หลังจากศึกษาจากหลายๆ ผู้รู้ ทั้งเรื่องการทำปุ๋ย ทำน้ำหมักจาก

อาจารย์ธงชนะ และติดตามทางเฟซบุ๊กกับสวนฝรั่งหลายๆ ราย จนวันหนึ่งมาอ่านเจอเรื่องราวของ โจสวนฝรั่งโสด (สวนณัฐภัทร – เคยลงในเทคโนโลยีชาวบ้านแล้ว)

และ สวนกัญญาภัทร ซึ่งทั้งสองสวนก็ให้คำแนะนำที่ดี สร้างพลังใจให้กล้าลุยอีกครั้ง คราวนี้เล่นใหญ่กว่าที่คิด จัดฝรั่งลงปลูกอีกหลายสายพันธุ์ ทั้ง ฉางหงซิน แตงโม ชมพูพันธ์ทิพย์ เฟิ่นหงมี่ สุ่ยมี่ เจินจู ทดลองปลูก ดูแลตามคำแนะนำของสองที่ปรึกษาจนเริ่มติดผล เมื่อได้ชิมก็ชอบใจ โดยเฉพาะน้องก้อย (ภรรยา) บอกว่าชอบมาก แบบนี้ต้องขยายปลูกเพื่อการค้าอย่างจริงจัง

“ตอนนั้นคิดว่ายังไงครับ”

“ดีใจครับพี่ คิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เราชอบ แฟนชอบ คนอื่นก็ต้องชอบเหมือนเรา คราวนี้คิดการใหญ่เลย”

“คิดยังไงครับ”

“พื้นที่ผมแถบทางนครฯ ยังไม่เห็นมีสวนฝรั่งไส้แดงสายพันธุ์ไต้หวันมาปลูกเลย เราน่าจะปลูกอย่างจริงจัง” ประกอบกับในช่วงนั้นสวนจ่ามด ทดลองจำหน่ายผลฝรั่งไต้หวันไส้แดงสายพันธุ์หงเป่าสือ เชนก็ต้องขอทดลองด้วยโดยสั่งมาชิมจำนวน 4 กิโลกรัม แจกญาติพี่น้องชิมร่วมกัน และต่างลงความเห็นว่าอร่อย ตามคาดครับ จัดเต็มอีกครั้ง สั่งกิ่งตอนจากสวนจ่ามดมาลง คราวนี้เน้นหงเป่าสือเป็นหลัก เพราะทุกเสียงลงความเห็นแล้วว่าอร่อย จากฝรั่งหลายๆ สายพันธุ์ จำนวน 200 กว่าต้น ก็เป็นหงเป่าสือไป 100 ต้นไปแล้ว และมีกำหนดจะปลูกเพิ่มให้เต็มพื้นที่

“งานนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จเกินคาดนะ”

“สุดยอดเลยพี่ ตอนนี้ที่สวนเราก็เริ่มได้ผลผลิตแล้ว ผมให้ใครชิมก็บอกเหมือนๆ กันว่าอร่อยมาก”

“ถามสักนิด ทางใต้จะมีปัญหาเรื่องฝนตกชุกมากกว่าพื้นที่อื่น เราปลูกฝรั่ง รสชาติที่ได้เพี้ยนไปมากไหม”

“เรื่องฝนเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ครับพี่ ที่สวนจะเน้นทำปุ๋ยเอง ทำน้ำหมักเอง ผมทดลองชิมแล้วก็ไม่ต่างจากรสชาติที่เคยชิมนะครับ เรียกว่าตอนนี้ที่สวนผมเดินหน้าด้วยหงเป่าสือเป็นหลักกันเลย แต่สายพันธุ์อื่นๆ ก็มีอยู่เช่นกันครับ”

“มีขยายพันธุ์ไว้บ้างไหม”

“ทำกิ่งขายด้วยส่วนหนึ่งครับพี่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังปลูกลงในสวนให้เต็มก่อน เราชิมแล้วชอบก็ปลูกให้เยอะๆ”

“อยากแนะนำมือใหม่อย่างไรไหมครับ”

