เทคนิคการปลูกอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจ้าของบอกว่า

ที่สวนจะปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 8×8 เมตร 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 24 ต้น เป็นระยะห่างที่กำลังพอดี เพราะระยะห่างมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น อินทผลัมจะออกจั่นติดลูกช่วงประมาณปลายเดือนมกราคมถึงเมษายน จะต้องอาศัยอุณหภูมิที่ประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึงจะติดจั่นแล้วรอเกสรตัวผู้มาผสม

วิธีการปลูก… ที่สวนจะใช้รถแบ๊คโฮขุดหลุม ลึกประมาณ 1×2 เมตร เพื่อหมักปุ๋ยไว้ก่อน 1 เดือน จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก ขนาดของต้นพันธุ์มีขนาดเท่าๆ กับน้ำอัดลมขวดลิตร

ระบบน้ำ… เนื่องจากทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงใช้วิธีการรดน้ำแบบไทม์เมอร์ ตั้งเวลาเปิด-ปิด ความสม่ำเสมอในการรดน้ำหากเป็นช่วงที่ผลผลิตยังไม่ออก จะรด 2-3 วันครั้ง แต่ถ้าออกอยู่ในช่วงที่กำลังติดผลผลิต จะเปิดรดน้ำทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมงต่อต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแตก เปรียบเสมือนกับคนเวลากินอาหารอย่าปล่อยให้อดอยาก เพราะถ้าอดอยากแล้วเวลาได้กินจะไม่รู้จักอิ่ม

“ตั้งแต่เล็กจนโต พี่สอนให้ต้นไม้ของพี่กินข้าววันละจาน เพราะฉะนั้นต้นไม้ก็จะชินว่ากินแค่จานเดียวอิ่มแล้ว ไม่ว่าจะเจอมากน้อยก็กินได้เท่าที่อิ่ม แต่จะไม่ให้อดอยาก ถ้าเขาอดอยากแล้วเขามาเจอของกินที่อร่อย ก็จะกินเท่าไรก็ไม่อิ่ม กินเยอะจนท้องแตก เพราะฉะนั้นการให้น้ำพี่จะให้น้ำกำหนดไปเลยว่า ต้องให้ปริมาณเท่าไรให้เขาชิน”

ปุ๋ย… ใช้ปุ๋ยเคมีผสมผสานกับปุ๋ยชีวภาพ เพราะว่าอินทผลัม 1 ต้น ออกลูกมาประมาณ 100 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นในมุมของที่สวนเป็นการปลูกเพื่อสร้างรายได้และหวังผล จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี แต่วิธีการใส่ปุ๋ยของที่สวนจะใช้วิธีการฝังกลบดินเดือนละครั้ง จะไม่โรยปุ๋ยที่ต้น แล้วกำจัดวัชพืชภายในสวนด้วยตนเอง จะไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีฆ่าหญ้า

ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช
จะมีคนงานคอยเดินดูโรคหรือแมลงทุกๆ เช้า ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาเชื้อรา ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า ส่วนที่สองเป็นแมลงศัตรูพืชตัวสำคัญ คือ ด้วงแรดเจาะลำต้น จะป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ และใช้วิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน คือวิธีการเดินดู ถ้าเจอตัวก็จัดการทันที

การดูแลผิว… ห่อด้วยถุงตาข่ายก่อน 1 ชั้น และครอบด้วยถุงกระดาษ ถ้าไม่ห่อช่วงที่มีผลผลิต ฝนตกจะทำให้ผลร่วง ผลแตก ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ

ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์
พี่เต๋ บอกว่า ผลผลิตอินทผลัมของที่สวนเพิ่งออกมาให้เก็บเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว คือ ปี 63 มาปีนี้ ปี 64 คาดการณ์ไว้ว่าผลผลิตจะออกมาเยอะมากกว่า 10 ตัน ผลผลิตออกเยอะขึ้นเป็นไปตามประสบการณ์ที่ปลูก ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ เพราะในแต่ละปีเจอปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างปีที่แล้วเจอฝนแล้ง มาปีนี้เจอปัญหาโรคแมลง ถือเป็นอาชีพที่ต้องมีการเรียนไม่รู้จบ และนอกจากปริมาณผลผลิตที่ออกมาเยอะแล้ว เรื่องของคุณภาพก็เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เพราะได้ผลผลิตออกมาลูกใหญ่ รสชาติหวาน กรอบ เมล็ดเล็ก ผิวสวย ราคาขายแตกต่างกันตามสายพันธุ์

พันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน ขายกิโลกรัมละ 900 บาท ราคาเป็นไปตามความยากง่ายของการปลูกและดูแล
พันธุ์บาร์ฮี ขายกิโลกรัมละ 450-500 บาท และ
อัสซัน ในส่วนของสายพันธุ์นี้ยังตอบราคาไม่ได้ เนื่องจากผลผลิตจะออกมาปีนี้เป็นปีแรกพร้อมกันในเมืองไทย รออีกประมาณเดือนกว่าๆ ก็จะได้ทราบผล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นว่าจะออกมาเป็นยังไง เพราะว่าการที่จะกำหนดราคาได้ขึ้นอยู่กับรสชาติ ถ้าออกมาฝาดคนก็ไม่นิยม

เน้นทำตลาดเอง… ตลาดหลักตอนนี้มีอยู่ 4 ช่องทางด้วยกัน

ขายเองหน้าสวน
ช่องทางออนไลน์ที่เพจเฟซบุ๊ก : ไร่กำนันเยื่อ
เปิดตลาดขายเองให้กับเพื่อนๆ ในวงการธนาคาร และสาขาอื่นๆ
วางขายที่ร้านบ้านคัดสรร ถนนราชพฤกษ์
และในอนาคตมีการวางแผนไว้ว่าจะทำให้สวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้ที่สวนอินทผลัมแห่งนี้เป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเมืองกาญจน์ และหวังว่าจะทำให้เกิดขึ้นภายในเร็วๆ นี้ ถึงแม้ว่าสวนเราจะเป็นสวนน้องใหม่ แต่รับรองว่าด้านของรสชาติเราไม่เป็นสองรองใครแน่นอน หากท่านใดอยากลองชิมอินทผลัมพันธุ์ใหม่ของที่สวน เชิญชวนให้ติดตามเข้ามาได้ ผลผลิตจะออกมาประมาณกลางเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม

ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่
“สำหรับพนักงานธนาคารอย่างพี่ใช้เวลาขลุกอยู่กับตัวเลขทางด้านการเงินตลอด การที่จะมาทำเกษตรได้ต้องอาศัยความมีใจรักมากๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งถ้าพี่ทำได้คนอื่นก็ต้องทำได้ แต่ต้องอาศัยความเพียรพยายามหน่อย งานเกษตรไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าเราตั้งใจ และถือเป็นงานที่วางอนาคตหลังเกษียณได้ดีอีกอาชีพหนึ่ง ได้อยู่กับต้นไม้ ได้ออกกำลังกาย และยังเป็นอาชีพที่มั่นคงในยามแก่เฒ่าอีกด้วย” คุณอนุกูล กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจสั่งซื้ออินทผลัม ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 064-794-9669 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : ไร่กำนันเยื่อ หลายคนชื่นชอบปลูก “ชะพลู” ไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อเป็นพืชอาหารและไม้ประดับสวน ระยะแรก ต้นชะพลูเจริญเติบโตเป็นปกติดี แต่จู่ๆ ต้นชะพลูกลับมีอาการใบหงิกเกิดขึ้นเกือบทั้งหมด โดยไม่ทราบสาเหตุ

หมอเกษตร ทองกวาว ให้คำตอบว่า อาการใบหงิกที่พบในชะพลูเกิดขึ้นได้จากการเข้าทำลายของแมลงศัตรู 2 ชนิด คือ เพลี้ยไฟ และ ไรขาว ซึ่งสามารถป้องกันและจำกัดแมลงศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิด ได้ไม่ยาก

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก ชอบเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณใต้ใบพืช การระบาดจะรุนแรงในช่วงแล้ง เข้าดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน และใบอ่อนของพืช ทำให้ต้นแคระแกร็น ใบห่อม้วนขึ้นด้านบน ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของพืชชนิดต่างๆ ลดลง

ช่วงหน้าแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน แนวทางป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟคือ ใช้มือจุ่มลงในน้ำแล้วลูบที่บริเวณใต้ใบ หากมีแมลงขนาดเล็กสีน้ำตาลติดมือขึ้นมา แสดงว่าเพลี้ยไฟเริ่มระบาด แก้ไขโดยฉีดน้ำหรือพ่นน้ำให้ต้นชะพลู เพื่อเพิ่มความชื้นให้สูงขึ้น ฉีดซ้ำอีก 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ ในที่สุดเพลี้ยไฟก็จะบินหนีไปหากินที่อื่น

กรณีพบเพลี้ยไฟเพียงเล็กน้อยให้เด็ดทิ้งทั้งต้น และนำไปเผาทำลาย ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟมากขึ้น หากเกิดการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วย เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ให้ทั่วทรงพุ่ม โดยเฉพาะใต้ใบและให้งดใช้ก่อนเก็บผลผลิตอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ไรขาว เป็นแมลงศัตรูพืชประเภท 8 ขา เช่นเดียวกับแมงมุม แต่มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น ไรขาวมักเข้าทำลายต้นพืชในช่วงที่มีฝนตกชุก อากาศชื้น ที่บริเวณตาดอกและยอดอ่อน ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตน้อยลง ลักษณะของการทำลาย จะทำให้ใบพืชเรียวแหลม ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง และยอดหงิกงอเป็นฝอย

การป้องกันและกำจัด เมื่อพบการระบาดยังไม่รุนแรง ให้เด็ดส่วนที่มีการระบาดเผาทำลายทิ้ง หากพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยกำมะถันผง มีผู้ผลิตจำหน่ายเป็นการค้า ได้แก่ ไธโอวิท 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี หรืออิโคซัลฟ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60-80 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน การระบาดของไรขาวจะหมดไป และควรงดใช้สารดังกล่าวก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 สัปดาห์

“ชะพลู” เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสืบต่อได้หลายปี ชอบพื้นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ น้ำดี ดินดี ต้นชะพลูจะเจริญเติบโตได้ดีมาก ใบโต ยอดอวบอ้วน ชะพลูเป็นพรรณไม้ที่มีต้นตั้ง บางครั้งจะพบต้นแบบเถาเลื้อย ระบบรากหากินผิวดิน ถ้าเถาเลื้อยไปพบที่เหมาะ ก็จะออกรากตามข้อ และแตกต้นขึ้นใหม่ แพร่ขยายต้นไปเรื่อยๆ เมื่อต้องการจะย้ายที่ปลูก ก็สามารถถอนดึงต้นติดรากไปปลูกได้เลย

คนไทยนิยมใช้ ชะพลู เป็นอาหาร โดยใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน เป็นผัก กินได้ทั้งใบสดและลวกให้สุกก็ได้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน นิยมใส่ปรุงแกงแค แกงขนุน แกงหัวปลี แกงเผ็ด แกงอ่อม แกงเอาะ แกงหอยขม ลวกกินกับตำมะม่วง น้ำพริกต่างๆ หั่นฝอยใส่ไข่เจียว ชุบแป้งทอด ภาคกลาง ใช้ห่อเมี่ยงคำ ภาคใต้ นิยมใช้ใบอ่อนมาแกงกะทิกุ้ง ปลา หอยบางชนิด เช่น หอยโข่ง หอยแครง ปรุงข้าวยำ ใบชะพลู

นอกจากมีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ขับลม คลายกล้ามเนื้อ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และต้านเชื้อมาลาเรีย

การตลาดถือเป็นองค์ประกอบสำคัญกับการทำธุรกิจทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายใหญ่หรือรายย่อย ต่างต้องมีแผนการตลาดที่ดีและดึงดูดลูกค้ากันทั้งนั้น และยังถือเป็นบททดสอบหินสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่อยู่ไม่น้อยที่จะทำอย่างไรให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เป็นที่นิยม คุณภาพและมาตรฐาน ถือเป็นด่านทดสอบสำคัญอันดับแรก

คุณทิฆัมพร กสิโอฬาร หรือ คุณบลู อยู่บ้านเลขที่ 330 ถนนแม่น้ำแคว ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์สาวสวย ควบด้วยตำแหน่งเจ้าของร้าน Cinnamon coffee คนรุ่นใหม่ไฟแรงผู้ชื่นชอบความท้าทาย จากอดีตผู้จัดการโรงแรม เบนเข็มลงแข่งขันในสายงานด้านการเกษตร เหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่ไม่ยอมแพ้ ใช้ความสามารถและพลังที่มีอยู่เต็มเปี่ยม จนสามารถสร้างรายได้กับสิ่งที่ตั้งใจทำได้ และไม่เพียงแต่ผลิตได้ แต่ผลผลิตทุกชนิดล้นไปด้วยคุณภาพ ปลอดการใช้สารเคมี อนาคตวางแผนขยายสู่ตลาดสินค้าพรีเมี่ยม

คุณบลู เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนเองทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรมมาก่อน จนมาถึงช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด โรงแรมต้องหยุดให้บริการ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกผักสร้างรายได้ เพราะก่อนหน้านี้มีการปลูกสมุนไพรฝรั่งมาก่อน ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่เป็นคนชอบทำอาหารฝรั่งเศส พร้อมกับการเปิดคาเฟ่มาก่อนแล้ว พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สบช่องต่อยอดสร้างรายได้พอดี คือการขยายแปลงปลูกผัดสลัดเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารเสิร์ฟในคาเฟ่ของตนเอง นับเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ที่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้อย่างเต็มตัว

เริ่มจากสิ่งที่รัก ปลูกผักสลัด-สมุนไพรฝรั่ง
นำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน คุณบลู บอกว่า การปลูกผักที่ฟาร์มเริ่มมาจากความชอบ ปลูกกินเองในครอบครัวก่อน จากนั้นค่อยพัฒนาเป็นรายได้ เพราะฉะนั้นผักทุกชนิดของที่ฟาร์มจะปลูกแบบปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงผลผลิตของที่ฟาร์มได้รับมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย แต่การปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพืชก็เปรียบเสมือนกับสิ่งมีชีวิต แต่ไม่สามารถพูดได้ เพราะฉะนั้นคนปลูกยิ่งต้องให้การดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ หมั่นสังเกตความต้องการของพืชแต่ละชนิด ซึ่งนอกจากการเป็นคนช่างสังเกตแล้ว ยังต้องเป็นนักวางแผนที่ดีเนื่องจากที่ฟาร์มมีพื้นที่ไม่มากนัก จึงต้องวางแผนการปลูกให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยที่สวนจะเลือกปลูกพืชให้มีความหลากหลาย เพื่อให้มีผลผลิตหมุนเวียนนำไปขาย ไว้ใช้เอง และนำไปแปรรูปได้ตลอดทั้งปี

โดยพื้นที่ที่ฟาร์มมีอยู่ทั้งหมด 6 ไร่ มีการจัดสรรปันส่วนพื้นที่การปลูกตามสไตล์ที่สะดวก ไม่ได้อ้างอิงตามหลักทฤษฎีอะไรมากมาย อาศัยการสอบถามผู้รู้และผู้ที่มีประสบการณ์ทำสวนจริงๆ มากกว่า ซึ่งก็ได้ความรู้และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาปรับประยุกต์ใช้ในสวนมากพอสมควร เช่น การดูทิศทางของแสงแดด เพื่อให้เลือกพืชปลูกให้เหมาะ หรือควรปลูกพืชอะไรก่อนหรือหลัง ตรงนี้ถือเป็นข้อมูลที่ดีมากๆ

ที่ฟาร์มจะเลือกปลูกพืชทั้งในและนอกโรงเรือน ภายในฟาร์มมีโรงเรือนทั้งหมด 6 โรงเรือน แบ่งออกเป็น โรงเรือนที่ 1 เป็นโรงเรือนอนุบาลผัก ไว้สำหรับเพาะเมล็ดผักต่างๆ รวมถึงปลูกอิตาเลี่ยนเบซิล หรือโหระพาฝรั่ง พืชที่ต้องการแดดไม่จัด โรงเรือนที่ 2-4 เป็นโรงเรือนสำหรับปลูกผักสลัด และแปลงปลูกมะนาวอีกประมาณ 16 ต้น

โรงเรือนที่ 5-6 เป็นโรงเรือนสำหรับปลูกสมุนไพรไทย สมุนไพรฝรั่ง เช่น มิ้นต์ โรสแมรี่ ไทม์ เลม่อนไทม์ อิตาเลี่ยนเบซิล รวมถึงดอกไม้กินได้

และนอกจากนี้ ยังมีการทำปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกระต่าย เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศหมุนเวียน ให้สัตว์ช่วยกำจัดวัชพืชภายในฟาร์มและนำในส่วนของมูลสัตว์กลับมาทำเป็ย ปุ๋ยหมักไว้ใช้บำรุงพืชผักภายในสวนต่อเป็นการใช้ระบบนิเวศหมุนเวียน

วิธีการปลูกผักสลัดของ Blue’s backyard ฟาร์มออร์แกนิก แบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 ระยะเพาะกล้า เป็นต้นอ่อน ประมาณ 5-7 วัน

ช่วงที่ 2 ย้ายจากต้นอ่อนลงถาดหลุม ประมาณ 15-20 วัน

ช่วงที่ 3 ย้ายต้นอ่อนลงแปลงปลูก ที่เตรียมไว้เป็นแปลงปลูกแบบยกแคร่ทั้งหมด ข้อดีคือ 1. สะดวกในการดูแลจัดการ คนทำไม่เมื่อย 2. ดูแลกำจัดวัชพืชได้ง่าย และ 3. ช่วยทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดีมากขึ้น

การผสมดินปลูก 1. ปุ๋ยคอก 2. ดินปลูก 3. ใบก้ามปู ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วใส่ลงในกระบะปลูก โดยความกว้างของกระบะปลูกหลักๆ เน้นหน้ากว้าง 1 เมตร ส่วนความยาวจะมีตั้งแต่ 6, 10, 20 เมตร ตามความเหมาะสมของชนิดผักที่ปลูก

ระยะความห่างระหว่างต้นขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่ปลูก หากปลูกในช่วงฤดูร้อนจะปลูกในระยะถี่ได้คือประมาณ 20 เซนติเมตรต่อต้น แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 25 เซนติเมตร เพราะว่าในช่วงที่อากาศเย็น ผักจะเจริญเติบโตได้ดี กอใหญ่

การรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย การให้น้ำขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากเป็นหน้าร้อนรดน้ำวันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนจะงดการให้น้ำ หรือให้สังเกตจากความชื้นของดิน หากเอานิ้วจิ้มไปแล้วดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่ก็ยังไม่ต้องรดน้ำ เพราะถ้าหากปล่อยให้ดินแฉะเกินไปจะทำให้รากเน่าเสียหายได้

ส่วนปุ๋ย เน้นบำรุงด้วยฮอร์โมนนมสด สลับกับน้ำหมักไส้เดือน ตามความสะดวกในแต่ละช่วง ฉีดพ่นอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เป็นตัวช่วยทำให้พืชผักแข็งแรง และหวานกรอบขึ้น

