อินทผลัมทุกๆ สายพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตจากแล็บ

จนถึงในสภาพนำมาเลี้ยง อนุบาลลงในแคปซูล เพาะเลี้ยงต่อในโรงเรือน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี อินทผลัมที่เกิดจากการเพาะเนื้อเยื่อราคาจำหน่ายโดยทั่วไปประมาณ 1,000-1,400 บาท ต่อต้น ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และจำนวนที่ต้องการ ทั้งนี้ต้นอินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อ ปลูกจากแคปซูล ใช้เวลาดูแลประมาณ 3 ปี ก็เริ่มติดผลให้เห็นแล้ว

ชมรมศูนย์ส่งเสริมปลูกอินทผลัม ภาคกลาง

คุณชัยอารีย์ ต้องการเผยแพร่ความรู้เรื่องการปลูกดูแลอินทผลัมให้กับผู้สนใจทั่วไป จึงก่อตั้งชมรมศูนย์ส่งเสริมปลูกอินทผลัม ภาคกลาง ได้ติดตามความก้าวหน้าและผลความสำเร็จของสมาชิก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปลูกดูแล และแนะแนวทางแก้ไขให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม และไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ด้วยความเต็มใจในพันธสัญญา ว่าเราจะคอยช่วยเหลือกันตลอดไป และคุณชัยอารีย์เปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอินทผลัม 2 แห่ง คือ บ้านสวนอำพันธ์ สาขาอำเภอผักไห่ และสาขาอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้สนใจแวะเข้ามาศึกษาและขอความรู้ได้ทั้ง 2 แห่ง

บ้านสวนอำพันธ์ สาขาแรก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอยุธยา อยู่ด้านหลังอยุธยาปาร์ค เส้นวัดใหญ่-วัดพนัญเชิง ซอยไอยรา (1/15) เข้าไป 100 เมตร ซอยติดทางรถไฟ

สาขาแห่งที่สอง เปิดเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ และส่งเสริมปลูกอินทผลัม เนื้อที่กว้างขวางถึง 10 ไร่ อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่เปิดเป็นที่พักสำหรับแขกทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ บรรยากาศห้อมล้อมไปด้วยสภาพพื้นที่ทุ่งนาโดยรอบ บ้านสวนอำพันธ์ สาขา 2 เดินทางไปไม่ยาก ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เขตติดต่อกับอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างกัน 5-6 กิโลเมตร แปลงปลูกแห่งนี้ได้ทดลองปลูกอินทผลัมบนพื้นที่แปลงนาข้าว โดยปรับยกร่องระบายน้ำ สูงจากพื้นนาเดิม 30-40 เซนติเมตร

บรรยากาศภายในศูนย์แห่งนี้ เน้นศึกษาทดลองวิจัยเรื่องการเพาะขยายสายพันธุ์อินทผลัม กว่า 30 สายพันธุ์ ทั้งในรูปแบบเพาะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การเพาะขยายพันธุ์ด้วยหน่อพันธุ์ และเพาะขยายพันธุ์ด้วยเนื้อเยื่อ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีต้นอินทผลัมอายุ 3-4 ปี กว่า 30 สายพันธุ์ หากใครสนใจเข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงานภายในศูนย์ กรุณาแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าได้ที่ คุณชัยอารีย์ วงศ์หาญ (ประธานชมรม) โทร./ID.line (082) 198-2255

การปลูกดูแล

อินทผลัมทุกสายพันธุ์ สามารถปลูกให้เจริญเติบโต ติดผลได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะนำเข้า ต้นกล้าจากเมล็ด เนื้อเยื่อ และหน่อพันธุ์จากต่างประเทศ จากการศึกษาของคุณชัยอารีย์ พบว่า ต้นอินทผลัมชอบดินท้องนาภาคกลาง เพราะหน้าดินดำ หรือดินร่วนปนเหนียว อินทรียวัตถุค่อนข้างสูง ขุดหน้าดินขึ้นมาถม ระดับลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร สภาพดินเป็นกลางค่อนข้างกรดเล็กน้อย ก่อนปลูกปรับค่า pH โดยใช้โดโลไมท์ หรือกรดซิลิคอน

เนื่องจากหน้าดินดำพื้นนาเดิมในพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เพื่อรักษาหน้าดิน และระบบนิเวศ โดยไม่ใช้ยากำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชบริเวณรอบทรงพุ่ม และไม่ควรมีไม้ใหญ่บดบัง เพื่อให้ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน

การปลูกอินทผลัม ทั่วไปนิยมให้ปุ๋ยทางดินโดยใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ทุกครั้ง และให้อาหารเสริมทางใบ หลักสำคัญคือ องค์ประกอบและปัจจัยถูกต้องเหมาะสม เช่น การให้ปุ๋ยและน้ำ การผสมเกสร แสงแดด อุณหภูมิ เป็นต้น

โดยทั่วไป ต้นอินทผลัมมักเกิดโรคเชื้อรา ใบจุดสีน้ำตาล อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือสภาพอากาศแปรปรวน น้ำค้างแรงกลางคืน ตกกลางวันร้อนอบอ้าว โรคจะระบาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การดูแลควรใช้ยาป้องกันโรคเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ แค็ปแทน ฉีดพ่นทั่วทรงพุ่ม ห่างกันทุกๆ 7-10 วัน ต่อครั้ง จนกว่าอาการระบาดจะลดลง

หลายคนห่วงกังวลว่า พื้นที่ภาคกลาง เสี่ยงกับปัญหาน้ำท่วม จะเหมาะกับการปลูกอินทผลัมหรือ?? คุณชัยอารีย์บอกว่า ไม่น่าห่วง ในกรณีน้ำท่วมทั่วๆ ไป คือท่วมสูงไม่ถึงบริเวณเรือนยอด (ตายอด) ต้นอินทผลัมสามารถทนน้ำท่วมได้เหมือนต้นไม้อื่นๆ แต่ถ้าท่วมเรือนยอดหรือระดับตายอด จะไม่สามารถทนทานอยู่ได้เป็นเวลานานๆ ต้นอินทผลัมจะค่อยๆ เน่าตายในที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดหรืออายุต้นด้วย

เรื่อง อินทผลัม…เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด

คุณชัยอารีย์ บอกว่า อินทผลัม มีเรื่องให้ศึกษาเรียนรู้ไม่สิ้นสุด จนกลายเป็นสโลแกนที่พูดติดปากเสมอ ก็คือ “อินทผลัมเมืองไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ” ยกตัวอย่าง เช่น กรณีคุณชัยอารีย์ ซื้ออินทผลัมผลสดพันธุ์เคแอล-1 จากสยามพารากอน และนำเมล็ดพันธุ์เคแอล-1 มาเพาะขยายพันธุ์ ปรากฏว่า ได้อินทผลัมผลสีแดง ซึ่งโดยปกติ อินทผลัมพันธุ์เคแอล-1 จะให้ผลสดสีเหลืองเป็นหลัก

คุณชัยอารีย์ บอกว่า 1 ใน 100 ต้น เมื่อนำเมล็ดไปเพาะ อาจได้อินผลัมผลสีม่วง ส้ม หรือแดงเข้ม ก็เป็นไปได้ ต้นพันธุ์เพาะเมล็ดมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ ได้ทั้งเหมือนต้นแม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์ หรือไม่เหมือนเลย (กลายพันธุ์) เปอร์เซ็นต์สัดส่วนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสารพันธุกรรม (DNA) ยีนส์เด่นหรือด้อยทั้งสิ้น ต้นลูกที่ได้อาจเหมือนต้นแม่ ต้นพ่อ และเกิดสายพันธุ์ลูกผสมขึ้นใหม่…(ในทางวิชาการลูกที่ได้จากการเพาะเมล็ดถือว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่โดยสิ้นเชิง) คุณชัยอารีย์ ได้ศึกษาทดลองเพาะเมล็ดอินทผลัมกว่า 30 สายพันธุ์ พบว่า กว่าร้อยละ 50 จะได้ลูกที่มีลักษณะเหมือนต้นแม่หรือต้นพ่อ ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 50% จะได้อินทผลัมพันธุ์ลูกผสม

สำหรับคุณภาพรสชาติของผลอินทผลัม มีองค์ประกอบหรือปัจจัยหลักๆ เช่น

แม่พันธุ์ดีตรงตามพันธุ์
พ่อพันธุ์ (ควรใช้พ่อพันธุ์คุณภาพ ในที่นี้คือ เรื่องสารแทนนินที่จะมีบทบาทสำคัญของค่าความฝาด เพราะอินทผลัมรสชาติดี คุณภาพดี ฝาดน้อยหรือไม่ฝาดเลย เป็นประการสำคัญ)
การบำรุงดูแล การใช้ปุ๋ย/ให้น้ำ อย่างถูกต้องเหมาะสม
ปัจจัยภายนอก เช่น แสงแดด อุณภูมิ รวมทั้งฝน และอื่นๆ
อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่คุณชัยอารีย์เล่าให้ฟังคือ ก่อนหน้าเขานำเข้าต้นพันธุ์ เมดจูล (Medjoul gold) เพาะเนื้อเยื่อ อายุ 3-4 ปี นำเข้าจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE.) ติดผลผลิตครั้งแรก เหมือนต้นเนื้อเยื่อ ต้นอื่นๆ ในชุดเดียวกัน แต่แปลกประหลาดต้นนี้ แทงจั่นมาได้อย่างไร เพิ่งเคยพบในช่วงผลแก่ ช่วงสุดท้าย (เป็นเรื่องแปลกที่แทงจั่นนอกฤดูในฤดูฝน สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากภาวะฝนแล้งในระยะดังกล่าวก็เป็นไปได้) คุณชัยอารีย์ เก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นการบ้านที่ต้องเรียนรู้ศึกษากันต่อไป

ข้อแนะนำ มือใหม่หัดปลูก

อินทผลัม มีหลากหลายสายพันธุ์แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้เป็น กลุ่มกินผลสดและกินผลแห้ง สำหรับกลุ่มผลแห้งอาจไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย ดังนั้น ควรมุ่งปลูกอินทผลัมกินผลสดเป็นหลักเพื่อสะดวกในการดูแลจัดการสวน ซึ่งอินทผลัมกินผลสดในปัจจุบันมีจำนวนหลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่

พันธุ์คาลาส (Khalas) พันธุ์นาวาเดอร์ (Nawader) และ พันธุ์กาซาอิ๊ฟ อัล อัสฟูร์ (Khasaif Al asfoor) คุณสมบัติสำหรับพันธุ์กินผลสดและทำผลแห้งคุณภาพไม่แพ้กับต่างประเทศ…ผ่านการพิสูจน์และรับรองคุณภาพในเบื้องต้น อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

พันธุ์กาซาอิ๊ฟ อัล อัสฟูร์ (Khasaif Al asfoor) ผลสดแก่จัดๆ ฝาดน้อยหรือไม่ฝาดเลย รสชาติหวาน กรอบ มีลักษณะผล เนื้อละเอียด หวาน กรอบกำลังดี คล้ายพันธุ์อัจวาห์

พันธุ์คอนัยซี่ อินทผลัมสีแดง กินผลสด/แห้ง กินสดหวาน กรอบ ติดฝาดนิดหน่อย และปล่อยสุกห่ามๆ อร่อยยิ่งขึ้น และสามารถทำผลแห้งได้ด้วย

พันธุ์เดคเลต นัวร์ (Deglet nour) ผลสด หวาน กรอบใช้ได้

ซักห์ลูล (Zughloul) และ อัม เอ็ด ดาฮาน (Am ad dahan) สายพันธุ์กลุ่มกินผลสดทั้งคู่ คุณสมบัติและคุณลักษณะคล้ายกัน ผลใหญ่ เนื้อแน่น หวาน กรอบ ผลแก่จัดๆ รสชาติดีมาก ไม่ติดฝาด สีของผลสดแก่ต่างกันชัดเจน

อินทผลัมพันธุ์บาร์ฮี (barhi) ที่คนไทยรู้จักกันดี และนิยมปลูกกินผลสดในเมืองไทยนั้น สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ถึง 3 กลุ่ม คือ พันธุ์บาร์ฮีดั้งเดิม (original barhi) บาร์ฮีใหญ่ (big barhi) และบาร์ฮีแดง (red barhi) ซึ่งบาร์ฮีแต่ละชนิดก็มีคุณลักษณะและคุณสมบัติ ความหลากหลายทางสีสันกันคนละแบบ ในกลุ่มสายพันธุ์บาร์ฮีด้วยกัน ยกตัวอย่าง เช่น บาร์ฮีพันธุ์แดง เนื้อแน่น ละเอียด และกรอบกว่า แต่ความหวานค่อนข้างจะหวานน้อยกว่าพันธุ์เหลือง

คุณชัยอารีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรชาวมุสลิมในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ ต่างสนใจติดตามความเคลื่อนไหวอินทผลัมของไทยอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้บริโภคที่ชื่นชอบกินอินทผลัมผลสด ขณะเดียวกันพวกเขาก็สนใจสั่งซื้อพันธุ์อินทผลัมที่คนไทยปลูกขยายพันธุ์ได้เอง รวมทั้งสายพันธุ์อินทผลัมที่นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย ดังนั้น ตลาดอินทผลัมจึงเปิดกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พี่น้องเกษตรกรทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านสนใจ ให้ความสนใจปลูกอินทผลัม แต่นั่นยังไม่ใช่บทสรุปหรือแนวทางเป้าหมายที่ชัดเจน หัวใจหลักคือ เรื่องของชนิดสายพันธุ์ ที่ต้องรู้จักเรียนรู้และนำมาใช้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศบ้านเราเป็นสำคัญครับ” คุณชัยอารีย์ กล่าว

ผู้สนใจ สามารถติดต่อ “บ้านสวนอำพันธ์/ชมรมศูนย์ส่งเสริมปลูกอินทผลัม ภาคกลาง” ได้ทางเฟซบุ๊ก “Chaiaree Wonghan” และ “Ayutthaya date palm” หรือเบอร์โทร.และไอดีไลน์ (082) 198-2255

หลายคนคงจำได้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คุณวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับ “ทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพาน” สินค้าตัวใหม่ที่เพิ่งผ่านการจดทะเบียนรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า สร้างความฮือฮาในวงการคนรักทุเรียนอย่างมาก เพราะใครๆ ก็ตั้งหน้าตั้งตารอชมและชิมทุเรียนพันธุ์ใหม่กันทั้งสิ้น

ปรากฏว่า ปีนี้ ฝนฟ้าไม่ค่อยเป็นใจนัก แถมเจอภาวะร้อนแล้งจัด ทำให้ต้นทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพานที่เป็นต้นแม่อายุกว่า 25 ปี ให้ผลผลิตได้ไม่กี่ผล ดังนั้น คุณวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเชิญชวนสื่อมวลชนในจังหวัดประจวบฯ และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านไปเยี่ยมชมแปลงปลูกทุเรียนทองบางสะพานกันถึงแหล่งต้นกำเนิด

จุดเริ่มต้นของ ทุเรียนทองบางสะพาน

ล้อหมุนจาก กทม. ตอนตี 5 ไปถึงสวนมีตังค์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของทุเรียนทองบางสะพาน ประมาณ 10 โมงเช้า คุณธวัชชัย เทศรำลึก บุตรชายเจ้าของสวนมีตังค์ (โทรศัพท์ 081-348-7595) และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รอรับทีมสื่อมวลชนส่วนกลางและส่วนภูมิภาค บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก บริเวณโต๊ะแถลงข่าว คุณธวัชชัย โชว์ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี วางคู่กับทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพาน เพื่อเปรียบเทียบลักษณะความแตกต่างให้เห็นกันชัดๆ

คุณธวัชชัย เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อ (นายสมัย เทศรำลึก) เจ้าของสวนมีตังค์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 157/1 หมู่ที่ 8 ตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77140 ได้นำกิ่งพันธุ์ทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากจังหวัดนนทบุรีมาปลูกในสวน เมื่อปี 2526 หลังจากปลูกไปได้ระยะหนึ่ง ยอดของต้นทุเรียนเกิดหัก ต้นตอจากการเพาะเมล็ดทุเรียนไม่ทราบพันธุ์ จึงแตกยอดใหม่ขึ้นมา นายสมัยได้ปล่อยให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตจนกระทั่งออกดอกและติดผล ในปี 2533

ต่อมาคุณธวัชชัยได้พบว่า เนื้อของทุเรียนพันธุ์นี้ มีความแตกต่างจากพันธุ์อื่น เนื่องจากทุเรียนมีเนื้อละเอียด เหนียว ไม่เละง่าย สีเหลืองเข้มคล้ายทองคำ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ขณะอยู่ในลำคอ รสชาติมันอมหวาน เข้มปานกลาง น้ำหนักผลโดยเฉลี่ย 2-5.4 กิโลกรัม

นายสมัยได้ติดตามความคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์ของทุเรียนชนิดนี้เป็นเวลา 25 ปี จึงได้ตั้งชื่อทุเรียนพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ทุเรียนทองบางสะพาน” พร้อมยื่นขอจดทะเบียนรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

คุณธวัชชัย กล่าวว่า ทุเรียนทองบางสะพาน จัดอยู่ในกลุ่มไม้ยืนต้น ประเภทไม้ผล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Durio zibethinus “Thong Bang Saphan” วงศ์ Malvaceae ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ ของทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพานคือ ต้นแม่ที่ได้จากการเพาะเมล็ดมีระบบรากแก้ว ต้นที่ได้จากการตอนกิ่งเป็นรากพิเศษ

ส่วนลักษณะลำต้น มีทรงพุ่มรูปสามเหลี่ยม ยอดแหลม กิ่งก้านทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้น ลักษณะเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 5.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 16.1 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบสีเขียวเป็นมัน ก้านใบยาวประมาณ 1.9 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.25 เซนติเมตร

ด้านช่อดอกออกแบบช่อเชิงหลั่น ออกดอกตามลำต้นและกิ่ง ดอกตูมรูปไข่ ปลายดอกแหลม กลีบดอกสีขาวอมเหลือง เกสรตัวผู้จำนวนมาก ผลทุเรียนเป็นผลเดี่ยว รูปไข่ กว้าง 17.4 เซนติเมตร ยาว 21.8 เซนติเมตร ฐานผลกลมบุ๋มเล็กน้อย ปลายผลค่อนข้างมน มี 5 พู ร่องพูลึกปานกลาง เปลือกสีเขียวอมเทาอ่อน เปลือกหนา ประมาณ 1.3 เซนติเมตร หนามค่อนข้างสั้น และหนาแน่นปานกลาง หนามแบบนูนปลายแหลมบริเวณกลางพู และแบบแหลมบริเวณร่องพู ก้านผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1.3 เซนติเมตร ยาว 5.8 เซนติเมตร รอยต่อขั้วผลนูนน้อย เนื้อละเอียดพอสมควร สีเหลืองเข้ม หนาประมาณ 1.0-2.2 เซนติเมตร มีกลิ่นอ่อน ส่วนเมล็ดทุเรียนทองบางสะพาน มีลักษณะเมล็ดรูปรี กว้างประมาณ 4.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9.8 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.8 เซนติเมตร เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดลีบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

ทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพาน ปลูกดูแลง่าย ทุเรียนเนื้อละเอียด เหนียว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติมันอมหวาน ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและเกษตรกรทั่วไป โดยมีราคาขายที่หน้าสวน ในราคากิโลกรัมละ 350 บาท สินค้าขายดีมากจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรจากทั่วประเทศสนใจติดต่อขอซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนทองบางสะพานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“ภายหลังจากทุเรียนทองบางสะพานได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ทางสวนมีตังค์ได้ขยายพันธุ์ทุเรียนทองบางสะพานด้วยการเสียบยอดปลูกในแปลงใหม่ ทั้งนี้ คาดว่า ทุเรียนทองบางสะพานชุดใหม่จะเริ่มให้ผลผลิตได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ทางสวนมีตังค์ มีเป้าหมายที่จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ทุเรียนทองบางสะพาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการให้กับเกษตรกรที่สนใจ เพื่อผลักดันให้ทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพานเป็นสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอำเภอบางสะพานในอนาคต” คุณธวัชชัย กล่าวในที่สุด

ด้าน คุณวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเสริมว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและขยายพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลักดันการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนพันธุ์ทองบางสะพาน เป็นสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน และจดทะเบียนทุเรียนทองบางสะพาน ซึ่งเป็นพันธุ์พืช จีไอ ในอนาคต หลังจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประสบความสำเร็จในการยื่นจดทะเบียนทุเรียนป่าละอูมาก่อนหน้านี้ จนกลายเป็นสินค้าขายดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

อินทผลัม เป็นพืชตระกูลปาล์ม มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแบบทะเลทราย ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร มีใบติดอยู่บนต้น 40-60 ก้าน ทางใบยาว 3-4 เมตร ลักษณะใบของอินทผลัมเป็นแบบขนนก ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ เมื่อติดผลมีลักษณะเป็นรูปทรงรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีรสหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งผลสดและสุก ซึ่งผลมีสีเหลืองถึงสีส้มและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่จัด โดยผลสุกจะนิยมนำไปตากแห้ง จึงเป็นหนึ่งพืชที่น่าจับตามองในเรื่องของการทำตลาด

ปัจจุบัน ในบ้านเรามีเกษตรกรหลายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าคุณภาพตามฤดูกาล สร้างรายได้ดีไม่น้อยทีเดียว คุณธัญญา กาญจนประดิษฐ์ เป็นเกษตรกรชาวกาญจนบุรี ที่ได้มองเห็นถึงอนาคตการทำตลาดของอินทผลัมว่าเป็นสินค้าที่มีราคา เธอจึงแบ่งพื้นที่ทำนาบางส่วนมาปลูกอินทผลัมเพื่อเป็นการกระจายรายได้ เมื่อราคาข้าวตกต่ำก็ยังมีผลผลิตของอินทผลัมอยู่ แม้พื้นที่ปลูกจะเป็นดินที่ผ่านการทำนามาก่อน แต่ก็สามารถปลูกจนประสบผลสำเร็จ

คุณธัญญา เล่าว่า เป็นคนที่ชอบรับประทานอินทผลัมมานานมากแล้ว สล็อตออนไลน์ แต่ด้วยพืชชนิดนี้ในเมืองไทยยังค่อนข้างหาซื้อได้ยาก จึงเป็นการจุดประกายให้คุณธัญญาคิดที่อยากจะปลูกเอง เพราะไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ข้าวมีราคาถูก และทำได้ปีละ 1 ครั้ง จึงได้เกิดความคิดที่อยากจะปรับปลี่ยนจากพื้นที่นาบางส่วนมาแบ่งปลูกอินทผลัมเพื่อชดเชยรายได้

“แบ่งปลูกเป็น 2 ช่วงอายุ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกรุ่นแรก 8 ไร่ กับ รุ่นที่ 2 บนเนื้อที่ 7 ไร่ รวมพื้นที่ปลูกอิทผลัมทั้งหมดก็ประมาณ 15 ไร่ ซึ่งนาก็ไม่ได้เลิกทำ ยังทำอยู่ เพียงแต่แทนที่เราจะปลูกข้าวอย่างเดียว เราก็มาทำเกษตรอย่างอื่นด้วย เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ครบทุกด้าน อย่าทำพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว” คุณธัญญา เล่าถึงที่มา

โดยวิธีการปลูกและการเลือกซื้อสายพันธุ์นั้น คุณธัญญา บอกว่า ได้ศึกษาหาข้อมูลเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งเดินทางไปศึกษาจากเพื่อนๆ ที่ปลูกจนประสบผลสำเร็จ จากนั้นเธอจึงได้ข้อสรุปเลือกอินทผลัมที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูกสร้างรายได้

ในเรื่องของวิธีการปลูกอินทผลัมนั้น มีการเตรียมพื้นที่ปลูกก่อนในช่วงแรก โดยใช้บริเวณรอบๆ สวน มีร่องน้ำสำหรับระบายน้ำ ไม่ให้ท่วมขังภายในพื้นที่ปลูก เพราะอินทผลัมเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขังอยู่บริเวณโคนต้น ดังนั้น ในเรื่องของการระบายน้ำออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การเตรียมต้นกล้า ระยะแรกจะนำมาอนุบาลเพื่อให้มีระบบรากแข็งแรง โดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จากนั้นเมื่อเห็นว่าต้นอินทผลัมมีความสมบูรณ์ดีแล้ว จะนำมาลงปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้ทันที

“ใช้ต้นกล้าที่ผ่านการอนุบาลมาประมาณ 8 เดือน มาลงปลูก พื้นที่ปลูกก็จะเน้นให้มีระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถวอยู่ที่ 7×7 เมตร โดยการปลูกจะไม่ฝังต้นลงไปใต้ดินจนลึก ขนาดหลุมปลูก กว้าง 1 เมตร ความลึกอยู่ที่ 40 เซนติเมตร พอปลูกเสร็จแล้วก็จะมีไม้ค้ำยันไว้ เพื่อไม่ให้ต้นโยกไปมา ให้ต้นตั้งตรงอยู่นิ่งๆ จะช่วยให้รากเดินได้ค่อนข้างดี หลังจากนั้น ก็ดูแลให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ทุกวัน ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ก็จะเปลี่ยนให้น้ำ 2-3 วันครั้ง ก็เพียงพอ” คุณธัญญา บอก