หลังจากนั้นราว 14 วัน ปุ๋ยทางน้ำจะเพิ่มปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูง

เพิ่มปุ๋ยสูตรนี้ลงไปในถังของ ปุ๋ย B ในปริมาณน้อย คือ 0.1% เท่านั้น เพื่อให้ต้นได้ค่อยๆ ได้รับไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้ต้นเมล่อนมีใบพอสมควร แล้วก็จะฉีดพ่นฮอร์โมน เช่น แคลเซียมโบรอน ปุ๋ยชีวภาพ ทุกๆ 4 วัน พอหลังผสมเกสรเสร็จติดเป็นผลอ่อน ก็จะผสมปุ๋ยที่มีสูตรตัวท้ายสูง เช่น นูแทค ซุปเปอร์-เค ชึ่งคุณสมบัติ นูแทค ซุปเปอร์-เค เป็นปุ๋ยทางใบคุณภาพสูง ประกอบด้วยไนโตรเจน 6% ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 12% โพแทสเซียมที่ละลายน้ำ 26% และโพแทสเซียมที่ละลายในกรดอ่อน 7% เสริมด้วยธาตุสังกะสีในปริมาณสูง 12% ด้วยอนุภาคที่เล็กละเอียด ขนาด 1-5 ไมครอน ช่วยให้เกาะติดใบพืชได้ดี ลดปัญหาการชะล้างจากฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืชได้นาน 10-14 วัน

ช่วยให้พืชสะสมแป้งและน้ำตาลได้ดีขึ้น จึงช่วยเพิ่มการออกดอกและติดผล ลดปัญหาการหลุดร่วงและการพ่นในระยะก่อนเก็บเกี่ยวช่วยเพิ่มความหวาน และคุณภาพผลผลิต เพิ่มเข้าไปจนกว่าเก็บเกี่ยว ปุ๋ยที่มีสูตรตัวท้ายสูง จะทำให้ผลเมล่อนมีการขยายขนาดผล เพิ่มความหวานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้ปุ๋ยสูตรนี้สามารถทำความหวานให้กับเมล่อนที่เคยเก็บเกี่ยวได้ราว 15-18 บริกซ์ ทีเดียว

อีกอย่างก็ต้องมีการผสมสารป้องกันกำจัดเชื้อราเข้าไปตามความเหมาะสมหรืออย่างสม่ำเสมอ ซึ่งที่ใช้อยู่คือ สารที่มีชื่อสามัญ ไตรโฟรีน (Triforine) 19% EC คุณสมบัติ เป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดดูดซึม ที่สามารถดูดซึมเข้าได้ทั้งทางรากและทางใบ อีกทั้งสามารถเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภายในเนื้อเยื่อของใบพืชได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงทั้งการกำจัดเชื้อรา รักษาพืชที่เป็นโรค และป้องกันการเข้าทำลายของโรคพืช องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ “ซาพรอล” (ชื่อการค้า) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบอันตรายแบบเฉียบพลันในการใช้ตามปกติ ซึ่งเป็นระดับของสารที่มีความเป็นพิษต่ำที่สุด

ส่วนองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้เป็นระดับของสารที่มีความเป็นพิษต่ำที่สุดเช่นกัน ซาพรอลปลอดภัยต่อปลา ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง แมลงที่เป็นประโยชน์ และไรตัวห้ำ ซาพรอลสามารถสลายตัวได้เร็วในดิน ซาพรอลจึงเป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่สามารถนำมาใช้ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน (IPM) หรือใช้ในการผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษได้ดี ควบคุมโรคราน้ำค้าง ราแป้ง โคนเน่าได้ดี

การปลูกเมล่อนในโรงเรือนนั้น เรื่องของแมลงศัตรูจะค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีตาข่ายในการป้องกันระดับหนึ่งที่ค่อนข้างดี แต่เรื่องของโรค “เชื้อรา” เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าดูแลและระวังให้มาก ซึ่งใครจะสามารถควบคุมได้ดีกว่ากัน เพราะโรคเชื้อรานั้นสามารถทำให้ต้นเมล่อนตายได้ทุกระยะและรวดเร็วทีเดียว แต่เกษตรกรต้องหมั่นสังเกตและเข้าใจว่า ฟาร์มหรือไร่เมล่อนแต่ละพื้นที่ สภาพดินฟ้าอากาศไม่เหมือนกัน นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไม เวลาเราเจอโรคหรือแมลงศัตรูพืช แล้วเราดูแลฉีดพ่นรักษาไม่หาย ทั้งๆ ที่มีการใช้สารป้องกันกำจัดหรือใช้วิธีการกำจัดเหมือนๆ กับที่อื่น หรือแม้แต่ปริมาณน้ำที่ให้ต้นเมล่อนในแต่ละสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ก็จะต้องแตกต่างกันไป แต่หลักการปลูกและดูแลก็จะเหมือนกัน ที่เหลือก็ต้องประยุกต์ใช้เอาเอง เป็นต้น

การไว้ผลของที่สวน จะปล่อยแขนงไว้ผลเร็ว

ปกติที่อื่นจะปล่อยไว้ผลเมล่อนให้ติดผลในช่วง ข้อที่ 8-12 แต่ของคุณอุเชนทร์จะปล่อยให้ติดผลเร็วกว่านั้น คือปล่อยให้ติดผลช่วง ข้อที่ 6-10 ฉะนั้น แขนงที่ 1-5 ก็จะต้องเด็ดทิ้งไป

การเด็ดแขนงควรทำในขณะที่แขนงยังมีขนาดเล็ก และทำในตอนเช้าจะทำให้แผลแห้งเร็ว แล้วให้ฉีดพ่นสารกันเชื้อราในตอนเย็น เมื่อเด็ดออกจะทำให้ยอดแตงเจริญเติบโตได้เร็ว แขนงที่เกิดจาก ใบที่ 6-10 ให้ปล่อยไว้ ไม่นานแขนงดังกล่าวก็จะมีดอกตัวเมีย เมล่อนเป็นพืชตระกูลแตง ที่มีดอกไม่สมบูรณ์เพศ ซึ่งไม่สามารถผสมในดอกตัวเองได้ ควรช่วยในการผสมเกสร

เมล่อนนั้นจะมีดอกตัวผู้ ส่วนใหญ่ออกตามข้อของลำต้น ดอกตัวเมียจะมีรังไข่ใต้กลีบดอก ส่วนใหญ่ออกมาตามกิ่งแขนงที่ข้อแรก ซึ่งดอกตัวเมียจะบานช่วงเวลาครึ่งวันเช้า คือ 07.00-10.00 น. (การผสมเกสรในบางพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศ เช่น ช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน อาจจะเริ่มผสมเกสรในช่วงเวลา 07.00-10.30 น. ในช่วงฤดูหนาว ดอกเมล่อนอาจบานช้า ก็จะผสมได้ในช่วงเวลา 08.00-13.00 น. หลังจากเวลาที่กล่าวมา น้ำหวานของเกสรตัวเมียแห้ง การปฏิสนธิมักไม่สมบูรณ์นั้นเกษตรกรต้องสังเกต)

เมื่อสังเกตว่าตามแขนงที่ปล่อยไว้ดอกตัวเมียเริ่มบาน เราต้องเข้าไปช่วยผสมเกสรทุกๆ วัน ในช่วงเวลาเช้า เนื่องจากดอกตัวเมียในแต่ละแขนงจะบานไม่พร้อมกัน ดอกตัวเมียก็จะบานแค่วันเดียวเท่านั้น ถ้าผสมไม่ทันก็จะเหี่ยวแห้งร่วงหล่นจากต้นไป การผสมนั้นให้นำละอองเรณูตัวผู้ ป้ายที่เกสรตัวเมีย ซึ่งจะมีน้ำหวาน เพื่อให้ละอองเรณูติดได้ง่าย

วิธีป้าย ตามความถนัดของแต่ละท่าน ใช้พู่กันหรือจะใช้ดอกต่อดอก การผสมเกสรนั้นให้เด็ดดอกตัวผู้ที่บานอยู่ตามลำต้นหรือเถาเมล่อน (ลักษณะดอกตัวผู้จะมีแต่กลีบดอก ก้านดอกยาวๆ มีเยอะกว่าดอกตัวเมีย ส่วนดอกตัวเมีย ก้านดอกจะสั้นและจะมีลูกเล็กๆ ที่โคนดอก จะเกิดจากกิ่งแขนง) โดยปกติแล้วในต้นเดียวกันดอกตัวผู้และตัวเมียจะบานไม่ค่อยพร้อมกัน ผลัดกันบาน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผสมเกสรในต้นเดียวกัน ผู้ผสมก็เลือกดอกตัวผู้ที่บานจากต้นอื่นมา เด็ดดอกตัวผู้มาแล้วเด็ดกลีบดอกทิ้งไป ใช้พู่กันเขี่ยเอาละอองเกสรจากดอกตัวผู้สีเหลืองๆ นำไปแต้มที่ยอด แล้วจะตัดปลายยอดของแขนงทิ้งไป 1ข้อ เพื่อทำสัญลักษณ์ว่าได้ผสมเกสรไปแล้วทันทีหลังการผสมเกสรเสร็จ หรือตัดปลายยอดให้เหลือใบของแขนงที่ติดลูก ให้เหลือแขนงละ 2 ใบ

อีกจุดประสงค์ของการตัดยอดแขนงนั้นก็เพื่อลดการแยกอาหารจากผลเมล่อน เมื่อผลมีขนาดเท่าไข่ไก่จะคัดเลือกให้เหลือ ต้นละ 1 ลูก แล้วก็แขวนผลที่เลือก เพราะผลเมล่อนมีขนาดใหญ่ ลำต้นอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โดยใช้เชือกฟาง ผูกไปที่ขั้วผลหลวมๆ อย่าให้ขั้วช้ำ แขวนกับคานที่รับน้ำหนักของลำต้นเหมือนกัน เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย

และถ้ามีเวลาอย่าลืมเด็ดดอกของเมล่อนที่เกิดมาทีหลังทิ้งด้วย เพื่อผลเมล่อนที่มีอยู่จะได้อาหารเต็มที่ หลังจากการผสมเกสรแล้ว ประมาณ 3-5 วัน การไว้ผล เมื่อเริ่มติดเป็นผลอ่อนขนาดเท่าไข่ไก่ขึ้นไป ให้คัดเลือกผลที่สมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยวไว้เพียง 2-3 ผล ใน ข้อที่ 6-10 และขั้วของผลขนาดใหญ่ที่สุด เด็ดแขนงรอบสุดท้ายพร้อมกับคัดเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียง 1 ลูก คัดเลือกผลที่มีทรงยาวรีหรือกลม (ทรงผลอ่อนอาจจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์) ส่วนแขนงอื่นให้ตัดทิ้ง จะเหลือไว้ต้นละแขนงหรือต้นละ 1 ลูกเท่านั้น

หลังจากนั้น ให้มัดเเขวนผลอ่อนเมล่อนด้วยเชือกฟางได้เลย การแขวนผลก็ควรมัดแขวนให้ผลตั้งฉากกับพื้นเพื่อความสวยงาม แล้วใบที่สมดุลต่อการเลี้ยงผลต่อ 1 ผล คือประมาณ 20-25 ใบ (ในฤดูร้อน) ส่วนในฤดูฝน ฤดูหนาว ควรไว้ใบ 25-30 ใบ เหตุผลแสงแดดจะน้อยกว่าฤดูร้อน เมื่อใบมีมากพอตามความต้องการก็ให้ตัดปลายยอดของต้นเมล่อนทิ้งไป เพื่อหยุดการเจริญเติบโตส่วนบน และใบด้านล่างควรตัดออกประมาณ 4-5 ใบ หรือตัดมาจนถึงข้อที่ไว้ผลก็ได้ เพื่อความโปร่งและไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค แมลงต่างๆ ซึ่งการตัดใบล่างควรยึดกับสถานการณ์แวดล้อมและอายุของผลเมล่อนนั้นก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตของเกษตรกรเองประกอบการตัดสินใจ

การเก็บเกี่ยวเมล่อน ส่วนใหญ่จะนับอายุของผลเป็นหลัก

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของเมล่อนที่ปลูก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ ประมาณ 35-50 วัน หลังวันดอกบาน หรือวันที่ผสมเกสร เมล่อนบางชนิดจะมีลักษณะพิเศษเห็นชัดเจนเมื่อผลสุกพร้อมเก็บ คือมีรอยแตกที่ขั้วผล ประมาณ 50% บางชนิดจะมีกลิ่นหอมออกมาจากผล เมล่อนที่มีคุณภาพ จะต้องมีความหวานอย่างน้อย 14 บริกซ์ ขึ้นไป ความหวานไม่ควรต่ำกว่า 12 บริกซ์