การดูแล ข้อดีของการปลูกในโรงเรือนมีอยู่มาก เพราะการทำเกษตรแบบปลอดสารถือเป็นเรื่องที่ยาก “ผักกับแมลงถือเป็นของคู่กัน” ฉะนั้นแล้วการปลูกในโรงเรือนจะช่วยยับยั้งป้องกันแมลง รวมถึงช่วยป้องกันความเสียหายจากฝน ฟ้า อากาศ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่หากต้องใช้หลายวิธีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็น

การหมั่นสำรวจตรวจแปลงทุกวัน ว่ามีหนอนหรือแมลงศัตรูพืชหรือไม่ หากมีก็ต้องกำจัดด้วยการพ่นสารชีวภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ปลูกและผู้บริโภค เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย เมธาไรเซียม เป็นต้น
การทากาวดักแมลงช่วย เป็นกาวดักแมลงที่มีขายสำเร็จรูปทั่วไปตามท้องตลาด โดยการตัดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดที่มีสีสัน เหลือง แดง หรือน้ำเงิน ให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆ กับฝ่ามือ แล้วนำไปติดกับไม้ จากนั้นใช้ถุงพลาสติกครอบลงไปที่แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด แล้วทากาวลงบนถุง 15 วันเปลี่ยนครั้ง นำไปปักไว้ที่แปลงผัก จะช่วยล่อแมลงได้ โดยสีของฟิวเจอร์บอร์ดจะช่วยล่อแมลงได้ดี

ศัตรูพืชตัวฉกาจคือหนอนกระทู้ เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากมาก ยกตัวอย่างว่าหากในแปลงมีผีเสื้อเข้ามา ซึ่งผีเสื้อตัวหนึ่งสามารถไข่ได้เป็นร้อยฟอง หากมีเข้ามาในแปลงสักตัว ในโรงเรือนก็มีหนอนไปแล้ว 100 ตัว เป็นอะไรที่ควบคุมได้ยากมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องหมั่นสังเกต และป้องกันด้วยการใช้กากน้ำตาล ผสมเจือจางกับน้ำ ช่วยล่อผีเสื้อกลางคืนได้

ปริมาณผลผลิต ขึ้นอยู่กับการวางแผนการปลูกแต่ละครอป ที่ฟาร์มที่ทำหลายอย่าง ผักสลัดจะเน้นปลูกให้เพียงพอเสิร์ฟในร้าน และตัดขายตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งมา โดยกำหนดวันส่งทุกวันจันทร์กับวันพุธ ครั้งละประมาณ 20 กิโลกรัม นอกจากนั้น ก็จะมีในส่วนของการแปรรูปชามิ้นต์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย

การตลาดเน้นทำเสิร์ฟร้านตัวเอง
โรงแรม ร้านอาหาร ไม่เดือดร้อน การตลาดผักสลัดและพืชสมุนไพรทั้งไทยและฝรั่ง คุณบลู บอกว่า ถือไม่เป็นปัญหาของที่ฟาร์มเท่าไหร่ เพราะที่ฟาร์มเริ่มจากการปลูกที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นที่มีมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์รองรับ และคุณภาพของผักที่สด กรอบ ไม่ขม ปลอดจากสารเคมี จึงหาตลาดได้ไม่ยาก โดยตอนนี้ที่ฟาร์มจะเน้นปลูกส่งคาเฟ่ของตนเองเป็นหลัก สำหรับการนำมาประกอบเมนู สลัด แซนด์วิช แฮมเบอร์เกอร์ อาหารอิตาเลี่ยน และอีกส่วนปลูกส่งโรงแรม ร้านอาหารที่ต้องการผักออร์แกนิกที่สด สะอาด ปลอดภัย ถือว่าการตลาดไปได้ดี โดยอนาคตมีการวางแผนการขยายแปลงปลูกอย่างเต็มรูปแบบเพื่อรองรับตลาดห้างสรรพสินค้า

