อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายแปลงใหญ่ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจ

หลักสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่สามารถขับเคลื่อนภาคเกษตรให้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ฉะนั้น การดำเนินงานในปีนี้จึงมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือกระทรวงพาณิชย์ ดันตลาดข้าว กข 43 เข้าห้างโมเดิร์นเทรด หลังสหกรณ์ส่งเสริมสมาชิกปลูกจนประสบผลสำเร็จ เตรียมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 1 แสนไร่

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือกระทรวงพาณิชย์ ขยายตลาดข้าว กข 43 ของสหกรณ์ วางแผนจำหน่ายตาม ห้างโมเดิร์นเทรด ร้านสหกรณ์ในมหาวิทยาลัยและร้านสหกรณ์ในโรงพยาบาล รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ทั่วประเทศ หลังกระแสตอบรับจากผู้บริโภคชื่นชอบรสชาติอร่อย เหนียว นุ่ม แคลอรีต่ำ ไฟเบอร์สูง และมีน้ำตาลน้อย ตอบโจทย์ คนรักสุขภาพที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและลดเบาหวาน เตรียมหนุนขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มอีก 1 แสนไร่ โดยกรมการข้าว สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพแก่สหกรณ์

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงผลสำเร็จของการจัดทำโครงการส่งเสริมสหกรณ์ขยายพื้นที่ปลูกข้าว กข 43 ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับ กรมการข้าว ส่งเสริมให้สหกรณ์เพิ่มปริมาณการผลิตข้าว กข 43 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานสนับสนุนเรื่องพื้นที่ปลูกข้าว กข 43 คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการผลิตข้าวและสนใจเข้าร่วมโครงการ ทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกปลูกข้าวกข 43 ตามข้อกำหนด เริ่มตั้งแต่การขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ปลูกข้าว กข 43 การดูแลแปลงปลูกและควบคุมคุณภาพแปลงตามมาตรฐาน GAP จนถึงขั้นตอนรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร และหากสหกรณ์ใดมีโรงสีข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GMP แล้ว ก็สามารถแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่ายสู่ตลาดได้ทันที แต่ถ้าสหกรณ์ยังไม่มีโรงสีก็สามารถที่จะรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกเพื่อส่งจำหน่ายให้กับโรงสีเอกชน

ขณะเดียวกัน กรมการข้าว จะเข้ามาช่วยดูแลตั้งแต่ขั้นตอนคัดเมล็ดพันธุ์ ดูแลแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์และแปลงผลิตข้าวของสมาชิกสหกรณ์ การตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GAP และรับรอง GMP โรงสีข้าวของสหกรณ์สำหรับการสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ หากเป็นสหกรณ์ที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุน 30% จากกรมการข้าว ส่วนที่เหลือเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ผ่านสหกรณ์ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกข 43 และผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพจากกรมการข้าวแล้ว ในราคากิโลกรัมละ 19 บาท ซึ่งกรมการข้าว มีเมล็ดพันธุ์เพียงพอที่จะจำหน่ายให้กับสหกรณ์ที่จะนำไปส่งเสริมสมาชิกได้เพาะปลูกในเดือนเมษายนนี้ โดยจะเริ่มที่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำก่อน ส่วนพื้นที่อื่นจะเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งคาดว่าการปลูกข้าว กข 43 จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำนาปีและนาปรัง ประมาณ 19,000 บาท ต่อฤดูกาลผลิต

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีสหกรณ์ได้วางแผนการผลิตข้าว กข 43 นาปี พื้นที่เพาะปลูกรวม 15,016 ไร่ จำนวน 12 สหกรณ์ ได้แก่

1.สหกรณ์การเกษตรดอนเจดีย์ จำกัด 500 ไร่

2.สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด 300 ไร่

3.สหกรณ์การเกษตรเขาย้อย จำกัด 200 ไร่

4.สหกรณ์การเกษตรท่าเรือ จำกัด 300 ไร่

5.สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินช้างใหญ่ จำกัด 2,000 ไร่

