เชื่อว่ามีปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในคลองธรรมชาติ

ก่อนที่จะถูกระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้ปลากะพงช็อกตาย เนื่องจากก่อนที่ปลาจะช็อกนั้น ได้กลิ่นเน่าเหม็นรุนแรง แม้จะมีการพยายามใช้ผงออกซิเจนเพื่อกู้วิกฤต แต่ก็ไม่เป็นผล ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี และอยากให้ส่วนราชการเร่งยื่นมือมาช่วยเหลือ เพราะความเสียหายในครั้งนี้ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากได้มีการกู้ยืมเงินมาลงทุนเลี้ยงปลาล็อตนี้ถึง 2 ปี แต่เมื่อจะจับส่งขายได้ในราคากิโลกรัมละ 165 บาท วันนี้เหลือเพียง 5-100 บาทเท่านั้น ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนทันที โดยมีห้องเย็นมารอรับซื้อปลากะพงขาว ที่ถูกงมขึ้นมาจากน้ำ หลังจากน็อกน้ำและกำลังจะตาย นำมาล้างโคลนที่เหงือกออก โดยจะเป็นปลาที่ยังพอมีราคา เนื่องจากยังไม่ตาย ส่วนปลาที่ตายและลอยขึ้นมาแล้วก็จะเหลือราคากิโลกรัมละ 5 บาท สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์เท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีผู้เลี้ยงปลากะพงรายย่อยอีกนับสิบราย ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้ประเมินว่าเบื้องต้นมีมูลค่าความเสียหายจากปลากะพงตายหลายสิบล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ส่วนราชการในจังหวัดสงขลา ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการประชุมเพื่อแก้ปัญหา และยังไม่มีเจ้าภาพในการเข้ามาแก้ไขปัญหาหรือให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่ปลากะพงขาวที่ชาวบ้านเลี้ยงเอาไว้ตายต่อเนื่องมาตั้งแต่ 19 เมษายนแล้ว โดยมีผู้เลี้ยงได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยกว่า 50 ราย ในขณะที่ปัญหายังคงเกิดขึ้น เนื่องจากน้ำเน่าเสียยังคงอยู่ในทะเลสาบสงขลา เพราะน้ำยังนิ่ง ในขณะที่น้ำในทะเลสาบสงขลาแห้ง ทำให้น้ำเสียมีความเข้มข้นสูง โดยชาวบ้านยังคงกังวลว่าเมื่อไหร่ปลาของตัวเองจะได้รับผลกระทบ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่องทิศทางงานวิจัยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาข้าวอย่างครบวงจร ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่า จากปัจจัยสังคมมีผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ครอบครัวขนาดใหญ่กลายเป็นเดี่ยว การแข่งขันในตลาดโลกรุนแรงขึ้น สินค้าข้าวไม่สามารถควบคุมราคาได้ ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับดีมานและซัพลาย อย่างตอนนี้ชาวนาปลูกข้าวมากขึ้น แต่การบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง ประเทศที่เคยนำเข้าข้าวก็เลิกหันผลิตในประเทศแทน ทั้งหมดนี้ ทำให้เกษตรกรไทยต้องเปลี่ยนตาม แต่ที่ผ่านมาไทยก้าวได้ช้า เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและถือครองที่ดินมีน้อย ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ได้ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ ผลผลิตต่อไร่ต่ำและต้นทุนสูง ต่างกับประเทศอื่น ที่มีการพัฒนาให้เป็นเกษตรแม่นยำได้แล้ว

ดังนั้น ไทยต้องเปลี่ยนและเดินหน้าพัฒนาให้เร็วขึ้น โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 ต้องเกิด หมายถึงใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตมาก เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในส่วนของข้าราชการก็ต้องปรับตัว เพื่อเป็นที่ปรึกษากับเกษตรกร รวมทั้งการวิจัยต่างๆต้องต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ กรณีข้าว ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการข้าวสะอาดคุณภาพดี เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งในยุทศาสตร์ชาติปีที่ผ่านมา เน้นลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ เพื่อที่เกษตรกรเหลือเงินไว้ใช้บ้าง ปีนี้จะเน้นเกษตรปลอดภัย รองรับความต้องการของตลาด ในแผนข้าวครบวงจร เป็นบททดสอบได้ว่านาปีที่จะถึงนี้จะทำได้แต่ไหน เพื่อให้เพียงพอกับเป้าส่งออกประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร

นางสาวชุติมา กล่าวว่า การทำเกษตรแปลงใหญ่เป็นทางออก เพื่อให้ได้ข้าวตรงกับความต้องการของตลาด แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขผลิตแบบปลอดภัย เลิกใช้สารเคมี ผลผลิตที่ได้จะเชื่อมกับโรงสีเพื่อแปรรูป ส่งขายให้กับโมเดิร์นเทรด งานวิจัยก็ต้องดูความต้องการของตลาดไม่ใช่เพื่อความอยากรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทรวงเกษตรมีแผนส่งเสริมภายใต้โครงการชวนกันทำนาอินทรีย์ 1 ล้านไร่ แม้จะยากแต่อยากทำ ซึ่งข้าวไทยมีข้อดี มีหลายพันธุ์เหมาะทำอาหารผู้ป่วย ข้าวเพื่อนักกีฬา ข้าวสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ตอนนี้ผลวิจัยออกมามากแต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการและควรลึกลงให้เห็นคุณค่าของข้าว เช่น กข. 43 มีเปอร์แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลต่ำ แต่ไม่นิยมปลูก ทั้งๆที่เหมาะสำหรับคนป่วยเป็นเบาหวานได้ เป็นต้น

ถึงหน้าทุเรียนออกเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นต้องกุมขมับเมื่อนั้น เนื่องจากปัญหาการค้าทุเรียนอ่อนช่วงต้นฤดู วังวนผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก

เนื่องจากการค้าทุเรียนอ่อนในช่วงต้นฤดูกาลมักจะได้ราคาดี ขณะที่เกษตรกรก็ไม่ต้องเสี่ยงภัยธรรมชาติ สอดคล้องกับพ่อค้าที่คอยรวบรวมทุเรียนต้องการจำนวนมาก เพื่อส่งให้ล้งซึ่งส่วนใหญ่เป็นล้งจีนอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีราว 116 แห่ง โดยวิธีการซื้อขาย คือ ล้งจีนต้องอาศัยพ่อค้าคนไทยเป็นผู้รวบรวมผลผลิตให้ได้ตามปริมาณ และเวลาที่กำหนด ซึ่งพ่อค้ามักจะซื้อเหมาสวนจากชาวสวนโดยการทำสัญญาล่วงหน้าไว้ทั้งแบบปากเปล่า และหนังสือสัญญาของผู้ซื้อ พร้อมวางมัดจำ 15-20% เมื่อถึงกำหนดเวลาตัดทุเรียน พ่อค้าจะมาพร้อมกับมือมีดเพื่อมาตัดทุเรียนเอง โดยช่วงต้นฤดูที่ทุเรียนมีราคาแพง จะมีการแข่งขันกันสูง พ่อค้าแย่งกันซื้อ การเร่งตัดจึงมีโอกาสที่ทุเรียนอ่อนจะปนเข้าไปด้วย

หนุนสหกรณ์ทำทุเรียนคุณภาพ

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ นายกสมาคมชาวสวนผลไม้ จังหวัดตราด ประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด จำกัด และประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่าทุกวันนี้พบทุเรียนอ่อนในตลาดเมืองจีนแล้ว ปัญหาจากพ่อค้าและล้งที่ตัดทุเรียนอ่อนไปขาย ทำให้ช่วงหนึ่งตลาดจีนปฏิเสธการรับซื้อ หันไปซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเวียดนาม มาเลเซียแทน ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำทุเรียนคุณภาพสูญเสียโอกาสในการขายทุเรียน มองว่าชาวสวนต้องควบคุมคุณภาพ ไม่ยอมให้ล้ง หรือพ่อค้าผู้รวบรวมมาตัดทุเรียนอ่อนออกไปขาย ซึ่งจากนี้หอการค้าจังหวัดตราดมีโครงการที่จะสนับสนุนสหกรณ์ให้เข้ามารับซื้อทุเรียนคุณภาพ แทนที่จะให้ตลาดเป็นของล้งจีนฝ่ายเดียว