ก่อนการเก็บเกี่ยวเมล่อน ประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เราเริ่มลดปริมาณการให้น้ำต้นเมล่อนลง การทำเช่นนี้เพื่อเร่งให้เมล่อนเร่งกระบวนการเปลี่ยนแป้งที่สะสมในผลให้เป็นน้ำตาล เพื่อเป็นการเพิ่มความหวานของผลให้มากขึ้น นอกจากนับอายุและเช็กความหวานแล้ว ส่วนหนึ่งก็ใช้วิธีสังเกต ประกอบการตัดสินใจตัดผลเมล่อนออกจากต้นก่อนหรือหลัง เช่น บริเวณรอยต่อของขั้วกับผลจะพบรอยแตกสีน้ำตาลอ่อน ร่างแหหรือตาข่ายที่ผิวมีรอยนูนแข็งและใหญ่อย่างเห็นได้ชัดมากกว่าระยะอ่อนเมื่อดมที่ผลจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของแคนตาลูป เป็นต้น

ต้นทุนและกำไร ในการปลูกเมล่อน ต่อ 1 รุ่น

คุณอุเชนทร์ ยกตัวอย่างว่า เมล่อน 1 โรงเรือน ขนาด 6×6 เมตร สามารถปลูกเมล่อนได้ประมาณ 200 ต้น หรือประมาณ 200 ผล ขนาดผล 1.5-2 กิโลกรัม เสียหายบ้างเล็กน้อยสัก10-20% ขายได้เงินประมาณ 30,000-40,000 บาท ซึ่งอนาคตก็จะพัฒนาเรื่องของขนาดผล และใช้สายพันธุ์เมล่อนที่เหมาะสมกับช่วงฤดูกาลเพื่อให้ความเสียหายน้อยลง ซึ่งเชื่อว่ารายได้ต่อการปลูกเมล่อน 1 รุ่น น่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่านี้แน่นอน โรงเรือน 1 หลัง สามารถปลูกได้ 4 รอบ ซึ่งจะเน้นการจำหน่ายในพื้นที่และส่งขายให้คนรู้จักที่กรุงเทพฯ ซึ่งขายได้ในราคาที่สูง กิโลกรัมละ 150 บาท

แต่ในอนาคตก็จะเน้นการจำหน่ายในพื้นที่มากขึ้น อาจจะปรับราคาให้ลดลงมา ทำให้ลูกค้าในพื้นที่สามารถซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก เฉลี่ยต้นทุนการผลิตเมล่อน ตอนนี้ประมาณ 15,000 บาท ซึ่งจะมีค่าปุ๋ย A, B ชุดละ 2,000 บาท (ปุ๋ย A, B ขนาดบรรจุถุง 5 กิโลกรัม) ซึ่งต่อรุ่นจะใช้ ปุ๋ย A, B ทั้งหมด 4 ชุด ก็เป็นเงิน 8,000 บาท มีค่าเมล็ดพันธุ์เมล่อน ค่าปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน อาหารเสริม สารป้องกันกำจัดเชื้อรา

เมล่อนยังน่าปลูก คนอาจคิดว่าเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนสูง แต่จริงๆ แล้ว ลงทุนสูงแค่ครั้งแรกในการทำโรงเรือนและอุปกรณ์ระบบน้ำ หลังจากนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการ ภายใน 1-2 ปี ก็จะสามารถคืนทุนในเรื่องของโรงเรือนและระบบน้ำได้ไม่ยากเท่าไรนัก เป็นพืชที่น่าสนใจเนื่องจากได้รับความนิยมในการบริโภค นิยมซื้อเป็นของขวัญของฝาก ยิ่งลูกค้ามาซื้อที่สวนตัดผลสดๆ ก็จะเพิ่มความมั่นใจในเรื่องของความสด เน้นขายในพื้นที่และมีบริการจัดส่งทางขนส่งเอกชนหรือส่งไปรษณีย์ โดยผู้ซื้อยินดีรับผิดชอบค่าขนส่ง ซึ่งตอนนี้พบว่าผลผลิตยังไม่สามารถตอบรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ ตอนนี้ก็เร่งเพิ่มจำนวนโรงเรือนเพื่อให้กำลังการผลิตเมล่อนมีอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ยกระดับมาตรฐาน คุมเข้มคุณภาพ “ทุเรียนแช่เยือกแข็ง” เพื่อการส่งออก ทุเรียนแช่เยือกแข็งเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งถึง 20,430 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,172.75 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ จีน และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ขณะที่การส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประเทศผู้นำเข้าก็ได้แจ้งเตือนปัญหาเนื้อทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทุเรียนอ่อนและพบสิ่งแปลกปลอมรวมถึงจุลินทรีย์ก่อโรคเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงทุเรียนไทยโดยรวม จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560) และประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็งของไทยแก่ประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง เป็นมาตรฐานทั่วไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งผลักดันมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับของประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง/แช่เย็นจนแข็ง รวมถึงผู้ส่งออก/ผู้ค้า หรือ เทรดเดอร์ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการผลิตสินค้าทุเรียนแช่เยือกแข็งที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้า

มาตรฐานฯ นี้กำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง ในรูปทุเรียนทั้งผล เนื้อทุเรียนมีเมล็ด และเนื้อทุเรียนไม่มีเมล็ด มีสาระสำคัญครอบคลุมตั้งแต่การรับวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การเก็บรักษา และการขนส่ง ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติ : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร อาทิ สถานประกอบการต้องทำให้มั่นใจว่ามีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน เช่น การควบคุมอุณหภูมิ การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ การทำความสะอาด และสุขลักษณะส่วนบุคคล เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีข้อกำหนดในการควบคุมเชื้อโรคและสารเคมีที่อาจปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์และระบบควบคุมสุขลักษณะ เช่น การรับวัตถุดิบทุเรียนที่มีคุณภาพและปลอดภัย การควบคุมกระบวนการแช่เยือกแข็ง เก็บรักษาและขนส่ง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีอุณหภูมิที่ -18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า รวมถึงการจัดการและการกำกับดูแลเฝ้าระวังอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ด้วย

เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้ประกาศเป็นมาตรฐานบังคับโดยเร็วตามนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถประกาศใช้มาตรฐานบังคับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งภายในเดือนพฤษภาคม 2560อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับมาตรฐานดังกล่าว โดยผู้ผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อส่งออก ต้องมาขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตและมีใบอนุญาตในครอบครองก่อนวันที่มาตรฐานมีผลบังคับใช้ ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 3 ปี นับแต่วันที่ออก ทั้งนี้ ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานทุกข้อ ทั้งยังต้องขอรับการรับรองและได้ใบรับรองตามมาตรฐานบังคับจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานด้วย

ส่วนผู้ส่งออก/เทรดเดอร์ต้องมาขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ส่งออก และต้องศึกษาเนื้อหาของมาตรฐานและแจ้งผู้ผลิตทราบเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรฐาน และให้ผู้ผลิตปฏิบัติตามมาตรฐานและขอการรับรองด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานหรือหน่วยรับรองที่ประสงค์จะเป็นผู้ตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานบังคับ ต้องมาขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานจาก มกอช. โดยใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี ภายหลังมาตรฐานมีผลบังคับใช้ หากไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก/เทรดเดอร์ และไม่มีใบรับรองตามมาตรฐานบังคับนี้ จะไม่สามารถส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งไปต่างประเทศได้

การปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้สินค้าทุเรียนไทยในตลาดโลก รักษาชื่อเสียงและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และทำให้สินค้ามีศักยภาพการในการส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับดังกล่าวด้วย

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง สามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มมาตรฐานพืชและผลิตภัณฑ์ สำนักกำหนดมาตรฐาน โทร 02–561–2277 ต่อ 1411-1412 โทรสาร 02-561-3357, 02-561-3373 หรือต้องการขอขึ้นทะเบียนตามระบบคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก และการแจ้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (TAS License) สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มงานอนุญาตและขึ้นทะเบียน กองควบคุมมาตรฐาน

เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่อีกคนที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล และถือว่าประสบความสำเร็จในอาชีพเพียงระยะเวลาไม่กี่ปี คุณกิตตินันท์ นุ้ยเด็น บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งตั้งแต่เรียนจบมาเมื่อปี 2549 ยึดอาชีพเกษตรกรรมมาโดยตลอด เริ่มเมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีแปลงเกษตรทั้งหมด 60 ไร่ ปลูกพืชหลายชนิด แต่ที่ทำเป็นหลักคือ มะละกอฮอลแลนด์ มะละกอแขกดำ กล้วยไข่ และกล้วยหอมทอง

หนุ่มวัย 35 ปี รายนี้ เป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเป็นเจ้าของไร่ “อ.การเกษตร.” อยู่ที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนยางพาราที่มีอายุกว่า 30 ปี มาปลูกปาล์มน้ำมัน และพืชผักผลไม้แทน เพราะมองว่าทำเงินได้ดีกว่า อีกส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุราคายางตกต่ำ

มีรายได้ทุกวัน

วันนี้เขามีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 30,000-50,000 บาท โดยไม่ต้องไปเป็นมนุษย์เงินเดือน มีความสุขอยู่กับเรือกสวน ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ และใช้เวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตและแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งสอบถามผู้รู้

คุณกิตตินันท์ เล่าว่า ในพื้นที่ 60 ไร่ แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงแรกอยู่ที่บ้านค่ายรวมมิตร ตำบลท่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล มีเนื้อที่ 44 ไร่ ซึ่งเป็นแปลงหลัก โดยแบ่งปลูกพืชหลายชนิด อาทิ ปาล์มน้ำมัน 200 ต้น มะละกอ 400 ต้น กล้วยไข่ 2,000 ต้น กล้วยหอมทองอีก 200 ต้น มะนาว ตะไคร้ ข่า พืชผักสวนครัว
ส่วนแปลงที่ 2 อยู่ที่บ้านค่ายรวมมิตรเช่นกัน มีเนื้อที่ 20 ไร่ แปลงนี้มีพืชหลายชนิดผสมผสาน เช่น ปาล์มน้ำมัน 100 ต้น มะละกอฮอลแลนด์ 200 ต้น กล้วยไข่ มังคุด ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม และอื่นๆ โดยมะละกอให้ผลผลิตไปแล้ว 3 รุ่น ส่วนกล้วย กำลังเริ่มให้ผลผลิต แต่ยังไม่เต็มที่ คาดว่าอีก 3-4 เดือน จะให้ผลผลิตเต็มที่

สาเหตุที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะทางคุณกิตตินันท์มองว่า ยังคงเป็นพืชที่มีอนาคตในด้านราคา อีกทั้งมีโรงงานรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ โดยตั้งใจให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชหลักของสวน ส่วนช่วงแรกที่ปาล์มน้ำมันยังไม่ให้ผลผลิตก็ปลูกมะละกอฮอลแลนด์และกล้วยหอมทองแซมลงไปก่อน เพื่อใช้พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ อีกทั้งการปลูกพืชหลากหลายชนิดทั้งไม้ผลและพืชผักสวนครัว ทำให้ทางไร่มีรายได้ทุกวัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม จึงเลือกปลูกมะละกอและกล้วย เจ้าตัวให้เหตุผลว่า เนื่องจากให้ผลผลิตเร็ว ราคาไม่ผันผวนมากเกินไป บริโภคได้ทุกเพศทุกวัย เป็นอาหารสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นพืชที่ดูแลง่าย และสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งการปลูกกล้วยให้ได้คุณภาพ ทางสวนยึดหลักการการทำเกษตร 4 ดี คือ ดินดี ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต ดังนั้น ต้องทราบว่าดินต้องการอะไร ขาดอะไร ควรเติมอะไร

น้ำดี เมื่อมีดินที่ดีแล้ว น้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ และในส่วนพันธุ์ดี ทางสวนมีการคัดเลือกพันธุ์ ที่มีคุณภาพ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ อย่างเช่น ซื้อพันธุ์กล้วยไข่จากจังหวัดกำแพงเพชร รวมถึงการจัดการที่ดี มีการจัดแปลงปลูกให้เหมาะสม มีตารางการปฏิบัติงาน

ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีน้ำตลอดแม้ในช่วงหน้าแล้ง ทางไร่จึงได้ขุดสระน้ำขนาดย่อมและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเดินท่อวางระบบไว้เต็มพื้นที่ 44 ไร่

ที่ผ่านมาเขาลงทุนในการปลูกมะละกอไปประมาณ 80,000 บาท ตอนนี้สามารถเก็บผลได้คืนทุนหมดแล้ว ส่วนกล้วยลงทุนไป ประมาณ 100,000 บาท ต้องรอสักพักเนื่องจากผลผลิตเพิ่งเริ่มออกใหม่ๆ

ส่งขาย สตูล-มาเลเซีย

คุณกิตตินันท์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกกล้วยกับมะละกอว่า เน้นการให้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยเคมีบ้างในขั้นตอนเร่งดอกและผล ไม่ใช้สารเคมีหากไม่มีความจำเป็น ในส่วนของมะละกอ มีปัญหามากกว่าการปลูกกล้วย เนื่องจากมะละกอ อ่อนไหวง่ายกับสภาพภูมิอากาศ ต้องการน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ชอบแฉะ ต้องการแสงมาก จึงต้องระวังมากในช่วงฤดูฝน เพราะจะมีเชื้อรา ไวรัส รากเน่าหากฝนตกมากๆ ฝนมาต้องป้องกัน ฝนหยุดก็ต้องป้องกันเช่นกัน

หากในระยะแรกโรคระบาดไม่หนัก กำจัดโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา และเชื้อราบิวเวอเรีย แต่ถ้าเป็นหนักมากจำเป็นต้องใช้สารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับการปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้น ช่วงแรกของการปลูก ทางสวนใช้สูตรบำรุง ใช้ปุ๋ย 15-5-20 ใช้ 15 วัน ต่อครั้ง สลับกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มูลสัตว์ 2 เดือนครั้ง เป็นพวกขี้ไก่ผสมกับแกลบ พอหลังจากต้นติดดอกติดลูก แล้วก็ฉีดพ่นและให้สารอาหารพวกแคลเซียม โบรอน

ส่วนการปลูกกล้วยไข่นั้น ซื้อพันธุ์มาจากจังหวัดกำแพงเพชร ช่วงเริ่มแรกบำรุงด้วยสูตร 15-15-15 สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ พอช่วง 1-6 เดือน หลังจากกล้วยออกปลี ใช้สูตร 15-5-20 สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการใช้ปุ๋ยจำนวนน้อยแต่บ่อยครั้ง จะทำให้ได้กล้วยลูกใหญ่มีคุณภาพ ขายได้กิโลกรัมละ 15-20 บาท ซึ่งกล้วยไข่ปลูกง่าย ใช้ระยะเวลาออกลูกและเก็บเกี่ยวเร็วกว่ากล้วยอื่น พอออกปลีได้ 45 วัน หลังจากนั้นก็สามารถตัดเครือได้แล้ว ขณะที่กล้วยหอมเมื่อออกปลีต้องใช้เวลา60-80 วัน ถึงจะตัดเครือได้

กิตตินันท์ อธิบายว่า ในการปลูกกล้วยหอมก็ต้องบำรุงในลักษณะเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการตัดแต่งใบและหน่อด้วย โดยต้องแต่งใบก่อนจะใส่ปุ๋ย หมายถึง ตัดใบที่เป็นโรคออก เช่น ใบเหลืองเป็นจุด ให้เหลือ 7 ใบ ส่วนหน่อให้ปาดเหลือหน่อเดียว เลือกเฉพาะหน่อสมบูรณ์ไว้หน่อเดียว พอหลังจากกล้วยแก่แล้วปล่อยให้เหลืออีกหน่อ รวมเป็น 2 หน่อ

เกษตรกรหนุ่มรายนี้ระบุว่า กล้วยให้ผลผลิตเร็ว เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 30-100 กิโลกรัม ปลูกและดูแลง่าย ขณะที่มะละกอฮอลแลนด์ราคาดี กิโลกรัมละ 20-30 บาท เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม โดยออกมาแล้ว 3 รุ่น ช่วงแรกมะละกอออกเยอะมาก สร้างรายได้ต่อวัน ประมาณ 1,500 บาท แต่ตอนนี้ผลผลิตเริ่มน้อยลงแล้ว

เขาระบุถึงหลักสำคัญในการทำการเกษตรว่า ขึ้นอยู่กับดิน น้ำ และการบริหารจัดการ หากดินดีจะปลูกอะไรก็งอกงาม และน้ำไม่ขาดก็จะยิ่งดี นอกจากนี้ ต้องรู้จักเรียนรู้การบริหารจัดการไร่และพืชสวนทางการเกษตรของตนเองในการปลูกพืชผักแบบสวนผสม โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และต้องดูแลให้ดี เช่น ต้องมีการกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยตามปฏิทิน มีการจดบันทึก รวมถึงการตัดแต่งหน่อแต่งใบอย่างสม่ำเสมอ

เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้

“ไร่เรามีจุดเด่นหลายอย่าง ประการแรกทางสวนมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพผลผลิตเป็นหลัก และปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและผู้บริโภค อีกอย่าง ไร่อยู่ติดถนนใหญ่ สตูล-หาดใหญ่ เห็นชัดเจนเมื่อนั่งรถผ่าน การขนส่งสะดวก เรื่องการตลาดก็ไม่มีปัญหา สามารถระบายผลผลิตได้ตลอดเวลา ราคาไม่ผันผวนมากนัก ว่าไปแล้วผลผลิตของสวนก็ยังไม่พอส่งตลาด ตอนนี้ส่งขายในตลาดพื้นที่จังหวัดสตูลและตลาดในชายแดนเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ผมมองว่าแนวโน้มการจำหน่ายจะดีขึ้นเรื่อยๆ”

คุณกิตตินันท์ ยังบอกด้วยว่า แผนการดำเนินงานของสวน จะขยายพื้นที่ โดยจะปลูกพืชผลไม้ให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้กำลังทดลองปลูกเสาวรส และจะทำเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรผู้สนใจต่อไป

ในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่ เขามองว่าปัญหาการทำการเกษตรในบ้านเรา โดยเฉพาะภาคใต้นั้นมีหลายอย่าง อาทิ ขาดปัจจัยการลงทุน ขาดความรู้ทางวิชาการ ต้องศึกษาพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภูมิอากาศในภาคใต้ ซึ่งบางช่วงฝนมากเกินไป พอหน้าแล้งก็ขาดน้ำ

ปัจจุบัน ไร่ อ.การเกษตร. ใช่จะปลูกพืชผักผลไม้ที่มีคุณภาพปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้คนได้มาศึกษาวิธีการทำเกษตรแบบมืออาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย โดยสวนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจาก อาจารย์อาดินัน นุ้ยเด็น วัย 64 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งมะปรัง จังหวัดสตูล ผู้เป็นคุณพ่อของคุณกิตตินันท์ ซึ่งนอกจากจะมีคุณกิตตินันท์ดูแลไร่ดังกล่าวแล้ว ยังมีหลานๆ อาจารย์อาดินันอีก 3 คน มาช่วยด้วย ทั้ง คุณอดิสร ปะดุกา คุณอภิชาติ หวันตาหา และ คุณอิสมาแอล หวันตาหา

อาจารย์อาดินัน กล่าวว่า GClub เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ เมื่อยางพาราหมดอายุ ต้องตัดสินใจให้ได้ว่าควรเปลี่ยนเป็นพืชอะไร ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพดิน และการบริหารจัดการ รวมถึงการนำผลผลิตขายออกสู่ตลาด ต้องหาตลาดรองรับให้ได้ วันนี้ความสำเร็จของ ไร่ อ.การเกษตร. นับเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบที่ทำให้เกษตรกรหน้าใหม่เดินหน้าในอาชีพเกษตรกรรมอย่างภาคภูมิใจ พร้อมมุ่งหวังที่จะสร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างมีความสุข

“ไร่หุบผึ้ง” เป็นสวนมะม่วงที่เน้นผลิตมะม่วงเพื่อทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ฟ้าลั่น และโชคอนันต์ ด้วยเหตุผลที่ต้องการเพิ่มมูลค่า พร้อมกับการบริหารจัดการในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้สวนแห่งนี้ผลิตมะม่วงได้อย่างมีคุณภาพ ชนิดเกรดส่งนอกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วยังสามารถผลิตขายได้ตลอดทั้งปี

ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ลงพื้นที่เข้าไปดูการปลูกมะม่วงในไร่หุบผึ้ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สวนแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 4,000 ไร่ จำนวนต้นมะม่วงที่ปลูกทั้งหมด ประมาณ 300,000 ต้น จัดระบบการปลูกมะม่วงเป็นโซน แต่ละโซนกำหนดพันธุ์มะม่วงไว้อย่างชัดเจน มีการดูแลจัดการภายในสวนอย่างมีระเบียบ จึงถือได้ว่าไร่หุบผึ้งเป็นสวนมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์