เกษตรกรรุ่นเก๋า! แนะเทคนิคปลูกผักปลอดสาร ให้ตลาดแย่งกันซื้อ

หมั่นตรวจเช็กพยากรณ์อากาศ เพื่อวางแผนการปลูกที่ดี
ทันต่อความต้องการของตลาด
อย่างที่ทราบกันดีว่า การทำเกษตรไม่ใช่แค่ปลูกผักเป็นแล้วจะอยู่รอด นอกจากปลูกแล้วต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่างเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ อีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ สภาพอากาศในแต่ละวัน เกษตรกรต้องหมั่นตรวจเช็กพยากรณ์อากาศทุกวัน เพราะผักปลอดสารเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน มิฉะนั้นสินค้าจะขาดมือ ตัวอย่างเช่น อีก 6 วัน จะต้องตัดแต่หากอากาศหนาวจัดผักไม่โต อาจต้องเลื่อนจากเดิมไป 2-3 วัน เพราะฉะนั้นต้องฟัง และวางแผนเตรียมไว้เลย สมมุติพยากรณ์อากาศบอกว่า อีก 3 วัน จะหนาว ให้เราเพาะพันธุ์เพิ่มไว้เลย ที่นี่ได้โอกาสช่วงนี้ทำให้ได้ลูกค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเยอะมาก

ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการปลูกไว้ล่วงหน้า การเพาะกล้าต้องแยกประเภท อย่าง กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค สมาชิกต้องการมาก ก็เพาะมากหน่อย ทุกอย่างต้องวางแผนเพาะให้เยอะไว้ก่อน ถ้าของเหลือไม่เป็นไร หาขายที่อื่นได้ ถ้าของขาดก็เครียด เพราะจะทำให้เสียลูกค้าประจำได้เลย

ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูก หลังจากเพาะกล้า 14-21 วัน ในฤดูหนาว ปลูกลงดินเพียง 25 วัน ตัดได้ ถ้าหน้าฝน จะอยู่ที่ 30-35 วัน

“การเก็บเกี่ยวดูตามสภาพ บางอย่างต้องเสียสละ เกษตรกรบางรายถ้าผักของเขาอายุและน้ำหนักไม่ถึง เขาจะไม่ตัดเลย แต่บางทีต้องยอม ไม่อย่างงั้นลูกค้าจะไม่มีวัตถุดิบไปทำอาหาร ตัดน้อยตัดมากให้เขามีของขาย เขาก็จะไม่ไปซื้อที่อื่น ถ้าเราทำให้เขาเครียดบ่อยๆ เดี๋ยวเขาก็ไปหาที่อื่น โดยธรรมชาติแม่ค้าจะมีร้านสำรองไว้ 1-2 ร้าน เผื่อพลาดอยู่แล้ว” อาจารย์สงบ กล่าว

ข้อคิดการตลาด ก่อนทำต้องคิดถึง 3 ข้อ
หลักการทำธุรกิจที่อาจารย์สงบยึดถือมาตลอด มีอยู่ 3 ข้อ

ของที่ทำต้องมีคุณภาพ
ต้องทำให้ได้ปริมาณเชิงธุรกิจ หมายความว่า มีมากพอที่จะขายซัปพอร์ตในตลาด
ต้องทำผลผลิตให้ออกทุกวันเพื่อความต่อเนื่อง แล้วจะให้ออกทุกวันได้อย่างไร ต้องมีการวางแผนการผลิต ใครสั่งของมาต้องมีให้ เพราะฉะนั้นถ้าคุมสิ่งเหล่านี้ได้ปัญหาเรื่องการตลาดจะน้อยลง คู่ค้าทุกคนต้องการความเชื่อมั่น สั่งมาเรามีของให้เขา คุณภาพดี ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะคุมตลาดได้ทั้งหมด

