อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปี สมาชิกที่อยู่ครบโครงการ

สหกรณ์จะสมทบดอกเบี้ยให้เท่ากับที่สมาชิกได้รับ โดยสหกรณ์จะหักเงินฝากผ่านบัญชีเงินได้ทุกเดือนตั้งแต่ 100 บาทไม่เกิน 1,000 บาท หากสมาชิกขอถอนเงินก่อนกำหนดจะได้ดอกเบี้ย 2.50 และโครงการนี้ก็พบว่าสมาชิกเพิ่มทุกปีเช่นกัน โดยปี 2560 มีสมาชิกสนใจเข้าโครงการ 10 คน ปี 2561 สมาชิกสมัครเพิ่มอีก 30 คน และปี 62 สมาชิกเข้าโครงการเพิ่ม 40 คน และในหลักการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับสหกรณ์นั้น ทางสหกรณ์ได้มีการทำโครงการระดมหุ้นจากสมาชิก ซึ่งในปี 2561 ได้เงินจากการถือหุ้นเพิ่มของสมาชิกกว่า 488 ล้านบาท และเป็นการถือหุ้นเพิ่มจากปี 2560 ที่มีอยู่เพียง 439 ล้านบาทเท่านั้น

“จากการทำโครงการเหล่านี้จนประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้สหกรณ์ได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประเภทออมทรัพย์ ประจำปี 2561 และได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 สมาชิกแรกตั้ง 300 คน ทุนดำเนินงานแรกเริ่มประมาณ 3 ล้านบาท ปัจจุบันมีสมาชิก 1,16 ราย ทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,243 ล้านบาท ทุนเรือนหุ้น 505 ล้านบาท ทุนสำรอง 63 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจมูลค่า 1,711 ล้านบาท ธุรกิจสินเชื่อ 1,266 ล้านบาท ธุรกิจรับฝากเงินจากสมาชิก 445 ล้านบาท และมีกำไร 53 ล้านบาท

สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ในวันนี้ไม่ได้วัดความสำเร็จจากปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังวัดได้จากดัชนีความสุขของสมาชิก มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพียงพอสำหรับดำรงชีวิต และไม่มีหนี้สินให้ต้องกังวล ทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งคณะกรรมการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการ และตัวสมาชิกที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง ภายใต้หลักการเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อชีวีมีสุข

กรมการข้าว เตรียมใช้ศูนย์ข้าวชุมชน-นาแปลงใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี 100,000 ตัน แก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในฤดูการผลิต ปี 2563 ชู “ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง” เป็นต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์ดี สร้างอาชีพ-รายได้มั่นคงสู่เกษตรกร

นางจุรี ภัทรกุลนิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยเกษตรกร จึงมีนโยบายสำคัญ ในการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรมีความกินดีอยู่ดี โดยมอบหมายให้กรมการข้าว ไปดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร ได้แก่ การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวคุณภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกร สามารถผลิตข้าวคุณภาพได้ คือ การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี โดยปัจจุบันเกษตรกรมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ดีในปริมาณจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกษตรกรมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง บางส่วนซื้อเมล็ดพันธุ์ดีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ปีละประมาณ 3 แสนกว่าตัน

นางจุรี กล่าวว่า ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2563 กรมการข้าว ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ดี จำนวน 2 แสนตัน โดย 1 แสนตัน ผลิตโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว 28 แห่ง ส่วนอีก 1 แสนตัน ผลิตโดยศูนย์ข้าวชุมชน หรือกลุ่มนาแปลงใหญ่ ซึ่งกรมการข้าว ได้คัดเลือกศูนย์ข้าวชุมชน หรือกลุ่มนาแปลงใหญ่ ที่มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี และมีความเข้มแข็ง จำนวน 1,000 แห่ง เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดีแห่งละ 100 ตัน

“กรมการข้าว ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์หัวเชื้อให้กับศูนย์ข้าวชุมชน หรือนาแปลงใหญ่ ได้ใช้เป็นพันธุ์ดี หรือพันธุ์ตั้งต้น และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพ และผ่านการรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี คือ มาตรฐาน GAP Seed ซึ่งจะเป็นตัวการันตีมาตรฐานของเมล็ดพันธุ์ข้าว ดังนั้น เกษตรกรมั่นใจได้ว่า จะมีเมล็ดพันธุ์ดีใช้ได้อย่างทั่วถึง สามารถเข้าถึงได้ง่าย ยืนยันในฤดูกาลผลิตหน้า และปีต่อๆ ไป จะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดีอย่างแน่นอน” ผอ.สำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กล่าว

นางจุรี กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีบ้านสวนแตง (ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง) อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นหนึ่งต้นแบบ ที่มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ซึ่งสามารถผลิตได้มากกว่า 100 ตัน ที่สำคัญการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร มากกว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์และขายเป็นข้าวเปลือก ที่ราคาต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาด

ด้าน นายพิชิต เกียรติสมพร ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 กลุ่มฯ ได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรสมาชิก จำนวน 21 ราย พื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ได้แก่ พันธุ์ กข 41 ปทุมธานี 1 และ กข 43 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์หลักจากสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติสุพรรณบุรี (ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี) เพื่อนำมาเป็นปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย แจกให้กับเกษตรกรสมาชิกนำไปลงแปลงปลูก โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมการข้าว มาให้องค์ความรู้ในการผลิต รวมทั้งขั้นตอนการตรวจแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ซึ่งในรอบปีการผลิต ศูนย์ฯ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พื้นที่ 300 ไร่ จำนวน 250 ตัน

“โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ผลิตได้ จะจำหน่ายให้กับเกษตรกรสมาชิกเป็นอันดับแรก และชุมชนใกล้เคียง นอกจากนี้ ได้มีการเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ทั้งในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งประโยชน์ของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี อันดับแรกที่เห็นได้ชัด คือ เกษตรกรสมาชิกมีรายได้มากกว่าผลิตข้าวให้กับโรงสี โดย 1 ตัน มีมูลค่าเพิ่ม 1,000 บาท และถ้าสามารถต่อยอดเรื่องการแปรรูปด้วย มีมูลค่าเพิ่มอีก 1,000 บาท รวมเป็น 2,000 บาท รวมทั้งทำให้เกษตรกรสมาชิกมีความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ที่จะช่วยลดต้นทุนการทำนาได้เป็นอย่างดี” นายพิชิต กล่าว

นายกรกนก ฉันทกิจวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร บริษัท เจียไต๋ จำกัด (ขวา) เป็นตัวแทนบริษัทฯ เข้ารับโล่รางวัลเกียรติคุณ “องค์กรดีเด่น” ด้าน “นวัตกรรมล้ำหน้า เกษตรกรรมไทย” จากสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ตอกย้ำความเชี่ยวชาญของเจียไต๋ในการนำเสนอแนวทางในการทำเกษตรที่ล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของบริษัท เช่น การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพเจียไต๋ ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ การใช้โดรนเพื่อการเกษตร ตลอดจนการสร้างแอปพลิเคชั่น Chia Tai Fun เพื่อสอนการเพาะปลูก เป็นต้น

นอกจากนั้น เจียไต๋ ยังมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและสังคมโดยรวมอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งมอบผลิตผลทางการเกษตรที่สดใหม่ ปลอดภัยและมีคุณภาพ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัท นั่นคือ การส่งมอบนวัตกรรมการเกษตรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน

โดยสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นว่า เจียไต๋ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนวัตกรรมการเกษตรที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม จึงได้มอบรางวัลดังกล่าวให้ โดยมี ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กลาง) ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล ภายในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ

บริษัท เจียไต๋ จำกัด ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2464 ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในบริษัทเกษตรกรรมชั้นนำของเอเชีย ธุรกิจของเจียไต๋ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปสู่ปลายน้ำ โดยมีผลิตภัณฑ์และบริการที่เริ่มต้นตั้งแต่เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช เทคโนโลยีเพื่อการเพาะปลูกจนถึงการส่งมอบผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง

เจียไต๋ เป็นหนึ่งในบริษัทรายแรกของไทยที่คิดค้นวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ไฮบริด และยังมีศักยภาพในการค้นคว้าวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร และมอบความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยมีสำนักวิจัยและพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ 3 แห่ง มีสถานีวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช 3 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี และมีบริษัทสาขาอีก 6 แห่ง กระจายอยูทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยมีพนักงานกว่า 1,300 คน ที่เจียไต๋ เรายึดมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ และมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อส่งมอบนวัตกรรมการเกษตรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืนของคนทั่วทั้งภูมิภาค

คุณเดี่ยว หรือ “ว่าที่ ร.ต. พิทักษ์ พึ่งพเดช” เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเกษตรกรรม โดยเริ่มต้นจากนำที่ดินมรดกมาปรับปรุงเป็นสวนมะพร้าวอินทรีย์ ปลูกเอง พัฒนาตลาดเอง เน้นความสด “ปอกปุ๊บดื่มปั๊บ” เน้นขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ “เดี่ยว บ้านแพ้ว” กลายเป็นที่รู้จักจดจำของลูกค้า สินค้าเด่น คุณภาพดี ขายเป็น ก็เห็นกำไร โดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางเหมือนในอดีต

เวลาที่คุณเดี่ยวนำสินค้าออกขายงานอีเว้นต์ในแต่ละครั้ง ลูกค้าเข้าคิวยาวเหยียด ขายดิบขายดีจนสินค้าขายหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนขึ้นชื่อ “เดี่ยว บ้านแพ้ว” มะพร้าวอินทรีย์ของดีเมืองสมุทรสาครไปแล้ว ส่งผลให้ คุณเดี่ยว บ้านแพ้ว กลายเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่สร้างแรงจูงใจให้หนุ่มสาววัยทำงานหลายๆ คน อยากหวนคืนบ้านเกิด เพื่อไปพลิกฟื้นผืนดินให้เป็นแหล่งทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวเช่นเดียวกับ “เดี่ยว บ้านแพ้ว” เกษตรกรไอดอลคนดัง

สานต่ออาชีพเกษตรจากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบัน คุณเดี่ยว หรือ “ว่าที่ ร.ต. พิทักษ์ พึ่งพเดช” อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 78/1 หมู่ที่ 6 ซอย 1 ถนนยกกระบัตร-หลักสี่ ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร คุณเดี่ยวเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นลูกหลานชาวสวนผลไม้ในอำเภอบ้านแพ้ว พ่อแม่ทำสวนมะพร้าวใหญ่สำหรับทำน้ำตาลมะพร้าว เมื่อต้นมะพร้าวมีอายุมาก ลำต้นมีความสูงมากขึ้นปีนเก็บน้ำตาลมะพร้าวไม่ไหว ก็เปลี่ยนมาปลูกพุทรา ซึ่งใช้สารเคมีเยอะมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงตั้งใจเปลี่ยนวิถีการปลูกมาทำสวนเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมี

ช่วงนั้นคุณเดี่ยวมีโอกาสเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้เรื่องการทำเกษตรให้แก่ลูกหลานเกษตรกรรุ่นใหม่ จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตร โดยปัจจุบัน คุณเดี่ยวได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (YSF-Samutsakhon) ประกอบกับคุณเดี่ยวเรียนจบด้านเกษตร จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี คุณเดี่ยวจึงนำความรู้จากการอบรมมาใช้พัฒนาอาชีพครอบครัว เปลี่ยนจากสวนพุทรามาเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์

“ก่อนหน้านี้ พ่อแม่ผมก็เคยปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้ริมตลิ่ง ประมาณ 40-50 ต้น เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ต้นมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกไม่เคยใช้ปุ๋ยเคมี แต่ให้ผลผลิตที่ดี ผมจึงใช้จุดนี้มาใช้ปรับปรุงสวน เป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม โดยเริ่มจากปลูกมะพร้าวน้ำหอม แซมระหว่างต้นพุทรา โดยลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง สลับกับใช้น้ำหมักสมุนไพร และผสมฮอร์โมนใช้เอง วิธีนี้ช่วยให้ผมมีรายได้หมุนเวียนระหว่างที่รอให้ต้นมะพร้าวโต และเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3” คุณเดี่ยว กล่าว

ต่อมา คุณเดี่ยว มีโอกาสนำสินค้ามะพร้าวน้ำหอมไปวางขายตลาดสีเขียวของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่บางเขน ครั้งแรก คุณเดี่ยวนำมะพร้าวน้ำหอมผลสดไปขาย 500 ลูก แต่ขายไม่หมด เพราะสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก ช่วงนั้นก็มีเกษตรกรนำมะพร้าวน้ำหอมมาวางขายหลายราย เขาต้องใช้ความอดทนในการพัฒนาตลาด ค่อยๆ ประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค

“หากลูกค้ารายใด มีโอกาสทดลองชิมรสชาติ จะต้องติดใจทุกรายไป เพราะมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้วสด อร่อย หวานหอมไม่เหมือนที่ไหน จนเกิดกระแสการพูดต่อจากปากต่อปากในกลุ่มลูกค้า ทำให้สินค้ามะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้วของผมขายดิบขายดี ทุกวันนี้ ผมสามารถขายมะพร้าวผลสดในตลาดแห่งนี้ได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 ผล” คุณเดี่ยว บอก

คุณเดี่ยว มีสวนมะพร้าวที่ปลูกเอง 19 ไร่ มีลูกสวน 70 ไร่ เป็นระบบอินทรีย์เกือบทั้งหมด พันธุ์มะพร้าวที่ปลูกเป็นมะพร้าวพันธุ์ก้นจีบ ที่ให้ผลขนาดใหญ่และมีน้ำเยอะ ในการดูแลจัดการสวน สำหรับช่วงหน้าฝน คุณเดี่ยวจะปล่อยให้ต้นมะพร้าวเติบโตไปตามธรรมชาติ ส่วนหน้าแล้งจะคอยดูแลรดน้ำทุก 3 วัน ตัดหญ้าให้สั้น ไม่รกรุงรัง และรักษาความชื้นบนผิวดิน

ทุกวันนี้ สวนเดี่ยวบ้านแพ้ว สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน ผลผลิตน้อยลดลงจากปกติ ประมาณ 70-80% อย่างไรก็ตาม คุณเดี่ยวพยายามดูแลจัดการสวนมะพร้าวอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ต้นมะพร้าวขาดคอ โดยใช้วิธีการให้น้ำและบำรุงต้น และให้ปุ๋ยคอกจากขี้หมูบำรุงต้น เฉลี่ย 4 เดือน/ครั้ง เฉลี่ยต้นละ 1 กระสอบ

คุณเดี่ยว บอกว่า สวนมะพร้าวโดยทั่วไปมักเจอปัญหาหนอนหัวดำระบาดในช่วงฤดูแล้ง เพราะแมลงศัตรูพืชชนิดนี้ ชอบอากาศร้อนแล้ง ผมคอยดูแลจัดการสวนให้มีความชื้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้เรือรดน้ำในแปลงปลูกมะพร้าวทุกๆ 3 วัน ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง วิธีนี้ใช้ได้ผลดี เพราะไม่ค่อยเจอปัญหาหนอนหัวดำระบาดรุนแรงเหมือนกับที่อื่นๆ

ที่นี่เน้นปลูกมะพร้าวน้ำหอมก้นจีบบ้านแพ้ว โดยแต่ละปีสามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ประมาณ 15-18 ทะลาย โดยตัดผลทุกๆ 20 วัน ปัจจุบัน สวนเดี่ยวบ้านแพ้ว มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดได้มากกว่า 20,000 ลูก/รอบ คุณเดี่ยววางแผนการผลิตร่วมกับกลุ่มสมาชิกแปลงใหญ่ เน้นทำตลาดเองทั้งหมด ไม่ส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง คุณเดี่ยวบริหารจัดการให้เป็นระบบ มีการต่อยอดนำผลผลิตจากสวนมาแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม เน้นเรื่องการทำตลาด โดยนำสื่อออนไลน์เข้ามาประยุกต์ใช้ให้ทันสมัย มีการนำเสนอแบบเล่าเรื่องราวภายในสวนผ่านสื่อออนไลน์

ปัจจุบัน สินค้าหลักคือ การจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้วผลสด ที่ปลูกดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์เต็ม 100% และพัฒนาสินค้าในรูปแบบน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มในขวดใส และมะพร้าวแก้วพร้อมรับประทาน โดยขูดเนื้อและมีน้ำใส่แก้วซีลฝาอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวน้ำหอมทั้งหมด เช่น น้ำตาลมะพร้าว ต้นพันธุ์มะพร้าว

มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว สินค้า จีไอ ขายดี

มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้วมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เพราะปลูกในสภาพพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ได้รับอิทธิพลด้านความชื้นในบรรยากาศสม่ำเสมอ เจริญเติบโตได้ดี มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว มีรสชาติหวาน ค่าความหวานในช่วง 6-7.5 บริกซ์ กลิ่นของน้ำมีความหอมคล้ายกลิ่นใบเตย ซึ่งเกิดจากสารให้ความหอมที่เรียกย่อๆ ว่า 2-เอพี (AP) สารให้ความหอมชนิดนี้พบในข้าวหอมมะลิและใบเตยเท่านั้น

มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว อยู่ในกลุ่มมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ต้นเตี้ย มีทรงผลกลมรีเหมือนหัวลิง ก้นผลเป็นจีบ 3 จีบชัดเจน ผิวเปลือกมีสีเขียว มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว เกิดจากการพัฒนาพันธุ์ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำมาปลูกในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอบ้านแพ้ว และขยายสู่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2495 จนถึงปัจจุบัน

คุณเดี่ยว เป็นเกษตรกรกลุ่มแรกของอำเภอบ้านแพ้ว ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสวนมะพร้าวบ้านแพ้ว จีไอ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา แม้จะไม่ส่งผลให้คุณเดี่ยวขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น แต่ทำให้สินค้าของเขาเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น ทำให้คุณเดี่ยวไม่ต้องเหนื่อยกับการวิ่งหาตลาดเหมือนในอดีต แต่กลายเป็นพ่อค้าแม่ค้าวิ่งมาขอซื้อสินค้าถึงสวน เพราะมีคุณภาพสินค้า GAP และสินค้า จีไอ เป็นเครื่องการันตีคุณภาพสินค้า เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้อย่างไม่สิ้นสุด

สินค้านวัตกรรม น้ำมะพร้าวผง

ในปี 2563 คุณเดี่ยววางแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ คือ น้ำมะพร้าวผงพร้อมชง และเนื้อมะพร้าวอ่อนที่ผลิตในระบบฟรีซดราย ฉีกซองออกมารับประทานได้ทันที เนื่องจากตลาดในประเทศนิยมบริโภคผลสดมาก เพราะหาซื้อง่ายและมีราคาถูก ดังนั้น สินค้าใหม่ทั้งสองชนิด คุณเดี่ยวจึงตั้งใจผลิตป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นที่ต้องการของลูกค้าทั่วโลก สินค้านวัตกรรมใหม่นี้จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี แถมมีน้ำหนักเบาและมีอายุการจำหน่ายนาน 1 ปี โดยขณะนี้ มีลูกค้าติดต่อสั่งซื้อสินค้าเพื่อไปทดลองจำหน่ายหลายประเทศ เช่น ดูไบ ไต้หวัน ฯลฯ

“หากใช้มะพร้าวขนาดกลาง 1 ผล เมื่อนำมาแปรรูป จะได้น้ำมะพร้าวผง 1 แก้ว คำนวณคร่าวๆ น้ำมะพร้าวสด 10 ลิตร เมื่อผ่านกระบวนการแปรรูป น้ำหนักจะหายไป ประมาณ 90% เหลือน้ำมะพร้าวผง อยู่ที่ 10% โดยนำน้ำมะพร้าวผงมาบรรจุซอง น้ำหนัก 25 กรัม ขายในราคา ซองละ 50 บาท เมื่อฉีกซองเทลงแก้ว เติมน้ำสะอาดลงไป 200 ซีซี จะได้น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มที่คงรสชาติความอร่อย และรักษาคุณค่าสารอาหารของน้ำมะพร้าว เช่นเดียวกับการบริโภคมะพร้าวน้ำหอมที่เพิ่งปอกเสร็จใหม่ๆ ผมมั่นใจว่า วิธีนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้ามะพร้าวน้ำหอม ขณะเดียวกันเป็นสินค้าทางเลือกสำหรับแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีมะพร้าวน้ำหอมล้นตลาดและมีราคาตกต่ำได้เป็นอย่างดี” คุณเดี่ยว กล่าวในที่สุด

หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมสวนมะพร้าวแห่งนี้ พร้อมพูดคุยกับ คุณเดี่ยว บ้านแพ้ว อย่างเป็นกันเอง ในบรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางสวนมะพร้าวที่ร่มรื่น สามารถเดินทางไปกับ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้ในกิจกรรมเสวนาเชิงปฏิบัติการ “มะพร้าวน้ำหอมยุคดิจิตอล” ชมกิจการมะพร้าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก แปรรูป และด้านตลาด ในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ค่าใช้จ่าย ท่านละ 1,200 บาท ผู้สนใจ สมัครจองที่นั่งก่อน แล้วโอนเงิน (ตามจำนวนที่ระบุ) เข้า ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนประชาชื่น เลขที่บัญชี 193-079484-5 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) Fax (02) 580-2300 เลขที่ผู้เสียภาษี 0107536001451 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342, 2343 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

กรมวิชาการเกษตร ทุ่มพลังปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียว 13 ปี ได้พันธุ์ใหม่ให้ประโยชน์ 2 เด้ง เกษตรกรปลูกได้ขนาดเมล็ดใหญ่ แถมให้ผลผลิตสูง คุณภาพโดดเด่นโดนใจ นำไปแปรรูปเป็นวุ้นเส้นได้สีขาวใส คุณภาพเหนียวนุ่ม ปลูกได้ทุกภาคของประเทศ สร้างรายได้เพิ่มทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ถั่วเขียว เป็นพืชเพื่อการบริโภคสำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ถั่วงอก แป้งถั่วเขียว และขนมชนิดต่างๆ รวมทั้งถั่วเขียวยังเป็นพืชอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพที่สำคัญโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตวุ้นเส้น ซึ่งตลาดส่งออกวุ้นเส้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่ปลูกถั่วเขียวของประเทศไทยมีจำนวน 868,000 ไร่ ผลผลิตรวม 109,000 ตัน

ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง ขนาดเมล็ดใหญ่ และเหมาะสำหรับการแปรรูปจนได้พันธุ์ที่มีลักษณะตามที่ต้องการตลาด โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3” ซึ่งเป็นถั่วเขียวพันธุ์กลายที่คัดได้จากถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 36 ที่ผ่านการฉายรังสีแกมมา คัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ระหว่างปี 2548–2561 และดำเนินการเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน การเปรียบเทียบในท้องถิ่น รวมทั้งการเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ และคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งประเมินการยอมรับของเกษตรกรจนได้สายพันธุ์ดีนำเสนอขอรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร โดยผ่านขั้นตอนการรับรองพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตรเป็นพันธุ์พืชรับรอง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วเขียวพันธุ์ใหม่ “ชัยนาท 3” มีลักษะเด่น คือให้ผลผลิตสูง เฉลี่ย 232 กิโลกรัม ต่อไร่ ขนาดเมล็ดใหญ่ โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 72.2 กรัม การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน ที่สำคัญเหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก โดยคุณภาพของถั่วงอก รสชาติหวาน กรอบ และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว จึงเหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น ซึ่งลักษณะวุ้นเส้นมีสีขาวใส และเหนียวนุ่ม

ผลผลิตสูง กำไรเพิ่ม

เมื่อเกษตรกรปลูกจะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม 6–13 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลผลิตวุ้นเส้น เมื่อผู้ประกอบการใช้ผลิตเป็นวุ้นเส้นจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้วุ้นเส้นจากไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ ส่วน ผลผลิตถั่วงอก เมื่อใช้ผลิตเป็นถั่วงอกจะมีอัตราการเพาะถั่วงอกสูง จะได้น้ำหนักสดถั่วงอกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเพาะถั่วงอกมีรายได้เพิ่มขึ้น และปริมาณถั่วงอกมีเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