อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์เป็นอีกหนึ่งกลุ่ม

เกษตรกรตัวอย่าง ที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใต้สุดติดเขตตะเข็บชายแดนระหว่างรัฐเประประเทศมาเลเซีย ที่ได้นำผลผลิตน้ำยางสดมาแปรรูปตั้งแต่ปี 2532 และพัฒนาจนเกิดการแปรรูปทั้งยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน จนถึงการแปรรูปเป็นยางคอมพาวนด์ โดยมีการส่งออกไปยังคู่ค้าจากประเทศมาเลเซีย และส่งตรงไปยังโรงงานผลิตยางแม็กซิสในประเทศจีน สามารถทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

กระเจี๊ยบเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus (L.) Moench จัดอยู่ในวงศ์ชบา ถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก ในประเทศซูดาน สันนิษฐานว่า นำเข้ามาในประเทศไทยหลังปี พ.ศ. 2416 จัดเป็นพืชล้มลุก อายุ 1 ปี สูง 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านสีเขียว แต่บางครั้งมีจุดประม่วง ตามลำต้นมีขนอ่อนหยาบๆ ขึ้นปกคลุมเช่นเดียวกับใบและผล

ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ลักษณะใบคล้ายรูปฝ่ามือเรียงสลับกัน ใบมักเว้าเป็น 3 แฉก กว้างประมาณ 10-30 ซ.ม. ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ก้านใบยาว ดอกสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบดอกด้านในมีสีม่วงออกแดงเข้มรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ออกดอกตามง่ามใบ ผลเป็นฝักสีเขียวทรงเรียวยาว มักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลมเป็นจีบ ผิวฝักมีเหลี่ยมเป็นสัน ฝักอ่อนมีรสหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่เนื้อเหนียวไม่เป็นที่นิยม

หลายหมู่บ้านในประเทศไทยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำหมู่บ้านจนประสบความสำเร็จและกลายเป็นชุมชนต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ดูเป็นตัวอย่างและกลายเป็นที่เรียนรู้ดูงานระดับประเทศ

บ้านน้ำทรัพย์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นชุมชนต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงแหล่งสำคัญของเพชรบุรีเช่นกัน แต่สิ่งที่ดึงดูดให้คนดูงานมาท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่เพียงการทำการเกษตรแบบพอเพียง แต่คือการท่องเที่ยวชุมชนสไตล์คาวบอย และมีการท่องเที่ยวบนหลังม้าเป็นเอกลักษณ์การท่องเที่ยวของชุมชน

“เราดึงเด็กๆ มาช่วยดูแลม้าเพื่อให้ห่างไกลจากยาเสพติดและฝึกสมาธิด้วย เพราะคนที่จะมาดูแลม้าได้ต้องมีสติ ถ้าไม่จดจ่ออยู่กับม้า ก็จะตกม้าบ้าง หรือโดนม้าดีดบ้าง เด็กๆ ที่ผ่านการฝึกจะได้มาดูแลม้าให้นักท่องเที่ยวขี่” วัชระ วรรณขำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ฝึกสอนเด็กๆ ให้ดูแลม้า กล่าวถึงข้อดีของการฝึกสอนม้า

แต่เดิมชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ยังไม่มีถนน จึงต้องใช้ม้าเป็นพาหนะในการเข้าออกหมู่บ้าน แต่เมื่อมีถนนชาวบ้านใช้รถยนต์แทน ม้าจึงค่อยๆ ห่างหายไปจากชุมชน เมื่อ ผู้ใหญ่ชูชาติ วรรณขำ นำแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้พัฒนาชุมชนจนกลายเป็นหมู่บ้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ให้คนมาเรียนรู้ดูงาน และนำวิถีคาวบอยเข้ามาเป็นสไตล์ของศูนย์การเรียนรู้ตำบลบ้านน้ำทรัพย์ จึงนำการเลี้ยงม้าเข้ามาในชุมชนอีกครั้ง

“ผมใช้ม้ามาจูงเด็กๆ ออกให้ห่างจากม้าเม็ดหรือยาเสพติดครับ พอกิจกรรมนี้เข้ามา เด็กๆ ก็เริ่มเข้ามาสนใจม้า อยากจะมาขี่ม้า จูงม้า พอนักท่องเที่ยวให้ทิป ให้ค่าขนมเด็กๆ บ้าง บางคนก็ได้ค่าเทอมจากกิจกรรมนี้ เขาก็เลยยิ่งสนใจ ใส่ใจการเลี้ยงม้ามากยิ่งขึ้นครับ” ผู้ใหญ่บ้านชูชาติ วรรณขำ เล่าถึงกิจกรรมที่ต่อยอดมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเด่นของชุมชน

ทุกวันหยุด เด็กๆ ที่มีหน้าที่ดูแลม้า จะต้องมาเตรียมตัวอาบน้ำม้า เช็ดตัว แต่งตัวให้ม้า ดูแลความเรียบร้อย เมื่อคณะดูงานจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยมาดูงานการเกษตร ทั้งสวนมะนาวแบบอินทรีย์และการทำปุ๋ย โรงเผาถ่านที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ ของชุมชนแล้ว ก็จะมาจบที่กิจกรรมการดูเด็กๆ ฝึกม้าและลองขี่ม้าดูบ้าง

“เช้ามาพวกหนูต้องดูแลม้าให้เรียบร้อยก่อนค่ะ ม้าก็เหมือนคน เราอาบน้ำให้เขา เขาก็สดชื่นแล้วก็จะอารมณ์ดี ไม่ดื้อไม่ซนเหมือนคนเรานี่แหละค่ะ” น้องเรย์ ด.ญ.รุ่งรัตน์ จ้อยจิตต์ เล่าถึงกิจกรรมที่ต้องทำทุกวันเมื่อมาดูแลม้าก่อนนักท่องเที่ยวจะมา

กิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรของบ้านน้ำทรัพย์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นอกจากได้เรียนรู้เรื่องฐานการเกษตรต่างๆ แล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้ชุมชน เช่น ริมเขื่อนแก่งกระจาน หรือเส้นทางรอบป่าชุมชน เด็กๆ สามารถพาไปขี่ม้าเที่ยวตามเส้นทางต่างๆ ได้ เพราะได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว

ใครอยากชมกิจกรรมท่องเที่ยวบนหลังม้าและการใช้กิจกรรมเลี้ยงม้านำเด็กๆ ให้ห่างไกลจากยาเสพติด ติดตามรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน “เด็กจูงม้า ม้าจูงเด็ก” วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายนนี้ เวลา 06.25 น. ทาง ช่อง 3 ช่อง 33

นายกฯ แจงผลงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ สร้างระบบให้มีเอกภาพ วางกลไกการบริหารประสบผลสำเร็จ มีองค์กรกำกับดูแลชัดเจน เร่งคลอดกฎหมาย พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำรองรับ และวางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไว้ถึง 6 ด้าน พร้อมสั่งทุกหน่วยงานเตรียมรับมือน้ำหลากในปีนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ด้านทรัพยากรน้ำ 38 หน่วยงาน ตามที่รัฐบาลได้ปรับปรุงกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศใหม่ให้มีระบบและมีเอกภาพยิ่งขึ้น จากเดิมที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง โดยได้วางกลไกการบริหารใหม่ในลักษณะ 3 เสา ประกอบด้วย 1. ด้านกฎหมาย จะมีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 คาดจะพิจารณาแล้วเสร็จและประกาศใช้ภายในปี 2561 นี้ อย่างแน่นอน

2.ด้านองค์กรรับผิดชอบเรื่องน้ำในระดับชาติ มีการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ มีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ รวม 24 คน และให้มีคณะอนุกรรมการฯ อีก 4 คณะ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธศาสตร์น้ำที่สำคัญ

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำ ส่วนในระดับลุ่มน้ำได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันรอการแต่งตั้งและสรรหากรรมการภายหลังร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดังกล่าวประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้แทนภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใช้น้ำภาคส่วนต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานในระดับภูมิภาคของ สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ

​นอกจาก สทนช. จะทำหน้าที่รับนโยบายจาก กนช. ไปกำกับและติดตามให้เกิดผลเป็นรูปธรรมแล้ว ยังต้องทำหน้าที่รวบรวมจัดทำข้อมูลน้ำแห่งชาติที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ และบูรณาการแผนงาน โครงการและงบประมาณด้านน้ำที่ปัจจุบันได้กระจายอยู่ตามหน่วยปฏิบัติใน 8 กระทรวง และอยู่ในพื้นที่จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ​และ 3. ด้านแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558 – 69) เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยมีเป้าหมายพัฒนาประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้าน ปรับปรุงประปาหมู่บ้าน 9,093 หมู่บ้าน ชุมชนเมือง มีระบบประปาเพิ่มขึ้น 255 เมือง และขยายเขตประปา 688 แห่ง ขณะนี้ จัดทำประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ 7,234 แห่ง คงเหลืออีก 256 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพประปาเดิม ขยายประปาโรงเรียนให้ถึงชุมชน พัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งขยายประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว จะทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคครบทั้งประเทศ พร้อมทั้งมีคุณภาพได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม

​ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงในภาคการผลิตเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ไม่น้อยกว่า 8.7 ล้านไร่ รวมทั้งจัดหาน้ำเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญในภาคตะวันออกเพื่อรองรับความต้องการของพื้นที่เดิม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในภาคต่างๆ

ซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม ได้ 2,358 ล้าน ลบ.ม. โดยแยกเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานเพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,418 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.39 ล้านไร่ การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาตินอกเขตชลประทาน เพิ่มปริมาณน้ำได้ 875 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย การขุดสระน้ำในไร่นา จำนวน 180,278 บ่อ อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ 6,461 แห่ง การขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 221,100 ไร่ จัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้จำนวน 7,490 ไร่ รวมทั้งยังได้พัฒนาแก้มลิงเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบชลประทานได้อีก 470 แห่ง

สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป โดยกำหนดเป้าหมาย 20 ปีพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนทุกรูปแบบ 20,517 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานเดิม พัฒนาระบบผันน้ำ และอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมีโครงการสำคัญในปี 2562 – 2565 ได้แก่ แผนพัฒนาน้ำต้นทุนรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง และโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล จะทำให้ประเทศไทยมีน้ำต้นทุนมั่นคงยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ มากกว่าร้อยละ 10 ในลำน้ำสายหลัก 870 กิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำวิกฤต 10 ลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 185 แห่ง ปัจจุบันได้ขุดลอกลำน้ำสายหลัก สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระบายได้แล้ว 292 กิโลเมตร พร้อมจัดทำการป้องกันน้ำท่วมชุมชนได้ 63 แห่ง พัฒนาพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ทุ่งบางระกำและลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 ทุ่ง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในภาคใต้

สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จัดทำผังน้ำ และทางระบายน้ำในทุกแม่น้ำสายหลักของทุกลุ่มน้ำ จะดำเนินการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำทั่วประเทศ บรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งระบบ และจัดทำผังการระบายน้ำในระดับจังหวัด เมืองและพื้นที่เฉพาะ โดยโครงการสำคัญในปี 2562–2565 ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผน โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำในเขต กทม. จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมเขตเมืองและระดับลุ่มน้ำลดลง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 201 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 47 แห่ง ลดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก มูล ชี ควบคุมความเค็ม บริเวณปากแม่น้ำไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการเกษตรและการประปา กำจัดวัชพืชและขยะลอยน้ำ ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการจัดทำระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนได้ 53 แห่ง จัดทำบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาลและตรวจติดตามคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะ จำนวน 19 แห่ง และการควบคุมระดับความเค็ม 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำภาคใต้ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการพัฒนาระบบติดตาม/เฝ้าระวังให้ในพื้นที่วิกฤติ จัดการน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด นำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ และการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาคลองเปรมประชากร เป็นต้น

ส่วน​ยุทธศาสตร์ที่ 5 การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่เสื่อมโทรม เพื่อปรับสมดุลระบบนิเวศโดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4.77 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งปัจจุบันได้ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ภาคต่างๆ แล้วรวม 368,481 ไร่ สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 8.35 ล้านไร่

ป้องกันและลดการพังทลายของดินในพื้นที่ลาดชัน และจัดทำผังพื้นที่อนุรักษ์ โดยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจัดทำแผนงานร่วมกับแผนหลักการฟื้นฟูพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ​และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีองค์กร กฎหมาย ระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ จัดตั้งหน่วยงานกลาง และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจและสังคม

ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้จัดตั้ง สทนช. ให้เป็นหน่วยงานกลางด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤตแล้วเสร็จ จำนวน 22 ระบบ เช่น งานแผนที่ แบบจำลอง ระบบพยากรณ์เตือนภัย เป็นต้น สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก 12 ปี เป็น 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

เร่งรัดประกาศใช้ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ บริหารแผนงานโครงการและงบประมาณให้ครอบคลุมทั้งเชิงพื้นที่ ภารกิจ และนโยบาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้าใจของประชาชน ประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมทั้งให้มีศูนย์อำนวยการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในกรณีฉุกฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤติน้ำของชาติ

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) กล่าวว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำของประเทศ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน มีระบบและมีความเป็นเอกภาพจากทุกภาคส่วน สอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนการจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ และยังจะมีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯ น้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจะได้มีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมาบังคับใช้อีกด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2561 นี้ คาดว่า จะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 5 – 10 % และน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วง ในเดือนมิถุนายน 2561 และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าประเทศไทยจำนวน 1 – 2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 ซึ่งได้มีการวางแผนเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน ไว้จำนวน 60 ล้านไร่ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วน รวม 88,771 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ประมาณ 60,064 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า ปี 2560 จำนวน 10,910 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้นั้น รัฐบาลได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ชี้ขั้นตอนสมัครไม่ยุ่งยาก-เกษตรกรสนใจรวมกลุ่มบริหารจัดการเพาะปลูกหวังเพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุน 20%นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำนวน 14,500 แปลง ในพื้นที่ 90 ล้านไร่ หรือ 60% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ โดยในปี 2560 มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 1,512 แปลง ในพื้นที่ 2.6 ล้านไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ และตั้งเป้าหมายในปี 2561-64 ที่ 7,000 แปลงในพื้นที่ 30 ล้านไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ ปี 2565-69 เป้าหมาย 9,500 แปลง พื้นที่ 45 ล้านไร่ หรือ 30% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ และจะครบตามเป้าหมาย 14,500 แปลง ในปี 2570-79

“การสมัครเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่ยาก ที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร และสนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ล่าสุดเพียงปีนี้ปีเดียว (ปี 2561) มีกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 3 พันแปลง สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ”

นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับหลักในการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่นั้น จะมีการกำหนดขนาดพื้นที่การผลิตเพื่อให้คุ้มต่อการลงทุน มีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีการดำเนินการในรูปแบบกลุ่มอยู่ก่อนแล้ว อาทิ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน มีแหล่งน้ำชัดเจน ปริมาณน้ำเพียงพอ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ กำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติงาน หรือแผนธุรกิจที่ชัดเจนและแผนปฏิบัติงาน หรือแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงแผนธุรกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสม และมีตลาดรองรับ

เกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่แปลงใหญ่ คือต้องเป็นพื้นที่อยู่ชุมชนที่ใกล้เคียง ขนาดพื้นที่ต้องเหมาะสมต่อการบริหารจัดการและเพียงพอให้เกิดอำนาจในการต่อรอง สำหรับเงื่อนไขของพื้นที่ และจำนวนเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ แบ่งตามประเภทสินค้า ได้ดังนี้ 1. ข้าวพืชไร่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ต้องมีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย 2. ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ประมง ปศุสัตว์ผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ สมุนไพรและพืชอื่นๆ ต้องมีพื้นที่ร่วมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ หรือเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย

ทั้งนี้ เกษตรกร องค์กรการเกษตรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถยื่นใบสมัครที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ สำนักงานเกษตรอำเภอส่วนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยข้าว สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เป็นต้น จากนั้นจะต้องดำเนินการ อาทิ การจัดทำข้อมูลโครงการบริหารจัดการกลุ่มการคัดเลือกประธานกลุ่ม และผู้จัดการแปลงใหญ่ตามกระบวนการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ต่อไป

หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปีแรกเมื่อปี 2559 จนมาถึงปีนี้ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะขั้นตอนการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อขอเข้าร่วมโครงการไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก เพราะเกษตรกรไทยมีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว เมื่อต้องการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการการเกษตร จึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือการพัฒนากลุ่มให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการตลาดห่วงโซ่การผลิต

“ในปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะเดินหน้าแผนพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ โดยจะเน้นหนักในการบริหารจัดการแปลงที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีฐานข้อมูลแปลงที่ละเอียด ภายใต้การทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนแปลงใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันและมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเน้นให้ภาคประชาชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 แห่งทั่วประเทศ โดยการจัดทำแผนปฏิบัติงาน การจัดชั้นคุณภาพเครือข่ายแปลงใหญ่ นาแปลงใหญ่ และการบันทึกข้อมูล รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการดำเนินงานให้เกิดขึ้นในรูปของกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง” นายสมชาย กล่าวในที่สุด

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัญหาใหญ่ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นขณะนี้คือ ความก้าวร้าว เกเรรุนแรง ซึ่งจัดเป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็กเรียกว่าโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว (conduct disorder) ต้องได้รับการกล่อมเกลาบำบัดรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความก้าวร้าวเป็นการพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่วๆ ไปจึงไม่ห้ามปรามโรคนี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้นกว่า ร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร

“ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 13-17 ปี ที่มีประมาณ 4 ล้านกว่าคน พบเป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ร้อยละ 3.8 คาดว่ามีประมาณ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาย สาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าวมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของเด็กที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก เจ้าอารมณ์ ซึ่งมีประมาณ ร้อยละ 15 หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า และสมองพิการหรือมาจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมซึ่งพบว่าเด็กที่ดูหนัง เล่นเกมที่มีเนื้อหาต่อสู้รุนแรงบ่อยๆ จะมีผลให้เด็กมีจิตใจฮึกเหิม อยากเลียนแบบแต่ปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดก็คือครอบครัวและการเลี้ยงดู” น.ต.นพ. บุญเรือง กล่าว