เกษตรแปลงใหญ่ ช่วยเพิ่มมูลค่าถึง 22,000 ล้านบาท

โดยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันรวมการผลิตเป็นแปลงใหญ่โดยที่เจ้าของแปลงทุกแปลงยังคงเป็นเจ้าของและผู้ผลิตในแปลงนั้นๆ อยู่ พร้อมจัดให้มีผู้มาช่วยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่โครงการในเบื้องต้น พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เน้นการจัดการข้อมูลพื้นที่ การเชื่อมโยง IT smart phone ฯลฯ ภายใต้การมีส่วนร่วมกับชุมชน ผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) เป็นต้น

“การส่งเสริมแปลงใหญ่ในปัจจุบันจะเน้นการพัฒนาที่เชื่อมโยงระหว่างการผลิตกับการตลาด แปลงใหญ่หลายๆ แปลง ทางกรมพยายามเชื่อมโยงกับโมเดิร์นเทรด จัดโครงการให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อผลผลิตเดินทางมาดูแปลงปลูกตั้งแต่เริ่มต้นของฤดูกาล ซึ่งจะได้เห็นถึงกระบวนการในการควบคุมคุณภาพ ราคาขายก็จะสูงขึ้น อย่างมังคุดที่เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่จะขายโดยแยกออกเป็นเกรด ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ขายแบบคละกันไปในราคาเดียวทั้งหมด เมื่อมาคัดเกรดราคาขายก็จะต่างกัน เช่น เกรดพรีเมี่ยมขายราคาหนึ่ง ที่ตกเกรดก็ขายอีกราคาหนึ่ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้”

“อย่างเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประเมินแปลงใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 4,200 แปลง พื้นที่เกือบ 5 ล้านไร่ ในเวลา 3 ปีที่ดำเนินโครงการ พบว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่เกษตร มีเงินเหลือจากการลดต้นทุน และเงินที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาผลผลิตและได้คุณภาพ ประมวลแล้วอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรอย่างเห็นได้ชัดเจน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวสำนักงานส่งเสริมฯ ที่ 3 ชี้เห็นผล ให้ประโยชน์กับเกษตรกรเพียบ

ด้าน คุณชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคตะวันออกมีแปลงใหญ่มากถึง 400 กว่าแปลง ปัจจุบันส่วนใหญ่ได้มีการถ่ายโอนภารกิจผู้จัดการแปลงจากเจ้าหน้าเกษตรอำเภอเป็นเกษตรกรเอง โดยในปี 2559 มีการถ่ายโอนประมาณ 30 แปลง สำหรับปี 2562 ได้มีการอบรมเกษตรกรที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการแปลงแล้วส่วนหนึ่งและกำลังดำเนินการอยู่

“พื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และสระแก้ว ในตอนนี้ได้จัดให้เจ้าหน้าที่ไปร่วมกับเกษตรกรแปลงใหญ่พัฒนากระบวนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพด้านการผลิต เพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแปลงใหญ่ให้มากขึ้น ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร คือ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าของผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสามารถลดต้นทุนได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เพิ่มผลผลิตและมีคุณภาพได้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญได้เน้นตลาดนำการผลิตมีการจับคู่กับภาคเอกชน สหกรณ์ ร้านค้า บริษัทต่างๆ ส่วนคุณภาพจะเน้นให้ได้มาตรฐานอย่างน้อยก็ GAP ถ้าเป็นพืชอาหาร หรือไปสู่เกษตรอินทรีย์”

“ทั้งนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีสินค้าที่มีคุณภาพมีมาตรฐานสู่ผู้บริโภค โดยได้นำนโยบายของ คุณกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) มาใช้เป็นแนวทาง เพื่อยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร ยึดหลักการใช้ศักยภาพทุกภาคส่วนมาสนับสนุน (ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรเจ้าของที่ดิน) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่” คุณชาตรี กล่าวเกษตรกรสวนทุเรียนพอใจ

ส่วน คุณวัชรินทร์ นาคขำ เกษตรกรอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ในฐานะประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลปรานีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด กล่าวว่า ในพื้นที่เกษตรกรจาก 10 หมู่บ้าน ได้รวมตัวกันทำการผลิตแบบแปลงใหญ่ มีพื้นที่ 800 กว่าไร่ สมาชิก 46 ราย เป็นแปลงใหญ่ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559

“จากการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกทางจากผลของการลดต้นทุนการผลิต นับตั้งแต่การผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน การรวมกันใช้เครื่องมือทางการเกษตร ทำให้แต่ละรายไม่ต้องลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้ในแปลงปลูก ไปจนถึงการต่อรองราคาขายกับผู้ซื้อ เพราะไม่มีการแย่งกันขาย จึงทำให้ได้ราคาที่ดีจากผู้ซื้อ”

“ตอนนี้เกษตรกรในพื้นที่มีความพึงพอใจในโครงการอย่างมาก เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรรายอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ ได้เสนอขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตอนนี้ก็ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการฝึกอบรมเกษตรกรรายใหม่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง” คุณวัชรินทร์ กล่าว

ในปัจจุบันผลผลิตจากสวนผลไม้คุณภาพที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง โดยเฉพาะทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ที่เป็นผลไม้ยอดนิยมของทั้งตลาดภายในและต่างๆ ประเทศ ได้เริ่มออกสู่ตลาด ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองจึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อทุเรียนให้ได้คุณภาพ โดยมีขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอนคือ

หนึ่ง ใช้วิธีการดู โดยอาศัยจากการสังเกตภายนอก โดย

– ดูที่ขั้นผลสากเป็นเม็ดทราย สีไม่เขียวใสแวว

– จากนั้นให้ดูที่ปลิง ซึ่งจะมีลักษณะบวม ยกเว้นทุเรียนขั้วหวาย ทั้งนี้ ปลิงของทุเรียน คือส่วนของข้อต่อก้าน เมื่อทุเรียนเริ่มแก่ ปลิงที่ดีจะมีลักษณะอ้วน บวม และไม่หลุดออกจากกัน มีสีน้ำตาลเข้ม ตรงรอยต่อปากปลิงจะเริ่มปริจนเป็นร่องสีขาว คล้ายกับว่ามันกำลังจะหลุดออกจากกัน แสดงว่าทุเรียนนั้นเริ่มแก่จัด และสามารถสุกได้ด้วยตัวเอง (ยกเว้นทุเรียนขั้วหวาย) ถ้าดึงเอาปลิงออก น้ำที่ไหลออกมาจากจะใส มีรสออกหวาน ไม่ข้นเหนียวเหมือนทุเรียนอ่อน

– สีเปลือก เปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเขียวปนน้ำตาล

– ดูที่หนามของทุเรียน หนามจะต้องเป็นสีน้ำตาลไหม้ถึงจะแก่ ถ้าเกิดว่าหนามของทุเรียนยังคงสดใหม่จะแหลมคม

– จากนั้นให้ดูที่ร่องบริเวณเปลือกของทุเรียน ร่องจะต้องมีสีน้ำตาลไหม้ ถ้ามันยังเขียวจัดๆ ไม่ควรซื้อมา ควรเลือกซื้อทุเรียนที่เปลือกมีสีเขียวปนน้ำตาล

สอง ใช้วิธีการดม โดยให้ลองดมกลิ่น ทุเรียนแก่พร้อมกินนั้นจะต้องไม่มีกลิ่นหอมหรือเหม็นเขียวโดยเด็ดขาด หากมีกลิ่นเหม็นเขียวแสดงว่า ทุเรียนลูกนั้นยังอ่อนอยู่ ไม่ควรซื้อ

สาม ใช้วิธีการฟังเสียง ทำได้ด้วยการเคาะฟังเสียง ทุเรียนที่แก่แล้วเวลานำอะไรมาเคาะที่เปลือก จะได้ยินเสียงโปร่งๆ กลวงๆ เคาะแล้วมีเสียงได้ แสดงว่าทุเรียนลูกนั้นสุกแล้ว แต่ถ้าเคาะแล้วเสียงตึบๆ ทึบๆ แน่นๆ แสดงว่าทุเรียนลูกนั้นยังอ่อนอยู่ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าตอนที่ทุเรียนยังอ่อนๆเนื้อทุเรียนกับเปลือกจะเติบโตติดแนบกันมา พอเริ่มแก่ใกล้สุกเนื้อทุเรียนมีการสะสมสารอาหารมากขึ้น เนื้อจะแยกออกมาจากเปลือกเล็กน้อย เวลาเคาะหรือดีดด้วยนิ้ว จึงได้ยินเสียงโปร่งกลวงของช่องว่าง ถ้าเคาะแล้วไม่มีเสียงแสดงว่าเนื้อกับเปลือกยังติดกันอยู่ ถ้าจะให้ดีควรเคาะดูทุกพู

สี่ ใช้วิธีการบีบ โดยใช้มือบีบบริเวณหนามสองหนาม ถ้าหนามคลายตัวและเด้งกลับทันที แสดงว่าแก่แล้วแน่นอนทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคตะวันออก โดยผู้สนใจที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง เลขที่ 141 หมู่ที่ 2 ถนนสุขุมวิท ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โทรศัพท์ (038) 611-578, (038) 621-480

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวสวน เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน เร่งป้องกันและระวังความเสียหาย ที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร
เตือนชาวสวนรับมือพายุฤดูร้อน – นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย. ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิด “พายุฤดูร้อน” ขึ้นในหลายพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสวนไม้ผล ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งน้ำท่วม ลมพายุ และภัยแล้งไว้ล่วงหน้า

ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีผลไม้หลากหลายชนิดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก คือ ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลิ้นจี่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำวิธีการดูแลสวนไม้ผลในระยะก่อนและหลังการเกิดพายุฤดูร้อน เพื่อบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

ระยะก่อนการเกิดพายุฤดูร้อน
1. ขอให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ระวังผลผลิตที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวอาจได้รับความเสียหายได้ และระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะนี้ไว้ด้วย เนื่องจากบางช่วงอากาศจะแห้งมาก เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้

2. เกษตรกรควรปลูกต้นไม้บังลม เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก จะช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้

3. ควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย

4. สำหรับสวนที่เริ่มให้ผลผลิต ควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหายที่อาจได้รับจากพายุ กรณีผลไม้บางชนิดที่อ่อน ไม่สมบูรณ์ รูปทรงไม่ปกติหรือมีขนาดเล็ก เช่น มะม่วง อาจเก็บไปจำหน่ายก่อนได้ เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง

ระยะหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน
1. สวนไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง 2. ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย

3. กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น และหากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้น ควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้ราก แตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย

4. หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วันต่อครั้ง หรือให้น้ำปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยให้ไม้ผลผ่านช่วงแล้งไปได้

นายสำราญ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

เอ่ยชื่อ “อดุลย์ โคลนพันธ์” ผู้คนในแวดวงเกษตรอินทรีย์ต่างคุ้นชื่อชายวัย 40 ปีคนนี้ดี เพราะเขาคลุกคลีอยู่ในวงการข้าวอินทรีย์มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้เจ้าตัวนั่งเก้าอี้ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ตำบลโพนเมืองน้อย อำเภอวังสะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีสมาชิก 98 คน และยังเป็นเจ้าของบริษัท บ้านต้นข้าวออแกนิกส์ ฟาร์ม จำกัด ด้วย

ความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง และบริษัท บ้านต้นข้าวออแกนิกส์ ฟาร์ม จำกัด ซึ่งรู้จักกันดีในนามกลุ่มข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ พูดได้ว่าหนุ่มใหญ่รายนี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ แม้จะมีความรู้แค่ชั้น ม.6 แต่ฝีมือการบริหารจัดการ และวิสัยทัศน์ในการทำงานของเขาเทียบเท่าปริญญาเอกเลยทีเดียว จนทำให้ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มได้รับรางวัลมาตรฐานรับรองแหล่งผลิตพืช ประเภทข้าว หรือมาตรฐาน Q จากกรมวิชาการเกษตร และได้โอท็อป 5 ดาว ปี 2552 ประเภท ข้าวหอมมะลิไร้สารพิษ จากกรมพัฒนาชุมชน และมีออเดอร์ข้าวจากโรงแรมใหญ่และร้านอาหารที่มีชื่อเดือนละหลายสิบตัน ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น

ผลิตข้าวหลากชนิด

ความน่าสนใจของกลุ่มนี้อยู่ตรงที่คุณอดุลย์ เป็นเจ้าของแนวคิดทดลองปลูกข้าวแบบที่เรียกว่า “นาเลวดำถี่ นาดีดำห่าง” อีกทั้งสมาชิกในกลุ่มมีหลักปฏิบัติร่วมกันคือ ปลูกข้าวอินทรีย์ 100% โดยไม่ใช้สารเคมีเลย พร้อมกันนั้น มีสมาชิก 25 คนลดละเลิกอบายมุขทุกอย่าง 100% จนยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นชาวนาคุณธรรม

คุณอดุลย์ เล่าที่มาที่ไปของการทำอาชีพเกษตรว่า ช่วยครอบครัวทำนามาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ และเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เน้นการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ งดใช้สารเคมี พร้อมรวมกลุ่มกันทำเริ่มแรกมี 7 คน ช่วงแรกๆ ยอมรับว่าทำยากแต่ก็ผ่านมาได้ และทำให้คนอื่นๆ เห็นว่าสามารถปลูกข้าวอินทรีย์ได้

นอกจากคุณอดุลย์ใช้วิธีศึกษาหาความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีโอกาสไปอบรมกับส่วนงานเกษตรต่างๆ หลายหน่วยงาน เช่น ราชธานีอโศก ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยหัดทำน้ำหมักและปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ จากนั้นแยกมาตั้งกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง และเมื่อ 2 ปีก่อน ได้เปิดบริษัท บ้านต้นข้าวออแกนิกส์ ฟาร์ม จำกัด เน้นการทำงานควบคู่กับกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง

ผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง มีหลากหลาย อาทิ ข้าวหอมมะลิ หอมมะลิแดง หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวพื้นเมือง อย่างพวกข้าวเหนียวแดงและข้าวเหนียวดำ คุณอดุลย์ บอกว่า ในปี 2560 บริษัทมีกำไรกว่า 1 แสนบาท และที่ผ่านมาได้ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ โดยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์อีก 5 กลุ่มของจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร ซึ่งทุกกลุ่มมีใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหลายแห่ง ทั้งของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ไอฟ่ม “IFOAM” (International Federation of Organic Agriculture Movements), มาตรฐาน มกท. และมาตรฐาน PGS (Participatory Guarantee Systems) ฯลฯ

คุณอดุลย์แจกแจงขั้นตอนการปลูกข้าวอินทรีย์ว่า จริงๆ แล้วทำไม่ยากเลย เริ่มจาก เตรียมแปลงก่อน โดยไถกลบฟาง ปลูกถั่วพร้าให้เป็นปุ๋ย ประมาณเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ขนขี้วัวลงแปลงแล้วใส่น้ำหมักประมาณเดือนกันยายน เพื่อเร่งผลผลิต จากนั้นหว่านกล้า ปักดำ แล้วรอเกี่ยว ถ้านาหว่านจะเตรียมแปลงคล้ายๆ กัน ใส่ปุ๋ยชีวภาพ หรือขี้วัว ขี้ไก่ มูลสัตว์ต่างๆ จะใส่ลงก่อนปักดำก่อนหว่านเมล็ดทั้งหมด ต่างกับการปลูกแบบเคมีปักดำเสร็จแล้วค่อยหว่านปุ๋ย ถ้ามันจืดก็จะหว่านปุ๋ยอีก แต่นาข้าวอินทรีย์เตรียมแปลงก่อนดำเสร็จรอเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้ สมาชิกทำเหมือนกันหมด รวมเนื้อที่ประมาณ 14,000 ไร่ ซึ่งผ่านการตรวจมาตรฐานทั้งหมด โดยได้รับการส่งเสริมกับหน่วยงานภาครัฐ ในการจดทะเบียนแปลงใหญ่ และมีการสนับสนุนเงินกู้ให้ด้วย

ซื้อข้าวเกษตรกรแพงกว่าตลาด

ที่ผ่านมาการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จ ทำให้กลุ่มและคณะต่างๆ เข้ามาดูงานจำนวนมาก

ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งระบุด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเข้มแข็งและสามารถขับเคลื่อนมาได้ถึงตอนนี้ เพราะมีความตั้งใจทำงานของทั้งกรรมการและสมาชิก เพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง โดยยึดเป้าหมายชัดเจนของกลุ่ม คือปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีมาตรฐานส่งขายให้ผู้บริโภค ขณะที่ทางสามพรานโมเดล โดย คุณอรุษ นวราช ประธานสามพรานโมเดล เป็นตัวต่อจิ๊กซอว์ให้ ทำให้กลุ่มได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

“เราชี้ประโยชน์ให้เกษตรกรได้รับรู้ว่าปลูกแบบอินทรีย์ดีอย่างไร ขณะเดียวกัน กลุ่มรับซื้อแพงกว่าตลาด 2 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็ดีขึ้น นาก็งามมาก ความต่างคือความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นทั้งเจ้าของนา เจ้าของโรงสี และเป็นผู้ประกอบการด้วย ดีที่สุดตอนนี้คือความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นแปลงที่ใช้สารเคมีฉีดพ่น เขาก็ไม่กล้าลงในแปลงตัวเอง แต่ของเราลงในแปลงตลอด มีกบ เขียด ปู ปลา หากินได้ในแปลง และปลูกผักกินเอง”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อเดินหน้าฉลุย และมีลูกค้ารายใหญ่เป็นคู่ค้าด้วยนั้น เกิดจากการบริหารจัดการ โดยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรจากสมาชิกในราคาเป็นธรรมและสูงกว่าราคาตลาด อย่างที่คุณอดุลย์แจกแจงว่า ในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรทุกราย จะบวกลบจากตลาด เช่น ปีที่ 1 จะบวกให้ 1 บาท ปีที่ 2 ขึ้นไป บวกให้ 2 บาท และปีที่ 3 ได้ 3 บาท แต่ราคาที่เพิ่มให้นี้จะตันอยู่ที่ปี 3

ขณะที่ปี 2560 ข้าวแพงขึ้น จึงใช้วิธีบวกเป็นขั้นบันไดละ 80 สตางค์ ปี 1 เพิ่ม 80 สตางค์ ปี 2 เพิ่ม 1.60 บาท และปี 3 อยู่ที่ 2.40 บาท กรณีถ้าสมาชิกบางคนไม่พอใจจะไปขายเป็นข้าวทั่วไปให้กับโรงสีเป็นราคาตลาด ตอนนี้กิโลกรัมละ 16.25 บาท ถ้ามาขายให้กับกลุ่ม ก็ตั้งไว้ตามนี้ 16.25 บวกอีก 80 สตางค์ ปี 2 บวกอีก 1.60 บาท

โรงแรมใหญ่เป็นลูกค้า

ในส่วนของการแบ่งกำไรให้สมาชิกนั้น คุณอดุลย์ระบุว่า ไม่มีการปันผลเป็นตัวเงิน แต่ได้นำมาพัฒนาธุรกิจต่อ อย่างเช่น 1. ทางกลุ่มหาปัจจัยการผลิตให้ได้ในราคาถูก เช่น ปุ๋ยชีวภาพ หรือมูลสัตว์ ใครไม่มีก็จัดหาให้ 2. รับซื้อข้าวราคาแพงกว่าตลาด 3.ใครขยันก็มาทำงานที่กลุ่ม จะจ้างเหมาเป็นรายวัน เช่น แพ็กข้าวลงกระสอบกิโลกรัมละ 1 บาท สีข้าวกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ตันละ 500 บาท ใครขยันก็ทำเงินได้มาก

ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อมีลูกค้าทั้งรายใหญ่รายเล็ก เดือนหนึ่งมีออเดอร์ 15-25 ตัน โดยส่งให้โรงแรมใหญ่ๆ 15 แห่ง อาทิ โรงแรมรามา การ์เด้นส์, โรงแรมเดอะ สุโกศล, โรงแรมดุสิตธานี, โรงแรมแอทธินี ฯลฯ แต่ละเดือนโรงแรมเหล่านี้รับซื้อแห่งละ 2-3 ตัน นอกนั้นเป็นพวกร้านอาหาร อย่างเช่น ร้านซิซซ์เลอร์สั่งเดือนหนึ่ง 6-9 ตัน 60 สาขา และแม่ศรีเรือน ส่วนโรงแรมสามพรานฯ รับซื้อข้าวเปลือกแล้วนำมาสีเอง

คุณอดุลย์ บอกว่า ในแต่ละเดือนส่งข้าวขาย ประมาณ 50 ตัน เราทำในสเกลใหญ่เหมือนอุตสาหกรรมทำ มีโรงสีข้าวอยู่ 7 ที่ มีเครื่องปรับปรุงคุณภาพ 2 ที่ ใช้ตราวิสาหกิจร่วมใจรวงท้องทุ่ง แต่กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้มันก็ไม่ง่าย มีบางช่วงที่ทำให้ท้อมากคือ ช่วงที่เกษตรผลิตออกมาก แต่ทำตลาดไม่ได้ ไม่มีเงินกลับเข้ากลุ่ม ไม่มีเงินไปจ่ายค่าข้าว จึงต้องกู้เงินธนาคารมาซื้อผลผลิตไว้ แต่ตอนนี้ทำมา 3-4 ปี เกษตรกรเริ่มฝากน้ำหนักข้าวไว้ยังไม่รับเงินไป ต่างจากเมื่อก่อน

สิ่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มสามารถส่งข้าวให้ได้ตามที่รับปากกับลูกค้านั้น คุณอดุลย์ให้ข้อมูลว่า กลุ่มมีทีมส่งเสริมการผลิต จะไม่ให้เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกปลูกได้ตามใจ ถ้าจะปลูกกินก็ปลูกตามใจชอบ ถ้าจะขายให้กับกลุ่มต้องให้โครงการกำหนด เช่น ปลูกหอมมะลิ ปี 3 ขึ้นไป ลูกค้าจะเอาออเดอร์หอมมะลิแดง มาตรฐานอียู ก็จะให้ปลูกตามนั้น ตรงนี้จะไม่มีการล้นตลาด เหมือนทางกลุ่มมาขายก่อน เช่น ที่โรงแรมก่อนปักดำจะมาคุยไว้ก่อนใครจะซื้อเท่าไร ประมาณการไว้ก่อน จะมีของไว้ขายเลยเพราะเป็นนาปี ซึ่งการขายตามออเดอร์นั้นสิ่งสำคัญคือ 1. มาตรฐานได้ 2. เครื่องจักรได้ 3. ส่งตรงเวลา ทั้งหมดต้องทำให้ได้ โดยทางกลุ่มมีรถขนส่งเอง

ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งให้ข้อมูลอีกว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ธุรกิจขายข้าวของกลุ่มเติบโตประมาณปีละ 30-40% ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น แทบทุกบ้านมีรถปิกอัพไว้ใช้ มีเงินใช้หนี้ เกิดความหวงที่นาและใช้ประโยชน์จากที่นาเต็มที่ เพราะหลังจากปลูกข้าวนาปีเสร็จก็ปลูกพืชอื่นๆ เป็นรายได้เสริม อย่างพวกถั่ว ข้าวโพด แตงโม ทำให้มีรายได้เพิ่ม ซึ่งพืชบางชนิดขายได้ราคาดีกว่าข้าวเสียด้วยซ้ำ สมาชิกมีความสุขมากขึ้น รักที่นาและตั้งใจทำนา บางคนมีที่นาไม่กี่ไร่ ช่วง 2-3 ปีนี้ก็เก็บเงินไปซื้อที่นาเพิ่มขึ้น

ตั้งเป้าขายให้ผู้ส่งออก

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ เขาฉายภาพให้ฟังว่า ถ้าสมาชิกเพิ่ม พื้นที่เพิ่ม ข้าวเพิ่ม จะแจ้งไปยังสามพรานโมเดลให้ขยายไปทางโรงแรมอีก เช่น ที่หัวหินกับพัทยา พร้อมกันนี้สมาชิกในกลุ่มเริ่มปลูกพืชหลังนา อย่างหอม กระเทียม และอีกหลายๆ อย่างเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม โดยจะเลือกปลูกพืชที่เก็บได้นาน เพราะจัดการได้ง่าย ทยอยส่งได้ ส่วนต่างประเทศตั้งเป้าจะส่งข้าวให้กับผู้ส่งออกปีละ 400 ตัน ให้กับประเทศสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์

“ปีนี้จะขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มอีก 200 รายจากที่มีอยู่เดิม และใช้ทุกมาตรฐาน GMP ออร์แกนิกไทยแลนด์ PGS EU ไอฟ่ม NOP แคนาดา ถ้าโรงแรมเขาอยากได้มาตรฐานไหนเราจะสามารถส่งข้าวให้ได้เลย แต่ราคาจะบวกลบตามค่าใช้จ่ายตามเส้นทาง ในส่วนสมาชิก 200 รายใหม่นี้อยู่ในช่วงระยะสับเปลี่ยนมาเป็นอินทรีย์ โดยมีคนเก่า 250 ราย และรวมกับเครือข่ายที่ส่งให้กับกลุ่ม 750 ราย ประมาณ 14,000 ไร่ ได้มาตรฐานทั้งหมดคืออียูไอฟ่ม”

คุณอดุลย์ ยังบอกอีกว่า ตอนนี้เกษตรกรน่าจะเป็นผู้ประกอบการได้แล้ว ต้องเปลี่ยนความคิดของกลุ่ม กลุ่มไหนสามารถแปรรูปสีข้าวขายเองได้ ทางกลุ่มก็รับซื้อ โดยจะซื้อทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารจากเกษตรกร แต่ต้องเป็นข้าวอินทรีย์เท่านั้น ขณะที่ทางกลุ่มจะดูแลเรื่องระบบรับรองให้ ถ้าเดินตามกลุ่มได้จะไม่คำว่าจน มีตลาดรองรับให้ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (085) 613-6985