หัวหน้าคณะทำงานศึกษาวิจัยอากาศยานไร้คนขับหรือเรียกว่า Drone

กล่าวว่า โดยทั่วไปการเกษตรของประเทศไทยจะใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่ ไถ หว่าน ใส่ปุ๋ย ตลอดจนพ่นสารเคมี ถ้าใช้เครื่องจักรกลเกษตรก็ใช้งานภาคพื้นดิน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการเกษตร ถ้าประเทศไทยพัฒนาหุ่นยนต์ที่เป็นอากาศยาน หรือ Drone เพื่อใช้พ่นสารชีวภัณฑ์หรือสารอินทรีย์โดยเฉพาะ และหาวิธีพ่นที่สะดวกรวดเร็ว ก็จะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานและช่วยลดความเหนื่อยยากของเกษตรกร

อากาศยานไร้คนขับสำหรับพ่นสารอินทรีย์
โดรน (Drone) คือหุ่นยนต์ที่สามารถบินได้โดยไร้คนขับ มีหลักการทำงานโดยวิทยุบังคับหรือรีโมทจากผู้ควบคุมที่อยู่บนสถานีภาคพื้นดินให้ทำงานตามภารกิจที่ต้องการ ถือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ THAILAND 4.0

สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมได้วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บินได้ สำหรับพ่นสารอินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์เหนือแปลงพืช ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช เพื่อที่จะให้ผลผลิตที่ได้เป็นเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะในแปลงผักคะน้า หอม ผักชี นาข้าว และไร่อ้อย ซึ่งใช้สารเคมีกันมาก

วัตถุประสงค์ที่สร้างหุ่นยนต์ที่บินได้ มีเป้าหมายให้พืชดังกล่าวซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของคนไทยให้เป็นพืชเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพราะ Drone ดังกล่าวมีการทำงานที่มีความแม่นยำสูง

“เครื่องที่เราพัฒนาขึ้นมานี้สามารถทำงานได้สองแบบ ใช้รีโมทบังคับก็ได้ หรือจะให้บินโดยอัตโนมัติตั้งโปรแกรมโดยคอมพิวเตอร์ ให้เครื่องร่อนได้โดยไม่ต้องใช้คนบังคับ”

ความสามารถในการทำงานของ Drone ถ้าใช้คนบังคับจะสามารถทำงานได้ครั้งละ 4 ไร่ ซึ่งจะทำงานได้สะดวก ถ้าเป็นพืชแปลงใหญ่ก็แบ่งการทำงานเป็นแปลงเล็ก ๆ จนครบพื้นที่ที่กำหนดและแนะนำให้เครื่องทำงานในระยะแรกเริ่มครั้งละ 1 ไร่ก่อน เพื่อเราจะได้มองเห็นตัวเครื่องอยู่ในสายตาว่าเครื่องจะบินไปทางไหน หลังจากที่ชำนาญแล้ว เราจะบังคับให้เครื่องทำงานพ่นสารครั้งละ 4 ไร่ต่อไป

คุณวิชัย กล่าวว่า ครั้งแรกเราจะให้เครื่องร่อนหรือ Drone ถูกบังคับด้วยมือก่อน เมื่อชำนาญแล้วค่อยตั้งโปรแกรมให้บินโดยอัตโนมัติ การทำงานต้องดูทิศทางลมด้วย ถ้าลมแรงเครื่องอาจจะออกไปนอกแปลงพืชเป้าหมาย จะเป็นการพ่นที่เปลืองสารหรือน้ำยาไปเปล่า ๆ วิธีใช้งานจะบังคับ Drone ให้ลอยอยู่สูงจากแปลงพืชระยะ 3 เมตร ซึ่งอยู่ในสายตาเราอยู่แล้ว

ต้นแบบพัฒนามาจากเครื่องเล่นเด็ก
คุณวิชัย เล่าว่า เราพัฒนาโดยต่อยอดมาจาก Drone ขนาดเล็กที่เป็นของเล่นของเด็ก ไปซื้อมาศึกษาส่วนประกอบ อุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ ตลอดจนใบพัด และระบบควบคุมการบินซึ่งใช้วิทยุบังคับความถี่ 2.4 กิกะเฮิรทซ์ และใช้แบตเตอรี่ขนาด 3,000 มิลลิแอมป์ บินได้ 7 นาทีต่อครั้ง

ออกแบบโดรนเป็น 4 ใบพัด คุณวิชัย เล่าต่อไปว่า จากนั้นก็มีแนวคิดออกแบบโดรนเป็น 4 ใบพัดและให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ควบคุมการทำงานด้วยวิทยุจากภาคพื้นดิน มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ

ต้นกำลัง + ใบพัด
กล่องควบคุมการบิน ภายในมีระบบคอมพิวเตอร์และเซนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อให้โดรนทำงานได้ตามวัตถุประสงค์
โครงเครื่อง ทำหน้าที่รับน้ำหนักและยึดส่วนประกอบทั้งหมด
Drone สร้างขึ้นมาตัวแรก ได้นำไปทดสอบการบินด้วยการใช้รีโมทบังคับ และนำไปติดตั้งระบบพ่นสารถังบรรทุกสารครั้งแรกบรรจุได้เพียง 1 กก. ต่อมาค่อยพัฒนาไปจนบรรจุได้ 5 กก. หรือ 5 ลิตร ซึ่งจะพ่นสารลงบนแปลงพืชได้ถึง 4 ไร่

“เราได้ทดลองสร้างต้นแบบถึง 5 โมเดล โมเดลที่ 5 จึงสามารถใช้งานได้ โดยเริ่มต้นงานวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2559 และเสร็จสิ้นในวันที่ 30 กันยายน 2559 พอบินได้ก็เริ่มทดลองพ่นสารอินทรีย์ในแปลงพืชของเกษตรกร”

Drone ของกรมวิชาการเกษตรมีลักษณะทางเทคนิค ดังนี้ 1. เป็น Drone แบบมัลติโรเตอร์ 4 ใบพัด 2. บินได้ทั้งแบบ Auto และ Mannual 3. บรรจุสารได้ 4-5 ลิตร 4. หน้ากว้างการพ่น 1.5-3.0 เมตร 5. ความสูงที่เหมาะสมจากพื้นที่เป้าหมาย 2.5-3.0 เมตร 6. น้ำหนักเฉพาะตัวเครื่อง 5.5 กก.

จากการนำไปทดสอบพ่นสารอินทรีย์ในแปลงผักคะน้า นาข้าว และไร่อ้อย มีความสามารถในการทำงาน 3-5 นาที/ไร่ หรือ ประมาณ 50 ไร่/วัน ซึ่งมีความรวดเร็วกว่าการใช้แรงงานคนที่ใช้เครื่องพ่นสะพายหลัง 5-8 เท่า รวมทั้งมีละอองสารติดที่ใต้ใบมากกว่า เนื่องจากมีแรงลมจากใบพัดช่วยเพิ่มความแรงของสารที่พ่น

กรมวิชาการเกษตรผลิตโดรน เพิ่มช่วยเกษตรกร
หลังจากต้นแบบสามารถทำงานได้ เกษตรกรได้ขอให้ไปสาธิตการทำงานให้ดู และมีความต้องการให้ไปช่วยพ่นสาร แต่เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีเพียงเครื่องเดียว

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงได้อนุมัติงบประมาณให้สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมผลิตเพิ่มอีก 4 เครื่อง ขนาดบรรจุสาร 5 ลิตร จำนวน 3 เครื่อง ทำงานได้ 50 ไร่ต่อวัน และขนาดบรรจุสาร 10 ลิตร 1 เครื่อง ทำงานได้ 100 ไร่ต่อวัน งบประมาณที่ผลิตเครื่องละ 2 แสนบาท

คุณวิชัย บอกว่า ขณะนี้เกษตรกรได้ยืมไปใช้พ่นสาร โดยมีข้อแม้ว่า จะใช่พ่นเฉพาะสารอินทรีย์เท่านั้น และการยืมไปใช้จะต้องมีนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรไปควบคุมดูแลและแนะนำการทำงานตลอดเวลาที่เกษตรกรยืมไป

งบประมาณ 2 แสนบาทคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ คุณวิชัยอธิบายว่า ถ้าเกษตรกรลงทุน 2 แสนบาท ไปรับจ้างพ่นสารไร่ละ 150-200 บาท วันหนึ่งสามารถทำงานได้ 50 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ยังไม่รวมค่าสารอินทรีย์ที่บรรจุในเครื่องสำหรับพ่น

เมื่อปี 2558 ปรเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ผลิต Drone 8 ใบพัด บรรทุกน้ำหนักได้ 10 กก. บินได้นาน 20 นาที/ครั้ง ใช้ต้นกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า 8 ตัวร่วมกับแบตเตอรี่ไฟฟ้า นำมาฉีดพ่นปุ๋ยน้ำและฮอร์โมนพืช ราคาจำหน่ายในจีนและเกาหลี ประมาณ 5 แสนบาท

คุณวิชัย บอกว่า โดรนที่พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตร มีข้อดีตรงที่เราทำได้เอง ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นเราจะดูแลแก้ไขได้ง่าย เรามีข้อมูลทางวิชาการมากกว่า การใช้ในแปลงพืชแต่ละชนิด เช่น แปลงผักคะน้า นาข้าว ไร่อ้อย หรือในสวนมะพร้าว การใช้งานแต่ละพืชจะต้องมีการปรับใช้งานให้เหมาะสม

ผลการทดสอบการบิน Drone ของกรมวิชาการเกษตร สามารถบินได้สูงถึง 30 เมตร มีกล้องวีดีโอส่งสัญญานภาพมาที่ภาครับบนพื้นดิน แสดงผลด้วยจอ 6 นิ้ว ควบคุมการทำงานด้วยรีโมท ความถี่ 2.4 กิกะเฮิร์ทซ์ จากผู้ควบคุมภาคพื้นดินหรือจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ผ่านระบบจีพีเอส

จากนั้นได้นำไปทดสอบผลการฉีดพ่นสารชีวภัณท์ในแปลงนาข้าวทดลอง ที่มีสภาพแวดล้อมมีความเร็วลม 2.16-2.88 กิโลเมตร/ชั่วโมง อุณหภูมิ 35 องศาเซลซียสที่ความสูงจากยอดต้นข้าว 2.5 เมตร หน้ากว้างการพ่น 2.5 เมตร มีความสามารถในการทำงาน 4 นาทีต่อไร่

สำหรับการทดสอบพ่นสารบีทีในแปลงผักคะน้า หอม ผักชี นาข้าวและไร่อ้อย มีความสามารถในการทำงาน 4-5 นาทีต่อไร่ ซึ่งเร็วกว่าการใช้แรงงานคน 5-8 เท่า ทดสอบในสวนชมพู่ความสูง 3 เมตร ใช้เวลา 10 นาทีต่อไร่ พ่นสารในสวนมะพร้าวน้ำหอมความสูงเฉลี่ย 11 เมตร ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีต่อไร่

ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันในงาน UAV
สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานประกวดการแข่งขันอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำปี 2517 ในงาน UAV 2017 กรมวิชาการเกษตรได้รับเชิญให้ส่งโดรนเข้าร่วมแข่งขันในการบิน มีหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยทั่วประเทศที่ได้ทำการศึกษาวิจัยและประดิษฐ์ขึ้นมา รวมทั้งต่างประเทศก็ได้ส่งมาประกวดด้วย

Drone ใช้ในการเกษตรมีส่งเข้าแข่งขั้นด้านการเกษตรมีทั้งหมด 12 ทีมด้วยกัน คุณวิชัย เล่า และในรอบสุดท้ายแข่งขันในเรื่องของการใช้งานจริง ผลปรากฏว่า โดรนเพื่อเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ได้รับรางวัลชนะเลิศ

“เรามีเครื่องฉีดพ่นสารอินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์ที่ลอยได้ ซึ่งจะช่วยให้งานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล เครื่องฉีดพ่นที่ลอยไปมาได้ สามารถทำงานได้รวดเร็ว ลดความเหนื่อยยากของเกษตรกร ประหยัดเวลาและแรงงาน เกษตรกรจะได้มีเวลาไปทำงานอื่นได้อีกมาก”

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาโดรนให้สามารถทำงานได้ 100 ไร่/วัน และบินได้สูง 30 เมตร สำหรับนำไปใช้งานเกษตรแปลงใหญ่ โดยเกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มกันรวมพื้นที่ก็จะได้ประโยชน์จากการใช้โดรนเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรเอง

เมื่อเกิด “น้ำท่วม” ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

แทบทุกครั้ง “ผังเมือง” จะกลายเป็นจำเลยว่าจัดวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินหละหลวม ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ กีดขวางทางระบายน้ำ จนทำให้เกิด “อุทกภัย” ครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัยอย่างยั่งยืน ในระยะยาว “กรมโยธาธิการและผังเมือง” กำลังเร่งทำผังการระบายน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี (2558-2561) งบประมาณ 730 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุด “มณฑล สุดประเสริฐ” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่ากรมจะเร่งรัดการวางผังการระบายน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561

“แนวทางจะจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในระดับลุ่มน้ำและระดับจังหวัด แก้ไขปัญหาสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางระบายน้ำ จัดทำผังระบบการระบายน้ำของจังหวัด โครงการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน และกำหนดพื้นที่ทางน้ำหลากหรือฟลัดเวย์ พร้อมกับมาตรการด้านผังเมือง ต้องมีการหารือร่วมกันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าถนนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ”

จากภาพรวมทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ปัจจุบันกรมได้ดำเนินแล้วเสร็จในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำโตนเลสาบ และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก

อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำเพชรบุรี

กำลังคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาจำนวน 9 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำสาละวิน

และขอรับการสนับสนุนงบฯกลางปี 2561 จำนวน 312 ล้านบาท จัดทำผังใน 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขง

นายมณฑลกล่าวย้ำว่า เมื่อผังการระบายน้ำแล้วเสร็จ จะนำไปกำหนดเป็นกรอบนโยบายการพัฒนาเมือง และกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในระดับภาค อนุภูมิภาค รวมถึงการควบคุมการพัฒนาและการใช้ที่ดิน ก่อสร้างอาคาร และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงพื้นที่เสียงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมเมือง และผังเมืองรวมชุมชน

โดยจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎกระทรวงผังเมืองรวม ทั้งผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังที่โล่ง ผังโครงข่ายการคมนาคมและขนส่ง ผังการระบายน้ำ ผังกิจการสาธารณูปโภค และมาตรการและข้อเสนอแนะด้านผังเมือง เพื่อเป็นการป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้จะมีมาตรการเสริมด้วยการบูรณาการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้ร่วมกัน เพื่อปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางระบายน้ำ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

จะมีมาตรการระยะเร่งด่วน คือ ควบคุมการก่อสร้างอาคารที่กีดขวางทางน้ำ โดยออกประกาศกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และ พ.ร.บ.การขุดดิน และถมดิน 2543 ควบคุมการพัฒนาในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่ทางน้ำหลากที่กีดขวางทิศทางการไหลของน้ำ

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 25 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ น่าน อุทัยธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี ตราด จันทบุรี สระแก้ว ระยอง ราชบุรี มุกดาหาร ชลบุรี นครพนม กาญจนบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ หนองคาย แพร่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท สุโขทัย

ส่วนมาตรการระยะยาว จะปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง 2518 กำหนดมาตรการผังเมืองควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่ทางน้ำหลาก และแก้ไขสิ่งกีดขวางทิศทางการไหลของน้ำในผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังกิจการสาธารณูปโภคเพื่อการระบายน้ำ

อยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด 55 จังหวัด สามารถดำเนินการได้ทันที 22 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ น่าน อุทัยธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี ตราด จันทบุรี สระแก้ว ระยอง ราชบุรี มุกดาหาร ชลบุรี นครพนม กาญจนบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ หนองคาย แพร่ ตาก กำแพงเพชร ขณะที่พิจิตร ชัยนาท สุโขทัย รอกระบวนการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด

ข้าวราคาพุ่งหอมมะลิ1.77หมื่นบาท/ตันหลังคำสั่งซื้อจากแอฟริกา-เอเชียเพิ่ม ”ลักษณ์”หวั่นชาวนาแห่ปลูกทะลักปลายปีกดราคาร่วง

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของผู้รับผิดชอบรายสินค้า (มิสเตอร์สินค้า) นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าวในฐานะมิสเตอร์ข้าวได้รายงานราคาข้าว ณ สิ้นสุดเดือนก.พ.2561 ข้าวเปลือกความชื้น 15% ข้าวหอมมะลิ 15,000-17,700 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 3,900-4,100 บาท/ตันจากเดือนพ.ย.2560 และเพิ่มขึ้น5,900-6,200 บาท/ตันจากพ.ย.2559 ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ราคา 10,000-11,500 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 1,100-1,800 บาท/ตันจากเดือนพ.ย.2560 และเพิ่มขึ้น 2,000-3,400 บาท/ตันจากพ.ย.2559 ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคา7,400-8,000 บาท/ตันเพิ่มขึ้น 100-200 บาท/ตันจากเดือนพ.ย.2560 และเพิ่มขึ้น 200-500 บาท/ตันจากพ.ย.2559 ข้าวเหนียวเมล็ดยาว ราคา 9,700-10,850 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 1,600-2,200 บาท/ตันจากเดือนพ.ย.2560 และลดลง 1,150-1,900 บาท/ตันจากพ.ย.2559

ทั้งนี้ จากราคาข้าวหอมมะลิ ณ สิ้นสุด ก.พ.2561 อยู่ที่ 15,000-17,700 บาท/ตัน จูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้วหอมมะลิเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องระวังผลผลิตที่จะออกมากระจุกตัวในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2561 จึงอาจเกิดผลผลิตออกมาพร้อมๆกันและส่งผลให้ราคาข้าวอ่อนตัว เหมือนช่วงปลายปีก่อน และโรงสีไม่รับซื้อ ชาวนาต้องขายข้าวเอง ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจำเป็นต้องเร่งหาวิธีรับมือ ข้าวกระจุกตัว ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ใช้หลักเกณฑ์ตลาดนำการผลิตเพื่อให้มีการผลิตข้าวสมดุลกับความต้องการ เพื่อรักษาเสถียรภาพไม่ให้ราคาข้าวอ่อนตัวภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร

ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิดภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการสินค้าข้าว (นบข.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งในช่วงการผลิตกระทรวงเกษตรได้พยายามควบคุมผลผลิต โดยการปรับเปรียนพื้นที่ปลูกข้าวในที่ไม่เหมาะสมไปปลูกพืชอื่น ส่งเสริมให้ปลูกพืชหลายหลาย เพื่อให้เป้าหมายผลผลิตข้าวอยู่ในกรอบที่ต้องการ โดยผลผลิตปี 2561/62คาดว่าปริมาณข้าวเปลือกจะอยู่ประมาณ 30.524 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.024 ล้านตันข้าวเปลือกหรือ 3.48%

ในช่วงการเก็บเกี่ยว จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นจองรถเกี่ยวข้าว ให้ขยายไปทั่วประเทศ ช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนให้กับชาวนา ส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% รวมถึงมาตรการส่งเสริมการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเพื่อเก็บข้าวในสต๊อก รวมไปถึงมาตรการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ แบบรัฐต่อรัฐ เจรจาขายข้าวดดยกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้าต่างผประเทศ และเร่งทำตลาดเชิงรุก สร้างการรับรู้ข้าวไทยในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวโลกปีการผลิต 2560/ 61 คาดผลผลิตข้าวทั่วโลกจะมีปริมาณ 484.3 3 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 2.45 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลง 0.50% จากปีการผลิต 2559 / 60 เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวของอินเดีย บังกลาเทศ สหรัฐอเมริก าเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ลดลง ส่วนปี 2561 คาดการณ์ว่าปริมาณการค้าข้าวของโลกจะมีปริมาณ 47.36 ล้านตันข้าวสารลดลง 0.1 9 ล้นตันหรือ 0.40% จากการค้าข้าวโลกในปี 2560 เนื่องจากบังคลาเทศ อีหร่าน แอฟริกา เม้กซิโก และสหกรัฐอเมริกา ลดปริมาณน้ำเข้าข้าวลดลง ขณะที่อินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ต่อจากปีก่อน คาดว่าส่งออกประมาณ 12.51 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ไทยส่งออกได้ 10.20 ล้านตันข้าวสารมาเป็นอันดับ 2 ทั้งนี้คาดการณ์การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มดีเนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มโดยเฉพาะภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย นอกจากนี้ผลผลิตข้าว และอินเดีย บังคลาเทศ มีแนวโน้มลดลงประกอบกับ เศรษฐกิจโลกดีขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อของโลกเพิ่มขึ้น

สรท.ยืนเป้าส่งออกทั้งปี 61 ขยายตัว 5.5% ปัจจัยเศรษฐกิจโลก หลายกลุ่มสินค้าที่ส่งออกยังเติบโตดี ขณะที่เงินบาทก็ยังเป็นปัจจัยห่วงของผู้ส่งออก วอนรัฐเข้ามาดูแลพร้อมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ยังคงยืนเป้าการส่งออกทั้งปี 2561 ที่ 5.5% ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ น้ำมันดิบ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อลาเรล และปัจจัยบวก จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกและประเทศคู่ค้าหลัก การเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิต รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อสินค้าเกษตร และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ยังมองทิศทางที่สดใสอยู่

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐที่ยังมีแนงโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลต่อค่าเงินบาแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี 2.88% ซึ่งยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกที่ผู้ส่งออกให้ความกังวล มาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐ และมาตรการตอบโตของประเทศคู่ค้า ปัญหาด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะการขาดแคลนตู้สินค้า ความแออัดของท่าเรือ การจราจรเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นมาตรการของภาครัฐที่จะมีผลต่อต้นทุนของผู้ส่งออก

“โดยเฉพาะในเรื่องของภาษีเศษซากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นโยบายประกันราคาสินค้าทุนพื้นฐานบางชนิด เช่น การประกันราคาข้าวโพด ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่เป็นต้นทุนของผู้ส่งออกที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลต่อการแข่งขัน การรวมกลุ่มเศรษฐกิจของ (ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก) CPTPP เป็นกลุ่มที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม ไทยอาจจะเสียประโยชน์ กลุ่มเศรษฐกิจ EAEU (สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย)”

อย่างไรก็ดี สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล คือ มาตรการกีดกันทางการค้า หรือNTB การดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่ากว่าคู่แข่ง รัฐควรมีมาตรการในระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบค่าแรง เช่น การลดหย่อนภาษี ยกเว้นภาษีนิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักร ให้ความสำคัญการเจรจาการค้า เอฟทีเอ EU-Thai กรอบเจรจาการค้าใหม่ที่จะเป็นโอกาสทางการค้าของไทย รัฐควรให้ความสะดวกทางการค้ามากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมการค้าในระบบอีคอมเมิร์ซด้วย

สำหรับการส่งออกเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่า 20,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.6% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี 2 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,220 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 119 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สาเหตุจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบในปริมาณมาก ซึ่งเกิดจากค่าเงินบาทแข็งค่า

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่แหลมผักเบี้ยที่เพชรบุรี และเยี่ยมประชุมกับกลุ่มชุมชนธนาคารปูม้า ชุมชนนี้เริ่มทำกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนฐานเรียนรู้..มีโฮมสเตย์หลายหลัง..มีผู้มาเยือนดูงานเป็นรถบัสบ่อยๆ มีทั้งชาวไทย ชาวจีน และจากประเทศเพื่อนบ้าน แม่บ้านในชุมชนนี้รวมกันทำระบบธนาคารปูม้าที่น่าชื่นชมมาก โดยศึกษาว่าปูม้านั้นหากจับกินแบบไม่สร้างการคืนปูรุ่นลูกให้ธรรมชาติ ปูม้าจะหมดไปได้ ซึ่งเคยมีการขาดแคลนหายากจนเป็นปัญหามาแล้ว

“ชาวบ้านจึงใช้ผลการศึกษาดูงานจากที่อื่นมาพัฒนาให้มีถังไว้เก็บแม่ปูที่มีไข่แล้ว..ซึ่งดูง่ายๆว่าถ้าที่ท้องมีไข่สีออกเหลืองๆเป็นพวง..แปลว่าอีก 7 วันไข่จะกลายเป็นลูกปู ถ้าเป็นสีคล้ำลงจนดำ แปลว่าใน24ชม.จะเป็นลูกปู ซึ่งลูกปูจะอ่อนแอมาก ดังนั้นธนาคารปูม้าจึงเอาแม่ปูมีไข่มาหย่อนไว้ในถังที่มีฟองเพิ่มออกซิเจน เพื่อทำให้แม่ปูอยู่ได้ดีไม่มีการรบกวนจนไข่เป็นลูกปู คราวละกว่าแสนตัว จากนั้นก็ให้นักท่องเที่ยวเอาถังใบเล็กมาตักไปเทปล่อยที่ทะเลช่วงน้ำลง เพื่อให้น้ำทะเลพาลูกปูออกสู่ชายฝั่งป่าโกงกาง จะได้มีโอกาสรอดและเติบโต”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า วิธีนี้ช่วยทำให้มีปูรอดเพิ่มในแต่ละท้องอีกราว10% เพิ่มทั้งความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ และเพิ่มความยั่งยืนให้ชาวประมงจับปู เพิ่มความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวดูงาน นักท่องเที่ยวมักจะยินดีมอบเงินสนับสนุนธนาคารปูม้ากันเอง ซึ่งกลับมียอดสูงกว่าการคิดค่าตักปูไปปล่อยแบบถังละไม่กี่บาท จากนั้นนักท่องเที่ยวก็จะก็จะไปซื้อผลผลิตจากเรือประมงที่จับมาได้และมีแม่บ้านของชุมชนช่วยทำสุกให้รับประทาน ที่เพิงริมท่าขึ้นปลาเลย