หากซื้อกล้วยน้ำว้ามาแล้วทานไม่หมดก็แปรรูปทำเป็นเค้กกล้วย

น้ำว้าได้ง่ายๆ เริ่มจากนำกล้วยมายีๆ ใส่นม ใส่แป้ง จะใช้แป้งเค้กหรือแป้งสาลีก็ได้ แล้วผสมน้ำตาลจะออกหวานมากหรือหวานน้อยก็แล้วแต่ชอบ จากนั้นใส่ผงฟู ขั้นตอนเหมือนกันการทำเค้กทั่วไป แล้วใส่ไข่ในแป้ง เทน้ำมันใส่ แล้วถึงนำกล้วยลงกวนทีหลัง พอเสร็จก็นำใส่พิมพ์แล้วเข้าเตาอบ เค้กจะฟูขึ้น ส่วนหน้าเค้กจะแต่งหน้าด้วยลูกเกดหรือกล้วยตากหรืออะไรก็ได้

สำหรับ สูตรตะลิงปลิงแช่อิ่ม คุณศุภรัตน์ บอกว่า เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ใช้สูตรเดียวกับมะดัน หรือมะปรางแช่อิ่ม วิธีการทำคือนำลูกตะลิงปลิงล้างให้สะอาด แล้วแช่ให้น้ำเกลือ เป็นการดองเค็มก่อน สัก 3 วัน เสร็จแล้วทำน้ำเชื่อม แล้วนำตะลิงปลิงที่ดองเกลือไว้ใส่ลงไปในน้ำเชื่อม ปิดทิ้งไว้ 2-3 วัน ก็กินได้ ใส่กระปุกหรือใส่โหลที่มีฝาปิดแช่ไว้ในตู้เย็นในช่องธรรมดา สามารถเก็บไว้ได้นาน จะกินเมื่อไรก็ได้ รสชาติจะดีไม่เปรี้ยวจัดหวานจัด จะมีความกลมกล่อม อมเปรี้ยว เค็มๆ หวานๆ อร่อยดี

วกกลับมาคุยกันเรื่องสัตว์บ้าง อย่างที่เกริ่นไปแต่แรก ไร่ศุภรัตน์มีสัตว์เลี้ยงน่ารักหลากหลายชนิด โดยเฉพาะปลาหมอสี ซึ่งแต่ละตัวสีสวยงามมาก และมีอยู่หลายตู้ทีเดียว เธอให้ความกระจ่างว่า ปลาหมอสีเป็นส่วนของญาติพี่น้องที่เลี้ยงและเป็นเครือข่ายกัน ตัวไหนมีคนสนใจก็ขายด้วย ซึ่งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมเลี้ยงปลาหมอสีกันมาก เหมือนกับบ้านเราสมัยก่อน แต่ตอนนี้กระแสปลาหมอสีไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว

นอกจากนี้ ก็มีสุนัขเลี้ยงพันธุ์ปอม เมื่อก่อนเลี้ยงเยอะกว่านี้ เหมือนเป็นฟาร์ม มีเซนต์เบอร์หนาด และชิสุ มีลูกก็เลี้ยงด้วยและจำหน่ายด้วย คือทุกอย่างเริ่มจากความชอบโดยส่วนตัวก่อน แต่พอมีลูกขึ้นมาก็เป็นรายได้ แมวเป็นแมวพันธุ์เมนคูน ซึ่งเป็นแมวยักษ์แมวที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาแมวทั้งหลาย ยุคแรกๆ ที่มีการนำเข้ามาใหม่ๆ ลูกแมวขายตัวละ 7-8 หมื่น พ่อแม่พันธุ์ตัวเป็นแสน ที่บ้านก็มีพ่อพันธุ์ ถ้าขายได้ราคาเป็นแสน และมีแม่อยู่ประมาณ 5-6 ตัว ช่วงแรกทำส่งฟาร์มแมว ขายได้ตัวละเป็นหมื่น แต่ตอนหลังนี้ฟาร์มประสบปัญหา จึงไม่ได้เพาะพันธุ์ต่อ ตอนนี้ถ้ามีลูกก็ให้พี่ๆ น้องๆ ในวงการสื่อที่รักแมวจริงๆ นำไปเลี้ยง

