เกษตรกรญี่ปุ่นก้าวสู่ยุค “สังคมผู้สูงวัย” ต้องใช้นวัตกรรมเครื่อง

จักรกลเป็นตัวช่วยนายริวจิ โอจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเกษตร คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรชาวญี่ปุ่น ก้าวเข้าสู่สังคม “ผู้สูงอายุ” เกษตรกรญี่ปุ่นมีอายุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ปี และจำนวนเกษตรกรยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมให้เกษตรกรญี่ปุ่นทำเกษตรกรรมแบบรวมกลุ่ม ในลักษณะ “นาแปลงใหญ่” ซึ่งจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเพาะปลูก และมีแนวโน้มการทำเกษตรที่เป็น Smart farm เพิ่มขึ้น

คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น ตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงได้คิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยในการบริหารจัดการฟาร์ม การแก้ปัญหาปริมาณและคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความปลอดภัยทางอาหาร ตลอดจนยังเป็นการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจเรื่องการทำเกษตรมากขึ้น

คูโบต้าญี่ปุ่น ได้คิดค้นระบบ KSAS (KUBOTA Smart Agri System) ขึ้นซึ่งเป็นระบบการจัดการเกษตรแบบทันสมัย ช่วยในเรื่องการวางแผน ปฏิบัติการ ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาระบบการทำการเกษตร ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรและ ICT ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ถึง 15% โดยยังคงรักษาคุณภาพได้ตามมาตรฐาน

“เทคโนโลยีไร้คนขับ” (Unmanned Agricultural Machinery) เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ เทคโนโลยีไร้คนขับ เป็นการใช้เทคโนโลยี “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things : ioT) และ หุ่นยนต์ (robot) ทำงานแทนมนุษย์ และสามารถตั้งลำดับแผนการทำงานก่อนหลังได้ จึงช่วยลดแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

“เทคโนโลยีที่น่าสนใจดังกล่าว กำลังถูกนำมาทดสอบในประเทศไทยเพื่อรองรับเกษตรแม่นยำ จะมีทั้งระบบ อากาศยานไร้คนขับ (Drone Remote Sensing) หรือเรียกสั้นๆ ว่า โดรน สำหรับใช้ในการวิเคราะห์การเจริญเติบโตของต้นพืช และการประยุกต์ใช้การสื่อสารไร้สาย ระบบ GPS+Wireless LAN ร่วมกับเทคโนโลยี NIR (Near Infrared) ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มาใช้ในการเก็บเกี่ยวและประเมินคุณภาพอ้อย ซึ่งในอนาคตคูโบต้า ประเทศญี่ปุ่น และสยามคูโบต้า จะร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีแม่นยำในประเทศไทย” นายริวจิ กล่าวเพิ่มเติม

เปิดตัว “นวัตกรรมเครื่องจักรกล” แห่งโลกอนาคต

งาน KUBOTA Showcase 2018 ได้รวบรวมเทคโนโลยีนวัตกรรมการทำเกษตรแม่นยำที่ล้ำสมัยจากคูโบต้า ประเทศญี่ปุ่น มาโชว์ในงานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้เปิดประสบการณ์เกษตรยุค 4.0 และสัมผัสนวัตกรรมการเกษตรล้ำสมัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Power of Agri-Innovation” พลังแห่งนวัตกรรมเกษตร ชมฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย

โซนนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะ

แทรกเตอร์คูโบต้าติดตั้งเครื่องหว่านปุ๋ยระบบ KSAS (KSAS Tractor SL60HCQMAEP) เป็นแทรกเตอร์ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์รับสัญญาณที่ใช้ร่วมกับระบบ KSAS โดยจะส่งแผนการหว่านปุ๋ยในที่กำหนดไว้ในนาแต่ละแปลงด้วยการเชื่อมต่อ KSAS Mobile ไปยังแทรกเตอร์ที่มีระบบ Wifi LAN จากนั้นแทรกเตอร์จะปรับความเร็วรถ และส่งสัญญาณไปยังเครื่องหว่านปุ๋ย เพื่อให้สามารถหว่านปุ๋ยได้ตรงตามปริมาณที่วางแผนไว้โดยอัตโนมัติ แม้จะกำหนดปริมาณปุ๋ยในแต่ละแปลงไม่เท่ากัน ก็สามารถหว่านได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

รถเกี่ยวนวดข้าวระบบ KSAS (Combine Harvester KSAS)
เป็นรถเกี่ยวนวดข้าวที่มาพร้อมกับเซ็นเซอร์วัดโปรตีน ความชื้น และปริมาณผลผลิตเกษตรกร จึงสามารถเก็บข้อมูลข้างต้นได้ในระหว่างทำการเกี่ยว ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังระบบบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ Kubota Smart Agi System (KSAS) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการการเพาะปลูกในรอบถัดไป (PDCA) ให้เหมาะสมแม่นยำเพื่อลดความสูญเปล่าในการทำงาน และเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตที่ได้

รถดำนาระบบ KSAS (KSAS Rice Transplanter)
เป็นรถดำนามาพร้อมกับอุปกรณ์รับสัญญาณที่ใช้ร่วมกับระบบ KSAS โดยการเชื่อมต่อ KSAS Mobile เข้ากับรถดำนา และส่งข้อมูลปริมาณปุ๋ยที่จะหยอดซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าในแต่ละแปลงไปยังรถดำนา ปริมาณปุ๋ยจะถูกปรับโดยชุดปรับปริมาณหยอดปุ๋ยอัตโนมัติ ทำให้สามารถหยอดปุ๋ยได้ตามแผนอย่างแม่นยำในทุกๆ แปลง เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มปริมาณผลผลิต และช่วยลดต้นทุนในการผลิต

โดรนระบบไฮบริดเพื่อการเกษตร (Hybrid drone : Ishikawa Energy Research)
โดรนระบบไฮบริดเพื่อการเกษตร ทำงานเบาแรง ประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยในการใช้งานเป็นโดรนที่มีระยะเวลาการบิน (Flight Time) ยาวนานต่อเนื่องที่สุดในโลกกว่า 60 นาที ด้วยเทคโนโลยี hybrid ที่ใช้แบตเตอรี่ Lithuim polymer ร่วมกับเครื่องสั่นสะเทือนต่ำ ขนาด 350 cc. ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ ระยะการฉีดพ่น 4 เมตร โครงสร้างแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา ทำจากแมกนีเซียม มอเตอร์มีคุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น ใช้งานง่าย ปีกสามารถพับเก็บได้ สะดวกสบายในการเคลื่อนย้าย

โซนเกษตรครบวงจร (ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ผัก) ภายใต้แนวคิด “ทำเกษตรรายได้สูง” (KUBOTA (Agri) Solutions and Max Revenue Farming Concept)

โซนมันสำปะหลัง : จัดแสดงในแนวคิด “ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพมันสำปะหลัง”
มีสินค้าไฮไลต์คือ เครื่องขุดมันสำปะหลัง สามารถขุดมันได้สะอาด ช่วยลดต้นทุนกระบวนการขุดมันได้มากกว่าการขุดมันแบบเดิม

โซนอ้อย : จัดแสดงในแนวคิด “ตัดอ้อยสด รายได้เพิ่ม”
มีสินค้าไฮไลต์คือ รถตัดอ้อย แทรกเตอร์ รุ่น M ติดตั้งเครื่องตัดอ้อยด้านข้าง และแทรกเตอร์ รุ่น B ติดตั้งเครื่องสางใบอ้อย รวมถึงจัดแสดงข้อมูลการเตรียมแปลงให้เหมาะกับรถตัดอ้อยและการขนส่งโลจิสติกส์

โซนข้าว : จัดแสดงในคอนเซ็ปต์ “เกษตรรายได้สูง”
ไฮไลต์ในโซนนี้คือ การหยอดน้ำตม การหยอดข้าวแห้ง การปักดำ ทำให้ช่วยลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว รวมถึงจัดแสดงโรงสีข้าวขนาดเล็ก สำหรับเกษตรรายได้สูง (Max. Revenue) ไฮไลต์คือ การใช้โรตารี่ยกร่องปลูกผัก และเครื่องปลูกผัก นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดของการขุดบ่อน้ำที่ใช้สำหรับการทำเกษตรรายได้สูงและเครื่องตรวจความหวานของผลไม้อีกด้วย

เครื่องสีข้าวหยอดเหรียญ (Rice mills K-CR515CS)
สำหรับพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ความสดใหม่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพและรสชาติดี เครื่องสีข้าวหยอดเหรียญ จึงเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และมีประจำอยู่ในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้นำข้าวมาสีเพื่อนำไปบริโภคแบบสดใหม่ในเวลาที่ต้องการได้ตลอดเวลา นี่คือหนึ่งในวิธีการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการบริโภคอาหารที่ดีตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น

เครื่องปลูกผักกึ่งอัตโนมัติแบบนั่งขับ (Vegetable Planter)
เครื่องปลูกผักกึ่งอัตโนมัติแบบนั่งขับ เป็นเครื่องจักรที่ใช้สำหรับปลูกผักได้หลากหลายชนิด เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว ซึ่งจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกร ลดความเมื่อยล้าในการทำงานจากการนั่งขับ เครื่องปลูกผักกึ่งอัตโนมัติแบบนั่งขับสามารถปลูกได้พร้อมกันทีละ 2 แถว ปรับระยะห่างระหว่างแถวได้ตั้งแต่ 30-60 cm. และระยะห่างระหว่างกอได้ตั้งแต่ 23-70 cm. จึงรองรับความต้องการที่หลากหลายในการปลูกผักของเกษตรกรนั่นเอง

ทั้งนี้ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เตรียมจัดงาน KUBOTA Showcase 2018 ใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2561 และภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2561 โดยผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

มกอช.รุกพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ครบวงจร หนุนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดันแปลงใหญ่ ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มเลี้ยงกระบือเพิ่มขีดความสามารถสินค้าเกษตรปศุสัตว์ พร้อมเตรียมผลักดันมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงควบคุมระบบการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระบือนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย มีช่องทางการตลาด แต่เกษตรกรที่เลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อย หากได้รับการพัฒนาการจัดการฟาร์มให้ดี โดยเพิ่มองค์ความรู้ด้านระบบการผลิต การเลี้ยง และการจัดการฟาร์ม เช่น การเตรียมพืชอาหารสัตว์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การผสมพันธุ์สัตว์/การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ และการป้องกันโรค ก็จะสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการค้าได้มากขึ้น

จากความสำคัญดังกล่าว มกอช.จึงแผนที่จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มกระบือเนื้อ และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น เพื่อเป็นมาตรฐานที่จะช่วยควบคุมระบบการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มรวมกับองค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง องค์ประกอบของฟาร์ม การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล เพื่อให้ได้กระบือเนื้อที่มีสุขภาพดี และเหมาะสมในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยโดยนำข้อคิดเห็นต่างๆ

มาปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเนื้อกระบือ รวมถึงน้ำนมกระบือและผลิตภัณฑ์ ให้มีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการค้าได้มากขึ้น สิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การกำหนดเกณฑ์การควบคุมระบบการผลิต ให้เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ เพื่อใช้อ้างอิงในการค้าขาย เลขาธิการกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการจัดทำแปลงการเกษตรขนาดใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มกันเลี้ยงกระบือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรปศุสัตว์ได้มีคุณภาพอย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มกระบือแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 28 แปลง

โดยปัจจุบันมีการเลี้ยงกระบือ ราว 1 ล้านตัว จากเกษตรกรกว่า 2 แสนราย ซึ่งจำนวนกระบือเพิ่มขึ้นกว่าปี 2558 ประมาณ 1 แสนตัว และมีปริมาณการส่งออกกระบือและผลิตภัณฑ์กว่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งนอกจากกระบือเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแล้วยังเป็นสัตว์ที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ควบคู่กันไปด้วย

พบ “กิจกรรม และเทคนิคดูแลสวนลำไย” ให้ได้ผลผลิตสูงด้วยปุ๋ยยารา ปุ๋ยคุณภาพสูงจากประเทศนอร์เวย์ และชมการสัมภาษณ์สด “นายมงคล หมื่นอภัย” เกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกลำไยมากว่า 20 ปี และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องลำไยยารา ติดตามได้ทางเฟซบุ๊กเทคโนโลยีชาวบ้าน ในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2561 นี้ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

คุณประเทือง มานะกุล อยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ที่ 3 ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ก็ได้ริเริ่มเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยเพื่อเป็นงานสร้างรายได้ให้กับเขาด้วยเช่นกัน โดยเน้นการเลี้ยงแบบให้มีต้นทุนต่ำ จึงทำให้เมื่อเกิดสภาวะราคาตกลงที่ฟาร์มของคุณประเทืองก็ยังคงสภาพการเลี้ยงที่สร้างกำไรอยู่ได้

คุณประเทือง เล่าถึงเรื่องการเลี้ยงว่า ปลาดุกบิ๊กอุยเมื่อเทียบกับปลาบางชนิด ราคาที่จำหน่ายอาจไม่ได้สูงมากอย่างที่คิด ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด โดยสิ่งที่ควรควบคุมคือเรื่องของต้นทุนอาหาร ถ้ามีการจัดการที่ดี ก็จะทำให้ได้ผลกำไรจากการเลี้ยงอย่างแน่นอน

โดยขั้นตอนของการเตรียมบ่อนั้น คุณประเทือง บอกว่า จะใช้ปูนขาวหว่านให้ทั่วบริเวณก้นบ่อ จากนั้นใส่ขี้วัวลงไปในบ่อด้วย ถ้าหากเป็นบ่อเก่าไม่จำเป็นต้องใส่ขี้วัวเพิ่มลงไป โดยบ่อที่ใช้เลี้ยงจะมีขนาด 1 ไร่ ความลึกอยู่ที่ 2-4 เมตร ปล่อยปลาดุกบิ๊กอุยเลี้ยงอยู่ที่ 150,000 ตัว ต่อบ่อ

“ช่วงแรกที่เลี้ยงจะให้อาหารกบกินก่อน เป็นอาหารเม็ดเล็กที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 เพราะลูกปลาที่อยู่ในบ่อจะเป็นลูกปลาไซซ์ 3-4 นิ้ว ตัวยังไม่ใหญ่มาก ในช่วงนี้ก็จะเติมน้ำลงไปแบบพอดี ไม่ต้องใส่ให้เต็ม ให้กินอยู่ประมาณนี้ 5-6 วัน ก็จะเปลี่ยนอาหารเป็นพวกไก่บด ที่มีส่วนผสมของกระดูกแข้งไก่ แป้งสาลี เศษขนมปัง บดให้เข้ากัน ให้กินมื้อเดียวต่อวันในช่วงเย็น แบบนี้ทุกวันจนกว่าปลาจะได้ไซซ์ขนาดที่ขายได้ ส่วนน้ำก็ค่อยๆ เติมลงไป โดยดูขนาดไซซ์ของปลาว่าใหญ่มากขึ้นเท่าไร” คุณประเทือง บอก

ในเรื่องของโรคที่เกิดจากการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยนั้น คุณประเทือง บอกว่า ยังไม่พบปัญหาในเรื่องนี้ถึงขั้นทำให้เสียหาย เพราะการเลี้ยงใหม่ทุกครั้งจะเปลี่ยนน้ำใหม่ใส่ลงไปภายในบ่อ พร้อมกับมีการเตรียมบ่อที่ดี จึงเป็นการช่วยลดปัญหาในเรื่องของการสะสมโรคได้ เพราะฉะนั้นน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จได้ดี

ซึ่งระยะเวลาการเลี้ยงจนกว่าจะจับจำหน่าย ใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 4-5 เดือน ก็ส่งให้กับผู้ที่มารับซื้อ โดยขนาดไซซ์ของปลาก็จะมีแตกต่างกันออกไป ทำให้ราคาของการทำตลาดหลากหลายราคาตามไปด้วย

ในเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายปลาดุกบิ๊กอุยนั้น คุณประเทือง บอกว่า ไม่มีความหนักใจมากนัก เพราะจะมีพ่อค้ามาติดต่อรับซื้อถึงที่บ่อกันเลยทีเดียว โดยช่วงที่ตลาดมีความต้องการปลามากจะใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน แต่ถ้าช่วงตลาดชะลอตัว ก็จะลากการเลี้ยงยาวไปถึง 5 เดือน

โดยราคาจะมีขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด แต่สำหรับฟาร์มเลี้ยงของคุณประเทืองนั้น ไม่กังวลในเรื่องของการปรับตัวขึ้นลงของราคา เพราะได้เลี้ยงแบบประหยัดต้นทุนเตรียมไว้ จึงทำให้ถึงแม้ช่วงที่ราคาตลาดปรับตัวลดลงก็ยังสามารถสร้างกำไรได้เป็นอย่างดี

“ต้นทุนการผลิตฟาร์มผมอยู่ที่ 16 บาท ช่วงที่ราคาปลาลงมาอยู่ที่ 20 บาท ต่อกิโลกรัม เราก็ยังพอมีกำไร ซึ่งการหาอาหารให้ปลากิน เราก็จะพยายามไปรับเอง นำมาบดผสมเอง ก็จะยิ่งช่วยทำให้ต้นทุนที่ถูกลงได้มากขึ้น และที่สำคัญการทำตลาดที่ดี จะต้องเลี้ยงให้ปลามีส่งขายต่อเนื่อง ซึ่งที่ฟาร์มจะจับขายเดือนละ 2 บ่อ เพราะวางแผนการเลี้ยงให้มีปลาหมุนเวียนได้ตลอด ทุกครั้งเวลาที่ตลาดมีความต้องการ แล้วเราสามารถทำเรื่องตลาดได้ ก็จะช่วยให้ตลาดไม่หายและเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกันไปได้นาน” คุณประเทือง บอกถึงหลักการตลาด

ซึ่งราคาจำหน่ายปลาดุกบิ๊กอุย แบ่งออกไปตามขนาดไซซ์ โดยไซซ์จัมโบ้ ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 22 บาท ไซซ์ขนาดสำหรับย่างเค็ม อยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท และไซซ์ขนาดที่ลดลงไปกว่า 2 ไซซ์ข้างต้น จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท โดยบ่อขนาด 1 ไร่ ที่ปล่อยปลาดุกบิ๊กอุยอยู่ 150,000 ตัว สามารถจับปลาจำหน่ายได้เฉลี่ย 40-45 ตัน ต่อบ่อ

จากความสำเร็จของการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย คุณประเทือง เล่าว่า เกิดจากการวางแผนในทุกด้านให้รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของลูกพันธุ์ปลา ตลาด ไปจนถึงเรื่องการทำต้นทุนอาหารให้ถูกลง และสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่แพ้กันคือ เรื่องของคุณภาพน้ำ ที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ปลาเจริญเติบโตได้ดีและปราศจากโรค

“การที่จะประกอบอาชีพทางด้านนี้ อยากจะบอกว่าให้จัดการเรื่องของเงินทุนให้ดี คือเวลาขยับขยายพยายามใช้เงินเราเอง อย่าเน้นกู้ยืมมาลงทุน เพราะจะทำให้เสี่ยง และลำดับรองลงมาคือ เรื่องการเลี้ยง ควรรู้วิธีการเลี้ยง ศึกษาจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จให้มากๆ เพราะความรู้เหล่านั้นจะช่วยให้เราผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ต่อไปประสบการณ์ของการเลี้ยงจะช่วยสอนเอง ส่วนแหล่งซื้อลูกพันธุ์ปลาต้องเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ ขายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพให้เรา และที่สำคัญสุดท้ายคือ เรื่องอาหารและน้ำ เราต้องมีให้ปลาอยู่เสมอ เพราะน้ำกับอาหารเป็นสิ่งที่ปลาขาดไม่ได้ ยิ่งอาหารดี น้ำดี การเลี้ยงก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น” คุณประเทือง กล่าวแนะนำ

สำหรับท่านใดที่สนใจการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยแบบประหยัดต้นทุน และสนใจที่อยากจะศึกษาวิธีการเลี้ยงในขั้นตอนต่างๆ คุณประเทือง บอกว่า ยินดีให้คำปรึกษา ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณประเทือง มานะกุล หมายเลขโทรศัพท์ (081) 365–0634

ในช่วงนี้มีฝนตกชุกและมีความชื้นสัมพัทธ์สูง กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกเฝ้าระวังการระบาดของโรคราขนแมว สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพริก มักพบที่ยอดอ่อนและกิ่งอ่อน โดยแสดงอาการมีแผลช้ำฉ่ำน้ำ และแผลจะขยายลุกลามลงมาตามกิ่งอย่างรวดเร็ว ทำให้กิ่งแห้งหักพับ หากต้นพริกแสดงอาการรุนแรง ใบและดอกพริกจะร่วงจนเหลือแต่ก้าน และต้นพริกจะไม่มีการแตกยอดใหม่

ส่วนที่ผลอ่อนจะเกิดอาการช้ำฉ่ำน้ำ เน่า และหลุดร่วงได้ง่าย กรณีที่ในอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นก้านใสของเชื้อราชูสปอร์คล้ายขนแมวขึ้นมาจากส่วนของพืชที่เป็นโรค ส่วนปลายของก้านใสที่เป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราจะเห็นกลุ่มสปอร์เป็นตุ่มสีดำ สปอร์เชื้อราสาเหตุโรคสามารถปลิวแพร่ระบาดไปสู่พริกต้นอื่นได้โดยง่าย เนื่องจากอาศัยติดไปกับสิ่งที่เข้าไปสัมผัส อาทิ น้ำ ลม ฝน น้ำค้าง และแมลง ทำให้เกิดการระบาดรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกพริกอย่างสม่ำเสมอ และควรปรับระยะปลูกพริกไม่ให้แน่นจนเกินไป เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก และมีอากาศถ่ายเทสะดวก ในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูงและร้อนอบอ้าว หากเริ่มพบต้นพริกแสดงอาการยอดช้ำ หรือสังเกตเห็นยอดพริกมีเชื้อราเกิดขึ้น ให้เกษตรกรรีบตัดส่วนที่เป็นโรคใส่ถุงหรือภาชนะปิดตั้งแต่ในแปลงปลูก หรือหากพบต้นที่แสดงอาการของโรครุนแรง ให้รีบถอนต้นพริกและเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสปอร์เชื้อราสาเหตุโรค จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดโคลแรน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรโฟรีน 19% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5 วัน กรณีพบการระบาดของโรค ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย จัดประชุมผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้แทนจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้าหารือร่วมกันในเรื่องสถานการณ์ยางพารา ราคายาง รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ. กยท. พ.ศ. 2558 เพื่อหวังนำไปใช้ในการพัฒนายางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ ห้องประชุมสถลสถานพิทักษ์ ชั้น 6 การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การประชุมผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ กยท. และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางหารือร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาราคายางในปัจจุบัน โดย กยท. เห็นความสำคัญในเรื่องตลาดยางพารา จึงมีแผนในการพัฒนาตลาดกลางยางพารา เพื่อรับซื้อยางของเกษตรกรในทุกพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ กยท. มีตลาดกลางยางพารา 6 แห่ง ได้แก่ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบุรีรัมย์

โดย กยท. จะจัดตั้งตลาดกลางเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง และจังหวัดเชียงราย เพื่อรองรับตลาดให้ครอบคลุมและทั่วถึงในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ยังมี เป้าหมายให้ยางพาราในแต่ละพื้นที่มีการซื้อขายผ่านตลาดกลางเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% แต่สิ่งสำคัญคือ ยางที่เกษตรกรนำมาขายต้องได้มาตรฐานตามที่ตลาดกลางยางพารากำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นและพัฒนาเกษตรกรในการทำยางที่ได้คุณภาพที่ตลาดต้องการ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะทำให้เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรสามารถซื้อขายยางได้ในพื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น ลดต้นทุนการขนส่ง และสามารถซื้อขายยางได้ในราคาที่เป็นธรรม

รักษาการ ผู้ว่าการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่าควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. โดยให้เครือข่ายเกษตรกร ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะการเข้าถึงกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(2)-(6) จะนำมาพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาวงการยางพาราทั้งระบบได้อย่างแท้จริงและ มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เกษตรกรได้เสนอแนะว่า ปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนยางได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลผลิตในการขายยางจากเดิมที่ทำยางแผ่นดิบ หรือยางแผ่นรมควันมาเป็นน้ำยางสด หรือยางก้อนถ้วยออกมาขายในตลาดแทน จึงต้องการให้ กยท. พิจาณาและวิเคราะห์หาสัดส่วนระหว่างยางแผ่น และน้ำยางที่ออกสู่ตลาด เพื่อวางแผนด้านการตลาด พร้อมกันนี้เกษตรกรขอให้ กยท. ร่วมผลักดันการใช้ยางในประเทศ เช่น การนำยางมาใช้ทำถนนยาง หรือการนำยางในสต๊อกเก่ามาแปรรูป เช่น ทำหมวกกันฝนให้หน้ายาง เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางยังพร้อมที่จะสนับสนุน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ในการทำงาน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหายางพาราให้ชาวสวนยางต่อไป