เกษตร 1 ไร่ ได้กินได้ใช้ได้ความสุขการได้กิน คือ มีการเลี้ยงสัตว์

ได้แก่ ปลา กบ เป็ด ไก่ สุกร พืชเกือบทุกต้นที่ปลูกสามารถใช้ทำเป็นอาหารได้ ไม่ว่าจะใช้กินใบ กินดอก กินผล กินหัว กินต้น ซึ่งตอนนี้ปลูกไปแล้วหลายชนิด ตัวอย่าง เช่น มะรุม มะพร้าว ฝรั่ง กล้วย อ้อย ไผ่ มะขามป้อม มะไฟ ขนุน มะม่วง ทับทิม มะนาว ชมพู่ ดอกแค เพกา มะเขือ ขิง ข่า ตะไคร้ ผักบุ้ง บัวบก ผักกูด ฯลฯ สามารถใช้ทำเป็นอาหารได้เกือบทุกชนิด ได้ใช้ คือ พืชจำพวกไผ่ ได้แก่ ไผ่จีนเขียวเขาสมิง ไผ่รวก ไผ่ซางคำ สามารถใช้ทำรั้ว จักสาน ทำเฟอร์นิเจอร์ กิ่งไม้ ใบไม้ ที่ได้จาการตัดแต่งกิ่ง สามารถใช้ทำฟืน ทำปุ๋ยหมัก ใช้คลุมดิน ได้ความสุข คือ ได้ปลูกบ้านหลังเล็กๆ ไว้สำหรับพักผ่อน คลายร้อน คลายเครียด การเลี้ยงสัตว์การให้อาหารสัตว์ การปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ เกิดความสวยงามทำให้เกิดความสุขทางใจ การได้มีกิจกรรมการทำงานกับครอบครัว เป็นการสร้างครอบครัวให้อบอุ่น”

คุณบูรณาการ ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า นี่คือแนวคิด ได้คิดและได้ทำ ตามรูปแบบที่คิดว่าน่าจะมั่นคงและยั่งยืน และยังคงต้องทำต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่อันจำกัด สนใจเชิญเยี่ยมชมสวนเกษตรผสมผสานแบบบูรณาการ ที่บ้านสันกลาง ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา หรือโทรศัพท์ 08-1784-3816

นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จ.ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า สินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดของจังหวัด ได้แก่ ข้าวเหนียวนาปี ข้าวหอมมะลิ และอ้อยโรงงาน โดยข้อมูลสำรวจสินค้า ทั้ง 3 ชนิดพบว่า

จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ปลูกข้าวที่เหมาะสม (S1, S2) จำนวน 2.39 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3, N) จำนวน 3.28 ล้านไร่ โดยผลตอบแทนสุทธิจากการผลิต ข้าวเหนียวนาปี ในพื้นที่เหมาะสม (S1, S2) เกษตรกรได้กำไร 1,743 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3, N) เกษตรกรขาดทุน 1,735 บาท/ไร่ ส่วนข้าวหอมมะลิ พื้นที่เหมาะสม (S1, S2) เกษตรกรได้กำไร 1,822 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3, N) เกษตรกรขาดทุน 1,791 บาท/ไร่

อ้อยโรงงาน มีพื้นที่เหมาะสม (S1, S2) สำหรับการปลูก 2.36 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3, N) 3.38 ล้านไร่ ผลตอบแทนสุทธิในพื้นที่เหมาะสม (S1, S2) เกษตรกรได้กำไร 3,729 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3, N) ได้กำไร 2,785 บาท/ไร่

หากพิจารณาสินค้าทางเลือกให้แก่เกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรแทนการทำนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ตามแผนที่ Agri-Map จังหวัดขอนแก่น พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 สามารถให้ผลตอบแทนสุทธิที่สูงกว่าข้าวเหนียวนาปี โดยมีต้นทุน 4,076 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ เกษตรกรได้กำไร 452 บาท/ไร่ ถั่วลิสงรุ่น 2 (ฤดูแล้ง) มีต้นทุน 7,454 บาท/ไร่ เกษตรกรได้กำไร 1,841 บาท/ไร่ และถั่วเหลืองรุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ต้นทุน 2,107 บาท/ไร่ เกษตรกรได้กำไร 1,622 บาท/ไร่

ทั้งนี้ ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาด อาทิ ข้าวโพดต้นสด ไม้ดอก พืชผัก หญ้าเนเปียร์ การเลี้ยงหมูหลุม และโคเนื้อ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องมีการศึกษาข้อมูลรอบด้าน ทั้งต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิตสินค้านั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตพืช/เลี้ยงสัตว์ชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยดำเนินการ ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับศึกษาข้อมูลเรื่องการตลาดให้รอบคอบ หากท่านที่สนใจต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.4 โทร. 043 261 513 หรืออีเมล

บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตอกย้ำการเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) พัฒนาแอปพลิเคชั่นปฏิทินการเพาะปลูกข้าวด้วยวิธี KUBOTA Agri Solution ภายใต้ชื่อ “KAS Crop Calendar application” เพื่อเป็นคลังความรู้ที่สำคัญของเกษตรกรไทย ในการทำการเกษตรได้อย่างเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจน พร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครอบคลุม ทั้งการแจ้งเตือนสิ่งที่เกษตรกรต้องทำในแต่ละขั้นตอนของปฏิทินการเพาะปลูก การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตลอดจนรายงานสรุปภาพรวมการเพาะปลูก เพื่อการทำเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด พร้อมเปิดตัวให้เกษตรกรไทยใช้แล้ววันนี้

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า “เนคเทค เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากหลากหลายสาขา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเนคเทค คือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีทางการเกษตร

เพื่อสร้างเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ หรือ Precision Farming รวมไปถึงเทคโนโลยีเกษตรกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการเกษตรมีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเกษตรกรไทยและผลักดันให้แบรนด์ไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งในปีนี้ เนคเทค-สวทช. ตั้งเป้าที่จะขยายแผนงานด้านเกษตรกรรรมอัจฉริยะให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และล่าสุด เนคเทค-สวทช. ได้ร่วมมือกับสยามคูโบต้าในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น KAS Crop Calendar ปฏิทินการเพาะปลูกสำหรับเกษตรกรไทยขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด”

คุณสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดของการพัฒนาแอปพลิเคชั่น KAS Crop Calendar ว่า เมื่อปีที่ผ่านมาสยามคูโบต้าได้พัฒนาเว็บไซต์ www.kubotasolutions.com เพื่อเป็นคลังความรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาสืบค้น และนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

รวมทั้งเป็นช่องทางสำคัญในการนำเสนอเทคนิคต่างๆ ในด้านการจัดการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งภายในเว็บไซต์ประกอบด้วยข้อมูลด้านการเพาะปลูกข้าว ที่อยู่ในรูปแบบของปฏิทินเพาะปลูกข้าว เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้เข้าใจและเห็นภาพการทำเกษตรได้อย่างชัดเจน รวมถึงการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในพื้นที่การทำเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกขั้นตอน และข้อมูลเรื่องพืช ซึ่งได้รวบรวมความรู้และเทคนิคต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกและการวิจัย รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ

“เพื่อตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต สยามคูโบต้าได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปฏิทินเพาะปลูกข้าว หรือ Crop Calendar ที่เป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่สำคัญในการทำการเกษตร โดยพัฒนาการแสดงผลปฏิทินการเพาะปลูกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อเพิ่มช่องทางการใช้ปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เข้าถึงง่ายทุกที่ทุกเวลา

จึงได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. ในการเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้น ในชื่อ KAS Crop Calendar application ซึ่งได้มีการพัฒนาในส่วนของฟังก์ชั่นการใช้งาน อาทิ การแจ้งเตือนสิ่งที่เกษตรกรต้องทำในแต่ละขั้นตอนปฏิทินการเพาะปลูก ซึ่งแอปพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเพาะปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเพิ่มหรือปรับขั้นตอนปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่หรือเทคนิคส่วนตัวได้

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถทำรายรับ-รายจ่าย ที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อเก็บเป็นข้อมูลและสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มรายรับให้มากขึ้นในการเพาะปลูกครั้งต่อไป การรายงานสรุป ซึ่งเกษตรกรสามารถดึงรายงานสรุปได้จากแอปพลิเคชั่น ที่จะแสดงถึงภาพรวมของการเพาะปลูก เช่น วันที่เริ่มเพาะปลูกถึงวันสิ้นสุดการเพาะปลูก สรุปขั้นตอนปฏิทินเพาะปลูกทั้งหมด สรุปรายรับ-รายจ่าย ที่เกิดขึ้น และสรุปผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำรายงานสรุปไปพัฒนาการเกษตรของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างดีที่สุด” คุณสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับ KAS Crop Calendar application พร้อมเปิดให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในมือถือสมาร์ทโฟนทุกรุ่น ทั้งระบบ IOS และระบบแอนดรอยด์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด คุณรัชวรรณ ธีรนรเศรษฐ์ 08-5185-8811 ratchawan.t@kubota.com บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ คุณสุดา ศรีบุศยดี 08-9068-4345 suda@neotarget.com

ที่ตำบลซานซิง เมืองยี่หลาน ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกต้นหอมที่ใหญ่ที่สุดและต้นหอมที่นี่มีคุณภาพดีและรสชาติดีที่สุดของเกาะไต้หวัน ตำบลซานซิง ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไต้หวัน ทาง ต.ซานซิง ได้ปรับปรุงพัฒนาให้โรงเก็บข้าวเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์ต้นหอมขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตรของเมืองและเปิดพิพิธภัณฑ์ต้นหอมอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อปี 2548 ทุกๆ ปีทาง ต.ซานซิง จะจัดงานเทศกาลต้นหอมและกระเทียม ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่จนเป็นที่รู้จักและคนไต้หวันจะรู้ว่า เมื่อถึงเดือนมกราคมของทุกปีจะมี “เทศกาลต้นหอมและกระเทียม” ขึ้นที่นี่

คนไต้หวันนิยมบริโภคผักตามฤดูกาล เพราะเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพแข็งแรง และปัจจุบันคนไต้หวันเปลี่ยนพฤติกรรมกินข้าวในแต่ละมื้อน้อยลงแต่จะเน้นการกินผักและผลไม้มากขึ้น (จากอดีตบริโภคข้าว 70%, ผักและผลไม้ 30% ปัจจุบันกลับกันบริโภคข้าว 30% และบริโภคผักและผลไม้ 70%)

ต.ซานซิง นั้นมีชื่อเสียงมากเรื่องของการปลูกต้นหอมที่มีคุณภาพดีที่สุดในไต้หวัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสม ดินมีลักษณะร่วนปนทราย ทำให้การระบายน้ำดี มีน้ำดี (ซึ่งทางภาครัฐของไต้หวันค่อนข้างเอาใจใส่และดูแลเรื่องของระบบชลประทานค่อนข้างดีมาก) โดยต้นหอมของที่นี่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดคือ “ส่วนของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาว จะมีความยาวมากเป็นพิเศษ คือยาว 15-20 เซนติเมตรเลยทีเดียว ลำต้นยาวและรสหวาน มีกลิ่นหอม มีรสไม่เผ็ดมากเกินไป ยังมีคุณสมบัติที่มีคุณภาพเผ็ดอ่อน ลำต้นมีความยาวมากยาวเฉลี่ย 40 เซนติเมตร” (ต้นหอมของไต้หวัน จะเป็นคนละชนิดกับต้นหอมของไทย ซึ่งต้นหอมไทยต้นจะเล็กและสั้นกว่ามาก

ส่วนที่เป็นหัวจะกลมโตกว่า รสชาติเผ็ด และกลิ่นฉุน ต้นหอมไต้หวันจะมีลักษณะเหมือนกับต้นหอมญี่ปุ่นมากกว่า แต่อาจจะด้วยการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ต้นหอมให้มีลักษณะเป็นที่ต้องการของคนไต้หวัน จึงมองดูว่าต้นหอมไต้หวันต้นจะดูเล็กกว่าต้นหอมญี่ปุ่น)

ราคาของต้นหอมก็ขึ้นกับความยาวของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาว โดยจะแบ่งเป็นสองประเภทคือ “ต้นหอมเกรดเอ” คือมีส่วนของลำต้นสีขาวยาว 15 เซนติเมตรขึ้นไป ถือว่าเป็นต้นหอมได้คุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และรู้จักต้นหอมของ ต.ซานซิง ลำต้นสีขาวจะต้องยาวนั้นเกษตรกรจะได้ราคาค่อนข้างสูง ส่วน “ต้นหอมเกรดรอง” คือความยาวของลำต้นส่วนที่เป็นสีขาวมีความยาวไม่ถึง 15 เซนติเมตร และความยาวรวมของลำต้นและใบสั้นตามที่กำหนด ต้นหอมเหล่านี้จะถูกขายตามท้องตลาดทั่วไป ตลาดนัด ร้านอาหาร และนำไปแปรรูปเป็นขนมชนิดต่างๆ หรือนำไปแปรรูปทำเป็นผง เป็นต้น

ต้นหอมเกรดรองที่ลำต้นสั้นจะมีราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องเอาใจใส่ในการปลูกต้นหอมของตนเองให้มากขึ้น จึงจะได้ราคาดี ในการรับซื้อที่นี่จะมีสหกรณ์เป็นคนกำหนดราคาโดยจะประกันราคาให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก (ไต้หวันจะใช้ระบบของสหกรณ์ดำเนินงานด้านการเกษตรทั้งหมดและมีประสิทธิภาพสูงมากทั้งเรื่องราคาที่เกษตรกรที่ควรจะได้รับ, การบริหารจัดการผลผลิต และการกระจายสินค้า โดยแต่ละสหกรณ์ในไต้หวันจะมีการแข่งขันกันเองเพื่อให้เกษตรกรของตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด)

ระบบการปลูกต้นหอมของไต้หวัน จะใช้วิธีการเพาะเมล็ดก่อนเมื่อได้ต้นกล้าต้นหอมแล้วจึงย้ายปลูกลงแปลงการเตรียมแปลงของไต้หวันก็คล้ายกับบ้านเรา แต่ที่ไต้หวันจะใช้รถเตรียมแปลงขนาดเล็ก (ไม่ได้ใช้รถไถเหมือนบ้านเรา) ซึ่งการเตรียมแปลงค่อนข้างมีความประณีตมาก เครื่องขึ้นแปลงสามารถพรวนและตีดินได้ละเอียด ประกอบกับสภาพดินที่ออกจะเป็นดินร่วนปนทราย และการเตรียมแปลงที่ดีทำให้แปลงมีการระบายน้ำที่ดีซึ่งเกษตรกรไต้หวันจำเป็นต้องพิถีพิถันเรื่องการเตรียมแปลงมากเป็นพิเศษเนื่องจากไต้หวันฝนตกบ่อย

เมื่อแปลงปลูกพร้อม เกษตรกรก็จะนำ “ฟางข้าว” (ไต้หวันไม่เผาฟางข้าวและตอซังเหมือนบ้านเรา) มาคลุมแปลงให้ทั่วทั้งแปลงเขาบอกว่าการคลุมแปลงด้วยฟางข้าวมีประโยชน์มาก คือ ฟางข้าวจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับแปลงปลูกเพราะสภาพอากาศของไต้หวันในช่วงกลางวันอากาศค่อนข้างร้อนมาก

การย้ายกล้าปลูกในช่วงแรกต้องระวังอย่าให้แปลงปลูกต้นหอมขาดน้ำ แปลงต้องมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอด ฟางข้าวยังช่วยลดปัญหาเรื่องของวัชพืชที่ขึ้นบนแปลงได้เป็นอย่างดี ลดเวลาและแรงงานมากำจัดวัชพืชไปได้เป็นอย่างมาก และอีกประการเมื่อฟางข้าวผุเปื่อยก็จะถูกไถกลบในแปลงปลูกทำให้โครงสร้างดินดี นี่เป็นประโยชน์ของฟางข้าว ดังนั้นเกษตรกรที่ทำนาถ้าไม่ไถกลบ ก็จะเก็บฟางข้าวไว้ใช้คลุมแปลงปลูกผัก หลังจากคลุมแปลงด้วยฟางเรียบร้อยแล้ว และกล้าต้นหอมที่เพาะเอาไว้พร้อมคือ มีใบจริง 2-3 ใบ และมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายปลูกได้ การย้ายกล้าปลูก เกษตรกรจะมีเหล็กรูปตัวที (T) ซึ่งเหล็กรูปตัวทีนี้ จะเป็นตัวที่เกษตรกรจะใช้แทงดินนำร่องให้ดินเป็นรูลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วเสียบกล้าลงไปในรูดังกล่าวแล้วใช้มือบีบดินให้แน่นเพียงเท่านี้เป็นอันเสร็จขั้นตอนการปลูก

ส่วนการให้น้ำเท่าที่สังเกตจะมีการวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ ในเรื่องของการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในแปลงปลูก จะมีการวางกับดักล่อแมลงโดยเฉพาะแมลงวันทอง จะเป็นแบบกล่องล่อให้แมลงวันทองเข้าไปแล้วตกไปตายในกล่องล่อแมลงที่มีน้ำบรรจุอยู่ (น้ำผสมกับฟีโรโมนช่วยดึงดูดแมลงวันทองเข้ามาในกับดัก) โดยไต้หวันให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยในการทำการเกษตรมาก มีการตรวจสอบสารตกค้าง

อย่างการปลูกต้นหอมเองก็จะยึดหลัก TGAP (Taiwan Good Agriculture Practices) หรือ การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมของไต้หวัน และแนวโน้มการบริโภคคนไต้หวันมีความต้องการสินค้าอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐบาลไต้หวันก็พยายามผลักดันไม่ให้เกษตรกรใช้สารเคมีและผลิตสินค้าอินทรีย์

ในการปลูกต้นหอม จนเก็บเกี่ยวได้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 100 วัน เกษตรกรก็จะถอนต้นหอมออกจากแปลงปลูกและนำไปล้างทำความสะอาดในบ่อน้ำ ลอกใบที่ไม่ดีออก จากนั้นมัดเข้ากำ และบรรจุลงกล่องส่งจำหน่ายสหกรณ์ ราคาต้นหอมนั้น ถ้าในฤดูหนาวที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จะเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 50-100 บาท แต่ถ้าในช่วงฤดูร้อนหรือพายุเข้า ต้นหอมจะมีราคาสูงมาก คือสูงสุดอาจจะกิโลกรัมละ 500-600 บาท ทีเดียว

คนไต้หวันเวลาทำอาหารมักจะนิยมใส่ต้นหอมด้วย เพราะนอกจะช่วยเรื่องของความหอมและรสชาติแล้ว คนไต้หวันมีความเชื่อว่า “ต้นหอม” เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง, โชคดี, และสติปัญญาดีอีกด้วย

เลี้ยงวัวขุนเป็นคนแรกของหมู่บ้าน

พาท่านไปพบกับ คุณสังวน ดาปาน ที่บ้านเลขที่ 6 หมู่ 2 ตำบลหนองลาน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี“สมัยแรกๆ ที่ผมเริ่มเลี้ยงวัวขุนผมซื้อวัวตัวละ 3,000-4,000 บาท มาเข้าขุน ตอนนั้น วัวยังราคาถูกมาก ไม่เหมือนตอนนี้ ที่ราคาตัวละเกือบ 20,000 บาท สมัยก่อนผมขุนครั้งละประมาณ 30 ตัว เพราะยังมีเรี่ยวแรง มีช่องทางหาทุนก็ขุนได้ครั้งละหลายตัว” คุณสังวน เริ่มเล่า

จากวันนั้นจนวันนี้ที่คุณสังวนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำวัวขุนมาค่อนชีวิตวันนี้ คุณสังวนจึงมีวัวเลี้ยงเอาไว้แค่ 8 ตัว

“ผมเลี้ยงวัวแม่พันธุ์เอาไว้ 4 ตัว อีก 4 ตัว เป็นวัวที่กำลังขุนอยู่ ก็ทำตามกำลังทุนและกำลังกายที่เรามี ที่ผ่านมาไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่เคยเลิกเลี้ยงวัวแม้ว่าแม่บ้านผมจะขอให้เลิกเลี้ยงหลายครั้งผมก็ยังดื้อ” คุณสังวน เล่าไปยิ้มไป

ทุนน้อยขุนวัวเล็กเน้นชาโรเลส์
มาดูในส่วนของวัวขุนกันก่อน ตอนนี้คุณสังวนมีวัวขุนอยู่ 4 ตัวที่เน้นวัวลูกผสมชาโรเลส์เป็นหลัก คุณสังวนเล่าว่า เขาเลือกวัวลูกผสมชาโรเลส์มาเข้าขุน และเลือกเฉพาะวัวไซซ์เล็ก สายเลือดไม่สูงมากนักมาเข้าขุน เพราะวัวลูกผสมสายเลือดไม่สูงจะสู้เรื่องราคาได้ หากเป็นวัวลูกผสมสายเลือดสูงราคาก็สูง ต้นทุนยิ่งสูงตามไปด้วย

“วัวที่ผมจะเอามาเข้าขุนส่วนใหญ่ใช้วัวในพื้นที่เป็นหลักเพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่งไม่เพิ่มต้นทุน ส่วนพันธุ์วัวถ้าลูกผสมชาโรเลส์หาไม่ได้จริงๆ ผมก็เลือกลูกผสมบราห์มัน แต่วัวหูยาวผมไม่เอาเลย เพราะมันขุนไม่ขึ้น”

หลักการเลือกวัวมาเข้าขุนของคุณสังวน คือ จับวัวเล็ก วัวรุ่น มาเข้าขุนโดยดูที่ราคาด้วย หากราคาอยู่ในช่วง 10,000 ต้นๆ ไม่เกิน 20,000 บาท ก็พิจารณาไว้ก่อน หลังจากนั้นก็มาดูในเรื่องของโครงร่างประกอบกัน เลือกวัวที่มีสันหลังยาว กล้ามเนื้อคอยาว สะโพกใหญ่ เป็นหลักเพราะวัวโครงร่างแบบนี้สามารถเพิ่มน้ำหนักได้ดีเมื่อนำมาเข้าขุน

เทคนิคการขุนวัว
เมื่อวัวที่ซื้อไว้เดินทางมาถึงคอก คุณสังวนจะถ่ายพยาธิ ฉีดยาบำรุง และฉีดยาคุมกำเนิด หลังจากนั้นจะนำไปแยกขุนคอก

“ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกผมว่า ถ้าเราขังรวมทั้งหมดวัวจะอ้วนแค่บางตัว บางตัวที่ไม่ได้เป็นใหญ่ในคอกมักไม่ค่อยได้กิน เลยทำให้วัวน้ำหนักขึ้นไม่เท่ากันยุ่งยากเวลาที่จะจับขาย ผมจึงขุนแบบเลือกดูว่าตัวไหนตัวใหญ่ใกล้เคียงกันความดุใกล้กันก็จะขังรวมกัน 2 ตัว ส่วนตัวไหนดุมากหรือตัวเล็กตัวใหญ่มากก็ขังเดี่ยวดีกว่า ส่วนอาหารที่ใช้ขุนวัว เป็นอาหารข้น โปรตีน 16% เป็นอาหารข้นที่หาได้ในพื้นที่โดยจะให้วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น”

หากวันไหนมีหญ้าสดหรือต้นข้าวโพด ก็จะให้หญ้าสดหรือต้นข้าวโพดสับในช่วงบ่าย ประมาณตัวละ 20 กิโลกรัม แล้วงดอาหารข้นในตอนเย็น บางวันมีต้นกล้วยหั่นเป็นอาหารเสริม แต่ที่ให้ตลอด คือ ฟางราดกากน้ำตาล และน้ำเกลือ ใส่แยกไว้ต่างหากอีกรางโดยจะให้ฟางติดรางไว้ตลอดเวลา เพื่อให้วัวมีอาหารกินหลากหลาย

การขุนวัวแต่ละคอก คุณสังวนใช้เวลาขุนประมาณ 6 เดือน เพื่อให้มีน้ำหนัก 400 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนใหญ่คุณสังวนจะขุนวัวไม่ถึง 6 เดือน เพราะเมื่อวัวเริ่มอ้วนเริ่มสะสมไขมันก็จะมีคนมาซื้อไปขุนต่อ โดยอัดอาหารเต็มที่ ขุนต่ออีกประมาณ 1 เดือน ก็ขายได้

เลี้ยงแม่พันธุ์ สร้างฝูงลูกผสมชาโรเลส์
ตัวผู้เข้าขุน
เท่าที่ผมตระเวนจรร่อนไปในวงการวัวขุนรายย่อยในบ้านเรา มักจะได้ยินเสียงบ่นว่า วัวลูกผสมยุโรป ลูกผสมชาโรเลส์มีไม่พอกับความต้องการ ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกผสมชาโรเลส์ราคาดั่งทองเป็นที่ต้องการไปทั่ว คุณสังวนคิดเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้น จึงได้สร้างฝูงแม่พันธุ์ลูกผสมชาโรเลส์เอาไว้แล้ว

“ผมมีวัวแม่พันธุ์อยู่ 4 ตัว คัดเลือกเก็บเอาไว้ขยายพันธุ์โดยเป็นแม่พันธุ์ลูกผสมชาโรเลส์เป็นหลัก และมีแม่พันธุ์ลูกผสมบราห์มันรวมอยู่ด้วย เรื่องสายเลือดชาโรเลส์ผมว่าเกือบๆ 50% แล้วใส่น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ชาโรเลส์เลือด 100 ไปผสมลูกที่ออกมาถ้าเป็นตัวเมียเราก็เก็บไว้ใช้ทำแม่พันธุ์ ขยายฝูงแต่หากออกมาเป็นตัวผู้เราก็เอาเข้าขุน”

แม่พันธุ์ที่ให้ลูกถี่
เลี้ยงลูกดี มีน้ำนมมาก
“ที่ผมเลือกใช้แม่พันธุ์ลูกผสมสายเลือดไม่สูงมาก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมสังเกตว่าแม่พันธุ์ที่มีสายเลือดสูงๆ จะให้ลูกห่าง ทำให้เราเสียเวลาคอย” คุณสังวนเล่าต่อ หลักการเลือกวัวมาใช้เป็นแม่พันธุ์ของคุณสังวนน่าสนใจมากครับ “ผมเลือกวัวที่จะเก็บเอาไว้ใช้ทำแม่พันธุ์โดยดูจากการให้ลูกเป็นหลัก ผมไม่ได้เน้นว่าวัวแม่พันธุ์ของผมจะต้องให้ลูกตัวใหญ่ ให้ลูกลักษณะดีเด่นสวยงาม แต่ผมเน้นวัวแม่พันธุ์ที่ให้ลูกถี่ เลี้ยงลูกดี มีน้ำนมมาก วัวแบบนี้จึงน่าจะใช้เป็นแม่พันธุ์ แม่พันธุ์ที่ผมเก็บเอาไว้ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังให้ลูกได้เข้าขุนแล้วและให้ลูกตัวเมียมาขยายฝูงให้ผมแล้วหลายตัว”

ปลูกหญ้า ทำหญ้าหมัก อย่างง่าย
คุณสังวน สร้างแปลงหญ้าเอาไว้ในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และกำลังขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีกเพื่อรองรับการขยายฝูงแม่พันธุ์

“ผมปลูกหญ้าพันธุ์จัมโบเอาไว้ 1 ไร่ โดยปลูกเป็นแถวยาวประมาณ 40 เมตร ระหว่างแถวห่างกันประมาณ 1.5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 6 แถว”

ในส่วนของหญ้าจัมโบ เป็นหญ้าในกลุ่มหญ้าซอกัม (Sorghum almum) เป็นหญ้าอายุสองปี แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เป็นหญ้ากอสูง ต้นสูงประมาณ 1.6 เมตร ลักษณะใบคล้ายต้นอ้อ ชอบที่ดอน ดินสมบูรณ์ ติดเมล็ดดีมาก แต่ไม่ทนต่อการแทะเล็ม หญ้าที่ปลูกเอาไว้ในพื้นที่ 1 ไร่ของคุณสังวนจะนำมาทำเป็นหญ้าหมักโดยคุณสังวนอธิบายวิธีทำหญ้าหมักอย่างง่ายแบบนี้ครับ

นำหญ้ามาหั่นโดยเครื่องสับ ให้มีขนาด 1 – 2 นิ้ว อัดหญ้าสดที่หั่นแล้วลงในถุงพลาสติกที่อยู่ในกล่องไม้ที่ทำเป็นแบบ อัดหญ้าให้แน่นโดยใช้เท้าย่ำ
2.เมื่ออัดหญ้าสดเต็มแบบกล่องไม้แล้ว ให้รวบปากถุงถอดแบบออก แล้วใช้เชื่อกฟางรัดปากถุงให้แน่น

3.เก็บไว้ในที่ร่มหลังจากนั้น 21 วัน หญ้าสดจะเปลี่ยนเป็นหญ้าหมัก

คุณสังวน บอกว่า หญ้าที่ปลูกเอาไว้ 1 ไร่ จะสามารถตัดมาทำหญ้าหมักได้ประมาณ 60 ถุงดำ หลังหมักหญ้าจนได้ที่จะสามารถนำมาเลี้ยงวัวที่มีรวม 8 ตัว ได้ประมาณ 8-10 วัน ส่วนวิธีการดูหญ้าหมักที่ดีสังเกตได้จาก มีกลิ่นหอมเปรี้ยว ไม่เน่าเหม็น หญ้าไม่เป็นเมือก ไม่เละ มีสีเขียวอมเหลือง ไม่มีเชื้อรา

ก่อนจาก ฝากถึงมือใหม่
สำหรับใครที่สนใจในการเลี้ยงวัว คุณสังวนมีคำแนะนำฝาก

“ผมคิดว่าราคาวัวในบ้านเราน่าจะดีไปอีกหลายปี เพราะวัวหมดจริงๆ ที่ผ่านมาแม่พันธุ์ก็ถูกนำมาขุน เอามาเชือดจนใกล้จะหมด ผลิตลูกไม่ทัน และเมื่อวัวราคาดีก็จะมีคนหน้าใหม่สนใจในอาชีพนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมจะแนะนำก็คือ คนเลี้ยงวัวจะต้องเป็นคนขยันและมีใจรักจึงจะเลี้ยงวัวได้ตลอดรอดฝั่ง หากเลี้ยงวัวตามกระแสเดี๋ยวเหนื่อยก็จะเบื่อหน่ายเลิกไป นอกจากนั้น เรายังต้องวางแผนการเลี้ยงวัวของเราให้ดี หากใครที่คิดจะทำวัวขุนแนะนำว่าทางที่ดีควรสร้างฝูงวัวแม่พันธุ์ของเราเอง ไม่ต้องรอหาซื้อวัวจากตลาด ทำต้นทุนของเราให้ต่ำเราถึงจะไปรอดได้”