คำนวณหักลบค่าใช้จ่าย
ต้องมีรายได้เท่าไร เหลือเท่าไร จึงจะอยู่รอด
อาจารย์สงบ ให้ใช้หลักคิดง่ายๆ ว่า เรามีพื้นที่ประมาณสิบกว่าไร่ วันหนึ่งต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า วันละ 10,000 บาท เพราะค่าแรงงาน วันหนึ่ง 6,000 บาท ค่าไฟ ให้คิดไว้เลย เดือนละ 10,000 บาท รวมกับค่าปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา เพราะฉะนั้นคิดคำนวณแล้วหากจะให้อยู่รอดต้องมีรายได้ใน 1 เดือน ไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท ถ้าทำขายได้วันละ 20,000 บาท ถือว่าดี แต่จะทำให้ได้ขนาดนี้คือต้องเหนื่อยมากๆ

รู้ประโยชน์ของผลผลิตตัวเองรอบด้าน คือการตลาดที่ดีที่สุด
“ต้องบอกว่า โชคดีที่เรามีตลาดรองรับมาก่อน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะไปขายให้ใคร ทุกวันนี้ตลาดของผมคือ ร้านอาหาร ตลาดท้องถิ่น ศูนย์โอท็อปพุแค จังหวัดสระบุรี ศูนย์โอท็อปพุแค ถือว่าเป็นต้นแบบโอท็อปของประเทศไทยเลย มีกระบวนจัดการสินค้าที่ดี รวมถึงส่งตามงานอีเว้นต์ที่กรุงเทพฯ ด้วย การตลาดที่ดีไม่ใช่แค่ขายผลผลิตให้ลูกค้าอย่างเดียว แต่เราต้องมีความรู้ในสินค้าของเรา และแนะนำให้ลูกค้านำไปต่อยอดได้ อย่างเช่น ที่ร้านอาหารแถบอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นลูกค้าที่มาทานไม่ใช่คนพื้นที่ เราก็นึกพยายามป้อนความคิดที่ว่า ลูกค้าของคุณไม่ใช่คนพื้นที่ การที่จะเอาผักกาดหอมมาจัดจาน มันก็ดูธรรมดาเกินไป เราก็เสนอทำไมไม่ใช้ผักสลัดกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค มาจัดแทนให้ดูดี และสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ซึ่งพอเราพูดไปแบบนี้ หลายร้านก็เปลี่ยนตามเรา เพราะเขามองเห็นภาพที่เราแนะนำ” อาจารย์สงบ เล่า

และบอกอีกว่า “เพราะฉะนั้นเราจะทำอะไรก็ตาม เราไม่ได้ทำเพื่อขายอย่างเดียว เราต้องศึกษาด้วย พยายามเรียนรู้ อย่าง เบบี้คอส ไม่ใช่ทานเป็นผักสลัดอย่างเดียว แต่เอาไปผัดน้ำมันแทนผักกาดได้ อร่อย กรอบ เราแนะนำไปหลายร้านก็เปลี่ยนมาทำ ต้นอ่อนเราก็มาคิดว่าทำอะไรได้อีก ต้มจืด ส้มตำ ยำ ใส่ไข่เจียว เราต้องหามานำเสนอเขา มันก็ทำให้ของเราขายได้เพิ่มไปด้วย”

แนะนำมือใหม่ ปลูกเป็นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความมุ่งมั่นด้วย
อาจารย์สงบ บอกว่า ปลูกผักสลัดไม่ยาก แต่ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่า

รักในอาชีพเกษตรกรรมไหม
ต้องดูว่า ปลูกแล้วขายให้ใคร กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เพราะกลุ่มเป้าหมายมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องการไม่เหมือนกัน บางกลุ่มต้องการคุณภาพ บางกลุ่มต้องการปริมาณ เพราะฉะนั้นให้ถามตัวเองว่า ชอบไหม ทำได้ไหม มีคนช่วยหรือเปล่า ไม่ใช่ทำแล้วมีปัญหาจะหวังพึ่งน้ำบ่อหน้าไม่ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจเยี่ยมชมสวนผักครูสรรเสริญ เชิญได้ที่ เลขที่ 72 หมู่ที่ 13 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี หรือ โทร. 081-828-3917

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้จัดสัมมนาท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยนำผู้สนใจเข้าชมและเรียนรู้วิธีการปลูกผักปลอดสารที่ฟาร์มครูสงบ ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อให้ผู้เข้าอบรมนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพต่อไป สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343

ข้าวโพดหวาน พันธุ์อินทรี 2 ข้าวโพดที่ขึ้นชื่อเรื่องความหวาน ที่หลายๆ คนชื่นชอบ นอกจากจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคแล้ว ข้าวโพดสายพันธุ์นี้ยังสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

คุณวิสูตร ศิลประดิษฐ์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 9 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เดิมทีทำอาชีพค้าขายผลไม้มาก่อน แต่ผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก จึงเริ่มหันมาทำไร่ คุณวิสูตร เริ่มปลูกข้าวโพดมาได้ 8 ปีแล้ว บนเนื้อที่ในการปลูกทั้งหมด 32 ไร่ โดยคุณวิสูตรเล่าว่า จุดเด่นของข้าวโพดพันธุ์นี้อยู่ที่ให้ผลผลิตไว และรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ปลูกข้าวโพดหวานไม่ยาก แต่ต้องดูแล

ข้าวโพด ถ้านับตั้งแต่ช่วงหยอดเมล็ดไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว จะใช้เวลาอยู่ที่ 65-70 วัน โดยช่วงที่ข้าวโพดจะให้ผลผลิตช้าที่สุด จะอยู่ในช่วงของฤดูหนาว เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อนั้น ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 2 กิโลกรัม

ในกระบวนการปลูก ขั้นตอนของการเตรียมดินจะต้องไถดินและยกร่องดิน เพื่อให้ดินพร้อมสำหรับการหยอดเมล็ด ระยะห่างระหว่างร่อง อยู่ที่ประมาณ 70 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างเมล็ด ประมาณ 30 เซนติเมตร ใน 1 หลุม จะใส่เมล็ด 2 เมล็ด เมื่อหยอดเมล็ดแล้ว ผ่านไป 4 คืน ต้นอ่อนจะเริ่มงอก เมื่อต้นข้าวโพดงอกจะต้องถูกคัดให้เหลือเพียงหลุมละ 1 ต้น เท่านั้น โดยที่จะเริ่มถอนต้นข้าวโพดเมื่อต้นมีอายุ 20 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม่สมบูรณ์

การให้น้ำ จะให้โดยระบบสปริงเกลอร์ จะให้น้ำครั้งละ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนในฤดูฝนจะไม่ค่อยให้น้ำ เพราะต้นข้าวโพดจะได้รับน้ำฝนจากธรรมชาติอยู่แล้ว ในพื้นที่ 1 ไร่ จะตกอยู่ที่ 100 หัวจ่ายน้ำ

การให้ปุ๋ยในครั้งแรก จะใส่ปุ๋ยรองพื้น คือใส่ปุ๋ยไปพร้อมกับตอนที่ยกร่อง ใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ใน 1 ไร่ เฉลี่ยการใส่ปุ๋ยอยู่ที่ 1 ลูก หรือ 50 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากที่ถอนต้นข้าวโพด จะใส่ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 เฉลี่ยตกไร่ละ 1 ลูก หรือ 50 กิโลกรัม เช่นกัน ครั้งที่ 3 ใส่เมื่อข้าวโพดเริ่มเข้าสู่ช่วง “กำลังแต่งตัว” คือใกล้จะออกดอก อายุประมาณ 45 วัน โดยที่จะใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ผสมกับปุ๋ยยูเรีย ในอัตราส่วน 2:1 คือ ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ใส่ 50 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย 25 กิโลกรัม

ศัตรูพืชที่พบช่วงนี้คือ หนอน จะพบเจอมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีวิธีการป้องกันโดยการใช้ อีมาเมกติน+เบนโซเอท ต่างจากเมื่อก่อนที่ศัตรูพืชจะเป็นเพลี้ยไฟ แต่ช่วงนี้หนอนกลับระบาดอย่างหนักแทน

ผลผลิตที่ได้หลังการเพาะปลูก ผลผลิตใน 1 ไร่ จะได้น้ำหนักประมาณ 2 ตัน ราคามีทั้งหมด 3 ราคา ตามขนาดไซซ์และคุณภาพของข้าวโพด คือ กิโลกรัมละ 5 บาท 7 บาท ประกันราคาสูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 9 บาท แต่ช่วงฤดูหนาวเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม ราคาที่สูงที่สุดจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 11 บาท เลยทีเดียว เพราะในช่วงฤดูหนาวผลผลิตที่ได้จะค่อนข้างช้าและยากกว่าฤดูอื่นๆ

ในการปลูกข้าวโพด 10 เดือน จะได้ข้าวโพดทั้งหมด 2 รุ่น (รวมการพักดินในแต่ละครั้งหลังการเก็บเกี่ยว เป็นเวลาทั้งหมด 2 เดือน)

หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ต้นข้าวโพดที่เหลืออยู่นั้นก็สามารถขายให้กับกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ ราคาจะตกอยู่ที่ไร่ละ 1,200 บาท

สมารถติดต่อ คุณอารี ศิลประดิษฐ์ (ภรรยาคุณวิสูตร ศิลประดิษฐ์) ได้โดยตรง โทร. 062-631-7219 บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 9 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จะจัดสัมมนาท่องเที่ยวเชิงเกษตร กำหนดการหนึ่งที่แวะกันคือไร่สุวรรณ หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่วิจัยได้ข้าวโพดอินทรี 2 ทีมงานจะพาชมการแปรรูปน้ำนมข้าวโพด จากข้าวโพดอินทรี 2 รวมทั้งซื้อผลิตผลผลิตภัณฑ์กลับบ้าน

ในช่วงที่มีอากาศหนาว มีน้ำค้างลงจัด และมีความชื้นในอากาศสูงเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกฟักแม้ว (ชาโยเต้ หรือ มะระหวาน) ให้หมั่นสังเกตอาการของโรคราน้ำค้างที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน ต่อมาขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน เริ่มแรกพบแผลเหลี่ยมเล็กฉ่ำน้ำตามกรอบของเส้นใบย่อย ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กรณีที่ในตอนเช้ามีความชื้นสูง จะพบเส้นใยเชื้อราเป็นขุยสีขาวเทาตรงแผลใต้ใบ จากนั้น แผลจะขยายใหญ่ติดต่อกัน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรง จะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น และต้นที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง กรณีเป็นโรคในระยะผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว

สำหรับพื้นที่ที่พบอาการของโรคราน้ำค้าง เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และตัดแต่งใบที่อยู่ด้านล่างของต้นออกบางส่วน เพื่อให้แปลงปลูกมีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดการสะสมเชื้อราสาเหตุโรค และทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตง อีกทั้งควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชตระกูลแตง

ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรเก็บเศษซากพืชส่วนที่เหลือนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที และให้เลือกใช้ผลหรือกิ่งพันธุ์คุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หลีกเลี่ยงการปลูกพืชแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสูง อากาศไม่ถ่ายเท และโรคระบาดได้รวดเร็ว ส่วนแปลงที่เป็นโรค ควรงดการให้น้ำในช่วงเย็น

กรณีพบด้วงเต่าแตงที่เป็นพาหนะเชื้อราสาเหตุโรค เกษตรกรควรกำจัดโดยการจับตัวด้วงเต่าแตงมาทำลาย หรือพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

หากพบโรคเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน 30%+22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ พ่นทุก 5-7 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บผลผลิตอย่างน้อย 7 วัน

“ส้มโอทับทิมสยาม” ไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน ที่ชื่นชอบส้มโอจากประเทศไทยมากเป็นพิเศษ เนื่องจากส้มโอทับทิมสยาม มีเนื้อแดง รสหวานฉ่ำ อร่อย น่ารับประทาน แถมยังเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีสรรพคุณทางยา มีวิตามินซีสูง สาวจีนจึงนิยมรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก ดังนั้น ส้มโอทับทิมสยาม จึงมีโอกาสส่งออกไปขายในประเทศจีนเพิ่มขึ้นทุกปี

ในปี 2561 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์โดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2560 ให้กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ให้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสำหรับสวนส้มโอทับทิมสยาม ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสวนส้มโอทับทิมสยามและจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในระดับผู้นำในพื้นที่

รศ.ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี และ รศ.ดร. มัลลิกา เจริญสุธาสินี แห่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ซึ่งเป็นทีมคณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยาม พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสำหรับส้มโอทับทิมสยามและระบบประมวลผลเทคโนโลยีสารสนเทศ บนคลาวด์ (Cloud) เพื่อนำมาแสดงแบบเว็บท่าเพื่อช่วยเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยามในการตัดสินใจให้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่และก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยาม

วิธีปลูกส้มโอทับทิมสยาม ให้รอด

หากต้องการปลูกส้มโอทับทิมสยามให้ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มต้นจากการคัดเลือกกิ่งพันธุ์ส้มโอที่เหมาะสม โดยเลือกจากต้นแม่พันธุ์ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ที่ให้ผลแล้ว มีผลดก มีรสชาติดี เลือกจากต้นที่มีความเจริญเติบโตแข็งแรง มีโรคและแมลงน้อยที่สุด เลือกกิ่งกลม ไม่เป็นเหลี่ยม เลือกกิ่งที่มีใบเป็นเพสลาด ไม่ควรเลือกกิ่งอ่อนหรือแก่เกินไป เพราะทำให้ตายง่ายและโตช้า

นอกจากนี้ ดิน ก็มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้มีชัยไปกว่าครึ่ง ยิ่งปลูกในดินดี ที่มีส่วนผสมของดินเหนียว 70% มีค่า pH 5.2-7.2 จะช่วยให้ต้นส้มโอทับทิมสยามเจริญเติบโตได้ดี หากดินมีค่า pH น้อยกว่านี้ จำเป็นต้องปรับสภาพโดยใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยชีวภาพ

สวนส้มโอทับทิมสยามในพื้นที่อำเภอปากพนัง มีสภาพเป็นที่ลุ่ม เกษตรกรจึงนิยมปลูกโดยขุดยกร่องสวน กว้าง 6 เมตร สำหรับปลูกแบบแถวเดี่ยว หรือขุดร่องสวน กว้าง 14 เมตร สำหรับการปลูกแบบแถวคู่ และเว้นร่องน้ำให้กว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร

เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอทับทิมสยามโดยใช้กิ่งตอน เว็บคาสิโน มีทรงพุ่มค่อนข้างแผ่กว้าง 6-8 เมตร ติดผลตรงปลายกิ่ง กำหนดระยะปลูกระหว่างแถว 8 เมตร และระยะระหว่างต้น 6 เมตร ทำให้ปลูกได้ 33 ต้น ต่อไร่ การปลูกส้มโอทับทิมสยามจากกิ่งตอนทำให้มีรากน้อยและการกระจายของรากมีจำกัด ทำให้ต้องขุดหลุมขนาดใหญ่ ดินร่วนโปร่ง ระบายน้ำและอากาศดี มีธาตุอาหารที่เหมาะสม ขุดหลุมปลูกกว้าง 1x1x1 เมตร ตากหลุมไว้ 1 เดือน เพื่อให้แสงแดดฆ่าเชื้อโรคและทำลายวัชพืช หลังจากนั้น กลบหลุมโดยผสมหน้าดินที่ขุดขึ้นมากับปุ๋ยคอกเก่า จำนวน 10 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟต ประมาณ 500 กรัม ต่อหลุม คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เพื่อใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก

หลังปลูกให้ใช้ไม้ปักและผูกเชือกยึดกิ่งพันธุ์ ประมาณ 1 ปี เพื่อป้องกันลมพัดโยก คลุมดินบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชุ่มชื้น รดน้ำให้ชุ่มและทำร่มเงาในช่วง 1-2 เดือนแรก ประมาณ 15-20 วัน ต้นส้มโอทับทิมสยามที่ปลูกจะแตกยอด หากเป็นไปได้ควรปลูกในฤดูแล้ง เพราะต้นส้มโอแตกยอดเร็วกว่าฤดูฝน เนื่องจากต้นส้มโอทับทิมสยามต้องการแสงแดด 100%

ต้นส้มโอทับทิมสยาม อายุ 1-2 เดือน ไม่ต้องให้ปุ๋ย หลังปลูก 2-5 เดือน ให้ปุ๋ยชีวภาพ เมื่ออายุ 6 เดือน ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 เดือนละ 1 ครั้ง เมื่อต้นส้มโออายุ 1 ปี ต้นส้มโอจะเติบโตแตกกิ่งก้านสาขา ค่อยให้ปุ๋ย สูตร 40-0-0 ผสมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 สัดส่วน 1:2 ในอัตราส่วน 200 กรัม ต่อต้น ทุกๆ 3 เดือน สลับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อต้นส้มโอทับทิมสยาม อายุ 2-3 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรดังกล่าวข้างต้น 0.5-1 กิโลกรัม ต่อต้น ทุกๆ 3 เดือน

เมื่อต้นส้มโออายุ 4 ปี เริ่มให้ผลผลิตในช่วงแรกให้ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น ทุกๆ 2 เดือน หรือดูขนาดทรงพุ่มเป็นหลักในการให้ปุ๋ย หลังจากต้นส้มโอติดผลแล้ว ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อเพิ่มขนาดของผลและก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1-2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 14-14-21 อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อเพิ่มความหวานของผลส้มโอทับทิมสยาม

ก่อนการเก็บผลส้มโอทับทิมสยาม เกษตรกรสวนส้มโอจะงดการให้น้ำ เพื่อให้ผลส้มโอทับทิมสยามมีรสชาติหวานขึ้นเป็นระยะเวลา 10-14 วัน เพื่อให้ได้ส้มโอทับทิมสยามรสหวานจัดซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบัน เกษตรกรสามารถคัดขนาดผลส้มโอทับทิมสยามออกขายเป็น 4 เบอร์ ได้แก่ เบอร์ 1 เส้นรอบผล 19 นิ้วขึ้นไป ราคา 280 บาท เบอร์ 2 ขนาดเส้นรอบผล 18-19 นิ้ว ราคา 220 บาท เบอร์ 3 ขนาดเส้นรอบผล 17-18 นิ้ว ราคา 200 บาท และ เบอร์ 4 ขนาดเส้นรอบผล 16-17 นิ้ว ราคา 180 บาท

ทั้งนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้คำนวณพื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม จำนวน 1 ไร่ พบว่า มีค่าใช้จ่ายต่อไร่ เฉลี่ย 36,250 บาท แบ่งเป็นค่าขุดร่องน้ำ 4×2 เมตร หน้าดินกว้าง 10-20 เมตร เพื่อปลูกจำนวน 2 แถว คิดเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท ค่ากิ่งพันธุ์ 35 กิ่ง ต่อไร่ จำนวน 5,250 บาท ค่าวางระบบน้ำ 6,000 บาท ค่าดูแลรักษา 5,000 บาท และค่าปุ๋ย ค่ายา อีกไร่ละ 10,000 บาท