อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ MRR ปัจจุบันอยู่ที่ 7.120% ต่อปี

วงเงินกู้แบบกำหนดระยะเวลาที่กู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยให้ บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงิน ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6) นอกจากนี้ธนาคารยังให้สิทธิประโยชน์พิเศษ หากผ่อนชำระหนี้ 12 เดือน โดยไม่มีประวัติผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือผ่อนชำระหนี้ล่าช้า ธนาคารจะปรับลดดอกเบี้ยลง 1% ต่อปี ตั้งแต่เดือนที่ 13 เป็นต้นไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมือง (ทม.) ทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงการบริหารจัดการขยะของเทศบาลเมืองทุ่งสง ว่า เทศบาลเมืองทุ่งสงมีปริมาณขยะมูลฝอย 50 ตัน ต่อวัน จึงได้ดำเนินงานโครงการ “พลิกถุง พลิกโลก” มาตั้งแต่ปี 2558-2560 ทำให้มีปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบเหลือเพียง 20 ตัน ต่อวัน และภายในปี 2561 ได้ตั้งเป้าลดปริมาณขยะลงอีก ร้อยละ 5 หรือ 15 ตัน ต่อวัน ตามแนวทางโครงการจังหวัดสะอาด

ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 โดยใช้หลัก 3 Rs คือ Reduce : ใช้น้อย, Reuse : ใช้ซ้ำ และ Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งได้เริ่มต้นการจัดการขยะมูลฝอยจากองค์กรภายใต้เทศบาล โรงเรียนในสังกัดเทศบาล และขยายสู่ครัวเรือน ชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล ประมาณ 4,000 คน ต้องกลับไปอธิบายขยายผลให้พ่อแม่แล้วให้ตอบกลับมายังโรงเรียนด้วย นอกจากนี้ได้มีการรับสมัครอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายในการจัดการขยะมูลฝอยและดูแลสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นด้วย

ด้าน นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาขยะที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 คลัสเตอร์ ใน 23 อำเภอ แต่ละคลัสเตอร์มีการบริหารจัดการขยะเป็นการเฉพาะของคลัสเตอร์เองแล้วแต่ศักยภาพ ทม.ทุ่งสงเป็นตัวอย่างของการจัดการบริหารที่ดี จะเห็นว่าแม้แต่ในสำนักงานเทศบาลก็ยังมีการจัดการบริหารขยะทุกห้อง อยากให้ทุกสำนักงานได้มาเห็นตัวอย่าง ขยะเป็นเรื่องของพฤตินิสัย ต้องปลูกฝังตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ ปัญหาขยะนำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม อุทกภัย เพราะขยะที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้ท่อระบายน้ำเกิดการอุดตัน

“ปัญหาขยะของจังหวัดนครศรีธรรมราชถือว่าอยู่ในระดับรุนแรง เฉพาะบ่อฝังกลบของเทศบาลนคร (ทน.) นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2528 มีขยะตกค้างประมาณ 1.5 ล้านตัน และต้องรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่นๆ อีก 58 แห่ง เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่มีโรงงานกำจัดขยะขนาดใหญ่ ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีการเสนอแผนโครงการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะขนาด 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยน่าจะอนุมัติโครงการ”

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ธพว.เปิดให้เอสเอ็มอีรายย่อย หรือที่เรียกว่าคนตัวเล็กในชุมชนทั่วประเทศ มายื่นขอกู้เงินในโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับเอสเอ็มอีคนตัวเล็กวงเงิน 8,000 ล้านบาท มีการผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้มากกว่าปกติ

นายพสุ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการขอกู้ ต้องนำเงินไปใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุง พัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมถึงลงทุนเริ่มต้นธุรกิจ สร้างธุรกิจใหม่ หรือใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อราย ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุด 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา สำหรับกรณีผู้กู้เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้วงเงินสูงสุดกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท หากมีผลการชำระหนี้เป็นปกติไม่น้อยกว่า 3 งวด หรือตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด แต่ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ให้สามารถขอวงเงินเพิ่มได้ตามความเหมาะสม และความสามารถในการชำระหนี้

นายพสุ กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อกว่า 27,000 ราย เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากฐานราก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 36,640 ล้านบาท สินเชื่อนี้ต้องการสนับสนุนเอสเอ็มอีคนตัวเล็กที่เป็นนิติบุคคลมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งเดิมเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงินได้ยาก แต่กิจการยังมีศักยภาพดำเนินต่อไปได้ และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูปรับปรุงกิจการ เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ หรือพัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจจากฐานราก เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีรายย่อยเข้าสู่ระบบตามนโยบายรัฐบาลด้วย

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนมกราคม 2561 ว่า เดือนมกราคมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย จำนวน 3,544,528 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกมากที่สุด 2,146,156 คน รองลงมา ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา เอเชียใต้ โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ตามลำดับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 10.87% ก่อให้เกิดรายได้ 188,890 ล้านบาท ขยายตัว 11.59% เทียบเดือนมกราคมปี 2560 ส่วนสถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวไทยในปี 2560 มีคนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 153 ล้านครั้ง ขยายตัว 4.39% ก่อให้เกิดรายได้ 956,753 ล้านบาท ขยายตัว 8.38% เทียบกับปี 2559

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ในปี 2560 ภาคการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศไทยรวม 2.781 ล้านล้านบาท ขยายตัว 10.51% เทียบกับปี 2559 แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.824 ล้านล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 9.57 แสนล้านบาท

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างท่าเทียบเรือสำราญสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เกาะสมุยและจังหวัดกระบี่ โดยจะใช้การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ทั้งนี้เมื่อปี 2560 มีเรือสำราญมาเทียบท่าที่ไทย 393 ลำ มีนักท่องเที่ยว 368,000 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% จากปี 2559 คาดว่าถ้าสร้างท่าเรือแล้วเสร็จ อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวบนเรือสำราญจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% อย่างไรก็ตามเนื่องจากแหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กรมเจ้าท่ามีแผนพัฒนาท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงมีมาตรการควบคุมคุณภาพเรือให้มีความปลอดภัย และนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวทางน้ำของไทยด้วย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์เดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 1.66 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2560 คิดเป็น 9.15% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 9.81 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 1.25% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 6.80 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 23% ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศมีทั้งสิ้น 6.65 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 16.2% ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อยอดขายในประเทศส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจฟื้นตัว

นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การมีรถยนต์นั่งและรถกระบะรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด รวมทั้งครบจำนวนปีในการถือครองรถยนต์คันแรก จึงทำให้ส่วนหนึ่งเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ กระตุ้นยอดขายบางส่วน ประกอบกับมีการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลด้วย แต่ยอดขายยังคงลดลงจากเดือนธันวาคม 2560 ถึง 36.2% เนื่องจากช่วงเดือนก่อนหน้ามีงานมหกรรมยานยนต์

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนมกราคม 2561 ส่งออกได้ 8.2 หมื่นคัน ถือเป็นการส่งออกรถยนต์ 83.61% ของยอดการผลิตเพื่อส่งออก เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2560 ที่ 2.46% โดยส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือ และตลาดเอเชีย โดยเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่าการส่งออก 4.20 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2560 ที่มีมูลค่าการส่งออก 4.14 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 1.42% อย่างไรก็ตาม ปี 2561 ส.อ.ท.ยังคงตั้งเป้าผลิตรถยนต์ 2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ผลิตได้ 1.98 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.1 ล้านคัน และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ 9 แสนคัน

ก.พาณิชย์เผยตัวเลขส่งออก มกราคมขยายตัว 17.6% สูงสุดรอบ 5 ปี 2 เดือน มูลค่าทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ชี้ค่าบาทแข็งไม่กระทบขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก มั่นใจส่งออกทั้งปีเติบโตตามเป้าหมาย 8% เดินหน้าหาตลาด พัฒนาสินค้าใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดันขึ้นฮับผลไม้โลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน หรือ 5 ปี 2 เดือน โดยขยายตัว 17.6% มูลค่า 20,101 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกือบทุกรายการขยายตัวสูง และตลาดส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขส่งออกสะท้อนให้เห็นว่า แม้ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งแต่ส่งออกไทยก็ยังแข่งขันได้ในตลาดโลก และยังไม่กระทบต่อการส่งออก ทำให้มั่นใจว่าการส่งออกทั้งปี 2561 จะขยายได้ตามเป้าหมาย 8% โดยจะเน้นการดำเนินการควบคู่กัน 2 ส่วน คือ การหาตลาดส่งออกใหม่ และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เน้นตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การเป็นศูนย์กลางผลไม้โลก เพิ่มส่งออกภาคบริการ ผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอี ส่งเสริมใช้อีคอมเมิร์ซ เสริมทีมสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

“เป้าหมายส่งออกโต 8% ต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนให้ได้ 21,412 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อดูแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และตลาดส่งออกที่ยังมีศักยภาพ ก็มั่นใจว่าส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้ดี แต่ยอมรับการส่งออกยังกังวลเรื่องค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่องระยะยาว และปัญหาประเทศนำเข้าสำคัญเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสหรัฐที่จะกระทบทางอ้อมกับประเทศอื่นๆ ด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ส่งออกเดือนมกราคม โตได้ 17.6% มูลค่า 20,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากสินค้าเกษตรและแปรรูป ขยายตัว 16.2% สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2% และตลาดส่งออกขยายตัวได้ 15-18% ขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม ขยายตัว 24.26% มูลค่า 20,220 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการนำเข้าสูงในเกือบทุกกลุ่มสินค้าจึงทำให้เดือนมกราคม ไทยขาดดุลการค้า 119.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งการนำเข้าสูงและไทยขาดดุลการค้ายังไม่น่ากังวล เพราะนำเข้าเพื่อลงทุนส่งออกในอนาคตและได้ผลดีจากค่าเงินบาทแข็ง

“เงินบาทแข็งค่าขณะนี้ 3-5% เทียบประเทศคู่แข่ง แต่ยังไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย และเมื่อหักการส่งออกกลุ่มน้ำมันและทองคำออก การส่งออกก็ยังโตได้ 17.7% ตัวเลขนี้สะท้อนว่าฐานส่งออกไทยยังแข็งแกร่ง บวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ดี การใช้มาตรการด้านภาษีของสหรัฐจะทำให้เงินบาทอ่อนลง เฉลี่ยปีนี้น่าจะ 32-34 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันโลกยังทรงตัว 55-65 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล จะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย โดยไตรมาสแรกปีนี้ส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้เกิน 8%” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกในเดือนมกราคม ในสินค้า 10 กลุ่มอันดับแรก น่าจับตา คือ การเข้ามาติดอันดับ 1 ใน 10 ของการส่งออกเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ในอันดับ 9 และขยายตัวสูงถึง 18.6% ขณะที่ส่งออกเกษตรแม้กังวลค่าบาทแต่ส่วนใหญ่ส่งออกได้ดีขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า เช่นข้าว ขยายตัว 37.2% มันสำปะหลัง ขยายตัว 42.3% อาหารทะเลขยายตัว 20.4% น้ำตาล 84% ยกเว้นยางพารา ลบ 20.7%

อุตรดิตถ์ – นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ กล่าวภายหลังนำสื่อมวลชนลงพื้นที่สวนหอม ที่ ม.9 ต.ชัยจุมพล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหอมสำคัญของประเทศว่า ตั้งแต่ช่วงตรุษจีนเป็นต้นมา ตลาดหอมแบ่ง หรือต้นหอมคึกคักอย่างมาก ราคาเหมาไร่ละ 50,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10,000 บาท เนื่องจากปีนี้หนาวเย็นนาน และไม่มีโรค ทำให้ต้นหอมอวบสวย ขายได้ราคา ส่วนหอมแดง เฉลี่ยผลผลิตไร่ละ 6 ตัน สร้างรายได้ไร่ละประมาณ 90,000 บาท

นอกจากนี้ เกษตรกรยังเก็บผลผลิตบางส่วนไว้จำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ ได้ราคาสูงขึ้นอีกเท่าตัว เนื่องจากลับแลเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของพันธุ์ตาจ๋อย ซึ่งเป็นที่นิยมของเกษตรกร เพราะแข็งแรงและโตเร็ว จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรอำเภอลับแล และจากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรโดยตรง ทั้ง 3 ตำบล ได้แก่ ชัยจุมพล ฝายหลวง และทุ่งยั้ง พบว่าฤดูกาลนี้ผลผลิตทั้งหอมแดง หอมแบ่ง มีกว่า 15,000 ไร่ จะสร้างรายได้นับ 1,000 ล้านบาท และ 1 ปี ปลูกได้ 2-3 รอบ

ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.) กำลังส่งเสริมการปลูกหอมแบบอินทรีย์ มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วหลายร้อยไร่ โดยได้ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาตรวจประเมิน รับรอง และให้คำแนะนำ นอกจากนี้ยังมีตลาดสีเขียว ที่โรงพยาบาลลับแล รองรับผลผลิตของเกษตรกรอีกด้วย

นายทูล ดีปัญญา ผู้ใหญ่บ้าน ม.9 ต.ชัยจุมพล ผู้ปลูกหอมแบ่ง กล่าวว่า ปลูกหอมไว้ 8 ไร่ ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว ราคาแบบนี้มีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 25,000 บาท

นอกจากนี้ ยังเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งค่าถอนต้นหอม ค่าหาบ ตัดต้นพันธุ์ และบรรจุถุง ซึ่งยิ่งตลาดคึกคัก แรงงานก็มีรายได้มากขึ้น

รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวในโอกาสนำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมกันประกาศเจตจำนงสุจริตและแระกาศนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัย ว่า จะบริหารและปฏิบัติงานตามภารกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม มีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริต มุ่งมั่นพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรแห่งความสุข บริหารจัดการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามหลักธรรมาภิบาล มีศักยภาพและความสามารถในการจัดการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสานตะวันออกและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พร้อมทั้งทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สืบสานและบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการเรียนการสอน และการวิจัยสร้างสรรค์ แสวงหาและพัฒนาภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

อธิการบดี มรภ.อุบลฯ กล่าวว่า จะดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างสุขภาวะที่ดี และการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว และคาร์บอนต่ำ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีทั้งภายในและภายนอกองค์กร ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีและเหมาะสมภายใต้บริบทของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการมีส่วนร่วมและบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันโภชนาการ ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยา และโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ผลการศึกษานมเปรี้ยวมีผลต่อการเสริมภูมิต้านทานโรคไข้หวัดใหญ่หรือไม่” ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ซึ่งการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น องค์การอนามัยโลกประกาศออกมาว่า แนวทางป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การใช้วัคซีน โดยวัคซีนหลักๆมีอย่างน้อย 3 ชนิด คือ 1.ป้องกันชนิด A สายพันธุ์ H1N1 2. H3N2 และ3.ไวรัสชนิด B ซึ่งแต่ละปีจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนเหล่านี้จะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ก็ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา มีการติดตามผลผู้ที่ได้รับวัคซีนว่า มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทราบว่ามีปัจจัยหลายชนิดมีผลต่อการตอบสนองหลังการรับวัคซีน ทั้งปัจจัยด้านโภชนาการ การสูบบุหรี่ การใช้ยาสเตียรอยด์

ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาอัตราการตอบสนองจากวัคซีน แต่ก็มีคำถามว่า หากผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์จะมีวิธีไหนที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคร่วมกับการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้บ้าง สถาบันโภชนาการ ได้ศึกษา โพรไบโอติกส์ (probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ พบในอาหารหลายชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต (yogurtและ เนยแข็ง เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ของโพรไบโอติกส์มีหลายอย่าง ทั้งการปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ กระตุ้นการขับถ่าย ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งโพรไบโอติกส์ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ หากมีตรา อย.ถือว่าผ่านการรับรอง

ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า ทีมนักวิจัยจาก สถาบันโภชนาการ คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ทำการศึกษาวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลของนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์แลกโตบาซิลัส พาราคาเซอิ 431 (Lactobacillus Paracasei 431) ต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ไข้หวัดใหญ่ และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยแล้วในวารสาร Journal of Functional Food ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เผยแพร่งานวิจัยด้านอาหารสุขภาพโดยผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากนักวิชาการ โดยทีมวิจัยได้ทดลองทางคลินิก ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ทำการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 60 คน อายุตั้งแต่ 18-45 ปี แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มหนึ่งได้รับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ อีกกลุ่มได้รับนมแต่งกลิ่นรสที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ ซึ่งอาสาสมัครจะไม่ทราบว่าได้รับนมกลุ่มไหน

อาจารย์สถาบันโภชนการ กล่าวอีกว่า โดยการวิจัยครั้งนี้ เพื่อต้องการศึกษาว่า หากดื่มนมโพรไบโอติกส์เพิ่มเติม นอกเหนือจากการรับวัคซีนจะยิ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้มากขึ้นหรือไม่ โดยทีมวิจัยให้อาสาสมัครรับประทานนมตามกลุ่มที่แบ่งไว้ 2 ช่วง คือ ให้ดื่มนมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนรับวัคซีน และให้รับประทานต่ออีก 4 สัปดาห์หลังรับวัคซีน โดยให้รับประทานนมเปรี้ยวทุกวัน วันละ 1 ขวดในปริมาณ 150 ซีซี โดยระหว่างนี้อาสาสมัครทุกคนงดรับประทานอาหารอื่นที่มีโพรไบโอติกส์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการเจาะเลือดเพื่อวัดภูมิคุ้มกันตั้งแต่ก่อนรับนมเปรี้ยว หลังรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ (ก่อนรับวัคซีน) หลังรับวัคซีน 4 สัปดาห์ และหลังหยุดรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยการตรวจภูมิคุ้มกันได้ส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเทคนิค hemagglutination inhibition (HI)

“ จากผลการวิจัยพบว่า ในอาสาสมัครที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (ค่า HI titer น้อยกว่า 40) หากได้รับวัคซีนร่วมกับรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ จะมีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ (seroconversion rate) ต่อเชื้อ H1N1 และ H3N2 สูงกว่ากลุ่มที่รับนมที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ นอกจากนี้ สำหรับเชื้อ H3N2 ซึ่งมักพบว่า วัคซีนไม่ค่อยได้ผลนั้น การวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ในคนที่มีภูมิอยู่แล้ว การรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ช่วยให้อัตราการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัส H3N2 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า อีกด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากอาสาสมัครกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัส Flu-B สูงอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการได้รับหรือไม่ได้รับโพรไบโอติกส์ต่อภูมิคุ้มกันต้านไวรัสชนิด B” ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าว