เกษตรกรน่าน ปลูกโกโก้พร้อมต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ขายครบวงจร

คุณมนูญ ทนะวัง เจ้าของสวนโกโก้ ตั้งอยู่ เลขที่ 141 หมู่ที่ 4 ตำบลสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้นำโกโก้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ไอเอ็ม 1 พันธุ์เอิร์ทเซฟ เนวี 1 และพันธุ์ชุมพร มาทดลองปลูกภายในสวนจนประสบผลสำเร็จ สามารถเก็บผลผลิตนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็นรายได้ให้กับคุณมนูญได้เป็นอย่างดี

คุณมนูญ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนทำงานบริษัทเอกชน แต่รู้สึกว่าการทำงานยังไม่มีความสุขตรงกับที่ใจชอบ จึงได้ย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดน่าน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของคุณมนูญมีสวนไม้ผลที่ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้มานานแล้ว เมื่อมีโอกาสได้กลับมาอยู่บ้าน จึงมองหางานที่สามารถทำควบคู่ไปกับสวนไม้ผลของครอบครัว โดยประยุกต์เข้าด้วยกัน แต่มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ จึงได้เริ่มลงมือทำสวนโกโก้ ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่เขาชื่นชอบ

“พอคิดว่าต้องกลับมาอยู่บ้านแน่ๆ สิ่งที่ต้องยึดเป็นอาชีพ ก็มองเลยว่าเรารักเราชอบอะไร เพราะสิ่งที่เราชอบมันจะส่งผลให้ทำสิ่งนั้นออกมาได้ดี ก็เลยมองว่าเราชอบทานช็อกโกแลต หากได้ทำสวนโกโก้ สิ่งนี้ก็น่าจะอยู่กับเราไปได้นาน ในช่วงที่เราต้องมาอยู่บ้านเกิดอย่างเต็มตัว เพราะงานสวนที่บ้านก็มีความชำนาญ ส่วนต้นโกโก้ก็มีความชอบส่วนตัว ดังนั้น ถ้านำมาปลูกและสามารถมีผลผลิตได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะทำออกมาได้ดี เพื่อเป็นอาชีพในระยะยาว” คุณมนูญ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในสายงานทางการเกษตร

โดยการทำสวนโกโก้ในครั้งนี้ คุณมนูญ บอกว่า ได้เลือกใช้ความสุขเป็นที่ตั้งมาทำในสิ่งที่รัก และใช้ความชำนาญของครอบครัวในการปลูกไม้ผลมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ต้นโกโก้ที่นำมาปลูกทั้งหมดเจริญเติบโตและให้ผลผลิตออกมาให้เก็บได้ตลอดทั้งปี

เนื่องจาก โกโก้ เป็นไม้ที่มีความน่าสนใจและชอบอยู่เป็นทุนเดิม คุณมนูญ บอกว่า จึงได้นำทั้ง 3 สายพันธุ์ มาปลูกภายในสวน โดยจะแบ่งเป็นโซนของสายพันธุ์นั้นๆ แยกกันอย่างชัดเจน ไม่นำมาผสมภายในแปลงเดียวกัน ใช้ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป มาปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ 3×3 เมตร รองก้นหลุมด้วยเศษหญ้าและปุ๋ยคอก

“โกโก้นี่ถือว่าเป็นพืชที่ต้องการน้ำ เพราะฉะนั้นพื้นที่ที่จะปลูกควรเป็นพื้นที่ที่มีน้ำอย่างเพียงพอ อย่างที่สวนของผมหลังปลูกแล้ว ก็จะดูแลรดน้ำ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ ก็ไม่ต้องรดน้ำดูแลอะไรมาก ส่วนการใส่ปุ๋ยคอกในช่วงนี้ก็จะใส่เดือนละ 1 ครั้ง ดูตามความเหมาะสม ใช้เวลาดูแลก็ประมาณ 2 ปีครึ่ง โกโก้ก็จะเริ่มโตเต็มที่และให้ผลผลิตได้ แต่จะให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ต้องสัก 3 ปีขึ้นไป” คุณ มนูญ บอก

ในเรื่องการตัดแต่งกิ่งต้นโกโก้ คุณมนูญ บอกว่า จะทำปีละ 1 ครั้ง ในช่วงหลังฤดูฝนหมด เพราะช่วงนั้นใบจะมีมาก จึงต้องตัดแต่งออก เพื่อให้ใบที่อยู่บนต้นบางลง ส่วนเรื่องของแมลงศัตรูพืชและโรคที่เกิดขึ้นกับโกโก้จะเป็น เพลี้ยแป้ง ที่ต้องระวังมากที่สุด จะเข้าทำลายยอดให้เกิดความเสียหาย

เมื่อโกโก้ได้อายุที่เจริญเติบโตเต็มที่จะให้ผลผลิตเก็บได้ตลอดทั้งปี โดยไม่มีการออกตามฤดูกาลเหมือนไม้ผลบางชนิด แต่ในช่วงฤดูฝนผลผลิตจะน้อยกว่าฤดูอื่นๆ เพราะน้ำฝนที่ตกมากระทบดอกจะทำให้ดอกหลุดร่วงออกไป

“โกโก้นี่ถือว่าออกดอกเยอะมาก จึงทำให้แต่ละต้นมีผลติดเยอะ ช่วงที่ดอกออกผมก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ใส่ปุ๋ยคอก บำรุงเพียงอย่างเดียว ไม่มีการฉีดพ่นฮอร์โมนหรือยาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราเน้นปลูกแบบธรรมชาติ ดอกที่สมบูรณ์ก็จะติดผลเอง ผลยังไม่ทันแก่ก็จะมีดอกออกมาพร้อมให้ผลใหม่อยู่ตลอด พอเห็นมีผลแก่เราก็เตรียมเก็บและนำมาสู่กระบวนการแปรรูปต่อไป เพื่อสร้างเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์จำหน่ายต่อไป” คุณมนูญ บอก

คุณมนูญ เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลโกโก้มาผ่านกระบวนการต่างๆ ว่า เมื่อเห็นผลโกโก้ที่อยู่บนต้นสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว จะนำผลโกโก้มาแกะเปลือกออกและนำเนื้อที่อยู่ด้านในมาหมักในภาชนะที่เตรียมไว้ เมื่อหมักจนได้ที่ เห็นสีของเนื้อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะนำออกมาตากแดด เมื่อผ่านการตากจนเห็นสีมีการเปลี่ยนแปลง จึงนำมาผ่านการคั่ว เพื่อให้โกโก้มีกลิ่นหอมมากขึ้นและลดความชื้นลงไปด้วยในตัว

“สวนของเราจะผลิตเป็นดาร์กช็อกโกแลตเลย จะไม่มีการแยกไขมันของโกโก้ออก โดยการแยกจะเอาส่วนที่เป็นเปลือกออกเท่านั้น ในเนื้อดาร์กช็อกโกแลตของเราก็จะมีทั้งไขมันดีและกากอยู่ด้วยกัน ไขมันบางส่วนที่มีอยู่ในดาร์กช็อกโกแลต เราก็จะมีการดึงออกมาด้วย เพื่อนำไปใช้ทำเครื่องสำอาง แต่ที่เราเห็นเป็นผงโกโก้ทั่วไปที่ชงนั้น คือการดึงไขมันออกไปจากกากแล้ว แล้วนำกากที่ได้จากการดึงไขมันออกนั้น มาทำให้เป็นผงโกโก้สำหรับชงเป็นเครื่องดื่ม” คุณมนูญ บอก

ซึ่งราคาดาร์กช็อกโกแลตที่ผ่านการแยกสิ่งเจือปนออกหมดแล้ว จำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 700-1,000 บาท และยังมีการนำวัตถุดิบที่ได้มาทำเป็นขนม เครื่องดื่ม พร้อมกับผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทสบู่ที่มีไขมันดีจากโกโก้เป็นส่วนผสม โดยราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบที่ทำ มีราคาตั้งแต่ก้อนละหลักสิบไปจนถึงหลักร้อยบาท

จากวันที่ได้เริ่มทำสวนโกโก้พร้อมกับนำมาแปรรูปจนครบวงจรจนถึงวันนี้ คุณมนูญ บอกว่า ก็มีสิ่งที่ท้าทายอยู่ตลอดเพราะอย่างช็อกโกแลตต่างๆ เป็นสินค้าที่ทำจากวัตถุดิบที่ดี ในเรื่องของราคาลูกค้าอาจจะมองว่าแพงกว่าทั่วไปเล็กน้อย แต่เมื่อได้มาลองชิมและสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ของสวน ต่างก็เชื่อมั่นและวางใจได้ว่าสินค้าทุกชิ้นหรือรายการขนมเครื่องดื่มต่างๆ ได้คัดสรรทุกอย่างเป็นของดีเหมาะสมกับราคา

“ต้นหอม” หรือ “หอมแบ่ง” ผักกินใบและใช้ลำต้นปลูกไม่นาน ติดอันดับผักขายดีที่ทุกแผงผักต้องมีติดไว้ เพราะถือเป็นผักที่มีส่วนสำคัญในการปรุงอาหารทั้งคาวและหวาน ทำให้ความต้องการใช้ในแต่ละวันสูงมาก แต่ยังไงก็ตามสำหรับเกษตรกรท่านใดที่อยากปลูกหอมแบ่งเพื่อสร้างรายได้ ควรมีการศึกษาการตลาดและวางแผนจัดการปลูกให้ดี เพราะหอมแบ่งเป็นพืชที่มีราคาผันผวนสูง ในวันที่ราคาดีราคาก็พุ่งสูงไปถึงกิโลกรัมละร้อย แต่หากช่วงไหนราคาตกก็ตกลงมาอย่างน่าใจหาย เพราะฉะนั้นการวางแผนและเทคนิคการปลูกถือเป็นเรื่องสำคัญ

คุณสุรางค์ นรเอี่ยม หรือ พี่ก้อย อยู่บ้านเลขที่ 47 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองกร่าง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์คนเก่ง สร้างตัวจากอาชีพเกษตร ปลูกพืชผสมผสาน เด่นที่การจัดสรรพื้นที่และเทคนิคการปลูกการดูแล รวมถึงการวางแผนการตลาดก่อนปลูกให้มีกำไรตลอดทุกช่วงการผลิต

พี่ก้อย เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรว่า เมื่อก่อนตนเองและสามีประกอบอาชีพเปิดร้านซ่อมรถเป็นหลัก การทำเกษตรเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น แต่เมื่อได้ทำมาสักพัก งานเกษตรได้กลายเป็นงานสร้างรายได้หลักให้กับครอบครัวแบบไม่ได้ตั้งใจ เริ่มทำจากพื้นฐานความรู้เป็นศูนย์ อาศัยเพียงความขยันหมั่นศึกษาหาความรู้ วิธีการปลูกจากอินเตอร์เน็ต และจากเกษตรกรมืออาชีพแถวบ้าน จนเกิดเป็นประสบการณ์และความชำนาญสามารถพัฒนาต่อยอดจากพื้นที่ทำเกษตรเดิมที่มีเพียง 2 ไร่ ขยายพื้นที่ปลูกมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 30 ไร่ ด้วยการจัดสรรพื้นที่การปลูกพืชแบบสลับหมุนเวียนกันไป โดยมีข้าวโพดหลากหลายสายพันธุ์ และหอมแบ่งเป็นพืชสร้างรายได้หลัก ด้วยเหตุผลที่ข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย น้ำหนักต่อไร่สูง ตลาดไปได้เรื่อยๆ ส่วนหอมแบ่งมีข้อดีตรงที่ปลูกแล้วเก็บเกี่ยวได้ไว ใช้เวลาเพียง 45 วันเก็บขายสร้างเงินก้อน ซึ่งถ้าหากช่วงไหนราคาดีการปลูกหอมก็สามารถสร้างรายได้ถึงหลักแสนต่อไร่ได้แบบไม่ทันตั้งตัวเลย

ปลูกหอมแบ่งสร้างรายได้
45 วันตัดขายทำเงิน
เจ้าของบอกว่า สำหรับเทคนิคการปลูกหอมแบ่งของที่สวนจะมีวิธีการแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับการปลูกหอมโดยเฉพาะจำนวน 10 ไร่ เพื่อวางแผนการปลูกให้มีผลผลิตออกขายได้ตลอดทั้งปี เน้นการปลูกแบบสลับหมุนเวียน แบ่งปลูกอาทิตย์ละแปลง แปลงละ 2 ไร่ สร้างรายได้อาทิตย์ละครั้ง

โดยหอมแบ่งสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่จะมีช่วงราคาที่แตกต่างกันออกไป หากปลูกช่วงฤดูร้อน (เดือนเมษายน) จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ราคาจะสูงมาก ส่วนฤดูฝนราคาดีปานกลาง แต่หอมแบ่งจะไม่ทนฝน หอมจะเน่าและเป็นโรคได้ง่าย และในฤดูหนาวราคาจะถูก เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกเยอะ ปลูกดูแลง่าย ต้นทุนต่ำ พอได้กำไรแต่ไม่มาก

การเตรียมดิน สำหรับพื้นที่ยังไม่เคยปลูกมาก่อน ให้เริ่มต้นจากการไถยกร่องตากดินทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ จากนั้นโรยขี้ไก่ลงไป แล้วใช้เครื่องตีดินเพื่อให้ดินร่วนซุยอีกครั้ง

คัดเลือกสายพันธุ์ปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์หอมแบ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการปลูก โดยที่สวนจะเลือกปลูกหอมอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ หอมพันธุ์โคราชและหอมพันธุ์ลับแล ซึ่งมีจุดเด่นต่างกันคือ สายพันธุ์โคราชจะใช้ระยะเวลาการปลูกนาน 50 วัน มีข้อดีอยู่ที่ ต้นจะแกร่ง หลอดใหญ่ ใบหนา ระยะเก็บเกี่ยวได้นาน 7-10 วัน ทนโรค ทนแมลง ส่วนพันธุ์ลับแลจะเก็บเกี่ยวได้เร็ว 45 วันตัดขายได้ แต่มีข้อเสียคืออายุการเก็บเกี่ยวสั้น เกษตรกรสามารถเลือกปลูกได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละพื้นที่

การปลูก ใช้วิธีการปลูกจากหัวพันธุ์ ในระยะความห่างระหว่างต้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะการปลูกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเพื่อการค้า หากปลูกในระยะถี่กว่านี้ต้นจะฝอย หลอดเล็ก โดยหลังจากลงหัวพันธุ์เรียบร้อยแล้ว จะต้องคลุมฟางให้ทั่วแปลง เพื่อรักษาความชื้นหน้าดิน

ระบบน้ำ หลังจากปลูกเสร็จรดน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ทุกวันเช้า-เย็น จนถึงวันเก็บเกี่ยว ปุ๋ย แต่ละที่จะมีเทคนิคการใส่ปุ๋ยไม่เหมือนกัน บางสวนใส่ปุ๋ย 3-4 ครั้งในการปลูกแต่ละรอบ แต่เทคนิคของที่สวนจะใส่ปุ๋ยเพียง 2 ครั้งต่อ 1 รอบการปลูก คือจะเริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรกช่วงหอมแบ่งอายุ 20 วัน ด้วยสูตร 25-7-7 ในอัตรา 2 ไร่ต่อ 1 กระสอบ และครั้งที่ 2 จะใส่ช่วงหอมแบ่งอายุ 30 วัน ด้วยสูตร 16-16-16 ในอัตรา 2 ไร่ต่อ 1 กระสอบเช่นกัน

การดูแลป้องกันโรคแมลง
ในช่วงหน้าร้อนต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะหนอนหลอดจะระบาด วิธีการดูแลอาจต้องมีการใช้สารเคมีผสมกับอินทรีย์บ้าง ด้วยการฉีดยาบำรุงครั้งแรกเมื่อหอมแบ่งอายุได้ 15 วัน หลังจากนั้นให้ฉีดยาบำรุงในทุกๆ 7 วัน ถือเป็นการป้องกัน หากปล่อยให้เกิดเยอะแล้วค่อยมาดูแลทีหลังจะเอาไม่อยู่ ทำให้ขาดทุนได้

เคล็ดลับความสำเร็จ
ปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูง 2-3 ตันต่อไร่
สำหรับเคล็ดลับการปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง พี่ก้อย บอกว่า อยู่ที่ดิน ปุ๋ย และการดูแล โดยพื้นที่การปลูกจำเป็นต้องมีการปลูกพืชอย่างอื่นสลับหมุนเวียนกันไป ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมนานๆ ดินจะเสื่อมโทรม ส่งผลให้หอมไม่โต

“อย่างของที่สวนพี่จะไม่ปลูกหอมซ้ำพื้นที่เดิมนานเกิน 1 ปี หากปลูกครบ 1 ปี พี่จะไปหาพื้นที่ปลูกใหม่ แล้วใช้พื้นที่เดิมที่เคยปลูกหอมเอาข้าวโพดมาลงปลูกแทนเพื่อที่ตอนเก็บผลผลิตข้าวโพดเสร็จแล้วจะได้ปั่นต้นข้าวโพดลงไปในดินเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน แล้วค่อยกลับมาปลูกหอมใหม่ โดยจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ หากทำได้อย่างที่บอกมานี้ก็จะได้ผลผลิตออกมาคุณภาพ น้ำหนักเยอะ โดยปีที่ผ่านมาพี่สามารถผลิตต้นหอมได้สูงถึง 3.3 ตันต่อไร่ ด้วยเทคนิคการสลับพื้นที่ปลูกและการดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี”

การเก็บเกี่ยวผลผลิต เฉลี่ยวันละ 500-700 กิโลกรัม รายได้เป็นไปตามกลไกการตลาดหากเป็นช่วงที่หอมแบ่งมีราคาแพงรายได้ก็จะเยอะตามถึงหลักแสนต่อไร่ แต่ถ้าหากช่วงไหนราคาถูกก็ยังได้กำไรอยู่แต่ได้น้อย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการวางแผนที่ดีด้วยเพราะจากเหตุการณ์ที่เคยเจอมายังมีอีกหลายสวนที่ยังขาดทุนกับการปลูกหอมแบ่งอยู่ โดยส่วนนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย บางรอบฝนตกหนัก หนอนลงก็ทำให้ขาดทุนได้ หรือบางสาเหตุเกิดจากตัวเกษตรกรเอง เพราะการค้าขายในบางครั้งต้องอาศัยความจริงใจและความซื่อสัตย์ เป็นคู่ค้าที่ดีต่อกัน โดยที่สวนจะมีสัญญาใจกับแม่ค้าประจำทุกเจ้า คือไม่ว่าช่วงไหนราคาหอมจะถูกหรือแพงจะส่งประจำให้เขาตลอด จะไม่เกิดเหตุการณ์แอบเอาของไปขายเองในช่วงที่ผลผลิตมีราคาสูงเด็ดขาด เพราะถ้าทำแบบนี้แล้วพอถึงช่วงของล้นตลาดหรือราคาถูกขึ้นมาแม่ค้าก็จะไม่ช่วยเราทำให้เกิดเหตุการณ์ต้องยอมขายเหมาสวนแบบขาดทุนกันไป

ตลาดรับซื้อ ควรหาตลาดรับซื้อก่อนปลูกคือเรื่องสำคัญ โดยในช่วงแรกด้วยความที่เป็นเกษตรกรมือใหม่จึงใช้วิธีฝากขาย แล้วหลังจากนั้นหากผลผลิตเรามีคุณภาพและสามารถทำส่งตลาดได้ตลอดจะมีแม่ค้าติดต่อเข้ามาเอง โดยตลาดรับซื้อของที่สวนมีแม่ค้าประจำจากอ่างทอง ตลาดศรีเมือง ตลาดไทเข้ามารับถึงสวน ในราคาที่ตกลงกันไว้ และมีการปรับราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด เพราะฉะนั้นควรมีการวางแผนการตลาดที่ดี และผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพคือเรื่องสำคัญ หากปฏิบัติได้ดังนี้แล้วการปลูกหอมแบ่งถือว่าคุ้มค่า สามารถสร้างเงินเก็บได้ก้อนโต ทำให้ครอบครัวมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากเดิมเพราะอาชีพเกษตร พี่ก้อย กล่าวทิ้งท้าย

สองพ่อลูก นายดาบตำรวจเฉลิมพล บุญทาหมั้น วัย 52 ปี ปัจจุบันรับราชการตำรวจ และลูกชาย คุณนิติภูมิ บุญทาหมั้น จบวิศวะเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยชื่อดังจากกรุงเทพฯ ในวัย 25 ปี แต่สนใจที่จะปลูกโกโก้ เพราะมองเห็นว่าเป็นพืชต่างถิ่นที่เจริญงอกงามได้ค่อนข้างดีที่เมืองไทย โดยใช้เวลาหลังเลิกงานและวันหยุด

“เดิมทีผมได้ยินแต่ว่า โกโก้ นั้นปลูกได้แต่แถบทางภาคใต้ เพราะเป็นพืชเขตร้อนชื้นที่ต้องการน้ำมากและความชื้นสูง แต่โกโก้พันธุ์ไทยที่เจริญเติบโตได้ดีในแถบภาคใต้กลับเติบโตได้ดีในภาคเหนือเช่นกัน ปัจจุบันมีการปลูกแพร่หลายมากมาย ด้วยเหตุผลที่ว่าปลูกโกโก้นั้น ปลูกง่าย ดูแลง่าย และให้ผลผลิตตามที่ต้องการหลายปี เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตค่อนข้างดีในเมืองไทย ผมชอบทำเกษตรอินทรีย์ และเห็นว่าต้นโกโก้ไม่ชอบสารเคมี จึงเหมาะกับผมมาก…งานปัจจุบันนี้หายาก บริษัทต่างๆ ก็มีแต่จะปิดตัวลง ปัญหาเศรษฐกิจโลกและโรคระบาดนั้น ผมเลยเป็นเด็กยุคนิวนอร์มอลครับ ผมสนใจเกษตรตามคุณพ่อ เห็นคุณพ่อและคุณปู่ทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ผมภูมิใจในตัวท่านมาก ผมมุ่งมั่นที่จะเจริญรอยตามคุณพ่อ หันมาทำการเกษตรอย่างเต็มตัวและอย่างภาคภูมิใจ และพร้อมจะพัฒนาต่อยอดเพื่อพลิกฟื้นผืนดินที่ว่างเปล่านั้นมาปลูกต้นโกโก้สร้างรายได้” คุณนิติภูมิ กล่าว

โกโก้ เป็นพืชสวนที่น่าปลูก
โกโก้ เป็นพืชสวนที่น่าปลูกเพราะว่าให้ผลผลิตนานหลายปี และการเก็บผลผลิตในรูปของเมล็ดโกโก้ตากแห้งยังเก็บไว้ได้นานเป็นปีๆ จึงค่อนข้างที่จะคุมราคาสินค้าได้ และอีกอย่างตอนนี้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจที่จะดื่มเป็นโกโก้สด ลูกค้าทุกระดับสามารถดื่มได้ในราคาที่ไม่แพง และร้านขายเครื่องดื่มโกโก้จะเปิดคล้ายร้านกาแฟก็เป็นที่นิยม หรือ นำไปเพิ่มการขายร่วมกับกาแฟก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับลูกค้าที่ไม่ดื่มกาแฟ

โกโก้ เป็นไม้ไม่ผลัดใบขนาดเล็ก ในวงศ์ชบา และเป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อนชื้นของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เมล็ดโกโก้มักนำมาใช้ทำเป็นของหวาน เช่น กานัช ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มโกโก้สดร้อนและเย็น เป็นต้น

โกโก้สด มีขายแล้วในเมืองไทย
คุณนิติภูมิ เห็นว่าร้านโกโก้สดเดี๋ยวนี้ราคาไม่แพง เพราะว่าปลูกได้แล้วในเมืองไทย ในบ้านเรานั้นสามารถปลูกได้แล้ว ลดต้นทุนการนำเข้าและยังได้รับประทานของสด ที่รสชาตินั้นไม่แพ้ของต่างประเทศเลย

การปลูกต้นโกโก้นั้นบ้านเราปลูกมานานแล้วทางแถบภาคใต้ แต่เมื่อก่อนนั้นตลาดยังไปได้ไม่ไกล แต่ปัจจุบันนี้ทางรัฐให้การสนับสนุนและการตลาดมีความต้องการมากขึ้น คุณนิติภูมิกับคุณพ่อจึงตกลงที่จะทำผลิตภัณฑ์โกโก้สดในรูปการแปรรูปเป็นผงโกโก้พร้อมดื่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีทั้งความหอมชวนดื่มเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วยังนำมาขายร่วมกับร้านกาแฟเป็นทางเลือกของลูกค้าอีกด้วย

ปลูกเองขายเอง
“ผมปลูกเอง ขายเอง และรวมกลุ่มกันปลูกโดยการกำหนดราคาโดยพวกกลุ่มกันเอง และแปรรูปเอง ขายทั้งเป็นผลและแปรรูปเป็นเครื่องดื่มร้อนและเย็น กำลังเป็นที่นิยมของลูกค้าเป็นอย่างมากครับ และยังขายไม่แพงด้วยครับ โกโก้ชงร้อน เพียงถ้วยละ 35-40 บาท เท่านั้นเอง ทำให้มีรายได้เข้ามาทุกวันครับ…ปลูกอะไรที่จะสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวแบบยั่งยืน พืชหลายๆ ตัวราคาไม่คงที่และปัญหาด้านการตลาดก็มีมาก เพราะเก็บนานไม่ได้ การแปรรูปก็มีปัญหา ถูกกดราคาบ้าง ดินฟ้าอากาศแปรปรวนบ้าง ปลูกแล้วเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่โกโก้เป็นพืชที่เก็บไว้ได้นาน เรื่องการตลาดมีปัญหาน้อยกว่า” คุณนิติภูมิ บอก

ปลูกโกโก้เป็นพืชทางเลือก คุ้มค่าอย่างไร
คุ้มค่าตรงที่เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้หลายปี ตามสถิติอยู่ได้ถึง 60 ปี เป็นพืชโตเร็วและให้ผลผลิตเร็ว อีกอย่างผลผลิตสามารถเก็บในรูปเมล็ดตากแห้งได้เป็นปี และเป็นพืชเขตร้อนเหมาะที่จะปลูกในเมืองไทย

วิธีการปลูก และเลือกสายพันธุ์
การปลูกโกโก้อันดับแรกต้องบริหารเรื่องน้ำให้ดีก่อน อย่าให้โกโก้ขาดน้ำในช่วงหน้าแล้ง จะทำให้แคระแกร็นทันที ระยะปลูกห่าง 4×4 เมตร ไร่ละ 100 ต้น โดยนำเมล็ดมาเพาะเอง เพื่อจะเตรียมปลูกทั้งหมดให้ได้ 40 ไร่ ตามที่คุณนิติภูมิศึกษามา เรื่องต้นพันธุ์มีผู้รู้หลายท่านแนะนำให้ปลูกโดยการเพาะเมล็ดจะดีกว่า เพราะมีรากแก้ว

คุณนิติภูมิ มีเนื้อที่ทั้งหมด 40 ไร่ ขยายปลูกโกโก้ทุกๆ 5 ไร่ การเลือกสายพันธุ์ปลูกที่ปรับตัวได้ดีในเมืองไทยและภาคเหนือ คุณนิติภูมิใช้สายพันธุ์โกโก้ชุมพร 1 ได้ผลดี ระยะการปลูกถึงเก็บเกี่ยว
ถ้าบำรุงดีๆ ผลละ 1 กิโลกรัม แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว จะได้ 2 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม ใน 1 ผล จะให้ผลผลิตที่หมักแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ การบำรุงก็ใช้แบบธรรมชาติ ที่สวนใช้ฮิวมัสจากซากพืชที่ทับถมกันเป็นเวลานาน จากการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นสารอาหารอินทรีย์

ปลูกกี่ไร่ ถึงจะมีรายได้
การปลูกโกโก้ เริ่มต้นที่ 1 ไร่ จะใช้ต้นกล้าประมาณ 100 ต้น จะเก็บผลผลิตในปีที่ 4 จะให้ผลผลิตเต็มที่ จะได้ผลผลิตเมล็ดโกโก้แห้งประมาณ 300-500 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายเมล็ดโกโก้แห้ง ประมาณ 60-120 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดโกโก้ เกษตรกรจะมีรายได้ขั้นต่ำเท่ากับ 3,000-6,000 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน รายได้สูงสุดประมาณ 36,000-72,000 ต่อไร่ ต่อปี

แรงบันดาลใจเริ่มแรกนั้น คุณนิติภูมิ ดูจากยูทูบและอ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องโกโก้ ทราบมาว่าผลผลิตโกโก้นั้นมีประโยชน์มากมาย สามารถดื่มเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย น้ำมันนำมาทำเป็นเครื่องสำอางและนำมาทำเป็นช็อกโกแลต

ดูแลไม่ใช่เรื่องยาก
การปลูกโกโก้ไม่ต้องดูแลมาก โดยเฉพาะเรื่องของศัตรูพืช เนื่องจากเป็นพืชเขตร้อน จึงเหมาะกับอากาศในบ้านเรา และอีกอย่างไม่ต้องใช้สารเคมี นอกจากปุ๋ยคอกเท่านั้น ถือว่าเป็นพืชปลอดสารก็ว่าได้ เป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในระยะการออกผล

การใช้แรงงานแทบไม่มีเลย คุณนิติภูมิกับคุณพ่อช่วยกันไถ ยกแปลงปลูกและวางระบบน้ำ โดยการลงทุนครั้งเดียวใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ ซึ่งทางเกษตรจังหวัดลำปางสนับสนุน โดยโครงการ ITAP ของ สวทช. ก็ให้การแนะนำเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการใช้น้ำจากสระเก็บน้ำ เพื่อการดูแลเรื่องการให้น้ำต้นโกโก้เป็นไปอย่างมีระบบ

เรื่องของวัชพืชนั้น ตอนเริ่มปลูกโกโก้หรือระยะต้นอ่อนก็จะปล่อยให้ต้นวัชพืชเติบโตได้ ในช่วงนี้ต้องการร่มเงาและการคลุมดินเพื่อความชุ่มชื้นของดิน

วิธีการขยายพันธุ์โกโก้ สามารถทำได้ทั้งการติดตา ทาบกิ่ง แต่ที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุดคือ การเพาะเมล็ด ปลูกแบบมีพันธสัญญา หรือเป็นแบบลูกไร่ มีการประกันราคาจากบริษัทแม่ที่รับซื้อผลผลิต แต่ห้ามนำผลผลิตไปแปรรูปเอง ขายเอง นอกจากส่งผลสดให้บริษัทคู่สัญญาเท่านั้น ถ้าปลูกโดยพันธสัญญาไม่สามารถแปรรูปได้ เขาจะให้ต้นกล้าและมีผู้เชี่ยวชาญมาดูแลและเก็บผลสดให้บริษัทโดยตรง
ปลูกแบบอิสระ ซึ่งคุณนิติภูมิเลือกปลูกอิสระ คุณนิติภูมิ จะอิงราคาตลาดโลก ถ้าวันไหนโกโก้ขาดตลาดก็จะนำออกขายก็ได้หรือขายทั่วไป จะขายเป็นผลสดหรือแปรรูปเป็นโกโก้ผงเป็นบรรจุภัณฑ์ขายเองได้ หรือทำเป็นกลุ่ม แต่ถ้าคุณนิติภูมิเก็บเมล็ดไว้ก็เก็บได้เป็นปีหรือสองปีในเมล็ดที่ตากแห้ง ทั้งสองแบบก็เป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร
คุณพ่อเป็นฝ่ายผลิต คุณลูกเป็นฝ่ายขาย

สองพ่อลูกสองแรงแข็งขันที่หันมาปลูกโกโก้ ปลูกเอง ขายเอง ด้วยความมั่นใจ ตอนนี้ปลูกกันมากมายแต่การตลาดก็ยังไม่มีปัญหา เพราะมีคนมาขอซื้อผลผลิตตลอด มีผู้รับซื้อแน่นอนในปัจจุบันนี้ คุณนิติภูมิแปรรูปขายเป็นโกโก้ผงชื่อการค้าว่า โกโก้ล้านนา และมีขายตามร้านกาแฟทั่วไป เช่น ที่ลำปาง ร้าน แรบบิท คาเฟ่ (Rabbit Cafe) และร้านไวท์ คอฟฟี่ (White Coffee) เป็นต้น

การปลูกโกโก้ระยะยาว
จะมีปัญหาผลผลิตล้นตลาดหรือไม่
ตราบใดที่ประชาชนโลกยังมีการบริโภคช็อกโกแลต และใช้เครื่องสำอาง ราคาไม่มีลง โกโก้ปลูกได้แค่ในแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก ภาคใต้มีมานานแล้วแต่ขาดการส่งเสริม ปัจจุบันนี้ปลูกและผลิตในเมืองไทยได้แล้ว คนไทยได้รับประทานโกโก้ในราคาถูกลง ลงทุนครั้งเดียวจะขายเมื่อไรก็ได้ จะไม่กลัวเรื่องการล้นตลาด เพราะมีการบริโภคทั่วโลก

“ผมไม่กลัวเรื่องการตลาด เพราะผมทำการผลิตเอง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โกโก้ผง และผมยังรับซื้อผลผลิตอีกด้วย” คุณพ่อเฉลิมพล กล่าว ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และการนำผลิตผลมาใช้บริโภค

ผ่าเมล็ดออก ข้างในคล้ายกับเนื้อน้อยหน่าหุ้มเมล็ดข้างใน คาสิโนออนไลน์ นำเนื้อในส่วนนี้ไปหมักหรือเก็บไว้เพื่อให้เกิดการย่อยสลายและเกิดกลิ่นหมักคล้ายกลิ่นช็อกโกแลต โดยเนื้อหุ้มสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสารหมักธรรมชาติคล้ายยีสต์ ประมาณ 7 วัน หรือเนื้อหมักนั้นเย็นตัวลง ขั้นตอนนี้แล้วแต่วิธีการของแต่ละคน เป็นสูตรหมักเฉพาะเพื่อให้เกิดกลิ่นและสี เนื้อสีขาวที่หุ้มนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล การหมักก็จะห่อด้วยใบตองห่อแบบธรรมชาติเก็บไว้ในลังไม้ จะไม่คลุมด้วยพลาสติกเลย เนื่องจากการห่อด้วยใบตองการระบายอากาศแบบธรรมชาติจะทำให้เกิดกลิ่นหอมจากโกโก้นั้นคล้ายกลิ่นช็อกโกแลตจริงๆ ไม่มีกลิ่นพลาสติกเจือปน หลังจากนั้นก็นำมาตากแดด หรือนำไปใส่เตาอบเพื่อทำให้แห้ง ตากคล้ายตากเมล็ดกาแฟ ประมาณ 7-10 วัน เรียกว่า โกโก้ดิบ จะเก็บได้เป็นปี และนำมาเก็บโดยบรรจุกระสอบ ถ้าจะนำมาบริโภคก็จะนำมาคั่วเพื่อให้เกิดรสชาติที่เข้มข้น ถ้าต้องการรสชาติเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่วิธีการปรุงของแต่ละคน คล้ายๆ กับขั้นตอนของการคั่วกาแฟ ที่ต้องการเข้มหรือปานกลาง เสร็จแล้วก็นำมาตีเพื่อมาชงเป็นโกโก้ร้อน

แหนแดง (Azolla) จัดเป็นพืชน้ำขนาดเล็ก อยู่ในตระกูลเฟิร์นชนิดลอย พบได้ทั่วไปตามคู คลอง หรือแหล่งน้ำขังตามธรรมชาติ ต้นแหนแดงประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ลำต้น ราก และใบ โดยที่แหนแดงจะมีกิ่งแยกจากลำต้น และใบของแหนแดงจะเกิดตามกิ่งเรียงสลับกันไป โดยที่ใบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ใบบนและใบล่าง

ในส่วนของใบบน ซึ่งมีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบมากกว่าใบล่าง จึงมีสีเขียวเข้มกว่า ที่กาบใบบนด้านหลังมีโพรงใบและมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue green algae) อาศัยอยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แบบเดียวกับไรโซเบียมในรากพืชตระกูลถั่ว ซึ่งสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้สามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศ แล้วเปลี่ยนเป็นสารประกอบในรูปของแอมโมเนียมให้แหนแดง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอัตรา 200-600 กรัมต่อไร่ต่อวัน แหนแดงจึงเปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพโดยผ่านกระบวนการตรึงไนโตรเจนจากอากาศของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง

ประโยชน์ของแหนแดง
สามารถทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้
เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว
ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผักและไม้ผล เพิ่มทางเลือกสำหรับการผลิตพืชอินทรีย์
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการดูดตรึงฟอสเฟตของดิน
ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลา เป็ด ไก่ เป็นต้น
มีต้นทุนการผลิตต่ำ แหนแดงเติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว
ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเครือข่าย ด้านเกษตรผสมผสาน ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ที่ ลุงประนอม รักจริง หรือ ลุงนอม มีการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งปลูกไม้ยืนต้น ปลูกผักสวนครัว สมุนไพรต่างๆ เลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้า สร้างรายได้ให้ครัวเรือน พร้อมกับเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับคนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้และศึกษา