพันธุ์นี้มีกลิ่นหอมมาก น้ำเยอะ เปลือกบาง และมีผลใหญ่ขนาดจัมโบ้ เฉลี่ยน้ำหนัก ผลละ 1 ขีด

คุณน้อย หันมาใส่ใจดูแลต้นมะนาวพันธุ์นี้มากขึ้น เมื่อเก็บผลผลิตออกขายก็เป็นที่ถูกใจแม่ค้า เพราะติดใจคุณภาพ ช่วงฤดูแล้ง คุณน้อยสามารถขายผลมะนาวพันธุ์นี้ได้ราคาสูง ถึงผลละ 8 บาท ปัจจุบันขายส่ง ในราคา ผลละ 4 บาท เก็บผลผลิตออกขายได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1,500-2,000 ผล ทำให้คนที่รู้ข่าวเริ่มมาขอแบ่งปันกิ่งพันธุ์มะนาวหอมเขาใหญ่ไปปลูกอย่างต่อเนื่อง ในราคากิ่งละ 150 บาท มียอดสั่งจองเดือนละนับ 1,000 กิ่ง

คุณน้อย บอกว่าต้นมะนาวหอมเขาใหญ่ ปลูกง่าย เหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชสวนครัวในบ้านเรือนทั่วไป แค่ปลูกมะนาวหอมเขาใหญ่ สัก 2 ต้น ต่อครัวเรือน ก็จะมีผลมะนาวสดไว้บริโภคตลอดทั้งปี ต้นมะนาวหอมเขาใหญ่ไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ แค่รดน้ำทุกวัน ใส่ปุ๋ยเป็นครั้งคราวก็จะได้ผลดกตลอดทั้งปี

หากใครสนใจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “หม่อนยูนนาน-มะนาวหอม” สามารถพูดคุยกับคุณน้อย หรือ คุณนิรันดร์ชัย เกษบึงกาฬ ได้โดยตรงที่เบอร์โทร. (081) 790-1924 หรือติดตามได้ที่http://seedplannet.blogspot.com/2015/09/blog-post.html หากใครมีเวลาว่างก็แวะเข้าชมสวนเกษตรแห่งนี้ได้ ที่ สวนเอฟเวอร์กรีน เขาใหญ่ เลขที่ 10 หมู่ที่ 7 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้ทุกวัน

การนำลำไผ่มาใช้ประโยชน์ ในแต่ละชนิดงานอาจต้องพิจารณาสายพันธุ์ก่อน เพราะไผ่แต่ละพันธุ์มีคุณสมบัติข้อดี/ข้อเสียแตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้ลำไผ่ที่เหมาะสมกับการใช้งานจะช่วยลดต้นทุนได้

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบอาชีพปลูกไผ่ขายลำ อย่าง คุณกฤษณ หอมคง มองว่าเส้นทางอาชีพนี้ยังมีความรุ่งโรจน์ เพียงแต่ขอให้ใส่ใจอย่างเต็มที่เท่านั้น

คุณกฤษณ ประกอบอาชีพผู้ปลูกขายลำไผ่และเจ้าของธุรกิจน้ำใบไผ่ จากจังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นคนรุ่นใหม่หัวใจเกษตรอย่างแท้จริง รู้จักกับไผ่มาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้เพราะครอบครัวทำธุรกิจขายลำไผ่ส่งไปขายที่ชลบุรีเพื่อนำไปเลี้ยงหอยแมลงภู่ ภายหลังจากเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย โดนคุณพ่อดึงตัวเข้ามารับสานงานต่อด้วยการตระเวนรับซื้อไผ่จากทางภาคเหนือเป็นหลัก จนทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติไผ่เป็นอย่างดี

คุณกฤษณ มีสวนไผ่ที่บ้านตั้งชื่อว่า “สวนภูมิใจ” เขาบอกว่าเหตุผลที่มาของชื่อสวนแห่งนี้เพราะเคยมีนายทุนนำเงินมาให้เพื่อต้องการให้สานต่อสิ่งที่ผมเคยไปกล่าวไว้เรื่องการส่งเสริมปลูกไผ่เมื่อปี 2549 ที่น่านเพื่อให้ชาวบ้านปลูกไผ่รวก

ความจริงแล้วที่น่านไม่จำเป็นต้องส่งเสริมให้ปลูกไผ่รวกก็ได้ เพราะไผ่รวกที่ใช้เลี้ยงหอยแมลงภู่ได้ทนทานมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดน่าน ทั้งนี้ เพราะอาจมีคุณสมบัติที่เหมาะสมอันเกิดมาจากลักษณะเฉพาะของภูมิประเทศ แม้ที่อื่นจะปลูกไผ่รวกแต่คุณภาพความคงทนสู้ที่น่านไม่ได้

ทั้งนี้ เพราะไผ่ชนิดเดียวกันเจริญเติบโตต่างถิ่นกันจะมีคุณภาพต่างกันด้วย ยกตัวอย่างไผ่เลี้ยงที่นำมาทำบันไดของการไฟฟ้าฯ ที่ใช้ในกรุงเทพฯ ทราบหรือไม่ว่าต้องใช้งานปีละไม่ต่ำกว่า 30 คันรถสิบล้อ ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ต้องใช้ด้วยเช่นกัน

ถ้าว่ากันในเรื่องคุณภาพไผ่เลี้ยงแล้วจังหวัดแถวภาคอีสาน อย่างยโสธร อุบลราชธานี มีความแข็งแรง ทนทานกว่าที่อื่น ส่วนไผ่เลี้ยงทางเหนือจะอวบน้ำเมื่อนำมาตากแดดเพียงเดือนเดียวจะแห้ง

ไผ่รวกที่น่านมีลักษณะข้อถี่และความแข็งแกร่งของไม้รวกอยู่ที่ผิวเปลือก ด้วยเหตุนี้จึงทนน้ำเค็มได้ดี สามารถนำมาใช้งานเพื่อเลี้ยงหอยแมลงภู่ได้นานอันเป็นประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงเพราะไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ช่วยลดต้นทุน อีกเหตุผลข้อดีไผ่รวกที่น่านคือเป็นไผ่ที่คนปลูก จึงสามารถระบุอายุของต้นไผ่ได้ชัดเจน จึงเป็นความสะดวกที่จะเลือกไผ่ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน

ทั้งนี้ ออเดอร์ที่รับซื้อไผ่รวกเพื่อนำไปใช้ในทะเลปีละ 100 คันรถเทรลเลอร์ (1 คันรถ มีจำนวน 30 ตัน หรือ 3,000 ลำ) โดยรับซื้อจากชาวบ้านลำละ 16 บาท ดังนั้น ราคารับซื้อ 1 คันรถ เป็นเงินเกือบ 50,000 บาท แต่ต้องเสียค่ารถขนคันละ 25,000 บาท

สรุปแล้วที่ชาวบ้านน่านปลูกไม้ไผ่รวกเป็นการช่วยให้เจ้าของรถและคนขายน้ำมันรวย จึงสงสัยว่าที่น่านมีการส่งเสริมให้ปลูกไผ่รวก แต่ทำไมไม่หาตลาดที่อยู่ใกล้เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนในการขนส่งทางไกล

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ที่สวนภูมิใจมีแนวคิดการปลูกไผ่เพื่ออนุรักษ์ โดยมองว่าไม่เกิน 10 ปี ผู้ปลูกกับผู้ใช้จะเจอกันโดยตรง แล้วไม่ต้องผ่านคนกลาง เพราะเมื่อต้นทุนสูง คนปลูกจะหาทางออกด้วยการนำมาแปรรูปเอง ลงทุนเสียเอง อย่างที่ประเทศจีนทำ

สำหรับไม้ไผ่ที่รับซื้อมี 2 ชนิด ได้แก่ ไผ่รวกกับไผ่ตง โดยไผ่ตงซื้อแถวปราจีนบุรีและทางภาคเหนือ ทั้งนี้ พื้นที่ใดที่มีความชุ่มชื้นน้อยจะปลูกไผ่ได้ลำขนาดเล็ก ไผ่พันธุ์เดียวกันเมื่อนำไปปลูกต่างพื้นที่กันจะมีขนาดต่างกัน จึงสังเกตได้ว่าไผ่ที่ปลูกบนดอยจะมีขนาดราว 6-7 นิ้ว แต่เมื่อนำมาปลูกภาคกลางจะมีขนาดเล็ก เพราะจากประสบการณ์ที่คลุกกับไผ่มานานถึง 20 ปี ได้เก็บข้อมูลเรื่องไผ่มาตลอดพบว่าความสูงจากระดับน้ำทะเลมีผลต่อขนาดของลำไผ่

ไผ่ตงมีการรับซื้อจากกรมทรัพยากรชายฝั่งเพื่อนำไปทำแนวกันคลื่น ซึ่งในแต่ละปีต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านท่อน แล้วใช้ขนาดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 3 นิ้ว ฉะนั้น ในเมื่อมีความต้องการอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่มีการส่งเสริมให้ปลูก

ที่สวนภูมิใจปลูกไผ่ซางหม่นด้วย แล้วพบว่าเป็นไผ่ที่มีราคาสูงกว่าพันธุ์อื่นเนื่องจากโดยธรรมชาติมีลักษณะลำตรง ดังนั้น การปลูกไผ่เพื่อให้มีลักษณะลำตรงสวย จะต้องมีการจัดการแปลงอย่างถูกต้องและถูกวิธีด้วย แล้วซางหม่นเป็นพันธุ์ไผ่ที่มีลำต้นตรงโดยธรรมชาติ และเพราะการมีลำตรง มีขนาดลำสม่ำเสมอจะมีผลต่อต้นทุนในการนำไปแปรรูป เพราะไม่ต้องตัดทิ้ง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดตลอดลำ เวลานำไปขายตัดเป็นท่อนยาว 2.50 เมตร ใส่รถปิกอัพนำไปส่งขายโรงงานทำตะเกียบและไม้จิ้มฟัน นอกจากนั้น ยังขายหน่อด้วย

สำหรับที่ญี่ปุ่นทางบริษัทโตโยต้าได้นำไม้ไผ่ไปสับแล้วผสมกับพลาสติกอัดขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนประกอบภายในรถ อย่างผลิตเป็นลำโพง

หรือแม้แต่ได้มีการนำไผ่มาผลิตเป็นถาดสำหรับไว้ใส่ปลาดิบในห้างสรรพสินค้า เพราะคุณสมบัติของไผ่ช่วยยืดอายุการเก็บปลาดิบไว้ที่ถาดได้นานกว่า 3 วัน แต่ถ้าเป็นถาดพลาสติกได้เพียงวันเดียว

เหตุผลที่ใช้ตะเกียบเพื่อคีบปลาดิบเพราะเป็นการรักษารสชาติไว้ ส่วนในวงการก่อสร้างได้มีการนำไม้ไผ่ไปอัดเป็นแผ่นหรือเป็นชิ้นเพื่อเป็นไม้ปาร์เก้ แล้วได้รับความนิยมเนื่องจากไผ่ช่วยปรับอุณหภูมิในห้องเพื่อให้มีความสมดุล

ดังนั้น สิ่งที่คิดคือว่าในเมื่อสามารถกินหน่อได้ ลำนำมาใช้ประโยชน์ได้ แล้วใบก็น่าจะกินได้ด้วยเช่นกัน ความจริงใบไผ่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการทำเป็นเครื่องดื่มในจีนมานานแล้ว เกาหลีใต้ส่งใบไผ่เข้าอเมริกาปีละกว่าพันล้าน

จึงได้คิดต่อยอดด้วยการนำงานวิจัยของกรมป่าไม้ที่ระบุว่า ไผ่ซางหม่นมีสารฟลาโวนอยด์สูง เพียงแต่ถ้านำมาทำเป็นชาแล้วกลิ่นไม่หอม ก็เลยหาวิธีปรับหลายต่อหลายครั้ง ไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขจนกระทั่งมั่นใจว่าได้กลิ่นที่พึงประสงค์ จากนั้นเลยผลิตขึ้นมาแล้วส่งไปทดสอบรสชาติและกลิ่นที่ญี่ปุ่นจนปรากฎผลว่าทางญี่ปุ่นให้การยอมรับ และส่วนที่นำมาทำน้ำไผ่คือใบอ่อน ซึ่งจะตัดที่ความสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนด้านล่างถ้ามีแขนงแตกออกก็จะทำกิ่งตอนขาย อย่างไรก็ตาม จะรับซื้อใบไผ่อ่อนจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 35 บาท

นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่คือการนำจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดินกับผงไผ่หมักรวมกันแล้วทดลองนำไปคลุกกับเมล็ดพืชอย่างข้าว พบว่าสามารถฆ่าเชื้อที่ติดมากับเมล็ดข้าวได้มากกว่าร้อยละ 95 นอกจากนั้นแล้ว ยังลองนำไปใช้กับไม้ผล ผัก อีกหลายชนิด พบว่าทำให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีอายุยาวนาน

คราวนี้มาดูในแปลงปลูกไผ่ของสวนภูมิใจกันบ้าง อย่างที่บอกว่าปลูกไผ่ 1 แปลง จะมีผลผลิตเกิดขึ้นเต็มที่บริเวณด้านริมแปลงมากที่สุด เพราะเป็นด้านที่ได้รับทั้งแสงและอากาศอย่างเต็มที่ ความจริงไผ่เมื่อโตเต็มที่ก็เป็นวัชพืชซึ่งกันและกันหรือจะเป็นศัตรูกัน จะเห็นว่าถ้าปลูกระยะ 4 คูณ 4 เมตร จะสังเกตว่าต้นไหนหากไม่สมบูรณ์เต็มที่จะมีลักษณะแคระแกร็น

สำหรับต้นทุนที่สูงที่สุดในการปลูกไผ่คือแรงงาน ดังนั้น เพื่อเป็นการหนีปัญหาแรงงาน จึงต้องนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากที่สุด ทั้งนี้ จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีควบคู่ไปด้วยจึงจะเกิดผลอย่างมีคุณภาพ

ตัวอย่างเช่น การวางแนวปลูกให้มีร่องห่าง เช่น ถ้าปลูกระยะ 4 คูณ 4 เมตร จำนวน 100 กอ ก็เปลี่ยนเป็นปลูกแถวคู่ 2 เมตร ระหว่างต้นที่ 1 กับ 2 ในแถวแรกให้ห่างกัน 4 เมตร และแถวที่ 1 กับ 2 ห่างกัน 2 เมตร แล้วแถวที่ 1 กับ 2 ให้ปลูกสลับฟันปลา

ส่วนแถวที่ 2 กับ 3 ห่างกัน 6 เมตร ทั้งนี้ เพื่อต้องการเว้นช่องกลางให้สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปทำงานได้อย่างสะดวก และอีกเหตุผลคือต้องการให้ไผ่ได้รับแสงเต็มที่ตลอดทั้งวัน นอกจากนั้น ที่ว่างยังสามารถขนถ่ายแขนงที่ตัดทิ้งออกไปนอกพื้นที่ปลูกได้แล้วนำแขนงไปกองเก็บไว้เพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยในเวลา 1 ปี อีกข้อดีของการเว้นพื้นที่ตรงกลางระหว่างแถวคือการสร้างรายได้ด้วยการนำพืชมาปลูกระหว่างรอให้ไผ่โต

พื้นที่จำนวน 44 ไร่ ใช้คนงานเพียง 3 คน มีการวางระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ถ้าวันใดหากคนงานน้อยก็สามารถขับรถเข้าไปในไร่เพื่อไปเปิดวาล์วน้ำได้อย่างสะดวก

ทราบดีว่าไผ่แต่ละสายพันธุ์ให้ประโยชน์และคุณค่าที่ต่างกัน ทุกวันนี้ในสวนของผมเลือกปลูกพันธุ์ซางหม่นเพียงชนิดเดียว โดยนำลำที่มีความหนาขาย ส่วนลำที่มีเปลือกบางจะส่งเข้าโรงงานผลิตตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน ส่วนที่เหลือใช้ทำปุ๋ยโดยสับแล้วหมักกับมูลสัตว์ ใช้แขนงที่ตัดทิ้งนำเข้าเครื่องสับเพื่อหมักเป็นปุ๋ยเพราะมีอินทรียวัตถุสูง บ่อหนึ่งหมักได้ 10 ตัน และมีกำลังการผลิตได้เพียงเดือนละ 10 ตัน โดยใช้วิธีหมักสลับบ่อ

เมื่อผาปังพัฒนาไผ่เป็นพลังงาน แล้วทาง BEDO ก็มีนวัตกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากไผ่ ทั้งหมดนี้เกิดจากเจตนารมณ์ที่ดี และอย่าลืมกลับไปมองว่าถ้าฝ่ายวางแผนเดินหน้าอย่างเดียวโดยไม่มองฝ่ายผลิตคือคนปลูกก็อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

สำหรับท่านที่อยู่แถวชลบุรี ระยอง แนะให้ปลูกไผ่หนาม เพราะตลาดหนองมนต้องสั่งซื้อจากเขมรมา 20 กว่าปี ดังนั้น ถ้าปลูกไผ่หนามแล้วยังไงก็ขายได้แน่นอน หรือท่านที่อยู่แถวจันทบุรีควรปลูกไผ่สำหรับค้ำลำไย เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา มียอดออเดอร์ท่วมท้น อย่างที่สวนของผมรับยอดสั่งไม่ต่ำกว่าแสนท่อน

จึงอยากสรุปว่าขณะนี้มีงานวิจัยรองรับเรื่องไผ่ไว้มากมาย ดังนั้น ถ้าปลูกไว้ตอนนี้ควรเก็บไว้อย่าตัดทิ้ง เพราะมีประโยชน์ เพียงแต่คุณต้องเข้าให้ถูกช่อง แล้วจึงมองว่าเวลานี้นับว่าไผ่เป็นพืชทางเลือกแล้วถ้าเทียบกับพืชทางเลือกชนิดอื่นแล้วเห็นว่าปลูกไผ่คุ้มค่ากว่ามาก

มีโอกาสพูดคุยกับ คุณร่มไม้ นวลตา เกษตรจังหวัดสกลนคร เกี่ยวกับพื้นที่ปลูกข้าว และการทำเกษตรของจังหวัดสกลนคร โดยข้าวมักมีปัญหาเรื่องราคาทุกปี ผลผลิตก็ไม่มาก อยู่ที่ 400-450 กิโลกรัม ต่อไร่ และบางรายก็ปลูกไว้แต่พอกิน และหันไปปลูกพืชอื่นแทนก็มี

เกษตรกรที่ไม่ทำนาแต่หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เน้นไปที่ กล้วย บางช่วงสามารถสร้างรายได้วันละกว่าหมื่นบาท เกษตรกรที่ว่าอยู่บ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยเกษตรกรรายนี้ หันมาทำเกษตรผสมผสาน เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ประสบผลสำเร็จจริงจังเมื่อ 4 ปีนี้

ขับรถออกจากจังหวัดสกลนคร มุ่งหน้าไปตามถนนสาย สกลนคร-อุดรธานี ประมาณ 24 กิโลเมตร ระหว่างบ้านดงมะไฟ และบ้านหนองเม็ก จะพบป้ายบอกทาง เข้าวัดถ้ำขาม เลี้ยวซ้ายเข้าไป ผ่านบ้านกลาง บ้านหนองดินดำ ราว 7 กิโลเมตร ก็จะพบกับบ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งริมทางส่วนใหญ่จะเป็นสวนของเกษตรกรที่ปลูกพืชมากมาย และซ้ายมือจะพบกับ “ไร่สุขพอเพียง” มีผลผลิตทางการเกษตรวางขาย ทั้ง กล้วยหอมทอง หน่อกล้วย อีกมากมายไว้จำหน่าย

หลังจากทักทายแล้ว คุณทรงศักดิ์ ปัญญาประชุม อายุ 70 ปี เจ้าของไร่ เล่าว่า อดีตเป็น ผอ. โรงเรียนแห่งหนึ่ง เกษียณราชการเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ในช่วงแรกก็ชอบทำนา ทำสวน แต่ได้หันมาลงสมัคร นายก อบต. นาหัวบ่อ ได้รับการเลือกเข้ามาทำงาน ก็พอมีเวลา จึงหันมาพัฒนาที่ดินที่มีอยู่เพื่อทำเป็นสวนแบบพอเพียง โดยน้อมนำเอาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

หลังจากได้หันมาทำเกษตรเสริมรายได้ โดยปลูกพืชทางการเกษตรตามกระแส มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ ในช่วงนั้นปลูกทุกอย่างที่ไม่ต้องซื้อและกินได้ ต่อมามีเพื่อนบ้านชักชวนให้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้บริหารตำบลนาหัวบ่อ และได้รับการเลือกตั้งเป็น นายก อบต. นาหัวบ่อ 1 สมัย

เขาได้ดำเนินเศรษฐกิจพอเพียง โดยหวังว่าจะทำให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่ และหลังจากนั้นเคยไปดูงานด้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ไปพบ คุณทองปาน พิมพานิช เกษตรกรที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เขาบอกว่า กล้วย มีอนาคต…ต่อไปหากไม่มีการปลูก จะทำให้ผลผลิตมีน้อยและมีราคาสูง

คุณทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นได้หันกลับมาปลูกกล้วยทุกชนิดในพื้นที่ และได้หมดวาระจากการทำงานการเมือง จึงได้หันมาปลูกกล้วยอย่างจริงจัง ได้ศึกษาหาความรู้จากตำราและสอบถามผู้รู้ ในที่สุดได้ตัดสินใจปลูกกล้วยหอมทอง โดยครั้งแรกได้สั่งพันธุ์จากสหกรณ์ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในราคา หน่อละ 16 บาท ปลูกประมาณ 2 ไร่ โดยทำตามหลักการที่อ่านตามตำรา ในช่วงนั้นราคากล้วยไม่พุ่งเหมือนปัจจุบัน ทำให้มีรายได้ต่อปีราว 1 ล้านบาท หลังจากนั้น ก็มีการขยายพันธุ์ และปลูกเพื่อให้หมุนเวียนในการขาย ขยายเป็น 25 ไร่แล้วในปัจจุบัน ไม่รวมกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ จำนวนหนึ่ง พร้อมกับการขายหน่อพันธุ์กล้วยให้กับเกษตรกรที่สนใจ

คุณทรงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันจะมีกล้วยเฉพาะหอมทองออกจำหน่าย วันละประมาณ 200 หวี ราคาหวีละ 25-40 บาท เป็นราคาซื้อในสวน ก็ตกราววันละ 8,000-10,000 บาท และขายหน่อพันธุ์ หน่อละ 25-30 บาท โดยจำหน่ายประมาณสัปดาห์ละ 1,000 หน่อ หรือประมาณ 30,000 บาท ต่อเดือน โดยตลาดส่วนใหญ่จะเป็นห้างสรรพสินค้า และลูกค้าประจำจะเดินทางมารับเอง

ในปีที่ผ่านมา จากการทำบัญชีรับจ่ายแล้วจะมีรายได้ประมาณ 2 ล้านบาท จากการทำการเกษตร ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าการทำการเกษตรก็สามารถมีเงินล้านได้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นข้าราชการ จึงทราบดีว่ากว่าจะมีเงินแสนก็ต้องใช้วิธีกู้ยืม

คุณทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ใครจะมาชักชวนให้สมัครการเมืองไม่เอาแล้ว เพราะการเมือง มองว่าเป็นเรื่องที่พร้อมเพื่อประชาชน เรามาทำแบบนี้ก็ช่วยชาวบ้านได้ เพราะหากใครสนใจ ก็บอกให้ฟรีๆ ไม่คิดค่าบอก ค่าสอน แต่ต้องเดินทางมาดูที่สวน

คุณทรงศักดิ์ บอกว่า ตนมาถูกทางแล้ว ใครจะนึกว่า กล้วย จะขายได้เครือละ 700-800 บาท ซึ่งตนเองได้ขายมาแล้ว จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าการทำเกษตรก็รวยได้ และแรงงานที่ทำ ก็ทำเองและคนในครอบครัว พ่อแม่ลูกช่วยกัน เพราะกล้วยปลูกแล้วไม่มีอะไรมาก คอยดูแลวัชพืช และควรศึกษาข้อมูลการปลูกให้ดี เช่น ในแต่ละหลุมเมื่อกล้วยขึ้นมาแล้วควรเก็บไว้กี่หน่อ และห้ามตัดใบ เพราะต้องการขาย จะทำให้กล้วยมีขนาดเล็ก

ตลอดจนการตัดกล้วยที่ให้ผลผลิตแล้ว ต้นกล้วยที่ตัดห้ามนำไปทิ้งที่อื่น ควรสับหรือผ่าลำต้นแล้วปูกับฐานรากกล้วย เพราะจะทำให้พื้นดินชุ่มชื้น

กล้วย เป็นพืชที่ต้องการน้ำพอสมควร แต่มากเกินไปก็ไม่ดี หากเรานำต้นกล้วยที่ตัดแล้วมาผ่าหรือสับและปูรอบๆต้นกล้วยจะทำให้ดินชุ่ม กล้วยจะให้ผลผลิตดีกว่า โดยที่บางคนไม่ทราบ ทำความสะอาดบริเวณรอบๆ ต้นกล้วยจนมองเห็นพื้นดิน ทำให้พื้นดินถูกแสงแดดแล้วดินแห้ง กล้วยก็ไม่งอกงาม ผลผลิตไม่ดี นี่คือ วิธีธรรมชาติที่ตนศึกษาพบ และแนะนำให้เกษตรกรรายอื่นทำ เป็นเทคนิคส่วนตัวด้วย

ดังนั้น หากเกษตรกรหรือผู้สนใจการเกษตรปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการค้าหรืออยากได้ต้นพันธุ์ ตลอดจนอยากศึกษาหาความรู้ สามารถไปศึกษาดูงานได้ที่ “ไร่สุขพอเพียง” โทร. (086) 220-6490 ทุกวัน ยินดีให้คำแนะนำฟรี

“ผักหวาน” ผักที่สามารถปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และถึงแม้จะใช้เวลาปลูกค่อนข้างนาน แต่เมื่อได้ผลผลิตแล้ว ก็นับว่าคุ้มค่ากับการรอคอยเลยทีเดียว

คุณณัฐติกาญจน์ เจริญทรัพย์ หรือ น้ำผึ้ง หญิงสาวหน้าคมวัย 28 ปี เด็กเทคนิค จบ ปวส.จากวิทยาลัยเทคโนโลยีละโว้ จังหวัดลพบุรี เธอคือทายาทสวนผักหวานป่าเจริญทรัพย์ ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจปลูกผักขาย ต่อจากคุณแม่ จนทำให้ตระกูลนี้ ขึ้นแท่นเศรษฐีชาวสวน

