หลายท่านมีข้อสงสัยว่า หลังจากมะม่วงออกดอกแล้วกี่วันจะเก็บได้

สามารถดูได้จากตารางนี้ เพื่อเป็นแนวทางเพื่อคาดการณ์การเก็บเกี่ยวผลผลิต ความแก่ที่นับจะอยู่ที่ 80-90% เราสามารถบวก-ลบ จำนวนวันได้ ประมาณ 10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย เช่น ถ้าสภาพอากาศร้อนจัด มะม่วงก็จะแก่เร็วขึ้น หรือบางท่านใช้วิธีตัดผลมะม่วงไปจุ่มน้ำ ถ้าผลมะม่วงลอยที่ผิวน้ำก็ถือว่าเป็นมะม่วงอ่อน ถ้าผลมะม่วงจมน้ำแสดงว่าผลมะม่วงแก่แล้ว

“ อำเภอหนองหญ้าไซ ” จังหวัดสุพรรณบุรี ถูกเรียกขานเชิงประชดประชันว่า เป็นพื้นที่ “ อีสานสุพรรณ” เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ ไม่มีแม่น้ำสายหลักและอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำชลประทานจึงขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกมาโดยตลอด ยุคนี้จะพึ่งพาน้ำฝนเพื่อใช้ในการทำนาเหมือนในอดีต คงจะไม่ไหว เกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้จึงเปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาปลูกเมล่อนญี่ปุ่น จนประสบความสำเร็จทั้งหมู่บ้าน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง เมื่อปี 2549 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนญี่ปุ่นในท้องถิ่น ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง ” ภายใต้การนำของ คุณอำนาจ แตงโสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแจงงาม ( อบต.แจงงาม ) ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าเป็น ผู้ผลิตเมล่อนญี่ปุ่นในรูปแบบโรงเรือนปิดปลอดสารพิษตกค้างตามมาตฐานGAP ที่มีคุณภาพรสชาติความหวานเป็นที่ 1

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง มีการจัดการผลิตที่เป็นระบบโดยกำหนดรอบเวรให้สมาชิกแต่ละรายปลูกห่างกัน 4 วัน เพื่อให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบแห่งนี้ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และมีความสามัคคีปรองดองในกลุ่มสมาชิก ที่ผ่านมาพวกเขามักรวมตัวกันใช้แรงงานร่วมกันที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “ ลงแขก ” ไปช่วยผสมเกสรในแปลงปลูกเมล่อนของเพื่อนสมาชิก เพื่อให้ได้ผลผลิตทันเวลาและช่วยกันลงแขกเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ทำให้สมาชิกกลุ่มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆกัน เนื่องจากทุกคนต้องการร่วมมือกันพัฒนาเมล่อนของชุมชนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ทุกวันนี้เกษตรกรในท้องถิ่นหันมาปลูกเมล่อนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยทางกลุ่มฯ จะจัดอบรมความรู้เรื่องการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นให้แก่เกษตรกรมือใหม่ได้รู้จัก “ วงจรชีวิตแตงเมล่อน ” โดยช่วงวันที่ 1-10 เป็นขั้นตอนการเพาะกล้า ช่วงวันที่ 11-22 เป็นขั้นตอนการตัดแต่งแขนง ช่วงวันที่ 23-25 เป็นระยะผสมเกสร ช่วงวันที่ 26-30 เป็นระยะคัดผลและแขวนลูก ช่วงวันที่ 36-60 เป็นระยะเร่งลูก บำรุงปุ๋ยให้ต้นเมล่อนญี่ปุ่นเจริญเติบโตตามที่ต้องการ ช่วงวันที่ 61-70 วัน เน้นเพิ่มความหวานให้ผลเมล่อนญี่ปุ่น และช่วงวันที่ 71 -75 เป็นระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต

“ ผมมักแนะนำให้เกษตรกรมือใหม่ทดลอง ปลูกจำนวน 4 โรงเรือนก่อน โรงเรือนขนาด 3.5×36 เมตร ปลูกได้ 740 ต้น สามารถสร้างรายได้ถึงรอบละ 4-4.5 หมื่นบาทต่อโรงเรือน อย่างไรก็ตาม การปลูกในครั้งแรกจะมีต้นทุนค่าโรงเรือน ค่าระบบน้ำ ประมาณ 220,000 บาท และมีต้นทุนการปลูกเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ เฉลี่ยรอบละประมาณ 8,000 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด เกษตรกรมือใหม่จะมีโอกาสคืนทุนและได้ผลกำไรภายใน 1 ปี ” คุณอำนาจกล่าว

เนื่องจากกลุ่มฯ จัดหลักสูตรอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติอย่างเข้มข้น ช่วยทำให้เกษตรกรมือใหม่ทุกราย สามารถผลิตเมล่อนญี่ปุ่นคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาด ภายในเวลา 1 ปี เกษตรกรสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมล่อนญี่ปุ่นได้ถึง 3 รอบ หากมีการวางแผนจัดการที่ดีบางรายอาจปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ได้ถึง 7 รอบภายในระยะเวลา 2 ปี

“ การปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดพอสมควร เมล่อนญี่ปุ่น เป็นพืชที่ทนอากาศร้อนได้ดี แถมใช้น้ำน้อยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่ใช้ทำนา ใช้เวลาปลูกดูแลเพียงแค่ 75 วันเท่านั้น ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ เมล่อนแต่ละผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ย1.5-2 กก.แต่ละโรงเรือนจะเก็บผลผลิตออกขายได้ประมาณ 1 ตัน ขายส่งในราคา กก.ละ 53-60 บาท ” คุณอำนาจกล่าว

สมาชิกกลุ่มฯ ทุกคนตั้งใจผลิตเมล่อนญี่ปุ่น คุณภาพดีออกจำหน่าย หากผลผลิตไม่หวานไม่ตัดออกขายอย่างเด็ดขาด ทำให้สินค้าเมล่อนญี่ปุ่นทุกลูกที่ผลิตจากชุมชนฯ แห่งนี้ มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เรียกว่า ผลิตจนไม่ทันกับความต้องการของตลาด สินค้ามีมากเท่าไหร่ก็ผลิตไม่พอขาย ปัจจุบันทางกลุ่มฯ มีสมาชิกราว 80 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 100 ไร่ และยังคงขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ ตั้งเป้าผลิตเมล่อนญี่ปุ่นให้ได้ 70 ตันทุกเดือน

“ ลงแขกผสมเกสรเมล่อนญี่ปุ่น ”

“ ผู้ใหญ่หมู ” หรือคุณชูศักดิ์ แตงโสภา (โทรศัพท์ 08-1924-8192 ) หนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ผมปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลักแต่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ผลกำไรเหลือไม่มาก ต่อมาปี 2554 เห็นเพื่อนเกษตรกรในชุมชนปลูกเมล่อนญี่ปุ่นแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี ก็สนใจทดลองปลูกเมล่อน ปรากฎว่าสามารถคืนทุนได้ตั้งแต่การปลูกรอบแรก จึงขยายพื้นที่ปลูกเมล่อนเรื่อยมากจนถึงปัจจุบัน

การปลูกเมล่อนญี่ปุ่นให้ได้ผลผลิตที่ อยู่ที่เทคนิคการผสมเกสรดอกเมล่อนในระยะเวลาที่เหมาะสมคือ ตั้งแต่ “7.00 – 11.00 น. ” หลังจากนี้ไม่ได้ผลนัก เพราะพืชคายน้ำ ปัจจุบันทางกลุ่มฯ ได้ช่วยกันทำงาน โดยลงแขกผสมเกสรต้นเมล่อนญี่ปุ่น ทำให้สมาชิกทุกรายได้ผลผลิตที่ดี โดยทั่วไปดอกเมล่อนเป็นสมบูรณ์ คือมีเกสรตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ระหว่างข้อบนลำต้น การผสมเกสรจะทำในตอนเช้า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 7.00-9.00 น. โดยเลือกผสมดอกเพียง 2 – 3 แขนงต่อต้น อาศัยการจดบันทึกดอกบานหรือจำนวนดอกที่ผสมในแต่ละวัน เพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

” เมล่อน บอล พันช์ ” เครื่องดื่มคลายร้อน อร่อยด้วย

ในภาวะอากาศหน้าร้อนเช่นนี้ มีเมนูเครื่องดื่ม ดับร้อนมาฝากกัน วิธีการทำก็แสนง่าย เริ่มจากจัดเตรียมส่วนผสมได้แก่ เมล่อน แตงโม เครื่องดื่มสไปรท์ 2 ถ้วย เครื่องดื่มรสมะนาว 1 ถ้วย ใบมินต์ หรือใบสะระแหน่สักเล็กน้อย มะนาวฝาน 2 แว่น รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์สำคัญได้แก่ ที่ตักผลไม้ เหยือกน้ำ และช้อนคน เมื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ครบครัน ก็มาลงมือทำกันได้เลย

วิธีการทำ 1. ผ่าผลเมล่อน ขูดเมล็ดออก 2. นำอุปกรณ์ที่ตักผลไม้ มาตักเมล่อนและแตงโมให้เป็นลูกกกลมๆ ใส่ถุงปิดปากให้สนิท แล้วนำไปแช่ตู้เย็นให้แข็ง 3. ผสมเครื่องดื่มทุกอย่าง คนให้เข้ากัน4. นำผลไม้ที่แช่ตู้เย็นจนแข็ง ใส่ลงไป 5. ใส่มะนาวและใบมินต์ตามลงไป 6. นำไปแช่ตู้เย็นเพื่อให้ส่วนผสมต่างๆ เข้ากัน 7. ก่อนเสริฟ นำผลไม้แช่เย็นที่เหลือมาจัดใส่แก้ว แล้วเทน้ำลงไป เพียงเท่านี้ก็จะได้เครื่องดื่มเย็นๆ ที่มีรสชาติเปรี้ยวนิดๆ ซ่าหน่อยๆให้อารมณ์พันช์ ที่หลายคนน่าจะชื่นชอบ

เผยแพร่ วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2561

“ดวงพร เวชสิทธิ์ (คุณปุ้ย)” วัย 41 ปี นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer (YSF) ที่เป็นความหวังของภาคเกษตรไทย ในฐานะกำลังหลักที่จะผลิตอาหารที่มีคุณภาพป้อนครัวไทยและครัวโลก อีกทั้งเป็นพลังขับเคลื่อนความมั่นคงด้านเศรษฐกิจไทยในอนาคต

คุณปุ้ย เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เธอเรียนจบปริญญาตรี สาขาการจัดการคอมพิวเตอร์ เคยทำ e-commerce ค้าขายในอีเบย์ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เธอยอมลาออกจากอาชีพมนุษย์เงินเดือน เพื่อกลับมาสานต่อกิจการ “สวนบุษรา” ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว ในฐานะทายาท รุ่นที่ 3

แม้คุณปุ้ยไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน แต่เธอพยายามเรียนรู้ฝึกฝนทักษะต่างๆ จากการขอความช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรจังหวัด และสมัครเข้าร่วมโครงการ Yong Smart Farmer (YSF) ของกรมส่งเสริมการเกษตร เธอมีโอกาสรวมกลุ่มพูดคุยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ช่วยกันวิเคราะห์วิธีการและหาแนวทางการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม young smart farmer จังหวัดจันทบุรี และเป็นประธานคณะกรรมการเครือข่าย YSF เขต 3 (ภาคตะวันออก) ได้รับการฝึกอบรมความรู้ด้านการเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบัน คุณปุ้ย และครอบครัวมีบ้านพักอาศัยอยู่ในตัวเมือง บ้านเลขที่ 54/1 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22000 โทร. 081-864-6346 เฟซบุ๊ก : ปุ้ย ดวงพร และ Line ID : 081-864-6346