6.สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด 3,000 ไร่

7.สหกรณ์การเกษตรทุ่งวัดสิงห์ จำกัด 1,220 ไร่

8.สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด 5,014 ไร่

9.สหกรณ์การเกษตรนิคมฯ บางระกำ จำกัด 1,000 ไร่

10.สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด 452 ไร่

11.สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด 500 ไร่ และ

12.สหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด (กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวคลองมะพลับ) 500 ไร่

พร้อมทั้งยังมีสหกรณ์ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง คือ

1.สหกรณ์การเกษตรคลองหลวง จำกัด

2.สหกรณ์การเกษตร ลำลูกกา จำกัด

3.สหกรณ์การเกษตรบรรพต จำกัด และ

4.สหกรณ์การเกษตรเมืองอุทัยธานี จำกัด

ทั้งนี้ กรมฯ จะเร่งส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์หันมาปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 แทนข้าวพันธุ์ทั่วไป เนื่องจากเป็นข้าวที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คุณสมบัติของข้าว กข 43 เป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ รสชาติเหนียว นุ่ม รับประทานอร่อย มีค่าน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและผู้ที่ห่วงใยสุขภาพ รวมถึงผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก เพราะเมื่อรับประทานข้าว กข 43 ซึ่งมีน้ำตาลต่ำ ร่างกายก็จะเปลี่ยนแป้งไปเป็นน้ำตาลได้ช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยอิ่มท้องนาน ไม่หิวง่าย ซึ่งในอนาคตกรมฯ มีแผนที่จะสนับสนุนสหกรณ์ต่างๆ ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว กข 43 ให้ครบ 1 แสนไร่ และขณะนี้มีหลายสหกรณ์ทยอยสมัครเข้าร่วมโครงการ

แต่เนื่องจากข้าวพันธุ์ กข 43 เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกได้เฉพาะในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เป็นข้าวไม่ไวแสง อายุเก็บเกี่ยวเพียง 95 วัน ดังนั้น ลักษณะพื้นที่ปลูกจะมุ่งไปที่สหกรณ์ที่ผลิตข้าวในระบบแปลงใหญ่ หากสหกรณ์ใดยังไม่ได้เป็นสหกรณ์ที่อยู่ในระบบแปลงใหญ่ จะต้องสมัครเข้าเป็นระบบการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่เสียก่อน เพื่อให้หน่วยงานราชการอื่นเข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการปลูก ทั้งการให้ข้อมูลและการถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะปลูก การตรวจรับรองระบบการผลิตที่ตรงตามมาตรฐาน และการส่งเสริมการตลาดนำการผลิต

สำหรับการขยายช่องทางการจำหน่ายข้าว กข 43 ภายในประเทศ กรมฯได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการวางแผนการตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับภาคเอกชน ทั้งโรงสีและผู้ประกอบการที่สนใจทำข้อตกลงซื้อขายข้าวร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์ ในเบื้องต้นจะมีสหกรณ์ 9 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดชัยนาท รวบรวมผลผลิตข้าว กข 43 ในฤดูนาปรังที่ผ่านมา จำนวน 941 ตัน เพื่อเตรียมส่งมอบตามข้อตกลงซื้อขายในล็อตแรก มูลค่า 11.763 ล้านบาท

“ตลาดหลักๆ ที่สหกรณ์จะส่งจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ตกลงจะซื้อข้าวเปลือก กข 43 เพื่อนำไปแปรรูป เช่น บริษัท ข้าว อิ่ม ทิพย์ จำกัด บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ผกากาญจน์ จำกัด บริษัท ตราสามใบเถา จำกัด โรงสีปอรุ่งเรืองธัญญา โดยกำหนดส่งมอบตั้งแต่กลางเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ในราคา ตันละ 12,500 บาท ณ ความชื้นที่ 15% ซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจกับราคานี้มาก เพราะเมื่อเทียบกับผลผลิตต่อไร่ของข้าวชนิดอื่นแล้ว ปรากฏว่า ข้าว กข 43 ขายได้กำไรที่ดีกว่า และคาดว่าข้าวเปลือก กข 43 ล็อตแรกของสหกรณ์ที่ผลิตออกมา จะสามารถกระจายออกสู่ตลาดได้ทั้งหมด” นายพิเชษฐ์ กล่าว

แม้ว่าตลาดรองรับ ข้าว กข 43 ขณะนี้ยังเป็นตลาดค้าส่งข้าวเปลือกเป็นหลัก แต่ก็มีสหกรณ์บางแห่งที่มีโรงสีข้าว เช่น สหกรณ์การเกษตรดอนเจดีย์ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรทุ่งวัดสิงห์ จำกัด ได้แปรรูปข้าว กข 43 เป็นข้าวสาร บรรจุถุงสุญญากาศที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากกรมการข้าวว่า เป็น ข้าว กข 43 แท้ที่ผลิตจากสหกรณ์ และวางขายตามตลาดทั่วไป ซึ่งกรมฯ จะสนับสนุนให้สหกรณ์ขยายช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะนำไปวางขายภายในห้างโมเดิร์นเทรด ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ตามจังหวัดต่างๆ รวมถึงร้านสหกรณ์ในมหาวิทยาลัยและร้านสหกรณ์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพได้ตรงจุด อีกทั้งยังมีแผนจะประชาสัมพันธ์ ข้าว กข 43 ของสหกรณ์ ผ่าน Social Media ด้วย เพื่อจะสนับสนุนข้าว กข 43 ให้ติดตลาด มุ่งเจาะฐานลูกค้ากลุ่มคนที่รักษาสุขภาพ และในอนาคตได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เป็นข้าวออร์แกนิก เพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้น

“ขณะนี้ ได้รับการติดต่อจาก ห้างบิ๊กซี และ บริษัท แอมเวย์ เพื่อเจรจาขอสั่งซื้อ ซึ่งคาดว่า ข้าว กข 43 ของสหกรณ์จะสามารถนำไปวางขายในห้างบิ๊กซีได้เร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันทางกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยในเรื่องการประชาสัมพันธ์และทำตลาด โดยหาภาคเอกชนที่สนใจสั่งซื้อ ข้าว กข 43 เข้ามาจับมือเป็นคู่ค้ากับสหกรณ์ด้วย” นายพิเชษฐ์ กล่าว

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คือ “มุ่งธำรง ปณิธานในการสร้างบัณฑิตที่เก่งและดี” ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านวิชาการอย่างเข้มข้น ยังผนวกด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานร่วมกับสังคมและชุมชน ผ่านการจัดกิจกรรม และพื้นที่ดำเนินการเป็นสถานปฏิบัติการเชิงพื้นที่ ภายใต้ชื่อ Social Lab

การดำเนินงานดังกล่าวมุ่งเป้าไปยังการทำงานในพื้นที่โครงการหลวง โดย มจธ. ได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการพระราชดำริขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งการวางแผนงาน การติดตามความก้าวหน้า การประเมินผล และการพัฒนาคุณภาพ

“รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน” อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า การทำงานกับโครงการหลวง เริ่มตั้งแต่ ปี 2545 ซึ่งเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่พัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพ และในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีพันธกิจในการให้บริการด้านวิชาการ ดังนั้น จึงนำองค์ความรู้ และความสามารถที่มีมาช่วยทำให้สังคมเข้มแข็ง และทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

“กิจกรรมของโครงการหลวงเป็นกลไกหนึ่งที่ร่วมสร้างบัณฑิตให้มีคุณภาพ เพราะสามารถดึงความสามารถของพวกเขามาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดประสบการณ์ให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของประเทศไทย เพราะเขามาเห็นความยากลำบากของคนจำนวนหนึ่ง จึงทำให้พวกเขาเข้าใจปัญหาสังคมมากกว่าเดิม”

“ในอีกมิติหนึ่ง เมื่อเขาลงพื้นที่มาเจอโจทย์จริง ได้เรียนรู้ และปฏิบัติงานจริง รวมถึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับชุมชน จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อยอดออกไป สิ่งที่ตามมาคือ การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้นๆ และเมื่อพวกเขาเรียนจบออกไปทำงาน จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้เข้มแข็งขึ้น”

สำหรับพื้นที่การทำงานของ มจธ. ครอบคลุม 39 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงใน 6 จังหวัด ลักษณะการเข้าไปช่วยเหลือขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีทั้งการเข้าไปสนับสนุนงานด้านวิชาการ หรือให้การอบรมเรื่องต่างๆ รวมถึงการทำโปรเจ็กต์ระยะยาว โดยมีทีมทำงาน 10 กว่าคนประจำอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และทำงานร่วมกับ ม. เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

“บวรศักดิ์ เพชรานนท์” นักวิจัย ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มจธ. ให้รายละเอียดว่า บทบาทของศูนย์ส่งเสริมฯ จะเป็นตัวประสานในการนำโจทย์สำคัญหรือยากๆ กลับไปยัง มจธ. ที่กรุงเทพฯ แล้วดึงอาจารย์กับนักศึกษามาทำงานในพื้นที่ ส่วนโจทย์ที่ไม่มีความซับซ้อน ทีมงานของศูนย์ส่งเสริมฯ ที่ส่วนใหญ่มาจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์จะแก้ปัญหาให้ได้ทันที

“ในแต่ละปีมีนักศึกษาประมาณ 10 กว่าคนเข้ามาทำงานในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมาในลักษณะของการฝึกงาน เนื่องจากเรามีประกาศว่าขณะนั้นมีโจทย์อะไรบนพื้นที่โครงการหลวงบ้าง หากใครสนใจก็มาทำงานร่วมกัน โดยนักศึกษาส่วนใหญ่จะมาจากสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์”

“โจทย์ที่ให้เขาทำจะเป็นโจทย์เดียวกับที่เราทำให้โครงการหลวง เหมือนเราทำโครงการใหญ่ 1 โครงการ แล้วตัดพาร์ตหนึ่งให้นักศึกษาทำ ดังนั้น ผลงานที่เด็กได้จึงตอบโจทย์ใหญ่ของเราด้วย ขณะเดียวกัน เด็กจะได้ฝึกกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้จากเนื้อหาวิชาการที่เขาเรียนมา หรือบางเรื่องที่ไม่เคยเรียนมาก่อน เขาจะได้มาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เพื่อฝึกการแก้ปัญหาไปในตัวด้วย”

“บวรศักดิ์” ยกตัวอย่างการทำงานของ มจธ. ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยแรกเริ่มมีทีมจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้ามาออกแบบผังการใช้พื้นที่ หลังจากนั้น มาช่วยดูเรื่องการวางสาธารณูปโภค และในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ทางทีมงานได้รับโจทย์ใหญ่เกี่ยวกับฟักทอง ซึ่งเป็นผักที่ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งนี้ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการเพาะปลูก เพราะศูนย์รับซื้อฟักทองปีละ 6 แสนบาท เมื่อตัดแต่งแล้วจำหน่าย จะมีรายได้ที่ 1.1 ล้านบาท ซึ่งฟักทอง 1 ลูก ตัดแต่งเนื้อได้ 30% อีก 70% กลายเป็นขยะ มจธ. จึงตั้งโจทย์ว่าจะทำให้เป็น zero waste ด้วยการนำทุกส่วนของฟักทองมาใช้ประโยชน์

“ผลจากการศึกษาพบว่า ส่วนเนื้ออ่อน และเนื้อติดเปลือก สามารถนำไปแปรรูปเป็นคุกกี้ตัวหนอนไส้ฟักทอง และสเปรดฟักทอง ส่วนเมล็ดฟักทองนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันฟักทอง ขณะที่ผลฟักทองตกเกรดจากการตัดแต่งจะนำไปแปรรูปเป็นฟักทองผง ซึ่งจากกระบวนการแปรรูปทั้งหมด สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็น 2 ล้านบาท ต่อปี”

ในพื้นที่ดังกล่าว มจธ. ยังเข้าไปสนับสนุนกลุ่มหัตถกรรม โดยพัฒนาความสามารถของสมาชิกให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้กลุ่มหัตถกรรมมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากคนละ 1,500 บาท ต่อเดือน เป็น 3,500 บาท ต่อเดือน

“เสาวนีย์ ผางมาลี” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานหัตถกรรมใบค้อ บ้านก๋ายน้อย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า นักศึกษาจาก มจธ. เข้ามาช่วยวิเคราะห์ธุรกิจ และให้คำแนะนำทั้งด้านต้นทุน การจัดการ และการตลาด ส่งผลให้ราคาสินค้าถูกปรับขึ้นมาอยู่ในราคาที่เหมาะสม และขายได้กำไรมากขึ้น

“น้องๆ ยังช่วยเราออกแบบสินค้ารูปแบบใหม่ๆ จากเดิมมีสินค้า 2 แบบ คือ กระติ๊บใส่ข้าวเหนียว และถาดปากพับ ก็ขยับมาที่การทำกระเป๋าสะพาย เพราะเขามองว่าหากเป็นสินค้าแบบเก่า ราคาจะคงที่ แต่หากมีสินค้าใหม่ จะเพิ่มราคาขายได้ ซึ่งหลังจากจบโปรเจ็กต์แล้ว น้องๆ ได้กลับมาติดตามผล ทั้งยังให้ความช่วยเหลือกลุ่มของเราอย่างต่อเนื่อง”

อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น คือ โครงการระบบแสง เพื่อลดเวลาการผลิตผักในโรงเรือน ในสถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิโครงการหลวงต้องการผลิตผักในโรงเรือนด้วยระบบสมาร์ทฟาร์ม มจธ. จึงทำวิจัยร่วมกับสถานีเกษตรหลวงปางดะ

ด้วยการทดลองปลูกผักในโรงเรือน และให้แสงส่องสว่างด้วยหลอด LED ในช่วงเย็นต่อเนื่องจากแสงอาทิตย์อีก 6 ชั่วโมง กับกลุ่มผักสลัด เช่น เรดโอ๊ก, กรีนโอ๊ก เป็นต้น ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการปลูกผักจาก 30 วัน/รอบ เหลือ 22 วัน/รอบ หรือเพิ่มกำลังการผลิตจาก 12 รอบ/ปี เป็น 15 รอบ/ปี โดยผลผลิตมีคุณภาพเทียบเท่ากับการปลูกปกติ

อันเป็นตัวอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันของ มจธ. กับโครงการหลวง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สร้างให้นักศึกษาได้เรียนรู้คู่สังคมอย่างแท้จริง

ส. พืชสวนฯ ดึงผู้เชี่ยวชาญแคนาดา ยันสรรพคุณยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสทไม่อันตราย ชี้นโยบายจำกัดพื้นที่ทำต้นทุนเกษตรกรพุ่ง สูญเสียผลผลิตปีละเกือบหมื่นล้าน สวนยางจ่อขาดทุน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนา เรื่อง “การจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ทำไม? …ใครได้ ใครเสีย? มีทางออกหรือไม่?” ขึ้นที่กรมวิชาการเกษตร โดยเชิญ ดร. เกรแฮม บรูค ผู้อำนวยการองค์การให้คำปรึกษาด้านการเกษตร PG economics จากแคนาดา ซึ่งคลุกคลีในการใช้สารไกลโฟเสท “ราวนด์อัพ” กำจัดวัชพืชมากว่า 20 ปี มาให้ความเห็นเรื่องนี้

ดร. บรูค กล่าวว่า ไกลโฟเสท สามารถกำจัดวัชพืชได้หลากหลาย คุณสมบัติจะไปยับยั้งการสร้างกรดอะมิโนในพืช แต่ไม่ยับยั้งในคนและสัตว์ ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันเมื่อสัมผัส ไม่มีพิษตกค้างในร่างกาย สามารถย่อยสลายในดินและไม่ตกค้างในดิน ไม่ก่อมะเร็ง หน่วยงานภาครัฐและองค์กรนานาชาติกว่า 160 ประเทศ ทั้งสหรัฐฯ บราซิล ฯลฯ วิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์หลายครั้งว่า ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จึงใช้กันมากว่า 40 ปี แต่รัฐบาลไทยกลับจำกัดพื้นที่การใช้สารนี้

ทั้งนี้ ในปี 2012 ไทยใช้ไกลโฟเสท 15.3 ล้านกิโลกรัม คิดเป็น 33% ของสารกำจัดวัชพืชในไทย โดยใช้ในสวนยางพารา ปาล์ม ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และสวนผลไม้จำนวนมาก หากจำกัดพื้นที่การใช้สารนี้ จะทำให้ต้นทุนด้านการกำจัดวัชพืชเพิ่ม 1,836 ล้านบาท หรือคิดเป็น 141.44 บาท ต่อไร่ และเกษตรกรต้องสูญเสียผลผลิตไม่ได้คุณภาพอีก 5% คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทั่วประเทศกว่า 7,392 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนเกษตรกรตามนโยบายประเทศไทย 4.0
“ประเทศศรีลังกา เป็นตัวอย่างประเทศจำกัดการใช้สารนี้ และได้รับผลกระทบต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ประชากร ร้อยละ 10 ของศรีลังกาที่ปลูกและผลิตใบชาสูญเสียผลผลิต ประมาณร้อยละ 11 ในปี 2016 และสูญเสียต่อเนื่องในปี 2017 ถึงร้อยละ 20 และผลผลิตข้าว ข้าวโพด และหอมแดง ลดลงจากปัญหาวัชพืช ส่งผลให้ศรีลังกาต้องเตรียมนำเข้าสินค้าเหล่านี้มากขึ้น

ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตไม้ตัดดอกส่งออกไปออสเตรเลีย ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากกำหนดให้จุ่มปลายก้านดอกไม้ในไกลโฟเสทก่อนการส่งออก บางรายหันไปใช้สารทดแทนอื่นซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่าไกลโฟเสท ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้แจ้งเตือนสารอื่นปนเปื้อนในใบชาที่ส่งจากศรีลังกาหลายครั้ง และทำให้ตลาดมืดที่จำหน่ายไกลโฟเสทขยายตัวอย่างรวดเร็ว ราคาจำหน่ายสารนี้แพงกว่าปกติ 3-4 เท่า”

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ภาครัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่ต้องขายขาดทุน จึงไม่อยากให้ซ้ำเติมเกษตรกรอีก ปกติใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ในราคาพิเศษ ลิตรละ 100 บาท 1 ลิตร ฉีดได้ 1 ไร่ แต่หากใช้แรงงานที่หายากกำจัดแทน ค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดระยอง วันละ 338 บาท และสารเคมีตัวใหม่ก็มีราคาสูงถึงลิตรละ 450 บาท ขอให้รัฐกำหนดนโยบายอย่างรอบคอบ

“ตราฉัตร” เผย 61 ปีทองข้าวหอมมะลิ คาดทั้งปีโตพุ่งไม่ต่ำกว่า 15% มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ชี้ Q1 ทะลุเป้า จับตามาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อดันยอดเพิ่ม หวั่นค่าบาทแข็งกระทบ

นายฐิติ ลุจินตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารการค้าข้าวในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจอาหารและสินค้าทั่วไป บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราฉัตร เปิดเผยว่า ยอดขายในปี 2561 ทั้งปีจะโตไม่ต่ำกว่า 15% มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท โดยมีปริมาณยอดขายรวม 1 ล้านตัน เป็นข้าวหอมมะลิ ประมาณ 2.5 แสนตัน ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2561 สามารถทำยอดได้ถึง 25% ของเป้าทั้งปีแล้ว

ทั้งนี้ ในแต่ละปี ตลาดส่งออกของ ซี.พี. อินเตอร์เทรด คิดเป็นสัดส่วน 70% และตลาดในประเทศ สัดส่วน 30%

“ปีนี้ถือเป็นปีทองของสินค้าข้าว เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาดีพุ่งไปที่ 8,000 บาท ต่อตันข้าวเปลือก คาดว่าแนวโน้มราคาข้าวจะยังทรงตัวสูงต่อเนื่อง เป็นผลจากสต๊อกข้าวแต่ละประเทศลดลง ปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลิฤดูกาลนาปีที่ผ่านมา ลดลง 20% หายไปล้านกว่าตัน บางโรงสีหายไปกว่า 40% จากปัญหาน้ำท่วมและข้าวออกรวงเจอฝน ทำให้ผลผลิตออกน้อย ข้าวตราฉัตรซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรได้ 1.8 แสนตัน ในช่วงนอกฤดู แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ 4 แสนตัน

สำหรับแนวโน้มในช่วง 9 เดือน จากนี้ ตลาดโลกยังมีความต้องการต่อเนื่อง เช่น ตะวันออกกลาง อิหร่าน เดิมทีเคยซื้อข้าวบาสมาติกลับมาสั่งซื้อข้าวหอมมะลิมากขึ้น เพราะราคาข้าวบาสมาติ ตันละ 1,200 สูงกว่าข้าวไทย 900 เหรียญสหรัฐ”