ในฐานะเกษตรกร “อินทรีย์” มือใหม่ เธอถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์ให้ฟังว่า งานเกษตรสามารถสร้างความสุขได้จริงๆ เพียงแต่ว่าถ้ามีอาชีพนี้อาชีพเดียวจะเหนื่อยหน่อย เพราะกว่าจะได้เงินมา และอย่าหวังแต่จะขายผลผลิตอย่างเดียว เพราะเกษตรกรไม่ได้เป็นคนกำหนดราคาเอง ยกเว้นแต่ว่าจะทำอะไรที่มันต่างจากคนอื่นแล้วกำหนดราคาได้เอง เช่นเดียวกับการแปรรูปก็ต้องคิดอะไรที่แตกต่าง ที่สำคัญต้องหาตลาดที่เหมาะสม ดูว่าตลาดไหนที่ได้ราคาไม่ได้ราคา แต่ถ้าทำเกษตรแล้วมีอาชีพอื่นด้วย ตรงนี้เป็นงานอดิเรกเป็นงานเสริม อย่างน้อยก็ปลูกผักไว้กินเองเพื่อความปลอดภัย ดูความเจริญเติบโต ปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผลไว้กินเอง มีทั้ง กล้วย มะม่วง มะนาว พืชผักสวนครัวปลูกไว้อย่างน้อยก็มีอาหารไว้บริโภค มีซุปเปอร์มาร์เก็ตในบ้าน

“มีความสุขมาก เย็นๆ ก็เดินดู วันนี้จะกินอะไรดี เห็นมะละกอ วันนี้ตำส้มตำ เห็นชะอมกำลังแตกยอด วันนี้เดี๋ยวเราทำน้ำพริกกะปิ มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง วันๆ คิดทำเมนูอะไรดี ส่วนตัวไม่ใช่คนกินเยอะ เพียงแต่ว่าชอบทำ แล้วก็ให้คนอื่นกิน”

หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “บ้านไร่ศุภรัตน์” จะเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เมื่อไร เชื่อว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างดีทีเดียว เพราะที่ผ่านมาสาวอิ๋วทดลองและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองมาตลอด

“การปลูกต้นไม้ เมื่อปลูกแล้วต้องให้ได้ประโยชน์ เลือกปลูกไม้โตไว ไม้โตปานกลาง และไม้โตช้า โดยน้อมนำเอาทฤษฎีปลูกป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง ตามแนวพระราชดำริของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้”

การเพิ่มความสุขให้ชีวิตของใครหลายคนในปัจจุบันอาจมีแนวทางที่แตกต่างกันไปตามความสะดวกและโอกาสของแต่ละบุคคล การปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยสามารถสร้างความเพลิดเพลินผ่านสีสันอันสวยงามของต้นไม้ อีกทั้งยังเพิ่มความสดชื่นสบายตาให้แก่ผู้ปลูก นอกจากเป็นกิจกรรมยามว่างที่น่าสนใจแล้ว หากเลือกปลูกไม้เศรษฐกิจก็ยังสามารถเพิ่มเงินออมในอนาคตได้อีกด้วย

คุณเกียรติศักดิ์ ลีสง่า (คุณเอ) เกษตรกรปลูกไม้มีค่า อาศัยอยู่ที่บ้านนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เลือกให้เวลากับชีวิตมากกว่าการให้ความสำคัญกับเงินเดือนตามแบบอย่างที่คนในปัจจุบันยึดถือกัน ภายใต้ปณิธานที่ยึดถือเอาคำสอนของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ “ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” ทำเท่าที่มี หากได้มาก คือ กำไร ด้วยการเลือกปลูกไม้เศรษฐกิจ ทั้งยางนา พะยอม มะฮอกกานี แต้ว ตำเสา สัก กระถิน และตะเคียนทอง เป็นต้น

คุณเกียรติศักดิ์ บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตอย่างอารมณ์ดีว่า ก่อนที่ตนเองจะมาปลูกไม้เศรษฐกิจนั้น เดิมทีได้ประกอบธุรกิจส่วนตัว (รับเหมาก่อสร้าง) อยู่ในภาคอีสาน กอปรกับในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างประสบปัญหาขาดทุน จึงตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพดังกล่าว เดินทางกลับจังหวัดชุมพรบ้านเกิด เมื่อกลับมาในช่วงแรกต้องปรับตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยไปเป็นลูกจ้างในบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ทำหน้าที่รับ-ส่งลูกค้าชาวต่างชาติ ส่งผลทำให้ได้สัมผัสกับมุมมองที่แปลกใหม่มากยิ่งขึ้น