ครอบครัวคุณปุ้ยทำสวนเกษตรผสมผสาน ชื่อว่า “สวนบุษรา” เนื้อที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี สวนบุษรา มีรายได้หลักจากการปลูกมังคุดและลองกอง รวมทั้งปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ ต้นหมาก ปลูกแซมในพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีรายได้จากการเกษตรเฉลี่ยปีละล้านกว่าบาท

ทุกวันนี้ คุณปุ้ย เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตร ภายใต้แนวคิด “สนุกคิดชีวิตเกษตรกร” เพราะได้ทำงานที่ตนรัก ทำให้มีความสุขในการวางแผนการทำงาน มีความสุขในการแก้ไขปัญหาและพัฒนางานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้แผ่นดินแห่งนี้กลายเป็นมรดกตกทอดไปยังบุตรสาวของเธอ ทายาท รุ่นที่ 4 ที่กำลังขะมักเขม้นเรียนคณะเกษตร เพื่อรับช่วงสานต่ออาชีพเกษตรกรรมจากคุณปุ้ยในอนาคต

เนื่องจากสวนแห่งนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม ติดคลอง ทำให้สวนมังคุด เนื้อที่ 20 ไร่ ออกดอกช้า ช่วงเก็บเกี่ยวเจอปัญหาฝนตกชุก ผลผลิตเกิดความเสียหายด้อยคุณภาพ ขายได้ราคาต่ำ คุณปุ้ยพยายามเอาชนะธรรมชาติ โดยให้ต้นมังคุดออกดอกและติดผลเร็วขึ้นในเวลาที่กำหนดคือ เก็บเกี่ยวผลผลิตชุดใหญ่ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ คุณปุ้ยยังได้นำผลการวิเคราะห์ SWOT และวางแผนการจัดการสวนรายปี มาใช้ปรับปรุงสวนมังคุดเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10-12 เปอร์เซ็นต์ ในปีต่อๆ มา

คุณปุ้ย ได้เรียนรู้เทคนิคการบังคับให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อน เพื่อให้อายุใบพร้อมออกดอกในเวลาที่ต้องการ ด้วยการสะสมอาหารให้มากพอก่อนหมดฤดูการเก็บเกี่ยว ร่วมกับศึกษาข้อมูลอากาศระยะรายปี จากปรากฎการณ์ลานีญ่า ซึ่งเกิดภาวะฝนชุก หนาวมาก หนาวนานและความชื้นสูง และปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งเกิดภาวะแล้งเร็ว ไม่ค่อยหนาว ความชื้นต่ำ

อีกทั้งยังมีการเรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในสวนของตนเอง โดยคุณปุ้ยได้ศึกษาเรื่องแผนที่อากาศ เพื่อพยากรณ์อากาศรายสัปดาห์ควบคู่ไปกับการจัดการธาตุอาหารที่สำคัญในการออกดอก ให้ทุกอย่างสัมพันธ์กันในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ด้านตลาด

ปัจจุบัน สวนบุษรา ของคุณปุ้ย ได้รับการตรวจสอบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP : Good Agriculture Practice) ผลผลิตมังคุดจะออกตลาดในช่วงเมษายน-มิถุนายน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 25 ตัน ต่อปี เป็นมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก 70% และเป็นมังคุดนอกฤดู 30% ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ เช่น มังคุดเนื้อแก้ว มังคุดยางไหล ฯลฯ และไร้ปัญหาด้านการตลาด โดยสามารถขายผลผลิตได้ราคาที่สูงกว่า 50 บาท ต่อกิโลกรัม

ด้านสังคม

คุณปุ้ย พยายามรวมพลังกลุ่มเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็งในทุกมิติ โดยให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่ม โดยคุณปุ้ยเป็นผู้ดูแลเพจกลุ่มชาวสวนจันทบุรี ซึ่งมีสมาชิกกว่า 2 หมื่นคน โดยปรับปรุงข้อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ข่าวสารทางด้านการเกษตร และเธอยังมีตำแหน่งเป็นเลขานุการเครือข่ายกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุดจังหวัดจันทบุรี ทำหน้าที่ประสานงานในด้านต่างๆ ทั้งการจัดประชุม ประสานงานระหว่างเครือข่ายกับหน่วยงานอื่น และเธอยังทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครฝนหลวง จังหวัดจันทบุรี มีหน้าที่รายงานปริมาณน้ำฝน ฝนแล้ง ขอรับการสนับสนุนการทำฝนหลวง

คุณปุ้ย ได้เป็นแกนนำในการรวมกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุดจันทบุรี ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายทั้งจังหวัดจันทบุรี รวบรวมผลผลิตโดยกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดจันทบุรี เพื่อส่งไปขายตลาดประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน

ที่ผ่านมา คุณปุ้ย เป็นแกนนำ ขอรับเงินจากสถาบันทุเรียนไทย จำนวน 5,000 บาท เพื่อใช้ดำเนินงานสนับสนุนเครือข่าย Yong Smart Farmer จันทบุรี ดำเนินการจัดอบรม “รู้ทันฟ้า ฝนของคนเกษตร” และดำเนินการจัดอบรม หลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างประหยัดและได้ผล โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ สามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรกรของท้องถิ่น โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการเข้ามาสนับสนุน นับเป็นการคืนกำไรสู่สังคมอีกทางหนึ่ง

“อำนาจเจริญ” ได้กำหนดวิสัยทัศน์จังหวัดว่า “เมืองธรรมเกษตร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เส้นทางการค้าสู่อาเซียน” และมีนโยบายขับเคลื่อนให้เป็นเมืองสมุนไพรและเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัด เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ตามโครงการ 3 ดี คือ คนดี สุขภาพดี รายได้ดี นั้น

สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ดำเนินการตามแนวทางของจังหวัด โดยได้พัฒนา “ผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร บ้านหนองเม็ก” ให้เป็นต้นแบบหมู่บ้านผักอินทรีย์แห่งแรกของจังหวัดอำนาจเจริญ ในฉบับนี้ ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านโชคดีได้พันธมิตรคนเก่ง “คุณคมกฤช สุขกุล” ผู้บริหารฟาร์ม “บ้านสวนคลายทุกข์” จังหวัดอำนาจเจริญ ให้เกียรติสละเวลาพาพวกเราไปเยี่ยมชมกิจการ “กลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก” ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ขอขอบคุณ “คุณคมกฤช สุขกุล” มา ณ ที่นี้

ผักอินทรีย์ หนองเม็ก

ปัจจุบัน กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก อยู่ภายใต้การนำของประธานกลุ่มคือ “คุณจำปา สุวะไกร” เธอเล่าว่า ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ ตั้งใจปลูกผักอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร สด สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน รวมทั้งพัฒนาสินค้าผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ให้เป็นสัญลักษณ์ “เมืองธรรมเกษตร” ตามนโยบายของจังหวัดอำนาจเจริญควบคู่กันไป

คุณจำปา แนะนำให้ผู้เขียนรู้จักกับ “คุณป้อม” หรือ “คุณศุภชัย มิ่งขวัญ” ลูกเขยของเธอ ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก โดยทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตและดูแลด้านการตลาด คุณป้อมเรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ไปฝึกงานเป็นยุวเกษตร ที่อิสราเอล นานถึง 7 ปีเต็ม

เมื่อคุณป้อมกลับมาอยู่เมืองไทย ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่บ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา คุณป้อมได้นำนวัตกรรมความรู้ด้านการเกษตรที่ทันสมัยจากประเทศอิสราเอลมาใช้ปลูกผักอินทรีย์ของตัวเอง ในชื่อ “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม” โดยปลูกพืชผักอินทรีย์ บนเนื้อที่ 35 ไร่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูกผักอินทรีย์และรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งขายตลาด

คุณป้อม บอกว่า ปัจจุบัน “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม” มีสมาชิกลูกไร่ที่ปลูกผักอินทรีย์รวมกันประมาณ 100 ไร่ โดยเน้นปลูกพืชผักอินทรีย์ในโรงเรือนระบบปิด เรียกว่า “โรงเรือนกรีนเฮ้าส์” ข้างบนเป็นหลังคาพลาสติก ด้านข้างเป็นมุ้งกันแมลง สมาชิกแต่ละรายจะมีพื้นที่เพาะปลูกไม่เท่ากัน เฉลี่ยรายละ 12-20 แปลง

“ผักสลัดอินทรีย์” คือสินค้าหลักของกลุ่ม สินค้าผักสลัดของที่นี่มีหลากหลายชนิด ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ ฯลฯ รวมทั้งผักสดอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมจากท้องตลาด เช่น ผักปวยเล้ง คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ โดยทางกลุ่มจะเน้นปลูกพืชผักสลับหมุนเวียนกันไปตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก

ชูนโยบาย “การตลาดนำการผลิต”

คุณป้อม กล่าวว่า ทุกวันนี้ ทางกลุ่มทำแปลงปลูกผักเชิงพาณิชย์ วางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ ให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี โดยลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำ และใช้โรงเรือนระบบปิดที่ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิต

ก่อนปลูกพืชผัก ทางกลุ่มจะคำนวณพื้นที่ปลูกว่า ในปีนี้มีโรงเรือนกรีนเฮ้าส์กี่แห่ง ปลูกผักได้กี่รอบ จำนวนเท่าไร ก่อนสรุปแผนการผลิตให้ลูกค้าได้รับทราบ เช่น ผลิตผักสลัดได้ สัปดาห์ละ 1,000 กิโลกรัม และผักอื่นๆ รวม 1,200 กิโลกรัม เมื่อลูกค้าโอเค ก็นำแผนงานดังกล่าวมาแจกจ่ายให้สมาชิกวางแผนการผลิตต่อไป

ปัจจุบัน สินค้าเกษตรอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ ส่งไปขายให้คู่ค้าหลักคือ บริษัท S&B food supply จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดส่งผักขายให้กับห้าง Tops supermarket ทั่วประเทศ โดยสินค้าผักอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ จำหน่ายในชื่อแบรนด์ “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม” จังหวัดอำนาจเจริญ

“สินค้า ‘ไร่ภูตะวัน’ ผลิตได้สัปดาห์ละ 2,000 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผักสลัด รองลงมาเป็นกลุ่มผักพื้นบ้านประเภท ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 200-300 กิโลกรัม ทุกวันนี้สินค้าไร่ภูตะวันขายดีมาก จนผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาด” คุณป้อม กล่าว

หากสมาชิกต้องการปลูกผักสลัดออกมาขายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะต้องมีโรงเรือนปลูกอย่างน้อย 6 โรงเรือน โดยทั่วไป ผักสลัดจะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 45 วัน ก่อนปลูกจะต้องเพาะเมล็ดพันธุ์สลัดในเนิร์สเซอรี่ก่อน เมื่อต้นกล้าเติบโตตามที่ต้องการจึงค่อยย้ายมาปลูกในโรงเรือนอีก 30 วัน เมื่อต้นผักสลัดเติบโตเป็นสัปดาห์ที่ 5 จึงเริ่มตัดผลผลิตออกขายได้ ในสัปดาห์ที่ 6 จะเริ่มพักแปลง ประมาณ 7 วัน ก่อนลงทุนปลูกผักรอบใหม่ ระหว่างที่เตรียมแปลงปลูกรอบใหม่ สมาชิกจะเพาะกล้าพันธุ์ผักสลัดไปพร้อมๆ กัน

การเตรียมแปลงเพื่อปลูกผักรอบใหม่ คุณป้อม จะใส่ปุ๋ยหมักและโดโลไมท์ ซึ่งเป็นสารปรับสภาพดิน ลดความเป็นกรด แก้ดินเปรี้ยว ช่วยปรับโครงสร้างดิน ให้ธาตุอาหารหลัก อาหารรองแก่ดินและพืช โดโลไมท์มีคุณสมบัติแก้ปัญหาการขาดธาตุอาหาร แคลเซียม แมกนีเซียมและซิลิกอนในดิน ช่วยให้พืชดูดกินปุ๋ยได้ดีขึ้น เพิ่มการสังเคราะห์แสงและการแบ่งเซลล์ของพืช ขณะเดียวกันโดโลไมท์ยังเพิ่มความสามารถการทำงานของจุลินทรีย์ ปัองกันโรคและแมลงเข้าทำลายในแปลงเพาะปลูกไปพร้อมๆ กัน

โรงเรือนปลูกผักระบบมาตรฐานของชุมชนแห่งนี้ มีขนาดความกว้าง ยาว ประมาณ 6×30 เมตร คุณป้อม จะใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กปรับพื้นที่ ในลักษณะยกร่องแปลง 4 แถว ต่อ 1 โรงเรือน ข้อดีของการปลูกผักยกแปลงคือ สามารถป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกได้ โดยทั่วไป พื้นที่ 1 โรงเรือน จะปลูกผักสลัดได้ จำนวน 6,000 ต้น

แม้ผักสลัดจะมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่อายุการเก็บเกี่ยวผักแต่ละชนิด จะห่างกันไม่ถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 45-50 วัน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระยะการเพาะกล้าเป็นหลัก โดยสมาชิกจะเริ่มเพาะผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว 50 วันก่อน จึงค่อยเพาะพันธุ์ผักที่มีอายุเก็บเกี่ยว 45 วัน ต่อไป อย่างไรก็ตาม ผักสลัดทุกชนิดที่ย้ายมาปลูกในโรงเรือนจะใช้เวลาปลูกดูแล 30 วันเท่าๆ กัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการผลผลิต ให้มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวเท่ากันนั่นเอง

“ผักสลัดบัตเตอร์เฮด มีอายุเก็บเกี่ยวนาน 50 วัน จึงต้องเริ่มเพาะกล้าก่อนผักสลัดอายุสั้น 45 วัน เช่น กรีนโอ๊ค ฯลฯ โดยเกษตรกรจะใช้เวลาดูแลผักบัตเตอร์เฮดในเนิร์สเซอรี่ประมาณ 20 วันก่อน ค่อยย้ายต้นกล้ามาปลูกในโรงเรือนต่ออีก 30 วัน จึงค่อยเก็บเกี่ยวผลผลิตในสัปดาห์ที่ 5” คุณป้อม กล่าว

การดูแลจัดการแปลง

ทุกวันนี้ สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครอบครัวในการปลูกดูแลผักสลัด เฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน การให้น้ำในแปลงปลูก ไม่ใช่ขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต เพราะชุมชนแห่งนี้ได้ลงทุนติดตั้งระบบน้ำแบบสเปรย์หมอก ในแต่ละโรงเรือนอยู่แล้ว เมื่อเปิดวาว์ลน้ำ ระบบสเปรย์น้ำจะรดน้ำแปลงผักนาน 5 นาที เสียเวลาเปิดวาว์ลน้ำครั้งเดียว สามารถรดน้ำแปลงผักได้ครบทุกโรงเรือน แรงงาน 1 คน สามารถเปิดน้ำรดแปลงผักได้ถึง 50 ไร่

คุณป้อม บอกว่า สมาชิกที่มีพื้นที่ปลูกผักสลัด จำนวน 6 โรงเรือน จะมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10,000-15,000 บาท หรือประมาณเดือนละ 40,000-60,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่ค่อนข้างสูง เป็นที่พึงพอใจของสมาชิกกลุ่ม

เมื่อถามถึงปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการลงทุนแต่ละรอบ ก็ได้รับคำตอบว่า ใช้เงินลงทุน ครั้งละ 1,000 บาท เท่านั้น เช่น ค่าปุ๋ยหมัก 10 กระสอบ มูลค่า 200 บาท ที่เหลือเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ เมื่อคำนวณปัจจัยการผลิตกับผลตอบแทนที่ได้รับของชุมชนแห่งนี้แล้ว ถือว่าได้ผลกำไรสูงทีเดียว สร้างแรงจูงใจให้หลายคนสนใจอยากปลูกผักสลัดอินทรีย์เช่นเดียวกับพวกเขา

ข้อแนะนำ สำหรับเกษตรกรมือใหม่

คุณป้อม บอกว่า การทำเกษตรยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ “ขั้นตอนการผลิต” แต่หัวใจหลักอยู่ที่ “การตลาด” ในวันนี้ หากลงทุนปลูกพืชชนิดไหน ควรใช้ “หลักการตลาดนำการผลิต” ก่อนตัดสินใจปลูกสินค้าเกษตรตัวไหน ควรขายสินค้าให้ได้ก่อน นี่คือ หลักการค้าของคนยิว

“เวลาผมไปคุยกับตลาด จะบอกลูกค้าว่า มีพื้นที่ปลูกเท่าไร มีสมาชิกกี่ราย มีการวางแผนการจัดการผลผลิตอย่างไร ให้ลูกค้าเกิดความสนใจ และตามมาดูพื้นที่จริง เมื่อลูกค้าเกิดความมั่นใจว่า เราทำได้ เริ่มการสั่งซื้อ จึงค่อยเริ่มผลิตสินค้าป้อนตลาด” คุณป้อม กล่าว

เคล็ดลับปลูกผักเมืองหนาวให้เติบโตงอกงามในช่วงฤดูร้อน

โดยธรรมชาติแล้ว ผักสลัด Royal Online V2 เป็นตระกูลพืชเมืองหนาว มักเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว แต่การปลูกผักเมืองหนาวในช่วงฤดูร้อน กลับเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรมือใหม่ เพราะผักสลัดไม่ค่อยเติบโตเท่าที่ควร

“หากใครต้องการปลูกผักเมืองหนาวให้เติบโตดีในช่วงหน้าร้อนทำได้ไม่ยาก เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่ “การลดอุณหภูมิในโรงเรือน” โดยใช้ 2 วิธี คือสเปรย์น้ำช่วยระบายความร้อน และติดตั้งพัดลมบริเวณด้านหน้า-ด้านหลัง ของโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ เพื่อเร่งระบายความร้อนออกจากโรงเรือน ก่อนที่ความร้อนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของผัก ทำให้ผักเกิดความเครียดจนหยุดการเติบโต วิธีนี้สามารถช่วยให้ผักเมืองหนาวเติบโตไปได้ แม้ผลผลิตจะลดลงไปบ้าง ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน” คุณป้อม กล่าว

ทั้งนี้ สภาพในโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ตามปกติ จะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย ประมาณ 35 องศาเซลเซียส หากลงทุนติดตั้งอุปกรณ์พัดลมบวกกับต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มขึ้นอีก โรงเรือนละ 2,000-3,000 บาท แล้วสามารถลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ในช่วงฤดูร้อน ให้เหลือแค่ 28-30 องศาเซลเซียส ทำให้ผักสลัดเมืองหนาวไม่มีอาการเครียด เจริญเติบโตได้งอกงาม มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เฉลี่ยโรงเรือนละ 300-350 กิโลกรัม หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไรก้อนโต ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว

“บ้านหนองเม็ก” ต้นแบบหมู่บ้านผักอินทรีย์

ปัจจุบัน “หมู่บ้านหนองเม็ก” เป็นหมู่บ้านต้นแบบผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล คือ Organic Thailand และ IFOAM เป็นโรงเรือนผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร ที่มีตลาดรองรับอย่างสม่ำเสมอ โดยลูกค้าหลักคือ ห้าง Tops Supermarket และจำหน่ายสินค้าในตลาดท้องถิ่น เช่น ตลาดหอนาฬิกาอำนาจเจริญ หน้าศูนย์อาหารบิ๊กซี อำนาจเจริญ ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. และอุทยานบุญนิยม อุบลราชธานี เป็นต้น