หากจะลดความยุ่งยากและยังไม่มีความชำนาญในการเพาะกล้า

บางท่านก็อาจจะเลือกใช้วิธีของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง จังหวัดสุพรรณบุรี แนะนำว่า ให้แช่เมล็ดพันธุ์มะละกอในน้ำอุ่น (น้ำเย็น 1 ส่วน ผสมกับ น้ำร้อน 1 ส่วน = น้ำอุ่น) ทิ้งไว้ 1 คืน เช้าขึ้นมานำเมล็ดมะละกอ หยอดลงถุงดำขนาดเล็กที่เตรียมไว้ โดยอาจจะใช้วัสดุ เช่น ขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ผสมกับปุ๋ยหมัก หรือ ดิน 1 ส่วน หยอดเมล็ดมะละกอ ถุงละ 3-5 เมล็ด

จากนั้นรดน้ำที่ผสมยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลคซิล รดให้เพื่อช่วยป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า วางถุงดำไว้ใต้ซาแรนพรางแสง 60% รดน้ำทุกเช้า วันละ 1 ครั้ง จากนั้น 7-10 วัน เมล็ดมะละกอจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงได้ 2 ใบ ให้เอาซาแรนออก ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อเป็นการปรับตัว จากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นกล้ามะละกอก็สามารถย้ายปลูกลงแปลงไว้ได้

การเพาะเมล็ดแบบอบในกระติก เมื่อนำเมล็ดที่ต้องการจะเพาะเมล็ดมาแช่น้ำ ราว 24 ชั่วโมง โดยให้เปลี่ยนน้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง เปลี่ยนในช่วง 8 ชั่วโมงแรก และทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำ ให้ช้อนเมล็ดมะละกอที่ลอยน้ำทิ้งไปด้วย เมื่อแช่เมล็ดครบ 24 ชั่วโมง ให้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอห่อด้วยผ้าเปียกหมาดๆ จากนั้นเอาผ้าที่ห่อเมล็ดมะละกอใส่ใน “กระติกน้ำ” โดยอุณหภูมิในกระติกจะค่อนข้างร้อนและชื้น เหมาะอย่างยิ่งแก่การงอกของเมล็ดเป็นอย่างมาก

จากนั้นราว 5-7 วัน เมล็ดมะละกอจะเริ่มทยอยงอก เราก็ทยอยย้ายเมล็ดที่ออกรากปลูกลงถุงดำทุกๆ วันจนหมด การเพาะเมล็ดมะละกอในตะกร้าแกลบดำ เมื่อนำเมล็ดที่ต้องการจะเพาะเมล็ดมาแช่น้ำ ราว 24 ชั่วโมง โดยให้เปลี่ยนน้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง เปลี่ยนในช่วง 8 ชั่วโมงแรก และทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำ ให้ช้อนเมล็ดมะละกอที่ลอยน้ำทิ้งไปด้วย เมื่อแช่เมล็ดครบ 24 ชั่วโมง ก็ให้นำเมล็ดมะละกอไปเพาะในตะกร้าพลาสติกแบบสี่เหลี่ยม ที่มีรูขนาดเล็ก รองก้นตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ที่ใช้มีดหรือไม้แทงกระดาษหนังสือพิมพ์ให้เป็นรูสัก 10 รู เพื่อช่วยในการระบายน้ำ

จากนั้นใส่แกลบดำลงในตะกร้า ให้แกลบดำ มีความสูงประมาณ 4-5 เซนติเมตร จากนั้นให้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอมาโรยให้ทั่วบนขี้เถ้าแกลบดำ โรยให้มีความหนาแน่นพอประมาณ จากนั้นให้กลบปิดเมล็ดพันธุ์ด้วยแกลบดำบางๆ หนาสัก 1-2 เซนติเมตร รดน้ำด้วยกระบอกฉีดน้ำจะดีกว่าการใช้สายยางรดน้ำ เพราะจะทำให้เมล็ดมะละกอกระเด็นหรือโผล่พ้นวัสดุปลูก เพราะแรงกระแทกของน้ำจากสายยาง จากนั้นราว 5-7 วัน เมล็ดมะละกอจะเริ่มทยอยงอก เราก็ทยอยย้ายเมล็ดที่ออกรากปลูกลงถุงดำทุกๆ วัน จนหมด หรือหากเมล็ดพันธุ์มะละกองอกพร้อมเพรียงกันดี ก็สามารถย้ายปลูกพร้อมๆ กันทั้งตะกร้าเลยก็ได้

หากท่านที่มีข้อสงสัยในเรื่องของการเพาะกล้ามะละกอ หรือเรื่องการปลูกและดูแลรักษามะละกอ ก็สามารถโทร.มาสอบถามแลกเปลี่ยนได้ ที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. 081-886-7398 ซึ่งปลูกมะละกอมาหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ มะละกอรับประทานดิบพันธุ์ “ครั่ง” มะละกอยักษ์พันธุ์ “เรดแคริเบียน” เป็นต้น

เฝ้าระวังสวนมะพร้าวในช่วงอากาศชื้น และมีฝนตก กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวเฝ้าระวังด้วงแรดมะพร้าว สามารถพบได้ทั้งในระยะที่ต้นมะพร้าวยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว ให้สังเกตการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว จะพบตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว โดยเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด

กรณีถูกทำลายมาก ใบใหม่แคระแกร็น รอยแผลตรงบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด สำหรับด้วงแรดมะพร้าวในระยะตัวหนอน จะพบตามพื้นดินบริเวณกองปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ซึ่งตัวหนอนจะเจาะชอนไชกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้ยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต

หากพบการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือวิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นมะพร้าวบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ กรณีมีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว หรือกองให้เป็นที่แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรดมะพร้าว

หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้งทันที ส่วนลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย กรณีต้นมะพร้าวที่ถูกตัดแล้วยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ โดยให้ตัดทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ นำมาวางเรียงรวมกันไว้ให้เปลือกมะพร้าวติดกับพื้นดิน เพราะด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว จากนั้น ให้เกษตรกรเผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว สำหรับตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วราดให้ทั่วตอ เพื่อป้องกันการวางไข่ได้

การใช้ชีววิธีในการกำจัด ให้เกษตรกรใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมใส่ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ และเกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด ซึ่งเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายในทุกระยะการเจริญเติบโตของด้วงแรดมะพร้าว

ส่วนการใช้สารเคมีในต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปี ที่ยังไม่สูงมากนัก ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว กรณีระบาดมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี หรือสารไดอะซินอน 60% อีซี หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตร ต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้ง ในช่วงระบาด

จากสภาพดินเค็ม เสื่อมโทรม และขาดความอุดมสมบูรณ์มีอินทรียวัตถุต่ำ การขาดแคลนน้ำต้องอาศัยพึ่งพาเพียงน้ำฝนในการเพาะปลูกปีละครั้ง นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ เกษตรกรเป็นจำนวนมากจำต้องละทิ้งผืนนาและบ้านเกิดเข้ามาขายแรงงานในเมืองหลวง เนื่องจากรายได้จากการเพาะปลูกพืชผลในผืนดินที่แห้งแล้งและขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและครอบครัว

ปี 2537 เกษตรกรที่บ้านหนองว้า อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับผลกระทบจากสภาพปัญหาดังกล่าว นาข้าวให้ผลผลิตต่ำ ทำให้มีฐานะยากจน แต่ในวันนี้ แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการประกอบอาชีพ ด้วยการปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าว กลายเป็นอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้ และช่วยพลิกผืนนาให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ทั้งนี้ ถั่วเหลือง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว เต้าหู้ นอกจากนี้ กากถั่วเหลืองยังใช้เป็นส่วนผสมที่สำคัญในการทำอาหารสัตว์ ประเทศไทยนั้นมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าเมล็ดและกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศทุกปี จึงนับได้ว่าถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีอนาคตสำหรับเกษตรกร และที่สำคัญถั่วเหลืองยังมีไนโตรเจนสูง ช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดินได้ดี จึงเหมาะเป็นปุ๋ยพืชสดในการช่วยปรับปรุงบำรุงดิน

ท้องนามีสภาพดินทรายแห้งแข็งขาดความอุดสมบูรณ์ ใช้ปลูกข้าวเหนียว พันธุ์ กข 6 ได้ผลผลิตแต่ละปีน้อยมาก เพียง 20-30 ถัง ต่อไร่ ทำให้เกษตรกรดำรงชีพด้วยความยากลำบาก แต่หลังจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในหมู่บ้านหนองหว้าได้ปลูกถั่วเหลืองหลังนา ตั้งแต่ ปี 2537 เป็นต้นมา ทำให้วิถีชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้ปรับเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ผืนนาที่เคยแห้งแล้ง กลับมาเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวและถั่วเหลืองเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี

ทุกวันนี้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างมากจากการปลูกถั่วเหลือง เพราะได้ปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องนา หลังจากปลูกถั่วเหลืองมาได้ 3 ปี เกษตรกรเลิกใส่ปุ๋ยในนาข้าว เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีมาก เพราะหลังจากเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองแล้ว เกษตรกรจะไถกลบต้นถั่วเหลืองให้กลายเป็นปุ๋ยพืชสด

จากเดิมที่เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวเพียง 20-30 ถัง ต่อไร่ หลังปลูกถั่วเหลืองหลังนา เก็บเมล็ดถั่วเหลืองออกขาย พวกเขาจะไถกลบต้นถั่วเหลืองเป็นปุ๋ยพืชสด สภาพดินก็ดีขึ้น ได้ผลผลิตข้าวเหนียวมากขึ้นถึง 90-100 ถัง ต่อไร่ เลยทีเดียว ส่วนถั่วเหลือง ก็มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 350-400 กิโลกรัม ต่อไร่ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 7,000-8,000 บาท ต่อไร่

เน้นปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์

เดิมเกษตรกรเพาะปลูกพืชโดยใช้สารเคมี แต่ปัญหาสารเคมีตกค้าง ทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง พวกเขาจึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยของตัวเกษตรกรและอยากให้ผู้บริโภคทุกคนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมี แถมการทำเกษตรอินทรีย์ ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่าง ๆ

ผืนนาที่ปลูกถั่วเหลืองหลังฤดูการทำนา ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าในอดีต ทำให้ต้นข้าวและต้นถั่วเหลืองที่ปลูกมีความแข็งแรง ไม่ค่อยเกิดโรคแมลงเข้าทำลายมากนัก กอปรกับได้รับแนวคิดเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์จากส่วนราชการและเอกชนต่างๆ จึงทำให้เกษตรกรหันมาเลือกทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ยินดีรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านหนองหว้า เพื่อนำไปผลิตน้ำเต้าหู้ให้กับคนไข้กินในช่วงที่มารักษาตัว ก่อนเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองทางโรงพยาบาลจะส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามสอบถามข้อมูลจำนวนผลผลิตและถ่ายรูปกลับไป เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองอินทรีย์ส่งมาขาย ทางโรงพยาบาลก็ยินดีรับผลผลิตในราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป

ปลูกถั่วเหลืองโดยอาศัยความชื้นจากดิน

การปลูกถั่วเหลืองของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านหนองหว้า จะอาศัยความชื้นจากดินมาช่วยทำให้ต้นถั่วงอกในช่วง 1 เดือนแรก หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เกษตรกรจะไถดินเตรียมพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองโดยทันที เพราะเป็นช่วงที่ดินยังมีความชื้นเหลืออยู่มาก เพียงพอให้เมล็ดถั่วเหลืองที่หว่านลงไปงอกได้ รวมถึงสามารถดึงน้ำมาใช้ในช่วง 1 เดือนแรกของการเติบโตของลำต้นได้ และจะเริ่มให้น้ำอีกโดยการปล่อยน้ำเข้าร่องปลูกในช่วงเดือนที่สองและสามของการปลูก

โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมใช้รถแทรกเตอร์ คูโบต้า ขนาด 36 แรงม้า ไถกลบตอซังก่อน ทิ้งไว้ไม่นานตอซังจะยุ่ยสลาย จากนั้นคราดดินให้เรียบ หว่านเมล็ดถั่วเหลือง พันธุ์ มข. 35 และเชียงใหม่ 60 ที่ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์มาจากสยามคูโบต้า ในอัตราการหว่าน ไร่ละ 20 กิโลกรัม จากนั้นใช้แทรกเตอร์ติดโรตารี่มาปั่นดินกลบเมล็ด และทำร่องเป็นทางปล่อยน้ำเข้าเวลาให้น้ำ

เกษตรกรจะดูแลแปลงปลูกถั่วเหลืองอย่างใส่ใจมากอีกครั้งในเมื่อต้นถั่วเหลืองแตกใบได้ 3-4 ใบ ต้องคอยดูแลเรื่องแมลงศัตรูพืชที่จะเข้าทำลาย ได้แก่ หนอนเจาะลำต้น และแมลงเต่าลาย

เกษตรกรจะเดินตรวจแปลงถั่วเหลืองทุกวัน หากแมลงเข้าทำลายไม่มาก จะกำจัดด้วยการเอามือบี้ แต่หากระบาดมาก จะใช้สารหมักจากพืชสมุนไพรมาฉีดพ่น โดยมีส่วนผสมของหัวข่าแก่ ตะไคร้หอม บอระเพ็ด และไหลแดง นำมาหมักใส่ในถังน้ำมัน 200 ลิตร เติมน้ำลงไปให้ได้ประมาณ 100 ลิตร หลังจากหมักไว้ 2 วันสามารถนำมาฉีดพ่นเพื่อเป็นสารไล่แมลงได้

หากต้องการทำเป็นสารฆ่าแมลง ก็จะนำน้ำสมุนไพรที่หมักไปทำการกลั่นอีกครั้ง ซึ่ง 1 ถังจะกลั่นได้ 15 -20 ลิตร วิธีการใช้ คือ นำน้ำสมุนไพรกลั่นครึ่งแก้วผสมกับน้ำ 20 ลิตร แล้วนำไปฉีด จำนวนครั้งที่ฉีดพ่นขึ้นอยู่กับปริมาณการระบาด หากระบาดมากต้องฉีดพ่น 2 อาทิตย์ต่อครั้ง

ส่วนการให้น้ำ เกษตรกรจะดูที่ความชื้นของดินเป็นหลัก หากพบว่าดินแห้งมาก ต้นถั่วเหลืองที่ปลูกแสดงอาการเหี่ยวก็จะเริ่มให้น้ำ ทั้งนี้ เกษตรกรจะคอยระวังไม่ให้น้ำขังในแปลงปลูก เพราะจะทำให้ต้นถั่วเหลืองเกิดอาการเน่าได้ มักให้น้ำแค่พอให้ดินเปียกชื้นๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามการปลูกถั่วเหลืองหลังนาลักษณะนี้ ไม่ค่อยได้ใช้น้ำมากอยู่แล้ว

วิธีเพิ่มผลผลิตถั่วเหลือง

เคล็ดลับสำคัญที่ช่วยทำให้ต้นถั่วเหลืองเจริญเติบโตได้ดีและติดเมล็ดได้ปริมาณน้ำหนัก 350-400 กิโลกรัมต่อไร่ คือ การให้ปุ๋ยทางใบเสริม เกษตรกรนิยมใช้น้ำขี้หมู ซึ่งเป็นของเหลือจากขบวนการผลิตก๊าซชีวภาพจากถังหมักที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีคอกเลี้ยงหมู จะใช้น้ำจากคอกเลี้ยงและขี้หมูนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ส่วนของน้ำที่แยกออกมาจะมีธาตุอาหารมากมายจะช่วยให้ต้นถั่วเหลืองเติบโตได้ดี โดยใช้ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อต้นถั่วเหลืองเริ่มออกดอกออกฝักก็จะหยุดใช้ ต้นถั่วเหลืองจะเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตดีมาก พอครบอายุประมาณ 3 เดือน จะเก็บเกี่ยวเมล็ดถั่วเหลืองออกไปขาย ส่วนต้นถั่วเหลืองจะไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ก่อนใช้ปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไป ทำให้นาข้าวจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก

วันนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านหนองหว้า ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ด้วยการใช้ผืนนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ใครๆ ก็สามารถทำตามได้ง่าย เพียงแค่เปลี่ยนแนวคิดการเพาะปลูก ก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ก้าวไปสู่การกินดีอยู่ดีได้เช่นกัน เพียงแต่ลงมือปฏิบัติเท่านั้นเอง

ในช่วงหน้าหนาวเป็นต้นไป ทางจังหวัดอุทัยธานีภูมิใจนำเสนอโครงการไม้เมืองหนาว ที่ศูนย์พัฒนาสังคมที่ 73 บ้านอีมาดอีทราย ตำบลแก่นมะกรูด อันเป็นเนินเขาและภูเขาน้อยใหญ่เรียงรายกันอยู่ โดยแปลงทดลองปลูกไม้เมืองหนาวนั้น มีทั้งดอกทิวลิป ดอกลิลลี่ กะหล่ำปลี และสตรอเบอรี่ ฯลฯ

ช่วงที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปชมโครงการไม้เมืองหนาวและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจำนวนมาก โดยเฉพาะในวันหยุดเทศกาลและวันเสาร์-อาทิตย์ และหลายคนต่างประหลาดใจ ไม่คิดว่าที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จะสามารถปลูกไม้เมืองหนาวได้เช่นเดียวกับบนดอยในภาคเหนือ อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย

จุดที่ปลูกแปลงทดลองไม้เมืองหนาว อยู่สูงจากน้ำระดับทะเล 700 เมตร ส่วนยอดเขาสูงที่เห็นอยู่ไกลๆ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร เรียกว่า เขาพะอุย อากาศจะเย็นมาก จึงนำไม้เมืองหนาวมาปลูกในสถานที่แห่งนี้ เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย อุณหภูมิช่วงกลางวันกับกลางคืนไม่แตกต่างกันมาก ตอนกลางวันช่วงฤดูหนาวแตกต่างกันไม่ถึง 10 องศาเซลเซียส กลางวันอุณหภูมิอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส กลางคืนประมาณ 15-18 องศาเซลเซียส เหมาะกับการปลูกพืชผักเมืองหนาว

ที่ผ่านมา ที่นี่เริ่มจากปลูกผักเมืองหนาวก่อน อาทิ กะหล่ำปลี บร็อกโคลี่ ฟักทองญี่ปุ่น โดยของบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ มาดำเนินการ รวมกลุ่มชาวบ้าน ประมาณ 15 คน นำพืชผักเมืองหนาวมาทดลองปลูก ตอนหลังนำสตรอเบอรี่จากสะเมิงมาปลูก ประมาณ 10 ต้น ปรากฏว่าได้ผลดี ต่อมาก็ขยายพื้นที่ปลูกสตอเบอรี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐหันมาส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ปลูกไม้เมืองหนาว เพราะอยากให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเลิกทำไร่ข้าวโพดเลื่อนลอย ซึ่งเป็นการทำลายป่าและแหล่งต้นน้ำลำธารที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนศรีนครินทร์ ทั้งยังเกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำอีกด้วย

พวกชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อายุประมาณ 14-15 ปี จะเริ่มแต่งงานแล้ว หลังแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ พวกเขาจะแยกที่ทำกิน บุกรุกผืนป่าเข้าไปเรื่อยๆ เรื่องสารเคมีก็มีปัญหาเข้ามามาก ในช่วงฤดูฝนถ้าน้ำไหลบ่าเข้ามา ต้นข้าวโพดจะหักล้มเสียหาย ต้องใช้งบประมาณราชการเข้ามาช่วยเหลือปีละหลายล้านบาท

ดังนั้น การส่งเสริมปลูกพืชเมืองหนาว ที่ใช้พื้นที่น้อย เช่น ปลูกสตรอเบอรี่ ปลูกผักเช่น กะหล่ำปลี หรือสตรอเบอรี่ ไร่หนึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับทำข้าวโพดก็ประมาณ 40-50 ไร่ แต่ในจำนวน 1 ไร่ ทำสตรอเบอรี่จะมีรายได้ถึง 400,000 บาท ทำไร่ข้าวโพดต้องใช้ 40-50 ไร่ จึงจะมีรายได้ 400,000-500,000 บาท นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการทำลายป่าแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้อีกด้วยŽ

ด้วยรายได้ที่มากถึงหลักแสนในการใช้เวลาปลูกไม่กี่เดือน ทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งหน่วยงานราชการเคยพาไปศึกษาดูงานการปลูกไม้เมืองหนาวที่ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่างตอบรับและให้ความสนใจปลูกกันมาก ประกอบกับระยะหลังทางจังหวัดเห็นความสำคัญ ให้งบประมาณมาเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านบาท ทำให้โครงการปลูกไม้เมืองหนาวของที่นี่มีแนวโน้มสดใสและถือเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของเมือง

สตรอเบอรี่ที่ปลูกในแหล่งนี้ มีรสชาติไม่แตกต่างจากสตรอเบอรี่ที่จังหวัดเชียงใหม่หรือเชียงรายเลย แถมหน่วยงานภาครัฐยังส่งเสริมชาวบ้านปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ โดยใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคและแมลง จึงมั่นใจได้ว่า สตรอเบอรี่จากแหล่งนี้ปราศจากสารเคมีแน่นอน

นอกจากคุณภาพและรสชาติจะไม่แตกต่างจากสเตรอเบอรี่ภาคเหนือแล้ว ผลผลิตต่อไร่และราคาขายก็อยู่ในระดับเดียวกัน ฤดูการปลูกเริ่มตั้งแต่กันยายน พอถึงพฤศจิกายนแสงจะสั้น จะเข้าหน้าหนาวก็จะออกดอก จะติดลูกชุดแรก ประมาณ 15 พฤศจิกายน จะเก็บได้ไปจนถึงเดือนเมษายน ช่วงวันสั้นยังอยู่ ปลายมีนาคมพอเข้าช่วงวันแสงยาว สตรอเบอรี่จะไม่ออกดอกแล้ว แต่ต้นยังคงอยู่ได้ตลอด ขนาดลูกชุดแรกๆ จะเล็กหน่อย รุ่นหลังๆ อยู่ที่ 25-30 ลูก ต่อกิโลกรัม

สตรอเบอรี่ของที่นี่จะมีกลิ่นหอมไม่แพ้ทางอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ แถมมีคุณภาพดี เนื้อสตรอเบอรี่ไม่เละเพราะคุมน้ำอยู่ ช่วงออกผลผลิตช่วงลูกใกล้สุก จะหยุดให้น้ำเลย จะทำให้เนื้อแข็ง แล้วก็รสชาติดี

ไม้ดอกเมืองหนาว

ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ปลูกไม้เมืองหนาว เช่น ดอกลิลลี่ ก็ขายดีเช่นกัน เพราะสินค้าจากที่นี่ใช้เวลาขนส่ง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ส่งถึงตลาดกทม.แล้ว ไม้ตัดดอกมีคุณภาพสดใหม่ ถูกใจพ่อค้า เพราะดอกลิลลี่มีคุณภาพดี ทั้งเรื่องความหนาของดอก ขนาดดอกใหญ่ ลักษณะก้าน และลักษณะต้นรูปทรงสวยงาม เพราะปลูกในสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม มีการดูแลแปลงปลูกอย่างดี

นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่ กับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี และทางจังหวัดอุทัยธานี ยังส่งเสริมให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อยู่ในตำบลแก่นมะกรูดปลูกชา กาแฟ และไม้ผลเมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นสาลี่ อะโวกาโด บ๊วย และมะคาเดเมียนัท ก็ได้ผลดีเช่นกัน

หากใครสนใจอยากเที่ยวชมความงามของไม้ดอกเมืองหนาว เช่น ดอกทิวลิป และลิลลี่ หรือสนใจอยากชิมสตรอเบอรี่ปลอดสารของตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โทร.ไปสอบถามได้ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่

เกษตรกรชาวสวนลำไยโดยทั่วไปมักจะปล่อยให้ผลผลิตลำไยออกตามธรรมชาติ ถ้าปีไหนมีอุณหภูมิต่ำและหนาวเย็นนาน ลำไยจะออกดอกติดผลมาก

ในขณะที่บางปีอากาศไม่หนาวเย็นพอ ลำไยจะติดผลน้อย และในช่วงที่ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดมากช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกษตรกรก็เดือดร้อน เนื่องจากถูกกดราคา ดังนั้น การผลิตลำไยนอกฤดูจึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรชาวสวนลำไยที่จะต้องให้ความสำคัญ ถึงแม้จะใช้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ได้ราคาดี คุ้มค่าต่อการลงทุน

คุณวินัย หวันชัยศรี เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนของภาคเหนือ ปี 2553 เล่าว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มีผู้ค้นพบคุณสมบัติของสารโพแทสเซียมคลอเรต สามารถชักนำการออกดอกของลำไยได้ ไม่ต้องพึ่งพาภูมิอากาศที่หนาวเย็น ทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมและวางแผนการผลิตลำไยได้ว่าจะให้ผลผลิตออกช่วงเวลาใด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้ขายได้ราคาดี

แต่เกษตรกรต้องมีการศึกษาธรรมชาติของลำไยว่ามีความต้องการสารเพิ่มประสิทธิภาพ ฮอร์โมนประเภทใด มีการวางแผนขั้นตอน จังหวะและเวลาที่เหมาะสม ให้ลำไยออกดอกติดผล ทำเป็นลำไยคุณภาพ ลูกโต ผิวสวย ปลอดสารปนเปื้อน จะได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด

แนวทางการผลิตลำไยนอกฤดู

หนึ่ง…หลังจากการเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งทันที สูงไม่เกิน 6 เมตร (3 วา) และอย่าให้ปลายทรงพุ่มชนกัน พร้อมกับให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเร่งให้แตกใบ 3 ครั้ง ก่อนราดสาร

สอง…วิธีการทำลำไยนอกฤดู โดยการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต ด้วยการพ่นบนดิน การพ่นทางใบและมีการบำรุงรักษา ตั้งแต่เริ่มตัดแต่งกิ่งจนติดผลและหลังการเก็บเกี่ยว

สาม…การจัดระบบน้ำให้พอเพียง ทำสปริงเกลอร์เป็นวิธีที่ทำให้น้ำพุ่งแรงและจัดวางท่อระบบน้ำให้ทั่วถึง สี่…วางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

เทคนิคการทำลำไยนอกฤดู ของ

วินัย หวันชัยศรี แห่งสวนคุ้มไร่ไผ่บง

– วันที่ 1 สิงหาคม พ่นคลอรีน (Cl2) อัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร รอบๆ ทรงพุ่มลำไย เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในดิน ก่อนราดสารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3)