“ใจชอบมาก่อนเลยพี่ จากนั้นก็ศึกษาหาความรู้ ปรึกษาผู้รู้ และหาสายพันธุ์ดีมาปลูก รับรองว่าจะไม่เจ็บเหมือนผม”

“ถามอีกครั้งตอนแรกที่เราคุยกัน อยากรวยหรืออยากมีเมียสองคนครับ”

ผมสังเกตเห็นเชนปรายตาไปมองคนที่นั่งข้างๆ พร้อมยิ้มเขินๆ

“ก้อยคนเดียวก็พอแล้วพี่ หากเลือกได้ก็อยากมีคนมาช่วยทำสวนฝรั่งมากกว่าครับ” ผมขอตัวเดินปลีกออกมาหลังจากพูดคุยกันเสร็จ เหตุการณ์ต่อจากนั้นให้เชนเป็นคนแก้ปัญหาเอาเอง ก็บอกแล้วไง ผมแค่คนจุดพลุ 555 สำหรับท่านที่สนใจอยากสอบถามหรืออยากเรียนรู้ ตอนนี้ที่สวนก็เปิดให้บริการแล้วครับ มีผลให้ชิม มีกิ่งจำหน่ายในราคาพิเศษสุด ที่สำคัญ ที่ร้านก็ยังเปิดจำหน่ายไม้แปรรูปและอุปกรณ์ก่อสร้างอยู่เช่นเดิมครับ

ได้กล่าวไว้แล้วว่า น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสวนมะพร้าว มะพร้าวควรจะได้น้ำ 600 ลิตร/สัปดาห์ หรือ 90 ลิตร/วัน มะพร้าวไม่ควรรอน้ำจากฝนอย่างเดียว ควรมีการให้น้ำบ้าง เมื่อให้น้ำแล้วควรหาวัสดุ เช่น เปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าว หรือใบมะพร้าว ที่อยู่ในสวนมาคลุมโคนต้น เพื่อป้องกันความชื้นในดินไม่ให้ระเหยออกมา

การคลุมโคนต้น ควรจะคลุมเพียงชั้นเดียว ไม่ควรวางซ้อนกันหลายชั้น อาจเสี่ยงกับการที่ด้วงแรดมะพร้าวและด้วงงวงมะพร้าวจะมาวางไข่บนกองทางใบ และเป็นสาเหตุให้เข้าทำลายต้นมะพร้าวที่ปลูกได้

เมื่อถึงฤดูฝน ถึงแม้จะมีฝนตกลงมา วัสดุที่คลุมโคนต้นมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นเปลือกมะพร้าว กาบมะพร้าว กะลามะพร้าว หรือใบมะพร้าว ที่คลุมโคนต้นไม่จำเป็นต้องรื้อออกมา ความชื้นที่อยู่ในดินจะช่วยย่อยสลายวัสดุดังกล่าวให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับต้นมะพร้าวอีกด้วย

ใบมะพร้าวที่เหลืองแห้งติดอยู่บนต้นมะพร้าว จะไม่สร้างอาหาร คือไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เกษตรกรควรดึงออกจากต้น เพื่อเป็นการสงวนน้ำในลำต้นมะพร้าว จากการศึกษาวิจัย พบว่า มะพร้าวต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 40 กว่าใบ เมื่อเก็บเกี่ยวทะลายลงมาแล้ว ควรเกี่ยวหรือตัดเอาใบเหลืองใบที่เกือบแห้งที่ใช้ไม่ได้ลงมาด้วย เป็นการช่วยสงวนน้ำไว้ให้พอเพียงกับใบที่ยังเหลืออยู่ เนื่องจากจำนวนใบมาก มีปากใบมาก ก็มีการคายน้ำมาก โดยเฉพาะช่วงแล้ง ต้นที่มีใบมะพร้าวน้อยที่สุดยังอยู่บนต้นได้ถึง 23 ใบ