กระทั่งในปี พ.ศ. 2547 เริ่มมีความเบื่อหน่ายกับการทำงานในรูปแบบบริษัท และสนใจในการทำเกษตร จึงได้เข้าร่วมการอบรมทำเกษตรอินทรีย์จาก “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน” โดยได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์อย่างถูกต้อง การผลิตพลังงานทดแทน และได้ศึกษาถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการทำเกษตรพอเพียง โดยเฉพาะหลักการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อให้การปลูกป่าได้รับประโยชน์สูงสุดครอบคลุมถึง 3 ด้าน ทั้งจากการมีไม้ไว้สำหรับนำมาใช้สอยภายในครัวเรือน (สร้างบ้าน) ไม้เศรษฐกิจ และไม้กินได้ ด้วยวิธีการปลูกพันธุ์ไม้อย่างหลากหลาย เพื่อช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศอย่างเป็นระบบ

เมื่อได้ศึกษาถึงแนวทางการทำเกษตรอย่างถ่องแท้แล้ว จึงเริ่มนำมาปรับประยุกต์ใช้ โดยเลือกเอาการปลูกไม้เศรษฐกิจซึ่งตนเองมีความชื่นชอบในพรรณไม้ชนิดต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่ยังคงขาดความเข้าใจในการปลูกป่า จึงได้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้มาส่วนหนึ่ง โดยได้นำมาปลูกในที่ดินของครอบครัว ซึ่งมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 14 ไร่ ตั้งอยู่ ณ บ้านทุ่งเบี้ย ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ปลูกไม้มีค่าก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร ทั้งจาก “ไม้ต้นใหญ่ปลูกเพื่ออะไร เมื่อตัดไปก็ผิดกฎหมาย, ปลูกป่าบ้าหรือเปล่า” เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำสบประมาทที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ขับเคลื่อนเพื่อพิสูจน์ตนเองบนวิถีทางของการปลูกป่าต่อไป

ฟื้นฟูสวนเก่า เพื่อสร้างสวนป่า
การวางรากฐานที่ดีนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในอนาคตทั้งในเชิงธุรกิจหรือการใช้ชีวิต การปลูกต้นไม้เองก็เช่นเดียวกันหากได้รับการจัดวางแนวแปลงปลูกอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและไม่เสียเวลาในการปลูกใหม่อีกครั้ง

“ที่ดินแปลงที่ใช้ทำสวนป่า มีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ปลูกไม้มีค่าเอาไว้ประมาณ 500 ต้น มีลักษณะเป็นสวนเก่าปลูกปาล์มและมะพร้าวไว้อยู่ก่อนแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้มีการตัดออกแต่อย่างใด เพียงแต่ปลูกเสริมเข้าไปในลักษณะสวนผสม (สวนสมรม) ตามภาษาถิ่นปักษ์ใต้ แต่เปลี่ยนจากปลูกไม้ผลและไม้กินได้มาเป็นไม้มีค่านั่นเอง เพราะในระหว่างที่รอตัดไม้มีค่า ก็สามารถที่จะมีรายได้จากปาล์มและมะพร้าวเฉลี่ยให้อยู่ได้ทุกเดือน

การปลูกไม้นั้นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำไม้ไปใช้สอย เมื่อเราตัดไม้จำหน่ายหรือนำไปใช้ก็สามารถที่จะปลูกต่อได้ในทันที หากทำเช่นนี้ไม้ที่ปลูกไว้ในที่ดินก็ไม่มีวันหมด อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

โดยเลือกปลูกไม้โตเร็ว ใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก็เริ่มตัดจำหน่ายได้ เช่น กระถินณรงค์ กระถินเทพา ขี้เหล็ก และ มะฮอกกานี เมื่อตัดไม้โตเร็วออกถือเป็นการเปิดแสงให้ไม้โตปานกลาง เช่น ตะเคียนทอง พะยอม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-20 ปี ก็สามารถที่จะตัดขายเนื้อไม้ได้ แต่แท้จริงแล้วไม้โตปานกลางนี้ก็สามารถที่จะมีอายุยืนได้ถึง 100 ปี ส่วนไม้โตช้าจะใช้ระยะเวลา 30 ปีขึ้นไปในการเจริญเติบโต ซึ่งไม้ในกลุ่มนี้จัดเป็นไม้ราคาดี ได้แก่ ยางนา ตำเสา ประดู่ มะค่าโมง พะยูง และ สัก เป็นต้น

