เดิมทีพื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นดินชั้นดี เพราะใช้น้ำจากชลประทาน

อ่างเก็บน้ำบางพระ เป็นพื้นที่ที่ดีที่สุด แต่ก่อนมีพื้นที่หมื่นกว่าไร่ทำการเกษตร ในปัจจุบันเหลือเพียง 1,000 กว่าไร่ ช่วงแรกที่เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ ผมเริ่มจากการทำนา ปลูกข้าวปทุมธานีและข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผ่านมาช่วงหนึ่งต้องประสบกับปัญหาเรื่องน้ำ ตนจึงเริ่มปรับพื้นที่ใหม่จากทำนาเยอะๆ ก็เริ่มเปลี่ยนพื้นที่โดยยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่เป็น 30 : 30 : 30 : 10 มีน้ำ มีข้าวไว้กิน เลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิมไปด้วย มีพืชอื่นเยอะแยะ ได้ความสุขและไม่ต้องเสียเงินไปซื้อ ได้สุขภาพที่ดีด้วย

นอกจากปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวไว้กินเองแล้ว ที่สวนของคุณพีระพงษ์ยังได้มีการปลูกพืชอุตสาหกรรมหายากในปัจจุบัน อย่างเท้ายายม่อม ในปัจจุบันการทำแป้งเท้ายายม่อมเกือบจะไม่มีแล้ว เพราะถูกแป้งอุตสาหกรรมเข้ามาแทน ที่จังหวัดชลบุรีพื้นที่ที่ปลูกเท้ายายม่อมเป็นชายทะเล อ่างศิลา เหล่านี้ก็ถูกเมืองเข้ามารุกหมดแล้ว ผมจึงสนใจเอามาปลูกเพื่อศึกษา แปรรูปทำอาหาร เท้ายายม่อมขายในกิโลกรัมละ 300-400 บาท

สำหรับปุ๋ยที่ใช้ดูแลพืชผักภายในสวนจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์หาได้เองตามธรรมชาติ อาศัยหาของตามตลาดมาหมักเอง ใบไม้ เศษไม้ กากถั่วเหลือง แกลบ คลุกไว้ไม่ให้เน่า เวลาจะใช้ก็มาตักเอาไปใช้ได้เลย คุณพีระพงษ์ กล่าว

เท้ายายม่อมปลูกอย่างไร

เท้ายายม่อมเป็นพืชที่มีหัว มีใบ 1-3 ใบ แต่ละใบจักเป็น 3 แฉก เว้าแบบขนนก ดอกเป็นช่อยาว แต่ละช่อมีดอกย่อย 20-40 ดอก ผลกลม หัวของพืชชนิดนี้นำไปทำแป้ง ที่เรียกแป้งเท้ายายม่อมเป็นพืชในฤดู พอถึงช่วงฤดูฝนต้นจะงอก แล้วสะสมอาหาร ถึงฤดูหนาวจะยุบ ใบจะเหลือง เราก็เลือกขุดหัวใหญ่ไปใช้ เหลือหัวเล็กเอาไว้สะสมอาหารในหน้าร้อน เมื่อวนกลับมาฤดูฝนหัวที่เล็กมีการสะสมอาหารมาแล้วจะพร้อมขุดไปทำแป้งแปรรูปอาหารอีกครั้ง วันนี้เราต้องรู้ว่าพืชที่เราปลูกทำอะไรได้บ้าง ทำเป็นอะไรคนถึงจะชอบ

ซึ่งที่นี่ก็มีนักศึกษามาดูงานเป็นประจำ ผมก็สอนเด็กทำอาหารจากแป้ง เขาได้ฝึกทำแป้ง ทำอาหารจากแป้งเท้ายายม่อม ลักษณะพิเศษของเท้ายายม่อมจะใสและอยู่ตัว เทียบง่ายๆ ตามท้องตลาดเป็นแป้งจากโรงงานจะอ้างสรรพคุณว่านี่คือแป้งเท้ายายม่อม แต่เมื่อไปดูส่วนประกอบไม่ใช่แป้งท้าวยายม่อมเป็นแป้งที่ทำมาจากมันสำปะหลัง วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ละลายน้ำง่าย

