อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บริหารจัดการแก้มลิงทั้ง 69 แห่งดังกล่าว

ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารชลประทาน เช่น ประตูระบายน้ำ ถนนหรือคันคลองที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ เป็นต้น พร้อมทั้งจะต้องมีกฎหมายหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิงรองรับด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมดประมาณ 29,000 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและค่าบำรุงรักษารวมทั้งค่าสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกประมาณปีละ 1,350 ล้านบาท

“เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้ง 69 พื้นที่ดังกล่าว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แก้มลิง 57,325 ครัวเรือนหรือประมาณ 163,672 คนได้รับประโยชน์โดยตรง ทำให้น้ำไม่ท่วมบ้านเรือนในช่วงฤดูฝน เพราะจะควบคุมน้ำให้อยู่ในพื้นที่ทุ่งนา นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ตั้งแต่ท้ายพื้นที่แก้มลิงไปจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 122,315 ครัวเรือน หรือประมาณ 348,309 คน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกจำนวนมหาศาลก็ได้รับประโยชน์ด้วยเพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ลดความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลประโยชน์ที่จะลดความเสียหายลงเฉลี่ยประมาณปีละ 11,300 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 69 พื้นที่ ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาได้ทั้งหมดในปีเดียว กรมชลประทานจึงจัดทำแผนพัฒนาต่อเนื่อง 5 ปี โดยเริ่มดำเนินการจากโครงการแก้มลิงที่มีความพร้อม และไม่ต้องดำเนินการด้านกฎหมาย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการแก้มลิงเป็นอย่างดีก่อน รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

SMART SME EXPO 2017 งานใหญ่แห่งปีที่อัดแน่นด้วยโอกาสธุรกิจ งานเดียวที่รวมหน่วยงานทุกภาคส่วนกว่า 30 หน่วยงาน และธุรกิจที่พร้อมให้เลือกช็อปมากกว่า 200 กิจการ ครบเครื่องทั้งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ความงาม สุขภาพ ไอที ผนึกแนวร่วมจัดโซลูชั่นประกาศความช่วยเหลือผู้ประกอบการแบบเต็มรูปแบบ ด้วย 5 โซลูชั่น ตอบโจทย์ครบวงจร ตั้งต้นธุรกิจ – ขยายตลาด – สร้างแบรนด์ – พัฒนาสินค้า – ที่ปรึกษา พร้อมเป็นเวทีสำคัญในการซื้อขายธุรกิจและเชื่อมโยงหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี คาดเงินสะพัดพันล้านบาทใน 4 วัน วันที่ 29 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2560 ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สร้างผู้ประกอบการใหม่และเกิดการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 300 คู่เจรจา โดยดร.อุตตม สาวนายน เป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังตื่นตัวในการร่วมกันพัฒนาเอสเอ็มอีไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง และทั่วถึง ทั่วประเทศ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ จนต่อเนื่องไปถึงรัฐวิสาหกิจชุมชน วันนี้มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยก้าวไปบนถนนไทยแลนด์ 4.0 อย่างมั่นคง ที่ผ่านมาประเทศเราจะเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะที่นอกประเทศกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคอุตสาหกรรมในการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามา Disrupt กระบวนการผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงกระบวนการทำการตลาด ที่มีเรื่องของดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องจนทำให้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมดำเนินไม่ได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำให้เราต้องร่วมกันสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ก้าวทัน ก้าวไปด้วยกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็น 4.0

.”ภาครัฐจะเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และคมนาคม ถนน ท่าเรือ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อทำให้ทั้งภาคอุตสาหกรรม การศึกษา การเกษตร สร้างรากฐานไปสู่ความเจริญใหม่ของชาติไทยไปสู่ทุกภาคส่วน

“นายพิสิษฐ์ ประกิจวรพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน เปิดเผยว่า “งานในครั้งนี้เราต้องการให้เกิดการเจรจาซื้อขายธุรกิจภายในงานจริงๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ภายในงานที่มี 5 โซลูชั่นหลักนั้นเพื่อสร้างศักยภาพในทุกด้านของการเป็นผู้ประกอบการ ปีนี้นับเป็นความพิเศษที่มีแฟรนไชส์กว่า 50 แบรนด์รวบรวมไว้ในงานเพื่อให้เลือกสรรลงทุนได้ และทางผู้จัดงานยังได้จัดแคมเปญ “คนซื้อได้ทอง คนขายได้เที่ยว” เมื่อจองธุรกิจหรือซื้อของ ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ก็มีสิทธิ์ร่วมลุ้นได้รับทองกลับบ้าน ส่วนคนขายยังได้ลุ้นตั๋วเครื่องบิน เพื่อเป็นการกระตุ้นการซื้อขายในงานเพิ่มขึ้นด้วย”

งาน SMART SME EXPO 2017 งานใหญ่ที่สุดแห่งปีที่รวมโอกาสสู่ความสำเร็จ SMEs 4.0 ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าหรือสมัครร่วมเจรจาธุรกิจได้ที่ www.smartsmeexpo.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 086-314-1482

(เรือนจำอำเภอธัญบุรี เทศบาลเมืองปทุมธานี) นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ (ที่ 3 จากซ้าย) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ นายประพจน์ โชคพิชิตชัย (ที่ 2 จากซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ เปิด “โครงการฝึกวิชาชีพการทำธุรกิจขนาดเล็กการจำหน่ายเนื้อสุกร : นายสะอาดขายหมู” นำร่องใน 4 เรือนจำ เขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อให้ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษได้เรียนรู้ทักษะความชำนาญในอาชีพค้าขาย พร้อมสนับสนุนให้กลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้หลังพ้นโทษ ร่วมด้วย นางพรทิพย์ โชคสมัย (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพฤตินิสัย

นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์มีภารกิจสำคัญในการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง นอกจากพัฒนาในด้านจิตใจ การส่งเสริมความรู้ พัฒนาความคิด และสร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้ต้องขังแล้ว ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้าง ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นให้กรมราชทัณฑ์พัฒนาผู้ต้องขังให้สามารถมีงานทำภายหลังพ้นโทษ จึงมีนโยบายในการสร้างอาชีพแก่ผู้ต้องขังภายในแนวคิด “หนึ่งคนหนึ่งทักษะ” โดยการจัดการฝึกวิชาชีพให้ทุกคนมีทักษะฝีมือ มีความรู้ความสามารถอย่างน้อยคนละ 1 ทักษะ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงาน และมีวิชาชีพติดตัวไปใช้ในการดำเนินชีวิตภายหลังพ้นโทษ สำนักพัฒนาพฤตินิสัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดให้มีการฝึกวิชาชีพรูปแบบต่างๆ อาทิ การฝึกวิชาชีพด้านการทำอาหารและเครื่องดื่ม ด้านงานบริการนวด เสริมสวย ล้างรถ และด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาพฤตินิสัยขยายรูปแบบการจัดการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังให้หลากหลายขึ้น โดยร่วมมือกับซีพีเอฟจัดทำ “โครงการฝึกวิชาชีพการทำธุรกิจขนาดเล็กการจำหน่ายเนื้อสุกร : นายสะอาดขายหมู” เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถวางแผนการทำธุรกิจของตนเอง มีความรู้ในด้านการบริหารจัดการและบัญชีการเงินเบื้องต้น สามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กภายหลังพ้นโทษได้ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วการที่ผู้พ้นโทษจะสามารถประกอบอาชีพอิสระของตนเองได้นั้น นอกจากความรู้และทักษะในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายแล้ว องค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการ การตลาด บัญชีการเงิน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถวางแผนการประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จ

“โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนวิทยากร และตู้จำหน่ายเนื้อสุกรสำหรับการฝึกวิชาชีพตามโครงการนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะอาชีพที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกอบการผ่านการจำหน่ายเนื้อสุกรปลอดภัยปลอดสารจากผู้ผลิตมาตรฐาน และมีโอกาสที่จะปรับตัวก่อนการปล่อยตัวพ้นโทษในระยะเวลาอันใกล้นี้” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

ด้าน นางพรทิพย์ โชคสมัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพฤตินิสัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการให้ความรู้ทางอาชีพแก่ผู้ต้องขัง นอกจากการมุ่งเน้นทักษะและความรู้ในการทำงานในหน่วยงานหรือสถานประกอบการต่างๆแล้ว กรมราชทัณฑ์ยังเน้นให้ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพอิสระในลักษณะเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองได้อีกด้วย จากข้อมูลกรมสังคมสงเคราะห์ กรมราชทัณฑ์ พบว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มีผู้พ้นโทษที่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลสามารถไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษจำนวน 5,495 คน สำหรับการฝึกวิชาชีพดังกล่าว เริ่มดำเนินการในเรือนจำนำร่อง 4 แห่งได้แก่ เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางสมุทรปราการ เรือนจำพิเศษมีนบุรี และเรือนจำอำเภอธัญบุรี โดยคัดเลือกผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือจำคุกต่อไปไม่เกิน 2 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตชุมชน สุขภาพอนามัยดี มีความสนใจที่จะประกอบอาชีพจำหน่ายเนื้อสุกร เรือนจำละ 20 คน รวม 80 คน เข้าร่วมโครงการนายสะอาดขายหมู

“ผู้ต้องขังจะเข้ารับการการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในระยะเวลา 2 วัน จากวิทยากรของซีพีเอฟที่สอนกระบวนการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ร่วมกับวิทยากรจากสำนักพัฒนาพฤตินิสัย หลังจากอบรมผู้ต้องขังจะได้ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ การจัดการ และการจำหน่ายเนื้อสุกรให้กับประชาชนทั่วไปในร้านสวัสดิการของเรือนจำ สุดท้ายสำนักพัฒนาพฤตินิสัย และกองสังคมสงเคราะห์ฯ ร่วมกับซีพีเอฟจะสนับสนุนช่องทางในการประกอบอาชีพผู้ประกอบการขนาดเล็กภายหลังพ้นโทษต่อไป” ผอ.สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กล่าว

นายประพจน์ โชคพิชิตชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีนโยบายการผลิตอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากลเพื่อผู้บริโภคตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัยถึงมือผู้บริโภคในทุกชุมชน ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีร้านค้าจำหน่ายของชำในชุมชนอยู่แล้วหรือผู้สนใจทั่วไป ได้จำหน่ายเนื้อหมูสด สะอาด ปลอดภัย และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ จากผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ผ่านร้านตู้หมูชุมชน CP-Pork Shop

“เมื่อทราบว่ากรมราชทัณฑ์จัดโครงการฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง บริษัทยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเสริมสร้างทักษะอาชีพและสนับสนุนโครงการฝึกวิชาชีพผู้ประกอบการขนาดเล็กจำหน่ายเนื้อสุกรนี้ โดยมีการอบรมในการปรับทัศนะคติและสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ เทคนิคการทำธุรกิจขนาดเล็ก การวางแผนด้านบัญชีการเงิน เทคนิคการจำหน่ายสินค้า การเตรียมสถานที่และความพร้อมด้านการดำเนินการ บุคลิคภาพและสุขอนามัย นอกจากการสร้างอาชีพแก่ผู้ต้องขังแล้วยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ซีพีเอฟได้มีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อผู้บริโภคอย่างกว้างขวางขึ้นด้วย” นายประพจน์ กล่าว

ประชารัฐสุราษฎร์ไปได้สวย ปิ๊งไอเดียสตอรี่มะพร้าว GI แปรรูปสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม ดึงนักท่องเที่ยวยุโรปที่มีกำลังซื้อสูง ตั้งเป้าโกยรายได้ปีละไม่ต่ำว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายธัญญะ พูลสวัสดิ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสุราษฎร์ธานี จำกัด และกรรมการหอการค้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่มีศักยภาพสูง แต่เกษตรกรต้องประสบปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ และราคาที่ไม่แน่นอน กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนและผู้ผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำจึงได้หาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นเป็นมะพร้าวพันธุ์ดั้งเดิม มาเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะพะงัน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับคลัสเตอร์มะพร้าวแห่งประเทศไทย หอการค้า กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย สมาคมโรงแรมเกาะพะงัน เพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และภายใน 2 ปี ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

เอกชนจะรับซื้อมะพร้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าตลาด รูปแบบการประกันราคาจาก 18 บาทต่อลูก เป็น 28-30 บาทต่อลูก นำร่องโครงการเกาะพะงันโมเดล เพื่อนำมาแปรรูป โดยเน้นคุณสมบัติจากสารตั้งต้นของมะพร้าวสกัดเย็นมาผลิตเป็นเครื่องสำอางจำหน่ายเคาน์เตอร์แบรนด์ ภายใต้ชื่อ “coconut kho phangan” ในราคาพรีเมี่ยม เจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเป็นเซต ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท แต่ละผลิตภัณฑ์จะแยกตามรายสีให้สอดคล้องกับสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ โดยตั้งเงื่อนไขเกษตรกรต้องเข้าร่วมแปลงใหญ่ประชารัฐ ตอนนี้มีเกษตรกรเข้าร่วม แบ่งเป็นแปลงใหญ่ทั้งหมด 61 แปลง เกษตรกรเข้าร่วม 21 แปลง อนาคตตั้งเป้าให้เป็นแปลงใหญ่ออร์แกนิกทั้งเกาะ รวมปริมาณผลผลิต 54 ล้านลูกต่อปี เฉพาะรายได้ต้นน้ำที่เป็นสารตั้งต้น มูลค่า 1,500 ล้าน ต่อปี ขณะเดียวกันเมื่อนำมาแปรรูปสามารถสร้างมูลค่ารวมได้มากกว่าเท่าตัว โดยภายใน 2 ปี ตั้งเป้ารายได้ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์ในการสร้างตลาด จะเน้นแปรรูปจากสารตั้งต้นมะพร้าวนำมาสร้างนวัตกรรมคอสเมติกทุกรูปแบบ โดยนำเข้าสารสกัดหลักจากฝรั่งเศสมาผสมผสานแบรนด์มะพร้าวเกาะพะงัน GI ถ่ายทอดเรื่องราวมะพร้าวสายพันธุ์ใหญ่ดั้งเดิมที่ดีที่สุดในประเทศไทย และอยู่ในฟาร์มออร์แกนิก ยกระดับนวัตกรรมกลางน้ำสู่ปลายน้ำ โดยการเล่าเรื่องตามโซนสีและเพิ่มเส้นทางแบ่งออกเป็น 4 โซน อาทิ ต้นกำเนิดมะพร้าวออร์แกนิกสู่ฟูลมูนปาร์ตี้ เส้นทางประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 5 แหล่งสมุนไพรไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป หรือกลุ่มประเทศที่ชื่นชอบมะพร้าวเป็นหลัก

จุดเริ่มต้นไอเดียนี้มาจากมะพร้าวที่ตกต่ำมากเหลือลูกละ 3 บาท ทั้งเกษตรกรและเอกชนเองต้องปรับตัวสู้ต้นทุน จึงริเริ่มโครงการประชารัฐเกาะพะงันโมเดลนี้มาไม่นานเพียง 2 เดือน ถือว่าได้รับผลตอบรับสูงมาก เราคาดหวังรายได้ไว้สูงมาก เนื่องจากเน้นนวัตกรรมออร์แกนิกและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ เห็นแนวโน้มจากการเดินทางมาฟูลมูนปาร์ตี้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกร โดยเฉพาะลูกหลานชาวไร่คนรุ่นใหม่ ดึงรายได้จากตรงนี้มา แทนที่จะไปให้เช่าจักรยานหรืออื่นๆ แล้วหลงลืมอาชีพที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ซึ่งมะพร้าวเกาะพะงันเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นออร์แกนิก รวมถึงประชารัฐเราการันตีราคาได้ เกษตรกรที่เป็น GI เมื่อขยายแปลงใหญ่ได้แล้วจะสามารถทำตลาดได้ เมื่อซัพพลายเกิด เราสร้างดีมานด์ไว้ก่อน ถ้าเราไม่ใช้กลยุทธ์ตรงนี้ ไม่มีทางเลยที่ชาวบ้านจะหันมาทำอินทรีย์

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จัดทีมลงพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ชุมพร กระบี่ สุราษฎร์ธานี เจาะสัดส่วนค่าใช้จ่ายของเกษตรกรสวนปาล์ม ระบุ ค่าใช้จ่ายการจ้างแรงงานมากสุด ร้อยละ 59 รองลงมา คือ ค่าใช้จ่าย ปุ๋ย ยา โดยค่าจ้างแรงงานร้อยละ 83 ใช้แรงงานไทยเป็นหลัก ย้ำ ความซื่อสัตย์สุจริตคือสิ่งสำคัญ ในขณะที่ทักษะฝีมือยังฝึกได้

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้แรงงานและความต้องการแรงงานของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ลงพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร กระบี่ และสุราษฎร์ธานี แหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญของประเทศ พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายเงินสดของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ใช้จ่ายมากที่สุด คือ ค่าจ้างแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 59 รองลงมา คือ ค่าใช้จ่าย ปุ๋ย ยา ร้อยละ 31 และอีกร้อยละ 10 เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าวัสดุ เคียวเกี่ยวทางปาล์ม เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างในกิจกรรมเก็บเกี่ยวมากที่สุด มีการเก็บเกี่ยวผลปาล์มสุก ในทุก 15 – 20 วัน หรือเฉลี่ยปีละ 18 – 24 ครั้ง ค่าจ้างเก็บเกี่ยวตันละ 400-700 บาท แล้วแต่สภาพพื้นที่สวน ส่วนค่าจ้างในการใส่ปุ๋ย เฉลี่ยกระสอบละ 50 บาท ใส่เฉลี่ยปีละ 3 กระสอบ และค่าจ้างตัดแต่งทางใบ เฉลี่ยต้นละ 10-25 บาท เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความสูงของต้นปาล์ม

สำหรับสถานการณ์การใช้แรงงานในปัจจุบัน พบว่า ครัวเรือนมีการว่าจ้างแรงงานสูงถึงร้อยละ 83 ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 84 เป็นการจ้างแรงงานไทย ซึ่งเป็นการจ้างแรงงานในหมู่บ้านชุมชนใกล้เคียง และแรงงานจากภาคอีสาน ส่วนร้อยละ 9 เป็นการจ้างทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว และมีครัวเรือนเพียงร้อยละ 7 ที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเพียงอย่างเดียว โดยลักษณะการจ้างแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ทางลานเทจ้างไว้และเกษตรกรใช้บริการจากแรงงานดังกล่าว เนื่องจากขายผลผลิตให้ลานเทนั้นๆ

นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวเสริมว่า ในส่วนของแรงงานที่รับจ้างเก็บเกี่ยวทั้งไทยและต่างด้าวในพื้นที่ 3 จังหวัด (ที่ทางลานเทจ้างไว้) ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นทีม หมุนเวียนกันไปตามแต่ละครัวเรือนที่มีการนัดหมาย บางครั้งเกิดปัญหาในการตัดผลปาล์มที่เร็วหรือช้าเกินไป เนื่องจากติดคิวจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำมันปาล์มเช่นกัน และถึงแม้เกษตรกรทราบว่าคุณภาพที่ได้ไม่เท่าที่เก็บเกี่ยวเอง แต่หลีกเลี่ยงการจ้างไม่ได้จากหลายปัจจัย เช่น จำนวนแรงงานในครัวเรือนมีไม่เพียงพอ อายุเกษตรกร และความสูงของต้นปาล์ม เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ เกษตรกรมองว่า ในปัจจุบันยังไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานแต่ในอนาคตการจ้างแรงงานท้องถิ่นอาจยากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจในอาชีพดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก และแม้จะแก้ปัญหาโดยการเพิ่มค่าแรงในบางครั้ง แต่ก็ไม่จูงใจให้คนรุ่นใหม่มาทำได้ และเมื่อสอบถามถึงความต้องการแรงงานในอนาคต พบว่าเกษตรกรยังคงต้องการพึ่งพิงแรงงานไทย ถึงร้อยละ 85 อีกร้อยละ 15 ยอมรับการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่แตกต่างจากลักษณะการใช้แรงงานในปัจจุบัน โดยแรงงานพม่ายังคงเป็นที่ต้องการมากที่สุด รองลงมา คือ ลาว และกัมพูชา ที่สำคัญคือ เกษตรกรให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ขยัน อดทน รับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่วนทักษะฝีมือ และความชำนาญสามารถฝึกและเรียนรู้ได้

กยท.ย้ำชัดว่า รัฐบาลจะนำยางที่เหลือในสต๊อคประมาณ 1 แสนตันไปแปรรูปในโครงการส่งเสริมใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ พร้อมชี้ หลังไฟเขียว หน่วยธุรกิจ กยท.รุกเข้าตลาดยาง และปัจจัยการผลิต เพื่อบริหารจัดการยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งเดินหน้าใช้มาตรการซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ช่วยเร่งสร้างเสถียรภาพด้านราคา โดยชูนวัตกรรมการจัดการวิธีใหม่ ทั้งนำ พ.ร.บ.ควบคุมยางมาใช้อย่างเคร่งครัด ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งกองทุนเสถียรภาพฯ และเตรียมเจรจากับประเทศผู้ผลิตยางในสัปดาห์หน้าต่อไป

ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า smilefarm.co.th รัฐบาลมีนโยบายและประกาศอย่างชัดเจนในการนำยางพาราที่คงเหลือในสต๊อคจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน รักษาเสถียรภาพราคายาง จากการประมูลยางประมาณ 100,000 ตัน มาใช้ในประเทศ โดยให้หน่วยงานรัฐ เดินหน้าเสนอโครงการต่างๆ ที่สามารถนำยางพาราไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเจ้าภาพหลักได้เชิญหน่วยงานรัฐทั้ง 10 หน่วยงานที่เสนอความต้องการใช้ยางพาราในระยะ 3 เดือนข้างหน้า รวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของยางในสต๊อกที่มีอยู่ แต่ยังมีหน่วยงานระดับกรมต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพิจารณางบประมาณที่มีอยู่ในปี 2560 เพื่อนำมาใช้ในโครงการต่างๆ ที่สามารถนำยางพาราในสต๊อกไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมากที่สุด

ในนาม กยท. ได้จัดทำโครงการต่างๆ นำร่องที่จะนำยางพาราไปใช้ ทั้งการจัดทำสนามเด็กเล่นปูพื้นจากยางพารา สนามฟุตซอล โครงการยางล้อประชารัฐ เป็นต้น สำหรับการที่หลายหน่วยงานจะนำยางพาราไปใช้ไม่ว่าจะทำถนน หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผ่านมาติดปัญหาระเบียบพัสดุในการจัดตั้งงบประมาณ ราคากลางต่างๆ เพื่อนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศให้มากที่สุด คาดว่า หลังจากที่ กยท. ได้เดินหน้าผลักดันเรื่องมาตรฐานกับสินค้าอุตสาหกรรมประเภทนี้ จะมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ดร. ธีธัช สุขสะอาด กล่าวถึงประเด็นการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของการยางแห่งประเทศไทยว่า กยท. ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยธุรกิจตาม มาตรา 49 (2) ซึ่งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นตั้งแต่ วันที่ 20 กันยายน 2559 ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งกรอบของการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยการผลิต ตลาดยางทั้งผลผลิตยางและไม้ยางพารา โลจิสติกส์ และการจัดหาเงินทุนรวมถึงสวัสดิการให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกว่าการบริหารจัดการทั่วไป ในขณะเดียวกัน เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่การแยกตัวเป็นบริษัท จำกัด ซึ่งหน่วยธุรกิจนี้ได้ดำเนินการธุรกิจการค้าขายยางพารามาระยะหนึ่งแล้ว โดยการรับซื้อผลผลิตยางจากกลุ่มสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร เพื่อนำส่งโรงงานทั้ง 6 โรงงานของ กยท. ในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสู่การส่งออกต่อไป อย่างไรก็ตาม กยท. ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทลูก ที่จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการธุรกิจในนามบริษัทจำกัดให้ชัดเจน หากผ่านความเห็นคณะทำงานของ สคร. แล้ว กยท.จะนำเสนอต่อ ครม. ผ่านความเห็นชอบต่อไป

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า มาตรการระหว่างประเทศ ในการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางนั้น ประเทศไทย โดย กยท. ซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ที่ประกอบด้วย 3 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม นี้ กยท. จะเดินทางไปประชุมสภาความร่วมมือยางระหว่างประเทศ (ITRC) ครั้งที่ 28 ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยสิ่งสำคัญที่สุดวาระนี้ คือ การเร่งรัดให้จัดการประชุมในระดับรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคายางผันผวน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหลักที่ได้รับผลกระทบกว่าประเทศอื่นในช่วงที่ผ่านมา

ดร. ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจาก 4 ประเด็น ซึ่งรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กยท. ได้ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น ยังมีอีก 2 มาตรการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นมาตรการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในระยะเร่งด่วน คือ มาตรการในการนำเอา พ.ร.บ.ควบคุมยางมาใช้อย่างเข้มข้น ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาง ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์ชัดเจนในการนำเอา พ.ร.บ.ควบคุมยางมาใช้ ทั้งการตรวจสต็อคในโรงทำยางและผู้ค้ายางเพื่อเปรียบเทียบกับบัญชียาง ทางคณะกรรมการควบคุมยางได้มีการตั้งเจ้าหน้าที่ กยท. ให้เป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ควบคู่ด้วย ทั้งหมดจะเข้าตรวจสต๊อคยางอย่างต่อเนื่องตามบัญชีกฎหมาย โดยในส่วนของ กยท. จะเน้นในเรื่องการตรวจสต๊อค เพื่อตรวจสอบในเรื่องของปริมาณยาง น้ำหนักยางและคุณภาพ เพื่อประเมินในส่วนของค่าเฉลี่ย เน้นการดำเนินการที่ทำให้เกิดความโปร่งใส