โดยส่วนมากแล้วไม้ที่เลือกนำมาปลูกภายในแปลงนี้จะเน้นพันธุ์ไม้ที่ตนเองมีความชื่นชอบ เพราะจะไม่เบื่อหน่ายเมื่อต้องดูแลรักษา และเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถเติบโตได้ดีในท้องถิ่น ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบริเวณนี้อยู่แล้ว อาศัยจัดแนวปลูกให้อยู่ระหว่างกลางของทิวแถวมะพร้าวที่มีระยะห่างประมาณ 10×10 เมตร แล้วจึงนำพรรณไม้ลงปลูก เว้นระยะห่างระหว่างกัน ประมาณ 2-3 เมตร เพื่อให้แสงสามารถส่องถึงพื้นดินด้านล่างได้ไม่มืดอับทึบจนเกินไป ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากป่าตามธรรมชาติที่มีระยะห่างระหว่างต้นไม่แน่นอน

ทั้งนี้พันธุ์ไม้ที่ปลูกควรมีความหลากหลาย ไม่เลือกปลูกเฉพาะไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง การปลูกแบบสลับชนิดกันนี้นับเป็นการปลูกเลียนแบบป่าจริง หากเลือกปลูกไม้เพียงชนิดเดียวจะเกิดการแย่งอาหาร เมื่อต่างชนิดจะมีการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารระหว่างกัน ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เกื้อกูลคล้ายคลึงกับในผืนป่าธรรมชาติ แต่ก็ต้องเรียนรู้ว่าต้นไม้แม้จะปลูกพร้อมกัน แต่จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่างกัน อาทิ กระถินเทพาโตเร็ว ตะเคียนทองและมะฮอกกานีจะโตตามมา โดยรวมแล้วขึ้นอยู่กับว่าผู้ปลูกต้องการให้ความสำคัญกับไม้ชนิดใด แต่ก็ต้องกำหนดให้มีความสอดคล้องกับระยะเวลาในการเจริญเติบโตและสามารถที่จะนำไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งไม่ควรเกินระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง

คัดเลือกพรรณไม้
การคัดเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นับเป็นหลักการที่เกษตรกรผู้สร้างสวนป่าหลายรายมองข้าม แต่แท้ที่จริงแล้วถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยตั้งแต่เล็ก

คุณเอ บอกว่า ช่วงแรกที่ปลูกป่ามีความไม่เข้าใจ มองเห็นอะไรเป็นสีเขียวก็เอามาปลูกทั้งหมด เมื่อปลูกไม้มาระยะหนึ่งก็เริ่มพบว่าต้นไม้ในแต่ละต้นนั้นมีรูปทรงที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันก็ตาม โดยเฉพาะต้นที่มีทรงสวยไม่คดงอล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากต้นพ่อ-ต้นแม่ที่ดี เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกพันธุ์ไม้ หรือเมล็ดไม้จากต้นแม่ที่มีลำต้นตรง ไม่คด หรือบิดงอจนเกินไป จัดเป็นไม้ที่สวย จะเลือกกล้าไม้จากแหล่งเพาะทั้งหมดไม่ได้ ส่วนในรายที่ต้องการคัดเลือกต้นกล้าจากในแปลงปลูกก็เริ่มคัดต้นกล้า หรือเมล็ดพันธุ์ ได้ต่อเมื่อต้นแม่มีอายุประมาณ 6 ปีขึ้นไป แต่โดยทั่วไปแล้วเมล็ดไม้ที่งอกออกมาจะไม่ได้มีความสมบูรณ์ทั้งหมด หากต้นแม่ทรงสวย ต้นกล้าที่งอกตามมาก็จะมีความสมบูรณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทางด้านกรรมวิธีคัดเลือกกล้าไม้สำหรับผู้ที่คัดต้นพันธุ์จากในแปลงปลูก ควรเลือกต้นที่งอกไกลโคนเป็นลำดับแรกซึ่งจะเติบโตได้ดีกว่าต้นใกล้โคน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแปลงปลูกประกอบด้วย ส่วนผู้ที่ไปซื้อพันธุ์ไม้จากร้านจำหน่าย ควรเลือกต้นกล้าที่มีขนาดเล็กที่สุด หากขอซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้ยิ่งดี เพราะสามารถปรับตัวได้ดีและเจริญเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินตั้งแต่แรกเกิด อีกทั้งรากแก้วก็สามารถยึดเกาะหน้าดินได้เร็วอีกด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ให้สอบถามข้อมูลจากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นนั้นๆ ว่า มีไม้เด่น ไม้ประจำถิ่นชนิดใดบ้างที่เติบโตดีอยู่ก่อนแล้ว จึงเลือกปลูกไม้ชนิดนั้น หรือในสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน และควรหลีกเลี่ยงการปลูกไม้ตามกระแส เพราะมีความไม่แน่นอนทั้งในแง่ของระดับราคาและอาจไม่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ปลูก

ไม้มีค่า ปลูกอย่างไรให้อยู่รอด
ด้วยสภาพอากาศของภาคใต้ที่มีอากาศร้อนชื้นฝนตกชุก เพราะฉะนั้นการดูแลต้นไม้ที่ปลูกก็ต้องให้ความใส่ใจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ปลูก ถึงแม้ว่าไม้มีค่าส่วนใหญ่แล้วเป็นไม้ป่าที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาปลูกกลางแจ้งก็ย่อมต้องการการดูแลเอาใจใส่ไม่แตกต่างจากการปลูกพืชชนิดอื่น

การปลูกต้นไม้ หรือปลูกป่า หากผู้ปลูกสามารถที่จะวางระบบน้ำได้ย่อมให้ผลดีกว่ามาก เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ของทุกปีเป็นช่วงที่อากาศเข้าสู่ภาวะแห้งแล้ง ต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ภายในแปลงจะมีการทิ้งใบเพื่อลดการคายน้ำและรักษาลำต้นเอาไว้ ซึ่งในสภาวการณ์ดังกล่าว หากในแปลงปลูกมีการทำระบบน้ำไว้รองรับสามารถให้น้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ต้นไม้ย่อมส่งผลให้กล้าไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดีอย่างไม่ขาดตอน

ขั้นตอนการปลูกนั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากการปลูกพืชทั่วไปเท่าไรนัก ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ปลูก แต่ที่สวนแห่งนี้จะเลือกใช้วิธีการขุดหลุมปลูกให้กว้าง ประมาณ 30 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร แล้วใช้อินทรียวัตถุที่หาได้จากภายในท้องถิ่น ทั้งมูลวัว เศษฟาง ใบไม้แห้ง และหญ้า นำมารองก้นหลุมเป็นวัสดุปลูก ทิ้งระยะเอาไว้ประมาณ 15 วัน เพื่อให้อินทรียวัตถุย่อยสลายและคลายความร้อนลง หลังจากครบ 15 วัน ให้ลองนำมือเข้าไปสัมผัส หากพบว่าเย็นดีแล้ว จึงนำกล้าไม้ลงปลูก ส่วนผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วก็สามารถที่จะใช้ดินปลูกสำเร็จรูปเข้ามาผสมกับดินในแปลงปลูกเพื่อรองก้นหลุมได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กล้าไม้ที่ปลูกควรสังเกตให้ดี หากพบว่ามีขนาดลำต้นโตแล้วให้ตัดรากโดยเว้นระยะห่างจากก้นถุงขึ้นมาประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วจึงตัดออก เมื่อปลูกลงดินรากจะงอกออกมาใหม่อีกครั้ง แต่หากไม่ตัดรากออก รากไม้จะอยู่ในลักษณะขด ชะงักการเจริญเติบโต ภายหลังจากลงกล้าไม้แล้วเสร็จให้นำฟางข้าว หรือเศษวัชพืช มาคลุมโคนโดยรอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น โดยเว้นระยะห่างจากโคนต้น ประมาณ 4-5 นิ้ว ในเกษตรกรบางรายอาจเลือกใช้วิธีปลูกกล้วยเพื่อกำบังแดดให้กับต้นไม้ ถือเป็นการสร้างรายได้ในระหว่างรอขายไม้มีค่า

ส่วนการบำรุงกล้าไม้ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ป่ามีความแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีมากนัก อาศัยเพียงใส่ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น โดยส่วนตัวแล้วจะใส่มูลไก่ในทุกๆ 6 เดือน ผสานกับการใส่ปุ๋ยยูเรียสูตรเฉพาะตัว (ปัสสาวะหมักค้างคืน) เทใส่โคนต้นโดยตรง ถือเป็นการนำของเสียที่จะต้องถ่ายเททิ้งไปในแต่ละวันมาปรับเปลี่ยนเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้อีกทางหนึ่ง เสริมด้วยการตัดหญ้าภายในแปลงปลูกเพื่อกำจัดวัชพืช ซึ่งเศษหญ้าเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ โดยวิธีการดูแลในรูปแบบดังกล่าวจะกินระยะเวลาประมาณ 4 ปี หลังจากนั้นจะเข้าไปดูแลเฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น”

ไม้มีค่า เลือกตัดอย่างไร
การตัดไม้ภายในแปลงปลูกนอกจากทำให้ผู้ปลูกจำหน่ายไม้เพื่อเป็นรายได้เสริมได้แล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศในผืนป่าที่ถูกสร้างขึ้นได้อีกด้วย

คุณเอ บอกว่า เมื่อต้นไม้มีอายุราว 10 ปีขึ้นไปป่าที่สร้างเอาไว้จะเริ่มมีการจัดการตัวเอง ผู้ปลูกอาจเลือกตัดต้นไม้ออกบ้าง โดยใช้วิธีการสังเกตต้นที่มีการเจริญเติบโตไม่ดีแคระแกร็นต้องตัดออกเป็นลำดับแรก ควรตัดให้เหลือแต่โคนต้น หรือกิ่งที่ติดโคนต้น ภายหลังต้นไม้ที่ถูกตัดออกจะมีการงอกขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ และเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นเก่า เพราะมีรากแก้วที่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนในกรณีที่เป็นไม้ใหญ่ได้ขนาดสามารถตัดจำหน่ายได้ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ปลูกเองว่ามีความต้องการรายได้มากน้อยเพียงใด แต่ไม้จำพวกกระถินเทพา กระถินณรงค์ หรือไม้ในตระกูลถั่ว ซึ่งนำมาปลูกเป็นไม้เบิกนำเมื่อมีอายุเกิน 10 ปีไปแล้ว ลำต้นจะเริ่มเป็นโพรงและค่อยๆ ตายไปในที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องตัดเพื่อใช้ประโยชน์เสียก่อน และถือเป็นการช่วยเปิดแสงให้ไม้ประเภทอื่นที่ปลูกภายในแปลงได้รับแสงแดดมากขึ้น

ปลูกป่าเพิ่มเงินออมในอนาคต
“ปัจจุบัน ตลาดซื้อขายไม้มีค่านั้นนับวันจะยิ่งเติบโตสูงมากขึ้น เนื่องจากกระแสการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้ หรือนำไม้ไปสร้างบ้านได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กอปรกับไม้ที่ปลูกในประเทศไทยส่วนหนึ่งจะถูกส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งนับเป็นตลาดใหญ่ในการใช้ไม้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่เลือกปลูกไม้มีค่าจึงควรที่จะใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกไว้ให้มากที่สุด

เดิมทีการตัดไม้เพื่อจำหน่ายนั้น อาจเลือกตัดเฉพาะต้นตามความต้องการของผู้ซื้อและตัดแบบเหมาสวนจัดส่งไปยังโรงเลื่อยจำหน่ายเป็นไม้แปรรูป แต่หากเกษตรกรเลือกที่จะเลื่อยแปรรูปด้วยตนเองเพื่อผลิตขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ก็ย่อมสร้างเม็ดเงินได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับการปลูกไม้มีค่าในลักษณะนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีงานประจำและมีที่ดินอยู่ แต่ไม่สะดวกในการทำเกษตรแปลงใหญ่ก็สามารถนำพันธุ์ไม้มีค่ามาปลูกเพื่อเป็นเงินออมเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ เมื่อเวลาผ่านไป 10-15 ปี ไม้ที่ปลูกไว้โตได้ขนาดเฉลี่ยตัดเดือนละ 1 ต้น ก็สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท อีกทั้งเศษไม้ หรือต้นที่แคระแกร็นก็ตัดไปเผาถ่านเป็นพลังงานทดแทนใช้ในครัวเรือน” คุณเอ บอก

คุณเกียรติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ที่สนใจปลูกไม้มีค่าว่า การปลูกไม้มีค่านับเป็นการเก็บเงินออมในอนาคต หากไม่ปลูกวันนี้เวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม้ที่ปลูกบางต้นแทบไม่ต้องใช้การดูแลเอาใจใส่ เมื่อต้นโตได้ขนาดก็สามารถตัดจำหน่ายเป็นเงินเลี้ยงชีพได้ นับเป็นคุณค่าที่หลายคนมองข้าม

สวัสดีครับ พบกับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย อีกครั้ง ช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือช่วงโควิดต้องปิดประเทศไทย ทำเอาตัวผมเองไม่มีโอกาสได้ออกไปพบปะพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการจนทำให้งานเขียนในคอลัมน์คิดใหญ่แบบรายย่อยต้องห่างหายจาก มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้านไปหลายฉบับ นอกจากนั้น หลังผ่อนคลายมาตรการในประเทศ ผมก็ติดงานเดินสายไปบรรยายให้หลายหน่วยงาน หลายจังหวัด

จนมาถึงตอนนี้ผมมีโอกาสตระเวนไปพบปะพี่น้องเกษตรกรรายย่อยอีกครั้ง จึงมีเรื่องราวข่าวคราวที่น่าสนใจมานำเสนอกันในฉบับนี้ครับ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” ฉบับนี้พาท่านลัดเลาะเลียบท้องทุ่งไปยังไร่ สวน ที่ทำระบบเกษตรผสมผสานมีผลผลิตออกขาย แปรรูปได้หลากหลายทั้งปี ไร่แสงสกุลรุ่ง มีดีอย่างไร ตามผมไปชมกันเลยครับ

2 แม่ลูก สร้างไร่แสงสกุลรุ่ง จาก 2 มือ

พาท่านไปพบกับ คุณเกษราญาภัทร์ ธนะวัตต์ และลูกสาว คือ คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ ที่บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 7 ตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี คุณเกษราญาภัทร์ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า มาดามผำ เชิญผมเข้าไปนั่งในโรงเรือนที่ใช้เป็นจุดต้อนรับผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน ณ ไร่แสงสกุลรุ่ง

“ไร่แห่งนี้ได้สานต่อปณิธานของ ผู้ใหญ่วีระ รุ่งประเสริฐวงศ์ ที่ได้วางพื้นฐานการทำเกษตรเอาไว้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว วันนี้มาดามผำและสูกสาวได้สานต่อเจตนารมณ์ของผู้ใหญ่ จนทำให้ไร่แสงสกุลรุ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีหลากหลายและผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สร้างชื่อเสียงให้กับไร่แสงสกุลรุ่งได้เป็นอย่างดี”

สำหรับ คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ หรือชื่อเล่นว่า น้องแสบ อดีตนักศึกษาทุนของสถาบันการจัดการ ปัญญาภิวัฒน์ เรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านโลจิสติกส์ ก็กลับมาสานต่องานที่ไร่แสงสกุลรุ่งโดยรับผิดชอบในเรื่องของตลาดออนไลน์ ทั้ง 2 คนแม่ลูก ได้สานต่องานของไร่แสงสกุลรุ่งมาตลอดเกือบ 20 ปี จนทำให้วันนี้ ไร่แสงสกุลรุ่ง เป็นที่รู้จักไปทั่วในฐานะสวนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน

ผลผลิตหลากหลาย ในพื้นที่ 10 ไร่

ไร่แสงสกุลรุ่ง วันนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา บ่อปลา นาผักบุ้ง เลี้ยงผำในร่องสวน มีมะพร้าวน้ำหอม 300 ต้น บนคันดินรอบบ่อปลา มีต้นมะกอกน้ำ 20 ต้น ที่จุดมุ่งหมายเดิมปลูกไว้เพื่อกันตลิ่งพัง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นพืชทำเงินอีกชนิดหนึ่ง มีกล้วยน้ำว้า มะม่วง ฝรั่ง พืชผักสวนครัวเป็นพืชแซมระหว่างแถวบนท้องร่อง ที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

ทำให้ไร่แสงสกุลรุ่งมีผลผลิตที่หลากหลาย เช่น ผลผลิตของมะกอกน้ำ เป็นรายได้รายปี ที่มีโรงงานรับซื้อ ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ขายได้ปีละ 3 ตัน มะกอกน้ำที่เหลือจากขายให้โรงงาน มาดามก็นำมาทำมะกอกน้ำแช่อิ่ม ด้วยสูตรดั้งเดิมของต้นตระกูลที่เป็นชาวมอญ โดยจะดองมะกอกแช่อิ่มใช้น้ำเกลือไม่ใส่สารกันบูด ทำให้มีรสชาติดี ไม่ฝาดไม่เฟื่อน ขายได้ราคากิโลกรัมละ 100 บาท

นอกจากนั้น ก็ขายกิ่งพันธุ์มะกอกน้ำ ในราคากิ่งละ 150 บาท จัดส่งทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์ของไร่แสงสกุลรุ่งยังมีปลาส้ม ปลารมควัน จากปลาที่เลี้ยงในร่องสวนของไร่แสงสกุลรุ่งเอง

ใช้หลักการทำน้อยได้เยอะ มีตลาดขายทุกวัน

มาดามผำ เล่าแนวความคิดว่า “ที่ไร่แสงสกุลรุ่ง เราใช้หลักการทำน้อยได้เยอะ เราผลิตพืชแบบหมุนเวียนมีผลผลิตทุกวัน เราจึงต้องหาตลาดขายผลผลิตของเราทุกวัน พืชที่เราปลูก สัตว์ที่เราเลี้ยง ส่วนใหญ่จะใช้พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิมที่เรามีอยู่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างแข็งแรง ทนทานต่อโรคแมลง อย่าง กล้วยน้ำว้า เราก็ปลูกเฉพาะพันธุ์พื้นบ้าน ไม่ต้องดูแลใส่ใจมาก แต่ก็มีผลผลิตออกมาสม่ำเสมอ มีหน่อให้เราขุดขายได้ตลอดเวลา จึงทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปประคบประหงมดูแล เอาเวลาที่มีไปออกร้าน ไปวางขายผลผลิตของเราได้สม่ำเสมอ

นอกจากนั้น เรายังโชคดีที่มีหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้ามาสนับสนุน เช่น ตลาดนัดสีเขียวที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ตลาดนัดเกษตรกรสำนักงานเกษตรจังหวัด ตลาดสำนักงานประมงจังหวัด ตลาดของธนาคาร ธ.ก.ส. สาขากาญจนบุรี รวมไปถึงตลาดในจังหวัดใกล้เคียงและงานออกร้านของหน่วยงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ และร่วมออกบู๊ธกับสำนักงานต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ของจังหวัด จนทำให้ไร่แสงสกุลรุ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

ผำ พระเอกของไร่แสงสกุลรุ่ง

ผลิตภัณฑ์หลักของไร่แสงสกุลรุ่งอีกอย่างคือผำ สมัครเว็บบาคาร่า หรือที่มีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น ไข่แหน ไข่น้ำ ไข่ขำ หรือ ผำ (Wolffia globosa) เป็นพืชมีดอกที่มีขนาดเล็กที่สุด อาศัยลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจลอยอยู่เป็นกลุ่มล้วนๆ หรือลอยปนกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น แหน แหนแดง ก็ได้ มีรูปร่างรีๆ ค่อนข้างกลม มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละต้นมีสีเขียว ไม่มีราก ไม่มีใบ

มาดามผำ เล่าว่า “ในร่องสวนของเรามีผำเติบโตอยู่มากมาย และในชุมชนบางส่วนมีเชื้อสายไทยทรงดำ ลาวโซ่ง หรือ ไทยโซ่ง ที่นิยมกินผำทำแกงกะทิ ในงานบุญต่างๆ เราจึงนำผำมาทำเป็นน้ำยาไข่ผำมรกต กินกับขนมจีน เป็นอาหารสูตรพิเศษที่เรายกให้เป็นพระเอกของไร่แสงสกุลรุ่ง”

ด้วยพื้นที่ของไร่แสงสกุลรุ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช้สารเคมีมานานเกือบ 20 ปี จึงทำให้ภายในพื้นที่ปลอดจากการใช้สารเคมี การนำผำมาแปรรูปจึงได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

มาดามผำ สร้างผลิตภัณฑ์จากผำที่ดังไปทั่วประเทศ

มาดามผำ เผยว่า “วิธีการนำผำมาใช้ประกอบอาหาร จะต้องตักเอาผำจากในร่องสวนมาเพาะเลี้ยงเอาไว้ในวงบ่อซีเมนต์ ใส่น้ำสะอาดเลี้ยงเอาไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ โดยต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำ เพื่อให้ผำหมดกลิ่นโคลน กลิ่นคาวต่างๆ หลังจากนั้นจะช้อนผำขึ้นมาใส่รวมกันไว้ในผ้าขาวบาง แล้วแขวนทิ้งไว้ให้น้ำหยดออกไป จึงจะนำไปแปรรูปขั้นตอนต่อไปได้”

มาดาม เล่าต่อไปว่า “น้ำยาไข่ผำมรกต เป็นที่รู้จักทั่วไปในจังหวัดกาญจนบุรี จนวันหนึ่งมีโอกาสนำน้ำยาไข่ผำมรกตไปออกรายการครัวคุณต๋อย จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ” ปัจจุบัน ไร่แสงสกุลรุ่ง ยังได้แปรรูปผำเป็น ข้าวเกรียบผำ และสบู่ผำ โดยได้รับความรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผำจาก สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี มาถ่ายทอดให้