“ถึงเวลาแล้วที่จังหวัดตราดต้องรวมตัวกันซื้อ-ขายด้วยระบบสหกรณ์ต้องสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือและเป็นผู้ซื้อ ผู้ขายเองเพื่อต่อรองกับล้ง พ่อค้าเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นตลาดทุเรียนคุณภาพจะถูกพ่อค้าทำลาย เพราะการแข่งขันกันซื้อของพ่อค้าที่รวบรวมไปส่งล้ง ชาวสวนบางรายได้เงินจำนวนมากดีใจ แต่สุดท้ายจีนจะไม่ซื้อทุเรียน หรือซื้อราคาต่ำ ผลกระทบจะย้อนกลับมาทำลายอาชีพตัวเอง”

เกษตรกรขอลดค่าเปอร์เซ็นต์แป้ง ด้าน “ภานุวัฒน์ ไหมแก้ว” นายกสมาคมผู้ประกอบการค้าทุเรียน มังคุด จ.จันทบุรี ตัวแทนผู้รวบรวมทุเรียนที่ถูกอายัดทุเรียน กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียน โดยพันธุ์กระดุม 27% พันธุ์ชะนี 30% พันธุ์พวงมณี 30% และพันธุ์หมอนทอง 32% แต่ปัญหาขณะนี้ตนมี 2 ประเด็น เรื่องแรก คือ ทุเรียนหมอนทองที่ตัดส่วนใหญ่เป็นหมอนทองแก่ 70-80% แต่เมื่อตรวจวัดค่ามาตรฐานได้เพียง 27-28% เท่านั้น เรื่องนี้เป็นเพราะสภาพฝนตก ทำให้ต้นแตกใบอ่อนทำให้เนื้อทุเรียนได้อาหารไม่เต็มที่ แต่ยืนยันว่าจำนวนวันที่ตัดตามกำหนด ดูจากเนื้อทุเรียนสีเหลือง ซึ่งมีตลาดรับซื้อแน่นอน ประเด็นที่สอง ทุเรียนหมอนทองที่ต้องตัดส่งตลาดต่างประเทศมองว่าต้องปรับเปลี่ยนให้ต่ำลง เหลือ 28% เนื่องจากเงื่อนไขระยะเวลาขนส่งหลายวัน เมื่อถึงตลาดจีน ทุเรียนก็จะสุก และแตก ทำให้ถูกกดราคา

ขณะที่ “ชาตรี แดงตะนุ” เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนหมอนทองขนาด 18 ไร่บ้านอ่าวช่อ ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด หนึ่งในเจ้าของสวนทุเรียนที่มีการตัดทุเรียนอ่อน กล่าวว่า ทุเรียนในสวนของญาติได้ทำสัญญาขายเหมาล่วงหน้าให้พ่อค้าผู้รวบรวม 3 รุ่น สำหรับรุ่นที่ 2 ตัดได้จำนวน 4 ตัน ขายเหมากิโลกรัมละ105 บาท โดยแต่ละรุ่นจะมีเชือกสีโยงเป็นเครื่องหมาย ซึ่งที่ตัดมาเป็นทุเรียนแก่เนื้อสีเหลือง ครบกำหนดตัด 90-95 วัน เร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ ที่ใช้เวลาประมาณ 110-120 วัน เนื่องจากทุเรียนแถบ ต.อ่าวใหญ่ต.อ่าวช่อ อ.เมืองตราด สุกเร็วกว่าพื้นที่อื่นโดยไม่ได้ใช้สารเร่งแต่อย่างใด ด้วยสภาพพื้นที่ดินเป็นดินปนทราย มีทะเลโอบล้อม 3 ด้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งได้ 28% เพราะเกิดจากสภาพอากาศที่มีฝนตก ทุเรียนแตกใบอ่อน เรื่องนี้เกษตรกร ต.อ่าวใหญ่ 40 คน ได้เสนอให้ อบต.อ่าวใหญ่ ขอให้จังหวัดประสานหน่วยงานปรับลดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแป้งหมอนทองลงมา 28%

ขณะที่ปัจจุบันมีความพยายามจากหลายหน่วยงาน ที่ร่วมด้วยช่วยกันหาทางแก้ปัญหาการขายทุเรียนอ่อน ทั้งส่วนของฝ่ายกฎหมาย มีการเพิ่มบทลงโทษประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก้เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 มาตรา 47 โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“วันชัย เจริญใจ” เกษตรอำเภอเขาสมิง กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบทุเรียนอ่อนจะใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากแถวที่ 3 ลูกที่ 3 ของรถบรรทุกทั้งหมด นำไปตรวจวัดมาตรฐานเปอร์เซ็นต์แป้งแต่ละพันธุ์ ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ พันธุ์หมอนทอง 32% กระดุมทอง 27% และชะนีกับพวงมณี 30% ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั้ง 3 จังหวัดภาคตะวันออก ตราด จันทบุรี ระยอง โดยจะนำไปตรวจ หากพบว่ามีทุเรียนอ่อนเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่ามาตรฐานปะปน จะไม่อนุญาตให้ส่งไปจำหน่ายที่ตลาด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการอายัดทุเรียนไว้ เพื่อรอการคัดแยกทุเรียนอ่อน-แก่อีกครั้ง

สำหรับมาตรฐานการวัดเปอร์เซ็นต์แป้งนั้น “ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล”อาจารย์ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ ศ.ดร.จริงแท้ ศิริพานิช ทำวิจัยกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งหมอนทองที่ 32% และใช้เป็นมาตรฐานตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเกณฑ์คือ สิ่งที่บอกว่าทุเรียนแก่ ถ้าลดเปอร์เซ็นต์แป้ง ปัญหาคือทุเรียนด้อยคุณภาพจะติดมามากขึ้น ขณะที่ล้งที่รับซื้อส่งตลาดจีนต้องคัดทุเรียนคุณภาพ หากไม่ได้คุณภาพ ทุเรียนจะถูกเวียนขายให้พ่อค้าเพื่อนำไปขายปลีกตลาดภายใน และอาจเป็นโอกาสให้กับทุเรียนเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่สามารถเก็บทุเรียนแก่ส่งเข้าจีนทางบกระยะทางใกล้กว่าไทยอีกทั้งมาเลเซียที่ส่งทุเรียนแช่แข็งเข้าไปขายราคาดีกว่า

“ดังนั้นการที่ล้งหรือเกษตรกร ร้องขอให้ปรับลดเปอร์เซ็นต์แป้ง ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งงานวิจัยใหม่ โดยต้องปรับเกณฑ์มาตรฐานหลายอย่าง อาทิ สภาพอากาศฝนตกมีผลต่อน้ำหนักเปอร์เซ็นต์แป้งจริงหรือไม่ ซึ่งต้องหาทิศทางร่วมกันต่อไป”

อ.ส.ค.จับมือ4สมาคมรุกแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด-คุมเข้มคุณภาพนมโรงเรียนพร้อมปรับโฉมกล่องนมโรงเรียนใหม่เทอม1/60นี้หวังกระตุ้นเด็กดื่มนมโรงเรียนมากขึ้นและเตรียมตรวจสอบ/ประเมินผลคุณภาพนมโรงเรียนทั่วประเทศระหว่าง11-15พค.60 นี้
นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.)

ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (สคน.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้เชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมนม ยู.เอช.ที, สมาคมนมพาสเจอร์ไรส์, สมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ,สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ร่วมหารือเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2560 โดยทุกฝ่ายพร้อมบูรณการให้ความร่วมมือในการช่วยแก้ปัญหาน้ำนมดิบไม่ให้ล้นตลาดในช่วงปิดภาคเรียน โดยยึดตามบันทึกลงนามข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำนมโคหรือ MOU อย่างเคร่งครัด เพื่อผลิตเป็นนมโรงเรียน ยู.เอช.ที (U.H.T.) ในช่วงระหว่าง วันที่ 1 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2560

รวมทั้งเตรียมที่จะใช้บรรจุภัณฑ์นมโรงเรียนดีไซน์ใหม่ในภาคเรียน 1/2560 นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการจะทำการตรวจสอบและประเมินผลคุณภาพนมโรงเรียน
โดย อ.ส.ค. จะใช้ผู้แทนตามภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมปศุสัตว์ ทำการตรวจสอบและประเมินผลดังกล่าว เพื่อให้นมได้มาตรฐานและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“ทุกสมาคมพร้อมที่จะดูแลในการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมทั่วประเทศให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนกับ อ.ส.ค. ที่จะต้องดูแลรับผิดชอบน้ำนมดิบตลอดระยะเวลาปิดภาคเรียนตามข้อตกลงที่ได้ลงนาม MOU ให้ซื้อน้ำนมดิบตลอดระยะเวลา 365 วัน หากดูแลบริหารจัดการที่ดีน้ำนมดิบจะไม่ล้นตลาดอย่างแน่นอน รวมทั้งการลงนาม MOU จะทำในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี และอีกแนวทางหนึ่งกำหนดให้แต่ละรายช่วยกันผลิตนมโรงเรียน ยู.เอช.ที. (U.H.T.) ตลอดช่วงระยะปิดเทอมหรือผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 3423.16 ตันต่อวันในจำนวนดังกล่าวเป็นปริมาณน้ำนมดิบที่ทำข้อตกลง(MOU)เพื่อทำการผลิตนมโรงเรียนปีการศึกษา 2559/2560 ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม จำนวน 1,323 ตันต่อวัน ตลอดระยะเวลา 365 วัน รวมวันปิดภาคเรียน หากสามารถดำเนินการไปตามเป้าหมายดังกล่าวปัญหานมล้นตลาดจะหมดไปอย่างแน่นอนส่วนแนวทางแก้ปัญหานมล้นตลาดในระยะยาวจะขอความร่วมมือให้สมาคม , ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยดื่มนมเพิ่มขึ้นผ่านเทศกาลที่สำคัญหรือการออกเคญเปญ เพื่อสร้างแรงจูงใจการดื่มนม หวังให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 2560-2569 ที่มีเป้าหมายเพิ่มการบริโภคนมร้อยละ 4 จากปัจจุบันคนไทยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 14-15 ลิตร/คน/ปี ซึ่งในส่วนของ อ.ส.ค. ปัจจุบันครองสัดส่วนตลาดนมโรงเรียนอยู่ที่ 900 ล้านบาท/ปีและทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปีจะจัดกิจกรรมวันดื่มนมโรงเรียนโลกเพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยเห็นความสำคัญของการดื่มนม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 ถอดบทเรียนกรณีศึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวอำเภอเกาะพะงัน ตามโครงการศึกษาแนวทางพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่ เผย เกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์โดยกลุ่มชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงัน กำหนดเป้าหมายขยายพื้นที่มะพร้าวอินทรีย์ในเกาะพะงันให้ได้ 1,500 ไร่ ภายในปี 2564 และได้เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวเกาะพะงันแบบครบวงจรแล้ว

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งการเพิ่มพื้นที่การผลิตและผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรอินทรีย์

ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้จัดทำโครงการศึกษาแนวทางพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่ โดยศึกษาทบทวนสถานการณ์ แนวคิดทัศนคติในการทำเกษตรอินทรีย์ ศักยภาพการผลิตการตลาด ปัญหาอุปสรรค พร้อมทั้งถอดบทเรียนจากเกษตรกรต้นแบบและผู้ประกอบการ เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้เหมาะสมตามภูมินิเวศน์และภูมิสังคม โดยปัจจุบันพื้นที่เกษตรอินทรีย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากภาครัฐยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สวนมะพร้าว(ที่นำมาทำกะทิ) และสวนผลไม้แบบผสมผสาน เช่น มังคุด ลองกอง เงาะ ทุเรียน เป็นต้น รวมประมาณ 430 ไร่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่มจากหน่วยงานรัฐ มีเพียงกลุ่มชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงันที่เคยได้รับการรับรองการเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System – PGS) ที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดินร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบนเกาะพะงัน เนื่องจากเกษตรกรและผู้ประกอบการบนเกาะ มีแผนที่จะขายผลผลิตอินทรีย์เฉพาะในท้องถิ่น โดยเฉพาะมะพร้าวของเกาะพะงันซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI)

ด้านนายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) เปิดเผยว่า จากการถอดบทเรียนกรณีศึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวอำเภอเกาะพะงัน มีสมาชิกชาวสวนมะพร้าว 34 ราย พื้นที่มะพร้าวอินทรีย์รวม 167 ไร่ กิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการ คือ การเพาะปลูกมะพร้าวเพื่อขายผลสด แปรรูปเป็นมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนำไปจำหน่ายในตลาดและสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะ ซึ่งผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ยังประสบปัญหาด้านการผลิตในเรื่องของศัตรูพืช และปัญหาราคาผลผลิตมะพร้าวอินทรีย์ที่ไม่ได้แตกต่างจากราคามะพร้าวทั่วไป รวมทั้งการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้ามีปริมาณน้อย ขาดการส่งเสริมด้านการตลาดชุมชนเพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดจำหน่าย

ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ให้ความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์และอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนลดการใช้สารเคมี โดยกลุ่มชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงันได้กำหนดเป้าหมายขยายพื้นที่มะพร้าวอินทรีย์ในเกาะพะงันให้ได้ 1,500 ไร่ ภายในปี 2564 อีกทั้งในปีงบประมาณ 2560 ยังได้เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวเกาะพะงันแบบครบวงจรอีกด้วย ซึ่งหลังจากนี้ สศท.8 จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำแนวทางพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไป ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 077 311 597 อีเมล

นายแบแอ สะมะแอ อาแว ประธานสหกรณ์การเกษตรทุ่งลิปะสะโง กล่าวถึงปัญหาที่ผู้เลี้ยงโคประสบปัญหา ทางกลุ่มสหกรณ์เร่งแก้หาแนวทางพัฒนาตลอดเวลา เช่น พัฒนาสายพันธุ์ พัฒนากลุ่มเกษตรให้สามารถเพิ่มปัจจัยการผลิต ให้เกษตรกรปลูกพืชให้เป็นอาหารแก่โคให้ได้ทั่วถึง ไม่ต้องไปซื้อจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ การตั้งกลุ่มเกษตรกรต้องมีการรวมกลุ่มที่ชัดเจน รู้ถึงปริมาณที่มี ทำให้กำหนดอาหารได้แน่นอน ดูแลเป็นเครือข่ายชัดเจนและปฏิบัติตามสถิติที่วางเอาไว้ ตรงนี้ก็จะช่วยเกษตรกรได้

จากการสำรวจเมื่อปี 2558 ข้อมูลในจังหวัดปัตตานีมีโคเนื้อสายพันธุ์พื้นบ้านอยู่ 42,355 ตัว มีโคขุนอยู่เพียง 850 ตัว และสายพันธุ์แม่โคพื้นที่ 12,500 ตัว จะเห็นว่ามีจำนวนโคปริมาณเท่าไร ต้องการหาพื้นที่ปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารอยู่จำนวนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ การปลูกหญ้าเราสำรวจล่าสุดปรากฏว่ามีอยู่เพียง 900 กว่าไร่เท่านั้น จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ กระเทียมช่วงไตรมาส 1 ราคาดี เฉลี่ย 27 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากได้คุณภาพและมาตรการของศุลกากร ด้านหอมแดง พริกขี้หนูสวน และถั่วเขียว ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาที่เกษตรกรขายได้ยังคงสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์กระเทียม หอมแดง พริกขี้หนูสวน และถั่วเขียว พบว่า กระเทียม ราคาที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม – มีนาคม) เฉลี่ยอยู่ที่ 27 บาท/กิโลกรัม เมื่อเปรียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 14 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 89 เนื่องจากกระเทียมมีคุณภาพและมาตรการเข้มงวดด้านศุลกากร ทั้งนี้ ผลผลิตกระเทียมจะเก็บเกี่ยวหมดภายในเดือนเมษายนนี้ โดยคาดว่าราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

หอมแดง ราคาที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 (มกราคม – มีนาคม) เฉลี่ยอยู่ที่ 20 บาท/กิโลกรัม เมื่อเปรียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาท/กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 20 เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น และเป็นช่วงที่ออกสู่ตลาดมากที่สุด ซึ่งราคายังสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (ต้นทุนเฉลี่ย 13.71 บาท/กิโลกรัม) ทั้งนี้ ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวหมดภายในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ผลผลิตพริกขี้หนูสวน replicascamisetasfutbol2018.com ที่ออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 78 บาท/กิโลกรัม ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งราคายังสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (ต้นทุนเฉลี่ย 20 บาท/กิโลกรัม) และ ถั่วเขียว เป็นไปในทำนองเดียวกัน ราคาที่เกษตรกรขายได้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 22 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคายังสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (ต้นทุนเฉลี่ย 19.30 บาท/กิโลกรัม)

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางขับเคลื่อนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร เน้นให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และผลิตให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ในรูปแบบส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่รวม 1.5 ล้านไร่ รวมเกษตรกร 1 แสนราย สินค้า 33 ชนิด โดยใช้แผนที่บริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) และเพิ่มระบบส่งและกระจายน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึง และร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ด้านการตลาดในรูปแบบประชารัฐกับเอกชน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ระบุ ปีนี้ ลิ้นจี่แม่กลองสมุทรสงครามผลผลิตน้อย มีการสั่งจองล่วงหน้า ดันราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท เตือนผู้บริโภค ระวังผู้ไม่หวังดี นำลิ้นจี่จากแหล่งอื่นไม่มีคุณภาพมาแอบอ้าง ว่าเป็นลิ้นจี่แม่กลองเพื่อหวังกำไร

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นแหล่งผลผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญในภาคกลาง มีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.อัมพวา และ อ.บางคนที ส่วนใหญ่เป็นลิ้นจี่พันธุ์ค่อมลำเจียก ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียง และเป็นราชินีผลไม้ของจังหวัดที่คนทั่วไปเรียกว่า “ลิ้นจี่แม่กลอง”

จุดเด่นของลิ้นจี่แม่กลอง เมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงเข้ม เปลือกแข็ง ตุ่มค่อนข้างแหลม เปลือกด้านในจะมีสีชมพู มีกลิ่นหอม หวาน เนื้อแห้งร่อนไม่ติดเมล็ด เนื้อสีขาวหรือขาวนวล เมล็ดเล็ก บ่าของผลกว้างสวยเป็นรูปหัวใจ รสชาติเข้มจัด หวานนำเปรี้ยวตามเล็กน้อย ซึ่งตามปกติลิ้นจี่สมุทรสงครามจะให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ต้องการอากาศหนาวเย็น บางครั้งให้ผลผลิตปีเว้นปี หรือบางครั้งอาจทิ้งระยะห่างนานถึง 3 ปี

จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) พบว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการติดดอก จึงทำให้ลิ้นจี่ติดดอกน้อยและให้ผลผลิตที่ไม่สมบูรณ์ ต่อเนื่องมา 2 ปี โดยในปีนี้ พบว่า ยังมีปัญหาฝนหลงฤดูในช่วงที่ต้นกำลังติดดอก จึงทำให้ปริมาณผลผลิตลิ้นจี่แม่กลองออกสู่ตลาดน้อยเพียง 200 กิโลกรัม ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ ราคาจึงสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท

อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อ เนื่องจากมีผู้ไม่หวังดี นำลิ้นจี่จากแหล่งอื่นคุณภาพไม่ดีมาแอบอ้างว่าเป็นลิ้นจี่แม่กลองเพื่อหวังกำไร โดยนำมาขายตามแหล่งต่างๆ ในช่วงนี้ ซึ่งท่านที่สนใจต้องการทราบสถานการณ์การผลิตของลิ้นจี่แม่กลองจังหวัดสมุทรสงครามเพิ่มเติม สามารถขอข้อมูลได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี โทร. 032 337 954 หรือ อีเมล

กรมประมง-ศปมผ. เผยครึ่งปีเศษจับกุมผู้กระทำผิดกว่า 254 คดี “อดิศร” ขู่เอาจริงเรือประมงผิดประเภทแอบจับปลา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รวบรวมข้อมูลคดีเรือประมงผิดกฎหมายจากหน่วยตรวจระบบติดตามเรือประมง จึงประสานความร่วมมือร่วมกับ PIPO และ ศรชล. ในการจับกุมเพื่อดำเนินคดี พบรายงานผลการจับกุมผู้กระทำความผิด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-ปัจจุบัน มีผู้กระทำความผิดแล้ว 254 คดี จำนวนผู้กระทำความผิดทั้งหมด 534 ราย ทั้งสิ้น 23 จังหวัด และพบว่า จังหวัดสงขลากระทำผิดมากที่สุด ถึง 26 คดี 21 ราย ฐานความผิดพระราชบัญญัติการประมง (พ.ร.ก.การประมง 2558)