ผลมะพร้าว ประกอบไปด้วยแร่ธาตุ โดยเฉพาะส่วนเปลือก ซึ่งพ่อค้าคนกลางจะปอกออกส่วนหนึ่ง (หรือเรียกว่า ปอกหยอย) ก่อนส่งจำหน่ายให้โรงงาน หรือตลาดในประเทศ ในเปลือกนี้ยังคงเหลือแร่ธาตุประมาณ 60% ของทั้งผล ซึ่งผลวิเคราะห์พบว่า มีธาตุโพแทสเซียม เหลืออยู่ในเปลือกมะพร้าวกับกะลา ดังนั้น การที่เราเก็บผลผลิตมะพร้าวออกไปจากต้น จากสวน ก็เท่ากับเราเอาปุ๋ยออกไปด้วย ถ้าเราเก็บเอาเปลือกมะพร้าวมาคลุมโคนต้นมะพร้าว ก็เท่ากับเอาปุ๋ยโพแทสเซียมกลับคืนมาในสวนมะพร้าวของเรานั่นเอง

วัสดุที่นำมาคลุมโคนต้นจะช่วยป้องกันแสงแดดที่ส่องลงมาที่พื้นดินหรือโคนต้นมะพร้าว จะเป็นการป้องกันแสงแดดที่ส่องลงมาจากพื้นดินหรือโคนมะพร้าวไม่ให้น้ำระเหยออกจากดินมากเกินไป เป็นการชะลอการสูญเสียน้ำและการคายน้ำยังเป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ การคายน้ำ เป็นการแพร่ของน้ำออกจากใบของพืชโดยผ่านทางปากใบ หากมีน้ำในดินน้อย การคายน้ำจะลดลง โดยทั่วไป ปากใบปิดเวลากลางคืน และเปิดในเวลากลางวัน การคายน้ำนี้สัมพันธ์ต่อพืช ในด้านการควบคุมการเคลื่อนที่ของน้ำในพืช ทำให้น้ำเคลื่อนที่จากรากขึ้นไปด้านบนมากขึ้น ควบคุมการดูดซึมธาตุอาหารของพืช เพราะธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ได้ต้องอยู่ในรูปสารละลาย การคายน้ำยังทำให้อุณหภูมิของใบลดลง โดยลดความร้อนที่เกิดจากแสงแดดที่ใบ แต่พืชจะไม่สามารถคายน้ำในสภาพที่แดดจัด เพราะอาจเสียน้ำมากเกินไปและเหี่ยว ก่อนที่จะลำเลียงน้ำได้ทันส่งผลให้พืชขาดแร่ธาตุไปบำรุงต้น

ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร การทำสวนมะพร้าวแบบผสมผสานร่วมกับไม้ผล ไม้พุ่ม สวนมะพร้าวมีแต่ความร่มรื่น เป็นการสร้างความชื้นให้สวนมะพร้าว สวนมะพร้าวในจังหวัดชุมพรจะมีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น และไม้พุ่มผสมผสานกัน สร้างระบบนิเวศในสวนมะพร้าว ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้น ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้การระบาดของแมลงศัตรูพืชน้อยและผลผลิตมะพร้าวต่อไร่ของจังหวัดชุมพรมีมากกว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ขนาดของผลมะพร้าวของทับสะแกผลจะใหญ่กว่ามะพร้าวของจังหวัดชุมพร แต่จำนวนผลจะน้อยกว่าจังหวัดชุมพร

คุณวิไลวรรณ ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าชุดโครงการวิจัยพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อธิบายข้อดีของการปลูกมะพร้าวแบบผสมผสานนอกจากจะให้ความร่มรื่นและให้ความชื้นในสวนมะพร้าวแล้ว จะสังเกตว่าศัตรูมะพร้าวจะน้อยลง เนื่องจากเวลาที่เราปล่อยแตนเบียนไปกำจัดหนอนหัวดำหรือแมลงดำหนาม แตนเบียนสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะมีความชื้นจะช่วยกำจัดศัตรูมะพร้าวได้ดี แต่ถ้าเป็นสวนมะพร้าวที่ปลูกเชิงเดี่ยว เช่นสวนมะพร้าวแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การปล่อยแตนเบียนในสภาวะร้อนจัด แตนเบียนจะไม่สามารถมีชีวิตในธรรมชาติได้ ทำให้ศัตรูมะพร้าวไม่ถูกเบียนกำจัดให้ตาย ยังมีชีวิตอยู่สร้างความเสียหาย ทำลายมะพร้าวของเกษตรกรต่อไป

ดังนั้น จึงอยากให้เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวลักษณะพืชเชิงเดี่ยวหันมาทำสวนมะพร้าวแบบผสมผสาน ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผลและไม้พุ่มไว้ในสวนมะพร้าวบ้าง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับสวนมะพร้าวของเกษตรกรเอง ในกรณีนี้อดีตกำนันตำบลแสงอรุณ (คุณประเวศน์ รุ่งรัศมี) ผู้ที่ผลิตและปล่อยแตนเบียนในสวนมะพร้าวของตนเอง ได้แบ่งปันประสบการณ์ให้นักวิชาการฟังว่า เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาในการกำจัดแมลงดำหนาม ด้วยการปล่อยแตนเบียนในสวนของตน ซึ่งมีการปลูกไม้ร่มเงา กับสวนของเพื่อนบ้านที่ปลูกมะพร้าวเพียงอย่างเดียว พบว่า สวนของเพื่อนบ้านต้องปล่อยแตนเบียนอย่างต่อเนื่องนานกว่าสวนของตน กว่าจะกำจัดแมลงดำหนามให้ลดลงได้

ไม้พุ่มในสวนมะพร้าวที่เกษตรกรสามารถปลูกได้และสามารถเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร ได้แก่ ขมิ้นชัน มันเทศ ชะอม ผักเหลียง ข่าเหลือง เมื่อมีการรดน้ำให้ปุ๋ยแก่พืชเหล่านี้ ต้นมะพร้าวก็ได้รับปุ๋ยและน้ำไปด้วย

คุณวิไลวรรณ แนะนำว่า ถ้าเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่ทับสะแกหรือที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เลี้ยงวัวในสวนมะพร้าวก็ควรจะปลูกหญ้าอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเนเปียร์ หรือหญ้ากินนี ไว้ในสวนมะพร้าว นอกจากจะเป็นพืชคลุมดินแล้วยังเป็นอาหารของวัว เมื่อรดน้ำในแปลงหญ้าก็จะให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน เป็นการเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในสวน และมะพร้าวก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะหากความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ (อากาศแห้ง) จะเพิ่มการคายน้ำ แต่ในทางตรงข้าม จะช่วยให้การคายน้ำเป็นไปตามปกติ ต้นมะพร้าวยังได้รับแร่ธาตุ ถ้าต้องการให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่อาศัยน้ำฝน ลองหันมาทำสวนมะพร้าวแบบผสมผสานกับพืชอื่นดังกล่าวข้างต้นดูบ้าง

การปลูกพืชผสมผสานนี้ เป็นการปรับสภาพอากาศในสวนมะพร้าว หรือที่เรียกกันว่า micro-climate เนื่องจากอากาศและอุณหภูมิ เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตและการออกดอกออกผล ในประเทศศรีลังกามีการรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชเสริมในสวนมะพร้าว เพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด และปรับสภาพอากาศในสวนให้เอื้อต่อการติดผลมะพร้าวและเอื้อต่อการเกิดชีววิถี แมลงศัตรูมะพร้าวจะถูกเชื้อปฏิปักษ์ทำลาย ช่วยลดการทำลายของแมลงศัตรู ต้นมะพร้าวมีความสมบูรณ์และติดผลผลิตดี

ทำไม ปลูกมะพร้าว จึงต้องใส่เกลือ

คำถามนี้ เกษตรกรมักไม่มีคำตอบ เพราะเป็นการใส่เกลือ ทำตามต่อๆ กันมา ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรมักนำกากน้ำปลาที่มีความเค็มอยู่แล้วไปใส่ในสวนมะพร้าว ปีละครั้ง โดยตักหว่านไปพร้อมกับการไถกลบ การทำเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่เกลือ

คุณวิไลวรรณ อธิบายว่า ตามคำแนะนำ การปลูกมะพร้าว ได้แนะนำให้ใส่เกลือ 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี เฉพาะในพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ห่างไกลทะเลมากกว่า 50 กิโลเมตร และไม่แนะนำให้ใส่ หากเป็นดินเหนียว เพราะจะทำให้เกลือละลายช้า อาจมีผลตกค้าง เมื่อดินมีความเค็มจะแก้ไขยาก ปัจจุบัน เกษตรกรเริ่มทำตามบ้างแล้ว แต่บางรายยังไม่เข้าใจ ใส่มากกว่าคำแนะนำ การใส่ในปริมาณ 1 กิโลกรัม/ต้น/ปี นี้ เมื่อฝนตก เกลือจะถูกชะล้างและต้นมะพร้าวได้แร่ธาตุไปใช้ แต่หากใส่มากเกินไป อาจมีผลตกค้างได้ ทั้งนี้เกษตรกรควรมีการสุ่มเก็บตัวอย่างดินสวนของตนเอง อย่างน้อย 1 ครั้งต่อ 5 ปี ซึ่งผลการวิเคราะห์ดินนี้ จะเป็นแนวทางในการใส่ปุ๋ยว่า จะเพิ่ม หรือลด ปุ๋ยตัวใด ส่งผลต่อการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตอีกด้วย

เกลือแกง หรือโซเดียมคลอไรด์ ประกอบด้วยธาตุโซเดียมและธาตุคลอไรด์ หากใส่เกลือหรือขี้แดดนาเกลือ หรือกากน้ำปลา เมื่อฝนตกลงมา โซเดียมซึ่งมีอนุภาคเท่าๆ กับโพแทสเซียม จะส่งผลให้ต้นมะพร้าวดูดโพแทสเซียมในดินขึ้นมาเพิ่มขึ้น ส่วนคลอไรด์มีผลทำให้เนื้อมะพร้าวหนาขึ้น ผลิตเป็นมะพร้าวย่างได้น้ำหนักมากขึ้น จากผลการวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์พบว่า การใส่เกลือ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่ราคาถูกมาก ช่วยให้ผลผลิตมะพร้าวย่าง (copra) ต่อต้น และ น้ำหนักผลมะพร้าวต่อลูกเพิ่มขึ้น มีการใส่เกลือให้มะพร้าวในพื้นที่ 170,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8 ล้านต้นมะพร้าว ผลผลิตมะพร้าวเพิ่มขึ้น 125% เปรียบเทียบกับสวนที่ไม่ได้ใส่ ปัจจุบัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่เข้าร่วมโครงการปลูกมะพร้าวทดแทน (replanting program) โดยรัฐบาลแจกเกลือให้ไปใส่ต้นมะพร้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต

คลอไรด์ ช่วยในการสังเคราะห์แสง และโพแทสเซียม เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในเรื่องการเพิ่มความหวานของน้ำมะพร้าว

แร่ธาตุที่สำคัญต่อมะพร้าว อีก 2 ตัว ได้แก่ แมกนีเซียม และโบรอน หากขาดโบรอนใบมะพร้าวจะมีอาการใบย่น ควรใส่ธาตุโบรอนเพื่อช่วยในการติดผลผลิต ส่วนแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ มีบทบาทในการสร้างอาหารและโปรตีน เราแนะนำให้ใส่กลีเซอไรด์ให้มะพร้าวที่ให้ผลผลิตแล้ว ปีละ 1.5 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ต้นฝนเพื่อให้มีการนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างดิน เพื่อให้ต้นมะพร้าวนำปุ๋ยไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรใส่ปุ๋ยควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก ถ้าเกษตรกรต้องการจะเสริมธาตุอาหารบางตัว ก็จะขอแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวใช้ปุ๋ยเชิงเดี่ยว ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้ปุ๋ย เกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ เพื่อจะได้รู้ว่าดินในสวนมะพร้าวของเราขาดธาตุอะไร และมีธาตุอะไรอยู่ในดิน เราก็จะใส่ปุ๋ยที่ขาดเท่านั้น ดังนั้น การวิเคราะห์ดินจะทำให้เราประหยัดงบประมาณในการซื้อปุ๋ยได้อีก คุณวิไลวรรณ กล่าว