– วันที่ 4 สิงหาคม colourofwords.com ราดสารโพแทสเซียมคลอเรต 1 กิโลกรัม ต่อต้น ผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพ 0.4 กิโลกรัม ต่อต้น น้ำ 20 ลิตร ต่อต้น และให้น้ำไปเรื่อยๆ 3-5 วัน ต่อครั้ง – วันที่ 9 สิงหาคม พ่นทางใบ ครั้งที่ 1 โดยใช้อัตราส่วนน้ำยาเร่งลำไยให้ออกดอก 1 กิโลกรัม โพแทสเซียมไนเตรตจีฟาสต์ 1 กิโลกรัม น้ำยาจับใบและน้ำ 200 ลิตร จากนั้นให้น้ำลำไยไปตลอด 3-5 วัน อย่าให้ลำไยขาดน้ำ (ปริมาณอัตราส่วนนี้ใช้ได้ 40 ต้น หรือ 1 ไร่)

– วันที่ 14 สิงหาคม พ่นทางใบ ครั้งที่ 2 อัตราส่วนเหมือนกับ ครั้งที่ 1

– วันที่ 19 สิงหาคม เปิดตาดอก ครั้งที่ 1 โดยพ่นทางใบใช้ฮอร์โมนประเภทสาหร่าย ประกอบด้วย วิสแคล (Viscal) 200 ซีซี ซีราส (Chiraz) 200 ซีซี ฮอร์โมนตรากิ 200 ซีซี ดอกดี 500 ซีซี โพแทสเซียมไนเตรตจีฟาสต์ 1 กิโลกรัม น้ำยาจับใบและน้ำ 200 ลิตร

– วันที่ 24 สิงหาคม พ่นทางใบสูตรเปิดตาดอก ครั้งที่ 2 อัตราส่วนเหมือนกับ ครั้งที่ 1 จากเทคนิคดังกล่าว ทางสวนลำไยคุ้มไร่ไผ่บง มีเนื้อที่ 30 ไร่ 1,200 ต้น สามารถผลิตลำไยนอกฤดูที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ลูกโต ผิวสวย ราคาดี ต้นหนึ่งได้ 200-300 กิโลกรัม ผลผลิตต่อไร่ได้ประมาณ 8,000-12,000 กิโลกรัม ในแต่ละปีจำหน่ายมีรายได้ 1,800,000 บาท

คุณวินัย หวันชัยศรี เกิดเมื่อ วันที่ 29 เมษายน 2487 ปัจจุบัน อายุได้ 74 ปี บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 4 บ้านหนองสะลิง ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนระดับเขต ประจำปี 2553 ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร

เกษตรกรที่สนใจการผลิตลำไยนอกฤดูสามารถเข้าไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้ได้ที่ สวนคุ้มไร่ไผ่บง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 671-5559, (083) 478-7499, (087) 301-7407 มีคำถามจากหลายคนว่า นโยบายที่รัฐบาลกำลังผลักดันเรื่องการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูก ข้าวนาปรังในฤดูแล้งดีหรือไม่? แล้วใครกันแน่ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้? เกษตรกรควรหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือไม่? บทความนี้ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายดังกล่าว ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ ที่มาของโครงการเป็นอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยส่วนใหญ่ปลูกกันในพื้นที่นอกเขตชลประทาน หรือคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 96-97 ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด นอกจากนั้น ยังปลูกกันในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และเหมาะสมต่ำ (S3 และ N) ถึงร้อยละ 33 ของพื้นที่เพาะปลูก (ภาพที่ 2) ประกอบกับปัญหาอุปทานล้นตลาดของข้าว และปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้รัฐบาลริเริ่มนโยบายบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “โซนนิ่ง” (Zoning) เพื่อใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ไปพร้อมๆ กับการสร้างสมดุลด้านอุปสงค์และอุปทานในตลาดข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวนาปรัง