เทคนิคการปลูกองุ่น ให้ได้ผลผลิตดีศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง

จังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกองุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส ว่า เป็นสายพันธุ์องุ่นต่างประเทศ ที่นำเข้ามาปลูกในเมืองไทยเมื่อประมาณ 14-15 ปีก่อน พันธุ์นี้จะเเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เมื่อปลูกในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น

สำหรับการปลูกและดูแลรักษาองุ่นบิวตี้ ซีดเลส อย่างถูกวิธีเพื่อให้มีผลผลิตภายในเวลา 8-12 เดือน ซึ่งองุ่นพันธุ์นี้สามารถบังคับให้ออกผลได้ 2 ปี 5 ครั้ง ผู้ปลูกองุ่นสามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 ปี โดยตัดแต่งกิ่งให้มีผลผลิตออกได้ทุกเดือน แต่ที่นิยมมากคือ การตัดแต่งกิ่งให้มีผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวตรงกับช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน เป็นต้น

การขยายพันธุ์องุ่นบิวตี้ ซีดเลส สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตัดกิ่ง ปักชำ การตอน การติดตา การเสียบยอด ทั้งนี้ เกษตรกรควรใส่ใจเรื่องการเตรียมแปลงปลูก เพราะองุ่นจะเจริญเติบโตเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการเตรียมดินเป็นสำคัญ ควรปลูกองุ่นในระยะห่างระหว่างต้นและแถวที่ 6-8 เมตร ขนาดของหลุม 70x70x30 เซนติเมตร

พร้อมกันนี้ควรทำค้างองุ่นแบบราวตากผ้า ความสูงของค้าง ประมาณ 1.80 เมตร ความกว้างด้านบนของค้าง สูง กว้าง ประมาณ 3 เมตร ใช้ลวดเบอร์ 14 ขึงให้ตึงระหว่างหัวแปลง-ท้ายแปลง ระยะระหว่างลวด ประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นควรจัดโครงสร้างของกิ่ง ทั้งกิ่งหลักและกิ่งสาขาเพื่อให้ผลผลิตต่อต้นจำนวนมาก และทุกกิ่งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กิ่งหลักอย่างเป็นระเบียบ และสมบูรณ์เสมอกัน การจัดการทรงต้นที่แนะนำคือ ทรงต้นแบบตัว H และสร้างกิ่งแบบก้างปลา จากกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกข้อของเถา ซึ่งเป็นเทคนิคช่วยเพิ่มผลผลิตอีกทางหนึ่ง

เมื่อเห็นช่อดอกยืดยาวออกมา ดอกจะบาน หรือหลังจากตาองุ่นแตกได้ 2-3 สัปดาห์ ควรปลิดตาข้างออกให้หมดเพื่อยืดอายุยอดองุ่นที่แตก และมีช่อดอกให้ยาวขึ้น หลังจากดอกบานจนติดผลเล็กๆ แล้วควรผูกเถาติดกับค้าง หรือดูความยาวของเถา ประมาณ 80-100 เซนติเมตร

หลังตัดแต่งกิ่งประมาณ 35 วัน ควรตัดปลายช่อองุ่น 1 ใน 4 ของความยาวช่อ หรือความยาวเท่ากับถาดโฟมที่ใส่องุ่น เพราะผลที่ปลายช่อโดยมากไม่มีคุณภาพ ควรปลิดผลไม่ให้ผลในช่อมีมากเกินไป ปลิดผลที่มีขนาดเล็ก ผลที่ไม่ได้รูปทรง ผลที่เกิดจากโรคแมลง

เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน โดยใส่ปุ๋ยคอกบนผิวดินรอบต้นองุ่นให้ทั่วแปลง อัตรา 1 กระสอบปุ๋ย ต่อต้น หลังจากเก็บผลองุ่นแล้วก่อนตัดแต่งกิ่งครั้งต่อไป ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยมากมีสูตรปุ๋ยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของต้นองุ่น

ระยะที่ต้นยังเล็ก หรือยังไม่ได้ตัดแต่ง ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-0-0 สูตร 15-15-15 สูตร 20-20-20 สูตร 12-24-12 อัตรา ต้นละ 300-500 กรัม ต่อต้น ร่วมด้วยปุ๋ยคอก 10 กิโลกรัม ต่อต้น

ระยะที่สอง ให้ใส่ปุ๋ยเกรดเดียวกันระยะแรก เมื่อดอกบานแล้ว 15 วัน หลังการตัดแต่งกิ่งได้ประมาณ 45 วันออกไป ให้มีผลเหลือในช่อโปร่ง 1 ช่อ ประมาณ 50-80 ผล ตามความเหมาะสมของช่อ

ระยะที่สาม เมื่อองุ่นเริ่มเข้าสี ควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 13-13-21 สูตร 8-24-24 สูตร 0-52-34 สูตร 0-0-50 ต้นละ 300-500 กรัม หรือใส่ก่อนเก็บผล 15-30 วัน จะทำให้ผลองุ่นมีคุณภาพสูง ผิวสวย หวาน กรอบ

ทั้งนี้ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระยะติดผล และผลกำลังพัฒนาไม่ควรขาดน้ำ ระยะก่อนเก็บผลผลิต 1-2 สัปดาห์ ควรงดการให้น้ำหรือรดน้ำให้น้อยที่สุด เพื่อทำให้ผลมีคุณภาพดี น้ำตาลในผลสูง ผลไม่นิ่ม มีผิวสวย รสชาติหวาน กรอบ อร่อย

การปลูกองุ่นให้ได้คุณภาพดี จำเป็นต้องป้องกันเรื่องโรคและแมลงอย่างใส่ใจ ควรคลุมพลาสติกบนค้างองุ่น เพื่อป้องกันน้ำค้าง ซึ่งจะนำโรคเชื้อราน้ำค้างมาสู่ผลองุ่นได้ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงปางอุ๋ง เชียงใหม่ โทร. (053) 381-326

สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด แจงความคืบหน้ากระจายลำไยจากลำพูนสู่ตลาดรวม 824 ตัน เหลืออีก 200 ตัน คาดระบายถึงมือผู้บริโภคหมดภายในปลายเดือน ก.ย.นี้ ชี้ระบายลำไยผ่านเครือข่ายสหกรณ์สะดวกรวดเร็ว ขายดีกว่าตลาดอื่น แม้ปริมาณการสั่งซื้อตลาดทั่วประเทศจะน้อยลง แต่ขายได้ราคาดีกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนลำไยนอกฤดูผลผลิตจะมากช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค. แต่ประเมินแล้วไม่น่ากังวล เพราะมีตลาดรองรับแน่นอน

นางมาลี เปรมมณี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการกระจายผลผลิตลำไยจากจังหวัดลำพูนไปยังเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีนโยบายนำระบบสหกรณ์เข้ามาแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ ว่า ขณะนี้ทางสหกรณ์ได้กระจายลำไยของจังหวัดลำพูนออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 824 ตัน เหลืออีก 200 ตัน ซึ่งคาดว่าจะกระจายได้หมดภายในปลายเดือนกันยายนนี้แล้วผลผลิตลำไยในฤดูก็จะหมดลง ปีนี้ถือว่าสหกรณ์สามารถกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคได้มากพอสมควร โดยเปิดจุดรวบรวมลำไยจากเกษตรกรที่สหกรณ์ทุกวัน และมีลูกค้าในพื้นที่และนอกพื้นที่ติดต่อเข้ามาซื้อลำไยอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาวะตลาดปีนี้เน้นขายในประเทศเป็นหลัก

ราคาลำไยปีนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านเล็กน้อย แม้ว่าปริมาณการสั่งซื้อจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่โชคดีที่ได้ตลาดเครือข่ายสหกรณ์จากจังหวัดต่างๆ ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประสานความร่วมมือเข้ามาช่วยกระจายลำไยสู่ตลาดและผู้บริโภค ทำให้ระบายผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดการกระจุกตัวในพื้นที่

ทั้งนี้ การระบายผลผลิตลำไยออกนอกพื้นที่โดยใช้ขบวนการสหกรณ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ส่งผลทำให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถส่งต่อลำไยที่มีคุณภาพถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและสะดวกรวดเร็วกว่าช่องทางอื่นๆ จึงเป็นตลาดหนึ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ค่อนข้างดี เพราะสามารถกระจายสินค้าไปถึงในหลายพื้นที่โดยไม่ต้องผ่านทางพ่อค้าคนกลาง โดยใช้เครือข่ายสหกรณ์เข้ามาร่วมมือกัน และก่อให้เกิดประโยชน์ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรระบายผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดได้ทันเวลา เชื่อว่าถ้าลำไยสามารถระบายออกสู่มือผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนกันยายนนี้ เรื่องของราคาก็ไม่น่าเป็นห่วงมาก แม้ว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดจะลดลง ส่วนผลตอบรับจากการขายลำไยผ่านทางไปรษณีย์ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ขณะนี้สหกรณ์กระจายลำไยทางไปรษณีย์แล้วประมาณ 2 ตัน ซึ่งลูกค้าตอบรับดีมากและมียอดสั่งซื้อเข้ามาทุกวัน

ส่วนลำไยนอกฤดู คาดว่าผลผลิตจะออกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ปริมาณ 300-400 ตัน ซึ่งสหกรณ์ได้ทำแผนการกระจายให้หมดภายในเดือนมีนาคม ปี 62 เพราะลำไยนอกฤดูกาล สหกณ์จะส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก จึงไม่น่ากังวลเรื่องของราคา อย่างไรก็ตาม ในการรักษาคุณภาพลำไยทางไปรษณีย์ ทางสหกรณ์รับประกันคุณภาพในเรื่องความสดใหม่ สะอาด รสชาติที่หวานอร่อย สามารถเก็บได้นานทั้งสัปดาห์ ทั้งนี้ บนกล่องบรรจุลำไยจะมีโลโก้ของสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด ในฐานะผู้ผลิต กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะผู้สนับสนุนและบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด

ในฐานะผู้จัดจำหน่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อลำไยผ่านไปรษณีย์ ตอนนี้ยังสามารถสั่งซื้อเข้ามาได้ตามปกติ โดยไม่จำกัดจำนวน เพียงแค่แจ้งที่อยู่ปลายทาง พร้อมชำระเงินค่าลำไยและค่าจัดส่ง ทางไปรษณีย์ไทยจะจัดส่งลำไยไปให้ถึงบ้านทั่วประเทศ หรือสอบถาม นางมาลี เปรมมณี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด โทร 0899544391

โลกใบนี้เรียบง่ายสวยงามและน่าอยู่เสมอ จึงไม่เหมาะกับคนที่อ่อนแอและไม่สู้ชีวิต เมื่อต้องการความสุขให้เกิดขึ้นกับชีวิตเราได้นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีอย่างมากที่สุดคือเราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้ตอบรับกับวันนี้ที่เป็นอยู่ ทุกเรื่องราวที่เกิดจากการกระทำของเราคือความจริงแห่งชีวิตเราทั้งสิ้น เรามีเวลาที่เหลืออยู่ไม่สามารถรู้ได้ว่าอีกกี่วัน และไม่สามารถรู้ได้ว่ามีเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นอะไรอีกบ้างที่รอเราอยู่

เพราะบางครั้งความสมหวังอาจจะเป็นบทเรียนที่พยายามล่อลวงให้เราคิดว่าเรานั้นจะไม่พบกับความผิดหวังอีกต่อไป แต่อย่าเพิ่งมั่นใจ สิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอนทั้งสิ้นสำหรับชีวิต ขอเพียงคิดเสมอว่าวันนี้เท่านั้นคือวันที่แน่นอนที่สุด ดีที่สุดสำหรับเรา เนื่องจากสูตรแห่งความสำเร็จของเรานั้นไม่มีอะไรจะมากไปกว่านำความฝันมาลงมือทำให้เป็นจริง

สวัสดี และขอบพระคุณอย่างมากมายจริงๆ จากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและผู้เขียนเป็นเบื้องแรก คอลัมน์นี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนๆ เรียกได้ว่าเป็นแฟนประจำ มีการส่งเสียงไปให้แรงใจ โทร. (081) 846-0652 หรือติดตามทางเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อ นายสมยศ ศรีสุโร หรือ ID. Janyos กันอย่างต่อเนื่อง ผมเป็นปลื้มจริงๆ ที่บอกไปว่าชอบกับทุกเรื่องที่นำมาเสนอ

ปักษ์นี้ผมภูมิใจนำเสนอเรื่องราวที่มีแฟนๆ ได้เคยส่งเสียงไปหาเสมอ พร้อมขอคำปรึกษา โดยเฉพาะผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่ที่ผมเขียนถึงบ่อยๆ เนื่องจากเมื่อต้องการที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ชิ้นงานใดก็ตามที่เป็นผลงานของตัวเอง ทุกท่านต้องการอย่างมากคือรูปแบบของตัวบรรจุภัณฑ์เหล่านั้น เพราะว่าสามารถแสดงให้เห็นจุดเน้นความสนใจสำหรับสะดุดตาต่อผู้ที่พบเห็นได้เป็นเบื้องแรก เพื่อดึงดูดความสนใจให้เกิดขึ้นกับตัวผลิตภัณฑ์นั้นมากยิ่งขึ้น

เมื่อผมทราบข่าวเช่นนี้จึงไม่รอช้า จึงไปเยี่ยมชมงานแสดงศิลปนิพนธ์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเปิดสอนหลากหลายคณะวิชาและหลากหลายสาขาวิชา สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นอีกสาขาวิชาหนึ่งที่ผลิตนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ให้มีความสร้างสรรค์ผลงานในด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้

ทันทีเลยนะครับ ขอนำเสนอรูปแบบบรรจุภัณฑ์จากฝีมือนักศึกษาที่ได้นำมาแสดงศิลปนิพนธ์ในงานนี้ ผลงานชิ้นแรก โครงการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เมล่อนไฮโดรโปรนิกส์บ้านไร่ปลายตะวัน อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นผลงานของ คุณกมลวรรณ เขียนดวงจันทร์ โทร. (094) 945-8616 เธอให้เรื่องราวสำหรับผลงานไว้ดังนี้ครับ เพราะเมล่อนจากบ้านไร่ปลายตะวัน ยังไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่สามารถห่อหุ้มในการจัดจำหน่ายและขนส่ง

เธอจึงมีแนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยให้บรรจุภัณฑ์นี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนี้สามารถรักษาไม่ให้ตัวผลิตภัณฑ์ชำรุดเสียหายอีกด้วย

ผลงานชิ้นต่อมา โครงการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อมยิ้มน้ำตาลปั้นโบราณชุมชนผสานศิลป์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ของ คุณสุริยะ หกประดิษฐ์ โทร. (091) 193-8005 เป็นรูปแบบการออกแบบที่เน้นเพื่อรักษาตัวผลิตภัณฑ์ ป้องกันอากาศ มีกล่องด้านนอกที่สามารถไม่ให้ตัวผลิตภัณฑ์ที่อยู่ด้านในเสียหาย สำหรับกล่องแว็กคั่มตัวอมยิ้มมี 3 ขนาด เพื่อให้ใส่อมยิ้มได้ทุกแบบ ทั้งแบบโบราณ และสากล

ผลงานชิ้นต่อมา โครงการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ปลาร้าแปรรูปเพื่อจำหน่าย ตรา น้ำลายสอ “แม่บุ๋ม” ที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของ คุณกชกร แก้วเกิด โทร. (080) 250-4742 เนื่องจากปลาร้าแปรรูป ตรา น้ำลายสอ นี้มี 3 รสยอดนิยม แจ่วบอง สับผัดสุก และคั่วกลิ้ง เธอเน้นรูปทรงของข้องจับปลามาเป็นแนวคิดและลายสาน มาเป็นจุดเด่นที่สามารถเด่นความเป็นสินค้าไทย มีทั้งแบบบรรจุขวด และกระปุก

ผลงานชิ้นสุดท้าย โครงการออกแบบและพัฒนาชุดบรรจุน้ำปลาหวานและยำมะม่วง ร้านแม่หมู อำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ของ คุณพิษณุ วงศ์ทองเวชกุล โทร. (090) 115-0494 เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำปลาหวานและยำมะม่วงของร้านแม่หมูนี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก จึงปรับปรุงจากบรรจุภัณฑ์แบบเดิมเพื่อให้ตอบรับกับวันนี้ที่การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบง่ายขึ้น สะดวกต่อการบริโภคและการเก็บรักษาไว้ได้นานมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าทุกชิ้นงานทั้งเขาและเธอต้องเริ่มต้นศึกษารายละเอียดในตัวผลิตภัณฑ์เป็นเบื้องแรกก่อน หรือจากรูปแบบบรรจุภัณฑ์เดิมที่ผู้ผลิตต้องการปรับปรุงใหม่ ต่อมาจึงศึกษาทุกเรื่องราวจากความต้องการของผู้ผลิตที่ให้ออกมาตอบสนองผู้บริโภคให้ได้ครบถ้วนที่สุด เพื่อให้ได้พบกับทุกเรื่องราวของข้อมูลที่มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดี สำหรับนำมาออกแบบหรือเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เกิดบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ออกมาได้อย่างลงตัวสมบูรณ์แบบในทุกเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สีสัน ในแต่ละตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่ หรือท่านใดที่มีความคิดที่จะมีแบบบรรจุภัณฑ์กับผลงานจากตัวผลิตภัณฑ์ หรือต้องการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์ที่กำลังผลิตอยู่เพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ขอเรียนเชิญนะครับ เพราะพวกเขาและเธอคือนักออกแบบบรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษาออกมาตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของประเทศในวันนี้วันที่โลกไปไกลเหลือเกิน แต่ทุกเรื่องราวล้วนอยู่ใกล้ตัวเราทั้งสิ้น

สุดท้าย ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ ย่อมมีความแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นสถานภาพหรือสถานการณ์ แต่ที่เหมือนกันคือมีหน้าที่ใช้ชีวิตของตัวเอง มีหลายคนที่ชอบคิดว่าชีวิตนั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้วด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิตบันดาลให้เป็นไปตามวิธีเส้นทางเดินของชีวิต คิดเช่นนั้นได้อย่างไรกัน คิดผิดกันหรือเปล่า อนุญาตให้คิดได้ใหม่อีกครั้ง หรืออาจจะหลายครั้งก็ได้หากต้องการ เชื่อเถิดว่าทุกเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นนั้นล้วนมาจากตัวเราทั้งสิ้น เพราะชีวิตจะไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราเท่านั้นคือผู้กระทำให้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบทสุดท้าย ผลเป็นเช่นไรเราคนเดียวเช่นกันที่ได้รับผลตอบแทนนั้น ทำเช่นไรย่อมได้เช่นนั้นตอบแทนเสมอ เพราะการที่เรายังมีลมหายใจและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในทุกๆ วันนั้น คือของขวัญที่ดีเยี่ยมค่าที่สุดของเรา ขอบคุณ สวัสดี

สศก. ร่วมประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค ในช่วงสัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี เผยปีนี้เน้นการเพิ่มบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรและอาหาร ด้าน สศก. โชว์ผลดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารของไทย ด้วยนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เสริมความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกัน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการในช่วง “สัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค (Food Security Week)” ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม 2561 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ซึ่งประกอบด้วยการประชุมด้านต่างๆ ได้แก่ 1. การประชุมคณะทำงานว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร 2. การประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร 3. การประชุมเชิงนโยบายในหัวข้อ Policy Dialogue on Women in Agriculture and Fisheries เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรและประมง และ 4. การประชุม Enhancing Market Entry for MSMEs including Micro, Small and Medium Holders เพื่อหารือถึงแนวทางในการเพิ่มช่องทางเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

สำหรับการประชุมในช่วง “สัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค” ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรและอาหาร โดยมีข้อเสนอแนวทางสำคัญๆ เช่น การกำหนดนโยบายภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทนำในสังคมและชุมชน การเพิ่มขีดความสามารถของสตรีด้านองค์ความรู้ที่จำเป็นด้านการเกษตรและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้สตรีมีความเป็นผู้นำและบทบาทในการตัดสินใจ

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการประชุมด้านหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร นับเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงอาหารของภูมิภาค ซึ่ง สศก. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารของไทย โดยยกตัวอย่างนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

นอกจากนี้ ได้นำเสนอถึงการดำเนินการของกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย โดยยกตัวอย่าง โครงการ “ปลูก ขาย ใช้” สินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่โรงพยาบาล ร่วมด้วยผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้นำเสนอผลสำเร็จของการดำเนินโครงการร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ การดำเนินงานในเรื่องป่าชุมชนของจังหวัดสกลนคร โครงการเลี้ยงปลาในบ่อบำบัด โดยการใช้ระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อลดมลพิษของการเลี้ยงปลาในกระชัง และเทคนิคการปลูกข้าวใช้น้ำน้อย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและเพิ่มผลผลิต

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของฉันทามติ ความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย มุ่งการเติบโตทางการค้าและการลงทุน และให้ความสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิกเอเปคในสาขาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

โครงการอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหน้าที่ดูแลผืนป่าเศรษฐกิจประมาณ 1.5 แสนไร่ ที่ผ่านมายังไม่ได้พัฒนาอย่างจริงจัง ปลูกไม้ตามสัมปทาน ทำไม้แต่ไม่ได้มุ่งหวังรายได้ทางเศรษฐกิจจึงไม่มีรายได้อะไร ต่อมาในปี 2535 เริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจและใช้ประโยชน์ได้ในสวนป่าช่องเม็ก อุบลราชธานี เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังขาดการพัฒนา ไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ และการดูแลรักษาอย่างจริงจัง ปัญหาหลักที่ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เพราะพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองม็อบ”

ก่อนนี้ชาวบ้านอยากปลูกยางพารา เจ้าหน้าที่ของ อ.อ.ป. ก็ส่งเสริมให้ปลูกและดูแลรักษา เพื่อให้ชาวบ้านมีงานทำจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร โดยชาวบ้านจะมีส่วนแบ่งจากการกรีดและขายน้ำยางพาราสดร้อยละ 40 ส่วนรายได้อีกร้อยละ 60 เป็นขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งชาวบ้านจะมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณคนละ 10 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 5,000 ไร่ ส่วนยูคาลิปตัสซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 7,000 ไร่นั้น ชาวบ้านจะมีรายได้จากค่าจ้างทำไม้ แต่เราก็ยังอยากปลูกไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ อ.อ.ป.มีรายได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ก็สร้างงานสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาปรับปรุงปลูกทดแทนสวนป่าแปลงเก่า และรักษาความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชมากที่สุด

คุณบรรยง บุญญโก หัวหน้าฝ่ายจัดการสวนป่า อ.อ.ป.ตะวันออกเฉียงเหนือ เล่าถึงการดำเนินงานให้คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สกว. นำโดย ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ อดีตผู้อำนวยการ สกว. ในฐานะประธานกรรมการโครงการร่วมฯ รวมถึงคณะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมแปลงวิจัยไม้โตเร็ว ณ สวนป่าพิบูล และสวนป่าช่องเม็ก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี รับทราบ

เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าในแถบตะวันออกนี้ของจังหวัดอุบลราชธานีมีเขื่อนสิรินธรและเขื่อนปากมูล ซึ่งได้มีการชุมนุมประท้วงเป็นระยะๆ มาเป็นเวลายี่สิบสามสิบปี จนพื้นที่ดังกล่าวได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “เมืองม็อบ” การจะดำเนินการใดๆ จึงต้องผ่านความเห็นชอบยินยอมของมวลชนเสียก่อน

พื้นที่สวนป่าช่องเม็กมีหมู่บ้านและชุมชนรอบๆ สวนป่าที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปลูกสร้างสวนป่าจำนวน 7 หมู่บ้าน มีราษฎรกว่า 1,000 ครอบครัว ที่ร่วมปลูกมันสำปะหลัง มีรายได้จากการทำวนเกษตร การรับจ้างสวนป่า และเก็บหาของป่า เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.ได้ทำการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อแบ่งพื้นที่ป่าในการปลูกไม้เศรษฐกิจ ส่วนพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ก็อนุรักษ์ไว้เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดยดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่การขาดการวิจัยและพัฒนา ขาดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง และที่สำคัญคือการขาดงบประมาณ เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาสวนป่าเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในปี 2559 ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “ระบบการปลูกและการจัดการไม้โตเร็วในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลบนที่ดินเสื่อมโทรม” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการร่วมฯ ได้เข้ามาขอใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการวิจัย โดย ดร.มะลิวัลย์และคณะได้ศึกษาระบบการปลูกและการจัดการที่เหมาะสมของการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่เสื่อมโทรม เน้นพื้นที่ระดับเฝ้าระวังและระดับวิกฤต และไม่กระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร ซึ่งมีพื้นที่ “โมเดลเชิงสาธิต” ใน 5 จังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสวนป่าช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนหารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม และขยายผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการเติบโต ผลผลิต การหมุนเวียนสารอาหาร การเก็บกักคาร์บอน ค่าพลังงานที่ได้ รวมถึงผลตอบแทนทางการเงินและเศรษฐศาสตร์

“แนวคิดสำคัญของเราคือ การพยายามดึงคนรุ่นลูกขึ้นมาดูแลรับผิดชอบแทนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มีอายุมากแล้ว ในอนาคตน่าจะขยายผลได้เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ปัจจุบันแรงงานหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็หมุนเวียนกันกลับมาเป็นแรงงานหลักของครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 500 ครอบครัว ซึ่งไม้โตเร็วรวมทั้งไม้ยูคาลิปตัสมีรอบการตัดไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยจะขายไม้ให้กับบริษัทผลิตเยื่อกระดาษ ไม้แปรรูป และเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล”

จากการทดลองปลูกยูคาลิปตัสรวม 4 สายพันธุ์ พบว่าสายพันธุ์ของเวียดนามที่เพาะเมล็ดเติบโตดีที่สุด ทั้งนี้ จะวัดเส้นผ่านศูนย์กลางเมื่อต้นมีความสูงที่ 1.3 เมตร และทุกๆ เดือนจะเก็บใบยูคาลิปตัสที่ร่วงหล่นลงไปในลิตเตอร์แทร็ป (Litter trap) เพื่อดูปริมาณใบที่หลุดร่วงและวิเคราะห์ธาตุอาหาร การหมุนเวียน การสูญเสีย และการปลดปล่อยธาตุอาหาร ซึ่งจะเป็นการวิจัยเพื่อตอบคำถามว่าการปลูกไม้โตเร็วที่มีรอบตัดฟันสั้นทำให้ดินเสียหรือไม่ โดยในพื้นที่ได้มีการปลูกยูคาลิปตัส กระถินลูกผสม (เทพณรงค์) กระถินณรงค์ และสนชวา ซึ่งกระถินลูกผสม กระถินณรงค์ และสนชวา จัดอยู่ในพืชตระกูลถั่ว แม้อยู่ในรายชื่อพืชรุกรานแต่มีศักยภาพในการปลูกเป็นพืชพลังงานได้ อีกทั้งสามารถนำใบมาสับให้ละเอียดเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนในใบสูง

ด้าน ผศ.ดร.รุ่งเรือง พูลสิริ จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับมันสำปะหลังในระบบวนเกษตรในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งเป็นอีกโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการร่วมฯ ได้นำชมพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับมันสำปะหลังในแปลงทดลอง เพื่อหวังจะสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากรูปแบบที่เหมาะสมแล้วนักวิจัยยังต้องนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อหารูปแบบธุรกิจที่นำไปขยายผลได้ และหาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับการส่งเสริมพื้นที่ผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานด้วย

นักวิจัยได้ทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ แบ่งเป็น 3 บล็อก ได้แก่ รูปแบบที่ 1 แปลงปลูกไม้โตเร็ว (ยูคาลิปตัส) ระยะ 3×1 เมตร สลับกับมันสำปะหลัง 1 แถว รูปแบบที่ 2 ไม้โตเร็วระยะ 2×1 เมตร เว้นระยะห่าง 8 เมตร ปลูกมันสำปะหลังระยะปลูก 1×1 เมตร จำนวน 6 แถว และรูปแบบที่ 3 ไม้โตเร็วระยะ 2×1 เมตร จำนวน 3 แถว เว้นระยะห่าง 4 เมตร เพื่อปลูกมันสำปะหลังระยะปลูก 1×1 เมตร จำนวน 3 แถว