เกษตรกรบ่นอุบ! พริกราคาตกจาก 70 บาทเหลือ 14 บาท

นายสำราญ แซ่ว่าง อายุ 47 ปี อาชีพเกษตรกร ชาวพบพระ จ.ตาก กล่าวว่า ราคาพริกในพื้นที่อำเภอพบพระ ตกต่ำลงมาก เมี่อเทียบราคาจากปีที่ผ่านมา ต่างกันหลายเท่าตัว ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมาก โดยตนเองได้ปลูกพริกซุปเปอร์ฮอท ใช้พื้นที่ จำนวน 7 ไร่ มีพริกเขียว และพริกแดง แต่พริกแดงไม่มีพ่อค้าไปซื้อเลย ตามปกติช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขายพริกแดงในราคากิโลกรัมละ 60 – 70 บาท ปีนี้ลดลงเหลือราคา 14 – 15 บาท อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดูแล และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากพริกที่มีราคาลดลง นี้ กะหล่ำปี ก็มีราคาตกเช่นกัน อยู่ที่ราคา กิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งส่วนมากปลูกในพื้นที่ ตำบลคีรีราษฎร์ สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกขาย มีพื้นที่ปลูกพริก ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งปีที่ผ่านมา มีชาวไร่ปลูกพริกมาก เนื่องจากมีราคาดี ทำให้ปีนี้หันมาปลูกพริกมากขึ้น แต่ต้องผิดหวังไปตามๆกัน

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นายพิพัฒน์ ขวัญธนธีระวุฒิ ผู้ใหญ่บ้านแม่คำหล้า หมู่ 13 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง เปิดเผยว่า จากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้น ตนเองได้รับแจ้งจาก นายสาธิต เหมวรรธนบูรณ์ อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาว่า วัวที่เลี้ยงอยู่ในคอก บริเวณป่าท้ายหมู่บ้านได้เกิดล้มตายลงทีเดียวถึง 11 ตัว ซึ่งเป็นทั้งวัวตัวผู้ วัวตัวเมีย ซึ่งบางตัวก็ตั้งท้องลูกวัว และวัวท้องแก่ใกล้คลอด นอนตายอยู่ในที่เดียวกันใต้ต้นไม้ใหญ่ เมื่อตรวจสอบพบว่า ต้นไม้ที่อยู่ใกล้กับวัวที่ล้มตายลง มีร่องรอยของการถูกฟ้าผ่าลงมา จนต้นไม้ไหม้ และหักลง

ทั้งนี้ คาดว่าวัวที่หลุดออกไปจากคอก และได้เข้าไปหลบฝนฟ้าคะนอง จะถูกสายฟ้าที่ผ่าลงมา จนเกิดล้มตายลงทั้งฝูง สำหรับวัวดังกล่าวนั้น ปกติเจ้าของวัวจะเลี้ยงไว้ในคอก และจะเข้าไปดูเป็นบางครั้ง คาดว่าหลังวัวหลุดออกคอกไป ก็เดินออกไปกินหญ้าเรื่อยๆ กระทั่งจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และเกิดฟ้าผ่าลงมา จนตายยกฝูง เมื่อเจ้าของวัวมาดู ก็ไม่พบวัวอยู่ในคอก จึงเดินออกตามหา กระทั่งได้กินเหม็นเน่าออกมาจากป่าท้ายหมู่บ้าน จึงเข้าไปตรวจสอบพบวัวของตนเองนอนล้มตายขึ้นอืดทั้งหมด คาดว่าอาจจะเกิดล้มตายลงแล้ว 2 – 3 วัน มูลค่าความเสียหายทั้งหมดจากความสูญเสียวัวครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท

“ททท.” ปลุกกระแสท่องเที่ยวเชิงเกษตร เปิดงานเทศกาลสวนผลไม้และของดีภาคตะวันออก มั่นใจเงินสะพัดกว่า 68 ล้านบาท

นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ร่วมกับ 4 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี จัด “งานเทศกาลสวนผลไม้ และของดีภาคตะวันออก” ประจำปี 2560 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทย

รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสไตส์ลึกซึ้ง (Local Experience) สัมผัสอาหารถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และสินค้าต่าง ๆ อีกมากมาย โดยตลอดโครงการวางเป้าหมายมีเงินหมุนเวียนกว่า 68.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 62.49 ล้านบาท

โดยในปีนี้ ททท.ได้จัดทำโปรโมชั่นพิเศษ คูปองชิมผลไม้มูลค่า 100 บาท นำมาหักส่วนลดของราคาค่าเข้าสวนผลไม้ จำนวน 20 แห่ง จาก 4 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรีที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสวนดังกล่าวมีศักยภาพที่จะสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสวน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้ ราคาแพ็กเกจเข้าชมสวนและชิมผลไม้มีตั้งแต่ 350-500 บาทต่อคน

“ปีนี้ประเมินแล้วว่าผลไม้น่าจะมีผลผลิตออกมามากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง น่าจะมีช่วงเวลาขายยาวจนถึงเดือนกรกฎาคม และราคาผลไม้ไม่น่าจะแพงมาก จูงใจให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ ททท.จึงเริ่มโปรโมตงานเทศกาลสวนผลไม้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม โดยเตรียมแผนกระตุ้นตลาดเพื่อสร้างกระแส เช่น การนำฟรุตทรัก (Fruit Truck) มาโปรโมตและขายผลไม้ที่ตลาด อ.ต.ก. มุ่งโปรโมตคนไทยให้ไปเที่ยวชมและชิมผลไม้ในสวน 4 จังหวัดภาคตะวันออก”

สำหรับการจัดกิจกรรมท้าเที่ยวข้ามภาค นำนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ เดินทางมา ชิม ช็อป แชร์ สวนผลไม้จากจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด สละ ระกำ สับปะรด และอื่น ๆ จากสวนที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชิมผลไม้ เลือกซื้อกลับบ้าน และเก็บภาพสวยในสวนต่าง ๆ

เป็นที่ระลึก และยังเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวลึกซึ้ง (Local Experience) นอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาหารถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และสินค้าต่าง ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้แล้ว ททท.ยังได้มีการจัดกิจกรรมท้าเที่ยวข้ามภาค ในงานเทศกาลผลไม้และของดีจังหวัดระยอง ปี 2560 ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคมนี้ ณ ตลาดกลางผลไม้เพื่อการเกษตรตะพง จังหวัดระยอง โดยท้าคนไทยทั่วประเทศมาชิม ช็อป ผลไม้ภาคตะวันออก

พิษณุโลกจัดประกวดควายไทยงาน “มหกรรมควายยักษ์ เมืองสองแคว” ครั้งที่ 2

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดงานประกวดควายไทย ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมควายยักษ์ เมืองสองแคว” ครั้งที่ 2ที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งมีควายเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 100 ตัว จาก 16 จังหวัด

วันที่ 14 พฤษภาคม ที่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดงานประกวดควายไทย ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมควายยักษ์ เมืองสองแคว” ครั้งที่ 2 โดยมี นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ดร. สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพิธี ท่ามกลางเกษตรกรที่นำควายเข้าร่วมประกวดและประชาชนทั่วไปกว่า 1,000 คน

ผศ. ดร.ชนินทร์ อัมพรสถิร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า งาน “มหกรรมควายยักษ์ เมืองสองแคว” ครั้งที่ 2 นี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการบริการวิชาการ “ฟื้นฟูควายไทย ให้ยิ่งใหญ่ในอาเซียน: ระบบการผลิตและโอกาสทางการตลาด” ประจำปีงบประมาณ 2560 ของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีสำนักงานปศุสัตว์เขต 6 เป็นเจ้าภาพร่วม และได้รับความร่วมมือจาก สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้ ซึ่งมีควายเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 100 ตัว ที่มาจาก 16 จังหวัด โดยการจัดงานประกวดควายไทยในครั้งนี้เพื่อเผยแพร่และพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการคัดลักษณะควายที่ดีเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีให้เกษตรกรผู้เลี้ยงควายได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงผลงานการพัฒนาพันธุ์กระบือของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาการผลิตกระบืออย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรกระบือของประเทศในอนาคต

ด้าน นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค กระบือ เป็นครั้งแรก และปีนี้ถือเป็นปีแรกที่เรามีวันอนุรักษ์ควายไทย ปัจจุบันจํานวนควายไทยมีการลดลงอย่างรวดเร็ว จากสถิติของกรมปศุสัตว์พบว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จำนวนควายของไทยลดลงอย่างรวดเร็วจากปี 2548 ที่มีมากถึง 1.6 ล้านตัว แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึง 700,000 ตัว เนื่องจากการประกอบอาชีพทำนาปัจจุบัน มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงานควาย อีกทั้งยังมีการนำควายเพศเมีย ควายที่ตั้งท้อง และควายอายุน้อยมาบริโภคมากขึ้น โดยมีการบริโภคปีละกว่า 200,000 ตัว ขณะที่มีลูกเกิดปีละประมาณ 150,000 ตัวเท่านั้น

นอกจากนี้ไทยยังมีการส่งออกกระบือมีชีวิตทั้งเพศผู้และเพศเมียไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอาทิ จีน และกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งมีความต้องการกระบือเพิ่มมากขึ้น กรมปศุสัตว์ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงมีแผนเร่งดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ โดยเร่งกระตุ้นให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงกระบือเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นได้ของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 500 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อกระบือให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกระบือจำนวน 5,000 ราย เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งพัฒนาและอนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์ดีโดยส่งเสริมการผสมเทียมกระบือด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีก็จะทำให้ได้ลูกกระบือที่มีลักษณะดี เลี้ยงง่ายและโตเร็ว ซึ่งคาดว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้าปริมาณกระบือของไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตัว

คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ โดย ขุนพินิจ

การดำรงชีวิตทุกวันนี้ซับซ้อนมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์รอบตัวและต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันทั้งโลกในเกือบทุกด้านแต่ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเปลี่ยนไม่ทันโลก และไม่อาจต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งโลกร้อน โลกเย็น สงครามการค้า การก่อการร้ายที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็ไม่ได้หมายถึงว่า ทุกคนจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลกไปซะทุกเรื่อง แต่ทำอย่างไรที่เราจะเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและมีสติ รู้เท่าทันกับปัจจัยแวดล้อม หรือกฎกติกาใหม่ ๆ ที่ออกมา

ภาวะตอนนี้สิ่งที่ห่วงใยและอยากให้คนไทยและผู้บริหารประเทศใส่ใจใน 3 เรื่อง คือ 1.คนไทยไม่รู้กฎหมาย โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไปแล้วกว่า 150 ฉบับ

นี่ยังไม่นับรวมกฎกระทรวง/ระเบียบ/ประกาศต่าง ๆ อีกหลายสิบฉบับที่ออกมาไม่ขาดสาย และต้องรอดูว่าผลงานรัฐบาลครบรอบ 3 ปีในวันที่ 22 พ.ค. 2560 นี้ จะมีกฎหมายคลอดออกมาแล้วทั้งหมดกี่ฉบับ เพราะคาดว่าอาจจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ให้ได้ถึง 400 ฉบับ ว่ากันตามจริงก็คือ ไม่รู้กฎหมายเพราะการอ่านข้อกฎหมายต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยากในการทำความเข้าใจ ฉะนั้น การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาจะต้องเข้มข้นมากกว่านี้ เพราะหากไม่รู้กฎหมายและยังไม่เคารพกฎหมายเข้าไปอีก สังคมย่อมไม่มีความสงบสุข

อีกทั้งความไม่รู้กฎหมายของประชาชนก็กลายเป็นจุดอ่อน เกิดความไม่เป็นธรรม มักจะตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอก ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่ายจากพวกหัวหมอ พวกอาชญากรเศรษฐกิจ อาทิ แก๊งทวงหนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แชร์ลูกโซ่ การรุกป่า การค้ามนุษย์ ฉะนั้น รัฐจะต้องหาวิธีการทำให้ประชาชนได้รับรู้ ได้เข้าใจข้อกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียต่างๆ ให้ทั่วถึงจริงๆ ไม่ใช่แค่บอกว่าให้ไปเปิดอ่านในอินเทอร์เน็ตหรือจัดสัมมนาไปนั่งฟัง เข้าหูซ้ายทะลุหูขวากระมัง เพราะไม่เช่นนั้น การปฏิรูปกฎหมายหลายร้อยฉบับที่ว่าล้าสมัยคร่ำครึ ก็จะไร้ประโยชน์ ไม่สามารถบังคับใช้ได้และเกิดประโยชน์จริง ซึ่งยังจะมีพวกหาช่องเลี่ยงกฎหมายอีกด้วย

ส่วนเรื่องที่ 2.นโยบายอุ้มคนมีรายได้น้อย นับว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่ดีในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ การคัดกรองคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยนั้นต้องดูและกลั่นกรองกันให้ถ้วนถี่ เพราะมีบางคนซุกปกปิดข้อมูลรายได้/ทรัพย์สินเพื่อรอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ กลายเป็นพวก “อยากจน” มากกว่ายากจนจริงๆ พวกอยากจนเหล่านั้น นอกจากจะเอาเปรียบคนอื่นแล้ว ก็มักจะไม่ค่อยขยัน ไม่หางานทำให้มั่นคงเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว

อีกเรื่องก็คือ คนไทยกินผลไม้แพง แต่ราคาหน้าสวน หรือคนปลูกก็ยังถูก “กดราคา” รับซื้อเหมือนเดิม ผลไม้ที่ฮอตสุดในฤดูกาลนี้ก็คือ ทุเรียน ตอนนี้ราคาขายหน้าสวนก็ไม่ต่ำกว่ากิโลละ 100 บาท ราคาขายปลีกทุเรียนหมอนทองลูกย่อม ๆ ก็ปาเข้าไป 400-500 บาทแล้ว นี่ยังไม่นับรวมทุเรียนพื้นเมือง เช่น พันธุ์หลง-หลินจากอุตรดิตถ์ ราคา 300-500 บาท/กก. ส่วนทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ราคาพุ่งลูกละ 15,000-25,000 บาท เป็นเสมือนของวิเศษไปแล้ว คนเดินดินเอื้อมไม่ถึง คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน ส่วนใหญ่มักซื้อเป็นของฝากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือทุเรียนทอดกรอบก็ตกโลละ 600-800 บาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ของแพง-ไม่แพง” นั้น ตัดสินกันที่ความรู้สึกพึงพอใจที่จะจ่าย และเงินในกระเป๋า เพราะถ้าเป็นคนที่มีเงินเยอะ ก็จะบอกว่าไม่แพง แต่คนหาเช้ากินค่ำ คนกินเงินเดือน เจอราคาขนาดนี้ก็ถือว่าโคตรแพง ยุคนี้กินข้าวราดแกง หรือกินก๋วยเตี๋ยว 1 ชามก็แทบจะไม่อิ่มแล้ว ครั้นจะแบ่งเงินไปกินผลไม้เพิ่มวิตามินให้ร่างกายบ้างก็คงไม่ไหว

ช่วงหลังนี้ผลผลิตทุเรียน มังคุด ลำไย ส่งออกไปเมืองจีนมากถึง 70-80% เมื่อซัพพลายหายไปขนานี้ ราคาขายในประเทศจึงไม่เคยตกต่ำอีกเลย ข้อดีคือ ชาวสวนอาจขายได้ราคาดีขึ้น เพราะล้งจีนมาเหมาไปหมด แต่ในฝั่งผู้บริโภคหลายสิบล้านคนนั้น กำลังเจอภาวะผลไม้ราคาแพง ต่อไปคนไทยก็หาผลไม้คุณภาพดี ราคาย่อมเยาได้ยากขึ้น

มาถูกที่ถูกเวลากับการที่ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯรับลูกจากคณะรัฐมนตรีที่มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติปี 2560-2564 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 ทั้ง 3 กระทรวงจึงได้ประชุมระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ขึ้น

แน่นอนเป้าหมายของการพัฒนายุทธศาสตร์นี้คือการยกระดับการแข่งขันของไทยด้านคุณภาพสินค้าและตอบสนองผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพทั้งในประเทศและทั่วโลกที่มีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นในแต่ละปีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งทั่วโลก ได้บริโภคสินค้าคุณภาพปราศจากสารเคมีปนเปื้อนที่กระตุ้นการเกิดโรคร้ายและอื่น ๆ ตามมามากมาย

หนุนปลูกข้าวอินทรีย์ 9,000 บ./ไร่

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการระดมความเห็นประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติว่า ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แต่การผลิตยังมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานให้การส่งเสริมอย่างชัดเจน ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้น

เป้าหมายเพื่อให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 6 แสนไร่ ภายในปี 2564 และเพิ่มจำนวนเกษตรกรให้ได้ 30,000 ราย เพิ่มสัดส่วนการตลาดในประเทศให้ได้ 40% ส่งออกให้ได้ 60% รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์พื้นบ้านเพิ่มขึ้น ในขณะที่เกษตรกรต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ 10% ใน 5 ปีด้วยในกลไกการขับเคลื่อนจะมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้น

เพื่อให้การสนับสนุนผ่านเครือข่ายระดับท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้จะมีการสนับสนุนแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือใช้เงินทุนของรัฐที่มีการจัดตั้งไว้แล้วสำหรับเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนกับเกษตรกร องค์กรการเกษตรรวมถึงผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร ในขณะที่จะสนับสนุน Green Credit ผ่านสถาบันการเงิน โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่อนปรนกับผู้ผลิต แปรรูป จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และปัจจัยการผลิตอินทรีย์ รวมทั้งให้ทุนอุดหนุนเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรต้นน้ำที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ด้วย

“ในปีนี้เริ่มที่ข้าวอินทรีย์ก่อน เกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องรวมกลุ่มอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป มีพื้นที่อย่างน้อย 100 ไร่ขึ้นไป ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนปีแรก ไร่ละ 2,000 บาท

ปีที่ 2 เพิ่มเป็นไร่ละ 3,000 บาท และปีที่ 3 เพิ่มเป็น 4,000 บาท ทั้งนี้เพื่อจูงใจ ไม่ทิ้งโครงการกลางคัน นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องพันธุ์ที่ต้องเป็นอินทรีย์เท่านั้น ปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วย” นางสาวชุติมากล่าว

นางสาวชุติมากล่าวว่า การทำเกษตรอินทรีย์ในปีแรกจะได้ผลผลิตน้อยมาก ดังนั้นเกษตรกรต้องไม่ท้อ แต่หลังจากนั้นในปีที่ 2 และ 3 ผลผลิตที่ได้จะดีขึ้น และลดต้นทุนการผลิตได้มาก ราคาที่ขายได้จะสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวทั่วไป อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าเป็นสินค้าอินทรีย์จริง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้กำหนดมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานต่างประเทศ

ภายใต้การดำเนินการและการตรวจสอบ 15 ขั้นตอน โดยมอบอำนาจการตรวจสอบและรับรองให้กับกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง ในส่วนของข้าวให้เป็นหน้าที่ของกรมการข้าว และเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการตรวจสอบรับรอง มกอช.จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมเข้าเป็นหน่วยงานตรวจสอบและรับรองด้วย

ต้องมีตราออร์แกนิคไทยแลนด์

ในขณะนี้สินค้าที่ได้รับมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์มีน้อยมาก ส่วนใหญ่สินค้าของไทยที่ส่งออกได้จะอ้างอิงมาตรฐานของต่างประเทศ เช่น สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) มาตรฐานของสหภาพยุโรป หรืออียู แคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเป็นการผลิตในพื้นที่ 3 แสนไร่ มูลค่าการส่งออกปีละ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น

“ตอนนี้การรับรองมาตรฐานออร์แกนิค ไทยแลนด์ ยังไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากยังไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อทำความตกลงร่วมกัน โดยจะเร่งรัดดำเนินการต่อไปในอนาคต แต่ทั้งนี้ไทยต้องมีความพร้อมก่อน โดยการผลิตของกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มเครือข่ายที่อ้างว่า มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมหรือ PGS นั้นจะต้องเข้ามาขอรับมาตรฐานออร์แกนิค ไทยแลนด์ด้วย” นางสาวชุติมากล่าว

เปิด 15 รายการตรวจรับรอง

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า สินค้าที่ได้การรับรองจากมาตรฐานต่างประเทศดังกล่าวหากต้องการรับรองตราออร์แกนิค ไทยแลนด์ จะตรวจสอบเพิ่มใน 5 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1.พื้นที่ปลูกต้องมีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย 2.ต้องทำแนวกันชนพื้นที่ข้างเคียงที่ใช้สารเคมี 3.ตรวจน้ำใช้ต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก 4.ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จริงเท่านั้น และ 5.ไม่มีการนำของเสียจากมนุษย์มาใช้ในการผลิต โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับการขอตราออร์แกนิคไทยแลนด์ จะเร่งรัดกระบวนการตรวจรับรองให้กระชับและรวดเร็วขึ้น

ส่วนขั้นตอนการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์มีทั้งหมด 15 รายการ childbrides.org ประกอบด้วย 1.พื้นที่ผลิตต้องมีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย 2.มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากแปลงข้างเคียง 3.ต้องทิ้งแปลงไว้ 1-1.5 ปี ก่อนทำเกษตรอินทรีย์ 4.ต้องมีวิธีการป้องกัน การปฏิบัติในกรณีมีการปลูกพืชคู่ขนานหรือปลูกอินทรีย์ร่วมกับพืชที่ใช้สารเคมี 5.ต้องมีแนวทางปฏิบัติในการเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างการทําระบบเกษตรอินทรีย์และเคมี 6.ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่เป็นอินทรีย์เท่านั้น 7.ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น โดยไม่ใช้ของเสียจากมนุษย์

8.การจัดการศัตรูพืชต้องไม่ใช้สารเคมี 9.ห้ามเผาตอซัง 10.สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลจากธรรมชาติได้ 11.การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวต้องปลอดสารเคมี 12.กระบวนการการแปรรูปมีการป้องกันไม่ให้ปนเปื้อนสารเคมี 13.การบรรจุหีบห่อต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อน 14.การเก็บรักษาและการขนส่งต้องมีกระบวนการที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี 15.การแสดงฉลากต้องไม่เป็นเท็จ

ทางด้านนางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ตลาดต้องการ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ยารักษาโรคภูมิแพ้ ครีมบำรุง วิตามิน และกรรมวิธีที่ธรรมชาติยอมรับ ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับ คือ อินทรีย์แบบ 1.0 คือการผลิตสินค้าผ่านกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมไม่ใช้เครื่องจักร สินค้าอินทรีย์ระดับ 2.0 คือมีใบรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อมั่นได้ และระดับ 3.0 คือมีใบรับรองแล้วและต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน หรือดำเนินการในสิ่งที่โลกยอมรับได้

ทั้งหมดนี้จำเป็นที่ไทยต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในเดือน ก.ค.นี้จะหารือร่วมกันในที่ประชุมจะผลักดันให้มีประเทศผู้นำกลุ่มด้วย โดยเบื้องต้นจะมีการแลกเปลี่ยนเกษตรกรเพื่อให้เรียนรู้วิธีการและพัฒนาการผลิตสินค้าที่ทัดเทียมกันในกลุ่ม เนื่องจากในอนาคตจะมีมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนเกิดขึ้น

พะเยา – นายจัตุรงค์ สุวรรณะ นายก อบต. แม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เผยว่า ขายลิ้นจี่ผ่านระบบออนไลน์รับพรีออเดอร์ ก่อนส่งสินค้าให้ลูกค้าถึงมือโดยตรง ร่วมกับทางไปรษณีย์แม่ใจ ผู้ประกอบการชาวสวนลิ้นจี่จำนวน 25 ราย เกษตรกรอำเภอแม่ใจ และเจ้าหน้าที่เกษตรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

“การเปิดตลาดทางออนไลน์เป็นครั้งแรกของลิ้นจี่แม่ใจ ตอนนี้เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ 25 ราย มองว่าเป็นการขายที่ได้ราคางามและได้ความรู้เรื่องการคัดผลผลิตลิ้นจี่คุณภาพเกรดพรีเมียม แม้ขั้นตอนจะละเอียดแต่เมื่อเทียบกับราคาที่ได้แล้วเกษตรกรประทับใจมาก ทำให้เกษตรกรแจ้งว่าในปีถัดไปจะหันมาทำลิ้นจี่ห่อกันมากขึ้น ทาง อบต. และผู้ประสานงานทุกภาคส่วนทั้งเกษตรอำเภอ หอการค้า ได้ขอให้เกษตรกรคัดคุณภาพลิ้นจี่เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพะเยาอย่างยั่งยืน”