สนใจ ปรึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. 02-579-0583 และศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เลขที่ 70 หมู่ที่ 2 ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 โทร. 077-556-073 โทรสาร 077-556-026

การงอกเมล็ดของตาลโตนดนั้นแตกต่างจากไม้อื่น โดยเมล็ดจะแทงงวงลงดินลึก แล้วจึงนำต้นอ่อนเติบโตขึ้นมาเหนือพื้นดิน เจริญเติบโตขึ้นเป็นต้นสมบูรณ์ ด้วยลักษณะพิเศษดังกล่าว ทำให้เกษตรกรบางรายสับสนว่า ควรจะเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำก่อน หรือปลูกลงดินเลย “หมอเกษตร ทองกวาว” ไปหาคำตอบมาให้ว่า วิธีใดดีกว่ากัน

หมอเกษตร ทองกวาว เริ่มศึกษาเรื่องตาลโตนดอย่างจริงจัง เมื่อ ปี พ.ศ. 2537 เนื่องจากประทับใจการสร้างสวนตาลโตนด ที่พุทธมณฑล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม จึงนำเมล็ดตาลโตนดมาเพาะลงในกระถาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ไว้หลายกระถาง กระถางละ 10 เมล็ด อีกส่วนหนึ่งเพาะในถุงเพาะชำ ใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุเพาะ

เมื่อเมล็ดงอกจะสร้างงวงสีขาว ส่วนปลายสุดเป็น ตัวอ่อน หรือ เอมบริโอ ที่จะพัฒนามาเป็นรากและต้นที่สมบูรณ์ต่อไป ในเวลา 2 เดือน งวงของมันจะยืดยาวออก และพยายามควานหาแหล่งน้ำและอาหารที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดให้ได้ วนเวียนอยู่ในกระถาง จนงวงบิดงอและม้วนเป็นเกลียวหลายชั้น

แต่ที่น่าอัศจรรย์มากที่สุดคือ งวงของแต่ละเมล็ดจะไม่เกี่ยวพันกัน ต่างคนต่างหลบหลีกทางกัน งวงที่ค้นหารูระบายน้ำของกระถางพบ มันจะออกแรงผลักดันส่งตัวอ่อนออกมานอกกระถาง โดยมีพื้นดินใต้กระถางเป็นเป้าหมายของมัน ส่วนเมล็ดที่หาทางออกไม่เจอ แต่เห็นว่าสภาพแวดล้อมพอใช้ได้ จึงแทงงวงส่งตัวอ่อนกลับขึ้นมาเติบโตเป็นต้นกล้าเหนือวัสดุเพาะ เติบโตเป็นต้นสมบูรณ์ต่อไป

ลักษณะนิสัยของตาลโตนดที่กล่าวมา ยังไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานทางวิชาการแต่ประการใด การทดลองดำเนินไปด้วยดี หมอเกษตร ทองกวาว มีแผนจะปลูกต้นกล้าที่ได้ลงในแปลงที่ต่างจังหวัด แต่โชคไม่เข้าข้าง หมอเกษตร ทองกวาว ถูกผู้บังคับบัญชาขอร้องแกมบังคับให้ไปเป็นคณะทำงาน ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ท่านหนึ่ง ทำให้มีเวลาไม่พอที่จะดำเนินการตามแผนที่ตั้งไว้ได้ โครงการจึงล้มเลิกไปโดยปริยาย หากไม่มีอุปสรรคดังกล่าว สวนตาลโตนดชุดนั้น จะมีอายุประมาณ 20 กว่าปี กำลังเป็นหนุ่มเป็นสาวเลยทีเดียว

คำถามที่ถามว่า จะเพาะเมล็ดตาลโตนดก่อนปลูก หรือปลูกลงดินโดยตรง ดีกว่ากัน ทั้งนี้ หมอเกษตร ทองกวาว มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณสมศักดิ์ จิระเดโชชัย เจ้าของสวนส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา และผู้มีประสบการณ์สร้างสวนป่า แห่งจังหวัดชัยนาท แนะนำว่า หากจะทำสวนตาลโตนด ให้ปลูกลงดินได้เลย แต่ควรเตรียมหลุมปลูกให้ดี เพาะเมล็ดให้งวงปริออกเล็กน้อย กลบดินตื้นๆ ฤดูปลูกที่ดีที่สุดให้ปลูกต้นฤดูฝน รับรองได้ผลดีแน่นอน

กล้วย เป็นไม้ผลเขตร้อน ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลสุกนอกจากจะใช้รับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำมาปรุงอาหารคาว-หวาน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ กล้วยตาก ท็อฟฟี่ กล้วยทอด กล้วยบวชชี กล้วยในน้ำเชื่อมกระป๋อง เป็นต้น ส่วนใบตองสดนำไปใช้ห่อของ ทำงานประดิษฐ์ศิลปะต่างๆ ได้แก่ กระทง บายศรี ใบตองแห้ง ใช้ทำกระทงใส่อาหาร และใช้ห่อผลไม้ เพื่อให้มีผิวสวยงามและป้องกันการทำลายของแมลง ก้านใบและกาบกล้วยแห้ง ใช้ทำเชือก กาบสดใช้สำหรับการแทงหยวกประกอบเมรุในการฌาปนกิจศพ หัวปลี (ดอกกล้วยน้ำว้า) ยังใช้รับประทานแทนผักได้ดีอีกด้วย

คุณค่าทางอาหาร

กล้วย เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินเอ เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ อีกทั้งปลูกแล้วดูแลรักษาง่าย ให้ผลผลิตเร็ว และเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งตลาดยังมีความคล่องตัวสูงทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก กล้วยจึงเป็นไม้ผลที่เกษตรกรควรพิจารณาปลูกเป็นการค้าทั้งในลักษณะพืชหลักหรือแซมพืชอื่นๆ เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

กล้วย เป็นไม้ผลล้มลุกที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศคงที่ จะทำให้กล้วยเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ช่วงอากาศแห้งแล้งที่ยาวนาน หรือช่วงอากาศหนาวเย็น 2-3 เดือน มีผลต่อการชะงักการเจริญเติบโตของกล้วยได้ และทำให้ผลผลิตกล้วยต่ำลง

ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกกล้วย

ควรเป็นดินที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 4.5-7 ที่เหมาะสมที่สุดคือ (pH) = 6 เป็นดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี ความชื้น พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย ควรมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ระหว่าง 50-100 นิ้ว ต่อปี จำนวนวันที่ฝนตกควรยาวนาน หากมีฝนตกในช่วงสั้น การปลูกกล้วยจะต้องให้น้ำชลประทานช่วยเพิ่มรักษาความชุ่มชื้นของดินเพิ่มขึ้น แต่ในพื้นที่มีฝนตกชุก ควรระบายน้ำให้แก่กล้วย

พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย ไม่ควรเป็นแหล่งที่มีลมแรงตลอดปี นอกจากจะทำให้ใบกล้วยฉีกขาดแล้ว อาจจะมีผลทำให้กล้วยหักกลางต้น (หักคอ) หรือโค่นล้มได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กล้วยออกเครือแล้ว

พันธุ์กล้วยที่ปลูกเชิงการค้า

กล้วยหอมทอง เป็นกล้วยที่มีลักษณะลำต้นใหญ่ แข็งแรง กาบใบชั้นในมีสีเขียวหรือชมพูอ่อน เครือได้รูปทรงมาตรฐาน มีน้ำหนักมาก ผลยาวเรียว ปลายผลคอดเป็นแบบคอขวด เปลือกหนา ผลสุกผิวมีสีเหลืองทอง เนื้อมีรสชาติหวานหอม โดยเฉลี่ยเครือหนึ่งๆ จะมีประมาณ 6 หวี เป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรคตายพราย และโรคใบจุด

กล้วยไข่ เป็นกล้วยที่มีลำต้นสูงบาง สีใบและก้านใบสีเหลืองอ่อน ไม่มีนวล กาบใบมีสีน้ำตาลหรือสีช็อกโกแลต เครือเล็ก ผลมีขนาดเล็ก เปลือกบาง เมื่อสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น สีเหลืองรสหวาน เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม ต้านทานโรคตายพราย แต่อ่อนแอต่อโรคใบจุด

ฤดูกาลปลูกกล้วย

การปลูกกล้วยให้ได้ผลดี ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งดินมีความชุ่มชื้นในช่วงฤดูฝนเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้นและออกปลี จนสามารถเก็บเกี่ยวกล้วยได้ในช่วงปลายฤดูฝนพอดี แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการปลูกกล้วยในเขตชลประทานที่มีน้ำเพียงพอ สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ควรกำหนดเวลาการปลูกกล้วยให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น กล้วยไข่ ควรปลูกให้ได้ผลผลิต ในช่วงสารทไทย เทศกาลไหว้พระจันทร์ ชาวสวนส่วนใหญ่จะเริ่มปลูกกล้วยไข่ในราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวกล้วยได้ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

ส่วนการปลูก กล้วยหอมเชิงการค้า สมัคร Genting Club เกษตรกรคาดหวังว่าจะเก็บเกี่ยวกล้วยขายในช่วงสารทไทย ไหว้พระจันทร์ และกินเจ ซึ่งจะทำให้ราคากล้วยสูงกว่าช่วงปกติ ส่วนการผลิตกล้วยหอมเพื่อการส่งออกนั้น ส่วนใหญ่จะผลิตในลักษณะรวมกลุ่มใหญ่ เพื่อผลิตกล้วยส่งให้ตลาดผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตกล้วยหอมทอง ของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งการผลิตจะต้องมีการวางแผนการผลิตให้สามารถเก็บเกี่ยวตามที่ตลาดส่งออกต้องการ

ปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ ทำได้ไม่ยาก

เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เล็งเห็นโอกาสเติบโตของตลาดกล้วยหอมทองและกล้วยไข่ จึงซื้อหน่อกล้วยมาปลูกเพื่อขายเอง ใช้เวลาปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ 6-8 เดือน กล้วยหอมทองจะตกเครือใช้เวลาอีก 2 เดือน สามารถตัดขายได้ ส่วนกล้วยไข่ ใช้เวลาเดือนครึ่งสามารถตัดขายได้ การดูแลรักษา เกษตรกรจะใส่ขี้วัว 5 กิโลกรัม ต่อหลุม ปุ๋ยเคมีใช้น้อยมาก ในพื้นที่ 15 ไร่ ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 จำนวน 4 กระสอบ ใช้น้ำหมักหอยเชอรี่และน้ำหมักหน่อกล้วยร่วมด้วย โดยใช้ก่อนตกเครือ

ผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวจะทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน จากนั้นนำไปบ่ม หากเป็นฤดูร้อน ใช้เวลา 2 วัน หน้าหนาว ใช้เวลา 4 วัน จะหอมหวาน สำหรับคนที่ไม่ชอบหวานมาก จะรับประทานเมื่อบ่มได้ 1 วัน ในหน้าร้อน และ 3 วัน ในหน้าหนาว

การบ่ม จะไม่ใช้แก๊ส ตลาดจะขายส่งในจังหวัดพะเยา ซึ่งจะไม่นิยมหวีใหญ่ อาจเป็นเพราะราคาจะสูง ขายส่งที่ราคา หวีละ 12-30 บาท กล้วยที่ปลูก ปีแรกหวีจะมีขนาดใหญ่สวย เกษตรกร จะตัดกล้วย วันละ 70-80 เครือ เครือละ 4 หวี ขายได้ 80-90 บาท ต่อเครือ กล้วยไข่ กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ จึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรักสุขภาพ ดังนั้น หากใครยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ก็แนะนำให้ปลูกไม้ผลทั้งสองชนิดไว้ติดบ้าน เพราะปลูกง่าย ขายดีทั้งปี