อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลุ่มนี้คาดว่าราคาเช่นนี้คงอยู่สักพัก

หนึ่งแล้วอาจมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งราคาที่สูงสุดก็อาจจะอยู่ใกล้ช่วงเลิกปลูกพริกแล้ว แต่พวกเขาบอกว่าเหตุผลที่ต้องปลูกพริกต่อไปเพราะมีข้อดีคือสามารถเก็บผลผลิตได้ทุก 7 วัน หมายความว่าจะมีเงินสดหมุนเวียนไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันตลอด ถึงแม้ราคาจะต่ำ แต่ถ้ามีเงินสดเข้ามาตลอดก็พออยู่ได้ ซึ่งต่างกับพืชชนิดอื่นที่เก็บครั้งเดียวและได้เงินก้อนเดียวก็จบ

“คุณภาพพริกที่ละแวกนี้ถือว่ามีคุณภาพดี ทั้งนี้สังเกตจากลักษณะรูปร่างพริก ใบ และต้น จะมีความสมบูรณ์มาก ข้อมูลเรื่องนี้ได้มาจากกลุ่มพ่อค้าที่มารับซื้อพริก และยังบอกอีกว่าพริกจากเกษตรสมบูรณ์จะมีคุณภาพและเก็บไว้ได้นานกว่าพริกจากจังหวัดอื่น”เจ้าของแปลงพริกกล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน การขยายพันธุ์มะม่วง เกือบทั้งหมดจะใช้วิธีการทาบกิ่ง มีบางส่วนใช้วิธีการเสียบยอดบนต้นตอในกรณีที่มียอดมะม่วงพันธุ์ดีจำนวนน้อย โดยปกติแล้วต้นที่เสียบยอดจะมีขนาดเล็กกว่ากิ่งทาบ ในความเป็นจริงแล้วมะม่วงจัดเป็นไม้ผลที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย แม้ว่าต้นมะม่วงจะมากอายุหลายปี ถ้าเกษตรกรต้องการจะเปลี่ยนพันธุ์ก็ทำได้ไม่ยุ่งยาก โดยมีเทคนิคดังต่อไปนี้

การทาบกิ่งมะม่วงอาร์ทูอีทูแนวใหม่ แบบสวน คุณวารินทร์ ชิตะปัญญา เลขที่107/1 หมู่ 1 ต.บ้านฉาง จ.ระยอง การขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบแนวใหม่นี้เป็นการประยุกต์ การทาบมะม่วงแบบเก่าที่จะเพาะต้นตอในแปลงเพาะกล้าเมื่อต้นตอมีขนาดลำต้นเท่าแท่งดินสอก็จะสามารถถอนต้นไปปาดแผลขึ้นทาบกิ่งได้เลย โดยไม่ต้องนำต้นตอไปอัดถุงขุยมะพร้าวก่อนแล้วจึงจะนำไปขึ้นทาบได้ เริ่มต้นจากปาดกิ่งมะม่วงอาร์ทูอีทูที่ต้องการทาบให้เป็นแผลยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว จากนั้นถอนต้นตอมมะม่วงพื้นเมืองปาดให้เป็นลิ่มแผลยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว เช่นกัน ส่วนด้านตรงข้ามให้ปาดเป็นแผลเล็กน้อย

จากนั้นประกบแผลของต้นตอพื้นเมืองกับกิ่งอาร์ทูอีทูให้สนิทใช้พลาสติกพันกิ่งจากด้านล่างขึ้นบนให้แน่น จากนั้นนำขุยมะพร้าวที่ผ่านการแช่น้ำแล้วบีบน้ำออกให้พอหมาด ใส่ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาด 6×7 นิ้ว ประมาณ 1-2 กำมือ ใช้ถุงหูหิ้วที่บรรจุขุยมะพร้าวมัดรวบรากต้นตอพื้นเมือง พร้อมกับมัดอ้อมให้หูหิ้วยึดกับกิ่งอาร์ทูอีทูที่ทาบ จากนั้นใช้เชือกฟางมัดถุงหูหิ้วให้แน่นติดกับกิ่งอาร์ทูอีทูเป็นอันเสร็จ อีกราว 35-45 วัน กิ่งทาบจะมีรากสีน้ำตาลเดินเต็มถุง แสดงว่าจะสามารถตัดไปชำต่อในโรงเรือนได้

ในกรณีขึ้นทาบกิ่งอาร์ทูอีทูขนาดใหญ่นั้น ก็สามารถใช้วิธีดังกล่าวได้ดี เพียงจะต้องมีการทาบสัก 2 ต้นตอ เป็นอย่างน้อย เพื่อให้กิ่งทาบมีรากหากินให้สมส่วนกับกิ่งขนาดใหญ่ จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขนาดถุงที่บรรจุขุยมะพร้าวนำไปล้อมถุงขุยมะพร้าวเดิมให้มีขนาดถุงใหญ่ขึ้น เพื่อให้เพิ่มจำนวนรากให้มากขึ้น เมื่อมีรากเต็มถุงขุยมะพร้าวจึงจะตัดลงมาชำ อนุบาลในโรงเรือนหรือลงปลูกในแปลงปลูกได้เลย การตัดกิ่งทาบที่มีขนาดต้นใหญ่ แล้วลงปลูกในแปลงเลยนั้นจะต้องมีการดูแลที่ดีคือ จะต้องมีการกางแสลนบังแดดให้สัก 2 เดือน มีการให้น้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีไม้ค้ำยันให้ต้นไม่โยกคลอน

การเสริมขามะม่วงที่เปลี่ยนยอดใหม่ ต้นมะม่วงที่มีการเปลี่ยนยอดใหม่ เช่น สวนคุณวารินทร์ เปลี่ยนต้นมะม่วงพันธุ์เดิมอย่างน้ำดอกไม้สีทองมาเป็นอาร์ทูอีทูทั้งสวนนั้น รอยต่อของแผลระหว่างต้นมะม่วงเดิมกับกิ่งพันธุ์อาร์ทูอีทูจะเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการฉีกขาด หากกิ่งอาร์ทูอีทูโตขึ้น กิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อมีลมแรงกิ่งก็จะฉีกขาดได้ง่าย และต้นตอมีอายุเกือบ 10ปี สวนคุณวารินทร์จึงใช้วิธี “เสริมขา” คือ ใช้กิ่งหรือยอดที่แตกออกมาจากต้นตอหรือต้นมะม่วงเดิม(น้ำดอกไม้สีทอง) โดยจะทำการเฉือนยอดต้นตอแล้วเสียบแปะไว้กับกิ่งอาร์ทูอีทู นอกจากช่วยลดปัญหากิ่งมะม่วงฉีกขาดแล้ว การเสริมขาดังกล่าวช่วยในเรื่องของการหาอาหารดีอีกด้วย

การขยายพันธุ์มะม่วงของ “ไต้หวัน” ที่ไต้หวัน จะเตรียมต้นตอเหมือนกันบ้านเราโดยจะทำการเพาะเมล็ดมะม่วงพื้นบ้านไว้ในถุงดำ ประมาณ 5-8 เดือน ต้นตอจะขนาดเท่าดินสอจึงจะใช้ได้ เตรียมยอดพันธุ์ดี โดยตัดเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนยาว 5-8 เซนติเมตร และต้องมีข้อใบทุกท่อน วิธีการขยายพันธุ์ กะระยะความสูงของต้นตอ 20-30 เซนติเมตร ตัดยอดทิ้งแล้วปาดข้างให้แผลยาว 1 นิ้ว นำยอดพันธุ์ดีที่เตรียมไว้ ปาดข้างเช่นเดียวกัน แผลยาว 1 นิ้ว ประกบกับรอยแผลที่ต้นตอ ใช้เชือกหรือยางยืดรัดตรงรอยประกบให้แน่น หลังจากนั้นใช้ถุงพลาสติกครอบและห่อด้วยหนังสือพิมพ์อีกชั้นเพื่อป้องกันแสงแดด มัดด้วยเชือกฟางให้แน่น หลังจากนั้นประมาณ 30-40 วัน ยอดพันธุ์ดีก็จะแตกยอดออกมา ก็ให้เอาหนังสือพิมพ์และถุงพลาสติกที่ครอบไว้ออก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและใช้อุปกรณ์น้อย

การเปลี่ยนยอดบนต้นตอขนาดใหญ่ วีธีคือ ตัดต้นตอเก่าโดยให้สูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร เตรียมยอดพันธุ์ดี โดยเลือกยอดที่มีตุ่มตาผุดออกมาเพื่อความรวดเร็วในการแตกยอด ใช้มีดเปิดเปลือกต้นตอ กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1 นิ้ว เฉือนแผลต้นตอเป็นรูปลิ่มยาว 1 นิ้ว เสียบลงไปบนต้นตอที่กรีดแผลไว้ ใช้เทปพันแผลให้แน่นครอบด้วยถุงพลาสติกและใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อไว้เพื่อป้องกันแสงแดด ประมาณ 15-20 วัน ตุ่มตาจะเริ่มผลิออกมา ให้แกะกระดาษหนังสือพิมพ์และถุงพลาสติกออก

เทคนิคในการขยายพันธุ์มะม่วงกิ่งใหญ่ คุณเสน่ห์ ลมสถิต บ้านเลขที่ 53/1 หมู่ที่ 5 ตำบลขุนศรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ได้ผลิตกิ่งทาบที่ได้มาตรฐาน มีวิธีการทาบกิ่งมะม่วงขนาดกลางและใหญ่ โดยใช้หลักการทาบกิ่งเหมือนกับการทาบกิ่งเล็กเพียงแต่กิ่งทาบขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้น ต้นตอมะม่วงที่จะนำมาทาบกับกิ่งพันธุ์ดีจะต้องมีขนาดต้นตอใหญ่ด้วยและถ้าจะให้กิ่งพันธุ์มีความแข็งแรงและมีเปอร์เซ็นต์รอดตายสูงจะต้องเพิ่มจำนวนต้นตอที่ใช้ทาบมากขึ้น อย่างกรณีการทาบกิ่งของคุณเสน่ห์ถ้าเป็นกิ่งเล็กยังใช้ต้นตอทาบอย่างน้อย 2 ต้นตอ ขนาดของกิ่งพันธุ์ดีใหญ่มากขึ้นเท่าไรจะต้องใช้จำนวนต้นตอทาบมากขึ้นเพิ่มไปด้วย บางกิ่งจะใช้จำนวนต้นตอทาบถึง 20 ต้นก็มี

และอย่าลืมว่าถ้ากิ่งพันธุ์ดียิ่งมีขนาดใหญ่เท่าใด ระยะเวลาของการออกรากจะใช้เวลานานขึ้นตามลำดับ บางกิ่งอาจจะใช้เวลาเป็นปีถึงจะตัดลงมาชำได้ คุณเสน่ห์ย้ำให้ดูที่ปริมาณและสีของรากในตุ้มมะพร้าวเป็นหลัก (ถ้ารากมีสีน้ำตาลและปลายรากสีเหลืองอ่อนๆ ตัดกิ่งทาบลงมาได้) คุณเสน่ห์ยังได้บอกถึงเคล็ดลับเพิ่มเติมในการทาบกิ่งและเพิ่มเปอร์เซ็นต์การรอดตาย หลังจากทาบกิ่งเสร็จให้ใช้มีดลอกเปลือกของกิ่งพันธุ์ดีบริเวณใต้ตุ้มทาบลงมาเล็กน้อยให้เป็นแผลเช่นเดียวกับการตอนกิ่งเพื่อเป็นการเตือนและให้กิ่งพันธุ์ดีได้ปรับตัวเมื่อพร้อมจะตัดลงมาชำเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม หมั่นสังเกตตุ้มมะพร้าวของต้นตออย่าให้น้ำขังแฉะเพราะจะทำให้รากเน่า เกษตรกรจะต้องกรีดบริเวณปลายตุ้มมะพร้าวเพื่อระบายน้ำออกโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

เทคโนโลยีการ “ฝากท้อง”มะม่วง เทคโนโลยีการฝากท้องมะม่วงหรือที่ชาวสวนมะม่วงทั่วไป เรียกว่า “อุ้มบุญ” เป็นวิธีการเพิ่มผลผลิตมะม่วงที่ชาวสวนทั่วไปนิยมทำกันมาก เพราะนอกจากจะได้ผลผลิตจากต้นแม่ตามปกติแล้ว ยังได้ผลผลิตจากกิ่งที่นำไปเสียบฝากไว้อีก เรียกว่าได้ผลผลิต 2 ต่อ การฝากท้องก็คือการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเสียบยอด ที่เราไม่ต้องตัดต้นแม่ทิ้งในช่วงปีแรกๆ เราสามารถเก็บต้นแม่ไว้ให้ผลผลิต รอจนกว่ากิ่งพันธุ์ดีที่เสียบไว้หรือฝากท้องไว้ในปีแรกโตพอจึงตัดต้นแม่ทิ้งเหลือแต่กิ่งพันธุ์ดีให้เจริญเติบโตต่อไป วิธีการนี้จะไม่เสียประโยชน์จากต้นแม่เลย

ตัวอย่างเกษตรกร คุณจตุพร พึ่งประดิษฐ์ เจ้าของสวน “ไร่ไทรทอง” เลขที่ 1 หมู่ 1 ต.วังทับไทร กิ่ง อ. สากเหล็ก จ.พิจิตร ที่ปลูกมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่นและเพชรบ้านลาดในพื้นที่จำนวน 10 กว่าไร่ และได้นำมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้เบอร์ 4 มาเสียบฝากไว้ ปีหนึ่งๆเก็บผลผลิตได้กว่า 30 ตัน ขายได้เงิน 5 – 6 แสนบาท สอบถามได้ความว่า ตามปกติแล้วปลูกมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่นและเพชรบ้านลาด ปีหนึ่งจะได้ผลผลิตอย่างสูงไม่เกิน 20 ตัน และได้เงินประมาณ 2 แสนบาท แต่พอนำมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มาเสียบฝากไว้ ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ขายได้เงินมากขึ้น

คุณจตุพร เล่าว่า เทคโนโลยีเกี่ยวกับการฝากท้องมะม่วงเริ่มเป็นที่นิยมของเกษตรกรชาวสวนมะม่วงทั่วไป ก่อนหน้านี้ที่สวน ปลูกมะม่วงพันธุ์เพชรบ้านลาดและฟ้าลั่นนับพันต้น ในตอนนั้นราคาถือว่าถูกมากราคาสู้มะม่วงน้ำดอกไม้ไม่ได้ ถ้าจะให้ตัดต้นเพื่อเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองเลย ก็เสียดายเวลา เพราะกว่ายอดน้ำดอกไม้สีทองที่เสียบไว้จะให้ผลผลิตต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 ปี จึงศึกษาเทคนิคการฝากท้องจนเข้าใจและตัดสินใจฝากท้องน้ำดอกไม้สีทอง กับต้นพันธุ์เพชรบ้านลาดและฟ้าลั่น

วิธีการฝากท้องก็คือ การเสียบยอด แต่มี “เคล็ดลับอยู่ว่าต้นพันธุ์เดิมจะต้องไม่ มีการแตกใบอ่อนเพราะหากต้นมีใบอ่อนแล้วการเสียบยอดจะไม่ค่อยติด” แล้วยอดพันธุ์ดี(น้ำดอกไม้สีทอง)ที่จะนำมาเสียบฝากต้องเป็นยอดที่ไม่เป็นโรคและต้องเป็นยอดที่มี ตาเต่ง ยอดอวบอ้วน ตามปกติแล้วการเสียบฝากสามารถเสียบได้กับกิ่งทุกขนาด แต่กิ่งขนาดเล็กจะ ทำได้ง่ายกว่ากิ่งขนาดใหญ่ เพราะกิ่งใหญ่จะทำการลอกเปลือกยากและเปลืองเทปพลาสติกพันยอดมากกว่า

ส่วนตำแหน่งการเสียบนั้นจะต้องเสียบด้านบน ของกิ่ง เพื่อป้องกันการฉีกขาดและควรเลือกเสียบบนกิ่งหลักๆประมาณต้นละ 3 – 5 กิ่ง ต้นพันธุ์เดิมจะกรีดแผลเป็นรูปตัวยู ( U ) คว่ำ กรีดแผลยาวประมาณ 1 ½ นิ้ว แล้วใช้ มีดงัดเปลือกต้นมะม่วงออก ส่วนยอดพันธุ์ดีใช้มีดปาดเป็นปากฉลามให้แผลด้านหนึ่งยาว 1 ½ นิ้ว อีกด้านหนึ่งปาดแผลยาวเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ในการปาดยอดพันธุ์ดีจะต้องใช้มีดคมๆปาดครั้งเดียวให้ขาด ห้ามให้แผลช้ำ เพราะหากแผลช้ำจะติด แล้วนำยอดพันธุ์ดีไปเสียบใต้ เปลือกต้นพันธุ์เดิม จากนั้นให้พันเทปพลาสติกวิธีพันจะต้องพันจากด้านล่างขึ้นข้างบน เปรียบเหมือนการมุงหลังคาบ้าน และการพันต้องใช้มือกดยอดให้แน่นๆ ถ้าพันแน่นกิ่งจะติดง่าย

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นเคล็ดลับก็คือ หลังพัน พลาสติกเสร็จ ต้องเอาใบมะม่วง 1 ใบ มาปิดยอด ป้องกันแดดส่องตา หากไม่ เอาใบมะม่วงมาปิดโอกาสที่ยอดโดนแดดไหม้จะมีมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นช่วงปลายฤดูฝน เพราะจะมี โอกาสติดดีมาก แต่ถ้าคนที่ทำมีความชำนาญ ฤดูไหนก็ทำได้ ยกเว้นฤดูหนาว เพราะช่วงอากาศหนาวยอดจะไม่ค่อยติด เสียบฝากไว้ประมาณ 7 วัน ถ้ายอดพันธุ์ดีที่นำมาเสียบยังเขียวอยู่ โอกาสติดจะสูงมาก ให้อดใจรออีกจนถึง 15 วัน ถ้ายอดเริ่มแทงถือว่าติดแน่นอน เพราะยอดที่ไม่ติดจะดำ เมื่อเห็นว่ายอดเริ่มแทงให้ใช้มีดเจาะพลาสติก ด้านบนให้ตาแทงยอดออกมา แต่ห้ามแกะพลาสติกออกหมด ยอดพันธุ์ดีดูแลไม่ยาก เมื่อเราฉีดพ่นสารเคมีให้กับต้นพันธุ์เดิมก็พ่นให้ยอดใหม่บ้าง หรือหากสังเกตเห็นแมลงรบกวน ก็ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดได้

ในการเสียบฝากท้องนั้น ถ้าเสียบยอดในช่วงเดือนกันยายน ยอดพันธุ์ดีจะแตกเป็นช่อดอกสูงมาก ซึ่งถ้าพบว่ายอดที่แตกมาใหม่เป็นช่อดอกให้ตัดทิ้ง เพราะหากปล่อยไว้ให้ติดผล พบว่ายอดนั้นจะตายภายหลังจากที่เก็บผลเสร็จ แต่ความจริงแล้วเราสามารถปล่อยให้ติดได้ตั้งแต่ปีแรกถ้าเราเสียบฝากในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน เพราะกว่าจะถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เราทำการดึงช่อดอก กิ่งที่เสียบไว้ก็จะแตกเป็นพุ่มเล็กๆ แล้ว แต่ถ้าต้องการให้กิ่งที่เสียบแตกเป็นพุ่มเร็วแนะนำให้ตัดปลายยอดมะม่วงที่แตกมาบ่อยๆ กิ่งที่แตกมายืดยาวให้ตัดจะเป็นพุ่มเร็ว ยกตัวอย่าง น้ำดอกไม้สีทอง เสียบบนต้นเพชรบ้านลาด

เมื่อเข้าสู่ปีที่สอง เราทำการตัดแต่งทรงพุ่มของต้นเพชรบ้านลาดและดูแลตามปกติจนถึงเวลาดึงช่อ ดอกก็ทำตามปกติ แต่ผลผลิตแทนที่เราจะได้ผลเพชรบ้านลาดต้นละ 50 กิโลกรัม เหมือนเดิมแต่จะได้ผลผลิตจากน้ำดอกไม้สีทองเพิ่มอีกต้นละ 10 – 15 กิโลกรัม พอเข้าปีที่สาม ผลผลิตเพชรบ้านลาดก็ยังได้ต้นละ 50 กิโลกรัม แต่ผลผลิตจากน้ำดอกไม้สีทองที่เสียบฝากไว้จะได้เพิ่มขึ้นเป็นต้นละ 25 – 30 กิโลกรัม และพอเข้าสู่ปีที่ 5 – 6 เราก็เริ่มตัดกิ่งเพชรบ้านลาดออกปีละ 2 – 3 กิ่ง จนหมด เราจะได้ต้นมะม่วงต้นใหม่ที่เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง

แฟนเทคโนโลยีชาวบ้านจากจังหวัดเชียงใหม่เขียนจดหมายขอให้ลงเรื่องการให้น้ำต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะลำไย ช่วงหน้าแล้งในที่ดอน เลยขอให้ผมนำเรื่องดังกล่าวมาลง เผอิญผมมีโอกาสไปเชียงใหม่ แล้วไปหา ผศ.พาวิน มะโนชัย ผู้เชี่ยวชาญ เรื่องลำไย ซึ่งกรุณามอบข้อมูลของ อาจารย์สมชาย วงศ์ประเสริฐ นำมาให้ท่านได้ทราบกัน

วิธีการให้น้ำแก่สวนลําไยที่ชาวสวนทํากันแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ วิธีให้น้ำทางผิวดิน วิธีโดยสปริงเกลอร์ และวิธีโดยน้ำหยด โดยการให้น้ำทั้ง 3 วิธี มีเป้าหมาย คือ ต้องการให้น้ำซึมลงเปียกดินในทรงพุ่ม ถึงความลึกประมาณ 40 เซนติเมตร ขึ้นไป เพราะรากลําไยส่วนใหญ่แพร่กระจายอยู่ในดินที่ระดับความลึกนี้

การให้น้ำแก่ต้นเล็ก ที่มีอายุ 1-2 ปี

การให้น้ำแก่ต้นลําไยปลูกใหม่ในระยะ 2 ปีแรก เกษตรกรจะให้โดยวิธีใดก็ได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ แหล่งน้ำ และทุนทรัพย์ที่จะลงทุน ตั้งแต่การหาบน้ำรด ใช้ปั๊มน้ำท่อยางหรือวางระบบสปริงเกลอร์เล็กหรือน้ำหยด ถ้าจะวางระบบสปริงเกลอร์หรือน้ำหยดก็ควรพิจารณาวางระบบเผื่ออนาคตที่ต้นโตขึ้นด้วย โดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำที่ต้องรดให้แก่ต้นที่ปลูกในปีแรก ประมาณ 20 ลิตร ต่อระยะ 4-5 วัน (รดให้ดินเปียกน้ำกว้าง 0.5 เมตร) และปีที่ 2 ประมาณ 60 ลิตร ต่อระยะ 4-5 วัน (รดให้ ดินเปียกกว้าง 1.0 เมตร)

การให้น้ำแก่ต้นลําไยที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป การให้น้ำทางผิวดิน กรณีที่สวนลําไยอยู่ในบริเวณที่ลุ่ม และมีลําเหมืองไหลผ่านสวน การให้น้ำโดยทางผิวดินเป็นการให้น้ำที่ให้ครั้งหนึ่งๆ ปริมาณมาก เพื่อให้ดินที่ลึกอย่างน้อย 40 เซนติเมตร อุ้มน้ำไว้ให้มากที่สุด ทําให้ต้นลําไยค่อยๆ ใช้ได้หลายวัน ปริมาณน้ำที่ต้องให้ ครั้งหนึ่งๆ จึงขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่ม และปริมาณน้ำที่ต้นลําไยใช้ประโยชน์ได้ของดินลึก 40 เซนติเมตร นํ้าที่ใช้ประโยชน์ได้ของดินแตกต่างกันไปตามความหยาบละเอียดของดิน โดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำเป็นความลึกของน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ที่ดินเนื้อต่างๆ อุ้มไว้ให้พืชใช้ในความลึก 40 เซนติเมตร ต่อการให้นํ้า 1 ครั้ง

การให้น้ำทางผิวดินที่ง่ายที่สุด คือการไขน้ำเข้าท่วมขังในพื้นที่ทั้งสวนลําไย ให้ได้น้ำลึกเท่ากับความสูงที่ต้องการของดินเนื้อต่างๆ การที่จะทําเช่นนี้ได้พื้นที่สวนต้องราบเรียบเสมอกัน ถ้าสวนไม่ราบเรียบเสมอกันทั้งสวน ให้ทําคันดินรอบทรงพุ่มของต้นลําไยแต่ละต้น แล้วไขน้ำเข้าขัง ในคันให้ได้สูงตามต้องการของดินเนื้อต่างๆ ถ้าน้ำในเหมืองอยู่ต่ำกว่าสวน เกษตรกรก็ต้องสูบน้ำ กรณีเช่นนี้ยิ่งมีความจําเป็นต้องทําคันดินรอบทรงพุ่มเพราะจะทําให้ประหยัดน้ำมากกว่าสูบน้ำใส่ทั้งสวน

เมื่อให้น้ำทางผิวดิน ดินในความลึก 40 เซนติเมตร จะอุ้มน้ำไว้ให้พืชค่อยๆ ใช้ได้หลายวัน ความบ่อยถี่ของการให้น้ำขึ้นกับฤดูกาล และเนื้อดินที่อุ้มน้ำไว้ได้มากน้อยต่างกัน ในฤดูร้อนที่กลางวันยาว และอากาศร้อน พืชย่อมดูดน้ำจากดิน และคายน้ำมากกว่าในฤดูหนาวที่กลางวันสั้น และอากาศเย็น ดินที่อุ้มน้ำไว้ได้น้อย เช่น ดินร่วนปนทราย จึงต้องให้น้ำถี่กว่าดินที่อุ้มน้ำไว้ได้มาก เช่น ดินเหนียว สวนลําไย ในจังหวัดเชียงใหม่-ลําพูน ประมาณว่าควรมีรอบการให้น้ำ

การให้น้ำโดยใช้ท่อและสายยาง สําหรับสวนลําไยในที่ดอนมักต้องใช้น้ำบาดาล และสูบน้ำโดยใช้ท่อหรือสายยาง ถ้าดินเป็นดินร่วนหรือดินเหนียวที่ซึมน้ำได้ช้า ก็อาจทําเช่นเดียวกับที่ลุ่ม คือทําคันดินรอบทรงพุ่มแล้วเอาน้ำขังในคันดินสูง แต่ถ้าเป็นดินที่น้ำซึมได้เร็ว (อาจจะเป็นดินทรายร่วนปนทรายหรือดินเหนียวสีแดง) การให้น้ำทางสายยางลงในคันให้ได้น้ำสูง 4-6 เซนติเมตร จะต้องใช้น้ำเกินความต้องการมากและจะสูญเสียโดยการซึมลึก ในกรณีเช่นนี้เกษตรกรควรจับเวลา และตวงวัดว่าท่อหรือสายยางนั้นให้น้ำได้ นาทีละกี่ลิตร จากนั้นจึงคํานวณเวลาที่ต้องให้น้ำต้นละกี่นาที จึงจะได้น้ำเป็นจํานวนลิตร

การประหยัดน้ำเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับสวนเช่นนี้ เพราะต้นทุนค่าสูบน้ำจะแพงกว่าสวนในที่ลุ่ม และน้ำมีจํากัด เกษตรกรควรปรับดินในทรงพุ่มให้ราบเรียบเพื่อให้น้ำที่ให้กระจายซึมลงดินในทรงพุ่มอย่างสม่ำเสมอ รอบการให้น้ำในกรณีให้โดยใช้ท่อและสายยางเหมือนกับการให้น้ำโดยใส่น้ำเข้าขังในสวน หรือในทรงพุ่ม สําหรับความถี่ห่างนั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาล และเนื้อดิน

การให้น้ำโดยสปริงเกลอร์และสปริงเกลอร์เล็ก สปริงเกลอร์ที่นําเข้าจากต่างประเทศมักมีราคาแพง แต่สปริงเกลอร์ และสปริงเกลอร์เล็ก (มินิสปริงเกลอร์) ที่ผลิตในประเทศไทยมีราคาพอซื้อหามาใช้ได้ สปริงเกลอร์ที่ผลิตในไทย เช่น เรนดรอป และดําน้ำหยด ให้น้ำได้ชั่วโมงละ 400-1,000 ลิตร เป็นพื้นที่วงกลม กว้าง 4-6 เมตร เมื่อใช้ความดันของน้ำเหมาะสม คือความดันที่ทําให้น้ำกระจายได้กว้างที่สุดโดยที่น้ำไม่แตกเป็นละออง ความดันน้ำ 8-12 เมตร ปัจจุบัน มีหัวสปริงเกลอร์เล็ก และหัวพ่นนํา (หัวเจ็ท) ไทยทําที่มีขนาดเล็กกว่าเดิมอีกหลายยีห้อ เช่น อะกรู สามารถจ่ายน้ำอัตราต่างๆ กัน ตั้งแต่ 50-200 ลิตร ต่อชั่วโมง ในพื้นที่กว้าง 1-3 เมตร เกษตรกรสามารถเลือกซื้อหัวสปริงเกลอร์ สปริงเกลอร์เล็ก และสปริงเกลอร์หัวพ่นน้ำ (หัวเจ็ท, หัวผีเสือ) มาใช้หรือให้ผู้ขายออกแบบ และติดตั้งให้เหมาะสมกับสวนได้

เกษตรกรต้องรู้ว่าโดยเฉลี่ยหัวสปริงเกลอร์หรือหัวเจ็ทแต่ละหัวให้น้ำได้นาทีละกี่ลิตร แล้วคํานวณเวลาที่ต้องให้น้ำแต่ละครั้ง นอกจากนี้ การเลือกใช้หัวสปริงเกลอร์ยังต้องคํานึงถึงอัตราการซึมน้ำของดินอีกด้วย โดยต้องเลือกหัวสปริงเกลอร์ที่ให้น้ำด้วยอัตราที่ไม่เร็วกว่าน้ำซึมเข้าในดินได้ ไม่เช่นนั้นจะมีน้ำไหลล้นออกนอกทรงพุ่มและสูญเสียนํ้า เนื่องจากการให้นํ้าโดยสปริงเกลอร์และหัวพ่นนํ้า สามารถทําได้สะดวกเกษตรกรสามารถให้นํ้า เป็นราย 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน ได้โดยง่าย

ดังนั้น แทนที่จะให้นํ้าแต่ละครั้งมากที่สุดที่ดินในความลึก 40 เซนติเมตร จะอุ้มไว้ได้ โดยให้เป็นระยะ 4 – 10 วัน ต่อครั้ง แล้วแต่ฤดูกาลและชนิดดิน เกษตรกรสามารถเลือกให้นํ้าทุก 3 – 4 วัน แล้วแต่เนื้อดิน ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายให้ 3 วันครั้ง ถ้าเป็นดินเหนียวให้ 4 วันครั้ง เป็นต้น และให้แต่ละครั้งมากน้อยตามความต้องการนํ้ารายวัน และคูณด้วยจํานวนวัน

การให้นํ้าโดยวิธีนํ้าหยด การให้นํ้าโดยวิธีนํ้าหยดมีเป้าหมายเพื่อให้ดินในทรงพุ่มเปียกชื้น ประมาณ 50 เซนติเมตร เช่นเดียวกับสองวิธีที่กล่าวแล้ว การให้นํ้าโดยวิธีนํ้าหยดสามารถควบคุมให้นํ้าเปียกเฉพาะที่ที่ต้องการได้ ดีกว่าและมักให้นํ้าหยดตลอดเวลา แต่เกษตรกรก็สามารถดัดแปลงวิธีการให้เป็นการหยดเป็นระยะทุกวัน หรือ 2 วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับอัตราการหยดของนํ้า หัวนํ้าหยดมีหลายแบบ และมีอัตราการหยดตั้งแต่ 4-10 ลิตร ต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแรงดันนํ้าในท่อ ชนิดของหัวนํ้าหยด และความต้องการนํ้ารายวันของทรงพุ่มลําไย

