หลายคนได้ยินผักกูด ศิลปะธรรมชาติรังสรรค์คนเขาเรียกกันว่า

ชื่อคงอาจหลับตานึกเห็นภาพ รูปพรรณสัณฐานที่น่าอัปลักษณ์เป็นแน่ แท้ที่จริงแล้ว ต้นผักกูดเป็นพืชที่มีความงดงามตามธรรมชาติยิ่งนัก งามยิ่งกว่าพืชอื่นอีกหลายๆ อย่าง ในมิติมุมมองอย่างศิลปะ เชื่อว่าผักกูด มีความเป็นเลิศในเชิงศิลป์ ที่ธรรมชาติรังสรรค์มา หลายท่านคงอยากรู้จักผักกูดอย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะอยากรู้คุณสมบัติพิเศษของผักกูดนอกเหนือจากความงดงามแล้ว น้อยคนจะรู้ว่าเขาคือ พืชตัวชี้วัดระดับคุณภาพ ความบริสุทธิ์สะอาดของ ดิน น้ำ ลม ฟ้า สภาวะทางธรรมชาติ ที่ทำกินของชาวบ้านเรา

ชาวบ้านที่ออกหาเก็บ “ผักกูด” ตามแหล่งธรรมชาติ เพื่อเอามาบริโภค หรือจำหน่ายเป็นรายได้ ผักกูดเป็นพืชที่เป็นที่นิยมกันมากอันดับต้นๆ คนเข้าป่าก็หาผักง่ายๆ เอามาประกอบอาหารกินกัน พืชพื้นบ้าน พืชตามป่าเขา ต้นพืชไหนที่พวกเขารู้ว่านำมากินได้ ก็จะได้รับคัดเลือกมาปรุงแต่งเป็นอาหารกิน เรียกพืชที่เอามากินว่า “ผัก” ก็คงมียกเว้นพืชป่าบางอย่าง เช่น ต้นอ่อนไผ่เรียก “หน่อไม้” ไม่เรียกว่าผักไผ่ ดอกกล้วยเรียก “หัวปลี” ความนิยมชมชอบขึ้นอยู่กับคนกิน ที่แน่นอนชัดเจนที่สุด คือความผูกพันที่ชาวบ้านมีกับพืชป่า ผักป่า ผักพื้นบ้าน ที่ผูกพัน ลึกซึ้ง ซึมลึกกันมาแต่เนิ่นนาน เกินกว่าจะสืบค้นหาหลักฐานความเป็นมาได้ สันนิษฐานว่า จะมีสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยโน่นละ

“ผักกูด” ไม่ใช่พืชตระกูลพืชผักทั่วไป แต่เป็นพืชตระกูลเฟิร์น (Fern) มีชื่อเรียกต่างๆ มากมายหลายชื่อ เช่น ผักอีงอ ผักกูดกิน ผักกูดครึ ผักกูดขาว อาจเรียกตามชนิดสายพันธุ์ เช่น กูดก๊อง กูดน้ำ กูดลาน กูดดอย กูดเครือ แต่ผักกูดที่นิยมนำมากินคือ “กูดน้ำ” เป็นพืชอยู่ในวงศ์ PARKERIACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceratopteris thalictroides (Linn.) Brongn. ซึ่งจะขึ้นเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่ง มีน้ำชื้นแฉะ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นน้ำดี สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสารพิษเจือปน ก้านใบจะยาวได้ถึง 4 ฟุต ยอดเป็นมันวาวเลื่อมแสง ใบสีเขียว เมื่อเด็ดยอดจะมียางใส เหนียว บริเวณโคนต้นมีขนสีขาวเทา ถ้าขนแก่มีสีน้ำตาล

นอกจากนี้ ยังมีผักกูดเกลี้ยง ผักกูดซาง ผักกูดขน ผักกูดแดง ผักกูดนกยูง มักพบบริเวณลำห้วย หนองน้ำ ลำธาร ต้นน้ำ ป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าผลัดใบผสม ชะง่อนหินที่มีความชันสูงของป่าดิบชื้นก็มี ในประเทศไทยมีมากกว่าร้อยชนิด มีหลายชนิดที่ไม่ถือว่าเป็นผัก ก็เรียกกันว่า “เฟิร์น” หรือ “เฟิน” ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับจัดสวนสวยงาม เช่น เฟินหางกระรอก เฟินใบมะขาม เป็นต้น ลักษณะของผักกูด จะมีความแตกต่างกันไปแต่ละชนิด ส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุก ในช่วงแล้งต้นจะแห้ง ใบจะเฉาแห้ง และแตกหน่อแตกใบใหม่ในฤดูฝน ต้นผักกูดเป็นไม้ที่ออกจากเหง้าโดยตรง อาจจะเป็นไม้เลื้อย ใบมีสีเขียว มีรูปร่างแตกต่างกัน ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ และต้นอ่อนที่แตกจากปลายรากที่โผล่พ้นดิน มักจะเลื้อยออกห่าง รอบๆ ต้นแม่

มีชาวบ้านหลายพื้นที่ มีอาชีพเก็บผักกูดขาย บางแห่งรับจ้างเก็บส่งให้พ่อค้าผักส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น บางพื้นที่หาเก็บตามแหล่งธรรมชาติ ไม่พอขาย ก็หันมาเพาะปลูกเป็นแปลงเกษตร รอเก็บจากธรรมชาติก็เก็บ 2 สัปดาห์ครั้ง ไม่พอต่อความต้องการของตลาด ตอนนี้ผักกูดเป็นสินค้าขึ้นห้างสรรพสินค้า เป็นอาหารเมนูพิเศษตามร้านอาหาร ภัตตาคาร เมื่อจำเป็นต้องปลูกเอง ก็ควรทำการดูแลรักษา หาวิธีการเพาะขยายเหมือนการดูแลผลิตผักเศรษฐกิจทั่วไป

เริ่มตั้งแต่การไถเตรียมแปลง ใส่ปุ๋ยคอกรองหลุม หรือผสมดินทั้งแปลง ขุดหลุมปลูกระยะ 50×50 เซนติเมตร วางหัวไหล กลบโคน เมื่อตั้งตัวได้แล้ว ใส่ปุ๋ย ยูเรีย ผสมปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 75 กิโลกรัม ต่อไร่ ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง ต้นผักกูดที่ปลูกเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว เก็บไปเรื่อยๆ 3 วันเก็บยอดครั้ง เมื่อนานเข้า ผักกูดก็จะแก่ตัวให้ผลผลิตลดลง ยอดจะเล็กลง โคนกอจะยกสูงขึ้น ก็ทำการล้มแปลงหรือล้มกอปลูกใหม่แทนที่

ผลผลิตผักกูด จะเก็บและนำมาขายเป็นกำ กำหนึ่งหนักประมาณ 250 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม ได้ 4 กำ ขายกำละ 10 บาท แปลงปลูกปีแรกใหม่ๆ จะได้ 800 กำ ต่อไร่ หรือ 200 กิโลกรัม ต่อไร่ ปีต่อมาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึง 3,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการปลูกผักกูดเพื่อการค้าจะสูง เกี่ยวกับปุ๋ยและค่าแรงเก็บเกี่ยว อาจจะศึกษาหาความรู้จากแหล่งปลูก เช่น ที่จังหวัดพัทลุง ที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หรือจะศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งธรรมชาติ ที่ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี หรือธรรมชาติที่ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

คุณประโยชน์ของผักกูด เป็นผักอาหารคนที่อุดมด้วยโปรตีน ช่วยเสริมสร้างบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีพลัง มีภูมิคุ้มกัน มีแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็กมีสูง เมื่อกินร่วมกับเนื้อสัตว์ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุอาหารได้ดี บำรุงโลหิต แก้โรคโลหิตจาง เป็นผักเย็นกินดับร้อนแก้ไข้ตัวร้อน ช่วยบำรุงสายตา ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีเส้นใยอาหาร (Fiber) สูงมาก ช่วยระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะอย่างดีเยี่ยม

ที่สำคัญ ผักกูดจะสามารถดูดซับเอาสารพิษที่ติดค้างในร่างกายในอาหาร และขับออกทิ้งจากร่างกาย นั่นคือกระบวนการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ หรือมะเร็งภัยร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากได้ ไม่อยากพานพบ ในผักกูด 100 กรัม ให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม เหล็ก 36.3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 17,167 iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.04 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.08 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม ไนอะซีน 0.5 มิลลิกรัม

การนำผักกูดมาทำอาหาร อย่ากินแบบสดๆ เพราะมี สารออกซาเลต จะทำให้เป็นนิ่วและไตอักเสบได้ ผักกูดเป็นพืชที่มีรสชาติจืดอมหวานและกรอบ นิยมนำเอายอดอ่อนที่มีลักษณะม้วนงอ และใบอ่อนมากินเป็นอาหาร โดยปรุงแต่งเป็นแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงกะทิใส่ปลาย่าง แกงรวมกับผักอื่นๆ หลามผักกูด หรือจะใช้เป็นผักต้ม ผักฉาบน้ำมัน ผักกูดราดกะทิ เป็นผักจิ้มน้ำพริกต่างๆ หรือปรุงเป็นยำผักกูด ไข่เจียวผักกูด ผัดผักกูดใส่แหนม ผักกูดฤดูแล้งจะกรอบอร่อยกว่าฤดูอื่น แต่ยอดไม่ค่อยสวยอวบสักเท่าไร

ผักกูด เป็นสุดยอดพืชนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นหมอคัดกรองพิสูจน์ธรรมชาติ โดยปกติแล้วพื้นที่ที่ผักกูดจะขึ้นเจริญเติบโตได้ดี ต้องเป็นที่มีสภาพบริสุทธิ์ ถ้าบริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่ดี น้ำไม่ดี มีสารเคมีเจือปน ผักกูดจะไม่ยอมขึ้นต้นเจริญเติบโต แตกยอดอ่อนเด็ดขาด อาจจะตายเลย เป็นสุดยอดพืชที่จะเป็นดัชนีตัวชี้วัด ว่าพื้นที่นั้นสมบูรณ์ดี บริสุทธิ์ เหมาะสมแก่การจะใช้เป็นที่ผลิตพืชที่ดี เพื่อให้แก่คนดี กินอยู่แบบสังคมดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จะอยู่บนโลกดีดีใบนี้ได้ อยู่อย่างมากความดี และอยู่ดีมีสุขนั่นเอง

คุณประภาวัลย์ วงษ์แม่น้อย หรือ คุณเม้ง อายุ 50 ปี เป็นอีกคนที่ยึดอาชีพทำข้าวต้มมัดมากว่า 10 ปี โดยเธอใช้บ้านพักชั้นเดียว เลขที่ 33/11 หมู่ที่ 3 ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งไม่มีชื่อร้านเป็นฐานสำหรับผลิตข้าวต้มมัดขาย

คุณประภาวัลย์ เล่าว่า แม่ของเธอประกอบอาชีพมัดข้าวต้มมาตั้งแต่ปี 2529 ในตอนนั้นเธอรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่ในตำแหน่งมัดข้าวต้ม จนกระทั่งปี 2543 เธอมารับช่วงอาชีพจากแม่ แล้วเริ่มทำอย่างจริงจังด้วยตัวเองเพียงลำพัง พร้อมไปกับการเรียนรู้ทักษะอีกหลายอย่างเพิ่มเติม

คุณเม้ง บอกว่า ข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มผัดที่เธอทำขายทุกวันนี้เป็นการใช้ข้าวเหนียวผัดแล้วใส่กะทิ ใส่น้ำตาล ตามแบบวิธีทำโบราณ ไม่เหมือนอย่างช่วงหลังที่ใช้วิธีมูนก่อนแล้วจึงนำมาห่อ

เธอยกตัวอย่างการใช้วัตถุดิบและอัตราส่วนผสมในการทำข้าวต้มมัดว่า ถ้าหากใช้ข้าวเหนียวสัก 1 กิโลกรัม ควรใช้น้ำกะทิสด 6 ขีด น้ำตาลทรายครึ่งกิโลกรัม และเกลือ 1 ถุงจิ๋ว และเพื่อให้อัตราส่วนผสมได้มาตรฐาน จึงใช้วิธีชั่งตามน้ำหนักทุกครั้ง

ขอให้สุกปานกลาง

แม่ค้าขายข้าวต้มมัดรายเดิมแจงถึงวัตถุดิบที่ใช้ต่อว่า ใช้กล้วยน้ำว้าที่ซื้อมาเป็นหวีจากสวน ใช้พันธุ์อะไรก็ได้ ไม่จำกัดขนาดหรือรูปลักษณะ แต่สิ่งสำคัญคือ ความสุกของกล้วยต้องปานกลางเท่านั้น สำหรับราคาซื้อถ้าหวีขนาดย่อมราคา 10 บาท ถ้าขนาดใหญ่ราคาหวีละ 15 บาท ตอนที่ช่วยแม่ทำ กล้วยหวีละ 4-5 บาท แต่ตอนที่ราคาแพง หวีละ 30 บาท

เธอบอกว่า สมัยก่อนตอนที่ทำอยู่กับแม่ราคา หวีละ 4-5 บาท เท่านั้น แล้วยังย้อนให้ฟังว่าช่วงที่กล้วยมีราคาแพงตอนนั้นหวีละ 30 บาท ไม่ได้ปรับราคาขายแต่อย่างใด คงแบกรับภาระไว้ และคิดว่าคงจะแพงไม่นาน

กล้วยที่ใช้มีแม่ค้าชาวสวนจากแถวสามพรานมาส่งอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ถ้าเป็นช่วงขายปกติ ส่งครั้งละ 100 กว่าหวี แต่คราวใดหากมีลูกค้ามาสั่งพิเศษอาจต้องเพิ่มจำนวนตามยอดการสั่งทำที่ไม่เท่ากัน

“ใบตองจะซื้อมาจากเจ้าประจำ ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ส่งมาให้คราวละ 60 กิโลกรัม สามารถใช้ได้เป็นเวลา 3-4 วัน แต่หากไม่พอจะต้องไปซื้อที่ตลาดในราคากิโลกรัมละ 15-17 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงตรุษจีนราคาขายถีบขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 20-25 บาท ใบตองหนึ่งใบมีสองทาง แต่ละทางหากนำมาใช้ห่อข้าวต้มได้ 5-6 มัด ส่วนตอกซื้อมา กำละ 20 บาท ต้องใช้ตอกอ่อนเท่านั้น เพราะถ้าเป็นตอกแก่จะแข็ง มัดยาก และมักจะบาดนิ้วเสมอ

ราคากะทิ กิโลกรัมละ 50 บาท (19 มิ.ย. 56) ถั่วดำกิโลกรัมละ 40 บาท ต้มไว้ครั้งละ 2 กิโลกรัม ใช้งานได้ 2 วัน แต่ถ้าเหลือให้เก็บไว้ในตู้เย็น สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกในครั้งต่อไป”

ข้าวเหนียว เป็นตัวแปรสำคัญ

ในบรรดาวัตถุดิบที่นำมาใช้คุณเม้งบ่นว่า มีข้าวเหนียวอย่างเดียวที่พบปัญหามากที่สุด และถือเป็นตัวแปรหลักที่สำคัญอีกด้วย ทั้งนี้เพราะข้าวเหนียวแต่ละรุ่นที่มาส่งมักไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ถ้าหากต้องการใช้ข้าวเหนียวให้เหมือนกันทุกครั้งต้องสั่งมาเก็บไว้จำนวนมาก ซึ่งคงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะลงทุนมาก

“มีการแนะนำให้ใช้สารส้มล้างข้าวเหนียว เพราะจะช่วยให้ข้าวเหนียวมีเมล็ดสวย แต่แท้จริงแล้ว พบว่า ไม่ใช่เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ต้องใช้เวลานึ่งนาน แล้วทำให้เสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากเกินไป หรือการแช่ข้าวเหนียวนานเกินไปอาจทำให้ข้าวแข็ง สิ่งเหล่านี้จะสร้างปัญหาระหว่างทำ ซึ่งจะต้องคอยปรับแก้ไขอยู่ตลอดเวลา”

