เกษตรกรควรตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของใบ

ดอก และผลที่เป็นโรค ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นให้ทั่วทรงพุ่มด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80 ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร จากนั้น ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค

สำนักงาน กศน. จังหวัดตรัง ได้จัดกิจกรรมอบรมอาชีพให้แก่ราษฎร โดยใช้เจ้าหน้าที่ กศน. ตำบล และ กศน. อำเภอ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ ควบคู่กับครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เช่น เกษตรธรรมชาติ แพทย์แผนไทย การจักสาน การเกษตรผสมผสาน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การผลิตปุ๋ย การขยายพันธุ์พืช เป็นต้น เพื่อพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎร ให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพและรายได้เลี้ยงดูครอบครัวอย่างยั่งยืน ผู้เขียนขอขอบคุณ อาจารย์นพรัตน์ โชติเกษมกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ซึ่งเป็นแกนนำทีมสื่อ กศน. ตรังแชนแนล ที่กรุณาสนับสนุนข้อมูลและภาพประกอบการจัดกิจกรรมการอบรมอาชีพต่างๆ ของ สำนักงาน กศน. จังหวัดตรัง มา ณ ที่นี้

กศน. นาโยง อบรมถักโครเชต์ “พะยูน”
สัญลักษณ์ประจำจังหวัดตรังกศน. ตำบลละมอ อำเภอนาโยง ได้เข้ามาจัดการเรียนการสอนให้กลุ่มชาวบ้านถักหมวกด้วยไหมพรม ต่อมาได้จัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลละมอ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลละมอ

เช่น อบรมการถักโครเชต์ “ตัวพะยูน” ซึ่งเป็นสัตว์ทะเล สัญลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง โดยตั้งราคาขายตามขนาดสินค้า เช่น พะยูน ขนาด 26 นิ้ว ขายตัวละ 1,200 บาท ขนาด 24 นิ้ว ขายตัวละ 1,000 บาท และขนาด 20 นิ้ว ขายตัวละ 800 บาท

นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลละมอ ยังสอนการถักโครเชต์เป็นดอกศรีตรัง มะม่วงหิมพานต์ หมวก ตุ๊กตาน่ารักๆ อีกมากมาย สินค้านำไปโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าสามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมาก

และนำสินค้าส่วนหนึ่งไปวางขายที่ร้านเค้กกนิษฐา ศูนย์รวมของฝากและจุดพักรถจังหวัดตรัง ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาเลือกซื้อของขวัญของฝากของจังหวัดตรัง ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อหรือศึกษาดูงานอบรมอาชีพได้ที่ กศน. อำเภอนาโยง หรือกลุ่มถักหมวกไหมพรม บ้านหนองยวน เลขที่ 201 หมู่ที่ 5 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

กศน. ร่วมสืบสานตำนานความอร่อย
“บ๊ะจ่างน้ำด่าง” จากภูมิปัญญาชาวบ้าน

บ๊ะจ่างน้ำด่าง (กีจ่าง) เป็นขนมหวานไม่มีไส้ ทำจากข้าวเหนียว เนื้อมีสีเหลืองใส ห่อด้วยใบไผ่ นิยมกินคู่กับน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลจาก (น้ำตาลที่ได้จากต้นจาก) หรือน้ำกะทิสด บ๊ะจ่างน้ำด่างนับวันจะหากินได้ยาก เพราะขาดคนทำเป็น และนิยมใช้ในช่วงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างเท่านั้น

นางเขียว รักสุไหอุเป วัย 73 ปี ชาวบ้านอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านขนมพื้นบ้าน เกรงว่าความรู้เรื่องการทำบ๊ะจ่างน้ำด่างจะสูญหาย เพราะขาดผู้สืบทอด จึงร่วมมือกับ นางสาวรอฮานี อาแวกาจิ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง เปิดหลักสูตรอบรมความรู้เรื่องการทำบ๊ะจ่างน้ำด่าง เพื่อสืบสานตำนานความอร่อยของ “บ๊ะจ่างน้ำด่าง” และสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้าน

สำหรับขั้นตอนการทำบ๊ะจ่างน้ำด่าง เริ่มจากเตรียมใบไผ่ป่า หรือใบไผ่ตง มาล้างทำความสะอาด นำข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาดและแช่น้ำไว้ประมาณ 3-5 ชั่วโมง หากใช้ข้าวเหนียวเก่าต้องแช่น้ำประมาณ 10 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวเหนียวมาพักไว้ให้หมาด นำผงด่าง หรือน้ำด่าง (จากการเผาเปลือกนุ่นหรือเปลือกทุเรียน) ผงกรอบ หรือน้ำประสานทองเล็กน้อย คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปห่อด้วยใบไผ่ ผูกด้วยเชือกเป็นพวง แล้วนำไปต้มในน้ำเดือดนานกว่า 4 ชั่วโมง ยกนำมาตั้งไว้ให้เย็น ก่อนนำบ๊ะจ่างน้ำด่างไปกินคู่กับน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลจาก

กศน. ส่งเสริมเลี้ยงเป็ดไข่ในสวนปาล์ม
แปรรูป “ไข่เค็มใบเตยหอม” ออกขาย ทำกำไร

ชาวบ้านคลองน้ำนิ่ง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ประสบปัญหาขาดแคลนรายได้ จากสภาวะราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จึงรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มเลี้ยงเป็ดไข่” เพื่อเลี้ยงเป็ดไข่กว่า 500 ตัว ในสวนปาล์ม โดยเก็บไข่สด ส่งขายและแปรรูปเป็นไข่เค็มใบเตยหอม

โดย นางจุฑาภรณ์ พงษ์ประวัติ ครู กศน. ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง แนะชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงเป็ดไข่ “ทำไข่เค็มใบเตยหอม มันไร้กลิ่นคาว” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม การทำบัญชีครัวเรือน การแปรรูปไข่เค็มใบเตยหอม รวมทั้งออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์

ในแต่ละวันเป็ดจะออกไข่ 400-450 ฟอง ส่งขายไข่ดิบ ราคาฟองละ 3.50 บาท แปรรูปเป็นไข่เค็มใบเตยหอม จะขายได้ในราคา ฟองละ 8 บาท ซึ่งไข่เค็มที่กลุ่มนำมาแปรรูปจะใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ขั้นตอนการทำ จะใช้ดินสอพอง 3 ส่วน เกลือ 1 ส่วน ใบเตยหอม 1 ส่วน และน้ำสะอาดพอสมควร นำทุกอย่างมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำมาพอกไข่เป็ดที่ล้างสะอาด พักไว้ 7 วัน ก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้นานาชนิด เช่น ไข่ดาว ยำไข่เค็ม ไส้ขนมต่างๆ
ข้อดี ของไข่เค็มใบเตยหอมจะได้ไข่เค็มที่หอม ลดกลิ่นคาว เนื้อไข่จะแดง กลม

ทั้งนี้ ดินสอพองจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาไข่เค็มอยู่ได้นานถึง 1 เดือน ปัจจุบันสินค้าของกลุ่มขายดี เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อจำนวนมาก ลูกค้านิยมซื้อไปบริโภคและเป็นของฝาก ทางกลุ่มจึงเร่งขยายกำลังการผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาด

กศน. ร่วมเผยแพร่ความรู้ การทำ “ขนมลา”
ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิมจังหวัดตรัง

“ขนมลา” เป็นขนมพื้นบ้านของภาคใต้ นิยมใช้ในงานบุญสำคัญทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ปัจจุบัน เยาวชนรุ่นใหม่ไม่รู้จักกับขนมลากันมากนัก นางสาวรอฮานี อาแวกาจิ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของขนมลา และต้องการสืบสานตำนานความอร่อยของขนมลาให้อยู่คู่กับภาคใต้ต่อไป จึงสนับสนุน ให้ ครูวริยา ไชยมล กศน. ตำบลตะเสะ เปิดกลุ่มผู้สนใจเพื่อพัฒนาอาชีพ “การทำขนมลา กินได้ ทำขายรวย”

นางสาวสุภาพร ไชยมล ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านขนมพื้นบ้าน ในพื้นที่ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมอาชีพการทำขนมลา สูตรโบราณ ที่ใช้วัตถุดิบน้อย ราคาถูก แต่ได้ปริมาณขนมเยอะ

การทำขนมลาสูตรโบราณ ผลิตจากวัตถุดิบ คือ แป้งข้าวเจ้า 1 กิโลกรัม แป้งมันสำปะหลัง 2.5 กรัม น้ำตาลทราย 6 กรัม และน้ำสะอาด 1 ถ้วย ขั้นตอนการทำเริ่มจากนำน้ำสะอาดเทผสมกับน้ำตาลทรายคนให้ละลาย แล้วเทแป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลังลงไปผสม จากนั้นนวดแป้งให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 40 นาที

จากนั้นนำแป้งที่หมักได้ที่แล้วมานวดอีกครั้ง จากนั้นก็นำแป้งใส่ในภาชนะที่ทำจากกะลามะพร้าว ที่เจาะรูที่ก้นกะลาเพื่อให้แป้งไหลผ่านได้ แล้วนำไปร่อนในน้ำมันที่ร้อนปานกลาง หลังจากนั้น ใช้ไม้ไผ่ขนาดเท่าไม้ตะเกียบ ยาว 1 ฟุต เคาะที่กะลาเพื่อให้แป้งไหลลงอย่างช้าๆ จะได้เส้นขนมลาที่สวยงาม ก่อนใช้ไม้ไผ่มาพับขนมลา แล้วยกไปพักเพื่อให้สะเด็ดน้ำมัน เป็นอันเสร็จสิ้น

นางสาวเบ็ญจพร แข็งแรง ครู กศน. กล่าวถึงที่มาของชื่อ “ขนมลา” ว่า ในอดีตชาวบ้านจะใช้กะลามะพร้าวมาเจาะรูเพื่อเป็นภาชนะในการใส่แป้ง จึงเชื่อกันว่า ชื่อ “ขนมลา” มาจาก คำว่า “กะลา” นั่นเอง

ปัจจุบัน ขนมลาที่ชาวบ้านผลิตขึ้น จะนำไปฝากขายที่ร้านค้าชุมชนในหมู่บ้าน และตลาดประชารัฐ จำหน่ายในราคา 2 ชิ้น 5 บาท เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากๆ ผู้สนใจเรื่องการทำขนมลา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ กศน. อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง

กศน. อบรมตลาดออนไลน์
ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชน

นางสาวพัทธยา พุฒด้วง ครู กศน. ตำบลปากแจ่ม สำรวจความต้องการด้านอาชีพของประชาชนในพื้นที่ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง พบว่า ประชาชนมีพื้นฐานความรู้ภูมิปัญญาในการจักสานของใช้จากวัสดุธรรมชาติ จึงเปิดอบรมอาชีพการถักเชือกป่าน เช่น ถักตะกร้า กระเป๋า หมวกปีก หลังจบหลักสูตร ชาวบ้านไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า

นางอุมาภรณ์ มโนภิรมย์ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอห้วยยอด สนับสนุนให้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยจัดสอนโครงการสร้างเครือข่ายดิจิทัลชุมชนระดับตำบล 2 หลักสูตร คือความเข้าใจดิจิทัล (Digital literacy) และหลักสูตรการค้าออนไลน์ (E-commerce) ชาวบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมมาได้เปิดเพจ facebook “ของดีสุดแจ่ม By ชาวปากแจ่ม ตรัง” ทำให้สินค้าชุมชนเป็นที่รู้จักของตลาดในวงกว้าง ลูกค้าสามารถเลือกลวดลาย สี ขนาด ได้ตามความต้องการ มีลูกค้าสั่งจองสินค้าล่วงหน้า และยอดขายสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังจาก กศน. อำเภอห้วยยอด ได้ส่งเสริมความรู้เรื่องระบบตลาดออนไลน์มาใช้กับกลุ่มถักเชือกป่าน ปรากฏว่า สามารถแก้ปัญหาด้านการตลาดได้เป็นอย่างดี ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสสร้างช่องทางการขายสินค้าและเพิ่มพูนรายได้ในชีวิตประจำวัน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

“กล้วยเล็บมือนาง” ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญและขึ้นชื่อของเกษตรกรจังหวัดชุมพร ดังคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก” จากคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่น พบว่า กล้วยเล็บมือนาง เป็นกล้วยท้องถิ่น อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดชุมพร มีรสชาติหอม หวาน อร่อยกว่ากล้วยเล็บมือนางที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เนื่องด้วยพันธุ์กล้วย สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ และจากการที่เกษตรกรในจังหวัดชุมพรจำนวนมากนิยมปลูกกล้วยเล็บมือนาง ทำให้ผลผลิตล้นตลาด จึงนำกล้วยเล็บมือนางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง กล้วยเล็บมือนางทอดกรอบ กล้วยเล็บมือนางอบเคลือบช็อกโกแล็ต และอื่นๆ ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดมา

สำหรับคุณค่าของ กล้วยเล็บมือนาง นั้นอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาท ช่วยควบคุมความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ร่วมกับฟอสฟอรัสในการนำออกซิเจนไปยังสมอง ช่วยปล่อยพลังงานออกมาจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน และการสร้างไกลโคเจน ไม่ว่าจะเป็นกล้วยสดหรือตากแห้งจะมีน้ำตาลธรรมชาติอยู่มาก ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้จะช่วยหมุนเวียนในกระแสโลหิตได้เร็ว เมื่อร่างกายเราได้รับก็สามารถนำไปใช้ได้ทันที

“ผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนาง” เป็นสินค้าประจำจังหวัดมาช้านาน สร้างรายได้และเป็นอาชีพเสริม ให้กับเกษตรกร เป็นการสร้างรายได้จากผลผลิตภายในท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยเล็บมือนางสามารถเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน มีคุณค่าทางอาหาร แถมราคาก็ไม่แพง เหมาะเป็นของฝากและของกินเล่นสำหรับคนต่างถิ่นได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนางของชุมพรเป็นที่รู้จักทั่วไปจนทุกวันนี้

เมื่อลงสู่ภาคใต้ ถึงศาลพ่อตาหินช้างที่เคารพสักการะของผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา จะได้ยินเสียงแตรรถยนต์ดังไม่ขาดสาย พอมองออกไปพบว่ามีแผงขายกล้วยเล็บมือนางเต็มสองข้างทาง มีทั้งเป็นเครือ เป็นหวี และที่แปรรูปแล้ว ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อว่าจะเลือกแบบไหนดี

กล้วยเล็บมือนางที่แปรรูปแล้วและยังไม่ได้แปรรูปเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชุมพร จึงทำให้เป็นที่รู้จักทั่วไปจนทุกวันนี้ ฉบับนี้ผู้เขียนขอแนะนำ ผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนางแปรรูป ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีเพื่อการแปรรูป ภายใต้ชื่อ “ภุมรินทร์” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในปี 2549 และได้โอท็อป ระดับ 4 ดาว

ภายใต้ผลิตภัณฑ์ “ภุมรินทร์” นั้นมาจากความขยันและอดทนของ “ปรานี ภุมรินทร์” ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2535 เคยเป็นลูกจ้างของกรมส่งเสริมการเกษตร เกิดความคิดอยากกลับมาอยู่บ้าน ในปี 2540 จึงย้ายกลับมาทำงานที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร จากนั้นลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้าน และเห็นว่ากล้วยเล็บมือนางในชุมพรนั้นมีมากและยังเป็นสินค้าประจำจังหวัดอีกด้วย จึงได้คิดเพิ่มเติมคุณค่ากล้วยเล็บมือนางโดยวิธีการแปรรูปขึ้น

เริ่มจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มีการจัดงานวันเกษตรขึ้น โดยทางสำนักงานฯ ให้เกษตรกรนำสินค้าการเกษตรทุกชนิดไปจำหน่ายได้ คุณปรานี ได้นำเอากล้วยน้ำว้าไปทอดขาย ปรากฏว่าขายดีมาก จึงเกิดความคิดว่า หากทอดกล้วยน้ำว้าก็ไม่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชุมพร จึงลองทอดกล้วยเล็บมือนางดู จากที่ไม่รู้เทคนิคและวิธีการทอดมาก่อน นำกล้วยมาทอดทั้งเปลือก ผลปรากฏว่า น้ำมันที่ทอดดำ หลังจากนั้น ก็ลองหาวิธีการทอดใหม่หลายวิธี โดยลองลอกเปลือกนอกออกก่อน แล้วค่อยนำกล้วยมาทอด สุดท้ายจึงประสบผลสำเร็จในที่สุด

ในการตลาดสำหรับการแปรรูปกล้วยเล็บมือนางทอดกรอบ คุณปรานี บอกว่า ใครๆ ก็สามารถทอดได้เหมือนกัน จึงคิดหาวิธีอบไล่น้ำมัน และลองให้คนทดลองชิมดูปรากฏว่า มีคนชอบ เพราะไม่อมน้ำมัน แถมยังเก็บไว้ได้นานหลายวัน สำหรับกล้วยทอดกรอบหรือกล้วยฉาบมี 2 รส คือรสหวานและรสเค็ม และมีการแต่งเติมรสชาติ เช่น เติมผงโอวัลติน พริกไทย และเพิ่มแคลเซียมโดยการเติมงาลงไปด้วย

จากกล้วยเล็บมือนางทอดกรอบ

เป็นกล้วยเล็บมือนางอบแห้ง

เมื่อกล้วยมีมากทอดไม่ทัน ทำให้กล้วยสุก เลยคิดหาวิธีแปรรูปเป็นกล้วยอบ (กล้วยสุก) ใช้วิธีตากแดด และใช้ถุงพลาสติกคลุมในหน้าฝน ซึ่งมีปัญหามาก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ จึงลงทุนไปซื้อตู้อบมา 1 ตู้ มาอบกล้วย จากประสบการณ์ในการทำงาน จึงเกิดการพัฒนามาเรื่อยๆ จนสามารถรู้เทคนิคและวิธีการต่างๆ สำหรับวิธีการตากกล้วยนั้น คุณปรานี บอกว่า จะใช้แผงไม้ไผ่ในการตากกล้วย เพราะความร้อนไม่สูงมาก หากใช้แผงเหล็กหรือสแตนเลสจะเกิดรอยกดทับลึก ทำให้กล้วยอบไม่สวย

สำหรับตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ภุมรินทร์” วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีเพื่อการแปรรูปนั้นจะจำหน่ายตามแหล่งต่างๆ โดยมีทั้งขายทั้งปลีกและขายส่ง หลายแห่ง อาทิ กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี นครปฐม และวางขายบนห้างสรรพสินค้าในจังหวัดชุมพร คือ ห้างโลตัสและบิ๊กซี สำหรับกลุ่มที่ตำบลวังไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพรนั้นจะมีการผลิตและจำหน่ายทุกวัน

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีเพื่อการแปรรูป “ภุมรินทร์” มีสมาชิกในกลุ่มรวม 18 คน ซึ่งจะเป็นสตรีสูงอายุในชุมชน ซึ่งภายในกลุ่มนั้นจะส่งเสริมให้สมาชิกทุกคนปลูกกล้วยไว้กินเองข้างบ้าน แล้วนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปหรือจำหน่าย โดยมีการประกันราคากล้วยไว้ที่ กิโลกรัมละ 4 บาท

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ “ภุมรินทร์” วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีเพื่อการแปรรูป มีสินค้าจำหน่ายเป็น กล้วยเล็บมือนางทอดกรอบ กล้วยหักมุกทอดกรอบ กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง (เคลือบช็อกโกแล็ต) กล้วยน้ำหว้าอบแห้ง ทุเรียนทอดกรอบ

จากความขยันหมั่นเพียร ทำให้ประสบผลสำเร็จเป็น ผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ภุมรินทร์” นั้น คุณปรานี บอกว่า ตนทำทุกอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำแต่น้อย ค่อยๆ เพิ่มไปเรื่อยๆ ใช้ความรอบคอบและมีความพอประมาณ โดยได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพเสมอมา ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ของ “ภุมรินทร์” นั้น ก็มาจากความขยันขันแข็งของคุณปรานีและสามี จึงทำให้ตัวเองประสบผลสำเร็จมาได้จนถึงทุกวันนี้

หากผู้ใดสนใจซื้อและเลือกชมผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ “ภุมรินทร์” สามารถมาเยี่ยมชมได้ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีเพื่อการแปรรูป 6/4 หมู่ที่ 2 ตำบลวังไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ 077-658-825, 087-265-1574 ได้ทุกวัน

แต่เดิม “อินทผลัม” มักรู้จักกันในรูปอบแห้งที่เดินทางมาจากตะวันออกกลางเพื่อนำมาวางขายตามห้างสรรพสินค้าชื่อดัง จึงมีราคาค่อนข้างแพง

ความเป็นไม้ผลที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกนิยมรับประทานในช่วงพิธีสำคัญทางศาสนา ขณะที่คนไทยเริ่มรู้จักและตื่นตัวเพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งพบว่าผลสดของอินทผลัมสามารถรับประทานได้โดยยังคงคุณค่าทางโภชนาการ

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า พื้นที่บางแห่งในประเทศไทยมีความเหมาะสมทางกายภาพต่อการปลูกอินทผลัมผลสด แล้วยังปลูกได้มีคุณภาพกว่าหลายพื้นที่ในแถบอาเซียน ดังนั้น จึงเกิดการตื่นตัวของชาวบ้านหันมาปลูกอินทผลัมกันเพราะมีราคาขายสูง

ปัจจุบัน สวนอินทผลัมหลายแห่งประสบความสำเร็จจากการขายผลสด จนทำให้เจ้าของสวนการันตีความอร่อยด้วยการเปิดให้ผู้สนใจเข้าถึงสวนแบบบุกถึงต้นชิมกันแบบสด พร้อมชูจุดเด่นเรื่องสายพันธุ์ การปลูก ดูแล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า มีความเป็นห่วงว่าในอนาคตไม้ผลอย่างอินทผลัมที่ปลูกกันเพิ่มขึ้น แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีทิศทางไปทางไหน ขณะที่กลุ่มผู้ปลูกบางแห่งซึ่งล้ำหน้าไปด้วยการนำอินทผลัมผลสดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภท เพื่อหาทางเจาะตลาดกลุ่มผู้รักสุขภาพให้มีการเลือก

คุณอนุรักษ์ บุญลือ เจ้าของสวนอินทผลัม “ไร่ประเสริฐสุข” เลขที่ 175 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นอีกรายในกลุ่มผู้บุกเบิกปลูกอินทผลัมทางด้านตะวันตกเมื่อกว่า 10 ปี ตลอดเวลาชายผู้นี้ได้ผ่านพบปัญหา/อุปสรรคมากมาย แต่ด้วยความเป็นคนทุ่มเท จริงจัง ค้นคว้าหาข้อมูลทุกแห่งอย่างไม่หยุด พร้อมกับลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองทั้งสำเร็จและล้มเหลว

จนกระทั่งสามารถฝ่าด่านความยากมายืนเป็นผู้สันทัดด้านอินทผลัมแถวหน้าได้สำเร็จ สามารถส่งผลผลิตขายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยังมีบทบาทสำคัญต่อการจัดตั้งกลุ่มปลูกอินทผลัมภาคตะวันตก (WDP) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ปลูกอินทผลัมหลายจังหวัดผลักดันธุรกิจขายอินทผลัมผลสดและแปรรูป

คุณอนุรักษ์เดินเข้าสู่วงการเกษตรกรรมเต็มตัว ด้วยการปลูกอินทผลัมในเชิงพาณิชย์เป็นหลักอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกับยังนำไม้ผลอื่นอย่างทับทิมอินเดียมาปลูกเพื่อหวังเป็นพืชเชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากนั้น ยังปลูกข้าว ปลูกอ้อย

ฉะนั้น ในฐานะผู้เป็นเจ้าของสวนอินทผลัม แล้วรู้จักไม้ผลชนิดนี้ทั้งการปลูกและการตลาดเป็นอย่างดี ทางทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านจึงได้เชิญคุณอนุรักษ์มาพูดคุยภาพรวมของตลาดอินทผลัมทั้งในตอนนี้และอนาคตให้แก่แฟนคลับเทคโนโลยีชาวบ้าน ในงานเสวนาสัญจร เมื่อวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ สวนอินทผลัมปรีชา นนทบุรี

เริ่มต้นปลูกแบบมีความรู้น้อย จนผิดพลาด เสียหายจำนวนมาก

คุณอนุรักษ์เรียนจบวิศวะเครื่องกลจากพระจอมเกล้าธนบุรี หลังจากนั้น ทำงานเป็นวิศวกรตามฝัน เข้าสู่วงการอินทผลัมเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา เหตุผลจูงใจที่ทำให้วิศวกรหนุ่มรายนี้มาชอบอินทผลัมเนื่องจากระหว่างทำงานมีโอกาสเดินทางหลากหลายประเทศ รวมถึงทางตะวันออกกลางแล้วได้มีโอกาสชิมอินทผลัมแห้งเกิดติดใจรสชาติ มีการหาทางนำมาปลูกในไทย กระทั่งมาพบอีกที่ทางภาคใต้ก็ซื้อมารับประทานอีกแล้วคิดว่าผลอินทผลัมนี้คงเดินทางมาจากมาเลเซีย

แต่เมื่อมาค้นข้อมูลการปลูกอินทผลัมในไทยกลับไม่พบเลย กระทั่งไปซื้อต้นพันธุ์ที่เชียงใหม่กับอีกส่วนหนึ่งหาซื้อจากทางอาหรับมาปลูกจนเกิดหน่อ จากนั้นจึงศึกษาหาความรู้มาเรื่อย รวมถึงยังเข้าไปติดตามการปลูกและรายละเอียดต่างๆ จากเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้ปลูกอินทผลัมทางตะวันออกกลาง เพราะตำราเอกสารของไทยมีน้อยมาก

การแสวงหาความรู้เรื่องอินทผลัมยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่ไหนปลูกในไทยก็จะเดินทางไปดู ไปเรียนรู้ ในคราวแรกที่ลงทุนปลูกเกิดความผิดพลาดจากการขาดความรู้ลึก เนื่องจากนำต้นพันธุ์สายพันธุ์กินผลแห้ง เพราะเป็นพันธุ์ที่ทางอาหรับปลูกกัน กระทั่งเมื่อมีผลผลิตร่วงหมด ทำให้ต้องขุดทิ้งเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพันธุ์ที่ปลูกในไทยไม่ได้ มีความชื้นสูง ต่างกับอาหรับ เหตุผลนี้ประเทศไทยจึงควรปลูกอินทผลัมแบบรับประทานผลสดมากกว่าผลแห้ง

หลายปีที่ผ่านมาชื่อเสียงของอินทผลัมได้เข้าสู่วงการบ้านเรามากขึ้น มีสวนหลายแห่งปลูกกันแบบลองผิด-ถูกมากมาย ขณะเดียวกัน หลายสวนก็เริ่มประสบความสำเร็จ แต่มีคำถามว่าปลูกอินทผลัมแล้วจะไปขายให้ใคร ขายที่ไหน คุณอนุรักษ์ชี้ว่าสำหรับความเห็นส่วนตัวถ้าคุณหาแหล่งขายไม่ได้แสดงว่าตลาดมีขนาดใหญ่มาก ทำไมถึงคิดเช่นนั้นก็เพราะถ้ามองตอนนี้ตลาดผู้ต้องการบริโภคอินทผลัมมี แต่สินค้าไม่มี นั่นแสดงว่ายังขาด

ก่อนอื่นต้องทราบว่าผู้บริโภคอินทผลัมหลักคือชาวมุสลิม จากข้อมูลค้นพบว่ามาเลเซียเป็นผู้นำเข้าอินทผลัมรายใหญ่อันดับต้นของโลก หรือเป็น 1 ใน 3 มาเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีแล้ว แล้วขายกระจายไปทั่วอาเซียน โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวก็มากเกินพอ ส่วนที่พม่ามีมุสลิมจำนวน 45 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชามีมากกว่าพม่า แล้วที่เวียดนามก็มีจำนวนมากเช่นกัน