เกษตรอินทรีย์ เริ่มที่บ้านแปลงผักที่ปลูกจะใช้ไม้เฌอร่าซึ่งทน

แดดทนฝนมีหน้ากว้าง 20 เซนติเมตร ตัดเป็นรูปแปลงผักขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร นำวัสดุปลูกซึ่งเป็นดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงไปบล๊อกไม้เฌอร่าให้สูงจากพื้นเดิมประมาณ 20 เซนติเมตร เสริมจุลินทรีย์ของดินด้วยการรดน้ำหมักชีวภาพ แล้วจึงนำต้นกล้าผักที่เตรียมไว้ซึ่งมีอายุ 10-15 วัน ปลูกลงในแปลงพื้นดินด้านล่าง หากมีพื้นที่จำกัดก็ปลูกผักลงในตะกร้าแล้วแขวนข้างกำแพงบ้าน ผักที่ปลูกนั้นมีหลายชนิด แต่ยังยึดการปลูกเพื่อบริโภคเป็นสำคัญ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดหัว ฟักเขียว แตงกวา มะนาว กระเพรา แมงลัก พริกขี้หนู และโหระพา เป็นต้น นอกจากการปลูกผักแล้ว รองศาสตราจารย์กษิดิศยังเลี้ยงไส้เดือนดินร่วมกับการปลูกผักอินทรีย์ โดยใช้มูลโคที่หมักแล้วเสริมด้วยเศษผัก เศษผลไม้ และเศษอาหารเลี้ยงไส้เดือนดิน ในมูลไส้เดือนก็นำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับใส่พืชผักอินทรีย์ การดูแลผักจะดำเนินการด้วยตนเอง ไม่มีการจ้างแรงงานเลย

การปลูกพืชผักในช่วงแรกจะมีแมลงศัตรูพืชรบกวน เป็นเรื่องปกติ ต้องหมั่นสังเกตเดินดูแปลงผัก ออกกำลังกายไปเรื่อยๆ หากเจอศัตรูพืชก็เก็บออก ตอนปลูกครั้งแรกๆ จะใช้น้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้เพื่อป้องกันและขับไล่ศัตรูพืช ทั้งนี้จะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การปลูกผักในรูปแบบดังกล่าว เมื่อปลูกติดต่อกันไปนานๆ จะสังเกตได้ว่าการรบกวนของศัตรูพืชลดลงมาก ทั้งนี้อาจเกิดจากธรรมชาติมีความสมดุลขึ้น มีตัวห้ำตัวเบียนมาอยู่ช่วยกำจัดศัตรูพืชผัก

จากหลักการเกษตรอินทรีย์ที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เกื้อกูลกัน รองศาสตราจารย์กษิดิศจึงได้เลี้ยงไก่ไข่ไว้บริเวณด้านข้างตัวบ้าน โดยเริ่มเลี้ยงจากลูกเจี๊ยบประมาณ 60 ตัว ทั้งนี้ตั้งใจใช้มูลไก่ที่ได้มาปรับปรุงดินปลูกพืช เลี้ยงด้วยเศษอาหารที่ได้จากร้านอาหารใกล้บ้าน และใช้น้ำหมักชีวภาพควบคุมกลิ่นมูลสัตว์ เมื่อเลี้ยงไก่ไข่ได้จนอายุประมาณ 5 เดือน ใกล้ที่จะให้ไข่ก็ต้องขนย้ายไก่ไข่ไปเลี้ยงที่อื่น ทั้งนี้เนื่องจากไก่โตขึ้นและมีจำนวนมากเกินกว่าที่น้ำหมักชีวภาพจะควบคุมกลิ่นได้ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นการนำเป็ดไข่ 10 ตัว มาเลี้ยงแทนใช้และใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมาควบคุมกลิ่น ทุกวันนี้ไข่เป็ดที่ได้จำนวนวันละ 6-7 ฟอง บริโภคไม่หมดก็นำไปขาย ใช้เศษผักและวัชพืชในแปลงผักเป็นอาหารเสริมแก่เป็ด น้ำในอ่างที่ให้เป็ดได้ลงเล่นก็นำออกมาใช้รดต้นไม้ มูลเป็ดนำใช้เป็นปุ๋ยปลูกผัก

นอกจากการปลูกผักแล้ว รองศาสตราจารย์กษิดิศยังส่งเสริมเพื่อนบ้านให้ปลูกผักรับประทานเอง โดยให้คำปรึกษาแนะนำเป็นวิทยาทาน ตลอดจนจัดหาวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในการปลูกผักอินทรีย์มาจำหน่าย เช่น ดินผสมมูลไส้เดือนสำหรับใช้ปลูกพืชผัก ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยจากมูลไส้เดือน กากน้ำตาล น้ำหมักชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ และสารสมุนไพรใช้ควบคุมศัตรูพืช เป็นต้น

สรุปหัวใจสำคัญ

รองศาสตราจารย์กษิดิศกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การปลูกพืชอินทรีย์ที่ใช้พื้นที่จำกัดข้างบ้าน ให้ยึดหลักว่า 1.ต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช น้ำใช้ไม่มีปัญหาสำหรับการปลูกพืชในบริเวณบ้าน เนื่องจากน้ำมีเพียงพอ 2. ปลูกพืชที่ใช้บริโภคในครัวเรือนก่อน โดยเริ่มต้นอาจมีไม่กี่ชนิด เมื่อปลูกต่อไปๆ ชนิดของพืชจะเพิ่มมาก คนปลูกจะมีความสุขและมั่นใจในผักที่ตัวเองปลูกว่ามีความปลอดภัยมากกว่าผักตลาดที่เหลือจากการบริโภคนำออกแจกจ่ายญาติมิตรและจำหน่ายในขั้นต่อไป และประการที่ 3. การจำหน่ายผลผลิตไม่ควรที่จะต้องขนส่งไปไกล ควรหาตลาดที่อยู่ใกล้สำหรับการขนส่งเอง และถ้าเป็นตลาดที่ไกลควรให้ผู้ซื้อมารับเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของเราในการขนส่ง”

การปลูกผักอินทรีย์ข้างบ้านเป็นความสุขหลังเกษียณอายุราชการที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนมากมาย เหมาะสมกับกำลังกายที่มี ไม่ต้องออกแรงหนักมากนัก โดยใช้แรงงานภายในครอบครัวก็มีความสุขที่ได้ผักดีๆ มาบริโภค ผักอาจจะด้อยความงามไปบ้าง แต่ก็มากด้วยคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางอาหารเพราะเป็นผักที่ปลูกตามวิถีธรรมชาติ เมื่อมีผลผลิตเหลือเฟือก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการแบ่งปันพืชผักที่ปลอดภัยให้คนอื่น

ชมความงามของสายน้ำประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 สัมผัสทัศนียภาพริมฝั่งคลองตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเรียบง่าย ตามรอยประเพณีการตักบาตรท้องน้ำที่คู่ลำคลองมายาวนาน เล่าขานตำนานการทำนาบัว ลิ้มรสผลไม้สดจากสวน เรียนรู้ภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบโบราณ ผสานร้อยรักสามัคคีเป็นวิถีจากศาสตร์พระราชา ชุมชนแห่งความพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวิตบนผืนดินพระราชทาน

ผมได้ประสานกับ คุณอี๊ด-อารีย์ ขาวอ่อน โทร. (092) 990-5946 เพื่อเก็บข้อมูลมานำเสนอเรื่องราวของการท่องเที่ยวแบบนวัตวิถี กับพี่น้องชาวบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคลองมหาสวัสดิ์นับเนื่องเกินร้อยปีมากแล้ว คุณอี๊ด เล่าให้ฟังว่า คลองมหาสวัสดิ์ หรือ คลองชัยพฤกษ์ เริ่มขุดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อย่นระยะทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ขนาดกว้าง 7 วา ลึก 7 ศอก มีความยาวทั้งสิ้น 28 กิโลเมตร เริ่มต้นจากคลองบางกอกน้อยใกล้วัดชัยพฤกษ์มาลา ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับเขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ผ่านอำเภอพุทธมณฑลไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม “กิจกรรมหลักๆ ประมาณไหนพี่”

“หากวางเต็มอัตราศึกก็มีทั้งหมด 7 จุดให้ทำกิจกรรมจ้า”

“ไหนว่ามา เผื่อเวลาพอจะได้ลุย” “1. ไหว้พระหลวงพ่อดี วัดสุวรรณาราม 2. ชมและชิมผลิตภัณฑ์ของบ้านฟักข้าวคุณขนิษฐา 3. ล่องเรือชมนาบัวลุงแจ่ม 4. เยี่ยมชมศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้ศาสตร์พระราชา และสปาโอ่ง 5. ชมและชิมการทำขนมจีนแบบโบราณ 6. โรงเรียนชาวนาคุณเกรียงไกร 7. ชิมผลไม้สดๆ จากสวนป้าแจ๋ว”

“โห! จะไปครบไหมหนอ เห็นกรมอุตุฯ บอกว่าฝนจะตก”

“ไม่หมดก็มาวันหลังได้ ที่นี่เปิดรับเสมอจ้า” ผมและทีมงานกองถ่ายรายการทิดโสok เดินทางไปยังจุดนัดพบ วัดสุวรรณาราม มีลานจอดรถที่พร้อมบริการนักท่องเที่ยวได้หลายสิบคัน มีตลาดเล็กๆ ของชาวบ้านมาตั้งแผงขาย เช่น ขนมครก ก๋วยเตี๋ยว ผัก ที่นี่นักท่องเที่ยวจะจอดรถไว้ เพื่อเปลี่ยนพาหนะไปลงเรือเที่ยวตามคลองกันต่อ แต่เมื่อมาถึงแล้วก็เลยขอฝากท้องมื้อเช้าไว้ที่ก๋วยเตี๋ยวร้อยปีสักนิด เส้นเล็กต้มยำสูตรโบราณที่ปรุงรสแบบนี้ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ชามเล็กจนต้องสั่งเบิ้ลกันในคราวเดียว เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด กำลังเหมาะ หมูสับแบบไม่ละเอียดร่วมกับปลาเส้น ถั่วลิสงคั่วบดหยาบ ไม่นานก็เกลี้ยงคนละสองชาม หรือใครสนใจข้าวมันไก่ก็อร่อยได้เรื่องเชียวแหละ ข้าวมันที่หุงพร้อมสมุนไพรทั้งกระเทียม พริกไทย และขิงแก่ หอมเตะจมูกตั้งแต่คำแรกเลยเชียว เสร็จแล้วก็ให้อาหารปลากันสักหน่อย ปลาแรด ปลาดุก โดยเฉพาะปลาสวาย ขนาดไม่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม มาออกันแน่นรออาหาร ที่นี่จะดูแลเรื่องคิวเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยวด้วยครับ ผู้ใหญ่มนูญ

เรือมารอเราอยู่แล้ว ที่นี่มีราคาเหมาลำที่ 350 บาท นั่งได้ 5-6 คน หลังจากอิ่มท้องก็ได้เวลาล่องเรือไปตามคลองมหาสวัสดิ์ วันนี้จุดแรกเราจะได้ไปชมนาบัวลุงแจ่ม นาบัวที่คุณอี๊ดเล่าว่าสืบทอดกันมาสามชั่วคนแล้ว น้ำในคลองมหาสวัสดิ์ค่อนข้างสะอาด เรานั่งเรือผ่านบ้านผู้คน บ้างก็ล้างชามริมคลอง บ้างก็เก็บผักบุ้งที่ทอดยาวยอดอวบสวย บ้างก็ยกยอดักปลา เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน เคยอยู่อย่างไรก็ยังอยู่เช่นนั้น ผมรู้สึกเหมือนนาฬิกาหยุดเดิน ได้ย้อนกลับไปสู่ชีวิตเมื่อครั้งอดีตที่เรียบง่ายและงดงาม

เรามาถึงจุดแรก นาบัวลุงแจ่ม เป็นความโชคดีของเราที่ไปเจอเจ้าของกำลังเก็บบัวมาคัด ตัดแต่ง และห่อเป็นช่อ แยกขนาดเป็นเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อส่งขายให้แม่ค้าต่อไป เราได้เจอ น้องมิน รุ่นที่สามที่เป็นหลานของลุงแจ่ม สาวน้อยที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ที่เลือกแล้วว่าจะสานต่องานของครอบครัวคือเป็นสาวนาบัว น้องมินมีความสามารถในการจับจีบกลีบบัวให้เป็นลวดลายต่างๆ สวยงาม และไม่ยากเกินกว่าจะไปเรียนรู้ครับ และน้องก็สอนกันตรงนั้นเลย หากท่านใดสนใจก็อย่าลืมไปขอเรียนกับน้องนะครับ

นาบัวในพื้นที่ 15 ไร่ ปลูกบัวสัตตบุษย์ที่มีกลีบดอกสีขาว และบัวสัตตบงกชที่มีกลีบดอกสีชมพูอมม่วง สวยงาม มีบัวสายหลากสีแซมพอให้เห็นความงามของนาบัว เนื่องจากที่นี่ปลูกบัวเก็บดอก เราจึงไม่ได้เห็นดอกบานนอกจากบัวสายเท่านั้น แต่กลิ่นหอมอ่อนๆ เวลาเดินบนสะพาน หรือพายเรืออยู่ในนาบัวแสนสดชื่นเหลือเกิน คุณอี๊ด เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านชุมชนบ้านศาลาดินมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวปีละครั้ง เป็นเหตุให้เกษตรกรยากจนและไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงปัญหาจึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้แก่เกษตรกร จำนวน 1,009 ไร่ โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและจัดรูปที่ดินให้เกษตรกร แปลงละ 20 ไร่ เริ่มเข้าทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา และในวันที่เราไปเยี่ยมชมก็ถือว่าเป็นความโชคดีอย่างมาก ได้เจอบัวแฝด ทั้งแฝดสอง และแฝดสี่ ซึ่งถือว่าหายากมาก หรือว่าผมจะโชคดีหนอ

“ลองชิมไหม ที่นี่ทำชาเกสรดอกบัว หอมอร่อยมากเลยนะคะ”

“ได้เลยครับ”

“เป็นไงบ้าง”

“ไม่ผิดหวังครับ หอม หวานน้อยๆ อยากจิบเรื่อยๆ”

“มีขายแบบชาให้ไปชงด้วยนะคะ ส่วนความหวานที่นี่เราใช้หญ้าหวานจ๊ะ”

เสร็จจากความหอมกรุ่นของนาบัว เรือก็พาเราลัดเลาะมาแวะเดินชมตลาดน้ำบ้านศาลาดิน ตลาดเล็กๆ ที่มีชาวบ้านนำผลผลิตจากสวนมาจำหน่ายกัน ไฮไลต์ที่นี่คือมาหัดทำข้าวตัง พร้อมมีให้ชิมอย่างไม่อั้น มีร้านขายของฝาก ร้านกาแฟ ร้านอาหารริมคลองที่มีสารพัดเมนูให้เลือกชิมกัน ที่สำคัญ มีคาราโอเกะให้ได้ร้องเพลงอย่างสบายอุราอีกด้วย

เดินพอคลายเมื่อยก็ลงเรืออีกครั้ง เป้าหมายบ้านฟักข้าว บ้านที่นำผลของฟักข้าวมาแปรรูปเป็นสินค้าได้มากมาย พี่ขนิษฐา เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังว่า เดิมทีที่บ้านก็เป็นสวนผลไม้ ปลูกมะม่วงและไม้ผลอื่นๆ จวบจนปี พ.ศ. 2554 น้ำมาหลากล้นจนท่วมไปทั้งคุ้ง ไม้ผลที่มีก็ยืนต้นตายกันหมด ครั้นจะปลูกใหม่ก็ต้องรอเวลาอีกไม่น้อย คุณพ่อจึงบอกว่าปลูกฟักข้าวดีกว่า แค่ 6 เดือน ก็จะมีผลผลิตให้แล้ว หลังจากได้ผลสุกของฟักข้าวมาแล้วก็เลยนำมาแปรรูป ประจวบเหมาะกับมีสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วย ก็เลยเกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและผลิตไม่พอจำหน่าย ปัจจุบัน ทั้งน้ำฟักข้าว สบู่ แชมพู โลชั่น หมี่กรอบ กระทั่งเย็นตาโฟก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมากมาย จึงต้องขอบคุณวิกฤติที่สร้างโอกาสใหม่ในวันนี้ ฝนกระหน่ำในวันที่เราอยากให้หยุด จึงได้เสวนากับพี่ขนิษฐาหลายเรื่อง ได้ความรู้เรื่องการแปรรูปมาอีกมากมาย

พอฝนหมาดเราก็ต้องเดินทางต่อ เพราะวางหมุดไว้อีกหลายจุด ไม่แน่ใจว่าจะไปได้ครบหรือไม่ เพราะต้องหยุดให้ฝนซาหลายๆ ครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร กลับดีเสียอีกที่ทำให้เราได้ใช้เวลาแต่ละจุดได้มากขึ้น แม้ไม่ครบทุกจุดแต่ก็วางหมุดไว้ในใจว่าจะมาอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งแน่นอน เพราะยังมีอีกหลายจุดมากที่อยากไปแต่เวลาวันเดียวคงไม่ทันแน่ๆ

เรามาถึงอีกหนึ่งจุดเป็นสวนเกษตรผสมผสานของ ป้าแจ๋ว เจ้าของเกียรติบัตรเต็มฝาบ้าน ส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง กล้วย ฟัก มะขาม ชมพู่ หมาก และแปลงนาข้าว การได้นั่งรถอีแต๊กเที่ยวสวนแบบขาลุยก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะลุงโชเฟอร์แกใส่ไม่ยั้งจริงๆ ซิ่งทั่วสวนจนไปโผล่แปลงนา และพาวนกลับ ก่อนที่จะมาพาเสียวกับการเข้าจอดแบบเฉี่ยวเสาให้ได้ร้องกันทั้งคันนั่นเลยเชียว งานนี้ทั้งอิ่มผลไม้และได้เสียวกันไปในตัวครับ ขอบคุณทีมงานสวนป้าแจ๋วด้วยครับ (สาวๆ รุ่นเกิน 60 ทั้งนั้น)

เรายังมีนัดกลุ่มแม่บ้านแปรรูป จุดทำขนมจีนแป้งหมักแบบโบราณ และสปาโอ่ง แต่ดูเวลาแล้วไม่พอ จึงขอปิดท้ายด้วยการไปลงแปลงนาลดต้นทุนสักหน่อย พี่เกรียงไกร ชาวนา-เกษตรกรมือรางวัลระดับประเทศรออยู่พร้อมคุณแม่ ไม่ต้องคุยอะไรกันหรอกครับ ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมต้มคลุกมะพร้าวน้ำหอมอ่อนๆ และทีเด็ดของที่นี่คือ ไอติมกล้วยน้ำว้า ถามว่าทำไมไม่เรียกไอศกรีม พี่เกรียงไกรบอกว่า เราทำแบบบ้านๆ ขอเรียกแบบบ้านๆ ตามนี้แหละ คุณเอ๋ย! เพียงคำแรกที่ผมอมไว้ให้ละลายในปาก กลิ่นหอมของกล้วย รสมันหวานเย็นของไอติมกลั้วอวลอยู่ในปาก อร่อยแทบลืมกลืนจริงๆ ครับ อย่าเชื่อผม ต้องไปพิสูจน์กันเองครับ

พี่เกรียงไกร ทำนาแบบก้าวหน้า หมักฟางและไม่ใช้ยาเคมีใดๆ ทำนาลดต้นทุนมาหลายปี จากต้นทุนไร่ละ 3,800-4,000 บาท ปัจจุบัน พี่เกรียงไกรบอกว่าใช้แค่ไร่ละ 1,900 บาทเท่านั้น ที่สำคัญผลผลิต ไร่ละ 90 ถัง

“โม้ไหมเนี่ย”

“ไม่ได้โม้ ไม่เชื่อมาทำกับผมสิ หนาวนี้มาสิ เกี่ยวข้าวกัน ข้าวใหม่หอมๆ ปลามันๆ”

“ได้เลยครับ”

ก่อนกลับ แวะมาชมสปาโอ่งสักนิด ได้เจอ ผู้ใหญ่อาภรณ์ ช้อยประเสริฐ แห่งหมู่ 3 บ้านศาลาดิน โทร. (083) 838-6882 แถมยังมาส่งกลับด้วยกล้วยน้ำว้าสวนอีก 2 เครือ ต้องขอขอบคุณจริงๆ ครับ เกรงใจ๊เกรงใจ แต่รถผมก็ว่างอีกเยอะ อิอิอิ

ฟ้าเริ่มมืดพร้อมฝอยฝนที่พรูพรั่ง ผมต้องขออำลาจากการเดินทางที่แสนสนุกและมีความรู้เพียบเช่นนี้ สัญญาว่าจะมาอีกแน่นอน ก็…อร่อยอ่ะ

สรุป ไปเที่ยว 6 คน ค่าเรือ 350.- ค่าเข้าชมกิจกรรมรวมทุกจุด คนละ 100.- จ่ายไป 1,000.- ได้เงินทอนกลับอีก 50.- แน่ะ ดี๊ดี มีซุปเปรี้ยวแบบหนึ่งที่ผมกินมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยว่าแม่ ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนอัมพวา สมุทรสงคราม นั้น อยู่ใน “วัฒนธรรมปลาทูแม่กลอง” คือนิยมกินปลาทูตัวเล็ก (Short-bodied mackerel) จะหน้างอคอหักอยู่ในเข่งนึ่ง หรือตัวตรงแหนวอยู่ในกระทะฉู่ฉี่น้ำกะทิข้นๆ ก็อร่อย มีความมัน รสชาติเยี่ยมทั้งสิ้น มันคือของดีวิเศษราคาถูกที่มีให้กินเกือบตลอดปี

มะดัน (Madan) เป็นพืชสวนที่ชอบดินแฉะชื้นริมน้ำ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งยอดและใบอ่อนรสเปรี้ยวละมุนที่ต้มส้มได้อร่อย ลูกมะดันดิบเนื้อชุ่มน้ำ เปรี้ยวจี๊ดสะใจ กินได้ทั้งสด และดองเป็นผลไม้ดอง

ตอนนี้ ตามตลาดสดยังพอมีมะดันดิบลูกเขียวปี๋ขายในราคาไม่แพง เลยอยากชวนทำ “ปลาทูต้มมะดัน” กินง่ายๆ เครื่องเคราของมันมีน้อยมากครับ ที่ผมเคยกิน มีเพียงกระเทียมไทยแกะกลีบ บุบพอแตก เกลือสมุทร น้ำปลา น้ำตาลปี๊บเล็กน้อย ปลาทูนึ่งแม่กลอง แล้วก็ลูกมะดันเท่านั้นเอง

ถ้าทำแบบแม่ผม ก็คือเอาหม้อน้ำใบเล็กตั้งไฟให้เดือด ใส่ลูกมะดันสดที่ล้างสะอาดดีแล้วลงต้มสักครู่ ผิวเขียวปี๋นั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขี้ม้า เนื้อนุ่มเละ ก็ยกลง ทิ้งให้เย็น จึงยีให้ละเอียด กรองกระชอนเพื่อเอาเม็ดรูปร่างเรียวอย่างพระจันทร์เสี้ยวนั้นออกทิ้งไป

เราจะได้น้ำข้นๆ สีเขียวอ่อน รสเปรี้ยวชื่นใจ นี่แหละครับกุญแจความอร่อยของสำรับนี้ ทีนี้ตั้งหม้อน้ำใบใหญ่หน่อย คะเนตามขนาดและจำนวนปลาทูนึ่งที่เราจะใช้ กับเผื่อน้ำต้มมะดันที่เราจะเติมทีหลังด้วยนะครับ อย่าเพิ่งใส่มากไปเชียว

หย่อนกระเทียมไทยปอกเปลือกทุบ เกลือ พอเดือดก็ใส่ปลาทูนึ่งลงไปต้มให้รสเค็มในเนื้อปลาออกมาผสมกับซุปเกลือในหม้อ รสจะเค็มลึกๆ รอสักครู่หนึ่งจึงเหยาะน้ำปลาลงไปเอากลิ่นหอม เดาะน้ำตาลปี๊บให้ออกรสหวานนิดๆ

จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำต้มมะดันข้นๆ สีสวยๆ นั้นลงไป ชิมให้รสเปรี้ยวจัดนำ เค็มหวานตามแต่ชอบ เท่านี้ก็เสร็จแล้วล่ะครับ อาจจะดูว่าง่ายนะครับ ซุปเปรี้ยวหรือต้มส้มหม้อนี้ เครื่องเคราหรือก็น้อยมากๆ ผมคิดว่า นี่แหละคือความยากของการปรุง คือบางทีเรา (โดยเฉพาะผม) มักอดไม่ได้ เวลาปรุงกับข้าวก็ชอบแอบใส่อะไรจุ๊กจิ๊กๆ ลงไป อย่างหม้อนี้ ของที่ควรจะต้องอดใจให้ได้ ก็เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด น้ำมะนาว ส่วนผักชีกับพริกขี้หนูสวนเขียวๆ แดงๆ ทุบนั้น ถ้า “ลงแดง” จริงๆ ก็เอาเถิดครับ ได้นิดหน่อย

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะน้ำต้มมะดันสดนั้นมันแสนที่จะเปรี้ยวชื่นใจ อร่อยมากๆ ลำพังแค่ประสมกับความหวานของน้ำต้มปลา กับเครื่องเคราเล็กน้อยที่กำหนดให้ใส่ไปนี้ สามารถเนรมิตอะไรที่เราอาจนึกไม่ถึงเอาเลย เมื่อซดร้อนๆ เข้าไปเป็นคำแรกในชีวิต

ไม่มีเปรี้ยวเฝื่อนของตะไคร้ เปรี้ยวแหลมโดดของมะนาว ซ่าลิ้นของข่า หรือหอมโดดขึ้นจมูกของใบมะกรูดมากวน ยิ่งหากไม่ใส่พริกขี้หนูสด ก็ไม่ถูกรสเผ็ดมาเร้าปุ่มรับรสของลิ้นเหมือนต้มยำชามอื่นๆ รสเปรี้ยวโปร่งอันสุดบรรยายนี้ คงทำให้เราคิดถึงความแตกต่างที่ควรมีในสำรับแต่ละถ้วยแต่ละจาน ทั้งอาจฉุกใจให้ตระหนักถึงสารปรุงแต่งบรรดามี ที่เราต่างเคยประดังประเดเทใส่ไปบีบกดสร้างรสเสมือนแก่สีสันเหล่านั้นจนเสื่อมเสน่ห์ไปแทบหมดสิ้น

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้พบผู้ใช้เฟซบุ้คชื่อ ชำนาญ จันทร์ใย โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพระบุ “เตือนภัยชาวสวนยางพารา!!!!โจรสมัยนี้เปลี่ยนจากลักขี้ยาลักน้ำยาง มาเป็นลักตัดไม้ยางในสวนที่กำลังกรีดแล้ว ของผมโดนไปประมาณ50-60ต้น ผมเข้าไปจะกรีดเห็นแล้วตกใจเลย ทำเหมือนคนมีอิทธิพลโค่นเหมือนไม่มีเจ้าของ ตอนนี้ได้แจ้งความไว้ที่โรงพักแล้ว ต้องฝากความหวังไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว เพราะเป็นภัยร้ายแรงกับชาวสวนยางมาก”

ผู้สื่อข่าวมติชน จึงลงพื้นที่เเละติดต่อไปยัง นายชำนาญ จันทร์ใย อายุ 48 ปี เจ้าของสวนยางดังกล่าว โดยนายชำนาญ เปิดเผยว่า สวนยางแปลงที่เกิดเหตุอยู่พื้นที่หมู่ 4 ต.ป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ ปกติจะออกไปกรีดยางทุกคืน แต่ได้หยุดกรีดตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.61เนื่องจากมีฝนตกและเตรียมจัดงานแต่งงานให้บุตรสาว หลังเสร็จงานได้ออกไปกรีดยางที่สวนอีกครั้งพร้อมกับภรรยา เมื่อเวลา 02.00 น.วันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ต้องตกใจแทบล้มทั้งยืนเมื่อเห็นต้นยางพาราที่อยู่ในสวนถูกโค่นล้มตัดไป 58 ต้น เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ทิ้งไว้แต่กิ่งใบและไม้ฝืนกองอยู่ ส่วนท่อนไม้จำนวนหายไปน่าจะถูกนำไปขายมูลค่ากว่า 3-4 หมื่นบาท

นายชำนาญ กล่าวว่า สวนยางพาราแปลงนี้เนื้อที่ 18 ไร่ ที่ถูกลอบโค่นตัดไป1 ไร่เป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะยังกรีดได้อีก 20 ปี รายได้หายไปเกือบ 1 ล้านบาท จึงไปแจ้งความที่ สภ.กาญจนดิษฐ์ และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ เพราะเกรงจะไม่ปลอดภัยด้วย ซึ่งขณะนี้ราคายางตกต่ำจะถึง 3 กิโล 100 บาทกลับมาถูกลอบโค่นตัดไม้ยางซ้ำอีก

พาณิชย์คาดปีการผลิต 61/62 ถือเป็นปีทองชาวนาไทย ราคาข้าวปีนี้สดใสคำสั่งซื้อต่อเนื่อง – ผลผลิตลดกว่า 20% จากปัญหาภัยแล้ง
ปีทองชาวนาไทยราคาข้าวสดใส – นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. 2561 โดยคาดการณ์แนวโน้มราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ยังคงมีราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมาทุกชนิดข้าว แม้ข้าวฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ อาทิ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา โดยในปีนี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ปริมาณ 11 ล้านตันอย่างแน่นอน ประกอบกับสต๊อกข้าวของรัฐบาลเหลือในปริมาณที่น้อยมาก ส่งผลให้ปัจจัยลบที่เป็นตัวกดราคาข้าวในประเทศหมดไป

สำหรับข้าวหอมมะลิ พบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิเกิดภัยแล้ง ส่งผลให้ในบางพื้นที่ผลผลิตข้าวเปลือกคาดการณ์ว่าจะเสียหายมากกว่า 20% โดยราคาข้าว ความชื้น 15% ณ วันที่ 1 พ.ย. 2561 ข้าวเจ้า 5% ปรับตัวสูงขึ้นจาก 7,300-7,800 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 7,500-7,900 บาท/ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาจะไม่ปรับลดลงไปกว่านี้แล้ว ในส่วนข้าวหอมมะลิ ราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก 11,550-14,550 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 14,450-17,500 บาท/ตัน (เกี่ยวสด 13,500-14,200) และจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในแหล่งเพาะปลูกสำคัญ

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รัฐบาลมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพด้านการตลาดโดยการดึงอุปทานออกสู่ตลาด 3 โครงการตั้งแต่เดือนพ.ย. ได้แก่ 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง และตันละ 1,000 บาท กรณีฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 6,000 บาท

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายข้าวเปลือกมากขึ้นและทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ในพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการรับซื้อน้อย ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โดยนำผู้ประกอบการจากพื้นที่อื่นหรือนอกจังหวัดเข้ามาร่วมรับซื้อเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ในการซื้อขาย รวมทั้งได้รับความเป็นธรรมในการชั่งน้ำหนักและวัดความชื้นด้วย

ดังนั้น ในปีการผลิต 2561/62 เกษตรกรมั่นใจได้ว่าข้าวจะมีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตข้าวได้รับการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง จึงถือเป็นปีทองของพี่น้องชาวนาอย่างแท้จริง

ในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่การสื่อสารยุคดิจิตอล เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกล มีการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายระบบไร้สาย ทำให้โลกมีความใกล้ชิดติดต่อกันง่ายขึ้น ประชากรสามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัว หรือสื่อสารด้านธุรกิจได้ง่ายและสะดวก หรือในเรื่องของการเดินทาง ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถใช้โทรศัพท์มือถืออย่างสะดวกสบายขณะขับรถยนต์ก็ได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ที่ใดบนโลกที่สัญญาณดาวเทียมไปถึง หรือแม้แต่การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าก็ทำได้

ด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวไปอย่างรวดเร็ว ในภาคงานอุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรกรรม ที่ไม่ต้องทำสวนอย่างล้าหลังอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีความเจริญได้เข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ทำการเกษตรกรได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น อย่างปัจจุบันนี้ได้มีผู้คิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดย “ดีแทค” จับมือ “รีคัลท์และรักบ้านเกิด” ร่วมพัฒนาบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ผ่านแอป Farmer Info ช่วยเกษตรกรทำเกษตรแม่นยำ ชู 3 บริการหลัก “พยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่-ตรวจสุขภาพพืช-วางแผนเพาะปลูก” หวังเจาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ชูจุดแข็งความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุดในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม-บิ๊กดาต้า