เกษตรกรน่าน ทำสวนโกโก้ แบบครบวงจร ผลผลิตดีมีคุณภาพ

สร้างรายได้หลากหลาย “เหตุที่เรานำ โกโก้ มาปลูก เพราะเป็นคนที่ชอบทานช็อกโกแลต เราก็จะศึกษามาตลอดว่า ช็อกโกแลต เกิดมาจากอะไร ทุกครั้งที่ได้ทานช็อกโกแลตก็จะเกิดความหลงใหลตลอด ต่อมามีโอกาสได้กลับมาอยู่บ้านเกิด เราก็มองว่าชีวิตที่ได้ไปทำงานไกลบ้าน ก็ค่อนข้างที่จะเหนื่อย ทีนี้เราอยากกลับมาอยู่บ้าน ใกล้ชิดครอบครัวแบบที่มีความสุข เลยมองหาอาชีพที่ทำแล้วเลี้ยงตัวเองได้ จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นให้นำต้นโกโก้มาปลูกแซมในไม้ผลที่มีอยู่ จนสามารถเกิดรายได้แบบครบวงจร” คุณมนูญ กล่าว

คุณมนูญ ทนะวัง เจ้าของสวนโกโก้ ตั้งอยู่ เลขที่ 141 หมู่ที่ 4 ตำบลสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้นำโกโก้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ไอเอ็ม 1 พันธุ์เอิร์ทเซฟ เนวี 1 และพันธุ์ชุมพร มาทดลองปลูกภายในสวนจนประสบผลสำเร็จ สามารถเก็บผลผลิตนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็นรายได้ให้กับคุณมนูญได้เป็นอย่างดี

ความชื่นชอบ นำมาซึ่งความสำเร็จ

คุณมนูญ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนทำงานบริษัทเอกชน แต่รู้สึกว่าการทำงานยังไม่มีความสุขตรงกับที่ใจชอบ จึงได้ย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดน่าน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของคุณมนูญมีสวนไม้ผลที่ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้มานานแล้ว เมื่อมีโอกาสได้กลับมาอยู่บ้าน จึงมองหางานที่สามารถทำควบคู่ไปกับสวนไม้ผลของครอบครัว โดยประยุกต์เข้าด้วยกัน แต่มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ จึงได้เริ่มลงมือทำสวนโกโก้ ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่เขาชื่นชอบ

“พอคิดว่าต้องกลับมาอยู่บ้านแน่ๆ สิ่งที่ต้องยึดเป็นอาชีพ ก็มองเลยว่าเรารักเราชอบอะไร เพราะสิ่งที่เราชอบมันจะส่งผลให้ทำสิ่งนั้นออกมาได้ดี ก็เลยมองว่าเราชอบทานช็อกโกแลต หากได้ทำสวนโกโก้ สิ่งนี้ก็น่าจะอยู่กับเราไปได้นาน ในช่วงที่เราต้องมาอยู่บ้านเกิดอย่างเต็มตัว เพราะงานสวนที่บ้านก็มีความชำนาญ ส่วนต้นโกโก้ก็มีความชอบส่วนตัว ดังนั้น ถ้านำมาปลูกและสามารถมีผลผลิตได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะทำออกมาได้ดี เพื่อเป็นอาชีพในระยะยาว” คุณมนูญ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในสายงานทางการเกษตร

โดยการทำสวนโกโก้ในครั้งนี้ คุณมนูญ บอกว่า ได้เลือกใช้ความสุขเป็นที่ตั้งมาทำในสิ่งที่รัก และใช้ความชำนาญของครอบครัวในการปลูกไม้ผลมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ต้นโกโก้ที่นำมาปลูกทั้งหมดเจริญเติบโตและให้ผลผลิตออกมาให้เก็บได้ตลอดทั้งปี

ปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี

เนื่องจาก โกโก้ เป็นไม้ที่มีความน่าสนใจและชอบอยู่เป็นทุนเดิม คุณมนูญ บอกว่า จึงได้นำทั้ง 3 สายพันธุ์ มาปลูกภายในสวน โดยจะแบ่งเป็นโซนของสายพันธุ์นั้นๆ แยกกันอย่างชัดเจน ไม่นำมาผสมภายในแปลงเดียวกัน ใช้ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป มาปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ 3×3 เมตร รองก้นหลุมด้วยเศษหญ้าและปุ๋ยคอก

“โกโก้นี่ถือว่าเป็นพืชที่ต้องการน้ำ เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่จะปลูกควรเป็นพื้นที่ที่มีน้ำอย่างเพียงพอ อย่างที่สวนของผมหลังปลูกแล้ว ก็จะดูแลรดน้ำ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ ก็ไม่ต้องรดน้ำดูแลอะไรมาก ส่วนการใส่ปุ๋ยคอกในช่วงนี้ก็จะใส่เดือนละ 1 ครั้ง ดูตามความเหมาะสม ใช้เวลาดูแลก็ประมาณ 2 ปีครึ่ง โกโก้ก็จะเริ่มโตเต็มที่และให้ผลผลิตได้ แต่จะให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ต้องสัก 3 ปีขึ้นไป” คุณมนูญ บอก

ในเรื่องการตัดแต่งกิ่งต้นโกโก้ คุณมนูญ บอกว่า จะทำปีละ 1 ครั้ง ในช่วงหลังฤดูฝนหมด เพราะช่วงนั้นใบจะมีมาก จึงต้องตัดแต่งออก เพื่อให้ใบที่อยู่บนต้นบางลง ส่วนเรื่องของแมลงศัตรูพืชและโรคที่เกิดขึ้นกับโกโก้จะเป็น เพลี้ยแป้ง ที่ต้องระวังมากที่สุด จะเข้าทำลายยอดให้เกิดความเสียหาย

เมื่อโกโก้ได้อายุที่เจริญเติบโตเต็มที่จะให้ผลผลิตเก็บได้ตลอดทั้งปี โดยไม่มีการออกตามฤดูกาลเหมือนไม้ผลบางชนิด แต่ในช่วงฤดูฝนผลผลิตจะน้อยกว่าฤดูอื่นๆ เพราะน้ำฝนที่ตกมากระทบดอกจะทำให้ดอกหลุดร่วงออกไป

“โกโก้นี่ถือว่าออกดอกเยอะมาก จึงทำให้แต่ละต้นมีผลติดเยอะ ช่วงที่ดอกออกผมก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ใส่ปุ๋ยคอก บำรุงเพียงอย่างเดียว ไม่มีการฉีดพ่นฮอร์โมนหรือยาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราเน้นปลูกแบบธรรมชาติ ดอกที่สมบูรณ์ก็จะติดผลเอง ผลยังไม่ทันแก่ก็จะมีดอกออกมาพร้อมให้ผลใหม่อยู่ตลอด พอเห็นมีผลแก่เราก็เตรียมเก็บและนำมาสู่กระบวนการแปรรูปต่อไป เพื่อสร้างเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์จำหน่ายต่อไป” คุณมนูญ บอก

โกโก้ แปรรูปเป็นสินค้าได้หลากหลาย

คุณมนูญ เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลโกโก้มาผ่านกระบวนการต่างๆ ว่า เมื่อเห็นผลโกโก้ที่อยู่บนต้นสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว จะนำผลโกโก้มาแกะเปลือกออกและนำเนื้อที่อยู่ด้านในมาหมักในภาชนะที่เตรียมไว้ เมื่อหมักจนได้ที่ เห็นสีของเนื้อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะนำออกมาตากแดด เมื่อผ่านการตากจนเห็นสีมีการเปลี่ยนแปลง จึงนำมาผ่านการคั่ว เพื่อให้โกโก้มีกลิ่นหอมมากขึ้นและลดความชื้นลงไปด้วยในตัว

“สวนของเราจะผลิตเป็นดาร์กช็อกโกแลตเลย จะไม่มีการแยกไขมันของโกโก้ออก โดยการแยกจะเอาส่วนที่เป็นเปลือกออกเท่านั้น ในเนื้อดาร์กช็อกโกแลตของเราก็จะมีทั้งไขมันดีและกากอยู่ด้วยกัน ไขมันบางส่วนที่มีอยู่ในดาร์กช็อกโกแลต เราก็จะมีการดึงออกมาด้วย เพื่อนำไปใช้ทำเครื่องสำอาง แต่ที่เราเห็นเป็นผงโกโก้ทั่วไปที่ชงนั้น คือการดึงไขมันออกไปจากกากแล้ว แล้วนำกากที่ได้จากการดึงไขมันออกนั้น มาทำให้เป็นผงโกโก้สำหรับชงเป็นเครื่องดื่ม” คุณมนูญ บอก

ซึ่งราคาดาร์กช็อกโกแลตที่ผ่านการแยกสิ่งเจือปนออกหมดแล้ว จำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 700-1,000 บาท และยังมีการนำวัตถุดิบที่ได้มาทำเป็นขนม เครื่องดื่ม พร้อมกับผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทสบู่ที่มีไขมันดีจากโกโก้เป็นส่วนผสม โดยราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบที่ทำ มีราคาตั้งแต่ก้อนละหลักสิบไปจนถึงหลักร้อยบาท

จากวันที่ได้เริ่มทำสวนโกโก้พร้อมกับนำมาแปรรูปจนครบวงจรจนถึงวันนี้ คุณมนูญ บอกว่า ก็มีสิ่งที่ท้าทายอยู่ตลอดเพราะอย่างช็อกโกแลตต่างๆ เป็นสินค้าที่ทำจากวัตถุดิบที่ดี ในเรื่องของราคาลูกค้าอาจจะมองว่าแพงกว่าทั่วไปเล็กน้อย แต่เมื่อได้มาลองชิมและสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ของสวน ต่างก็เชื่อมั่นและวางใจได้ว่าสินค้าทุกชิ้นหรือรายการขนมเครื่องดื่มต่างๆ ได้คัดสรรทุกอย่างเป็นของดีเหมาะสมกับราคา

เรียนคุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ปีนี้ราคาทุเรียนค่อนข้างแพง มีข่าวว่า มีชาวจีนมากว้านซื้อกลับไปยังประเทศของตนเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และขณะเดียวกันมีชาวบ้านเตรียมขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ จึงเกรงว่าอนาคตทุเรียนไทยอาจล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำเหมือนพืชเกษตรอื่นๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ผมจึงขอเรียนถามความเห็นจากหมอเกษตรว่า มีโอกาสจะเกิดวิกฤตราคาหรือไม่ประการใด แล้วผมจะคอยติดตามอ่านคอลัมน์หมอเกษตรนะครับ

ตอบ คุณวรวิทย์ วุฒิโกมลศักดิ์

ตามสถิติ ปี พ.ศ. 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียน ประมาณ 6 แสนไร่ ขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้ทั้งหมดอยู่ระหว่าง 5-6 แสนตัน โดยเฉลี่ย 1 ตัน ต่อไร่ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ภาคตะวันออก แหล่งผลิตอยู่ที่ปราจีนบุรี ภาคเหนือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ศรีสะเกษ สำหรับพื้นที่ปลูกใหม่อยู่ที่สุโขทัย แพร่ พิษณุโลก นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ดังนั้น คาดว่า 5 ปีข้างหน้า พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่คาดว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งนี้ แหล่งปลูกทุเรียนยังมีข้อจำกัดคือ ต้องปลูกในแหล่งที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น บริเวณชายแม่น้ำเป็นตัวอย่าง หากสมมติว่า พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 3 หมื่นไร่ ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้น 3 หมื่นตัน ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้น 3 หมื่นตัน ปริมาณดังกล่าวจีนประเทศเดียวก็สามารถรองรับได้ แต่ไทยเราต้องจับตามองว่า อนาคตจีนเริ่มผลิตทุเรียนเองที่เกาะไหหลำ ภาคใต้ของมณฑลกวางเจา และสิบสองปันนา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10-12 ปีขึ้นไป ถึงเวลานั้นเมื่อนำปริมาณทุเรียนของไทยที่เพิ่มขึ้นผนวกกับปริมาณทุเรียนที่จีนผลิตได้เอง ถึงจุดนั้นราคาทุเรียนไทยก็คงจะไม่ร้อนแรงเหมือนปัจจุบัน หากจีนไม่พัฒนาตัวเอง แต่อาจจะไปลงทุนในลาวและเขมร เวียดนามเองก็คงเร่งพัฒนาการผลิตทุเรียนเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องจับตาประเทศเพื่อนบ้านของเราไปพร้อมๆ กันครับ

พื้นที่ หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยหอม อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนใหญ่เกษตรกรใช้พื้นที่ทำการเกษตรในรูปแบบของไร่มะขามเทศ ไร่อ้อย และท้องนา อีกจำนวนหนึ่งปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตร เนื่องจากระบบชลประทานเข้าไม่ถึง จำนวนมากต้องขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับพืชไร่และพืชสวน ส่วนที่นา อาศัยความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

หากมีเกษตรกรคนใด ปลูกพืชที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ในบางโอกาสจะถูกมองว่า มีความคิดที่แปลกแตกต่าง แต่ความคิดที่แปลกแตกต่างของเกษตรกรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จัดว่าเป็นความคิดที่แปลกแตกต่าง เพื่อก้าวสู่การพัฒนา ในแบบฉบับของเกษตรกรตัวจริง

ช่วงสายในปลายฤดูหนาว “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เดินทางไปยัง หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยหอม อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อพบกับเกษตรกรหนุ่ม คุณณรงค์ ร่างใหญ่ ผู้ซึ่งผันพื้นที่ปลูกอ้อยเกือบ 3 ไร่ มาปลูกมะนาวแทน

“ใครๆ ก็คิดว่าผมบ้า หรือไม่ก็คิดแปลกแยกจากคนอื่น เพราะไม่มีใครคิดทำสวนมะนาวเลย” คุณณรงค์ มีความรู้ทางด้านกฎหมาย จบการศึกษาระดับเนติบัณฑิต ชีวิตการทำงานก้าวเข้าสู่ระบบลูกจ้างได้เพียง 1 ปี ก็ลาออก ก่อนลงทุนปลูกสร้างอพาร์ทเมนท์ให้เช่า ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และยังคงเดินทางไปภูมิลำเนาเดิมที่ตำบลห้วยหอมอยู่เป็นประจำ

คุณณรงค์ บอกว่า ในทุกครั้งของการเดินทางกลับมาเยี่ยมมารดาที่ตำบลห้วยหอม คิดเสมอว่า ไม่ควรปล่อยให้เวลาระหว่างการเดินทางไปกลับสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ รถที่ใช้ในการเดินทางเป็นรถกระบะ ควรบรรทุกของหรือใช้ประโยชน์ให้คุ้ม น่าจะเป็นการสร้างรายได้ที่ดีกว่า

“ผมมองเห็นว่าตลาดมะนาวหน้าแล้งน่าสนใจ ราคาแพง ราคาตลาดขายอย่างต่ำ ลูกละ 6 บาท จึงเริ่มศึกษาจากหนังสือและเว็บไซต์ ผิดบ้างถูกบ้าง และเริ่มทดลองทำในพื้นที่เดิมที่ปลูกอ้อยเกือบ 3 ไร่ เปลี่ยนเป็นปลูกมะนาวเกือบ 500 ต้น เหมือนจะไปได้ดี แต่ไม่นานใบมะนาวเริ่มเหลืองโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้”

คุณณรงค์ ตัดสินใจเข้าอบรมการปลูกมะนาวนอกฤดู ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้ และได้ผล คุณณรงค์กลับมาแก้ปัญหามะนาวใบเหลืองตามความรู้ที่รับการอบรมมา ทำให้การแก้ปัญหาลุล่วงไปด้วยดี

พื้นที่เกือบ 3 ไร่ แบ่งเป็น บ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่ 2 งาน พื้นที่ที่เหลือทำมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ 2 ไร่ จำนวน 300 วงบ่อ ลงทุนครั้งแรกประมาณ 1.4 แสนบาท ต่อไร่

ใช้วงบ่อซีเมนต์ ขนาด 80 เซนติเมตร วางระยะห่างระหว่างแถว 4 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 3 เมตร

กิ่งพันธุ์ที่ใช้ เป็นมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร 1 และแป้นพวง

สาเหตุที่เลือก 2 สายพันธุ์นี้ คุณณรงค์ บอกว่า เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มภาคกลาง เพราะตลาดที่คุณณรงค์มองไว้คือ ตลาดภาคกลาง และพันธุ์แป้นพิจิตร 1 ทนทานต่อโรคและแมลง ส่วนพันธุ์แป้นพวง ลูกดก

การเตรียมดินสำหรับปลูกในวงบ่อซีเมนต์ คุณณรงค์นำวัสดุปลูกประกอบด้วยดินนา ขี้วัว กากถั่วแระ กากถั่วเขียว จากนั้นไถผาล 7 ดินนาก่อน ทิ้งดินนาที่ไถแล้วตากแห้งเกือบ 1 เดือน แล้วไถผาล 7 อีกรอบให้ดินร่วนซุย นำขี้วัวและกากถั่วโรยแล้วไถกลับไปมา จากนั้นนำรถไถดันพื้นที่ปลูกให้เป็นคู วางวงบ่อ ตักดินใส่วงบ่อที่มีแผ่นรองด้านล่าง

ระบบน้ำและการให้น้ำ คุณณรงค์ใช้ระบบน้ำหยดกับมะนาวต้นเล็กๆ โดยให้น้ำในช่วงเช้าเพียง 5 นาที หลังจากมะนาวเริ่มโตก็เปลี่ยนระบบน้ำหยดเป็นมินิสปริงเกลอร์ ให้น้ำในช่วงเช้าเช่นเดียวกัน แต่ปรับเวลาเป็น 10-15 นาที

หลังจากมะนาวผลิยอดอ่อนให้เห็น คุณณรงค์จะขลิบยอดทิ้ง จากนั้น 15 วัน พ่นสารแพคโคลบิวทราโซลในครั้งแรก และอีก 45 วันต่อมา พ่นสารแพคโคลบิวทราโซลอีกครั้ง สำหรับอัตราความเข้มข้นของสารแพคโคลบิวทราโซล ชนิดความเข้มข้น 10% ในอัตรา 80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

สารแพคโคลบิวทราโซล เป็นสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของกิ่งใบ เมื่อกิ่งใบน้อยลง โอกาสการออกดอกก็มีมากขึ้น มะนาวที่จะบังคับให้ออกนอกฤดูได้นั้น ควรมีอายุอย่างน้อย 8 เดือน ขึ้นไป

คุณณรงค์ อธิบายว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตก ควรงดให้น้ำ โดยการนำผ้าพลาสติกกันฝนขนาดใหญ่คลุมรอบวงบ่อ สังเกตใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว หลังจากคลุมผ้าพลาสติกประมาณ 10-15 วัน และนำผ้าพลาสติกคลุมออก เมื่อใบสลด เหี่ยวหรือร่วงประมาณ 75-80% ให้น้ำพร้อมปุ๋ย

การให้ปุ๋ยทางดิน ใช้สูตร 0-0-60 หรือ 15-5-20 ส่วนปุ๋ยทางใบ ใช้สูตร 9-19-34

“หลังจากนั้น ประมาณ 14 วัน มะนาวจะเริ่มแตกใบอ่อน พร้อมออกดอก ระยะนี้ต้องหมั่นดูแลไม่ให้แมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ซึ่งผลมะนาวจะสมบูรณ์พร้อมเก็บจำหน่ายในช่วงฤดูแล้งพอดี”

โรคและแมลงศัตรูพืช คุณณรงค์ เล่าว่า โรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายที่สุดสำหรับมะนาว ป้องกันโดยพ่นสารคอปเปอร์หลังจากมียอดอ่อนแทงออกมา แต่ถ้ายังพบโรคแคงเกอร์อีก ให้ตัดแต่งกิ่งนำไปเผาทิ้ง นอกจากนี้ควรระวังเพลี้ยไฟ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคใบเหลืองในมะนาว ควรใช้ยาฆ่าเชื้อราพ่นป้องกัน

สำหรับคุณณรงค์ การทำมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ เพิ่งเริ่มต้นในรอบที่ 2 เท่านั้น ซึ่งรอบแรกของการทำมะนาว ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ นับเฉพาะ 150 วงบ่อ คือครึ่งหนึ่งของจำนวนวงบ่อทั้งหมด สามารถจำหน่ายได้ราคาดี คิดเป็นต้นทุนและกำไรราว 3 แสนบาท ราคามะนาวออกจากสวน ลูกละ 5-6 บาท ทีเดียว

สวนมะนาวนอกฤดูของ คุณณรงค์ ร่างใหญ่ หาง่ายไม่ไกลแหล่งชุมชน หากท่านใดต้องการปรึกษาหรือเยี่ยมชมถึงสวน คุณณรงค์ยินดีต้อนรับ โทรศัพท์สอบถามกันก่อนได้ที่ 089-122-4179 หรือทางเฟซบุ๊ก ในชื่อของ มะนาวสามชาย จากปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ ประกอบกับสถานการณ์ราคาค่าไฟที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ชุมชนเล็กๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยสวนผลไม้ ชุมชนบ้านเปร็ดใน หมู่ที่ 2 ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นป่าชายเลนที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ ทางภาคตะวันออกของไทย เกิดแนวคิดต้องการที่จะมองหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่โดยใช้เศษไม้วัตถุดิบที่หาง่ายในชุมชนมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เพื่อลดต้นทุนค่าไฟในอนาคต

คุณอำพร แพทย์ศาสตร์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนป่าบ้านเปร็ดใน และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วงน้ำขาว กล่าวว่า สาเหตุที่ให้ความสนใจเรื่องของพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกก็เพราะเกิดจากไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ มีเงาะโรงเรียน ลำไย ลองกอง มังคุดและทุเรียน ต้องปั๊มน้ำไปใช้รดสวนผลไม้ในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูง ในฐานะเป็นหมู่บ้านรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่จะนำพลังงานชีวมวลหรือพลังงานทดแทนที่เหมาะสมเข้ามาใช้ เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันนี้มาจากภาวะโลกร้อนจึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด

แต่เพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในโครงการการยกระดับความรู้ความเข้าใจชุมชนบ้านเปร็ดในเรื่องพลังงานกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนจากฐานทรัพยากรภายในชุมชน ที่มี ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณอำพร ยอมรับว่า การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อชุมชน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทางเลือกของชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่เคยคิดว่าในเมื่อเรามีเศษไม้ในพื้นที่อยู่แล้วก็น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานชีวมวลได้ แต่พอทำการศึกษาวิจัยสามารถประเมินได้ว่าชีวมวลที่มีอาจไม่เพียงพอ ประกอบกับต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลค่อนข้างสูง อีกทั้งคนในชุมชนยังไม่มั่นใจเรื่องของฝุ่นละอองและเสียง เพราะกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและจะส่งผลให้เกิดมลภาวะขึ้นในชุมชน

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา นักวิจัยเน้นการใช้กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกภายใต้ความต้องการของชุมชนเป็นหลัก โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับทางนักวิจัยชุมชน ยุวชนชุมชน ผู้นำชุมชนและชุมชนที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เริ่มด้วยการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมทรัพยากรเพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพด้านพลังงานในชุมชน เก็บข้อมูลพื้นฐาน จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชน ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างแผนพลังงานทางเลือก และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกให้กับคนในชุมชน จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือกของชุมชน

ประกอบด้วย การจัดอบรมการทำบัญชีพลังงานครัวเรือน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของแต่ละครัวเรือน การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษไม้และใบไม้ ศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีการจัดการขยะของชุมชน ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์เซลล์ และการจัดทำแผนพลังงานทางเลือกของชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นศึกษาดูงานด้านพลังงานทางเลือกที่จังหวัดนครราชสีมาและสระบุรี เพื่อสร้างความมั่นใจและความเข้าใจในการทำงานของแต่ละเทคโนโลยี จัดอบรมสาธิตการผลิตและติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่ชุมชนสนใจเลือกทดลองใช้เป็นการนำร่อง ได้แก่ เทคโนโลยีถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร, เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้แสงสว่างทางเดิน และการผลิตเตาก๊าซชีวมวลจากฟืน รวมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุดโครงการวิจัยการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน ยกระดับขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คุณอำพร ยอมว่า ปัจจุบันจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นเรื่องที่ชุมชนเองให้ความสนใจ เนื่องจากมีผลต่อการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน เมื่อ สกว.เข้ามาให้ความรู้ ทำให้ชุมชนเกิดความรู้และเข้าใจถึงสาเหตุที่ผลผลิตทางการเกษตรเคยติดลูกดีกลับประสบปัญหาติดลูกน้อยลงมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินถึงทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งพวกสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ชุมชนพยายามอนุรักษ์อยู่ พบว่าสาเหตุที่มีปริมาณลดลงเกิดจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน แม้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงองศาเดียวก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่งได้ ความรู้เหล่านี้ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยลดโลกร้อน

เมื่อชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น เก็บข้อมูลและประเมินศักยภาพได้ ในที่สุดชุมชนจึงตัดสินใจเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีการทดลองติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าร์เซลล์ขนาดเล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างทางเดินต้นแบบขึ้น ณ โรงเรียนบ้านเปร็ดใน และที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน ต่อมาชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน จึงดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2558 ทำให้ปัจจุบันสามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาจากเดิม 5,000-7,000 บาท ต่อเดือน ลดลงเหลือ 3,000-4,000 บาท ต่อเดือน โดยหวังเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงนำไปขยายผลต่อไป

คุณณรงค์ชัย โต้โล้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะนักวิจัยชุมชน กล่าวว่า การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน มีติดตั้งทั้งหมด 30 แผง สามารถรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 9,000 เมกกะวัตต์ ใช้ปั๊มน้ำจากสระขึ้นมาผลิตประปาหมู่บ้านทำงานเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน จากเดิมใช้มอเตอร์ 5 ตัวในการปั๊มน้ำ คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายให้การไฟฟ้าฯ ถึงเดือนละกว่า 5,000 บาท หลังจากเปลี่ยนมาใช้โซล่าร์เซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถลดต้นทุนค่าไฟลงได้กว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ถือว่าได้ผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ปัจจุบันทุกครัวเรือนในชุมชนมีน้ำประปาใช้จากในอดีตชุมชนที่นี่ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อใช้บริโภค แต่เพราะเดี๋ยวนี้การบริโภคน้ำฝนเริ่มไม่ปลอดภัยจึงหันมาใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่ได้มาตรฐานแทน

คุณมาโนช ผึ้งรั้ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านเปร็ดใน กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่หมู่บ้านได้เป็นชุมชนต้นแบบซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันโดยไม่มีการแบ่งแยกของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาของชุมชนมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งบ้านเปร็ดในเป็นชุมชนที่เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาชุมชน ทำให้วันนี้บ้านเปร็ดในเป็นที่รู้จักของคนทั้งในระดับตำบล จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ จากที่เคยเป็นเพียงแค่ชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนไม่เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน 2561 คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ภายใต้ โครงการจันทบุรีมหานครผลไม้ เชิญ ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr. Shela Gorinstein) นักวิทยาศาสตร์สายเภสัชศาสตร์ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยฮิบบรู ประเทศอิสราเอล (Hebrew University Jerusalem, Israel) และเป็นนักวิจัยอาคันตุกะ ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เจ้าของงานวิจัย เรื่องสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ในผลไม้เมืองร้อน : ประโยชน์ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต ได้มาบรรยายพิเศษ ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

รศ.ดร. ระติพร หาเรืองกิจ อดีตคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตหัวหน้าทีมงานคณะวิจัยสารแอนตี้ออกซิแดนต์ในทุเรียน ได้กรุณาแปลคำบรรยายประกอบพาวเวอร์พอยท์ให้ผู้ร่วมรับฟัง โดยกล่าวถึงขอบเขตและผลการวิจัย โดยสรุป 3 ระยะ คือ

เริ่มแรก…งานวิจัยนี้ สมัครยูฟ่าเบท เปรียบเทียบทุเรียนจากสวนในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และชะนี โดยวัตถุประสงค์การวิจัยต้องการศึกษาปริมาณสารแอนตี้ออกซิแดนต์ (Antioxidant) หรือสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เมืองร้อน : ซึ่งมีประโยชน์ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ชนิด LDL (Low Density Lipoprotien) ได้ สามารถป้องกันเส้นเลือดอุดตัน ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจได้ ผลการทดลอง พบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงกว่าพันธุ์ก้านยาวและชะนี จึงทดลองต่อไปว่า ที่ระยะความสุกระดับใดที่ทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะให้สารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงสุด โดยเปรียบเทียบทุเรียนระหว่างทุเรียนที่ยังไม่สุก (ดิบห่าม) สุกพอดี คือสุกรับประทานได้เลย และสุกเกินไป (ปลาร้า) ซึ่งผลการทดลองในห้องทดลองพบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สุกพอดี มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูง และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด จากนั้นจึงนำมาเลี้ยงหนูทดลอง ได้ผลสรุปว่า หมอนทองที่สุกพอดี ลดค่าคอเลสเตอรอล LDL ได้สูงสุด และตรงกับผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ นอกจากนั้น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ยังมีโปรตีนไฟบริโนเจน (Fibrinogen) ที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว (ช่วยให้เลือดหยุดไหล) และสารเควอซิติน (Quecertin) ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารที่เชื่อกันว่าสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบ และมะเร็งได้

“สรุปได้ว่า ลักษณะสำคัญของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีคุณลักษณะพิเศษคือ มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีสารโปรตีนพิเศษเควอซิตินที่ยังไม่มีการวิจัยมาก่อน งานวิจัยเหล่านี้ทำเกือบ 10 ปีแล้วตั้งแต่ทุเรียนเริ่มดัง ซึ่ง ศ.ดร. ชีล่า ได้เข้ามาทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี งานวิจัยนี้ได้ถูกนำเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างสูงในวงการวิชาการ และได้มีการนำมาอ้างอิงในงานวิจัยทั่วโลก คาดว่าจะมีหลายประเทศได้อ่านวิจัย ให้ความเชื่อถือจึงมีผลกระทบในวงกว้าง งานวิจัยนี้สามารถนำไปวิจัยต่อยอด แยกแยะทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากพันธุ์อื่นๆ หรือนำไปวิจัยเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานทุเรียนได้หรือไม่ เนื่องจากในงานวิจัยเดิมพบว่า หนูทดลองที่ได้รับทุเรียนหมอนทอง ไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่หนูที่ใช้ทดลองไม่ได้เป็นเบาหวาน จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ไทยได้มีนักวิจัย อย่าง ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ มาช่วยทำวิจัยไว้ แต่การต่อยอดเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากได้การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง” รศ.ดร. ระติพร กล่าว

ด้าน รศ.ดร. สุมิตรา ภู่วโรดม อดีตอาจารย์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า อาจารย์ทำงานวิจัยเรื่องธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ยในทุเรียน เมื่อได้ฟัง ศ.ดร. ชีล่า บรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของสารแอนตี้ออกซิแดนต์ จึงชักชวนให้ ศ.ดร. ชีล่า มาทำงานวิจัยในทุเรียน เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ โดยส่วนตัว สนใจที่จะทำงานวิจัยนี้ เพราะชอบรับประทานทุเรียนมากและชอบประเทศไทยมากด้วย จึงมาทำงานวิจัยในทุเรียน โดยได้รับเงินจากกองทุนจัดงานพืชสวนก้าวหน้า ที่ อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข เป็นประธาน ถ้าเป็นการทำงานวิจัยโดยทั่วๆ ไป ต้องใช้วงเงินมหาศาล และต้องหานักวิจัยที่เก่งๆ สนใจจริงๆ มาทำ ซึ่งยากมาก เพราะแม้กระทั่งการทดลองห้องแล็บที่ทดลองกับหนู ยังทำในประเทศไทยไม่ได้ เพราะการที่ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีดัชนีผลกระทบการอ้างอิงวารสาร (impact factor) สูง ห้องปฏิบัติการที่จะทำงานทดลองในสัตว์ทดลองจะได้รับใบรอง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ งานนี้ต้องไปใช้ห้องแล็บถึงมหาวิทยาลัยวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ ซึ่ง ศ.ดร. ชีล่า มีเครือข่ายในการวิจัยอยู่