ลงมือทำข้าวต้มมัด

ขั้นตอนการทำข้าวต้มมัด คุณเม้ง อธิบายว่า เริ่มด้วยการแช่ข้าวเหนียวสัก 2 ชั่วโมง แล้วนำไปล้างด้วยน้ำเปล่า ให้เทน้ำแรกทิ้งเพราะมิเช่นนั้นข้าวต้มจะบูดเร็วอยู่ไม่ได้นาน แล้วให้ล้างเป็นน้ำที่สอง นำข้าวเหนียวไปใส่ตะกร้าหรือกระจาดเพื่อให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นให้นำมาเทรวมกับน้ำกะทิที่ผสมไว้แล้ว (ส่วนผสมน้ำกะทิ ได้แก่ กะทิ เกลือ น้ำตาล)

จากนั้นให้ตั้งไฟอ่อน แล้วนำข้าวเหนียวเทลงไปรวมกับน้ำกะทิ ให้กวนหรือคน ห้ามกวนแรง เพราะอาจทำให้เมล็ดข้าวหักเสียหาย ซึ่งอาจทำให้ข้าวเหนียวเละไม่น่ารับประทาน ดังนั้นจึงต้องค่อยๆ คนหรือกวนไปเรื่อยๆ ห้ามหยุดจนกว่าน้ำกะทิจะแห้ง โดยการสังเกตจากการจับข้าวเหนียว ถ้าจับติดปั้นได้จึงใช้ได้ หากยังมีน้ำกะทิอยู่จะทำให้ไหลเยิ้มออกมาขณะห่อหรือนึ่ง

ระหว่างรอให้ข้าวเหนียวเย็น ให้ไปผ่ากล้วย เตรียมฉีกใบตอง เตรียมถั่วดำ ไว้ให้พร้อม พอข้าวเหนียวเย็นได้ที่จึงนำมาห่อเป็นกลีบแล้วมัดรวมด้วยตอก จากนั้นจึงนำไปนึ่งราว 2 ชั่วโมง

การเลือกข้าวเหนียว ถ้าจะให้ดีมีคุณภาพควรใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงู (ราคาประมาณ กิโลกรัมละ 38-40บาท/20 มิ.ย.56) แต่เนื่องจากข้าวเหนียวเขี้ยวงูมีราคาสูง ทำให้ต้นทุนสูงและสู้ไม่ไหว เลยถอยลงมาใช้ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพปานกลาง แล้วยังบอกว่าถ้าเป็นข้าวเหนียวใหม่ที่มียางมากเกินไปก็ไม่ดี หรือไม่มียางเลยก็ไม่ดี เพราะยากที่จะจับเป็นก้อนเวลาปั้น ดังนั้น จึงเลือกใช้คุณภาพปานกลางจะเหมาะสมกว่า

“ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบตลอดเวลาที่ผ่านมาคือ คุณภาพข้าวเหนียว ที่บางครั้งได้ข้าวเหนียวไม่เหมือนกันทุกรุ่น ซึ่งมีผลทำให้กระทบกับคุณภาพข้าวที่นึ่งออกมา บางครั้งแฉะ เพราะเป็นข้าวจมน้ำบ้าง บางครั้งต้องนึ่งหลายชั่วโมงจึงจะสุกใช้ได้”

ในการทำข้าวต้มมัดแต่ละวัน คุณเม้ง บอกว่า จะใช้กล้วย จำนวน 15-20 หวี ทำได้ข้าวต้มมัด จำนวน 200 มัด หรือประมาณ 100 ลูก ซึ่ง 1 หวี ทำข้าวต้มได้เฉลี่ย 10 มัด

“ข้าวต้ม 1 มัด ใช้กล้วย 1 ลูก อาจตัดได้เป็น 2-3 ส่วน ทั้งนี้ควรดูที่ขนาดกล้วยด้วย เนื่องจากการตัดจำนวนกล้วยมากหรือน้อยต้องมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้ข้าวเหนียวประกอบ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ซึ่งเทคนิคนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของคนห่อกล้วย”

เธอเล่าให้ฟังว่า สมัยที่แม่ทำ การใช้ไฟนึ่งจะไปซื้อไม้เก่าที่เป็นเศษไม้จากโรงงานรับสร้างบ้านมาทำเป็นฟืน ครั้นพอโรงงานเลิกกิจการเปลี่ยนมาใช้ถ่าน ครั้นพอถึงยุคเราที่ต้องทำอยู่คนเดียว คงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่ทันและไม่สะดวก เลยต้องหันมาใช้แก๊ส ขนาด 15 กิโลกรัม ใช้ถังละ 3 วัน เนื่องจากสามารถปรับความร้อนได้ตามความเหมาะสม ขนาด 15 กิโลกรัม ใช้ถังละ 3 วัน

สำหรับซึ้งที่ใช้นึ่งข้าวต้มมัดมีจำนวน 2-3 ชั้น แล้วแต่จำนวนที่ทำ แต่ละชั้นสามารถนึ่งข้าวต้มได้ถึง 200 มัด ใช้เวลานึ่งครั้งละ 2 ชั่วโมง

คุณเม้ง บอกว่า ราคาจำหน่าย มัดละ 8 บาท อันนี้เป็นราคายืนตายตัว ไม่ว่าจะสั่งจำนวนเท่าไรก็ตาม ทำครั้งละ 200 มัด ต่อวัน ทำตั้งแต่เช้า ห่อไป ขายไป เพราะต้องการให้ลูกค้าได้ของใหม่ร้อนร้อน

ทำคนเดียว ขายเท่าที่ทำได้ปัจจุบัน มีลูกค้าล้นมือ

ด้านการขายแม่ค้าขายข้าวต้มมัดบอกว่า วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ กลับขายไม่ดีเท่ากับวันธรรมดา เพราะถ้าเป็นวันหยุดลูกค้าที่มาเที่ยวมักขับรถเลยเข้าไปในตลาด แต่ที่ทำอยู่ได้ เพราะมีขาประจำที่ซื้อบ่อย อีกทั้งยังมีขาประจำที่สั่งเป็นจำนวนมากโดยเฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง

“มีแม่ค้าในกรุงเทพฯ มารับไปขายต่อทุกวันจันทร์-ศุกร์ นำไปขายที่หน้าโรงงานยาสูบเจ้าหนึ่ง อีกเจ้านำไปขายหน้าธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ที่สะพานควาย แต่ละเจ้ามารับซื้อครั้งละเป็นร้อยมัด แล้วยังบอกอีกว่าที่วัดปากน้ำสั่งครั้งละเป็นพันมัด”

เธอย้ำว่า การทำข้าวต้มมัดมีต้นทุนสูง แล้วเหนื่อยกับเรื่องจุกจิกและยังบอกต่อว่าเหนื่อยกว่าทำขนมอย่างอื่น ดังนั้น ถ้าขายไม่ดีอย่างที่เป็นอยู่คงเลิกทำไปนานแล้วเธอบอกว่าต้นทุนขึ้นทุกอย่าง เช่น ข้าวเหนียว กระสอบละ 1,300 บาท น้ำตาลกระสอบละเป็นพันบาท แล้วยังบอกว่าถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่รับ

ความอร่อยของข้าวต้มมัดคุณเม้ง บอกว่า อยู่ตรงที่มีความเข้มข้นของรสชาติ ซึ่งทุกรสต้องกลมกลืนกัน และคุณภาพของข้าวเหนียวต้องดีในระดับหนึ่ง ถ้าต้องการทำให้อร่อยต้องไม่ขี้เหนียวส่วนผสม แล้วเธอยังบอกอีกว่า รสชาติที่ชื่นชอบในแต่ละภาคของประเทศไม่เหมือนกัน อย่างคนทางภาคอีสานไม่ชอบหวาน ส่วนคนทางภาคกลางชอบหวาน อันนี้ถ้าจะทำขายต้องดูกลุ่มคนซื้อประกอบไปด้วย

สุดท้าย…คนขายบอกว่า ใครสนใจแวะมาชิมได้ แต่เรื่องสั่งทำยังไม่รับปาก เพราะทำอยู่คนเดียว แค่ขายให้ลูกค้าขาประจำก็ไม่ทันอยู่แล้ว

ดังนั้น หากใครเดินทางมานมัสการพระปฐมเจดีย์ก็อย่าลืมแวะชิมข้าวต้มมัดที่ร้านคุณเม้ง ซึ่งอยู่ตรงปากทางเข้าวัดไร่ขิง ถนนเพชรเกษม ติดกับคิวรถสองแถว หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 034-311-073

น้ำปัสสาวะ น้ำฉี่ น้ำเยี่ยว แค่พูดถึง หลายคนก็รู้สึกรังเกียจแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า น้ำสีเหลืองๆ นี้แหละ มีประโยชน์เหลือหลาย เพราะอุดมด้วย แร่ธาตุ วิตามิน ฮอร์โมน เอนไซม์ ภูมิคุ้มกัน โปรตีน รวมทั้งสารที่มีประโยชน์อีกมาก และยังพบว่า น้ำปัสสาวะตอนเช้าหลังตื่นนอนมีฮอร์โมนเมลาโทนินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ และยิ่งเป็นน้ำปัสสาวะของเด็กจะมีแร่ธาตุมากมาย ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ทองแดง สังกะสี ไอโอดิน เหล็ก ยูเรีย ซึ่งสามารถต้านการอักเสบ และบำรุงผิวพรรณได้อีกด้วย

ในการแพทย์แผนโบราณได้บ่งบอกถึงข้อดีของการดื่มน้ำปัสสาวะ จึงมีผู้นำน้ำปัสสาวะมาดื่ม เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่างๆ เพราะเชื่อว่าในน้ำปัสสาวะมีสารอินเตอร์เฟอรอน เป็นสารต้านมะเร็ง เมื่อน้ำปัสสาวะเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการจึงขับออกมา เมื่อดื่มเข้าไปร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทาน โดยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวไล่กินปัสสาวะที่เราดื่มเข้าไป ซึ่งกระจายไปทั่วร่างกาย และเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่กินเชื้อโรค กินมะเร็ง กินสิ่งแปลกปลอม รวม ทั้งสิ่งที่มีพิษในร่างกายอยู่แล้ว ร่างกายจึงมีภูมิต้านทานเพิ่มมากขึ้น

การใช้น้ำปัสสาวะในนาข้าว

น้ำปัสสาวะ เกิดจากระบบการขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยการแยกกาก คือ อุจจาระออกจากกัน ฉะนั้น น้ำปัสสาวะ จึงต่างจากอุจจาระที่เป็นของเสียเมื่อน้ำปัสสาวะใช้ประโยชน์ในคนได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีผู้นำมาทดลองใช้กับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย นั่นก็คือ การใช้น้ำปัสสาวะในนาข้าว ซึ่งผู้ทดลองในเรื่องนี้ก็ คือ คุณนายสุธี ชิวหากาญจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมการเกษตร

ปกติคนเราจะถ่ายน้ำปัสสาวะ วันละ 1-1.5 ลิตร องค์ประกอบของน้ำปัสสาวะของผู้ใหญ่ 1 คน ต่อวัน ประกอบไปด้วยธาตุอาหารเหล่านี้ สามารถนำไปปลูกพืชโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย สรุปว่า น้ำปัสสาวะที่มนุษย์ขับถ่ายและทิ้งในแต่ละวันสามารถตอบสนองต่อความต้องการปุ๋ยในการปลูกพืชของโลกได้ทั้งหมดโดยธรรมชาติ คุณสุธี จึงได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ เพื่อข้อมูลที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้ สามารถที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำปัสสาวะเพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้

วัตถุประสงค์ คือ ศึกษาอัตราการใช้น้ำปัสสาวะที่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของข้าว (การแตกกอ)

การศึกษาวิจัย ทำโดยใช้พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 ปลูกในกระถาง กระถางละ 1 ต้น จำนวน 4 Treatment (วิธีการ) Treatment ละ 4 Replication (ขบวนการ) ใช้อัตราน้ำปัสสาวะที่แตกต่างกัน คือ

Treatment1 ใช้น้ำปัสสาวะ ต่อน้ำ 1:50 (ลิตร)

Treatment2 ใช้น้ำปัสสาวะ ต่อน้ำ 1:100 (ลิตร) จากการศึกษาพบว่า Treatment ที่ 1 ใช้น้ำปัสสาวะ ในอัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 50 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 81 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 77, 70 และ 62 โดยมีค่าเฉลี่ย 72.50 ต้น

Treatment ที่ 2 ใช้น้ำปัสสาวะ ในอัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 72 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 54, 53 และ 49 โดยมีค่าเฉลี่ย 57 ต้น