อะโวกาโด ของดีผลไม้เด่น กลางดง ปากช่องบ้านสวนตาทวน

อยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 2 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คุณมธุรดา หรือคุณเงิน กลิ่นโต เจ้าของกิจการเล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพปลูกและขยายพันธุ์ไม้จำหน่ายมานานกว่า 20 ปีแล้ว ชนิดของพันธุ์ไม้ที่จำหน่ายก็หมุนเวียนไปตามความนิยม แต่ส่วนใหญ่แล้ว ขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจ อย่างเช่น มะม่วง มะขาม ส้มโอ กล้วย ขนุน น้อยหน่า เงาะ ทุเรียน ลำไย อะโวกาโด รวมทั้งไม้ดอกไม้ประดับ พันธุ์พืชที่ขยายเน้นพันธุ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เป็นที่นิยมของตลาด นอกจากนี้ ยังรับจัดสวน รับปลูกต้นไม้ในสถานที่ราชการและเอกชน

เดิมครอบครัวนี้จำหน่ายต้นไม้อยู่ริมถนนมิตรภาพ รอยต่อมวกเหล็กกับปากช่อง แต่เป็นพื้นที่ของตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง ต่อมาการสื่อสารทันสมัยขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน จึงเข้ามาปักหลักผลิตอยู่ที่บ้าน ซอยบุญบันดาล

จากการทำงานอย่างจริงจัง ครอบครัวกลิ่นโตสามารถส่งลูกชายเรียนจบคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ลูกสาวคนเล็กเรียนจบวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

อะโวกาโด ปลูกมานานเกือบ 20 ปีแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ทำให้บ้านสวนตาทวนได้รับความเชื่อถือเรื่องพันธุ์ไม้นั้น เจ้าของสวนมีพื้นที่การผลิตเอง แต่ที่สำคัญมากนั้น บ้านสวนตาทวนไม่ได้ขยายพันธุ์อย่างเดียว แต่พืชบางชนิดปลูกจนเห็นผลผลิต เมื่อแน่ใจจึงขยายพันธุ์เผยแพร่ต่อ

อะโวกาโด ก็เช่นเดียวกัน บ้านสวนตาทวนซื้อต้นพันธุ์บูช 7 มาปลูกเกือบ 20 ปีแล้ว แรกทีเดียวก็ไม่ได้สนใจเท่าที่ควร เพราะมีต้นไม้ให้ต้องดูแลมากมาย ซึ่งนอกจากหลายชนิดแล้วยังมีหลายพันธุ์อีกด้วย จนกระทั่งเวลาผ่านไปนานพอสมควร อะโวกาโดบูช 7 ให้ผลผลิต เจ้าของทดลองชิมดู ปรากฏว่าไม่ถูกปาก จึงปล่อยไว้ แต่ไม่ได้ตัดทิ้ง หลายปีต่อมา มีคนมาแนะนำวิธีกินอะโวกาโดให้อร่อย เมื่อเจ้าของลองทำตามปรากฏว่าอร่อย ติดใจ

จากนั้นเจ้าของนำผลผลิตออกเผยแพร่ ปรากฏว่า คนให้ความสนใจ พร้อมกับขอซื้อต้นพันธุ์ บ้านสวนตาทวน จึงทำตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ

ในหนังสือ อะโวกาโด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนโดย รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ แนะนำ พันธุ์บูช 7 (Booth 7) ไว้ว่า เป็นลูกผสมระหว่างกัวเตมาลาและเวสต์อินเดียน ผลค่อนข้างกลม ผลขนาดกลาง น้ำหนัก 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระ สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง ติดอยู่ในช่องเมล็ดแน่น ไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ วันที่ 15 ตุลาคม ถึง 15 ธันวาคม ให้ผลผลิตดกเกือบทุกปี พุ่มแผ่กว้าง

ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย

คุณเงิน บอกว่า เดิมทีปลูกอะโวกาโด พันธุ์บุช 7 ต่อมามีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อย่าง แฮสส์ ปีเตอร์สัน ปีเตอร์แฮสส์ บัคคาเนียร์ และปากช่อง 2-8

พันธุ์แฮสส์ ปลูกได้ผลดีในพื้นที่สูง แต่ในเขตอำเภอปากช่องปลูกได้

พันธุ์อื่นๆ ปลูกได้กว้างขวาง มีลูกค้ามาซื้อจากคุณเงินทุกภูมิภาค อย่าง เลย ชุมพร จันทบุรี ภูเก็ตอะโวกาโด สามารถปลูกด้วยเมล็ด แต่ผลผลิตที่ออกมา ไม่ตรงกับพันธุ์เดิม บ้านสวนตาทวนขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่งและเสียบยอด เดิมทีทำทั้งสองอย่าง แต่หลังๆ สะดวกที่สุดคือ การเสียบยอด

ถามเจ้าของว่า ช่วงไหนเสียบยอดได้ผลดีที่สุด ได้รับคำตอบว่า อยู่ที่ความพร้อมของต้นตอและยอดพันธุ์ หากพร้อมไม่ว่าฤดูกาลไหนขยายพันธุ์ได้ทั้งนั้นเจ้าของเล่าวิธีการขยายพันธุ์ว่า เพาะต้นตอโดยใช้พันธุ์ทั่วๆ ไป เมื่อต้นตออายุ 6 เดือน ถือว่าเหมาะต่อการเสียบยอด จากนั้นหายอดพันธุ์ดีมาเสียบ เริ่มจากตัดปลายยอดต้นตอให้เหลือใบไว้บ้าง ผ่ากลาง…ตัดยอดพันธุ์ดีมาทำเป็นรูปลิ่ม เสียบเข้าไปที่ต้นตอ พันด้วยเทปที่เปื่อยสลายได้ คลุมด้วยพลาสติก แล้วมัดเฉพาะต้น เก็บไว้ในโรงเรือน

ราว 20 วัน คลายเชือกที่มัดถุงพลาสติก…ตั้งแต่เสียบยอดจนนำออกปลูกหรือจำหน่ายได้ ใช้เวลาเดือนครึ่งถึง 2 เดือน

บ้านสวนตาทวน มีเทคนิคในการเสียบยอด ตรงที่ตัดยอดต้นตอให้เหลือใบไว้ ใบช่วยให้ต้นเติบโตปกติ เปอร์เซ็นต์การติดสูง ต่อมาใบจะร่วงเอง หากมียอดใหม่ใต้รอยแผล ต้องให้ยอดพันธุ์ดีเติบโตมากๆ ก่อนถึงเด็ดยอดใต้รอยแผล ซึ่งเกิดกับต้นตอออก
หากไม่เด็ดยอดต้นตอเก่า ยอดพันธุ์ดีจะสู้ยอดต้นตอไม่ได้

การใช้เทปพันธุ์รอยแผลที่สลายเปื่อยเองก็สะดวกดี ทำงานครั้งเดียวจบ ไม่ต้องพะวงตรงรอยแผลดูแลรักษาไม่ยาก

จากการเก็บตัวเลขของบ้านสวนตาทวน พบว่า อะโวกาโดปีเตอร์สัน ปลูกไปราว 2 ปีครึ่งก็เริ่มให้ผลผลิต ดินที่ปลูกบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ดี เจ้าของใส่ปุ๋ยคอกให้ปีละ 2 ครั้ง ปุ๋ยวิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ใส่ให้แล้วโตเร็วมากคือ มูลไส้เดือน สวนนี้เลี้ยงไส้เดือน ซึ่งเกิดประโยชน์อย่างมาก

ระยะปลูกอะโวกาโดนั้น ได้รับคำแนะนำว่า ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 7 คูณ 7 เมตร พื้นที่ไร่หนึ่งปลูกได้ 32 ต้น โดยประมาณ

การให้น้ำ…ได้รับคำแนะนำว่า หน้าฝนไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด แต่หากหน้าแล้ง ให้น้ำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

“แมลงศัตรูที่พบอยู่มี ตั๊กแตนกินใบ ใบมันมีมากกินไม่หมด ไม่ได้ฉีดยา ที่นี่เป็นเกษตรอินทรีย์” คุณเงิน บอกลูกช่วยครอบครัวทำงาน

เมื่อมีผลผลิตต่อเนื่องทุกปี ลูกค้า รวมทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงอะโวกาโด แนะนำให้บ้านสวนตาทวนหาวิธีกินอะโวกาโดให้อร่อย เมื่อลองทำตาม ปรากฏว่า อร่อยอย่างที่แนะนำจริงๆ

คนที่เคยกิน อยากกินรสแท้ของอะโวกาโด ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ผ่าผลสุก ใช้ช้อนตักกินตัวช่วยที่ดีมาก คือ ผ่าผล ราดด้วยน้ำตาลทรายเล็กน้อย ราดด้วยนมข้น รวมทั้งน้ำผึ้ง ความอร่อยจะเพิ่มขึ้นมาก เดิมความอร่อยอาจจะอยู่ที่ 4 หรือ 5 เมื่อราดด้วยน้ำตาลทราย ความอร่อยจะเพิ่มเป็น 8 หรือ 9

นอกจากที่แนะนำมา บ้านสวนตาทวนยังทดลองทำสลัด ทำแบบกะทิแตงไทย โดยใช้อะโวกาโดแทน

นอกจากนี้ ยังทำสบู่จากอะโวกาโด ทางบ้านสวนตาทวนมาเรียนพื้นฐานการทำสบู่ที่มติชนอคาเดมี แล้วไปปรับสูตร ซึ่งลงตัวพอสมควร

ถามถึงการจำหน่าย เจ้าของสวนบอกว่า หลักๆ จำหน่ายต้นพันธุ์ ซึ่งส่งได้ทั่วประเทศไทย ที่ผ่านมาสั่งมาจากทุกภาค การส่งมีประสิทธิภาพดีมาก ต้นไม่ช้ำ นำไปปลูกแล้วแข็งแรงไว ราคาต้นพันธุ์ เริ่มต้นที่ 250 บาท หากพันธุ์ใหม่ราคาก็ขยับขึ้นเป็นที่น่าสังเกตว่า พันธุ์อะโวกาโดค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับมะม่วง ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนยังสูงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของต้นตอ

ส่วนผลผลิต มีอยู่ช่วงปลายปี คุณเงิน บอกว่า อะโวกาโดชุดแรกๆ อายุ 15 ปี ให้ผลผลิตต่อต้น ต่อปี ได้ 600 ผล ราคาที่จำหน่ายเริ่มต้นที่ กิโลกรัมละ 80 บาท นี่เป็นพันธุ์บูช 7 พันธุ์อื่นๆ ก็เริ่มทยอยมีผลผลิต

คุณเงิน บอกว่า สิ่งหนึ่งที่เขาภาคภูมิใจนั้น ปอนด์พี่ชาย และออนซ์ น้องสาว มาช่วยงานที่บ้าน ปอนด์เน้นที่การผลิตอย่างการขยายพันธุ์ ส่วนออนซ์ ช่วยเรื่องการขาย

ออนซ์เป็นคนรุ่นใหม่ เรียนจบเคยทำงานอยู่บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เงินเดือนขึ้นเร็วมาก แต่ตัดสินใจมาช่วยแม่ เธอบอกว่า สนุกกับการทำงาน มีอิสระ

คุณเงิน บอกว่า ทุกวันนี้นอกจากขยายพันธุ์ไม้แล้ว ยังรับปลูกต้นไม้ตามโครงการต่างๆ บางช่วงไปปลูกไกลถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แต่แถบมวกเหล็ก สระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา มีบริษัทยักษ์ใหญ่ ให้เข้าไปปลูกต้นไม้ ทำกันมาต่อเนื่อง

“จำหน่ายต้นไม้มานาน อะโวกาโดเป็นพืชหนึ่งที่ศึกษากันจริงจัง พบว่า มีศักยภาพ หากสนใจปลูกอยากให้ปลูกหลายๆ พันธุ์ เพราะว่ามีพันธุ์หนัก พันธุ์เบา ผลผลิตออกไม่พร้อมกัน อะโวกาโดเริ่มออกดอกเดือนธันวาคม ไปเก็บเกี่ยวได้ช่วงกันยายน-ตุลาคม แล้วแต่พันธุ์” คุณเงิน แนะนำ

อยากปลูกอะโวกาโด สอบถามได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (085) 936-7575 และ (080) 159-2605 หรือติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก : บ้านสวนตาทวนสศก. เผยผลติดตามการจัดงานของดีชายแดนใต้ ครั้งที่ 11 ผู้เข้าชมงานกว่า 63,000 ราย สร้างรายได้ให้เกษตรกรจากการจำหน่ายสินค้ามูลค่ากว่า 12 ล้านบาท ชูสินค้ายอดฮิตข้าวมันไก่เบตง จ.ยะลาครองแชมป์ยอดขายเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นกลุ่มแม่บ้านฟาตอนียะลา จ.ยะลา และกลุ่มครอบครัวมีดเลาะตาสับปะรด จ.ยะลา

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการติดตามการจัดงานของดีชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเผยแพร่ผลงานการพัฒนาอาชีพการเกษตร ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ระดับชุมชนสนับสนุนสินค้าชายแดนใต้สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จัดงานของดีจากชายแดนใต้ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 1-10 กันยายน 2561 ณ บริเวณตลาด อ.ต.ก. จตุจักร กรุงเทพมหานคร

จากการติดตามประเมินผลการจัดงาน ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ซึ่งลงพื้นที่ประเมินการจัดงานตลอดระยะเวลา 10 วัน พบว่า มีผู้เข้าชมงาน 63,870 ราย สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการจำหน่ายสินค้ามูลค่า 12.64 ล้านบาท สำหรับสินค้ายอดฮิต 3 อันดับแรก ได้แก่ ข้าวมันไก่เบตง จ.ยะลา ครองแชมป์ยอดขายเป็นอันดับหนึ่ง ยอดขาย 911,500 บาท รองลงมา เป็นกลุ่มแม่บ้านฟาตอนียะลา จ.ยะลา จำหน่ายอาหารแปรรูป เช่น เนื้อสวรรค์ เนื้อเค็ม ข้าวหมกไก่ แกงไตปลา ยอดขาย 387,500 บาท และกลุ่มครอบครัวมีดเลาะตาสับปะรด จ.ยะลา จำหน่ายมีดเลาะตาสับปะรด สับปะรดผลสด สับปะรดกวน ยอดขาย 325,000 บาท

ภาพรวมเกษตรกรร้อยละ 73 พึงพอใจต่อการจัดงาน เนื่องจากช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นว่าการจัดงานดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเสมอมา นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าชมงาน ร้อยละ 97 เห็นว่าการมาเที่ยวชมงานในครั้งนี้คุ้มค่า เนื่องจากได้มีโอกาสมาจับจ่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาถูก ซึ่งร้อยละ 93 จะกลับมาเที่ยวชมงานอีกหากมีการจัดงานครั้งต่อไปแน่นอน เนื่องจากเป็นการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น และเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้รับประทานอาหารท้องถิ่นดั้งเดิมที่มาจากชายแดนภาคใต้ของจริง และสถานที่ยังสะดวกในการจับจ่ายซื้อขายอีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดงานของดีจากชายแดนใต้ ซึ่งดำเนินการจัดงานต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 ซึ่งผลการจัดงานตลอดมาได้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการนำสินค้ามาจำหน่าย ช่วยสร้างรายได้ ผู้บริโภครู้จักสินค้าหลากหลายชนิดมากขึ้น ซึ่งบางชนิดไม่มีการจำหน่ายในตลาดทั่วไป ที่สำคัญคือ เป็นการส่งเสริมความรัก ความสามัคคีในชุมชน กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ได้อย่างดีอีกด้วย

สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ณ มหาวิทยาลับราชภัฏเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ได้เห็นชอบโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยอนุญาตให้เกษตรกรปลูกไม้ 58 ชนิด ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ที่สามารถปลูกและตัดขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความมั่นคงในอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประมาณ 1.04 ล้านล้านบาท ในอนาคต

ล่าสุด ในวันนี้ (19 ก.ย.2561) ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานแถลงข่าว โครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” ร่วมกับ กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการขับเคลื่อน โครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” โดยมอบหมายให้ วช. เป็นหน่วยงานหลัก บูรณาการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอีก 11 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สมาคมธุรกิจไม้ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร

การขับเคลื่อน โครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” ในครั้งนี้ มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในลักษณะการเก็บออมและสร้างอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนแก่ประชาชนฐานราก โดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

การดำเนินโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งทางด้านกฎหมาย, ด้านการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และคัดกรองพื้นที่เป้าหมาย, ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสนับสนุนการปลูกและการใช้ประโยชน์ โดยมีกลไกการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ วช. จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่าให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่างๆ กรมป่าไม้ ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข และบริการวิชาการเรื่องพระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกและการตัดไม้ รวมทั้งสนับสนุนการคัดเลือก เพาะพันธุ์ไม้ และการขยายพันธุ์ไม้มีค่า

สพภ. ดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินมูลค่าไม้ และ ธ.ก.ส. ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ และเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเตรียมกลไกผลักดันอย่างเร่งด่วนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการสนองผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน เพื่อให้คนไทยสามารถปลูกไม้มีค่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์และสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้มีค่าเป็นต้นทุนของครอบครัวที่มีมูลค่าสูง มีระบบกำกับ ควบคุมตรวจสอบ และรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน ภายใน 10 ปี ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,000 ล้านต้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 1 ล้านล้านบาท ต่อปี เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของชาติตั้งแต่ฐานราก อันจะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เยี่ยมสหกรณ์ผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว จังหวัดเลย เล็งผลักดันส่งสินค้าเจาะตลาด รัสเซีย เน้นผลิตสินค้าคุณภาพดี พร้อมกำชับให้รวมกลุ่มผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเดียวกันภายใต้สังกัดสหกรณ์เดียวกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด ก่อนขยายช่องทางหาตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการสนับสนุนช่องทางตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวแก้วเส้น มะพร้าวแก้วอ่อน กล้วยสุกทอดกรอบ เผือกทอดเค็ม ของสหกรณ์ผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ว่า ภายหลังจากพบปะเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนของสหกรณ์และกลุ่ม ผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอแนะในการผลิต เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มช่องทางการตลาด ซึ่งสมาชิกของกลุ่มผู้ผลิตมะพร้าวแก้วสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาว ได้รับการการันตีด้านความอร่อย และได้การรับรองความปลอดภัยจาก อย.เรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาที่พบคือสมาชิกขาดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และสูตรที่ใช้ในการแปรรูปมะพร้าวแก้วคนละสูตร ทำให้มีมาตรฐานและรสชาติที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำกับสมาชิกสหกรณ์รวมตัวกันผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และรวมกันซื้อวัตถุดิบที่จะนำมาผลิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มอำนาจต่อรองกับตลาดได้ โดยให้ผลิตสินค้าในนามสหกรณ์ แต่ผลิตที่บ้านสมาชิกแล้วนำมารวมกันจำหน่าย และให้มองหาตลาดใหม่ๆ เน้นพัฒนา Packanging และทำตลาดออนไลน์

ทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในประเทศรัสเซีย ซึ่งมีความสนใจมะพร้าวแก้วของไทยและต้องการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และสนใจสินค้ามะพร้าวแก้วที่มีคุณภาพ จึงอยากให้สมาชิกของกลุ่มรวมกันทำตลาดในนามของสหกรณ์ เพื่อที่จะสามารถไปเปิดตลาดในต่างประเทศได้ และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทำให้สมาชิกมีรายได้มากขึ้น

ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กำลังหารือร่วมกันว่าจะคัดเลือกสินค้าชนิดใดบ้างที่จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์เพื่อส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งจากการเยี่ยมชมกระบวนการผลิตมะพร้าวแก้วของสมาชิกสหกรณ์ในครั้งนี้ พบว่าการผลิตมีมาตรฐานดี แต่ที่ยังแตกต่างกันคือกลิ่นและรสชาติ หากจะพัฒนาตัวสินค้าใหม่เพื่อนำไปเปิดตลาด จะต้องหาวิธีการผลิตให้ได้มาตฐานเดียวกัน ซึ่งสถานการณ์ตลาดมะพร้าวแก้วขณะนี้กำลังไปได้ดี และหากสหกรณ์สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายที่รัสเซียได้ ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมาชิกผู้ผลิตมะพร้าวแก้วได้มากขึ้น

ส่วนบทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวเอง เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการนำไปผลิตมะพร้าวแก้ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนจากการไปสั่งซื้อมะพร้าวจากที่จังหวัดอื่นๆ เช่น เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครพนม และหนองคาย ทำให้ต้องเสียค่าขนส่งวัตถุดิบ ดังนั้น เกษตรกรควรปลูกมะพร้าวเองในจังหวัดให้เพียงพอ รวมถึงอาจจะให้สหกรณ์อื่นๆ ส่งเสริมให้สมาชิกขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าว เพื่อส่งให้สหกรณ์ผู้ผลิตมะพร้าวแก้วนำไปแปรรูป นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำแก่สมาชิกผู้ผลิตมะพร้าวแก้วหาวิธีในการยืดอายุการเก็บรักษาสินค้า การลดต้นทุนการผลิต การลดปริมาณน้ำตาล และลดค่าบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สามารถส่งขายตลาดต่างประเทศต่อไป

ด้าน ป้าดอน โสคำ สมาชิกสหกรณ์ซึ่งรวมกลุ่มผลิตมะพร้าวแก้วภายใต้ชื่อสินค้า “แม่ถนอม” กล่าวว่า ภาพรวมทางกลุ่มสามารถจำหน่ายมะพร้าวแก้วได้ประมาณ 30,000-40,000 บาท ต่อเดือน ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะขายได้ประมาณ 4,000-5,000 บาท แต่ถ้าวันธรรมดาอาจจะเงียบซึ่งขึ้นอยู่กับลูกค้าที่มาเที่ยวที่เชียงคานด้วย ถ้าวันไหนลูกค้ามาเที่ยวเยอะก็จะขายดี ส่วนตลาดหลักๆ ตอนนี้เน้นขายผ่านออนไลน์ทั้งทางไลน์ เฟซบุ๊ก และขายในร้านค้าในจังหวัดเลย ไม่ได้ส่งขายจังหวัดอื่น เพราะที่จังหวัดเลยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทุกวันๆ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาและทำให้ทางกลุ่มสามารถขายสินค้าได้ทุกวัน

ทั้งนี้ แต่ละวันทางกลุ่มจะผลิตมะพร้าวแก้ววันละ 500 ลูก ซึ่งจะได้มะพร้าวประมาณกว่า 500 กิโลกรัม เน้นผลิตสดใหม่ทุกวัน และจะคัดขนาดของมะพร้าว โดยขายในราคาต่างกัน แต่คุณภาพเหมือนกัน แต่ รสชาติจะต่างกันที่นิ่มกับไม่นิ่มเท่านั้น แต่ปัญหาที่ทางกลุ่มเจอในตอนนี้คืออายุของมะพร้าวแก้วเก็บไว้ได้ไม่นาน เพราะมะพร้าวทางกลุ่มจะไม่ใส่สารกันบูด จึงทำให้อายุสินค้าสั้นมาก ซึ่งสินค้าจะมีอยู่ 3 เกรด คือ มะพร้าวแก้วเกรดเอ เกรดบี และเกรดซี แต่ละเกรดจะอร่อยเหมือนกัน ต่างกันแค่ความนุ่มนิ่มของเนื้อมะพร้าวเท่านั้น ส่วนราคา เกรดเอ 240 บาท/กิโลกรัม เกรดบี 200 บาท/กิโลกรัม, มะพร้าวเส้นแก้ว 150 บาท/กิโลกรัม, กล้วยสุกทอดกรอบ 150 บาท/กิโลกรัม, กล้วยหักมุกทอดเค็ม 150 บาท/กิโลกรัม, เผือกทอดเค็ม 250 บาท/กิโลกรัม

สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุดคือเกรด A เพราะมีความนิ่งรสชาติอร่อย นอกจากนี้ ยังได้นำมาแบ่งขายเป็นถุงแยกตามเกรดอีกด้วย เกรดเอราคา 100 บาท เกรดบี 50 บาท เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อไปเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน นอกจากมะพร้าวแก้วแล้ว ทางกลุ่มยังผลิตกล้วยทอด เผือกทอดด้วย แต่มะพร้าวแก้วจะเป็นสินค้าหลักที่ขายดีที่สุด โดยจะเน้นการผลิตใหม่ สดทุกวัน เพื่อให้เป็นของขวัญของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลย