เตือนภัยชาวไร่อ้อย ระวังลมพัดใบติดสายไฟฟ้า เสี่ยงไฟไหม้

วันที่ 25 มกราคม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแก้งสนามนาง รับแจ้งเหตุมีเศษซากวัสดุทางการเกษตรถูกลมพัดขึ้นไปติดอยู่บนเสาส่งไฟฟ้า จึงส่งเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าไปตรวจสอบที่บริเวณริมถนนแก้งสนามนาง-บ้านเหลื่อม บ้านโนนสะอาด ตำบลบึงสำโรง อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรมีการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง โดยบริเวณด้านบนเสาส่งไฟฟ้ามีใบอ้อย ซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วไปติดพาดอยู่ทั้งบนสายส่งไฟฟ้าและสายสัญญาณจึงเกรงว่าอาจจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้จึงได้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าโดยรอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อดำเนินการนำใบอ้อยที่ติดค้างอยู่ลงมาแต่เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ทางการเกษตรจึงทำให้ยากต่อการเข้าถึงของรถกระเช้าการไฟฟ้า ทำให้การจัดการของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบากและใช้เวลานานหลายชั่วโมง

จากการเปิดเผยของนายนพฤทธิ์ ภูสุดสูง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแก้งสนามนาง เปิดเผยว่า ทุกๆ ปีในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยของชาวบ้านจะเกิดปัญหาใบอ้อยถูกลมพัดขึ้นไปติดค้างอยู่บนสายส่งไฟฟ้าเป็นประจำ ถ้าเกิดไม่มีการนำออกได้ทันท่วงทีเมื่อตกกลางคืนใบอ้อยเกิดความชื้นจากน้ำค้างจะทำให้เกิดการลัดวงจรของไฟฟ้าขึ้น และทำให้อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้จึงอยากขอให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรใกล้กับเสาส่งไฟฟ้าเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นได้ ถ้าเกิดพบเหตุที่เกี่ยวข้องกับเสาไฟและสายส่งไฟฟ้าแจ้งได้ที่สายด่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1129 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หลังจากที่มีการแชร์ภาพบนโซเชียลโชว์ความน่ารักของรถมินิคาร์ที่ประดิษฐ์จากถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ติดเครื่องยนต์เอนกประสงค์ สามารถขับขี่ได้จริงนั้น เมื่อที่ 25 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เดินทางไปพบ นายวัชรพงษ์ พาพาน อายุ 30 ปี ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์รถนินิคาร์ดังกล่าว ที่บ้านเลขที่ 16 หมู่ 7 บ้านหนองจิก ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

ทั้งนี้ นายวัชรพงษ์ เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจที่คิดประดิษฐ์รถมินิคาร์จากถังน้ำมันว่า ทำงานเป็นช่างเชื่อมมานานกว่า 15 ปี ระเหเร่ร่อนไปเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานรับเหมา รู้สึกอยากกลับบ้านมาดูแลลูกและพ่อแม่ที่อายุเริ่มมากขึ้น จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด

“ช่วงนั้นใกล้จะถึงวันเกิดของลูกชาย ผมอยากหาของขวัญวันเกิดให้กับลูกชาย พอดีไปเดินตลาดคลองถม จ.ลพบุรี ไปเจอพวงมาลัยรถเก่าจึงซื้อมาในราคา 80 บาท จึงคิดที่จะประดิษฐ์รถคันเล็กๆ ให้กับลูกชาย เมื่อกลับบ้านจึงไปหาซื้อถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร มาตัด และหาเครื่องยนต์เอนกประสงค์มาใส่ ส่วนคันเร่ง และเกียร์ใช้อะไหล่รถจักรยานยนต์ โดยประกอบเป็นรถขนาดความกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 2.40 เมตร รวมราคาคันละไม่เกิน 20,000 บาท หลังประกอบเสร็จได้พาลูกชายขับขี่ท่องเที่ยวในแถวหมู่บ้าน

และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พระบรมธาตุนาดูน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเพียง 7 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วได้ประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงถ่ายคลิปโพสต์ลงโซเชียล ซึ่งพบว่ามีคนกดไลท์และแชร์เป็นจำนวนมาก” นายวัชรพงษ์ กล่าวและว่า ล่าสุดได้จดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และภายหลังที่คลิปแพร่กระจายออกไป ก็มีคนโทรศัพท์มาสอบถามราคา และอยากให้ประดิษฐ์รถให้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องขอเวลาคำนวณค่าอุปกรณ์ก่อน เพราะต้องใช้อะไหล่ใหม่ทั้งหมด โดยรถคันดังกล่าวใช้เวลาประดิษฐ์ประมาณ 20 วัน

ในการบริหารประเทศรัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายในหลายด้าน อาทิ การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย การทำนุบำรุงเศรษฐกิจ การให้การศึกษา ฯลฯ

ซึ่ง “นโยบาย” หมายถึงวิธีการที่จะใช้เพื่อการสำเร็จประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มิใช่ความปรารถนา ที่จะให้บรรลุความประสงค์นโยบายที่มุ่งคลายความทุกข์ของประชาชน เป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะรัฐบาลมีเอาไว้เพื่อการนั้น

“ความทุกข์” (suffering) เกิดจาก ความต้องการ (need) ที่มิได้รับการ ตอบสนอง (serve) หรือได้รับการตอบสนองไม่เพียงพอ ซึ่งก็คือปัญหาเศรษฐกิจที่จะต้องแก้ไข ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มอบให้ “การผลิต” (production) เป็นเบื้องแรกของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะหากไม่มีการผลิตหรือการผลิตไม่เพียงพอ และตอบสนองไม่ได้ตามความต้องการของประชาชนแล้ว ก็ไม่มีสินค้าและบริการมาบำบัดความต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์

แต่ธรรมะในพระพุทธศาสนาสอนให้คลายความทุกข์ด้วยการจำกัดความต้องการให้เหลือน้อยที่สุด ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งว่าหากจะคลายความทุกข์ ก็จะต้องพึ่งตนเองและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต อีกทั้งควบคุมให้ความต้องการอยู่ในระดับ “พอเพียง” แต่ความทุกข์ของคนเรามิได้มาจากความต้องการที่มิได้รับการสนองอย่างพอเพียงแต่ประการเดียว หากยังมีความทุกข์อันเนื่องมาจากการเจ็บไข้ได้ป่วย (illness) อีกประการหนึ่งด้วย

ดังที่กล่าวกันว่า “ความจน” (poverty) และ “ความเจ็บ” (illness) เป็นความทุกข์ที่เหนือกว่าความทุกข์ใด ๆ ซึ่งก็ยอมรับกันว่าความทุกข์จากการเจ็บป่วยหนักหนาสากรรจ์ ยิ่งกว่าความทุกข์จากความจน กล่าวได้ว่า “จน แต่ไม่เจ็บ” ดีกว่า “เจ็บ แต่ไม่จน”

คนจนที่มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จะมีความทุกข์น้อยกว่าคนร่ำรวยที่มีปัญหาสุขภาพ เมื่อสัจธรรมเป็นเช่นนี้ รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการคลายความทุกข์ของประชาชน ก็จะต้องให้ความเอาใจใส่ต่อ นโยบายคลายความทุกข์จากความเจ็บป่วย เป็นอันดับแรก

มิใช่มุ่งแต่จะแก้ไขความยากจน โดยมิได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอต่อการคลายความทุกข์ที่เนื่องมาจากการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นการวาง “ยุทธศาสตร์” ไปเบื้องหน้าอีก 100 ปี หรือการ “ปฏิรูป” ประเทศให้เป็นเสมือน “เมืองเนรมิต” ที่ดารดาษไปด้วย “นวัตกรรม” อีกทั้งจะแสวงหาความชอบธรรมในการเฝ้าดูความสำเร็จไปอีกนานแสนนานก็ตามที

ความจริงในระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ในการคลายความทุกข์ของประชาชน ในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย และได้ดำเนินการไปแล้วในหลาย ๆ ด้าน ที่สมควรได้รับความชื่นชม หากก็ยังไม่เป็นการเพียงพอ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตระหนักกันดี

ในทางเศรษฐศาสตร์ ข้อเสนอแนะที่จะต้องเริ่มต้นก็คือ การพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับ “การจัดสรรทรัพยากร” (resource allocation) ทั้งงบประมาณ ทั้งบุคลากร และทั้งยุทธวิธีต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันเป็นนโยบายของรัฐในการคลายความทุกข์ของประชาชนอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย

เพราะที่เป็นอยู่ในขณะนี้น่าจะยังไม่ถูกต้องและมีประสิทธิผล ปรากฏการณ์ “ตูน-บอดี้สแลม” เมื่อเร็ว ๆ นี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่านโยบายการจัดสรรทรัพยากรในด้านการสาธารณสุขยังมีความบกพร่อง อย่าได้ลดความสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เหลือเพียงเป็น “แบบจำลอง” ของนโยบาย “ประชารัฐ”

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบายวิจัย

และนวัตกรรมแห่งชาติ มีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายยุทธศาสตร์มาตรการและแนวทางการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน ติดตามและประเมินผลการวิจัยของประเทศ รวมทั้งกำหนดส่งเสริมและกำกับมาตรฐานการวิจัย ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยเพื่อให้เกิดผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ วช.ได้จัดสรรงบประมาณแผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน กลุ่มเรื่องข้าวให้กับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) บริหารจัดการงบประมาณและสนับสนุนทุนวิจัย ให้กับโครงการวิจัยทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากการเพาะเลี้ยงจมูกข้าว แก่ ดร.นิสากร แซ่วัน แห่งสำนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ทำการศึกษาวิจัยการสกัดสารออกฤทธิ์ทางเครื่องสำอางสำหรับชะลอความชรา โดยสารสกัดที่ได้สามารถกระตุ้นการฟื้นฟูความเสียหายของดีเอ็นเอในเซลล์ผิวและกระตุ้นการสร้างคลอลาเจน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และสารสกัดที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เหมาะกับผู้บริโภค ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง

นอกจากนี้ วช.ยังได้สนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรยั่งยืน เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพด ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แก่ ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา ทำการศึกษาวิจัยโดยอาศัยต้นแบบจากประเทศอังกฤษ สร้าง Model School-University Partnership มาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนสามัคคีพัฒนา ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในการขับเคลื่อนการปลูกเก็กฮวยอินทรีย์ลงสู่ชุมชน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน ทำให้ผู้นำชุมชนมามีส่วนร่วมและชักนำเกษตรกรลูกบ้านหันมาปลูกเก็กฮวยอินทรีย์ทดแทนการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างรั้วกันภัยที่มีชีวิต ลดปัญหายาเสพติดและลดปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ และก่อให้เกิดปัญหามลพิษ เช่น หมอกควัน

โครงการวิจัยดังกล่าว ได้เสร็จสิ้นลงแล้วและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ วช.จึงได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการสื่อมวลชนสัญจร เรื่อง “การสกัดสเต็มเซลล์จากจมูกข้าว” และ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรยั่งยืน เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพด” ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงผลสำเร็จของงานวิจัยดังกล่าว และได้พบปะกับนักวิจัย โดยเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและกิจกรรมของ วช. ไปสู่สาธารณชนและผู้ใช้ประโยชน์ต่อไป

นายเฉลิพล ชนะพาล ผู้อำนวยการโรงเรียนภูซางใหญ่วิทยาคม อ.สุวรรณคุหา จ.หนองบัวลำภู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) เปิดเผยว่า ตนและคณะครูของโรงเรียน ได้ร่วมกันประเมินโครงการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ของนักเรียนชั้น ม.4 ในรายวิชางานเกษตร สอนโดยนายอนัน ต้นสวรรค์ ในการนำเสนอครั้งนี้ นักเรียนได้นำเอาผลผลิตมาประกอบเป็นอาหารเพื่อรับประทานในเมนู “สลัดโรล” ซึ่งผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ ผักมีรสหวาน กรอบ ประกอบกับการมีน้ำจิ้มที่อร่อย จึงขอชื่นชมนักเรียนทุกคนที่ช่วยกันดูแลและขอให้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

นายสุรชัย สุทธิธรรม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาสุกรตกต่ำทั่วประเทศ ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรขยายแม่พันธุ์สุกรเกินปริมาณที่จำเป็นจากปกติที่ทั่วประเทศควรมีแม่พันธุ์ไม่เกิน 1 ล้านตัว แต่ขณะนี้คาดว่ามีมากถึง 115,0000 ตัว โดยในแม่พันธุ์ 1 ตัวสามารถให้ลูกได้ถึง 20 ตัวต่อปี ส่งผลให้ขณะนี้มีลูกสุกรเกิดมามากถึง 2-3 ล้านตัว จากเดิมที่มีประมาณ 1 ล้านตัวเท่านั้น

สาเหตุที่มีแม่พันธุ์เกินความต้องการ เป็นเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาสุกรค่อนข้างดีและมีเสถียรภาพทำให้เกษตรกรขยายฟาร์มและแม่พันธุ์ออกไปเรื่อยๆ ทำให้ราคาจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ตกต่ำโดยราคาสุกรหน้าฟาร์มภาคตะวันตก ราคา 46-47 บาท ตะวันออก 50 บาท อีสาน 49 บาท เหนือ 54 บาท ใต้ 52 บาทเท่านั้น จากที่เคยจำหน่ายได้เฉลี่ยก.ก.ละ 65 บาท เท่ากับว่าขาดทุนเฉลี่ยถึงตัวละ 1,500 บาท และคาดว่าจะยังคงราคานี้ต่อไปอีกสักระยะ จนกว่าแผนการลดจำนวนแม่พันธุ์สุกรจะได้ผล โดยขณะนี้ทางสมาคมอยู่ระหว่างการลดจำนวนแม่พันธุ์ทั้งประเทศด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการบริโภคสุกรมากขึ้นเช่นการทำหมูหันเพื่อลดแม่พันธุ์ กิจกรรมจำหน่าย เนื้อสุกรราคาถูกพิเศษทั่วไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันตกใน จ.ราชบุรี ภาคอื่นๆ และการจำหน่ายปลีกตามห้างค้าปลีกเช่น แมคโคร โลตัส บิ๊กซี เพื่อหวังให้ราคาสุกรเพิ่มสูงขึ้น

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงสุกรยังประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเพราะราคาอาหารสัตว์สูงขึ้นทุกชนิดเช่น ราคารับซื้อข้าวโพดเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ปรับขึ้น 3-12 บาทต่อหาบ หรือ 60 ก.ก. ในหลายโรงงาน ทำให้ราคาข้าวโพดวันนี้อยู่ที่ 561-588 บาทต่อหาบ หรือราคา 9.3-9.8 บาทต่อก.ก. และรัฐบาลก็กำหนดให้ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉพาะในประเทศเท่านั้น ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกในการหาวัตถุดิบในการเลี้ยงสุกรในราคาที่ถูกกว่า จึงต้องแบกรับภาระต้นทุนนี้ต่อไป และจนถึงขณะนี้ภาครัฐก็ยังไม่ได้เข้ามาดูแลปัญหาของผู้เลี้ยงสุกร อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ สมาคมจะเรียกสมาชิกเพื่อหารือถึงมาตรการใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

จากที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวกรณีฮิวแมนไรต์วอทซ์ (HRW) ได้มีการเผยแพร่รายงานชื่อ “โซ่ที่ซ่อนไว้ : การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” (Hidden Chains : Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry) ซึ่งระบุว่า ประมงไทยยังไม่หมดปัญหาการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงมีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นมากมายจากการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลไทย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แบบองค์รวม ไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง (Zero Tolerance) และจากการปฏิรูปการประมง ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กรมประมงได้กำหนดมาตรการและกฎระเบียบต่างๆ โดยบูรณาการความร่วมมือและรับฟังความคิดเห็น ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ภายใต้มาตรการและกฎระเบียบที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดให้ตรวจสอบเรือประมงทั้งก่อนและหลังการออกทำประมง โดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (Port In-Port Out : PIPO Control Center) จำนวนทั้ง
32 แห่ง และจุดตรวจส่วนหน้าอีก 19 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดชายทะเล โดยเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพ ประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมจัดหางาน ซึ่งมีการตรวจเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตรวจเรือประมง ตรวจความปลอดภัยของเรือ ตรวจสอบคนประจำเรือว่าถูกต้องตรงตามเอกสาร ในขณะที่จะออก
ทำการประมง และเมื่อกลับจากทำการประมงก็ได้มีการตรวจสอบความสอดคล้องของแรงงานเมื่อแจ้งออก
ทำการประมงและขณะที่กลับเข้าท่า ตลอดจนมีการตรวจสอบการจัดเวลาพักให้กับแรงานในเรือประมง รวมทั้งสุขอนามัยและสวัสดิภาพของคนประจำเรือด้วย และมีการการสุ่มสัมภาษณ์ลูกเรือประมงทั้งก่อนและหลัง

ทำการประมง การตรวจสอบดังกล่าว เป็นไปตามกฎกระทรวงระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ พ.ศ. 2559 ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นอกจากนี้ ยังมีการออกตรวจตราในเรือกลางทะเล โดยเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานปราบปรามและป้องกันยาเสพติด และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมประมง

ทั้งนี้ การดำเนินการที่เข้มงวดดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานได้พบกับเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น เป็นการป้องปรามการกระทำความผิดในด้านแรงงาน อันจะเป็นช่องทางหนึ่งที่แรงงานบนเรือประมงที่ประสบปัญหาหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง สามารถร้องเรียน/ ร้องทุกข์ผ่านเจ้าหน้าที่ขณะที่มีการตรวจสอบได้โดยตรง นอกจากนี้แล้วการที่เรือประมงพาณิชย์ถูกกำหนดให้ออกทำการประมงครั้งละไม่เกิน 30 วัน จะทำให้แรงงานไม่ได้ถูกบังคับให้อยู่ในทะเลเป็นระยะเวลานาน อันจะเป็นการลดปัญหาแรงงานในเรือประมงลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้กับกลุ่มพี่เลี้ยงที่จะเป็นผู้ดูแลหมอจิ๋ว ในโครงการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยหมอจิ๋ว จังหวัดสระแก้ว

ดร.ศศินันท์ วาสิน พยาบาลชำนาญการพิเศษ สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เผยว่า การอบรมในครั้งนี้มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้อาสาสมัครผู้ดูแลและส่งเสริมสุขภาพประชาชนในชุมชน ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลหมอจิ๋ว ในโครงการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยหมอจิ๋ว ซึ่งพี่เลี้ยงหมอจิ๋วจะมีบทบาทในการออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชนร่วมกับหมอจิ๋วและพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คอยให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และประเมินผลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน และสำหรับพื้นฐานของการสร้างสุขภาพที่ดีก็คือเรื่องของอาหารการกิน

“กินเท่าไหร่ถึงพอดี” ขั้นตอนแรกต้องจัดตัวเองว่าอยู่ในคนกลุ่มใดก่อน เพื่อดูว่าควรกินอาหารให้ได้รับพลังงานทั้งวันในปริมาณเท่าใด 1. พลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี สำหรับเด็ก หญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ 2. พลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี สำหรับวัยรุ่น และชายวัยทำงาน 3. พลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี สำหรับผู้ที่ใช้พลังงานมาก เช่น นักกีฬา เกษตรกร กรรมกร ต่อจากนั้นมาดูว่ากินอย่างไรให้สมดุล ปริมาณพอดี ซึ่งต้องดูจากปริมาณอาหารในแต่ละกลุ่ม 1. กลุ่มข้าว-แป้ง ควรได้รับวันละ 8 – 12 ทัพพี แต่ต้องกินให้เหมาะกับความต้องการพลังงานของตัวเอง เช่น หญิงวัยทำงาน วัยทอง หรือสูงอายุ ควรกินวันละ 8 ทัพพี ชายวัยทำงานวันละ 10 ทัพพี และถ้าใช้พลังงานมากก็กินได้ถึงวันละ 12 ทัพพี

อาหารกลุ่มนี้รวมถึง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน ขนมปังและขนมทั้งหลายที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ 2. กลุ่มผัก ผู้ใหญ่ควรกินผักวันละ 6 ทัพพี เด็กวันละ 4 ทัพพี ควรหมุนเวียนชนิดของผักและเลือกกินผักที่ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง 3. กลุ่มผลไม้ ควรทานผลไม้หลังอาหารทุกมื้อและระหว่างมื้อเมื่อหิว รวมแล้วควรได้ผลไม้วันละ 3 – 5 ส่วน ของอาหารต่อวัน 4. กลุ่มเนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ควรเลือกทานเนื้อสัตว์เล็ก เช่น ปลา ไก่ เพราะไขมันต่ำปริมาณอาหารกลุ่มนี้คือ 6 – 12 ช้อนกินข้าวต่อวัน ปริมาณอาหารที่เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ 1 ช้อนกินข้าว คือ เต้าหู้ขาวแข็ง ¼ ก้อน เต้าหู้ขาวหลอด ½ หลอด ไข่ ½ ฟอง ปลาทู ½ ตัว เป็นต้น 5. นม เด็กๆ ควรดื่มนมจืดวันละ 2 – 3 แก้ว สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มนมวัวควรดื่มนมถั่วเหลืองเพราะให้ปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกัน แต่ควรเพิ่มการบริโภคปลาเล็กปลาน้อยและผักใบเขียวเข้มเพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ

นอกจากอาหารกลุ่มหลักแล้วควรควบคุมปริมาณเครื่องปรุงรส เช่น ปริมาณน้ำตาลต่อวันไม่เกิน 4 ช้อนชาสำหรับเด็ก และ ผู้ใหญ่ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 65 กรัมหรือไม่เกิน 16 ช้อนชา น้ำปลา เกลือ(โซเดียมให้รสเค็ม) 2,300 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา

กรุงเทพฯ 23 มกราคม 2561 – บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคคา-โคลา ภายใต้กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย และบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการ “ตลาดไท” ตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่สุดในอาเซียน ประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจต่อเนื่องอีก 5 ปี ระหว่างปี 2561 ถึง 2565 หลังสัญญาแรกที่มีระยะเวลา 3 ปีสิ้นสุดลง โดยไทยน้ำทิพย์จะยังคงได้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวให้เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์โคคา-โคลาครบทั้งพอร์ตโฟลิโอ ทั้งน้ำดื่มน้ำทิพย์ เครื่องดื่มอัดลม แบบที่มีน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ล่าสุดไม่มีน้ำตาล และเครื่องดื่มไม่อัดลมครบทุกแบรนด์ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตลาดไท พร้อมทุ่มงบกว่า 33 ล้านบาท ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้กับร้านค้าภายในตลาดไท ผ่านการฝึกอบรม กิจกรรมส่งเสริมการตลาดและสื่อประชาสัมพันธ์ ตลอด 5 ปี เพื่อการเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน

มร. ฮอร์เฮ่ ชาซาร์เร็ตต้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีการแข่งขันสูงขึ้น ไทยน้ำทิพย์จึงมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานระดับโลกของโคคา-โคลา และการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สามารถตอบโจทย์พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่พัฒนาคนของไทยน้ำทิพย์เท่านั้น แต่เราเน้นร่วมพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้กับบุคลากรของพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเติบโตไปด้วยกัน ไทยน้ำทิพย์ขอขอบคุณตลาดไทสำหรับการทุ่มเททำงานร่วมกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงช่วยให้ไทยน้ำทิพย์ยังคงครองความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม แต่ยังส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจให้กับตลาดไท และร้านค้าอีกด้วย และเราก็ยินดีที่จะได้ร่วมมือกันต่อเนื่องอีก 5 ปี”

มร. เกรแฮม ชาร์ล แซนด์เดอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดไทและคู่ค้าของเราได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากการทำงานอย่างใกล้ชิดและการฝึกอบรมจากไทยน้ำทิพย์ที่ช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับร้านค้า ทำให้พวกเขามียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 30% และตลาดไทก็เชื่อว่าความร่วมมือต่อเนื่องอีก 5 ปี ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีของไทยน้ำทิพย์ และศักยภาพของตลาดไท ซึ่งถือเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่สุดในอาเซียน มีมูลค่าการค้าสูงถึง 180,000 ล้านบาทต่อปี จะช่วยยกระดับการค้าส่งให้มีมาตราฐานสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การปรับโฉมของตลาดไทในอนาคตอันใกล้อีกด้วย”

นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์โคคา-โคลาครบทั้งพอร์ตโฟลิโอทั้งน้ำดื่มน้ำทิพย์ เครื่องดื่มอัดลม “โค้ก” “แฟนต้า” “สไปรท์” “ชเวปส์” และ “รูทเบียร์ เอแอนด์ดับบลิว” แบบที่มีน้ำตาลและล่าสุดโค้กไม่มีน้ำตาล และเครื่องดื่มไม่อัดลมอย่างน้ำทิพย์ อควาเรียส มินิท เมด พัลพี ฟิวซ์ที แล้ว ไทยน้ำทิพย์จะฝึกอบรมการดำเนินธุรกิจ การจัดวางสินค้าหน้าร้าน การตกแต่งร้าน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ ให้กับร้านค้าที่ตลาดไท