หักดิบเกษตรสารเคมี 100 เปอร์เซนต์ ประสบความสำเร็จกับ

เกษตรผสมผสาน ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

คุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์ ที่อยู่ 109 หมู่ที่ 10 บ้านหัวแฮด ตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 46130 เดิมคุณเฉลิมศักดิ์ เคยทำการเกษตรในรูปแบบทุนนิยม โดยใช้สารเคมี 100% ทั้งระบบคำนึงถึงแต่ผลกำไร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และเกิดภัยธรรมชาติต่อเนื่องกันมา 3 ปี ทำให้กิจกรรมการเกษตรประสบปัญหาขาดทุนเป็นหนี้ประมาณ 2 แสนบาท จึงหันเหชีวิตเข้าสู่แวดวงการเมืองท้องถิ่น สมัยแรกได้รับคัดเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล แต่สมัยที่สองสอบตก ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้าน ถึงขั้นเป็นบุคคลล้มละลาย

ต่อมาได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ของ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ทำให้เขาเข้าใจและสรุปว่า จากเดิมที่เคยทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีนั้น ตนเองทำผิดมาทั้งหมด เมื่อก่อนหลงทางขณะนี้เข้าใจทิศทางแล้ว ความรู้สึกเหมือน (ถูกโดนตีตรงจุด) อาจารย์สามารถตอบคำถามตอบโจทย์ที่ค้างคาอยู่ในใจให้กระจ่าง และสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามรอยพ่อ (ในหลวง) ได้อย่างภาคภูมิใจ จึงเริ่มเข้าใจแนวทางการทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับกลับมาสรุปบทเรียนที่ได้เรียนมาทั้งหมด เริ่มจัดตารางวางแผนชีวิตในแปลงเกษตรของตนเองใหม่ จนทุกวันนี้สามารถปลดหนี้ได้ทั้งหมด

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณเฉลิมศักดิ์ ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นในเรื่อง เกษตรผสมผสาน ซึ่งมีขนาดพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 16 ไร่ มีการแบ่งใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรในพื้นที่ โดยเป็นการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ มีการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้เอง เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนและไม่เสียค่าใช้จ่าย หากมีผู้ที่สนใจก็จำหน่ายเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในพื้นที่ของคุณเฉลิมศักดิ์มีกิจกรรมในพื้นที่ที่หลากหลาย ได้แก่ ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นบำนาญชีวิต ส่วน กิ่ง ก้าน ก็สามารถนำไปเผาถ่านนำไว้ใช้ในครัวเรือน เลี้ยงปลา เลี้ยงสุกร เลี้ยงกบ เพาะเห็ด ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก หอม มะเขือเทศ ฟักทอง ถั่วฝักยาว เป็นต้น ใช้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ที่ตนเองเลี้ยงไว้ น้ำหมักชีวภาพ ผลิตสารไล่แมลงจากพืชสมุนไพรในแปลงเกษตรมาใส่ และฉีดพ่นลงในแปลงเกษตร เพื่อความประหยัด ลดต้นทุนในการผลิต ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้บริโภค พืชผักสวนครัวที่ปลูกเอาไว้ก็สามารถนำมารับประทานเองได้และส่วนที่เหลือก็นำไปจำหน่ายให้แก่คนในชุมชน

คุณเฉลิมศักดิ์ ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก การมีภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การออมแบบง่ายๆ เช่น 1. ออมป่า โดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ จำนวน 2,200 ต้น ประมาณ 6-7 ปี ก็สามารถนำกิ่งก้านสาขามาเผาเป็นถ่านได้ ผลที่ร่วงลงมานำมาเพาะขยายพันธุ์และจำหน่ายเป็นต้นกล้าได้ ใบไม้ที่ร่วงนำมาเป็นปุ๋ย มีแมลง มีมดแดงอาศัยอยู่ สามารถนำไข่มดแดงไปประกอบอาหารและจำหน่ายได้ราคาดีด้วย 2. ออมดิน โดยการทำการเกษตรอินทรีย์ 100% เป็นเกษตรแบบอิงธรรมชาติและเข้าใจธรรมชาติ มีเป้าหมายชัดเจน ไม่เน้นตัวเงินเป็นหลัก แต่เน้นความสุข มีอาหารปลอดภัยรับประทาน สุขภาพดี และทำให้ดินร่วนซุยเพาะปลูกอะไรก็ได้ 3. ออมน้ำ มีการขุดบ่อบาดาลเพื่อบริหารจัดการน้ำจะได้มีน้ำใช้ตลอดปี

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศของไทย มีจำนวน 1,299,799 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 419,833 ไร่ (ร้อยละ 32) จังหวัดชุมพร 205,764 ไร่ (ร้อยละ 15) จังหวัดสุราษฎร์ธานี 198,714 ไร่ (ร้อยละ 15) จังหวัดนครศรีธรรมราช 97,137 ไร่ (ร้อยละ 7) จังหวัดปัตตานี 78,529 ไร่ (ร้อยละ 6) จังหวัดชลบุรี 62,336 ไร่ (ร้อยละ 5) จังหวัดนราธิวาส 50,637 ไร่ (ร้อยละ 4) จังหวัดสมุทรสงคราม 47,639 ไร่ (ร้อยละ 3) เป็นต้น

ช่วงปี 2553-2557 เนื้อที่ให้ผลและผลผลิตมะพร้าวลดลงจาก 1.446 ล้านไร่ และ 1.249 ล้านตัน ในปี 2553 เป็น 1.295 ล้านไร่ และ 1.000 ล้านตัน ในปี 2557 หรือลดลง ร้อยละ 2.53 ต่อปี และ 4.76 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับ ปี 2558 มีเนื้อที่ให้ผล 1.268 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 2.08 และผลผลิต 1.012 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 1.12 สภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลสำคัญต่อผลผลิตต่อไร่ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง จาก 863 กิโลกรัม ต่อไร่ ในปี 2553 เป็น 773 กิโลกรัม ต่อไร่ ในปี 2557 หรือลดลง ร้อยละ 2.27 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้น เป็น 798 กิโลกรัม ในปี 2558

ความต้องการใช้…ช่วงปี 2553-2557 ความต้องการใช้มะพร้าวผลในประเทศลดลง โดยในปี 2557 มีปริมาณ 1.158 ล้านตัน ลดลงจาก 1.528 ล้านตัน ในปี 2553 หรือลดลง ร้อยละ 7.22 ต่อปี โดยเป็นความต้องการใช้เพื่อการบริโภคโดยตรง ร้อยละ 60 ใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมกะทิสำเร็จรูป ร้อยละ 35 และใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันมะพร้าว ร้อยละ 5 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด (ความต้องการใช้มะพร้าวผลนี้ไม่นับรวมความต้องการใช้มะพร้าวเพื่อนำไปผลิตกะทิสำเร็จรูป)

การส่งออก…ในรูปมะพร้าวผลอ่อนสด มีแนวโน้มปริมาณเพิ่มขึ้น และเนื้อมะพร้าวแห้งมีปริมาณไม่มากนัก

การนำเข้า…มะพร้าวผลแห้ง ในปี 2557 มีปริมาณ 89,270 ตัน มูลค่า 656.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2556 ซึ่งมีปริมาณ 37,555 ตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 137.70 สาเหตุที่การนำเข้ามะพร้าวผลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศลดลง ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 97.84 นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีราคาถูกกว่าไทย โดยนำเข้ามาผลิตกะทิสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 26,127 ตัน มูลค่า 199.33 ล้านบาท

การนำเข้ามะพร้าวฝอย…ในปี 2557 มีปริมาณ 2,783 ตัน มูลค่า 211.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2556 ซึ่งมีปริมาณ 2,614 ตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.32 สาเหตุที่การนำเข้ามะพร้าวฝอยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ร้อยละ 47.18 เวียดนาม ร้อยละ 34.00 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 18.05 ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 353 ตัน มูลค่า 30.17 ล้านบาท

การนำเข้าน้ำมันมะพร้าว…(รวมทุกรหัส) ในปี 2557 มีปริมาณ 6,873 ตัน มูลค่า 298.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีปริมาณ 2,785 ตัน มูลค่า 98.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 146.79 และ 193.69 ตามลำดับ สาเหตุที่การนำเข้าน้ำมันมะพร้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้มะพร้าวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ภายในประเทศ ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 3,303 ตัน มูลค่า 128.24 ล้านบาท

การนำเข้ากะทิสำเร็จรูป ในปี 2557 มีปริมาณ 27,793 ตัน มูลค่า 1,054.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีปริมาณ 19,818 ตัน มูลค่า 566.65 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.24 และ 86.08 ตามลำดับ ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 7,946 ตัน มูลค่า 283.71 ล้านบาท

พริก จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง และกลุ่มของพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกในเชิงพาณิชย์นั้นจะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกขี้หนูผลเล็ก และ พริกหวาน เป็นต้น แหล่งปลูกพริกที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครปฐม และราชบุรี เป็นต้น

สำหรับสายพันธุ์พริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ “พริกหัวเรือ” ซึ่งเป็นพริกขี้หนูที่มีขนาดผลใหญ่ ความยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร มีความเผ็ดปานกลาง กลิ่นหอม เมื่อผลแก่มีสีแดงสด ใช้รับประทานสดและแปรรูปเป็นพริกแห้งได้เป็นอย่างดี จังหวัดที่ปลูกพริกหัวเรือมากที่สุดคือ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ พริกหัวเรือเป็นที่นิยมอย่างมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกพริกรวมกันมากกว่า 300,000 ไร่ แต่ปัจจุบันพบว่าการปลูกพริกหัวเรือของเกษตรกรได้ผลผลิตลดลง คุณภาพของผลผลิตด้อยลง เนื่องจากเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองหรือซื้อจากเพื่อนบ้าน ไม่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์หรือคัดเลือกพันธุ์ที่ถูกต้อง เหตุผลสำคัญที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษมีความจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือ เนื่องจากเป็นพริกประจำท้องถิ่นที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า “พริกหัวเรือ” และมีการปลูกกันมานานแล้ว

ดังนั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2541 ทางศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร คัดเลือกพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือ เริ่มจากเก็บรวบรวมสายพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือจากหลายพื้นที่โดยคัดพันธุ์แบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ เปรียบเทียบพันธุ์ในปี พ.ศ. 2542-2543 และได้ทดสอบพันธุ์ในท้องถิ่น จำนวน 5 แห่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2545 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตบุรีรัมย์, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 (ส่วนแยกพืชสวน จังหวัดขอนแก่น), ศูนย์วิจัยพืชสวนหนองคายและศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตนครพนม สุดท้าย ได้ทดสอบพันธุ์ในไร่ของเกษตรกร ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2547 อีก 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคายและจังหวัดนครพนม เพื่อตรวจสอบความคงตัวและคุณลักษณะของพันธุ์ที่ได้ ผลจากการทดสอบได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด และได้ตั้งชื่อว่า “พริกขี้หนูหัวเรือสายพันธุ์ ศก.13” และ “พริกขี้หนูหัวเรือสายพันธุ์ ศก.25”

คือ “พันธุ์หัวเรือ ศก.13” เปรียบเทียบกับพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือที่เกษตรกรใช้ปลูกกันอยู่ในปัจจุบันนี้พบว่า ให้ผลผลิตสูงกว่า 14% (เกษตรกรที่นำพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ไปปลูกในเชิงพาณิชย์ พบว่า เมื่อมีการบำรุงรักษาที่ดีจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 2,500-3,200 กิโลกรัม ต่อไร่) ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรง ขนาดผลใหญ่ ผลยาว 7.8 เซนติเมตร ผลกว้าง 1.03 เซนติเมตร ขนาดของทรงพุ่มกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น ประมาณ 80-90 เซนติเมตรเท่านั้น มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต 90 วัน หลังย้ายปลูก ที่สำคัญเป็นพริกขี้หนูที่มีขนาดของผลสม่ำเสมอ มีความยาวของผลประมาณ 7-8 เซนติเมตร ใช้รับประทานสดและทำเป็นพริกแห้งได้ดีมาก

เมื่อนำไปปลูกในเชิงพาณิชย์มีการบำรุงรักษาเหมือนกับพริกขี้หนูหัวเรือที่เกษตรกรปลูกอยู่ทุกประการ และอีกสายพันธุ์ที่มีความน่าสนใจมากอีกเช่นกันคือ “พริกขี้หนูหัวเรือ ศก.25” เป็นพริกที่ให้ผลผลิตพริกสดและผลผลิตพริกแห้งสูงกว่าสายพันธุ์ที่เกษตรกรใช้อยู่ ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรง ผลยาว 7.0 เซนติเมตร ผลกว้าง 0.95 เซนติเมตร ผลเล็กเรียวกว่าพันธุ์ ศก.13 เล็กน้อย ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-90 เซนติเมตร การเก็บเกี่ยว ผลสุก 90 วันหลังปลูกเช่นกัน พริกขี้หนูพันธุ์นี้ปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่จะต้องมีแหล่งน้ำที่ดีตลอดทั้งปี

ในเรื่องของพันธุ์พริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีภาคเอกชนส่งเสริมการปลูกกันอยู่ในขณะนี้ ในส่วนของพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้คัดเลือกพันธุ์ขึ้นมาใหม่นั้น เมื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกแล้ว ผลผลิตที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชนถือได้ว่าไม่แตกต่างกัน แต่พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่จะได้เปรียบตรงที่เป็นพันธุ์ผสมเปิด เกษตรกรสามารถเก็บพันธุ์ไว้ขยายต่อได้ ในขณะที่พันธุ์ลูกผสมในภาคเอกชนจะต้องมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่มีการปลูก

ความสำคัญของพริกขี้หนูหัวเรือ

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า เกษตรกรที่ปลูกพริกขี้หนูหัวเรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะใช้เพื่อการบริโภคสดและแปรรูปเป็นพริกแห้ง เนื่องจากเมื่อผลสุกและแก่จะมีสีแดงสดสวยมาก และทุกวันนี้พริกขี้หนูหัวเรือเป็นพริกขี้หนูที่มีการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นซอสพริก ตลาดต่างประเทศที่รับซื้อที่สำคัญคือ ฮ่องกง และสิงคโปร์

พริก ปลูกได้ดีตั้งแต่ระดับพื้นราบ ถึงพื้นที่ระดับความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ได้อธิบายถึงพื้นที่ของการปลูกพริกในบ้านเราว่า เป็นพืชที่ปลูกในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 600-1,500 มิลลิเมตร ต่อปี แต่ในระหว่างการเพาะปลูกถ้ามีฝนตกหนัก ต้นพริกและผลผลิตจะได้รับความเสียหาย สำหรับแหล่งปลูกที่มีสภาพอากาศร้อนและมีปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีน้อยจะต้องมีแหล่งน้ำสำรองพอเพียง สภาพดินปลูกพริกควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน ระหว่าง 6.0-6.8 (pH = 6.0-6.8) ในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แนะนำให้ปรับปรุงดินก่อนปลูก โดยใช้ปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน ต่อไร่ รองพื้นที่ก่อนปลูก

พริกขี้หนูหัวเรือ ปลูกได้ตลอดทั้งปี

ความจริงแล้วการปลูกพริกขี้หนูหัวเรือจะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานหรือเขตพื้นที่ที่แหล่งน้ำพอเพียง ในฤดูหนาวจะเริ่มปลูกระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน และในฤดูร้อนจะปลูกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ในบางพื้นที่จะปลูกในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พริกขี้หนูหัวเรือจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หลังจากปลูกลงดินไปแล้ว 3 เดือนครึ่ง ระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวนานอย่างน้อย 2-3 เดือน และจะเก็บผลผลิตได้ราว 6-10 ครั้ง ต่อรุ่น หรือมากกว่านั้น ซึ่งก็ต้องขึ้นกับการดูแลรักษาของเกษตรกร

สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกพริกขี้หนูหัวเรือในเชิงพาณิชย์จะต้องมีการคาดการณ์ว่า ตลาดจะเป็นอย่างไร จะต้องดูทิศทางของตลาดด้วย ดูว่าพริกที่ปลูกในพื้นที่อื่นจะเก็บผลผลิตหมดในช่วงเวลาใด เราจะต้องให้ผลผลิตออกช่วงนั้น อย่าให้ผลผลิตออกมาตรงกัน อย่างกรณีของ พริกขี้หนูหัวเรือที่ปลูกในพื้นที่ จังหวัดเลย ผลผลิตจะออกสู่ท้องตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนพฤศจิกายน จากข้อมูลราคาผลผลิตพบว่า ราคาของพริกขี้หนูหัวเรือมักจะมีราคาแพงที่สุดในช่วงปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงตรุษจีน หลังจากนั้น ราคาจะตกต่ำลงมา ซึ่งยกตัวอย่างที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร นำพริกหัวเรือพันธุ์ ศก.13 และ ศก.25 มาปลูกก็สามารถจำหน่ายได้ราคาดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-80 บาท ส่วนหนึ่งก็ได้คัดเลือกพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วย