“ก็อยากจะให้กำลังใจสำหรับคนที่กำลังท้อแท้ อย่าเพิ่งหมดหวังเพราะตอนเริ่มต้นบลูก็มีปัญหาเรื่องการตลาดเหมือนกัน ด้วยความที่ยังเป็นมือใหม่ และเข้าใจว่าปัญหาหลักของเกษตรกรส่วนใหญ่คือตลาด เพราะฉะนั้นการสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคมั่นใจหรือเข้าใจให้ได้ว่าสินค้าเรามีดียังไง เราถือว่าเราได้เปรียบเรื่องของการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สื่อสารกับผู้คนในโซเชียลได้อย่างคล่องแคล่วอันนี้ถือเป็นกำไร และอีกหนึ่งปัญหาหลักของเกษตรกรคือปัญหาแรงงานที่มีค่าแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา เดี๋ยวนี้สะดวกมากขึ้นเพราะมีแอปพลิเคชั่นพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันที่ฟาร์มก็ใช้ และยังมีในส่วนของการติดตั้งระบบน้ำเปิด-ปิดอัตโนมัติ สั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่สะดวกและช่วยประหยัดต้นทุนการปลูกและค่าแรงงานไปได้มาก” คุณบลู กล่าวทิ้งท้าย

ชื่อนี้ “สุชล สุขเกษม” ใครๆ ก็น่าจะคุ้น ถ้าก้าวเข้ามาในพื้นที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะคุณสุชลเป็นคนรุ่นเก่าที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ เรียนจบเพียงประถมศึกษาปีที่ 6 เรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ช่วยพ่อแม่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีอยู่ กระทั่งปี 2532 เดินทางไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย

ตลอด 8 ปีที่ทำงาน คุณสุชลคิดเก็บเงินเพื่อนำมาสร้างบ้านและทำเกษตรแบบพอเพียง ในพื้นที่ที่พ่อและแม่ให้ไว้ เมื่อกลับมาก็ลงทุนทำการเกษตร ตามที่เห็นว่าชาวบ้านใกล้เคียงทำแล้วประสบความสำเร็จ แต่โชคไม่ได้เข้าข้าง เมื่อทำแล้วต้องเป็นหนี้ เพราะไม่เคยได้จับงานเกษตรมาก่อน ความฝันของการปลูกบ้านและทำเกษตรบนที่ดินที่แม่ให้ไว้ต้องเริ่มใหม่

ไม่นาน ด้วยความตั้งใจใฝ่รู้ คุณสุชลสมัครเข้าอบรมการทำการเกษตรทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง นำมาประกอบกันและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง

สวนเดิมที่พ่อและแม่ยกให้เป็นร่องสวน และปลูกมะพร้าว อาชีพเดิมที่ชาวบางคนทีส่วนใหญ่ทำกัน การต่อยอดที่ทำได้ตอนนั้นคือ การทำน้ำตาลมะพร้าว แต่สิ่งที่คุณสุชลเรียนรู้มาสอนให้ทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน คุณสุชลจึงหันกลับมามองพื้นที่ อะไรที่สามารถทำได้ก็เริ่มลงมือทำอย่างตั้งใจ

หลักในการทำแปลงเศรษฐกิจพอเพียง queermuseum.com ให้เป็นศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ (ตำบลจอมปลวก) บ้านสารภี หมู่ที่ 7 ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพราะที่นี่ไม่เหมือนศูนย์แห่งอื่น อาทิ การเลี้ยงไก่หลุม การเลี้ยงไก่ตะกร้า การเลี้ยงไก่ชิงช้า การทำมูลไส้เดือน การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม การปลูกมะลิ การปลูกมะพร้าว การทำปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพ การนำมูลไก่มาผลิตเป็นก๊าวชีวภาพใช้ในครัวเรือน การใช้จักรยานสูบน้ำ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ การปลูกผักปลอดสาร การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ การกรองน้ำมันเก่าเป็นไบโอดีเซล การแปรรูปอาหารไว้จำหน่าย และการปลูกมะลิ

ตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่ดำเนินภายในสวนคือ การเลี้ยงไก่ตะกร้า คุณสุชล เล่าว่า เริ่มต้นจากการแนวคิดการเลี้ยงไก่โดยไม่เปลืองพื้นที่ ดินและฟ้า ถือเป็นพื้นที่เดียวกัน จึงลองนำไก่ใส่ตะกร้าแล้วผูกไว้กับต้นมะพร้าว เมื่อไก่ขี้ ขี้ไก่จะหล่นลงโคนต้นไม้ เป็นการให้ปุ๋ยไปเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำปุ๋ยไปให้กับต้นไม้อีก ด้วยเหตุนี้ จึงนำตะกร้ามาครอบผูกติดกัน นำไก่ไว้ในตะกร้า เรียกว่า ไก่ตะกร้า นำอาหารและน้ำ ผูกไว้ในตะกร้า ให้อาหารและน้ำทุกวัน มีตะกร้าด้านบนและร่มเงาของต้นไม้บังแดดและฝน ทุกวันสามารถเก็บไข่จากไก่ตะกร้าได้ ไม่เปลืองพื้นที่ และยังได้ปุ๋ยให้กับต้นไม้ต้นนั้นไปโดยปริยาย

อีกตัวอย่างคือ การเลี้ยงไก่หลุม เป็นกิจกรรมที่คุณสุชล คิดและเริ่มทำมาตั้งแต่แรก เนื่องจากไปศึกษายังศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งอื่นมา มีการเลี้ยงหมูหลุม มูลหมูสามารถนำมาเป็นปุ๋ยได้ จึงมีแนวคิดว่า สัตว์อื่นก็น่าจะเลี้ยงได้เช่นกัน เมื่อกลับมาจึงนำไก่มาทดลองเลี้ยงแบบหมูหลุม แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นร่องสวน จึงก่ออิฐบล็อกขึ้นมาเสมือนคอก ล้อมรั้ว ทำหลังคาและประตู พื้นด้านในใช้แกลบ ขี้เถ้า ไว้ให้ไก่คุ้ยเขี่ย เมื่อปล่อยไก่ลงเลี้ยง ไก่ถ่ายมูลออกมา มูลไก่จะผสมคลุกเคล้าไปกับแกลบและขี้เถ้า ปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 3 เดือน สามารถเก็บมูลไก่ขายเป็นปุ๋ยขี้ไก่ครั้งละหลายกระสอบ

กุ้งก้ามกราม เป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงเพิ่มเข้ามาในร่องสวน ด้วยพื้นที่เดิมเป็นร่องสวนมะพร้าวอยู่แล้ว มีน้ำในร่องสวน คุณสุชลก็เลี้ยงปลาตามธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ มีกุ้งขนาดใหญ่เข้ามาตามร่องสวน เมื่อสังเกตดูพบว่า กุ้งเจริญเติบโตดี แต่พบปัญหากุ้งกัดกินกันเองในช่วงเวลาที่กุ้งลอกคราบ ทำให้ไม่เหลือกุ้งขนาดใหญ่ไว้กินหรือจำหน่าย เมื่อเห็นพื้นที่ว่างในร่องสวน จึงจับลูกกุ้งลงตะกร้า โดยใช้ตะกร้า 2 ใบคว่ำเข้าหากัน ใช้น้ำเปล่าขนาด 1 ลิตร ทำเป็นทุ่นลอย ให้ตะกร้าจุ่มลงน้ำเพียง 1 ใบ อีก 1 ใบที่คว่ำด้านบนลอยเหนือน้ำ เจาะรูตะกร้าบน ขนาด 3×3 นิ้ว ปล่อยกุ้งลงไปชุดละ 1 ตัว ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ผลที่ได้ ทำให้กุ้งเจริญเติบโตดี ไม่กินกันเองเมื่อกุ้งลอกคราบ