น้ำผึ้ง เล่าว่า คุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก หลังเรียนจบสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ราว พ.ศ. 2550 มาช่วยแม่ปลูกผักหวานและพืชผักชนิดอื่น อาทิ ชะอม ถั่วพลู ข้าวโพด บนพื้นที่ 40 ไร่ ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี แต่ทว่าตอนขาย “ผักหวาน” ได้ราคาดีที่สุด เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70 – 80 บาท ขณะที่ข้าวโพดขายได้เพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท หนที่สุดเลยเลือกปลูกแต่เฉพาะผักหวานเท่านั้น

คุณแม่ของน้ำผึ้ง ปลูกผักขายมานานกว่า 30 ปี กระทั่งได้ลูกสาวมาช่วยบริหาร ปัจจุบันเป็นทั้งเกษตรกรและแม่ค้าเต็มรูปแบบ กล่าวคือ ปลูกเอง ส่งขายเอง รับซื้อจากเกษตรรายอื่นมาขายต่อด้วยบวกกำไรกิโลกรัมละ 30 บาท

“ดิฉันปลูกผักหวาน บนพื้นที่ 40 ไร่ โดย 1 ไร่ จะปลูกผักหวานได้ประมาณ 600 – 800 ต้น ผลผลิตต่อไร่ ราว 100 กิโลกรัม เก็บเกี่ยวผลผลิต 3 วันต่อครั้ง ขายราคากิโลกรัมละ 80 – 100 บาท ถ้าเป็นฤดูหนาวราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 150 บาท ขายเองทั้งหมดไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ราว 3 แสนบาท”

ลำดับที่ 1.ผักหวานไม่ชอบแสงแดด ฉะนั้นต้องปลูกต้นไม้ที่เกิดร่มเงา เช่น ต้นมะขามเทศ ควรปลูกเว้นระยะห่างประมาณ 3 เมตร หรือถ้าไม่ปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงาก็เอาเข่งครอบได้ (จะนำเข่งออกต่อเมื่อผักหวานอายุเลย 1 ปีไปแล้ว)

2. ผักหวาน สามารถปลูกได้ทั้งใช้เมล็ด Royal Online V2 และกิ่งตอน ซึ่งการเพาะเมล็ด จะนานกว่ากิ่งตอน ราว 2 – 3 ปี กว่าจะเก็บผลผลิตได้ ขณะที่กิ่งตอนใช้เวลาเพียง 6 เดือน – 1 ปี ผักหวาน มี 2 สายพันธ์ คือ “พันธุ์ใบกลม” ก้านใหญ่ ใบกลมเขียว น้ำหนักดี และ “พันธุ์ใบรี” มีลักษณะสีออกเหลืองนิดๆ เป็นที่ต้องการของตลาด

3.เมื่อผักหวานเริ่มโต นำไม่ไผ่ขนาด 40 เซนติเมตร มาปักลงไปในดิน เพื่อทำการยึดไม่ให้ต้นขยับไปมา รดน้ำ 3 วัน 1 ครั้ง หลังจาก 6 เดือนไปแล้วให้น้ำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง พอเริ่มเข้าเดือนที่ 7 ใส่ปุ๋ยมูลวัว ไม่แนะนำให้ใส่ปุ๋ยมูลไก่ เพราะอาจทำให้ต้นเน่า

4 . ผักหวานที่ปลูกจากการเพาะเมล็ด จะเริ่มเก็บผลผลิตได้ เมื่ออายุ 2-3 ปี เมื่ออายุได้ 2 ปี ให้ตัดแต่งกิ่ง และรูดใบออก เพื่อไม่ให้ผักหวานป่ามีแต่ใบ และพื่อให้แตกยอดอ่อน

สำหรับระยะการเก็บเกี่ยวตามช่วงฤดูกาล คุณน้ำผึ้ง บอกว่า ช่วงฤดูหนาว ผักหวานจะราคาแพง กิโลกรัมละ 150 บาท หน้าร้อน กิโลกรัมละ 50 – 60 บาท ส่วนหน้าฝน กิโลกรัมละ 70 – 80 บาท