การเตรียมแปลง เพาะกล้าพริกขี้หนูหัวเรือ

ใช้แปลงเพาะที่มีขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 5-10 เมตร ก่อนที่จะเพาะ เกษตรกรควรจะขุดพลิกดินตากไว้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นย่อยดิน ใส่ปุ๋ยคอกและแกลบเผา อย่างละ 4-5 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากันจนร่วนซุย เกลี่ยดินให้เรียบแล้วเพาะเมล็ด ในอัตรา 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริกขี้หนูหัวเรือ 1 ไร่ แนะนำให้โรยเมล็ดพริกเป็นแถวตามความกว้างของแปลง ลึก 0.5 เซนติเมตร แต่ละแถวห่างกัน 10 เซนติเมตร กลบดินบางๆ เสมอผิวดินเดิมแล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงบางๆ รดน้ำ และถ้าเป็นไปได้ควรจะราดสารป้องกันและกำจัดแมลง เช่น สารเซฟวิน-85 เพื่อป้องกันมดกัดกินเมล็ด เมื่อต้นกล้างอกขึ้นเหนือพื้นดินแล้วให้เก็บฟางข้าวออกให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตดี ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรที่มีการปลูกพริกขี้หนูหัวเรือโดยการย้ายกล้าจากแปลงเพาะไปปลูกในแปลงโดยตรง โดยไม่ย้ายกล้าลงถุงพลาสติก เกษตรกรผู้ปลูกควรจะโรยเมล็ดให้มีระยะห่างเพิ่มขึ้น แต่ละเมล็ดควรจะห่างกัน ประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 4-5 ใบ ควรพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

การปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสม ของ พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่

แปลงที่จะปลูกพริกขี้หนูหัวเรือควรจะยกแปลงปลูกให้สูงขึ้น ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ขุดหลุมให้ลึก ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ในอัตรา 3-4 ตัน ต่อไร่ หรือเมื่อคำนวณเป็นหลุมจะใช้ปุ๋ยคอก หลุมละ 1 กิโลกรัม สำหรับปุ๋ยเคมีแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 19-19-19 อัตรา 40-50 กิโลกรัม ต่อไร่ อายุต้นกล้าพริกขี้หนูหัวเรือที่จะย้ายลงปลูกควรมีอายุประมาณ 1 เดือน จะต้องรดน้ำให้ชุ่มหลังจากปลูกเสร็จ จุดสำคัญของแปลงปลูกพริกหัวเรือที่แนะนำว่า เกษตรกรจะต้องทำร่องระบายน้ำทุก 15 แถว และแถวปลูกพริกไม่ควรมีความยาวเกิน 15 เมตร เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา ในเรื่องของระยะปลูกถ้าเกษตรกรปลูกแบบแถวเดี่ยว ควรใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ใช้ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร แต่ถ้าปลูกเป็นแถวคู่ ใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถวคู่ 120 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 80 เซนติเมตร หรือในที่ดอนอาจจะเลือกใช้ระยะปลูก 50×50 เซนติเมตร ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้มากถึง 6,400 ต้น ต่อประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของเกษตรกร

แมลงศัตรูที่สำคัญของพริก

ก็จะเหมือนกัน หลักๆ คือ เพลี้ยไฟ ดูดนํ้าเลี้ยง ยอด ใบอ่อน ตาดอก ทำให้ใบหงิก ห่อขึ้นด้านบน พื้นใบเป็นคลื่น เป็นรอยสีนํ้าตาล ใบและดอกร่วง หรือผลพริกผิดปกติ หากเป็นช่วงแห้งแล้งจะระบาดมาก หากเป็นการปลูกในแหล่งใหม่ แนะนำให้ใช้คาร์บาริลฉีดพ่นสลับกับสารชนิดอื่น เช่น คาร์โบซัลแฟน ฟิโปรนิล พ่นทุก 7-10 วัน

ไรขาว ดูดนํ้าเลี้ยงทำให้ใบหงิกงอ ย่นเป็นคลื่น ขอบใบม้วนลง ใบเรียวแหลม ต้นแคระแกร็นใบร่วงตาย ป้องกันกำจัดโดยใช้พ่นด้วยสารไพริดาเบน หรือสไปโรมีซิเฟน พ่น 5-10 วัน ต่อครั้ง

การให้น้ำ การคลุมดิน และการเก็บเกี่ยว

เน้นเรื่องการให้น้ำในการปลูกพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ว่าในระยะแรกเมื่อปลูกลงแปลงควรจะให้น้ำเป็นประจำทุกวัน เมื่อต้นเจริญเติบโตขึ้นให้สังเกตความชื้นของดิน ถ้าดินมีสภาพการอุ้มน้ำที่ดีอาจจะเว้นระยะเวลาการให้น้ำได้หลายวัน

ในเรื่องของการใช้วัสดุคลุมดินยังมีความสำคัญ ที่หาง่ายที่สุดคือ ฟางข้าว เพื่อช่วยรักษาความชื้นของดินและลดการระเหยของน้ำ ไม่ควรใช้แกลบดิบคลุม เนื่องจากแกลบดิบจะเกิดการสลายตัวและแย่งธาตุอาหารของพืชไปใช้ได้ มีผลทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง

การพรวนดิน เนื่องจากพริกจะแผ่รากกระจายอยู่ใกล้ผิวดิน จึงต้องระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนเพราะจะชะงักการเจริญเติบโต จะทำให้ต้นพริกโค่นล้มง่าย การให้ปุ๋ยควรขุดหลุมตามบริเวณกว้างของใบพริกที่แผ่ไปถึง อย่าใส่ชิดโคนต้น ข้อควรระวังในการเก็บเกี่ยวพริกขี้หนูหัวเรือ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวครั้งแรกเมื่อต้นพริกมีอายุประมาณ 100-120 วัน พบว่ามีเกษตรกรบางรายนำผลผลิตพริกมากองสุมรวมกัน ซึ่งอาจจะทำให้เน่าเสียได้ ผลผลิตที่เก็บได้ควรจะเก็บไว้ในที่ร่ม

จากการที่ผู้เขียนได้สำรวจในแปลงปลูกพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ของเกษตรกรจะต้องยอมรับว่าเป็นพริกขี้หนูที่มีสภาพต้นเตี้ย ให้ผลผลิตเร็วและดกมาก ที่สำคัญคือ ขนาดของผลสม่ำเสมอกันทั้งแปลง มีเป็นโรคกุ้งแห้งของพริกต่ำ หากสนใจเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ ศก.13 และ ศก.25 ติดต่อได้ที่ สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021

ประเทศไทย กับนา หรือข้าวนั้นเป็นของคู่กันมาแต่โบราณกาล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ปกครองบ้านเมือง ทรงสนับสนุนการปลูกข้าวทำนาของพสกนิกร จนทำให้อยู่เย็นเป็นสุขมาโดยตลอด

มีการบันทึกไว้ว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประสบภาวะข้าวยากหมากแพงจากความแห้งแล้ง มีการกักตุนข้าวเกิดขึ้น พระองค์จึงทรงตรากฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการเฆี่ยน 3 ครา แล้วนำออกประจานทางน้ำ 3 วัน และทางบก 3 วัน

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรง พระองค์ต้องนำข้าวจากฉางหลวงออกมาจำหน่ายให้พสกนิกรในราคาถูก เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของพสกนิกร

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดภาวะฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพงอีกครา พระองค์ต้องส่งเสริมให้พสกนิกรปลูกข้าวไร่ที่ใช้น้ำน้อย เพื่อเร่งนำมาชดเชยปริมาณข้าวที่ขาดหายไป อีกทั้งรณรงค์ให้พสกนิกรที่เป็นชาวนา หันมาสีข้าวด้วยเครื่องมือที่เคยใช้กันมา แทนที่จะหันไปซื้อข้าวสารจากร้านค้า ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกัน แสดงให้เห็นว่าในช่วงนี้เครื่องสีข้าวสมัยใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง กระทรวงเกษตรและพานิช ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2435 ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงเกษตราธิการ ในครานั้นมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นเสนาบดี รับผิดชอบกิจการเป็นท่านแรก ตลอดรัชกาลพระองค์ได้พัฒนาการปรับปรุงข้าวไทยอย่างเป็นระบบ ทรงให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2450 ที่อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ครั้งที่สอง จัดขึ้นที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ และครั้งที่สาม จัดประกวดพันธุ์ข้าวจากทั่วราชอาณาจักร ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2454 และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง นาทดลอง ที่คลองรังสิต เมืองธัญบุรี ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อพัฒนาข้าวพันธุ์ดีแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวนาอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีการขุดคลองรังสิต จัดสรรน้ำให้เกษตรอย่างพอเพียง เมื่อมองจากมุมสูงจะเห็นคลองขุดทุ่งรังสิตสวยงามประดุจดังตาหมากรุกอย่างน่าอัศจรรย์

ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโภชากรรวบรวมข้าวพันธุ์ดีจากทั่วราชอาณาจักร จำนวน 4,000 ตัวอย่างมาคัดเลือกหาพันธุ์ดีที่สุด ทั้งด้านผลผลิตและคุณภาพหุงต้ม พระองค์ทรงเป็นนักอนุรักษ์พันธุกรรม

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประเทศไทย นำโดย พระยาโภชากรนำข้าวไทยไปประกวดข้าวโลก เมื่อปี พ.ศ. 2476 ที่เมืองเรยีนา ประเทศแคนาดา ผลปรากฏว่า ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมกับกวาดรางวัลอื่นๆ มาด้วยความภาคภูมิใจอีก 8 รางวัล อย่างไรก็ตาม ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วดังกล่าวได้หายจากไร่นาของเกษตรกรไทยไปนานแล้ว

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพสกนิกรที่ประกอบอาชีพการทำนา พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องข้าวเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ในพระราชวังสวนจิตรลดาเป็นที่ทำนาปลูกข้าว ในระยะแรกพระองค์ทรงไถเตรียมดินในนาด้วยพระองค์เอง เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดลงในนา โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว ผลผลิตข้าวที่ได้พระองค์ทรงมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร บรรจุถุงขนาดเล็ก พระราชทานให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไปอีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาการเกษตรขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงพระราชทานทฤษฎีใหม่ และวิธีการแกล้งดิน แก้ปัญหาการปลูกข้าวในดินเปรี้ยว อันเป็นประโยชน์กับพสกนิกรของพระองค์อย่างอเนกอนันต์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ประเทศผู้ผลิตข้าวทั้งหลายต้องกลับมาฟื้นฟูการผลิตข้าวครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2493 กระทวงเกษตรและป่าไม้ของไทยในขณะนั้น ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา หรือรู้จักในนาม USDA ได้ส่ง ดร. H.H. Love ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เคยทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล มาให้คำปรึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ได้ก่อตั้ง กรมการข้าว ขึ้น โดยมี หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นอธิบดีเป็นพระองค์แรก พระองค์เริ่มต้นดำเนินงานที่สถานีทดลองธัญบุรี รวบรวมพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยวิธีผสมเกสร แล้วขยายไปยังสถานีทดลองบางเขน กรุงเทพฯ และสถานีทดลองสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ในปีเดียวกันมีการก่อตั้งสถานีทดลองข้าวน้ำลึก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และระหว่างปี พ.ศ. 2495-2460 มีการก่อตั้งสถานีทดลองเพิ่มอีกหลายแห่งทุกภูมิภาคของประเทศ มีสถานีทดลอง (ข้าว) โคกสำโรง จังหวัดลพบุรี สุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา พาน ปัจจุบันจังหวัดพะเยา ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ควนกุฎ จังหวัดพัทลุง และราชบุรี จังหวัดราชบุรี ผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2499-2511 มีข้าวพันธุ์ดีออกสู่ชาวนา จำนวน 18 พันธุ์ ประกอบด้วย ขาวตาแห้ง 17 นางมล S-4 เหมยนอง 62 M ปิ่นแก้ว 56 เจ๊กเชย 159 ตะเภาแก้ว 161 กำฝาย 15 ขี้ตมใหญ่ 98 ขาวดอกมะลิ 105 ขาวนางเนย 11 ขาวพวง 32 เหลืองทอง เหลืองใหญ่ 148 หางยี 71 นางพญา 70 พวงไร่ 2 เหลืองใหญ่ 148 และเหลืองปะทิว 123

ในปี พ.ศ. 2503 มีการก่อตั้ง สมัคร GClub สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute : IRRI) ขึ้น ที่ Los Banmos สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มีความร่วมมือกับกรมการข้าวของไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าว ต้นเตี้ย ให้ผลผลิตสูง 3 พันธุ์ คือ กข 1 กข 2 และ กข 3 ทั้งนี้ เลขคี่ หมายถึงข้าวเจ้า ส่วนเลขคู่ หมายถึงข้าวเหนียว ปัจจุบัน กรมการข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาให้เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน มีจำนวน 70 พันธุ์ และในปี พ.ศ. 2534 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติได้ถวายรางวัล สถาบันข้าวนานาชาติ ให้กับพระองค์

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย