เกษตรกรพัทลุง แบ่งพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง สร้างรายได้ต่อ

รอบการผลิตหลักแสนบาทจังหวัดพัทุลง เป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคใต้ที่มีการทำสวนยางพาราด้วยเช่นกัน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาในเรื่องของราคาจำหน่ายผลผลิตยางพาราได้น้อยลง จึงทำให้เกษตรกรเกิดการปรับตัวและหาพืชชนิดอื่นเข้ามาปลูกทดแทน โดยมีการลดพื้นที่ยางพาราบางส่วน เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทางโดยไม่รอผลผลิตจากยางพาราเพียงอย่างเดียว

คุณจิตรา รุ่งรัศมีวิริยะ เกษตรอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ให้ข้อมูลว่า เมื่อผลผลิตอย่างยางพารามีราคารับซื้อที่ถูกลง จึงทำให้สำนักงานเกษตรอำเภอบางแก้วเห็นถึงช่องทางการสร้างรายได้ของเกษตรกร โดยในพื้นที่ได้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองที่ประสบผลสำเร็จและมีตลาดแน่นอนมั่นคง ต่อมาจึงได้มีการส่งเสริมให้รวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองผลิตกล้วยที่มีคุณภาพและถูกต้องตามมาตรฐาน GAP

“เมื่อเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองมีความเข้มแข็งและสามารถกำหนดทิศทางตลาดได้ หรือที่เรียกว่า ตลาดนำการผลิต ทางสำนักงานเกษตรอำเภอบางแก้วจึงได้เข้ามาส่งเสริมและจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้ผลผลิตที่จำหน่ายมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ เราก็ได้ให้หน่วยงานอย่าง กยท. เข้ามาช่วย เพื่อให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางพาราหรือจะนำกล้วยหอมทองปลูกแซมในสวนยางพาราก็ได้ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเกิดรายได้ทางช่องทางอื่นด้วย” คุณจิตรา กล่าว

โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งแปลงใหญ่กล้วยหอมทองอำเภอบางแก้ว ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ถือเป็นอีกกลุ่มที่มีศักยภาพสามารถเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกกล้วยหอมทองคุณภาพเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้

กระบวนการแปลงใหญ่ในการส่งเสริมการผลิต ได้แก่ ด้านการลดต้นทุนการผลิต มีการขยายหน่อพันธุ์ไว้ในรุ่นถัดไป ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ สามารถลดต้นทุนจากเดิม 35,500 บาท ต่อไร่ เหลือเพียง 28,400 บาท ต่อไร่ ด้านการเพิ่มผลผลิต มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองแซมในสวนยางพาราทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากเดิม 4,000 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 4,800 กิโลกรัมต่อไร่

ในด้านการเพิ่มคุณภาพผลผลิตมีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิก เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า ผลผลิตได้มาตรฐาน GAP ทุกแปลง สามารถผลิตเกรด A ได้ร้อยละ 80 ด้านการตลาด ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่มีตลาดแน่นอน มีช่องทางจำหน่ายผลผลิตเพิ่ม และด้านการบริหารจัดการ มีคณะกรรมการกลุ่มที่เข้มแข็ง ส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูก ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี

คุณอาคม ดิษฐ์สุวรรณ เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง สวนตั้งอยู่ที่บ้านทวดทอง หมู่ที่ 12 ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ให้ข้อมูลว่า เขาได้ประสบปัญหายางพารามีราคาตกต่ำ จึงตัดสินใจโค่นต้นยางและมาปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่รวม 8 ไร่ รวมต้นกล้วยหอมทองที่ปลูก 5,500 ต้น โดยปลูกมาแล้ว 2 ปี โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานเกษตรอำเภอบางแก้ว ส่งผลทำให้การปลูกกล้วยหอมทองประสบความสำเร็จ สามารถมีรายได้จากการปลูกใน 1 รอบ หรือ 9 เดือน สามารถสร้างรายได้รวม 500,000 บาท โดยผลผลิตกล้วยหอมจะนำส่งไปยังจุดรวบรวมของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย

“การปลูกกล้วยของผมจะใช้สารชีวภัณฑ์ช่วยดูแล ก็จะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนลงไปได้มาก ระยะปลูกที่แปลงของผม จะให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 2×2 เมตร การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก มีระบบน้ำที่เพียงพอ พร้อมทั้งในการปลูกกล้วยหอมจะเน้นการสร้างผลผลิตคุณภาพตามมาตรฐาน GAP เพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยการวางแผนการบริหารจัดการตามหลักการของกลุ่มแปลงใหญ่ ทั้งการใส่ปุ๋ย การห่อเครือกล้วย การคัดแยกผลผลิตตามเกรดต่างๆ ทำให้ได้กล้วยหอมคุณภาพและสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยทำให้ผิวของกล้วยหอมออกมาสวย ผลผลิตได้มาตรฐาน จำหน่ายเกิดเป็นรายได้ที่ดี” คุณอาคม กล่าว

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายกล้วยหอมทองนั้น คุณอาคม เล่าว่า เมื่อเป็นสมาชิกแปลงใหญ่กล้วยหอมทองอำเภอบางแก้ว ผลผลิตที่ผลิตอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน GAP จะส่งขายให้กับวิสาหกิจชุมชนอำเภอบางแก้วทั้งหมด โดยรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 17 บาท

จากการที่ได้มีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เคยทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว มาปลูกกล้วยหอมทองเสริมรายได้ ทำให้เวลานี้เขามีรายได้มากขึ้น และจะทำการปลูกกล้วยหอมเช่นนี้ต่อไป เพื่อให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องของการปลูกกล้วยหอมทองมาตรฐาน GAP สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอาคม ดิษฐ์สุวรรณ หมายเลขโทรศัพท์ 081-037-0032, 081-798-4060

หลายคนยังแยกไม่ออกระหว่างมะยงชิดกับมะปรางหวาน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะหากมองด้วยตาเปล่าแล้วผลไม้ทั้ง 2 อย่างนี้ มีความเหมือนกันอย่างกับแกะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะเข้าใจผิดว่ามะปราง คือมะยงชิด หรือมะยงชิด คือมะปราง ดังนั้น ก่อนที่จะทราบถึงเทคนิคการปลูก ผู้เขียนมีวิธีสังเกตง่ายๆ มาฝาก

คือหนึ่งส่วนใหญ่หากเป็นมะปรางจะมีลูกเล็กกว่ามะยงชิด สองสังเกตได้จากสีของผลเมื่อสุกเต็มที่ หากเป็นมะปรางหวานจะสีออกเหลืองนวล มากกว่ามะยงชิดที่ออกสีเหลืองส้ม และสามแตกต่างที่รสชาติ มะปรางจะให้รสชาติหวาน ส่วนมะยงชิดจะให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว

คุณกฤษฎา ขุนนามวงษ์ หรือ คุณเดียร์ เจ้าของสวนบุญสพวรรณ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หนุ่มพิมายรักในอาชีพเกษตร สานต่องานสวนของที่บ้านบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ เน้นปลูกพืชผสมผสาน มีมะยงชิด-มะปรางหวาน เป็นพืชดาวเด่น พร้อมเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและแบ่งปัน ไม่ต้องวิ่งออกไปหาลูกค้า ลูกค้าเข้ามาหา นำเงินมาให้เองถึงสวน

คุณเดียร์ เล่าให้ฟังว่า ตนเองประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรมาโดยตลอด ซึ่งเป็นอาชีพที่สานต่อมาจากครอบครัวที่จะเน้นปลูกพืชผสมผสานปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน มะขามเปรี้ยวยักษ์ เป็นพืชสร้างรายได้หลัก มีมะม่วง มะพร้าว และสะเดา เป็นพืชสร้างรายได้รองลงมา รวมๆ อยู่บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ โดยจะมีการจัดการแบ่งโซนการปลูกอย่างชัดเจน ดังนี้

โซนที่ 1 ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์จำนวน 25 ไร่ หรือประมาณ 500 ต้น เป็นการซื้อที่ต่อจากคนเก่าที่ทำไว้ แล้วมาทำต่อจากเจ้าของเดิม

โซนที่ 2 มะยงชิด-มะปรางหวาน ปลูกรวมกันบนพื้นที่ 24 ไร่ แบ่งปลูกซ้าย-ขวา อย่างละครึ่ง

โซนที่ 3 แปลงใหญ่เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ จัดการปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้รอบสวน ปลูกมะม่วง และสะเดาทวาย ไว้เก็บขายนอกฤดู สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

มะยงชิด-มะปรางหวาน ปลูกที่โคราช ได้ผลอย่างไร
หลายคนคงมีข้อสงสัยว่า มะยงชิดกับมะปรางหวาน ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครนายก เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่อื่นจะได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร จะลูกใหญ่ หวาน กรอบ อร่อย เหมือนกับปลูกที่นครนายกเมืองเจ้าถิ่นหรือไม่ คุณเดียร์ อธิบายว่า อันดับแรกคือ มะยงชิดและมะปรางหวานสามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ทั้งดินทราย ดินลูกรัง ดินร่วนปนทราย ซึ่งสภาพดินของที่สวนก็จะเป็นดินร่วนปนทราย ถือว่าเหมาะสม แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือเรื่องของสภาพอากาศ มะยงชิดเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น เพื่อช่วยให้ในการออกดอกติดผลได้ดียิ่งขึ้น เพราะด้วยสภาพอากาศที่พิมายจะมีอากาศร้อนเป็นส่วนมาก มีช่วงอากาศเย็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่งผลให้การติดดอกออกผลได้ไม่เท่ากับทางนครนายก แต่ยังถือเป็นพืชสร้างรายได้ดี ยังมีกำไรจากตรงนี้ ด้วยการปลูกดูแลที่ไม่ยุ่งยาก

“การปลูกมะยงชิดของที่สวนในช่วง 6-7 ปีแรก ไม่ค่อยได้ผลผลิต แต่จะติดเพียงหลัก 150-200 กิโลกรัม ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด 24 ไร่ แต่ช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความพร้อมของต้นเขาด้วย ต้นเริ่มใหญ่ขึ้นก็เริ่มให้ผลผลิตเยอะขึ้น และหลักๆ ที่นี่จะประสบกับปัญหาสภาพอากาศ อากาศไม่เหมือนกับนครนายกที่ปลูกกันอย่างจริงจัง ด้วยอำเภอพิมายมีอากาศร้อนเป็นส่วนมาก เวลาดอกออกมา เจอร้อนดอกก็จะสลัดไม่ค่อยติดผลเท่าที่ควร ซึ่งการปลูกในช่วงแรกๆ ก็ต้องทำใจหน่อย เราก็บำรุงไปตามสภาพที่เราทำได้ แต่ในช่วงหลังๆ ผมว่าคุ้มครับ อย่างปีที่แล้วได้ผลผลิตกว่า 5 ตัน ถือว่าเป็นผลผลิตที่เยอะสำหรับที่ปลูกในพื้นที่ไม่น่าจะปลูกได้”

โดยที่สวนปลูกมะยงชิด-มะปรางหวาน มาเป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว สำหรับมะยงชิดเลือกปลูกพันธุ์ทูลเกล้า มีจุดเด่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ติดผลดก ขนาดผลเสมอกันทุกพวง เมล็ดลีบเนื้อเยอะ ส่วนมะปรางหวานปลูกพันธุ์สุวรรณบาตร จุดเด่น เนื้อเยอะ เปลือกบาง รสชาติหวานกรอบ ผลขนาดใหญ่ ติดผลดก ซึ่งลักษณะภายนอกอาจจะไม่แตกต่างกันมา

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือมะยงชิดจะดูแลยากกว่ามะปรางหวาน ในส่วนของแมลงและกระรอกที่จะชอบเข้ามากินมะยงชิดมากกว่า

มะปรางหวานจะไม่ค่อยมีแมลงหรือสัตว์มารบกวนเท่าไหร่ แต่จะติดผลน้อยกว่ามะยงชิด ก็ถือว่ามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป วิธีการปลูก
มะยงชิด-มะปรางหวาน จะมีวิธีการปลูกที่คล้ายกัน ช่วงแรกๆ จะต้องใช้ซาแรนสีดำคลุมพรางแสงให้กับมะยงชิด-มะปรางหวานทุกต้น จากนั้นก็เริ่มปลูกกล้วยแซมเป็นพืชพี่เลี้ยง เมื่อเวลาผ่านไป มะยงชิดเริ่มเจริญเติบโตขึ้น ก็จะตัดต้นกล้วยทิ้ง เพื่อให้มะยงชิด-มะปรางหวานเจริญเติบโตได้เต็มที่

การเตรียมดิน ไถพรวน บำรุงดินก่อนช่วงแรก แล้วขุดหลุม เตรียมระยะปลูก ใส่ปุ๋ยมูลวัวผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 รองก้นหลุม นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกในระยะห่างที่เหมาะสม ที่แนะนำคือ 8×8 เมตร เพื่อให้ดูแลจัดการง่าย ไม่เป็นแหล่งสะสมโรค และในอนาคตเมื่อต้นเริ่มโตแตกกิ่งก้านสาขา จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต้นชนกัน แสงแดดส่องไม่ถึงด้านล่าง ที่นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้ผลผลิตออกน้อย

การดูแลรดน้ำ ช่วง 3 ปีแรก ดูแลเหมือนลูก รดน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อต้นเริ่มสมบูรณ์แข็งแรง ให้ผลผลิตแล้ว ที่สวนจึงเริ่มเปลี่ยนระบบการให้น้ำ จากระบบสปริงเกลอร์ เป็นการรดน้ำด้วยสายยางแทน เนื่องจากที่สวนจะรดน้ำเพียงปีละ 2 ครั้ง การปล่อยสปริงเกลอร์ไว้ทำให้เกิดการชำรุด เสียหายบ่อยๆ จากสัตว์หลายชนิดที่เข้ามากัดทำลายสาย ทำให้ที่สวนต้องมีการซื้ออุปกรณ์มาซ่อมแซมแบบนี้ทุกปี

โดยหลังจากที่ต้นเริ่มให้ผลผลิต มะยงชิด-มะปรางหวานจะไม่ต้องดูแลอะไรมาก เน้นอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติช่วยดูแล แล้วจะมาเน้นดูแลรดน้ำช่วงที่เริ่มติดดอก คือช่วงเดือนธันวาคม หลังจากดอกบานเริ่มจะติดผล จะเริ่มรดน้ำวันเว้นวัน เพราะถ้าช่วงนี้ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ น้ำไม่รดเลยดอกจะไม่มีความชื้น ดังนั้น จึงต้องรดน้ำไปเพิ่มความชื้นเพื่อไม่ให้สลัดผลทิ้ง

การใส่ปุ๋ย หลังจากเก็บผลผลิตเสร็จแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งที่เสียออก แล้วใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้เตรียมความพร้อมให้ผลผลิตในรอบต่อไป ด้วยสูตร 8-24-24 ใส่ปริมาณต้นละ 1/2 กิโลกรัม บริเวณรอบโคนต้น ใส่ช่วงเดือนตุลาคมเพียง 1 ครั้ง

จากนั้นจะมาเริ่มฉีดพ่นทางใบอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะว่าใส่ปุ๋ยกับต้นไว้น้อย จึงต้องมาเน้นการให้ฮอร์โมน แคลเซียม และปุ๋ยทางใบ ฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้งในช่วงนี้

“คือผมจะฉีดชุดแรกเป็นฮอร์โมน ก่อนที่เขาจะออกดอก แล้วพอเริ่มติดดอกเราจะมีผสมยาไล่แมลงลงไปนิดหน่อย เพราะว่าถ้าไม่ใส่เลย แมลงจะมากัดกินดอกของเราทำให้ดอกเราขาด เราจะไม่ได้ผลผลิต แล้วหลังจากนั้นจะมีแคลเซียมและปุ๋ยทางใบ ให้มาจนถึงเริ่มเป็นลูก เราก็จะหยุดให้ แล้วก็รดน้ำ รอเก็บผลผลิต”

ปริมาณผลผลิต อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าปัจจัยสำคัญในการติดผลของมะยงชิดอยู่ที่อากาศ ซึ่งอากาศในแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน อย่างปีที่ผ่านๆ มาไม่เคยได้ผลผลิตในชุดแรก แต่มาปีนี้โชคดีหน่อยได้ผลผลิตเยอะกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะอากาศปีนี้ค่อนข้างหนาวเย็นกว่าทุกปี ปีนี้จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ 2 ชุด คือเก็บผลผลิตชุดแรกต้นเดือนมกราคม ส่วนชุดที่2 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคมตามฤดูของมะยงชิด-มะปรางหวาน

ปริมาณผลผลิตที่เก็บได้ประมาณปีละ 5 ตัน โดยเฉลี่ยขนาดผลอยู่ที่จำนวน 20-22 ลูกต่อกิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท เท่ากันทั้งมะยงชิดและมะปรางหวาน เพราะทางสวนตั้งใจขายในราคาไม่แพง ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถจับต้องได้ และจะมีรูปแบบการขายแบบกึ่งเกษตรเชิงท่องเที่ยวและเกษตรเชิงแบ่งปัน

คือเกษตรเชิงท่องเที่ยวก็หมายถึง การเปิดสวนให้คนภายนอกได้เข้ามาเยี่ยมชมสวน เปิดให้ชิมฟรี และเลือกเก็บเกี่ยวมะยงชิด-มะปรางหวานได้เองตามใจชอบ ที่สวนจะมีอุปกรณ์ไว้ให้ ทั้งตะกร้อสอยผลไม้และตะกร้าไว้สำหรับใส่ผลไม้ มาที่จุดคิดเงินเพียงจุดเดียวที่อยู่ภายในสวน

ส่วนเกษตรเชิงแบ่งปันคืออะไร คือทางสวนไม่หวงว่าในระหว่างทางที่ลูกค้าเดินเก็บจะกินผลไม้ของที่สวนไปมากแค่ไหน ลูกค้าสามารถชิมได้ตามใจชอบเลย แล้วส่วนที่อยากซื้อกลับบ้านก็ค่อยมาชั่งกิโลจ่ายเงินกับเรา

“ก่อนที่จะมาทำแบบนี้ ผมโพสต์ขายในเพจเฟซบุ๊กมาก่อน แล้วเราจะวิ่งไปส่งทีละ 50-100 กิโลกรัม ทีนี้เราเริ่มส่งไม่ไหว เราเหนื่อย เราก็เลยลองเปิดสวนให้เข้ามาชิม ลูกค้าก็เริ่มมา แล้วก็เริ่มบอกต่อกัน เขาก็นัดกันมาซื้อที่สวนเลย ตอนนี้ก็กลายเป็นว่าเราขายในรูปแบบนี้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการขายออนไลน์บ้าง ก็มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ ช่วงหน้าที่มะยงชิดออกจะขายได้อยู่ประมาณวันละ 200-300 กิโลกรัมต่อวัน รายได้ปีที่แล้วประมาณ 5 แสนกว่าบาท รายจ่ายไม่น่าจะถึง 2 แสนบาท ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน แต่สำหรับมือใหม่ที่อยากจะทดลองปลูกคือต้องมีความอดทน เพราะมะยงชิดต้องใช้ระยะเวลาในการปลูก 4-5 ปีกว่าจะให้ผลผลิต ในช่วงระหว่างรอเก็บผลผลิตแนะนำให้หาพืชผลอย่างอื่นมาปลูกแซมสร้างรายได้ไปก่อนถือว่าไม่เสียหาย และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย” คุณเดียร์ กล่าวทิ้งท้าย

ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 098-434-1501 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : กฤษฎา ขุนนามวงษ์ “Yooang Farm (โยอังฟาร์ม)” ฟาร์มที่เกิดจากความสนใจในด้านการเกษตรของสองคู่รักนำมาสู่การทำสวนน้อยหน่าอิสราเอล ผลไม้ที่คุณโยได้เจอขณะทำงานที่ประเทศอิสราเอล และส่งต่อความรู้ที่มีจากการทดลองให้กับคนที่สนใจผ่านช่องทางออนไลน์อย่างไม่มีกั๊ก

คุณโยชูวา อินมา หรือ คุณโย เจ้าของโยอังฟาร์ม มีจุดเด่นในการใช้สื่อออนไลน์ สำหรับแชร์ความรู้และประสบการณ์ ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่งจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน รวมถึงลูกค้าของทางโยอังฟาร์มสามารถดูกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนถึงได้ผลผลิต

คุณโย เล่าว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปทำงานที่อิสราเอล และได้ไปทำสวนผลไม้ มีทั้งน้อยหน่า ส้ม และฝรั่ง ทำไปทำมาเริ่มรู้สึกสนใจ รวมถึงเริ่มชอบในการทำสวนผลไม้

หลังจากนั้นจึงวางแผนให้ทางบ้านที่ไทยทำสวนน้อยหน่า เมื่อคิดได้อย่างนั้นก็หาข้อมูล รวมถึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อที่จะเอามาแบ่งปันให้กับผู้ที่สนใจ

เหตุผลที่คุณโยเลือกน้อยหน่าอิสราเอลเพราะแปลก อีกอย่างคือบ้านเรายังไม่มีสายพันธุ์นี้ปลูกมากนัก คุณโยจึงเน้นการปลูกน้อยหน่าเพื่อนำมาขยายพันธุ์ในประเทศไทย

จุดเด่นของน้อยหน่าอิสราเอล คุณโย เล่าว่า น้อยหน่าอิสราเอลจะให้กลิ่นหอมตั้งแต่ลูกสุก และเมื่อผ่าออกมา เนื้อจะเนียน นุ่ม หวาน กลมกล่อม แตกต่างจากน้อยหน่าบ้านเราอย่างสิ้นเชิง

หากเป็นน้อยหน่าที่ขายกันทั่วไปในบ้านเรามีอยู่ 3 สายพันธุ์ ส่วนมากการเก็บเกี่ยวช่วงที่ผลสุกจะเก็บไว้ได้ไม่นาน ประมาณ 2-3 วัน ก็สุกแล้ว แต่ถ้าสายพันธุ์อิสราเอลจะเก็บได้นานกว่านั้น

ปัจจุบันฟาร์มจะขายน้อยหน่าอิสราเอล 1 กิโลกรัม ราคา 300 บาท รวมค่าจัดส่ง หากใครที่สนใจอยากนำไปปลูกทางคุณโยก็มีต้นพันธุ์จำหน่าย วิธีปลูกหรือการดูแลก็ง่ายมาก เพราะคุณโยบอกว่า ต้นน้อยหน่าอิสราเอลสามารถปลูกได้กับทุกพื้นที่ คนเมืองกรุงอย่างเราๆ ก็สามารถนำไปปลูกได้

โดยทางโยอังฟาร์มจะขายต้นพันธุ์ 1 ต้น ราคา 250 บาท รวมค่าจัดส่ง และทางโยอังฟาร์มจะมีโปรโมชั่นในแต่ละเดือนเป็นการลดราคาให้กับลูกค้าอีกด้วย

และสุดท้ายจากความรู้สึกชอบและสนใจในด้านการเกษตร จากวันนั้นถึงวันนี้คุณโยได้สร้างโยอังฟาร์ม มาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ตอนนี้รายได้ถือว่าดีพอสมควร คุณโย จึงอยากบอกผู้ที่สนใจในการทำเกษตร ไม่ว่าคนที่จะเกษียณหรือคนที่ออกมาจากงานประจำมาทำสวน สิ่งแรกคือ “ใจ” ต้องรักก่อน และต้องมีเวลาให้กับสิ่งที่เราทุ่มเทไป มุ่งมั่นตั้งใจเสาะหาข้อมูลและลงมือทำ รับรองว่าสำเร็จแน่นอน

กรมวิชาการเกษตรโชว์นวัตกรรมหอมแดงอบแห้งพร้อมใช้ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มนำส่วนเหลือทิ้งผลิตเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งผลิต
หอมแดงคุณภาพดี มีชื่อเสียงจนเรียกกันติดปากว่าหอมแดงศรีสะเกษ ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษคือเปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง กลิ่นฉุนแรงเก็บรักษาได้ยาวนาน เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศที่นิยมอาหารไทย เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น โดยหอมแดงคุณภาพที่ส่งออกต้องมีลักษณะเป็นหัวเดียวหรือหัวที่ยังไม่แยกออก ขนาดหัวจัมโบ้ (มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-4.0 เซนติเมตร (เฉลี่ย 3.47 ซม.) ผิวแห้งสนิท ปราศจากโรคแมลง ขนาดหัวสม่ำเสมอ และปลอดภัยจากสารพิษ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญที่อำเภอยางชุมน้อย ขุขันธ์ ราษีไศล วังหิน และกันทรารมย์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษส่วนใหญ่ผลิตและจำหน่ายหัวหอมสดเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้เพียง 2-3 เดือน ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตรจึงได้ศึกษาวิจัยแปรรูปหอมสดเป็นหอมแดงพร้อมใช้ โดยการนำหอมสดมาหั่นแล้วแช่ในสารละลายแคลเซี่ยมคลอไรด์และกรดซิตริก เพื่อคงลักษณะทางกายภาพของหอมแดงสดไว้ จากนั้นอบด้วยลมร้อน ซึ่งหอมแดงอบแห้งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 8-12 เดือน เมื่อต้องการใช้ประกอบอาหาร นำมาแช่น้ำสะอาดเพื่อให้หอมแดงจะคืนตัวโดยมีลักษณะทางกายภาพและกลิ่นเหมือนหอมแดงสด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ยังได้ทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้ของหอมแดง โดยหลังจากการเก็บเกี่ยวหอมแดงเกษตรกรจะนำต้นหอมแดงมามัดให้เป็นกลุ่มๆ นำมาแขวนตากและจะแต่งทำความสะอาดมัดเป็นจุกก่อนการจำหน่าย ซึ่งจะมีส่วนที่ไม่ใช้ประโยชน์คือ เปลือก ราก ใบ ซึ่งเป็นสิ่งเหลือใช้มีปริมาณรวม 4,000 ตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิต คณะนักวิจัยจึงได้วิจัยพัฒนาสร้างนวัตกรรมจากสิ่งเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยนำเปลือก ราก และใบหอมแดง มาสกัดสารสำคัญและกลั่นน้ำมันหอมระเหย พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารเคอร์ซิติน สารในกลุ่มไกล์โครไซด์ ซัลเฟอร์ และกลุ่มฟาโวนอย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโปรตีนทำให้คอลลาเจนอยู่ในสภาวะปกติไม่สลายตัว (ลดริ้วรอยตามวัย) สร้างเซลล์ใหม่ได้รวดเร็ว (สมานแผล และลบรอแผลเป็น) และลดอาการหวัดคัดจมูก

จากคุณสมบัติดังกล่าว ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงร่วมกับ จังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเบญจลักษ์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วิจัยและพัฒนาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยมาทำเครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่ ครีมบำรุงผิวหน้า เจลแต้มสิว โฟมล้างหน้า และเวชภัณฑ์ ได้แก่ สติกเกอร์แผ่นแปะ และน้ำมันหอมแดงช่วยบรรเทาอาการหวัด

ผลจากการวิจัยพัฒนาการแปรรูปหอมสดเป็นหอมแดงพร้อมใช้ childbrides.org นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าของหอมแดงแล้วยังทำให้สามารถกระจายผลผลิตและลดปริมาณหอมแดงไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ ทำให้ราคามีเสถียรภาพ อำนาจการต่อรองของกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรจะมีมากขึ้น รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมจากสิ่งเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการบริโภคหอมแดงในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาหอมแดงสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และการแปรรูปหอมแดงยังสามารถสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้นำผลงานวิจัยการแปรรูปเพื่อสร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากหอมแดง ประชาสัมพันธ์ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ และหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ผ่านกิจกรรม “สื่อรักแทนใจ รักใครให้หอม” ปี 2566 ของจังหวัดศรีสะเกษ ณ ทำเนียบรัฐบาล

ต้นตาล หรือ ตาลโตนด หรือ โหนด ในภาษาใต้ เป็นพันธุ์ไม้ปาล์มขนาดใหญ่ สกุล Borassus ในวงศ์ปาล์ม Arecaceae เป็นปาล์มที่แข็งแรงมากชนิดหนึ่ง และเป็นปาล์มที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น มีความสูงถึง 40 เมตร และโตวัดผ่ากลางประมาณ 60 เซนติเมตร

ลักษณะลำต้น จะเป็นเสี้ยนสีดำแข็งมากแต่ไส้กลางลำต้นอ่อน บริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเหมือนพัดขนาดใหญ่ กว้าง 1-1.5 เมตร มีก้านเป็นทางยาว 1-2 เมตร ขอบของทางของก้านทั้งสองข้างมีหนามเหมือนฟันเลื่อยสีดำแข็งๆ และคมมาก โคนก้านแยกออกจากกันคล้ายคีมเหล็กโอบหุ้มลำต้นไว้

ช่อดอกเพศผู้ ใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มคล้ายนิ้วมือ เรียกว่านิ้วตาล แต่ละนิ้วยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และโตวัดผ่ากลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร โคนกลุ่มช่อจะมีก้าน ช่อรวมและมีกาบแข็งๆ หลายกาบหุ้มโคนก้านช่ออีกทีหนึ่ง ช่อดอกเพศเมียก็คล้ายๆ กัน แต่นิ้วจะเป็นปุ่มปม ปุ่มปมคือดอกที่ติดนิ้วตาล ดอกหนึ่งๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 2 เซนติเมตร และมีกาบแข็งๆ หุ้ม แต่ละดอก กาบนี้จะเติบโตไปเป็นหัวจุกลูกตาลอีกทีหนึ่ง ผลกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้นๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 15 เซนติเมตร ผลเป็นเส้นใยแข็งเป็นมัน มักมีสีเหลืองแกมดำคล้ำเป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลืองไว้ภายใน ผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดใหญ่แข็ง 1-3 เมล็ด

คุณณรงค์ ภู่เงิน อดีตข้าราชการทหารและเจ้าของ “สวนตาลณรงค์” ในพื้นที่ตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี แหล่งเรียนรู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับตาลโตนดแท้ 100% จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการการปลูกต้นตาลมานานกว่า 21 ปี แต่กว่าจะประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ได้ ต้องผ่านการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง ทั้งการปลูกกล้วยหอม มะม่วง จนมาถึงการปลูกต้นตาลในปัจจุบัน

ด้านจุดเริ่มต้น คุณณรงค์ เล่าว่า เดิมทีที่บ้านมีอาชีพทำนาและขึ้นตาลอยู่แล้ว ก่อนจะปลูกตาลนั้น ทดลองปลูกพืชมาหลายชนิด เริ่มจากกล้วยหอมและมะม่วง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง เพราะด้วยพื้นที่บริเวณที่ปลูกเป็นดินด่างและเค็ม ก่อนจะได้รับคำแนะนำจากทางคุณพ่อว่าให้ลองปลูกต้นตาล

“เราปลูกต้นตาลมา 21 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2545 ที่บ้านมีที่อยู่แล้ว เป็นที่นา พื้นที่ที่เราปลูกตาลค่อนข้างที่จะเป็นด่าง เค็มนิดๆ ตอนแรกจะมีต้นไม้ที่ขึ้นสำหรับดินเค็ม ทางเพชรบุรี จะเป็นต้นหนามลอกข้อ เพราะต้นไม้ประเภทนี้เวลาขึ้น จะชอบขึ้นในดินเค็ม ต้นแฝกอีกอย่างหนึ่ง ครั้งแรกเราเริ่มปลูกกล้วยหอมก่อน แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะอย่างที่บอกว่าเป็นดินที่ค่อนข้างจะเค็ม แล้วก็เปลี่ยนมาปลูกเป็นมะม่วงในพื้นที่ 5 ไร่ ปลูกอยู่ประมาณเกือบ 10 ปี ทำตามหลักวิชาการทั้งใส่ปุ๋ย ตัดแต่งใบแล้วก็จะบันทึกรายได้ของการทำมะม่วง ปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เลยเปลี่ยนและหาว่าจะปลูกพืชอะไรที่มันยั่งยืน รวมถึงที่บ้านมีอาชีพทำนาและขึ้นตาลอยู่แล้ว ก็เลยได้คำแนะนำว่าน่าจะปลูกต้นตาลครับ จึงนำตาลมาลงปลูกแซมในป่ามะม่วง ซึ่งช่วงระยะเวลา 3-4 ปี ต้นตาลจะยังไม่ใหญ่ ลำต้นขนาดเท่าขวดน้ำอัดลม ความสูงประมาณ 1 เมตร สำหรับอายุของต้นตาลบางตำราบอกว่ามีอายุถึง 400 ปี”