ออกซิน (Auxin) ทำหน้าที่ขยายเซลล์พืช ส่งผลให้ใบและผลไม้

ขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยป้องกันการหลุดร่วงของใบ ดอก และผล เช่น IAA จิบเบอเรลลิน (Gibberellins) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการยืดตัวในทางยาวของเซลล์พืช ช่วยขยายขนาดของผล ทำลายระยะฟักตัวของพืช ตัวอย่าง GA3

ไซโตไคนิน (Cytokinin) ช่วยในขบวนแบ่งเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ใช้เร่งการแตกตาของต้นไม้ ป้องกันการสลายตัวของคลอโรฟิล ตัวอย่างเช่น ไคเนติน

เอทิลีน (Ethylene) ช่วยเร่งการสุกแก่ของผลไม้ และกระตุ้นการออกดอกของต้นไม้ ตัวอย่าง คือ เอทีฟอน ใช้เร่งการออกดอกของสับปะรด สารชะลอการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth Retardants) สารกลุ่มนี้จะไปยับยั้งการยืดข้อและปล้อง ทำให้ต้นไม้เตี้ย กะทัดรัด และเร่งการออกดอกของมะม่วง เช่น สารแพคโคลบิวทราโซล

สารยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth Inhibitors) สารกลุ่มนี้จะไปยับยั้งการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของเซลล์ส่วนยอดของพืช ทำให้เกิดตาด้านข้างมากขึ้น ส่งผลให้ต้นไม้แตกแขนงมากขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่าง เช่น ABA ที่นิยมนำมาใช้ในการลดการเจริญเติบโตของหญ้าที่ปลูกในสนาม

สารอื่นๆ เช่น ฟอสซิสเตอิน ช่วยเพิ่มขนาดของผลสตรอเบอรี่ และซาลิไซเลต เป็นสารเร่งการออกดอก และสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับต้นไม้

เมื่อเข้าใจคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดแล้ว จะทำให้คุณสามารถเลือกใช้สารเหล่านี้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ก็จะช่วยให้การเพาะปลูกพืชเกิดประโยชน์สูงสุด ขอบคุณสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถบใต้เชิงเขาหิมาลัย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ถูกปลูกไว้บริเวณบ้านไทยมาแต่โบราณ กินได้หลายส่วน ทั้งยอด ดอก และฝักเขียว แต่ใครๆ นิยมกินฝักมากกว่าส่วนอื่น

ต้นมะรุม พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ทางอีสานเรียก ผักอีฮุม หรือผักอีฮึม ภาคเหนือเรียก มะค้อมก้อน ชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรี เรียก กาแน้งเดิง ส่วนชานฉานแถบแม่ฮ่องสอน เรียก ผักเนื้อไก่

คนเฒ่าคนแก่นิยมกินมะรุมในช่วงต้นหนาว เพราะเป็นฤดูกาลของฝักมะรุม หาได้ง่าย รสชาติอร่อย เพราะสดเต็มที่ มีขายตามตลาดทั่วไป คนที่ปลูกมะรุมไว้ในบ้านเท่านั้นจึงจะมีโอกาสลิ้มรสยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอกและฝักอ่อน

ช่อดอก นำไปดองเก็บไว้กินกับน้ำพริก ยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อน นำมาลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแจ่วบอง กินแกล้มลาบ ก้อย แจ่ว ได้ทุกอย่าง หรือจะใช้ยอดอ่อน ช่อดอกทำแกงส้มหรือแกงอ่อมก็ได้

ต่างประเทศใช้ใบมะรุมประกอบอาหารเช่นเดียวกับการใช้ผักขมฝรั่ง หรือปรุงเป็นซอสข้นราดข้าวหรืออาหารแป้งอื่นๆ นอกจากนี้ ใช้ตากแห้งป่นเก็บไว้ได้นานโรยอาหาร เช่นเดียวกับที่ภูมิปัญญาอีสาน จังหวัดสกลนคร ใช้ใบมะรุมแห้งปรุงเข้าเครื่อง “ผงนัว” กับสมุนไพรอื่นไว้แต่งรสอาหารมาแต่โบราณ ส่วนฝักอ่อนปรุงอาหารเหมือนถั่วแขก

มะรุม เป็นพืชมหัศจรรย์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มะรุม มีโปรตีนสูงกว่านมสด 2 เท่า การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน นอกจากนี้ มะรุมมีธาตุอาหารปริมาณสูงเป็นพิเศษที่ช่วยป้องกันโรค คือ วิตามินเอ บำรุงสายตามีมากกว่าแครอท 3 เท่า วิตามินซี ช่วยป้องกันหวัด 7 เท่าของส้ม แคลเซียม บำรุงกระดูกเกิน 3 เท่า ของนมสด โพแทสเซียม บำรุงสมองและระบบประสาท 3 เท่า ของกล้วย ใยอาหารและพลังงาน ไม่สูงมาก เหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะรุม มีองค์ประกอบคล้ายน้ำมันมะกอก ดีต่อสุขภาพ

ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นผลิตชาใบมะรุมออกจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ระบุว่า ใช้แก้ปัญหาโรคปากนกกระจอก หอบหืด อาการปวดหูและปวดศีรษะ ช่วยบำรุงสายตา ระบบทางเดินอาหาร และช่วยระบายกาก

ประเทศอินเดีย หญิงตั้งครรภ์จะกินใบมะรุมเพื่อเสริมธาตุเหล็ก แต่ที่ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศ บอตสวานา หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมจะกินแกงจืดใบมะรุม (ภาษาฟิลิปปินส์ เรียก มาลังเก) เพื่อประสะ น้ำนมและเพิ่มแคลเซียมให้กับน้ำนมแม่เหมือนกับคนไทย

มะรุม ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ การปลูกการดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน จึงนิยมปลูกไว้ริมรั้วบ้านหรือหลังบ้าน 1-5 ต้น เพื่อให้เป็นผักคู่บ้านคู่ครัวแบบพอเพียงที่ไม่ต้องซื้อหา

ควรกำจัดวัชพืชในระยะเริ่มปลูก ให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยใส่รอบๆ โคนต้น จากนั้นพรวนดินกลบ หรือใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัม ต่อต้น และพรวนดินกลบ ไม่มีโรคที่สำคัญในมะรุม ส่วนแมลงศัตรูพืชที่สำคัญคือ หนอนเจาะลำต้นและกิ่ง ทำให้อายุต้นมะรุมไม่ยืดยาว ต้องหมั่นตรวจและทำลายหนอนอยู่เสมอ การป้องกันและกำจัด ให้ฉีดสารสกัดสมุนไพรไล่แมลงผสมน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เพื่อช่วยเป็นสารจับใบ

เก็บเกี่ยวใบชุดแรกได้หลังจากย้ายกล้าลงปลูกได้ 3 เดือน และรุ่นต่อไปจะเก็บได้ทุกๆ 2 เดือน คนไทยทุกภาคนิยมนำฝักมะรุมไปทำแกงส้มด้วยการปอกเปลือกหั่นฝักมะรุมเป็นชิ้นยาวพอคำ ถือว่าเป็นผักที่ทำแกงส้มคู่กับปลาช่อนอร่อยที่สุด จะต่างกันก็ในรายละเอียดของแกงตามแบบอย่างของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น แม้แต่ทางใต้ก็นิยมนำมะรุมมาทำแกงส้มปลาช่อน โดยจะใช้ขมิ้นเพื่อดับกลิ่นคาวปลาและเพิ่มสีสันของน้ำแกง ปรุงรสเปรี้ยวด้วยการใส่ส้มแขกแทนน้ำมะขาม และหั่นปลาช่อนเป็นแว่นใหญ่ไม่โขลกเนื้อปลากับเครื่องแกง

ไฟฟ้าชุมชน : หญ้าเนเปียร์ยักษ์ พืชพลังงาน
สร้างอนาคต รายได้ ต่อกลุ่มเกษตรกร อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ก่อนที่จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับไฟฟ้าชุมชน โครงการบริษัทในเครือบางจาก จับมือกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน ฐานราก พลังสีเขียว ของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อาสามาฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรไทยในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ของเกษตรกรหดหายไปเพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำมาหลายปี เรียกว่า “ยากจนกันถ้วนหน้า ยากแค้นทั่วทั้งพารา” ว่างั้นเถอะ

ผู้เขียนจะพาท่านไปรู้จักพืชพลังงานที่เคยได้ยินกันมานานว่า หญ้าเนเปียร์ ที่กรมปศุสัตว์แนะนำให้เกษตรกรมาปลูกเลี้ยงเป็นอาหารสัตว์ พวก โค กระบือ โคนม โคเนื้อ เป็นอาหารหยาบ

รู้จัก หญ้าเนเปียร์ยักษ์พอสังเขป ที่มาใช้กับไฟฟ้าชุมชน ผู้นำเข้า : คุณชาญชัย มณีดุล

ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นสูง แตกกอง่าย ใบและลำต้นมีขน ให้ผลผลิตต่อไร่สูง 10-60 ตัน ต่อไร่ ต่อปี หรือมากกว่านั้น (ตัดหลายรุ่นต่อปี) ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ

คุณค่าพลังงาน : 175.40 แคลอรีของหญ้าเนเปียร์ (อายุ 45 วัน ต่อ 100 กรัม) ปลูกหญ้าเนเปียร์ทำไม?
อาชีพคือวิถีชีวิต แต่ละคนแต่ละครอบครัวต่างมีอาชีพแตกต่างกัน หรืออยู่ที่ใจชอบ หรืออยู่ที่ชอบใจ ในอาชีพที่ทำในปัจจุบันก็ทำต่อไป หากแต่ใจถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนวิถีชีวิต การปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นอาชีพหนึ่ง เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ การปลูกหญ้าเนเปียร์ ปลูกครั้งเดียวสามารถตัดได้นาน 5-8 ปี โดยไม่ต้องลงทุนพันธุ์ใหม่

หญ้าเนเปียร์ตัดขายได้ปีหนึ่ง 4-6 ครั้ง โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่า คุมหญ้า ไม่ต้องใช้สารพิษเคมีกำจัดโรค แมลงแต่ประการใด

ในเรื่องรายได้ ต่อไร่ ต่อปี ถ้ามีความสามารถมีการจัดการที่ดี คัดเลือกพื้นที่ดี ได้พันธุ์ดี มีระบบการให้น้ำอย่างดี เกษตรกรจะมีรายได้ 20,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี หรืออย่างไม่ได้เลย หมื่นบาทเป็นอย่างน้อย

การปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนโรงงานไฟฟ้าชุมชน ร่วมกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนฐานรากพลังสีเขียว

เกษตรกรมีความมั่นคง หรือยั่งยืนหรือไม่ แล้วจะได้อะไรกับโครงการนี้ ต้องติดตามต่อไป เพื่อความกระจ่างและเกษตรกรมองเห็นอนาคต เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างไรของการเข้าร่วมโครงการที่น่าสนใจยิ่ง

โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนเข้าโรงงานไฟฟ้าชุมชน เป็นโครงการของรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน มีเอกชนเข้าประมูลงาน เพื่อจุดประสงค์ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างจิตสำนึก รักษ์แผ่นดิน ปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกร

นับว่าโครงการนี้มีอะไรดีมากกว่าที่คิด

กล่าวคือ มีสัญญาทำไว้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยทำสัญญา 20 ปี รับซื้อแน่นอน ปรับราคารับซื้อทุกๆ 5 ปี

นอกจากปลูกหญ้าเนเปียร์แล้ว ยังมีอาชีพเสริม อาทิ ปลูกผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ด ส่งเสริมการปลูกถั่วหลังนา เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงปู เลี้ยงไก่ ฟาร์มเลี้ยงโคขุน หากตลาดมีความต้องการ ผู้จัดการโครงการเล่าความเป็นมา

ความต้องการหญ้าเนเปียร์ กับการสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรง
หากโรงไฟฟ้าชุมชนเริ่มต้น 1 เมกะวัตต์ มูลค่า 100 ล้านบาท จะต้องใช้หญ้าวันละ 100 ตัน ใช้พื้นที่ 1,000 ไร่ การสร้างโรงไฟฟ้าบางจาก จะสร้าง 3 เมกะวัตต์ มูลค่า 300 ล้านบาท พื้นที่ปลูก 3,000 ไร่ คือ 1 พื้นที่ จนถึง 9 เมกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนเกษตรกรอย่างน้อย 200 คน

ข้อตกลงในสัญญารับซื้อกับเกษตรกร
หญ้าเนเปียร์ อายุ 45-65 วัน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจผู้จัดการฝ่ายไร่ เกษตรกรมีหน้าที่ให้น้ำหญ้าและปุ๋ย หรือคำแนะนำจากนักวิชาการฝ่ายไร่

ผู้ซื้อมีหน้าที่ตัดหญ้าและให้คำแนะนำการเพิ่มผลผลิตหญ้าเนเปียร์ และส่งเสริมอาชีพอื่นๆ

เมื่อผู้อ่าน หรือเกษตรกร สมาชิกอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ว่าโครงการนี้ยังมีจุดประสงค์อะไรบ้าง เพื่อให้หายสงสัยในข้อมูลที่ผ่านสายตาผู้อ่านมาพักใหญ่แล้ว

เพื่อที่จะทบทวนให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า โครงการนี้มีจุดประสงค์อย่างไร ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เพื่อประกันความผิดหวังของโครงการ เพราะมีรัฐบาลและโรงไฟฟ้าชุมชนของบางจาก การันตี ตามที่อธิบายมาพอสังเขป

ดังนั้น จึงเพิ่มข้อมูลประกอบเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังสีเขียวให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อปลดหนี้สินเกษตรกร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าสู่ความยั่งยืนในเงื่อนไขของการดำเนินชีวิต ตามมาอ่านดูเรื่องของหลักการและเหตุผลของโครงการไฟฟ้าชุมชน บริษัทในเครือบางจาก ร่วมกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนฐานรากพลังสีเขียวเพื่อความเข้าใจ

ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยปกติจะมองการพัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าสู่ความยั่งยืนในเงื่อนไขของมิติเศรษฐศาสตร์ แต่ในกรณีโรงไฟฟ้าชีวภาพนี้ดูเหมือนจะยั่งยืน เพราะรัฐซื้อไฟฟ้าในราคาที่แน่นอนตลอดอายุสัญญา นั่นก็คือ…ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้จากการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าที่แน่นอน ด้วยการขายไฟฟ้าต่อหน่วย รวมถึงการซื้อหญ้าเนเปียร์จากชาวบ้านในราคาที่แน่นอนตลอดอายุสัญญา โดยมีบริษัทบางจากจะปรับราคาหญ้าเนเปียร์ขึ้นให้ทุก 5 ปี ปีละ 10%

ฉะนั้น ถึงแม้หญ้าเนเปียร์จะเป็นพืชล้มลุก แต่ราคาจะไม่ขึ้นลงตามท้องตลาด ไม่เหมือนกับชาวบ้านที่ปลูกพืชล้มลุกอย่างอื่น เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง

แต่หญ้าเนเปียร์ในโครงการนี้ ถูกกำหนดราคาให้แน่นอน โดยอ้างอิงกับราคาไฟฟ้า

เพราะฉะนั้น ชีวิตชาวบ้านในเรื่องรายได้ก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะราคาของตลาด อันนี้ก็จะเป็นรายได้ส่วนตัวของผู้เข้าร่วมโครงการ

ส่วนผลประโยชน์ของกลุ่ม ในฐานะสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างน้อย 200 คน ก็แบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า เพราะได้หุ้นลม 10% ซึ่งกิจการโรงไฟฟ้าไม่น่าจะขาดทุน เพราะกำหนดรายได้อย่างแน่นอน และการซื้อผลผลิตก็มีกำหนดแน่นอนชัดเจน เรื่องขาดทุนคงไม่น่าจะเกิดขึ้น ยกเว้นการบริหารจัดการไม่เป็นไปตามที่วางไว้ หรือชาวบ้านส่งวัตถุดิบไม่ตรงกับที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ในส่วนของผลประโยชน์ที่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนจะได้รับส่วนแบ่ง กำไร ตามจำนวนหุ้น จำนวน 10% ต่อปี จะนำมาดำเนินการเพื่อการพัฒนาในลักษณะกองทุนเพื่อการพัฒนา…แบ่งเป็น 3 กองทุนหลัก และ 1 กองทุนพิเศษ ตามเงื่อนไขเครือข่ายเศรษฐกิจฐานราก คุณชวน ชูจันทร์ ได้วางไว้ ดังนี้

กองทุนที่ 1 กองทุนสำหรับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกจำนวนไม่ต่ำกว่า 200 คน กองทุนที่ 2 กองทุนผู้สูงอายุในครอบครัวของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน

กองทุนที่ 3 กองทุนสำหรับเยาวชนในครอบครัวสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเพื่อการศึกษาเล่าเรียน และการกีฬา

กองทุนพิเศษ คือกองทุนหมู่บ้านเพื่อการจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน โดยโรงไฟฟ้าจัดสรรเงิน 25-50 สตางค์ ต่อหน่วย จากการขายไฟฟ้าให้กับทางการ ประกอบด้วย

รายได้ส่วนตัวของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน
รายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับวิสาหกิจชุมชน
รายได้เพื่อพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน ส่วนแง่มุมการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สู่ความยั่งยืน ที่เน้นปรับพฤติกรรมชาวบ้านเข้าสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีเหตุ มีผล พึงพอใจ และการมีภูมิคุ้มกันนั้น โดยมีเหตุมีผลในการใช้ชีวิต ดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ การคิด การพูด การกระทำ โดยกำหนดระยะเวลาโครงการ คือ 20 ปี

บทสรุป
ผลการดำเนินงาน คาดว่าจะได้หญ้าเนเปียร์กับการผลิตไฟฟ้าของโครงการ

หญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ จะได้ผลผลิตประมาณ 40 ตัน ต่อปี ปีหนึ่งตัดได้ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 ตัน

โรงไฟฟ้าฯ รับซื้อหน้าโรงงาน ตันละ 500 บาท ปีหนึ่งจะมีรายได้ 20,000 บาท ต่อไร่

ในเงื่อนไข พันธุ์ดี น้ำดี ดินดี ปุ๋ยดี การจัดการดี ถ้าเกษตรกรปลูกคนละ 15 ไร่ จะมีรายได้ 300,000 บาท ต่อปี เฉลี่ยต่อเดือน 25,000 บาท

ในโลกยุคต่อไปพลังงานไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทแทนน้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์จะใช้ไฟฟ้ากันมาก เศรษฐกิจในชุมชนจะมีเงินสะพัดหมุนเวียนตลอด

ประเทศไทยจะมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนราว 200 โรงทั่วประเทศ

ในส่วนของบริษัทในเครือบางจาก จะเข้าไปประมูลประมาณ 30 โรง เช่น จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองขลุง มีตำบลท่าพุทรา ตำบลวังแขม, จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอโกรกพระ อำเภอพยุหะคีรี, จังหวัดนครราชสีมา อำเภอปากช่อง ตำบลพญาเย็น ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพระทองคำ ตำบลทัพรั้ง, จังหวัดศรีสะเกษ อำเภออุทุมพรพิสัย, จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร, จังหวัดยโสธร อำเภอเลิงนกทา ตำบลกุดแห่ ตำบลสามแยก, จังหวัดนครพนม อำเภอนาแก ตำบลบ้านแก้ว, จังหวัดสกลนคร อำเภออากาศอำนวย ตำบลวาใหญ่, จังหวัดบึงกาฬ อำเภอเซกา ตำบลท่ากกแดง, จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่ามะกา ตำบลท่าไม้ เป็นต้น

บริษัทในเครือบางจาก จับมือกับเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนฐานรากพลังสีเขียว เครือข่ายนี้ประกอบไปด้วย คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ประธานที่ปรึกษาเครือข่าย คุณชวน ชูจันทร์ ประธาน คุณหนึ่งแก่น บุญรอด รองประธาน และผู้อำนวยการ โดยเครือข่ายนี้มีหน้าที่หาสมาชิก

ปัญหาการบุกรุกผืนป่าเพื่อทำการเกษตร เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตพื้นที่สูงในภาคเหนือ ความจริงแล้ว คนอยู่กับป่าได้ แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่เหมาะสม โดยให้ชาวบ้านรู้จักและเข้าใจถึงคุณค่า คุณประโยชน์ของป่า ตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่สูง สนองพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ในเรื่อง “สร้างป่า สร้างอาชีพ” ได้อย่างดีเยี่ยม จากเดิมที่ชาวบ้านเคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักประเภทกะหล่ำ ฯลฯ จนเต็มดอย ทุกวันนี้เกษตรกรชาวเขาในพื้นที่สูงเหล่านี้เริ่มหันมาปลูกไม้ยืนต้น เช่น ต้นอะโวกาโด คู่กับการปลูกต้นกาแฟในแปลงเดียวกัน ช่วยสร้างรายได้ที่ดีให้แก่ตัวเกษตรกรเองแล้ว ยังทำให้เกิดการฟื้นฟูป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กันด้วย

“อาเปา” เกษตรกรชาวเขาเผ่าม้ง

พื้นที่ดอยมูเซอ ที่ทอดยาวไปตามแนวเทือกเขาถนนธงชัยใต้ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สีชมพู เป็นที่ตั้งกองกำลังของ พคท. อยู่หลายแห่ง การสู้รบยืดเยื้อกว่าสิบปี เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลงประมาณปี 2523 ในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชาวบ้านออกจากป่ามามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ในพื้นที่แถบนี้มีชนเผ่าอยู่หลายเผ่า ทั้ง มูเซอ ลีซอ และ มูเซอเหลือง ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอย่างสงบสุขอยู่ในพื้นที่ดอยมูเซอแห่งนี้ และมีศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก (ดอยมูเซอ) คอยดูแลช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ ภาครัฐจึงกำหนดเขตพื้นที่ให้คนอยู่กับป่าอย่างชัดเจน ชาวเขาเหล่านี้ได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินตามกำลังความสามารถของแต่ละครอบครัว หากบุกรุกเกินอาณาเขตที่ได้รับการจัดสรร ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้

“คุณหนึ่ง” คุณอิทธิพล กำลังมาก เกษตรกรหัวก้าวหน้า ในพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่ผันตัวเองมารับซื้อสินค้าเกษตรส่งขายในตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่งในเมืองกรุง พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมแหล่งปลูกอะโวกาโดในเขตพื้นที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก คุณหนึ่ง แนะนำให้รู้จัก “อาเปา” หรือ คุณศตวรรษ แซ่ว่าง เกษตรกรคนเก่ง ที่ปลูกอะโวกาโดคุณภาพดี จนประสบความสำเร็จมีรายได้ดีในระดับหนึ่ง

อาเปา เป็นชาวเขาเผ่าม้ง วัย 45 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 174/2 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 เบอร์โทร. 063-760-1786 อาเปา เล่าว่า เขาเกิดและเติบโตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ เดิมเขาปลูกผักกาดลุ้ยและเป็นพ่อค้าขายเร่ แต่ระยะหลังสถานการณ์ตลาดไม่สู้ดี ผักกาดลุ้ยคนก็ปลูกเยอะ ผลผลิตเข้าตลาดมาก ราคาร่วง ขายขาดทุน

อาเปา จึงมองหาอาชีพใหม่ที่มีรายได้มั่นคง สมัคร BALLSTEP2 หลังจากเขาสังเกตบรรยากาศการซื้อขายสินค้าเกษตรที่ตลาดมูเซอใหม่มา 5-6 ปี พบว่า ผู้บริโภคชอบซื้ออะโวกาโดกันมาก แถมราคาไม่ตก อย่างน้อยเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20-30 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้อาเปามั่นใจว่า อะโวกาโด เป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าปลูก เพราะปลูกดูแลง่าย แถมได้ราคาสูง สร้างรายได้ที่ดีอย่างแน่นอน อาเปาจึงหาซื้ออะโวกาโดพันธุ์พื้นเมืองมาปลูก ประมาณ 12-13 ไร่ ทุกวันนี้เขาปลูกอะโวกาโดสร้างรายได้เข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว

ไปเรียนรู้การปลูกอะโวกาโดแบบมืออาชีพ ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เชียงใหม่

อะโวกาโด (avocado) เป็นผลไม้ที่มากคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพ สามารถรับประทานสดได้ มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวประมาณ 8-20 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิตามินสูง นอกจากให้คุณค่าทางอาหารแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบเพื่อการสกัดน้ำมันในอุตสาหกรรม

อะโวกาโด กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพทั้งหลาย อะโวกาโด เป็นผลไม้ประเภท climacteric fruit คือ สามารถสุกแก่ต่อได้หลังจากการเก็บเกี่ยวจนถึงมือผู้บริโภค โดยปกติขั้วผลอะโวกาโดจะมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวยอดตอง เมื่อเวลาสุกแก่พร้อมเก็บเกี่ยวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ขั้วผล กลายเป็นสีเหลืองเข้ม เหลืองอมส้ม สีปูนแดงกินหมาก หรืออาจแตกสะเก็ดสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มเป็นริ้วบางๆ หรือเป็นทั่วทั้งส่วนของขั้วผล

เนื่องจากไม้ผลชนิดนี้เป็นพืชใหม่สำหรับเกษตรกรไทย ทำให้ขาดความรู้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้พบปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การเก็บผลอ่อนเกินไป ผลผลิตช้ำเสียหาย หรือได้ผลผลิตเน่าเสีย อันเนื่องมาจากโรคและแมลงศัตรูเข้าทำลาย ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก (ดอยมูเซอ) จึงได้นำเกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโดไปเรียนรู้เรื่องเทคนิคการปลูกอะโวกาโด ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เชียงใหม่