อาหารเสริมที่จำเป็นช่วงดอกมะม่วงเล่นยากให้ฉีดฮอร์โมนอาหาร

เสริมให้ตาย ถ้าอากาศไม่อำนวยก็ไม่ติดนะ แต่ถ้าอากาศดี ไม่ต้องฉีดอะไรก็ติดเองได้” คำพูดเหล่านี้มักได้ยินจากปากของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเสมอๆ เป็นคำพูดที่มีส่วนจริงและไม่จริง เพราะเมื่อสอบถามบรรดาเซียนๆ มะม่วง ต่างพูดเหมือนกันว่า “จะต้องบำรุงช่วงช่อดอกให้ดี มีฮอร์โมนอาหารเสริมเท่าไร ใส่ไม่อั้น เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้เลยว่า ต่อไปเมื่อถึงช่วงดอกมะม่วงเราจะบาน สภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น เราจะคอยแต่พึ่งอากาศไม่ได้ ต้องเตรียมความสมบูรณ์ให้ช่อดอกมะม่วงก่อน”

อาหารเสริมที่นิยมใช้ ได้แก่ แคลเซียม-โบรอน มีประโยชน์ในด้านการติดผลดี ดอกสมบูรณ์ ไม่หักร่วงง่าย เกษตรกรจะเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆ สาหร่าย-สกัด ช่วยให้ช่อสมบูรณ์ ยาวเร็ว สดใส ช่วยเพิ่มขนาดของผลอ่อน สังกะสี ช่วยเร่งความเขียว เร่งการติดผล แมกนีเซียม ช่อสด แข็งแรง เร่งการติดผล การใช้อาหารเสริมเกษตรกรต้องศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดให้ดี เพราะบางครั้งเราซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มา 5-6 ขวด เวลาเอามาดูจริงๆ กลับเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวกัน เกษตรกรต้องดูให้ดี อย่าเชื่อแต่คำโฆษณาเชิญชวน เพราะจะทำให้เราสูญเงินโดยใช่เหตุ

ช่วงช่อดอกดูแลเต็มที่ ในช่วงช่อดอกมะม่วงจะต้องการอาหารมาก ดังนั้น ในช่วงนี้ คุณจรัญจะเน้นอาหารเสริมทางใบเป็นหลัก ตัวที่ใช้ประจำก็คือ สารโกรแคล อัตรา 1 ลิตร ผสมกับสารโปรดั๊กทีฟ อัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง และให้สังเกตดูที่ก้านช่อว่าสมบูรณ์หรือไม่ (ก้านช่อที่สมบูรณ์จะต้องมีสีแดงเข้ม ถ้าขาวซีดต้องเร่งอาหารเสริม) ในช่วงช่อดอกจะต้องดูแลให้ดี เพราะศัตรูทั้งหลายจะมารุมทำลายช่วงนี้ และจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งศัตรูที่พบมากที่สุดก็คือ เพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรกโนส

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ดอกและผลอ่อน หากระบาดมาก ดอกมะม่วงจะแห้งไม่ติดผล หรือหากทำลายในระยะผลอ่อนก็จะทำให้ผลลาย ขายไม่ได้ราคา ยาที่กำจัดเพลี้ยไฟได้ดีมีอยู่หลายตัว แต่จะต้องฉีดสลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา คุณจรัญจะเลือกจับกลุ่มยาหลายชนิด แล้วฉีดสลับกัน เช่น ใช้ยาเมโทมิล กับโปรวาโด สลับกับยาไซฮาโลทริน หรือใช้ยาคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์) สลับกับ สารฟิโพรนิล เป็นต้น เมื่อคุมเพลี้ยไฟจนผลอ่อนมีขนาดเท่านิ้วมือก็ปลอดภัย

โรคแอนแทรกโนส เป็นโรคที่ทำลายรุนแรง หลายคนเรียกว่า โรคช่อดำ คุณจรัญจะเน้นการป้องกันโดยใช้ยา 2 ตัว บวกกัน คือ ฟลิ้นท์ อัตรา 200 กรัม ผสมกับ แอนทราโคล อัตรา 2 กิโลกรัม ฉีดพ่นสลับกับสารเอ็นทรัส อัตรา 500 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือ สารเมอร์แพน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นจนถึงระยะผลอ่อน

“การใช้ยาในช่วงดอกถือว่าสำคัญมาก เจ้าของสวนจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะต้องดูให้ออกว่า ช่วงนี้ศัตรูอะไรลงทำลาย หรือต้องพยากรณ์ว่า ช่วงนี้เราจะต้องฉีดยาอะไร ถ้าเราดูศัตรูผิดหรือจัดยาไม่ถูกกับโรค ฉีดพ่นกี่ครั้งก็ยังเสียหาย ไม่สามารถขายผลผลิตได้ ยิ่งถ้าสวนไหนผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกจะต้องรู้ถึงระยะเวลาในการฉีด ต้องซื่อสัตย์และควบคุมให้ดี เพราะนอกจากจะต้องทำผลผลิตให้สวยมีคุณภาพแล้ว จะต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย” คุณจรัญ กล่าวเสริม

เมื่อถามถึงรายได้ในการผลิตมะม่วงในแต่ละปี คุณจรัญ อยู่คำ เจ้าของ “สวนโชคอำนวย” บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร โทร. (099) 271-1303 กล่าวว่า มะม่วงเป็นไม้ผลที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี แม้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติก็ตาม ราคาซื้อขายในแต่ละปีที่มีปัจจัยแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่ในภาพรวมการปลูกและผลิตมะม่วงยังถือว่าเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่ยังสร้างรายได้ดี แต่การเลือกปลูกมะม่วงสายพันธุ์ต่างๆ ก็สร้างรายได้แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง พื้นที่ปลูกมะม่วง 1 ไร่ (อายุต้น 4 ปีขึ้นไป) จะให้ผลผลิตราว 1,500-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งที่ผ่านมาจะขายมะม่วงได้ดังนี้

ถ้าเป็นมะม่วงมัน เช่น ฟ้าลั่น จะขายได้ราคาเฉลี่ย 18-25 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ ประมาณ 27,000-50,000 บาท ต่อไร่ มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 จะขายได้เฉลี่ย 25-40 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500-80,000 บาท ต่อไร่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะขายได้ราคาเฉลี่ย 25-60 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500-120,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งสำหรับราคาขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอาจจะมีราคาสูงมากกว่านี้ ซึ่งในบางปีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 100 บาท ทีเดียว

เมื่อวันที่12 มิ.ย. 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดระบบจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด รับสมัครเกษตรกรที่ต้องใช้ สารจำกัดวัชพืช ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และสารกำจัดศัตรูพืช คลอร์ไพริฟอส เพียงสมัครด้วยตนเองได้ที่ http:// chem.doae.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน FARMBOOK ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกวันตามเวลาราชการ เกษตรกรเลือกวันและวิธีการอบรมได้เองตามความสมัครใจ และเข้าทดสอบตามวันเวลาที่เลือก เกษตรกรที่สอบผ่านจึงจะได้รับสิทธิ์ซื้อสาร

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ ออกประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จำนวน 5 ฉบับ ลงวันที่ 5เมษายน 2562 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 180 วัน เป็นต้นไป (20 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป) ประกาศฯ ดังกล่าวกำหนดให้เกษตรกรผู้ใช้สาร ผู้รับจ้างพ่น จะต้องผ่านการอบรมเพื่อให้สามารถใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย

โดยมี 4 หน่วยงาน ที่รับผิดชอบในการอบรม ดังนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะอบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย จะอบรมและทดสอบให้กับเกษตรผู้ปลูกยางพารา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะอบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยกรมวิชาการเกษตรจะทำหน้าที่อบรมเจ้าหน้าที่ของ 3 หน่วยงาน เพื่อให้เป็นวิทยากรไปอบรมเกษตรกร และเป็นผู้อบรมให้กับผู้รับจ้างพ่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปลัด อบต.

ด้าน นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ดูแลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว และมีพื้นที่ปลูกพืชจริง ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกพืช มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก และมีความประสงค์ใช้สาร ก็ยังสามารถมาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และเข้าสู่ขั้นตอนของการขึ้นทะเบียน ซึ่งต้องลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงและวาดแปลง

ทั้งนี้ คุณสมบัติของเกษตรกรจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย และเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชนั้นจริงไม่น้อยกว่า 15 – 60 วัน เงื่อนไขตามแต่ละชนิดพืช สำหรับการสมัครขอรับสิทธิ์ซื้อ 3 สาร เกษตรกรสามารถสมัครได้ตั้งแต่ วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป ที่ “ระบบจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด” http://chem.doae.go.th หรือ แอปพลิเคชัน “FARMBOOK” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Android และ iOS ได้ทันที

สำหรับท่านที่ยังไม่สะดวกให้ไปติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งใกล้บ้านท่าน โดยสามารถเลือกช่องทางเรียนรู้ได้ 3 ช่องทาง คือ ช่องทางแรก เข้ารับการอบรมโดยวิทยากร ครู ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ช่องทางที่ 2 เรียนรู้ผ่านระบบ e-Learning โดยเรียนจากเว็บไซต์ http://elearning.doae.go.th มีทั้งหมด 9 ตอน ใช้เวลาประมาณ 60 นาที

หรือ ท่านใดที่ประสงค์จะทดสอบเลย เนื่องจากมีความรู้เพียงพอแล้ว สามารถเลือก ช่องทางที่ 3 สมัครเข้ารับการทดสอบได้เลย จากเว็บไซต์ดังกล่าว โดยต้องเลือกสถานที่สอบ วันที่และช่วงเวลาที่ต้องการสอบได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ สำหรับการทดสอบจะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 62 เป็นต้นไป กรณีไม่ผ่านการทดสอบ สามารถเลือกสอบได้อีก 1 รอบ หากยังไม่ผ่าน เกษตรกรจะต้องสมัครเข้าไปเลือกการทดสอบอีกครั้งในระบบ

ปลายเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องไปเดือนมิถุนายน เป็นช่วงฤดูของไม้ผลสีแดงออกสู่ตลาด รสชาติดี มีหลายสายพันธุ์ แต่ละพื้นที่ปลูกจะมีความโดดเด่นของรสชาติที่แตกต่างกัน ว่ากันว่า ผลไม้ชนิดนี้ชอบสภาพอากาศหนาวเย็น จึงจะให้ผลผลิตดี เช่นที่ จังหวัดเชียงราย เกษตรกรที่นำลิ้นจี่เข้ามาปลูกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ก็เพราะเห็นว่า ราคาดี และสภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสม

ที่ตำบลนางแล อำเภอเมือง ขณะที่สับปะรดนางแล และภูแล ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง คุณบัวขาว ขันจันทร์แสง ไม่ได้ปลูกสับปะรดเหมือนเกษตรกรทั่วไป แต่เป็นเกษตรกรรายที่ยังคงปลูกลิ้นจี่อยู่จนถึงปัจจุบัน และนำลิ้นจี่เข้ามาปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเป็นรายแรกๆ

“ปี 2518 เป็นปีแรกที่นำลิ้นจี่เข้ามาปลูก เพราะยุคนั้นราคาลิ้นจี่ค่อนข้างสูง จึงนำพันธุ์มาจากทางอำเภอแม่สาย และสภาพอากาศมีความเย็นต่อเนื่องเหมาะสมดี นำกิ่งพันธุ์มาปลูกบนพื้นที่ 4 ไร่ จากนั้นขยายพันธุ์จากกิ่งพันธุ์ที่เจริญเติบโตเอง แล้วนำไปปลูกเพิ่มบนพื้นที่อีกแปลง ทั้งหมด 15 ไร่”

สายพันธุ์ที่คุณบัวขาวนำมาปลูกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ฮงฮวย โอวเฮียะ จักรพรรดิ และ กิมเจ็งพันธุ์ฮงฮวย เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็ว ออกดอกออกผลง่าย ลำต้นสีน้ำตาลอมเทาและบิดเวียนซ้ายเป็นคลื่นยาวๆ ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์นี้ ช่วงข้อบนกิ่งห่าง ยอดอ่อนมีสีเขียวอมแดงจางๆ ทรงพุ่มรูปไข่และลำต้นค่อนข้างสูง ใบยาวรี โคนใบกว้าง ริมใบบิดเป็นคลื่น ปลายใบไม่ค่อยแหลม ใบมี 3-4 คู่ ผลออกเป็นช่อยาว ลักษณะผลทรงยาวรีคล้ายรูปไข่ เปลือกสีแดงอมชมพู รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย การให้ผลดกและค่อนข้างสม่ำเสมอไม่ค่อยเว้นปี แต่ข้อเสียของลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยคือ เมล็ดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เปลือกบาง ช้ำง่าย และขั้วผลบาง ทำให้ผลร่วงง่าย

พันธุ์โอวเฮียะ เป็นพันธุ์ที่ชอบอากาศหนาวและความชื้นในดินสูง ลำต้นมีสีน้ำตาลแดง มักเป็นตะปุ่มตะป่ำ ง่ามกิ่งเป็นมุมแคบกว่าพันธุ์ฮงฮวย ยอดอ่อนมีสีแดงเข้ม ทรงพุ่มเกือบจะกลม ใบสีเขียวเข้มเป็นมันเกือบดำ มีใบ 2-3 คู่ โคนใบและปลายใบเรียวแหลม หากพับครึ่งจะทับกันพอดี ลักษณะของผลคล้ายรูปหัวใจ เปลือกสีแดงคล้ำ เปลือกเปราะ รสหวาน เนื้อหนา เมล็ดมีขนาดเล็ก ข้อเสียของพันธุ์นี้คือ ง่ามกิ่งเป็นมุมแคบ เพราะมุมยิ่งแคบกิ่งยิ่งฉีกง่าย

พันธุ์กิมเจ็ง เป็นพันธุ์ที่ชอบอากาศเย็นจัด การเจริญเติบโตช้า ทรงพุ่มเตี้ยจนเกือบแบน มีส่วนกว้างมากกว่าส่วนสูง มีระยะของลำต้นจากพื้นดินถึงพุ่มสั้นมาก ลำต้นไม่บิด ข้อของกิ่งก้านสั้นมาก มีกิ่งเล็กๆ มาก ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดสั้นและแคบ มีใบ 1-3 คู่ ยอดอ่อนมีสีใกล้เคียงกับพันธุ์โอวเฮียะ แต่ออกเป็นสีแดงซีดหรือสีชมพู ช่อไม่ใหญ่แต่สั้น ลักษณะผลค่อนข้างกลม การติดผลค่อนข้างยาก

พันธุ์จักรพรรดิ ผลโตมาก ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผลแก่ปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ขนาดผลกว้าง 4.4 เซนติเมตร ยาว 4.2 เซนติเมตร ผลหนัก 40-50 กรัม หนามไม่แหลม เปลือกหนา เมื่อแก่จัดสีชมพูแดง เนื้อผลหนา 1.1 เซนติเมตร เนื้อมีน้ำค่อนข้างมาก รสดีพอใช้ ความหวานประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์

ทั้ง 4 ชนิด ที่คุณบัวขาวเลือกสายพันธุ์มาปลูก ก็เพราะเป็นพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศเย็น จึงเหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ โดยปกติแล้วลิ้นจี่ก็มีการแบ่งสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการปลูกในภาคเหนือและภาคกลางเอาไว้

ระยะปลูกสำหรับลิ้นจี่ คือ 6×6 เมตร สำหรับพื้นราบ ส่วนบริเวณที่เป็นเนินเขา ระยะถี่มากขึ้นได้ เพราะเนินจะทำให้พุ่มต้นเหลื่อม จึงไม่มีปัญหาทรงพุ่มชิดกัน

การปลูกลิ้นจี่ ควรลงปลูกในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ให้เตรียมดินให้พร้อมหลังฝนแรกลง แล้วลงปลูกโดยไม่ต้องรดน้ำ ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นช่วงที่ไม่ต้องรดน้ำและให้ธรรมชาติดูแลต้นลิ้นจี่เล็กไปก่อน เมื่อเข้าสู่ปีถัดไปของการปลูก ช่วงฤดูแล้งไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ยกเว้นแล้งมากก็ให้น้ำบ้างนิดหน่อย และเตรียมปุ๋ยให้เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน 1 ครั้ง จากนั้นให้ปุ๋ยอีกครั้ง 3 เดือนถัดมา

ราวต้นมกราคม ลิ้นจี่จะเตรียมพร้อมแทงช่อดอก ยกเว้นฝนลงจะส่งผลให้ช่อดอกที่แทงออกมาไม่ติดผล แต่เปลี่ยนเป็นใบแทน

หากติดดอกดี ผลผลิตก็จะดีตาม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ คุณบัวขาว บอกว่า ลิ้นจี่จะติดผลผลิตดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศหนาวหรือเย็น ต้องมีสภาพอากาศหนาวหรือเย็นติดต่อกัน 100 ชั่วโมง หรือ 4-5 วัน ต่อเนื่อง ถ้าระยะเวลาอากาศหนาวหรือเย็นไม่ถึงตามนี้ ลิ้นจี่ก็ไม่ติดผล อาจจะมีพันธุ์ฮงฮวยที่ติดผลผลิตบ้าง เพราะเป็นพันธุ์เบา สภาพอากาศไม่ถึงกับหนาวก็ยังให้ผลผลิตอยู่ ส่วนพันธุ์จักรพรรดิ เป็นพันธุ์หนัก ถ้าอากาศไม่หนาวหรือเย็นติดต่อกันตามระยะเวลาที่กล่าวไว้ ก็ไม่ติดผลผลิตเลย ซึ่งการบังคับให้ลิ้นจี่ติดผลไม่สามารถทำได้

หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกครั้ง ต้องตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ย คุณบัวขาว พยายามให้ปุ๋ยหมักจากแกลบและขี้วัวที่หมักเอง พยายามเลี่ยงปุ๋ยเคมี เพื่อให้ดินได้รับสารอินทรีย์ หน้าดินไม่แน่นจนเกินไป และต้องตัดแต่งกิ่งให้ลิ้นจี่ทุกครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต และให้ปุ๋ยอีกครั้งประมาณต้นเดือนมีนาคมที่ลิ้นจี่ติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด

การให้ปุ๋ย ให้หว่านไปรอบทรงพุ่ม ระวังไม่ให้เกิดวัชพืชใต้ต้น เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลิ้นจี่

“ช่วงที่ผลผลิตลิ้นจี่เก็บเกี่ยวได้ คือ ต้นเดือนมิถุนายน ราวปลายเดือนมิถุนายนก็ใส่ปุ๋ยรอบทรงพุ่ม และตัดแต่งกิ่งได้ เท่ากับ 1 ปี ให้ปุ๋ย 2 ครั้งเท่านั้น”

การให้น้ำ สวนลิ้นจี่ของคุณบัวขาว ดูที่สภาพดินเป็นหลัก หากช่วงแล้งก็ให้น้ำ 5 วัน ต่อครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าสภาพดินไม่แล้งจนเกินไป ก็ไม่จำเป็นต้องให้

โรคและแมลงศัตรูพืช โดยปกติลิ้นจี่เป็นพืชที่ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช คุณบัวขาว บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ปลูกลิ้นจี่มากว่า 40 ปี พบแมลงศัตรูพืชไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้สมุนไพรหมักฉีดพ่นก็กำจัดออกไปได้

ผลผลิตลิ้นจี่แต่ละต้น ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป อากาศหนาวต่อเนื่องตามระยะเวลาที่ลิ้นจี่ควรให้ผลลดลง ทำให้ลิ้นจี่ไม่ติดผล หรือติดผลน้อยในพันธุ์เบา อย่าง พันธุ์ฮงฮวย แต่ปริมาณผลผลิตที่ได้อย่างน้อย 50-60 กิโลกรัม ต่อต้น

ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ลิ้นจี่ให้ผลผลิตมากที่สุด แต่เมื่อผลผลิตเก็บจำหน่ายได้ ไม่นานก็ขายหมด เพราะความต้องการลิ้นจี่ในตลาดมีสูง

“ช่วงฤดูกาลที่มีผลผลิต ต้องตื่นมาเก็บลิ้นจี่เวลา 6 โมงเช้า และมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับถึงสวน 9 โมงเช้า ราคาขายหน้าสวน กิโลกรัมละ 60 บาท แต่ถ้าคัดลิ้นจี่คุณภาพลงกล่อง ราคากิโลกรัมละ 700-800 บาท หลังเก็บลิ้นจี่มาแล้วต้องมีแรงงานสำหรับคัดผล ใน 1 ฤดูกาล ใช้แรงงาน 5 คน สำหรับให้ปุ๋ย รดน้ำ เก็บผลผลิตและคัดผล”

เพราะลิ้นจี่เป็นพืชหลักของครอบครัวที่ทำมายาวนานกว่า 40 ปี และเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุยาวนาน คุณบัวขาวและครอบครัวใช้แรงงานในครอบครัวเท่านั้น จึงไม่คิดขยายพื้นที่ปลูก อีกทั้งสภาพอากาศปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ระยะเวลาที่ช่วยให้ลิ้นจี่ติดผลลดลง ผลผลิตจึงได้น้อยกว่าที่ผ่านมาทุกปี แต่ก็ยังถือว่าเป็นอาชีพหลักของครอบครัว อีกทั้งลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่ไม่พบปัญหาในการปลูกมากนัก อย่างไรก็ตาม คุณบัวขาวและครอบครัว ได้ใช้เวลาว่างที่มีปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานในครัวเรือนและส่งขาย มีรายได้จากการเก็บผักขาย วันละ 400-500 บาท

สวนลิ้นจี่ของคุณบัวขาว ถือเป็นสวนใหญ่และผลิตลิ้นจี่คุณภาพที่ดีที่สุดในจังหวัดเชียงราย หากสนใจกิ่งพันธุ์ หรือลิ้นจี่ตามฤดูกาล ทั้ง 4 สายพันธุ์ ติดต่อได้ที่ คุณบัวขาว ขันจันทร์แสง หมู่ที่ 7 บ้านนางแลใน ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หรือโทรศัพท์สอบถามกันก่อนที่เบอร์โทร. 087-179-0905 ได้ตลอดเวลา

มะเร็งเต้านม ถูกจัดเป็นหนึ่งในมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลว่า ในปี 2561 พบผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกสูงกว่า 2,088,849 ล้านคน เสียชีวิตถึง 626,679 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีหญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ เฉลี่ยปีละ 20,000 คน หรือประมาณ 55 คน ต่อวัน และเสียชีวิตกว่า 6,000 คน หรือกว่า 17 คน ต่อวัน

สถานการณ์โรคมะเร็ง จึงกลายเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้วยเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว มูลนิธิกาญจนบารมี จึงจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ขึ้นในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปีพุทธศักราช 2555 เพื่อส่งเสริมการป้องกันมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

ดร.นพ. สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี เล่าว่า มูลนิธิกาญจนบารมี กำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ภายหลังจากที่พระองค์ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่สถานพยาบาลที่ทำการรักษาไม่เพียงพอ ทำให้ต้องรอรับการรักษาเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งขึ้น ที่ ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ภายใต้โครงการกาญจนบารมี และได้ขอพระราชทานชื่อว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ” ซึ่งต่อมาได้มีการยกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี” มาจวบจนปัจจุบัน พระองค์ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงินทุนในการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์วินิจฉัยบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ควบคู่กับการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

“ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น มูลนิธิกาญจนบารมี และกระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกันจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) เคลื่อนที่ เดินทางไปให้บริการ วันละ 1 อำเภอ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากสถานพยาบาล และมีฐานะยากจน ให้ได้รับโอกาสในการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

รถเคลื่อนที่ที่ใช้ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง จะประกอบด้วย รถ 4 คัน คือ รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Mobile Advertising Unit) รถสาธิตและตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Check Up Unit) รถนิทรรศการและให้ความรู้โรคมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mobile Learning Exhibition Unit) และรถตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง (Mammogram) สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เมื่อวินิจฉัยพบเร็ว ก็มีโอกาสรักษาหายเป็นปกติ และลดอัตราการเสียชีวิตได้กว่าร้อยละ 80