ถ้าเป็นแป้งมันสำปะหลังจะมันๆ เมื่อนำไปทำอาหารคืนตัวเร็ว แต่ถ้าเป็นแป้งเท้ายายม่อมแท้จะคืนตัวช้า หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมเกษตรกรไม่นิยมปลูก เพราะสรรพคุณดีขนาดนี้ คำตอบคือมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องดูโรงงาน เพราะสมัยนี้มันสำปะหลังเยอะ พืชหัวไม่ได้มีเท้ายายม่อมอย่างเดียว มีหลายพืช เช่น สาคู มันนก มันเสา มากมาย แต่ก็ลดน้อยหายไปเรื่อยๆ เพราะอุตสาหกรรมเข้ามา แป้งก็ราคาถูก และกระบวนการทำที่ยาก วิธีที่ดีที่สุด ควรปลูกและหาวิธีแปรรูปเอง

คุณพีระพงษ์ พูดทิ้งท้ายอีกว่า การทำเกษตรอินทรีย์นอกจากจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้แล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องของสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างผมมีบทพิสูจน์ว่าถ้าอยากให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงต้องหันมาบริโภคผัก-ผลไม้เยอะๆ พยายามเลือกจากแหล่งหรือร้านที่ขายผลผลิตที่ปลอดสารเคมี เพราะผมเองตอนที่ออกจากงานมา ผมมากับยาลดความดัน ยาลดไขมัน ยาลดน้ำตาล แก้โรคเบาหวาน 3 ปีที่ผ่านมา ผมหันมาดูแลตัวเองมากขึ้นด้วยการทำงานออกกำลังกายทำเกษตร ขุดดิน รดน้ำ ดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกิน กินผักที่ตัวเองปลูก ตอนนี้ไม่ต้องพึ่งยาแล้ว พึ่งธรรมชาติดีที่สุด แค่นี้ก็คุ้มแล้วสำหรับทำเกษตรอินทรีย์ เทียบเป็นตัวเงินไม่ได้เลย

ตามที่พรรคภูมิใจไทย ตั้งข้อสังเกตกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาของรัฐบาล ว่า เหมือนเป็นการผูกขาด เพราะประชาชนก็ทำไม่ได้ และตั้งคำถามว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะนำกัญชาไปสกัดเป็นสารเพื่อเอาไปทดลองในผู้ป่วย แล้วบอกว่าจะขายในราคาไทยๆ ซีซีละ 100-200 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากจะกระทบกับประชาชน พร้อมยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายใช้กัญชาทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ ใช้สันทนาการที่บ้าน และใช้ประกอบอาหาร และให้ครอบครัวปลูกได้ 6 ต้น เสียใบอนุญาต ต้นละ 30 บาทนั้น

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการสกัดสารกัญชาไปใช้ทดลองในผู้ป่วยตามข่าวที่ออกมา ซึ่งโดยหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องกัญชานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเลขานุการของคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ และในกฎหมายก็กำหนดว่า ในเรื่องการควบคุมการใช้ กฎเกณฑ์ การขออนุญาตต่างๆ เป็นหน้าที่ของ อย. แต่ไม่ใช่ให้ อย. ไปสกัดสารและกำหนดราคาขาย

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวันที่ 4 มีนาคม 2562 ตนจะขอเข้าหารือร่วมกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และ นพ. สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจเรื่องกัญชาทางการแพทย์ในหลายๆ มิติ รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย เพราะกังวลว่าสังคมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการปลูกเสรี ซึ่งตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ไม่ได้ระบุไว้เช่นนั้น” นพ. ธเรศ กล่าว

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2562 ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ว่า ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย 0.18-0.59% อยู่ที่ราคา 15,574-15,638 บาท/ตัน เนื่องจากความต้องการข้าวหอมมะลิยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเสนอราคารับซื้อในราคาที่สูง

สำหรับน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาเฉลี่ยในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.20-1.00% อยู่ที่ราคา 13.39-13.50 เซนต์/ปอนด์ (9.23-9.31 บาท/กก.) เพราะการปรับขึ้นของราคาน้ำมันช่วยหนุนราคาน้ำตาลสัญญาล่วงหน้า ทำให้บราซิลนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากกว่าน้ำตาล ประกอบกับราคาขายน้ำตาลขั้นต่ำภายในประเทศของอินเดียที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาล เพื่อขายภายในประเทศมากขึ้น ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายลดลง

ส่วน ยางพาราแผ่นดิบ ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.52-4.56% อยู่ที่ราคา 42.64-43.12 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง เพราะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ เกษตรกรชาวสวนยางหยุดกรีดยางในช่วงนี้เพื่อเป็นการพักต้นยางพาราให้สามารถสร้างการเติบโตในระยะถัดไป มันสำปะหลัง ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย 0.46-3.70% อยู่ที่ราคา 2.17-2.25 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมีคุณภาพดีจากเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน

ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.39-2.71% อยู่ที่ราคา 2.59-2.65 บาท/กก. เนื่องจากแผนนโยบายภาครัฐในการช่วยพยุงราคาปาล์มน้ำมัน โดยให้โรงสกัดรับซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในราคาสูงเพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันปาล์มสำหรับใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และแนวโน้มผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดลดลงจากฤดูกาลมรสุม และสุกร คาดว่า ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.46-9.63% อยู่ที่ราคา 67.50-70.00 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรยังคงมีผลต่อการผลิตและราคาสุกร

ด้านสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน 0.58-1.24% อยู่ที่ราคา 7,551-7,602 บาท/ตัน เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและผลผลิตข้าว นาปรังของประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชากำลังออกสู่ตลาด ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน 0.64-2.35% อยู่ที่ราคา 9,887-10,060 บาท/ตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5%

ราคาจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.50-1.50% อยู่ที่ราคา 8.08-8.16 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดหลังนาทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ทรงตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับลดลง และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน 1.75-4.68% อยู่ที่ราคา 163-168 บาท/กก. เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง ปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ ณ ระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

เขื่อนอุบลรัตน์-สิรินธร-จุฬาภรณ์ วิกฤตหนัก เหลือน้ำใช้แค่ 5-8% กรมอุตุฯ เตือนปีนี้ฤดูร้อน-แล้งมาเร็วและนานกว่าทุกปี อุณหภูมิจะพุ่งอีก 1-2 องศา ขอนแก่นหนักสุด น้ำเหลือน้อยมาก สภาอุตสาหกรรมหารือด่วนกระทรวงพาณิชย์ “ข้าว-มัน-น้ำตาล” ผลผลิตลดหวั่นกระทบเป้าส่งออก 1.6 หมื่นล้านเหรียญ เกษตรฯ สั่งงดทำนาปรังรอบ 3

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ปี 2562 จะเริ่มใน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ไปจนกระทั่งถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 โดยฤดูร้อนปีนี้จะร้อนมากกว่า ปี 2561 และร้อนมากกว่าปกติอีก 1-2 องศาเซลเซียส โดยฤดูร้อนจะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้จัดประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเมื่อเร็วๆ นี้และได้มีการรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (เขื่อน) ทั่วประเทศขณะนี้ อยู่ที่ 48,280 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 68 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 24,738 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52) เทียบกับ ปี 2561 (52,142 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 74) หรือน้อยกว่า ปี 2561 จํานวน 3,862 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจํานวน 14.96 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จํานวน 118.64 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 22,646 ล้าน ลบ.ม สภาพน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะมีผลต่อพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครปรากฏมีปริมาตรน้ำในเขื่อนรวมกัน 14,751 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 59 ของความจุ ปริมาตรน้ำใช้การได้อยู่ที่ 8,055 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 44 ของความจุ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำ “ต่ำกว่า” เกณฑ์ปกติ (LRC) 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์-เขื่อนสิรินธร และเขื่อนจุฬาภรณ์ ที่มีสถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วงมากและจะเข้าสู่วิกฤตในเดือนเมษายน หากยังไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนอีก

โดยเขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 53 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุน้ำใช้การ เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้การได้ 112 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 และเขื่อนสิรินธรเหลือน้ำใช้การได้ 150 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 8 เท่านั้น ที่สำคัญก็คือน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้ง 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0 หรือไม่มีน้ำไหลเข้าเลย ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งเต็มที่ในเดือนเมษายนนี้

แล้งลากยาวถึงพฤษภาคมผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานชลประทานที่ 7 ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประเมินน้ำต้นทุนของเขื่อนสิรินธร (ปริมาตรน้ำปัจจุบัน อยู่ที่ 997 ล้าน ลบ.ม.) โดยทางกรมชลประทานได้ขอสนับสนุนน้ำจากเขื่อนไป 200 ล้าน ลบ.ม. เพื่อจัดส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร อ.พิบูลมังสาหาร 90,000 ไร่ ประกอบกับ กฟผ. มีปัญหาเรื่องระบบสายส่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลงและให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน

ส่วนแผนการรับมือภัยแล้งเบื้องต้นกรณีที่ฤดูแล้งอาจจะยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2562 มีความจำเป็นต้องเก็บน้ำในแม่น้ำมูลไว้ที่ระดับประมาณ 107.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง-รทก.) ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำก้อนสุดท้ายที่ต้องเก็บไว้เพื่อให้พ้นฤดูแล้ง หากเทียบกับทุกปีที่ผ่านมาระดับน้ำที่เก็บไว้จะอยู่ที่ระดับ 106.5-106.7 เมตร (รทก.) เท่านั้น โดยการเก็บน้ำที่ระดับ 107.50 เมตร ดังกล่าว จะส่งผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยวบริเวณแก่งสะพือ-หาดคูเดือย และจะไม่มีการระบายน้ำเพื่อเล่นสงกรานต์ด้วย

หน่วยนาคราชมาแล้วนางสาวจงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นว่า ได้มีการจัด “หน่วยนาคราช (หน่วยซ่อมบำรุงรักษา)” ทั้งหมด 37 ชุด และได้เตรียมจุดจ่ายน้ำถาวรอีก 83 แห่ง ทั่วประเทศ รถปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด รถเจาะบ่อบาดาล 85 ชุด และสร้างระบบขอความช่วยเหลือภัยแล้งออนไลน์ ในขณะที่การใช้น้ำบาดาลในประเทศอยู่ที่ 14,741 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี โดยพบว่าภาคกลางมีการใช้น้ำมากที่สุด

ขณะที่ นายธงชัย ระยะกุญชร ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ผู้ว่าการ กปภ. ได้มอบหมายให้ผู้จัดการสาขา กปภ. ในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้งเร่งสำรองน้ำ โดยประสานกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดในทุกสัปดาห์ หากคาดว่า “น้ำดิบ” ไม่พอให้หาแหล่งน้ำสำรอง “ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนในภาคอีสานซึ่งยังไม่วิกฤต” แต่ในจังหวัดขอนแก่นเห็นได้ชัดว่าจะต้องสำรองน้ำและเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจมีการใช้น้ำในปริมาณมาก ส่วนภาคตะวันออกและภาคเหนือตอนล่างยังอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ “ตอนนี้เรายังไม่มีการลดแรงดันน้ำ ถ้าฝนยังไม่ตกอย่างแรกคือ หาแหล่งน้ำสำรอง หากไม่ได้ก็ต้องลดแรงดันน้ำ-ลดกำลังผลิต เพื่อให้มีน้ำใช้ไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ถ้ายังไม่พออีกก็ต้องใช้วิธีผันน้ำจ่ายเป็นโซน แต่จากการประชุมกับกรมชลประทานมั่นใจว่าสามารถผันน้ำให้เพียงพอได้”

ขอนแก่นหนักสุด

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด กล่าวว่า จังหวัดได้รณรงค์รับมือภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ด้วยการให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยและข้าวโพดหลังฤดูกาลทำนา ทำฝายเก็บกักน้ำ ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ก็มีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก (น้ำใช้การได้ 112 ล้าน ลบ.ม.หรือ 5% ของความจุอ่าง) ทางจังหวัดได้ยื่นเรื่องขอทำฝนเทียมจากกองบินฝนหลวงในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนทางจังหวัดมหาสารคามก็ได้ขอให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ไปตามลำน้ำชีเพื่อบรรเทาภัยแล้งในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ผลการสรุปในที่ประชุมยังไม่สามารถทำได้เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตได้

“ตอนนี้ต้องกันน้ำไว้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เดือดร้อนน้อยที่สุด”

นายสุเทพ รื่นถวิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ว่าโคราชได้มอบนโยบายไว้ว่า “โคราชต้องไม่ขาดแคลนน้ำ”

ปัจจุบัน พื้นที่จังหวัดนครราชสีมามี 32 อำเภอ พบว่ามี 13 อำเภอ 37 ตำบล 101 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำบริโภค 400 กว่าตำบล 3,000 กว่าหมู่บ้าน “ถือว่ายังน้อย” หรือประมาณ 10% ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะนี้ได้แก้ไขไปแล้ว 7 อำเภอ 24 ตำบล 50 หมู่บ้าน นอกนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขและมอบหมายให้เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ แต่ละพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ห้ามไม่ให้มีการปลูกข้าวนาปรังและหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

“สถานการณ์ในโคราชไม่น่าเป็นห่วง คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มาก แต่ต้องดูสถานการณ์เดือนต่อเดือน”

นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงคือ โซนใต้ ได้แก่ อำเภอแม่วาง, จอมทอง, ฮอด, ดอยหล่อ, สะเมิง, แม่แจ่ม และดอยเต่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บนภูเขาที่ต้องอาศัยน้ำฝนและพื้นที่เชิงเขาที่ระบบชลประทานเข้าไปไม่ถึง ด้าน นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ได้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอนครไทย, บางระกำ, วัดโบสถ์ และพรหมพิราม มีการจัดสรรรอบเวรแบ่งจ่ายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเพื่อใช้ทำการเกษตร ตอนนี้พบอำเภอที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว 3 อำเภอ ได้แก่ นครไทย, ชาติตระการ และพื้นที่ ต.ทับยายเชียง ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม

“ขณะนี้มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายไปแล้ว 3,500-4,000 ไร่”

ข้าว-มัน-น้ำตาล-ผักผลไม้กระทบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกในกลุ่มประชารัฐ D4 ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือถึงผลกระทบภัยแล้งจากภาวะเอลนิโญ ว่าอาจส่งผลกระทบให้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในช่วงครึ่งปีหลังของการส่งออกปีนี้โดยเฉพาะข้าว, มันสำปะหลัง, น้ำตาล, ผักและผลไม้ “อาจจะมีปริมาณลดลง” และหากผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงก็จะทำให้ภาพรวมการส่งออกในปี 2562 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ (ขยายตัว 5%) โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรและอาหารซึ่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5% ก็อาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้

“ในที่ประชุมมีการพูดถึงกลุ่มข้าวน่าห่วงมากที่สุด เพราะไม่เพียงแต่แล้งจนต้องเลิกปลูกข้าวนาปรังแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากข้าวพันธุ์ใหม่ และเงินบาทที่แข็งค่าทำให้เสียเปรียบ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลก็ให้ความเห็นว่า การส่งออกน้ำตาลปีนี้อาจจะเติบโตลดลงถึง 7% เพราะต้องแข่งขันรุนแรง โดยสินค้ากลุ่มหลักๆ เหล่านี้คิดเป็นมูลค่าส่งออกถึง 16,592 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากรวมอุตสาหกรรมอาหารก็จะมีมูลค่าการส่งออกรวม 21,339 ล้านเหรียญ เราคงต้องมาดูผลผลิตและทบทวนกันอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้”

โดยขอให้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาแผนสำรองโดยการอาศัยจังหวะที่ประเทศไทยเป็นประธานประชุมอาเซียนในปีนี้สร้างความร่วมมือจับคู่พันธมิตรในอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงวัตถุดิบและพยายามสร้างมาตรฐานสินค้าขึ้นมาใช้ร่วมกันให้ได้

ห้ามปลูกข้าวนาปรังรอบ 3

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังรอบ 3 แล้ว ซึ่งโดยปกติจะเริ่มปลูกในเดือนเมษายน-มิถุนายน โดยแจ้งว่า กรมชลประทานจะไม่ปล่อยน้ำ ตอนนี้ชาวนาส่วนใหญ่กำลังอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบ 2 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน “ยังไม่ได้เริ่มปลูกรอบที่ 3” สำหรับปริมาณผลผลิตนาปรังรอบ 3 มีสัดส่วนไม่มากนัก หากเทียบกับนาปีที่มีปริมาณข้าวเปลือก 24 ล้านตัน ขณะที่นาปรังรอบ 2 จะมีปริมาณ 8 ล้านตัน ดังนั้นการลดปริมาณการปลูกนาปรังรอบ 3 จึงไม่น่าจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศมากนัก

รายงานข่าวจากกลุ่มโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบุว่า การสั่งให้ชาวนาหยุดทำนาปรังจะมีผลทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังในอีสานภาพรวมลดลง ประมาณ 40-50% ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด แต่ด้วยเหตุที่ภาคอีสานส่วนใหญ่จะเน้นการทำข้าวนาปีเป็นหลัก จึงมองว่ากระทบไม่มากนัก และจะมีบางจังหวัดที่ยังสามารถปลูกข้าวได้ แต่เฉพาะจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับเขื่อนอุบลรัตน์จะได้รับผลกระทบสูงสุด เพราะภาพรวมน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคเหลือเพียง 5% เท่านั้น ถือว่า “แล้งมาเร็วมากจนน่าจะต้องมีการดึงน้ำส่วนที่สำรองไว้เพื่อความมั่นคงของเขื่อนมาใช้ทำประปาด้วย”

ดังนั้น การปลูกข้าวนาปรังในจังหวัดขอนแก่นอาจเสียหาย ประมาณ 60-70% จากที่เคยปลูกได้หลัก 100,000 ตัน ส่วนจังหวัดใกล้เคียงอย่าง กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม ยังสามารถใช้น้ำจากเขื่อนลำปาวได้ ด้านพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดนครราชสีมาก็เริ่มจะได้รับผลกระทบแล้วจากการไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง

“ข้าวนาปรังที่ปลูกในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวและข้าวขาว โดยราคาข้าวเปลือกข้าวสารเหนียวนาปรังสูงขึ้นเป็น กก. ละ 11-12 บาท หรือสูงกว่าข้าวเจ้า กก.ละ 7 บาท ส่วนราคาข้าวสารเหนียวเฉลี่ย กก.ละ 23-24 บาท โดยข้าวเหนียวส่วนใหญ่บริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่วนที่ส่งออกก็มีส่งออกไปจีนเป็นตลาดหลัก ราคาส่งออกปรับสูงขึ้นจาก 720-750 เหรียญสหรัฐ เป็น 820-850 เหรียญ ต่อตัน เมื่อราคาดีขึ้นอาจจะจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้นในฤดูต่อไป”

อดีตอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ หากย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่มีขนาดเล็กๆ ฟาร์มไหนมี 5,000 ตัว ถือว่าระดับใหญ่ เฉลี่ยแล้วเป็นฟาร์ม 500-1,000 ตัว ที่มีเลี้ยงกันหนาแน่น ที่ย่านทุ่งบางเขน ที่มีถนนแคบปกคลุมด้วยต้นก้ามปูปลูกอยู่ริมถนนสายพหลโยธิน กรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็มีที่นครปฐม ฉะเชิงเทรา ฯลฯ

อาจเป็นเพราะคนไทยมีประชากรไม่มาก การบริโภคไข่ยังมีน้อย เพราะว่าอาหารจากแหล่งธรรมชาติที่คนไทยยังหากินได้ง่ายและมีมาก ทั้ง หอย ปู ปลา จากน้ำจืด และราคาอาหารทะเลมีราคาถูก พืชพรรณไม้จากป่าในช่วงฤดูฝนมีหลากหลาย และชาวบ้านนำมาขายในราคาถูก คนไทยมีอาหารสมบูรณ์ ทั้ง หมู เห็ด เป็ด ไก่ มีให้บริโภคกัน

กาลเวลาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอาหารจากเนื้อไก่ สุกร ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เริ่มขาดแคลน และเลี้ยงแบบพื้นที่หลังบ้าน โรคภัยมาระบาดก็เสียหาย คนไทยตระหนักดีว่าขืนไม่มีพันธุ์สัตว์ต่างประเทศนำเข้ามา เนื้อไก่ เนื้อสุกร เห็นจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน

นั่นคือ จุดเปลี่ยนของอาชีพเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยที่ต้องเร่งพัฒนาหาพันธุ์สัตว์ที่มีประสิทธิภาพนำมาขยายพันธุ์ เพื่อทำเป็นอาชีพในลักษณะธุรกิจทั้งไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกรขุน ฯลฯ ต้องยอมรับการมีวิสัยทัศน์ของบริษัทภาคเอกชนที่ตระหนักถึงภัยอันตราย หากไทยปล่อยปละเลี้ยงสัตว์ตามมีตามเกิด คงจะเกิดปัญหากับเรื่องของโรคระบาดที่ไม่มีวิธีการเลี้ยงแบบระบบฟาร์ม คงมีเฉพาะฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เท่านั้นที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทำให้ตลาดไข่ไก่ยั่งยืนมาถึงวันนี้ จนกระทั่งไทยมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ก้าวหน้าไปสู่ระบบสากลโลก หากเป็นไก่เนื้อก็สามารถส่งออกจำหน่ายสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว

ความสำเร็จของธุรกิจเลี้ยงสัตว์ที่รวมทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ โคนม โคเนื้อ ที่ภาคเอกชนรวมตัวกันผลักดัน ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้แก่คนไทยหลายล้านคน ให้เป็นหลักประกันในอาชีพเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรหลายครอบครัวละทิ้งอาชีพอื่นที่ทำแล้วขาดทุน ไม่มีอนาคต ได้หันมาประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์กัน เพื่อประกันการเสี่ยง ก็หันมาประกันราคารับซื้อกับบริษัทเอกชน

ความเจริญก้าวหน้าของอาชีพทำธุรกิจเลี้ยงสัตว์ จนทำให้บริษัทภาคเอกชนขยายการดำเนินธุรกิจไปต่างประเทศ มีแบรนด์ของตัวเอง พันธุ์สัตว์ก็ต่างแข่งขันหาพันธุ์ดีๆ มาจำหน่ายให้ลูกค้าอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยาสำหรับสัตว์ อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ มีวิทยากรก้าวหน้าแข่งขันกัน โดยไม่มีการผูกขาด ต่างมีการค้าเสรีกันให้เกษตรกร และผู้บริโภค เป็นทางเลือกผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปหลากหลายชนิด จนประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นครัวโลกที่มีผลิตภัณฑ์อาหารเลี้ยงประชากรไปทั่วโลก ต่างยอมรับกันของตลาดต่างประเทศ

ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ที่กล่าวนำมานี้ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา มีเด็กหนุ่มวัยแตกพาน อยู่ย่านประชานิเวศน์ เขาอยู่กับบิดา มารดา เป็นครอบครัวไทย-จีน มีอาชีพขายของ “โชห่วย” สินค้าที่คนชุมชนนิยมซื้อขายกัน แม้จะเป็นร้านค้าขายเล็กๆ ก็พอจะอยู่กันได้ ไม่อาทรร้อนใจ