หวังว่าเมื่อทำออกมาสำเร็จแล้ว สามารถนำมาใช้ในครอบครัว

ประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการเจือปนของสารเคมีเพราะทำจากสมุนไพร อาจพัฒนาเป็นรายได้เสริม สิ่งที่สำคัญคือฝึกการทำงานเป็นทีม และใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูตรการทำน้ำยาบ้วนปากสมุนไพร

1.นำน้ำสะอาดต้มกับเปลือกข่อย ดอกกานพลูและเกลือแกง ในอัตราส่วนที่กำหนด

2.คนให้เข้ากัน ต้มจมน้ำเดือดร้อนจัด ยกลงจากเตากรองเอาแต่น้ำ เติมน้ำมันเปปเปอร์มิ้นต์ และการบูรในอัตราส่วนที่กำหนด คนให้เข้ากันกรองน้ำจนไม่มีตะกอนบรรจุผลิต

วิธีใช้ ใช้ผสมกับน้ำใช้บ้วนปาก ความเข้มข้นตามความต้องการ

สรรพคุณ เปลือกข่อย สามารถรักษาแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ กิ่งสด ทำให้ฟันทนทาน ไม่ปวดฟัน ฟันแข็งแรง และเมื่อต้มกับเกลือจะเป็นยาอมแก้โรครำมะนาด, เกลือแกง ฆ่าจุลินทรีย์ ดับกลิ่น, ดอกกานพลู รสเผ็ดร้อน ฆ่าเชื้อ ดับกลิ่นปาก, น้ำมันเปปเปอร์มินต์ ดับกลิ่นปาก ส่วนการบูร มีกลิ่นหอม ช่วยลดอาการคัดจมูก ดับกลิ่น

นอกจากนี้นักเรียนยังเก็บใบย่านาง มาบรรจุใส่ถุงจำหน่าย ย่านาง มีอยู่มากในพื้นที่ นักเรียนจึงเก็บมาล้างน้ำ 3 ครั้ง แล้วตัดใบให้ได้ขนาดพอดี นำตากแห้งพลิกกลับอยู่บ่อยๆ เพื่อให้ใบแห้งดี แล้วนำไปปั่นให้ละเอียด ก่อนบรรจุใส่ถุงกระดาษเล็กๆ เป็นชาใบย่านาง

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ครูณชนก แปงอินต๊ะ ครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้านค้างปินใจ ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทร. 0-5461-9272

แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับการเชื้อเชิญให้ลองชิมเมนูจิ้งหรีดทอดหลายต่อหลายครั้งในหลายโอกาส แต่ก็ไม่กล้าลองสักครั้ง เพราะเห็นตัวแล้วรับประทานไม่ลง เป็นคนประเภทไม่ชอบหม่ำบรรดาสัตว์สี่ขาแบบนี้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารสชาติมันคงเอร็ดอร่อยจริงๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็นอาหารจานโปรดของผู้คนจำนวนไม่น้อย

วันก่อนมีอันต้องไปทำธุระแถวบ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เห็นแม่ค้าขายจิ้งหรีดทอดใส่ถุง ขายถุงละ 20 บาท สอบถามคุณวิเชษฐ น้อยกลาง คนขายวัยกว่า 50 ปี ได้ความว่า เป็นคนเลี้ยงจิ้งหรีดเอง และนำมาทอดขายในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวที่บ้านปราสาท ซึ่งแม้จะเป็นมือใหม่เพิ่งเลี้ยงเจ้าจิ้งหรีดและสะดิ้งไม่กี่เดือน แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็ทำเอาคุณวิเชษฐปลื้มใจและมีกำลังใจที่จะเลี้ยงต่อไป

คุณวิเชษฐ พาไปดูโรงเรือนเลี้ยงที่ทำง่ายๆ หลังไม่ใหญ่นัก ใช้อิฐบล็อก 200 ก้อน ปูน 10 ถุง มีหลังคาและก่ออิฐบล็อกกั้นเป็นที่อยู่ และใช้ถาดบรรจุไข่เป็นที่ให้พวกมันอาศัยหลับนอน จิ้งหรีดจะตัวใหญ่มีสีดำ ส่วนสะดิ้งมีสีขาวขุ่นๆ ตัวเล็กกว่าเยอะ

คุณวิเชษฐเล่าว่า เริ่มเลี้ยงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งเลี้ยงได้มานาน เมื่อก่อนทำนาเป็นหลักอย่างเดียว แต่เมื่ออายุมากมีปัญหา แข้งขาไม่ดี ญาติที่เลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ก่อนแถวอำเภอปักธงชัย เลยชวนเลี้ยงให้มาเลี้ยงจิ้งหรีด

“ครั้งแรกซื้อไข่มา ขันละ 100 บาท พอเราเลี้ยงได้ 45 วัน จะโตเป็นจิ้งหรีดและวางไข่ แต่ก่อนจะขายนั้นต้องเลี้ยงด้วยฟักทอง เวลาทอดจะได้หอมๆ มันๆ ส่วนอาหารอื่นๆ ที่ให้ก็มีใบมัน ใบตำลึง และสาหร่ายบ้าง ถ้าเป็นเจ้าอื่นใครมีเวลาเขาก็ไปหาผักกาดเขียวบ้าง”

ในวันที่สนทนากันนั้น เธอเลี้ยงมา 4 รุ่นแล้ว โดยครั้งแรกลงทุนซื้อไข่มาทั้งหมด 5,000 บาท ขายตัวได้ 5,000 บาท จากนั้นก็ได้ไข่มาเลี้ยงต่อ ซึ่งการเลี้ยงไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก แค่เฉพาะค่าอาหารที่จะต้องซื้ออาหารไก่ให้กินบ้างในช่วงที่จิ้งหรีดและสะดิ้งจะวางไข่ เพื่อให้ได้จำนวนไข่ที่มากและสมบูรณ์ ส่วนตัวโรงเรือนนั้นคุณวิเชษฐลงทุนไป 6,000 บาท เป็นคอกที่มีหลังคา สาเหตุที่ต้องทำโรงเรือนนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มดหรือจิ้งจกเข้ามากินตัวจิ้งหรีด

สะดิ้งลอกคราบ 3 ครั้ง

ในการเลี้ยงทั้งจิ้งหรีดและสะดิ้งนั้น เธอว่าสะดิ้งเลี้ยงยากกว่า โดยช่วงเวลาใกล้ๆ จะวางไข่มันจะลอกคราบและกินกันเอง ดังนั้นต้องนำใบตองแห้งมาปิดไว้ เพื่อเป็นที่ซ่อนตัว ซึ่งในรอบชีวิตของสะดิ้งจะลอกคราบประมาณ 3 ครั้ง เริ่มครั้งแรกตอนอายุ 10 วัน ต่อมาประมาณ 20 -30 วัน จะเริ่มลอกอีกครั้งหนึ่ง และช่วง 45 วันก็จะเริ่มลอกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจะวางไข่ แม้การเลี้ยงสะดิ้งจะยากกว่า แต่พูดถึงราคาแล้ว จิ้งหรีดได้ราคาดีกว่า

“จิ้งหรีดจะขายได้ราคาดีกว่า เขารับซื้อกิโลละ 80 บาท ถ้าขายที่หมู่บ้านเราขายปลีกกิโลละ 100 ส่วนสะดิ้งเขารับซื้อกิโลละ 70 ขายปลีกกิโลละ 100 คน ที่ผ่านมาในหมู่บ้านชอบซื้อกิน ขายดีมาก ส่วนใหญ่เราขายกันเองในหมู่บ้าน บางครั้งเราจับได้ประมาณ 20 -40 กิโล”

เลี้ยง 6 เดือนได้ทุนได้กำไรแล้ว

การเลี้ยงจิ้งหรีดและสะดิ้งครั้งนี้ คุณวิเชษฐลงทุนไป 10,000 บาท เพียงแค่ 6 เดือน เธอก็ได้ทุนคืนแล้ว พร้อมกับกำไรรวมแล้วประมาณ 30,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากขายตัวบ้าง ขายไข่บ้าง

ด้วยรายได้เช่นนี้ เธอจึงวางแผนที่จะทำเป็นอาชีพหลัก และยังทำให้เพื่อนบ้านหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดตามเธออีกหลายราย ขณะที่แต่ก่อนบางคนวิจารณ์ว่าเธอบ้าที่เลี้ยงจิ้งหรีด

อย่างไรก็ตามเธอไม่คิดว่าเพื่อนบ้านที่เลี้ยงตามนั้นจะเป็นคู่แข่ง ถือเป็นคู่ค้าเสียด้วยซ้ำ เพราะแต่ละรายก็ต้องมาซื้อไข่จากเธอทั้งนั้น การเลี้ยงจิ้งหรีดแม้จะมีรายได้งาม เธอเองก็อยากจะขยายโรงเรือนเพิ่ม แต่ด้วยความที่ต้องเลี้ยงอยู่คนเดียวไม่มีคนในครอบครัวมาช่วย การไปหาอาหารมาเลี้ยง เช่นสาหร่าย เป็นเรื่องยาก เธอจึงคิดเลี้ยงแค่ในโรงเรือนโรงเดียวเท่านั้น

เลี้ยงง่ายไร้ปัญหา

เห็นโรงเรือนและวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมทั้งผลตอบแทนที่ได้แล้ว คงมีหลายคนอยากจะเลี้ยงเป็นอาชีพบ้าง เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายๆจริง

“ตั้งแต่ทำมาไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ใครๆ ก็ทำได้ ถ้าเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ได้ก็ไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว ทำเป็นอาชีพหลักได้เลย คิดคร่าวๆ น่าจะได้เดือนละ 3,000 บาท แต่ถ้าโรงเรือนใหญ่หน่อยจะได้ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องเหนื่อยมาก เพราะมันไม่บินหนี อยากชวนคนอื่นมาทำด้วย เพราะจิ้งหรีดเลี้ยงง่ายโดยเฉพาะตัวดำโตเร็ว ไม่ถึง 45 วันก็ได้ขายแล้ว ถึงเวลาจับขาย ก็เคาะให้มันออกมาจากถาดไข่แล้วล้างน้ำให้สะอาด ถ้าลูกค้าอยู่ไกลแล้วมาขอซื้อเราจะนึ่งให้เขาก่อนจะได้เอาไปง่ายๆ”

ในการขายจิ้งหรีดและสะดิ้งนั้น เธอขายทั้งตัวเป็นๆ และทอดขาย หากสนใจติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-8742268 “ฉันทอดขายเองด้วย ทอดขายกำไรเยอะกว่าแต่คนซื้อบอกว่าได้น้อย ฉันก็บอกให้เขาซื้อสดไปจะได้ทอด กินได้เยอะๆ อย่างทอดขายถุงละ 20 บาท หนักประมาณขีดกว่าๆ ถ้าทอด 3 กิโล จะขายได้ 400 -450 บาท”

เน้นฟักทอง-ผักปลอดสารเคมี

เกษตรกรของบ้านปราสาทอีกรายที่หันมาเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย คือ คุณบัณฑิต ขออ่อนกลาง วัย 43 ปี ซึ่งเพิ่งเลี้ยงมาได้ 4 เดือน แต่ก็ลงมือขยายโรงเรือนเพิ่มอีก 1 โรง จากที่มีอยู่เดิม 1 โรง ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรรายนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าอาชีพเสริมดังกล่าวจะทำเงินได้ก้อนโต

“ผมเผาถ่านขาย ไม้ที่เอามาเผาก็เป็นไม้ยูคาลิปตัสบ้าง เศษไม้บ้าง แล้วผมทำน้ำส้มควันไม้ โดยทำเป็นอาชีพเสริมทำคู่กับทำนาเป็นอาชีพเสริม การเลี้ยงจิ้งหรีดก็อยากได้เป็นอาชีพเสริมอีกอาชีพทางหนึ่ง รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 2 ก่อนหน้านี้ผมเคยไปดูงานที่บ้านตะแบก อ.โนนสูง เห็นว่าบ้านเราก็พอทำได้เลยมาลองทำ ลงทุนครั้งแรกทำโรงเรือนโดยต่อออกไปจากยุ้งข้าว ประมาณ 7,000 บาท เทพื้นคอนกรีตแล้วซื้อหลังคาใหม่ เอาตาข่ายสีเขียวมาคลุมเพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งจกลงมากิน แล้วกั้นเป็นรางน้ำเพื่อกันมดไม่ให้เข้าไปกินไข่มัน”

ครั้งแรกคุณบัณฑิตลงทุนซื้อไข่สะดิ้งขันละ 80 บาท เมื่อเลี้ยงแล้วจะได้1 กิโลกรัม การให้อาหารแต่ละช่วงเวลานั้นก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้จิ้งหรีดและสะดิ้งโตไว “อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นหัวอาหารสำหรับไก่แรกเกิด ซื้อมาแล้วก็เอามาบดละเอียดผสมรำอ่อน ที่โรงสีแถวบ้านกิโลละ 5 บาท แล้วนำมาผสมกับหัวอาหารไก่เล็ก อย่าให้เยอะเพราะถ้าเหลือจะเสีย แต่ถ้าอยากให้โตเร็ว ๆ ก็เลี้ยงเฉพาะหัวอาหารแล้วก็ให้น้ำ ครั้งแรกเวลาที่เราให้น้ำ จะใช้แฟงที่เป็นลูกๆ มาหั่นบางๆ แล้ววางไว้ เนื่องจากจิ้งหรีดตัวเล็กมากมันจะได้ดูดกินน้ำ ถ้าให้น้ำทั่วไปเนื่องจากจิ้งหรีดตัวเล็กมากมันจะตาย เลี้ยงประมาณ 20 วันก็เปลี่ยนอาหารเป็นประเภทผัก เช่น ใบมันสำปะหลัง ใบบวบ สาหร่ายทุ่ง ใช้ได้หมด ส่วนฟักทองจะให้ตอนหลังจากวางไข่ เสร็จจะทำให้ตัวเต่งขึ้น สำหรับสาหร่ายจะให้ตอนไหนก็ได้ อย่างเวลาไปทุ่งนาก็เก็บใส่ถุงมาแล้วโรยให้กิน”

เขาแจกแจงว่า เทคนิคการเลี้ยงของเกษตรกรแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน โดยแรกเริ่มนั้นเขาก็เลี้ยงตามที่คนอื่นบอกมา จากนั้นก็สังเกตุ

“พอเราเลี้ยงเวลาให้อาหารก็สังเกตว่ามันโตอย่างไร แรกๆ ต้องกระตุ้นอาหารก่อน จากเริ่มเกิดเราก็โรยรำข้าวไว้มันจะมากินเองจนอายุได้ 20 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มโตเท่าๆ กันก็ให้อาหารอย่าให้ขาด เพราะมันมีจำนวนเยอะมาก ตัวอิ่มจะลงไป ตัวไหนยังไม่ได้กินก็จะขึ้นมา อาหารเป็นรำอ่อนผสมหัวอาหารอย่างละเท่าๆ กัน บางคนประหยัดก็เอาหัวอาหาร 1 ส่วน รำ 3 ส่วน ผสมกัน ตอนนี้ผมจะค่อยๆ ลดอาหาร เมื่ออายุ 30 วันจะไม่โตแล้วหลังจากอายุ 20 วันก็ให้เป็นผัก”

จากไข่จนเป็นจิ้งหรีดและสะดิ้งใช้เวลาประมาณ 45 – 50 วันก็จับขายได้ หลังจากนั้นสามารถนำไข่มาวางต่อ ซึ่งถ้านำไข่มาวางไว้ประมาณ 10 วัน จะเริ่มออกเป็นตัว พอเอาไข่เสร็จก็ให้ฟักทองเป็นอาหาร แต่ถ้าให้กินผักที่ตลาดซึ่งมีสารเคมีจิ้งหรีดและสะดิ้งจะตาย

สาเหตุที่คนชอบรับประทานจิ้งหรีด คุณบัณฑิตให้เหตุผลว่า เพราะมีโปรตีนสูง ดีกว่าเนื้อครับเพราะว่าเนื้อราคาแพง กินสะดิ้งกินจิ้งหรีดดีกว่า ถ้าขายในกรุงเทพฯตกกิโลละ 200 – 250 บาท

โรงเรือนของคุณบัณฑิตนั้นเลี้ยงทั้งจิ้งหรีดและสะดิ้ง ซึ่งจิ้งหรีดตัวใหญ่จะได้น้ำหนักมากกว่า ขณะที่ราคาพอๆ กัน อยู่ที่คนจะชอบกินแบบไหน ซึ่งคนอีสานมักชอบกินจิ้งหรีดตัวโต ส่วนสะดิ้งจะส่งไปกรุงเทพฯ ซึ่งจะขายดีเพราะไม่มีขาใหญ่กินง่ายและรสชาติอร่อยกว่า

คุณบัณฑิต จะเลี้ยงเพื่อขายตัวอย่างเดียว ไม่ได้ทอดขาย พอโตได้ที่จะมีพ่อค้ามารับซื้อแล้วแช่แข็งไปขายส่งที่ตลาดไท โดยรับซื้อกิโลละ 70 บาท แต่ถ้าขายปลีกกันในหมู่บ้านจะขายกิโลละ 100 บาท

เจ้าตัวแจกแจงว่า จิ้งหรีดและสะดิ้งที่เลี้ยงทอดแล้วจะรีบประทานอร่อยกว่า จิ้งหรีดหรือสะดิ้งตามธรรมชาติ เพราะเลี้ยงด้วยผักตามธรรมชาติ ตั้งเป้าทำรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน

คุณบัณฑิตเล่าว่า รุ่นแรกซื้อมา 60 ขัน ราคา 4,800 บาท และมีแถมมาด้วยพอเลี้ยงโตได้น้ำหนัก 43 กิโล ถ้าขายหมดจะได้ 4,300 บาท แต่ก็ไม่ขายหมดเพื่อจะได้ไข่ต่อ

สาเหตุที่คุณบัณฑิตจะเลี้ยงจิ้งหรีดเพิ่มเพราะวางแผนไว้ว่าเดือนหนึ่งจะต้องทำรายได้15,000 บาท และหากเลี้ยงเพิ่มขึ้น เขาก็วางแผนที่จะลองทำตลาดเอง สนใจติดต่อได้ที่โทร.089-4247363

เขาแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงจิ้งหรีดว่า การเลี้ยงจิ่งหรีดทำให้มีรายได้ดีพอสมควร บางคนไม่มีเงินเป็นหมื่นๆ คนที่มีเงินน้อยก็ทำโรงเลี้ยงแบบง่ายๆ ทำเพิงเฉยๆ ก็ได้ ซึ่งตลาดมีแน่นอน เพราะจะมีพ่อค้ามารับไปขายที่กรุงเทพฯ กิโลละ 200 บาท

ในการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นแม้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงง่ายและไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่เขาก็พบปัญหา

“ตอนที่เราจะเอาไข่ ถ้าใช้แกลบจากโรงสีใหญ่ๆ ที่มีส่วนผสมของสารเคมีจะทำให้ไข่ด้าน

ดังนั้นเราควรใช้แกลบที่เผาเอง ผมเผาเองเพื่อปลอดภัย ผมเอาแกลบผสมน้ำขยำๆ แล้วก็เอาไปเลี้ยง ตัวใหญ่ใช้เวลาประมาณ 35 – 40 วันก็จะวางไข่แล้ว แต่ถ้าตัวเล็กหรือสะดิ้งใช้เวลา 45 วันมันถึงจะร้องแล้ววางไข่ ประมาณวันที่ 45 – 50 วันมันก็จะเริ่มออกปีกแล้ว ตัวใหญ่ที่ 40 วันก็ร้องแล้ว”

ที่ผ่านมาเขาเลี้ยงจิ้งหรีดและสะดิ้งในโรงเรือนเดียวกัน แต่หากโรงเรือนอีกหลังสร้างเสร็จ คุณบัณฑิตวางแผนว่าจะเลี้ยงแยกกันเพื่อให้เป็นสัดส่วน และเขาเองชอบที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดมากกว่าสะดิ้ง เพราะตัวใหญ่ให้น้ำหนักมากกว่า

เชื่อว่าด้วยจำนวนรายได้ก้อนโตในแต่ละเดือนคงจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรอีกหลายรายหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดและสะดิ้ง ที่สำคัญตลาดไปได้ดีและมีอนาคตสดใส เพราะสามารถขายได้ทั้งในพื้นที่และในกทม.

การเพาะเลี้ยงกวางผา เป็นกิจกรรมหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์ป่าที่หายากและมีโอกาสสูญพันธุ์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ภายใต้โครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสาย เป็นแหล่งอาศัยหากินของสัตว์ป่าหายาก เช่น กวางผา ช้างป่า เสือ เลียงผา วัวแดง เก้ง กวาง ชะนี ลิง นก ไก่ฟ้า ฯลฯ

เมื่อความเจริญเริ่มเข้าไปสู่พื้นที่ป่า ผู้คนเข้าไปอาศัยทำมาหากิน ความอุดมสมบูรณ์ของป่าเริ่มสูญสลาย มีการล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหาร ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 นับเป็นวันแรกของการเริ่มต้นอนุรักษ์ป่าอมก๋อย ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยต่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าและชีวิตสัตว์ป่า จึงมีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปดำเนินงานในโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อมก๋อย รวมถึงสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ได้รวบรวมพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิดเพื่อการอนุรักษ์และทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ โดยเฉพาะ “กวางผา” ที่นับเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยที่มีแนวโน้มว่าใกล้จะสูญพันธุ์ จัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ตามอนุสัญญาไซเตส แพร่กระจายอยู่ในไทย จีน เวียดนาม พม่า และอาจพบได้ในลาว

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย เริ่มเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2536 กวางผาจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแพะ แกะ เลียงผา มีลักษณะคือ หูยาว ขนยาวหยาบ ขนสีเทาหรือสีน้ำตาลเทา มีเขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 82-120 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 20-30 กิโลกรัม ถิ่นที่อยู่มักพบตามชะง่อนผาสูง บนเทือกเขาที่

มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000-2,500 เมตร พบการกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็กประมาณ 2-4 ตัว บางครั้งพบเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 12 ตัว

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กวางผา เริ่มด้วยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ อายุ 2 ปีขึ้นไป โดยดูจากพันธุ์ประวัติไม่ให้มีสายเลือดใกล้ชิดเกินไป และกำหนดให้ได้ลูกต่อพ่อ-แม่พันธุ์ในแต่ละคู่ไม่เกิน 5 ตัว คอกผสมพันธุ์ควรกั้นด้วยตาข่ายถักตาขนาด 2 นิ้ว ความสูง 2.10 เมตร กว้าง 30 เมตร ความยาว 40 เมตร สร้างในพื้นที่ลาดชัน ให้ความยาวของคอกเพาะเลี้ยงยาวไปตามแนวลาดชันเหมือนธรรมชาติ เพราะกวางผาจะมีกิจกรรมส่วนใหญ่ไปตามแนวลาดชันมากกว่าแนวระดับ

อาหารกวางผา ได้แก่ อาหารข้นที่มีโปรตีนระหว่าง 6-8 เปอร์เซ็นต์ ให้อาหารช่วงเช้าเป็นอาหารข้นวันละ 500 กรัม และให้อาหารหยาบในช่วงบ่าย ได้แก่ หญ้ารูซี่ หญ้าขน ใบเต็ง ใบมะเดื่อ ใบปอ เป็นต้น และเสริมวิตามินรวมให้กินอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

กวางผาเพศเมียที่เพาะเลี้ยงจะเป็นสัดตลอดทั้งปี มีวงรอบเป็นสัด 21 วัน เมื่อตัวเมียเป็นสัด ตัวผู้จะเดินตามเพื่อคอยผสมพันธุ์ เป็นเวลา 2-3 วัน กวางผาอุ้มท้องประมาณ 6-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะหย่านมเมื่อ 2 เดือน จากนั้นลูกจะอาศัยอยู่กับแม่ต่ออีกประมาณ 1-2 ปี

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 หรือที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ตลาดต้นไม้ในบ้านเรา หากเป็นไม้ขุดล้อม ที่หนึ่งไร้เทียมทาน ต้องที่ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่นี่ พื้นที่การผลิตมีกว่า 5,000 ไร่ ชนิดของไม้มีให้เลือกมากมาย สำหรับขนาดมีให้เลือกตั้งแต่เท่านิ้วมือ ไปจนถึง 2-3 คนโอบ

คนในพื้นที่บอกว่า พื้นดินโล่งแจ้ง สามารถทำให้เป็นป่าใหญ่ได้ภายในวันเดียว ด้วยไม้ขุดล้อมของชาวตำบลชะอม ซึ่งก็เป็นอย่างคำที่เขาพูดจริงๆ ราวๆ ต้นฝนของทุกปี มีงานมหกรรมไม้ขุดล้อมขึ้นที่ตำบลชะอม ผู้ริเริ่มคืออดีตนายอำเภอแก่งคอย ท่านธวัช สุระบาล

“ปลูกต้นไม้ วันเดียว…โต ไป..ชะอม แก่งคอย” คือสโลแกนของการจัดงานไม้ขุดล้อม งานปลูกไม้ขุดล้อมที่ตำบลชะอม มีมานานแล้ว แรกเริ่มเดิมที มีหน่วยงานของเอกชนเข้าไปส่งเสริมให้ปลูก แต่ปรากฏว่า มีข้อขัดข้องบางประการ ชาวบ้านที่ปลูกอยู่ จึงหาทางช่วยเหลือตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการตลาด จนต่อมาไม้ขุดล้อมที่ตำบลนี้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ รายนามผู้ปลูกยุคเริ่มต้นได้แก่กำนันสมชาติ พึ่งทรัพย์ คุณพยุง เชียงทอง คุณสายบัว พาศักดิ์ และเกษตรกรท่านอื่นอีกจำนวนหนึ่ง

“สีหนุการ์เด้น” เป็นผู้ปลูกไม้ขุดล้อมรุ่นกลางๆ รวมระยะเวลาที่ดำเนินงานมาอยู่ที่ 10 ปี เจ้าของคือคุณนุกูล คุณบุปผา ธรรมมา อยู่บ้านเลขที่ 87/1 หมู่ 8 ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 18110

เปลี่ยนจากพืชไร่เป็นไม้ขุดล้อม

คุณนุกูลและคุณบุปผา สามี-ภรรยา ประกอบอาชีพเดิมทางด้านการปลูกพืชไร่ อาทิข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง พืชเหล่านี้ ให้ผลผลิตเร็ว ปลูกราว 3-4 เดือนก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว แต่ราคาค่อนข้างผันผวน อย่างปีใดที่ผลผลิตข้าวโพดโดยรวมของประเทศมีน้อย ราคาค่อนข้างสูง ผู้ปลูกพอยิ้มได้ จากนั้นก็จะผลิตกันมาก เมื่อผลผลิตมีมาก ราคาก็ตกต่ำ

ให้สามีและภรรยาคู่นี้ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพด ทั้งคู่อยู่ได้แน่นอน เพราะคนอีกจำนวนมากยังอยู่ได้ แต่เพราะมีทางเลือก มีตัวอย่าง คุณนุกูลและภรรยา จึงทดลองปลูกไม้ขุดล้อม ตามที่คนอื่นปลูก ถึงแม้จะเป็นผู้ปลูกรุ่นกลางๆ แต่ถือว่า สีหนุการ์เด้นประสบความสำเร็จไม่น้อย จากผลิตครั้งแรก 2 ไร่ ปัจจุบันมีปลูกอยู่ราว 100 ไร่

“ทำมา 10 ปีแล้วครับ ก่อนหน้านี้ทำไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ล่าสุดสวนกล้วยน้ำว้า ผมรุ่นกลางๆ รุ่นแรกๆ …พี่สายบัว รุ่นพี่สุวิทย์ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วรุ่นสุดท้าย หมายถึงค่อนข้างเปลี่ยนแปลง คือหันไปปลูกมันสำปะหลัง ต้นไม้หากไม่ผลิตแบบครบวงจรคือปลูก จำหน่ายเอง จะอยู่ลำบากนิดหนึ่ง ของผมทำ 100 ไร่ เริ่มแรกเอาแน่นอนไม่ได้ พวกพ้องทำ ก็ทำตามเขาไป เช่นเดียวกันต้นไม้ ผมเริ่ม 2 ไร่ เป็นอาชีพใหม่ ไม่กล้าจะลงทุนอะไร จากนั้นการตลาดดี จึงทุ่มเทเต็มที่ ของผมครบวงจร ปลูกเอง ขายเอง จัดส่งให้ ปลูกให้ พันธุ์ไม้ไม่ค่อยเปลี่ยน ครั้งแรกทำประดู่ แต่โตมาหน่อยมีปัญหาเรื่องโรคแมลง ก็เลยปลูกหลายๆอย่าง ตลาดต้องการอะไรขุดขึ้นมาขายได้ ตอนนี้ มีกว่า 10 ชนิด มะฮอกกานี อินทนิล ปีป ประดู่ ทองกวาว พญาสัตบรรณ ตีนเป็ดน้ำ ประดู่แดง ราชพฤกษ์ จำปี ปาล์มต่างๆ ดีที่สุดเป็นไม้ไม่ทิ้งใบช่วงฤดูแล้ง มะฮอกกานีดูดี ไม้ใหญ่ส่งนอกได้” คุณนุกูลบอก

แหล่งกล้าไม้อยู่อำเภอภาชี แนวทางการผลิตของคุณนุกูลนั้น คล้ายคนอื่น คือไปซื้อกล้าไม้จากอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอภาชีมีเกษตรกรเพาะกล้าไม้จำหน่ายมืออาชีพ สนนราคากล้าละ 1.50-2 บาท เป็นที่รู้กันว่า เพาะกล้าไม้อะไรแล้วขายได้

อย่างมะฮอกกานี คุณนูกูลให้ข้อมูลว่า แหล่งเมล็ดพันธุ์อยู่แถบตลิ่งชัน กรุงเทพฯ แต่คุณนุกูลไม่ได้ตระเวนไปหาเมล็ดมาเพาะเอง หน้าที่ เป็นของคนภาชี

เหตุที่ชาวชะอมไม่นิยมเพาะกล้าไม้เองนั้น หนึ่ง…ไม่มีความชำนาญ สอง…สถานที่ไม่เหมาะสม…สามปัจจัยเรื่องน้ำไม่เพียงพอ อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากนั้น เป็นการแบ่งงานแบ่งอาชีพกันทำ พูดแบบชาวบ้านก็คือ “ไม่กินทั้งขี้ทั้งขน”

พื้นที่ดิน 1 ไร่ กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร รวมแล้ว 1,600 ตารางเมตร สามารถปลูกต้นไม้ลงไปได้ ทุกตารางเมตร นั่นหมายถึงพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้ 1,600 ต้น เวลาผ่านไปราว 1 ปี ต้นไม้บางชนิดจำหน่ายได้ต้นละ 50 บาท หากขายได้หมดเป็นเงิน 80,000 บาท หากขายไม่ได้ เวลาผ่านไปเป็นปีที่ 2-3 อาจจะขายได้ต้นละ 100 บาท แต่ไม่แน่เหมือนกัน บางคราวหากผลิตกันมากๆ ราคาอาจจะลดต่ำลงเหลือต้นละ 20-30 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส

คุณนุกูลบอกว่า ตนเองปลูกไม้ขุดล้อมจำหน่ายมากมายหลายชนิด แต่ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันได้แก่มะฮอกกานี อินทนิล ประดู่ ทองกวาว พญาสัตบรรณ ตีนเป็ดน้ำ ประดู่แดง ราชพฤกษ์ จำปี เหลืองปรีดิยาธร ปีป เป็นต้น