การตรวจสอบการให้น้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าการให้น้ำได้ผลดี คือ ดินเปียกชื้นลึกประมาณ 40 เซนติเมตร จึงควรมีการตรวจสอบว่า ดินเปียกชื้นตามต้องการหรือไม่ โดยการเจาะหลุมดู สําหรับการให้นํ้าแบบผิวดิน และสปริงเกลอร์ การเจาะหลุมดูความชื้นดินต้องทําเมื่อหลังจากให้นํ้าแล้ว 24 ชั่วโมง สําหรับดินร่วน และ 48 ชั่วโมง สําหรับดินเหนียว สําหรับการให้นํ้าแบบนํ้าหยดสามารถเจาะดูได้ตลอดเวลาหลังให้นํ้า 24–48 ชั่วโมง ถ้าพบว่าดินเปียกไม่ถึง 40 เซนติเมตร ก็ต้องให้นํ้าเพิ่ม แต่ถ้าพบว่ามีนํ้าขังแฉะในดินล่างก็ต้องลดการให้นํ้า

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก รศ. สมชาย วงศ์ประเสริฐ หวังว่าข้อมูลที่นำมาลงคงจะทำให้แฟนเทคโนโลยีชาวบ้านได้เข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์

สนใจรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 0-5349-9218 ทุกวันเวลาราชการ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้างปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2521 อยู่ท่ามกลางหุบเขา ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตพื้นที่อำเภอหางดง เมื่อก่อนพื้นที่ศูนย์ฯ ถือเป็นแหล่งทดลองไม้เมืองหนาวที่สำคัญ โดยเฉพาะกุหลาบที่มีกลิ่นหอม แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนงานส่งเสริม โดยเน้นการปลูกพืชผักอินทรีย์ และไม้ผล ที่สำคัญ คือ อะโวกาโด ที่สามารถรับประทานสด มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ประมาณ 8-20 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดปริมาณคลอเลสเตอรอลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิตามินสูง นอกจากให้คุณค่าทางอาหารแล้ว ยังให้เป็นวัตถุดิบเพื่อการสกัดน้ำมันในอุตสาหกรรม

โครงการหลวงได้นำอะโวกาโดมาทดลองปลูกที่พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2526 ปรากฏว่าผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี จึงเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้ผล เนื่องจากว่าความเหมาะสมของภูมิอากาศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร ขึ้นไป

สำหรับพันธุ์อะโวกาโดที่นำมาปลูก มี 7 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) เป็นเผ่าเวสต์อินเดียน ลักษณะเป็นผลค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลืองอมเขียว รสดี เมล็ดใหญ่อยู่ในช่องเมล็ดแน่น เป็นพันธุ์เบาเก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

พันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccaneer) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสต์อินเดียน ลักษณะค่อนข้างกลมรี ขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระ สีเขียน เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง มีไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ เก็บเกี่ยวผลได้เร็วปานกลาง ประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

พันธุ์บูท 7 (Booth-7) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสต์อินเดียน ผลลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดกลาง น้ำหนัก 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง มีไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

พันธุ์บูท 8 ( Booth-8) ลักษณะผลรูปไข่ ขนาดเล็กถึงกลาง น้ำหนักประมาณ 270-400 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีครีมอ่อน รสชาติพอใช้ มีไขมัน 6-12 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดกลางถึงใหญ่ อยู่ในช่องเมล็ดแน่น ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

พันธุ์ฮอลล์ (Hall) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสต์อินเดียน ลักษณะผลคล้ายหลอดไฟ น้ำหนัก 400-500 กรัม ผลผิวค่อนข้างเรียบสีเขียวเข้ม เปลือกหนาพอใช้ เนื้อสีเหลืองเข้ม เมล็ดขนาดกลางถึงใหญ่ ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

และพันธุ์แฮสส์ (Hass) เป็นพันธุ์เผ่ากัวเตมาลัน ลักษณะผลรูปไข่ ผิวผลขรุขระมาก ผิวสีเขียวเข้ม เมื่อสุกอาจเป็นสีเขียวเข้มหรือม่วงเข้ม ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลือง มีไขมันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนพันธุ์แฮสส์ มีปัญหาเรื่องความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตไม่ค่อยดี

คุณอาย เตจ๊ะ เกษตรกรบ้านแม่ขนิลเหนือ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนปลูกข้าวไร่ ปลูกกล้วย ทำสวนลิ้นจี่ มาโดยตลอดรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไม่ค่อยดี และไม่มีตลาดที่แน่นอน พร้อมทั้งต้องใช้หนี้ค่าปุ๋ย สารฆ่าแมลง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ประกอบกับสุขภาพก็ไม่ค่อยดี จึงมีแนวคิดจะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน พอมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโครงการหลวงเข้ามาแนะนำและส่งเสริมให้ปลูกอะโวกาโดอินทรีย์ จึงสนใจหันมาปลูกอะโวกาโด พร้อมทั้งปลูกพืชผักแบบผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา