เทคนิคในการแก้ปัญหา ‘ทับทิมผลแตก’ จากประสบการณ์

ในการปลูกทับทิมมานานนับสิบปีของคุณไพรัตน์ได้สรุปปัญหาของทับทิมผลแตกจะเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ คือ ผลถูกทำลายด้วยโรคแอนแทรกโนส ในช่วงระยะการเจริญเติบโตของผลทับทิมและมีเชื้อแอนแทรกโนสเข้าทำลายที่ผลอ่อนจนเกิดแผล ทำให้ผลไม่ขยายและแตกในที่สุด

คุณไพรัตน์ ยังได้บอกว่าแอนแทรกโนสนับเป็นโรคที่สำคัญสำหรับการปลูกทับทิม และได้แนะนำให้มีการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อราในกลุ่มคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แต่จะต้องฉีดในช่วงที่ต้นทับทิมยังไม่ออกดอก แต่ถ้าช่วงระยะทับทิมออกดอกและติดผลอ่อนแนะนำให้ใช้สารโวเฟ่น แต่การป้องกันโรคแอนแทรกโนสแบบยั่งยืนคือ เรื่อง “การจัดการแสงและทิศทางลม” เป็นที่สังเกตว่าเกษตรกรที่ปลูกทับทิมในระบบชิดจะเกิดปัญหาโรคแอนแทรกโนสระบาดง่ายและค่อนข้างรุนแรง

“ผลทับทิมโดนแดดเผา” หรือที่ภาษาทางวิชาการเรียกซันเบิร์น ผลทับทิมที่โดนแดดมากๆ จะทำให้ผิวเปลือกทับทิมด้าน ไม่สามารถขยายผลได้ เมื่อได้รับน้ำหรือมีฝนตกลงมาหรือมีการใส่ปุ๋ยจะทำให้ผลแตกได้

แต่สำหรับทับทิมพันธุ์ศรีปัญญามีข้อดีตรงที่ขนาดของผลใหญ่ ทำให้ผลมักจะห้อยตกอยู่ภายในทรงพุ่ม จึงไม่ได้สัมผัสแดดโดยตรง แต่ถ้าเป็นทับทิมสายพันธุ์อื่นๆ จะแก้ปัญหาด้วยการห่อผล โดยห่อในระยะผลมีอายุได้ประมาณ 40-45 วัน หลังจากติดผลอ่อนและจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากห่อผลไป ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หรือสังเกตง่ายๆ คือ ห่อในระยะที่ขนาดผลทับทิมใหญ่ใกล้เคียงกับผลส้มเขียวหวาน จะช่วยลดปัญหาเรื่องแดดเผาได้

น้ำทับทิมสด อนาคตไกล
ตลาดต้องการมาก
ปัจจุบัน รูปแบบการผลิตทับทิมของสวนเทพพิทักษ์เปลี่ยนไป แต่เดิมจะมุ่งเน้นผลิตเพื่อจำหน่ายผลสด จะต้องมีการจัดการในเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลผลิต โดยเฉพาะในเรื่องของผิวและขนาดของผล นอกจากจะใช้แรงงานเป็นจำนวนมากในการห่อผล จะต้องมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างประณีต เพื่อไม่ให้ผลทับทิมร่วงหล่นตกพื้น ถ้าผลทับทิมตกลงมาจะทำให้เกิดรอยแผลและผลทับทิมจะเน่าบริเวณที่ตกกระแทก ถึงแม้จะมีข้อดีตรงที่ว่าผลทับทิมจะไม่เน่าทั้งผลก็ตาม แต่นำไปขายเป็นผลสดไม่ได้ แต่สามารถนำมาคั้นเป็นน้ำทับทิมสดได้

คุณไพรัตน์ ได้เล่าถึงขั้นตอนในการคั้นน้ำทับทิมพันธุ์ศรีปัญญาว่า เมื่อเก็บเกี่ยวผลทับทิมที่แก่จัดมาแล้ว จะนำผลทับทิมมาผ่าออกเป็น 4 ส่วน ล้างน้ำในอ่างขนาดใหญ่ที่ใส่น้ำสะอาดและผสมเกลือแกงลงไป ในอัตรา 500 กรัม (ครึ่งกิโลกรัม) ต่อน้ำ 500 ลิตร

ในการล้างผลทับทิมแต่ละครั้งจะต้องล้างให้สะอาดที่สุด สังเกตจนน้ำใสและไม่มีสีชาเลย หลังจากนั้น ให้นำผลทับทิมมาพักเพื่อให้สะเด็ดน้ำ นำมาบีบคั้นด้วยเครื่องบีบคั้นน้ำ ที่สวนเทพพิทักษ์ซื้อมาในราคาเครื่องละ 60,000 บาท เครื่องคั้นเครื่องนี้มีประสิทธิภาพในการคั้นผลทับทิมได้ถึง 4-5 ตัน ต่อวัน (4,000-5,000 กิโลกรัม)

ในการบีบคั้นยังมีเทคนิคตรงที่จะต้องนำผลทับทิมที่ล้างสะอาดและสะเด็ดน้ำแล้วมาใส่ในถุงแรงดันที่มีคุณสมบัติเหนียวและยืดหยุ่นได้ดี ในการบีบคั้นน้ำทับทิมศรีปัญญาถ้าจำหน่ายภายในประเทศ คุณไพรัตน์จะบีบซ้ำเพียง 2 ครั้ง แต่ถ้าจะส่งขายตลาดต่างประเทศจะบีบซ้ำถึง 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มความฝาดของเปลือกทับทิม (ในการบีบคั้นจะบีบทั้งเปลือก และส่วนของเปลือกจะมีปริมาณสารแทนนินมาก สารแทนนินมีส่วนช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร) ผลทับทิมสด จำนวน 100 กิโลกรัม จะบีบคั้นเป็นน้ำทับทิมได้ประมาณ 45 ลิตร

“ชาดอกทับทิม”
เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของสวนเทพพิทักษ์
เนื่องจากในช่วงที่ต้นทับทิมออกดอกนั้นจะมีปริมาณมาก ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะร่วงหล่นหรือปล่อยให้ติดผลอ่อน มีบางส่วนจะร่วงหล่นเอง เนื่องจากอาหารไม่เพียงพอ คุณไพรัตน์ จึงคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ดอกทับทิมเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ในช่วงที่ทับทิมศรีปัญญาออกดอกมากๆ จะใช้แรงงานเข้าไปเพื่อคัดเฉพาะดอกที่มีความสมบูรณ์ไว้

ส่วนดอกที่มีท่อน้ำเลี้ยงเล็กหรือก้านขั้วดอกเล็ก ให้ตัดเอามาผลิตเป็น “ชาดอกทับทิม” โดยนำมาหั่นเป็นฝอย โดยเครื่องสไลซ์ที่คุณไพรัตน์ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเอง หลังจากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งกรอบ นำไปชงหรือบรรจุซอง จึงเป็นชาดอกทับทิมพร้อมดื่ม

ในทางสมุนไพรพบว่า “ชาดอกทับทิม” จะมีส่วนช่วยลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ป้องกันการอักเสบในลำไส้ใหญ่ ล้างไต ลดไขมัน และลดน้ำตาลในเลือดได้ ราคาขายชาดอกทับทิมของสวนเทพพิทักษ์จะขายในราคาขีดละ 50 บาท (จำนวน 100 กรัม) เมื่อนำไปชงผสมน้ำได้มากถึง 35 ลิตร หลังจากนั้น นำไปสเตอริไลซ์กรอกขวดขายจะได้ผลิตภัณฑ์น้ำชาดอกทับทิมที่มีสีแดงสวยน่าดื่มและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

“ศรีสยาม” ทับทิมสายพันธุ์ใหม่
ของสวนเทพพิทักษ์
คุณไพรัตน์ ได้ประสบความสำเร็จในการนำพันธุ์ทับทิมศรีปัญญามาผสมพันธุ์กับทับทิมสเปน คัดเลือกพันธุ์จนได้ต้นที่ดีที่มีคุณสมบัติดี คือ “มีเมล็ดนิ่ม เนื้อมีสีแดง ขนาดผลใหญ่ (แต่ขนาดผลเล็กกว่าพันธุ์ศรีปัญญา) ต้นมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมในบ้านเราได้ดี”

ปัญหาของการปลูกทับทิมเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะพบปัญหาเรื่องเมล็ดในผลทับทิมไม่นิ่มเหมือนกับทับทิมสเปน ทับทิมอินเดีย ฯลฯ แล้ว ต้นพันธุ์จะต้องมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและไม่อ่อนแอ โดยคุณไพรัตน์ได้ขยายความต้นทับทิมที่ไม่อ่อนแอจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ใบไม่ร่วงง่าย และทนทานต่อโรคแอนแทรกโนสได้ดี

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของทับทิมพันธุ์ศรีสยามคือ รสชาติของน้ำจะหวานมาก หวานมากกว่าน้ำทับทิมศรีปัญญา ปัจจุบันในการผลิตน้ำทับทิมของสวนเทพพิทักษ์ได้ปรับปรุงคุณภาพของน้ำทับทิมด้วยการผสมน้ำทับทิมพันธุ์ศรีสยามกับพันธุ์ศรีปัญญาใน อัตรา 1 : 5 (น้ำทับทิมศรีสยาม 1 แกลลอน ผสมกับน้ำทับทิมศรีปัญญา 5 แกลลอน) ผลปรากฏว่าตลาดยอมรับมากยิ่งขึ้น

ในช่วงที่มีอากาศร้อน และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานให้ติดตามเฝ้าระวังการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อนข้าวโพด สามารถพบได้ในระยะที่ต้นข้าวโพดหวานออกดอกไปจนถึงระยะติดฝัก เริ่มแรกจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของใบและช่อดอกตัวผู้ หากที่ช่อดอกมีเพลี้ยอ่อนข้าวโพดเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่เป็นจำนวนมาก จะส่งผลทำให้ช่อดอกไม่บาน การติดเมล็ดน้อย และส่งผลให้เมล็ดแก่เร็วทั้งที่เมล็ดยังไม่เต็มฝัก

กรณีที่มีการระบาดมาก จะพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดชนิดมีปีกบินมาจากแปลงปลูกใกล้เคียง ตั้งแต่ต้นข้าวโพดอายุประมาณ 15 วัน จากนั้นภายในแปลงปลูกอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดออกลูกเป็นตัวอ่อนรวมกันเป็นกลุ่ม และกระจายดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพด เช่น ยอด กาบใบ โคนใบ ลำต้น และกาบหุ้มฝัก โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบล่าง ต่อมาจะแพร่ขยายจากใบล่างขึ้นมาบนใบ และขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจนพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดปริมาณสูงสุดในระยะที่ต้นข้าวโพดกำลังผสมเกสร ซึ่งจะพบมากที่บริเวณช่อดอก ทำให้บริเวณที่ถูกดูดกินแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง

สำหรับแนวทางในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนข้าวโพด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อนข้าวโพดในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบมีการระบาดเกิดขึ้นเฉพาะจุด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะจุดที่มีเพลี้ยอ่อนข้าวโพดระบาดเท่านั้น

ส่วนในแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยอ่อนข้าวโพดเป็นประจำช่วงฤดูแล้ง หากเกษตรกรสำรวจพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดระบาดแพร่กระจายจากใบล่างขึ้นมา และเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งแปลง เกษตรกรควรป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนข้าวโพดก่อนที่ต้นข้าวโพดหวานจะแทงช่อดอกตัวผู้ หรือก่อนดอกบาน เพราะจะให้ผลในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยอ่อนข้าวโพดได้ดี

พูดถึง กระเจียว หลายคนคงนึกถึงภาพทุ่งกระเจียวสีชมพูอมม่วงที่สวยสดงดงามในช่วงหน้าฝน ที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ แต่ในความเป็นจริงดอกกระเจียวใช่จะมีไว้ดูเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่บางสายพันธุ์ยังสามารถนำมารับประทานได้ด้วย ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยรับประทานดอกกระเจียวมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในจังหวัดยโสธรรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการนำมาต้มจิ้มน้ำพริกต่างๆ ซึ่งใครที่เคยได้ลิ้มรสต่างติดใจกันเป็นแถว

ดอกกระเจียวหวาน ทำได้สารพัดเมนู

ด้วยความที่เห็นช่องทางการตลาดอันสดใสของดอกกระเจียว คุณเมืองชัย ทองลา หรือ คุณโบ้ อายุ 27 ปี ซึ่งจบ ปริญญาตรี (เทคโนโลยีการผลิตสัตว์) สาขาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จึงได้รวมกลุ่มชาวบ้านจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก” อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยตัวเขาเองทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกลุ่ม จากแรกเริ่มมีแค่ 20 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 50 คนแล้ว ปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูกโดยรวม ประมาณ 20 ไร่ และมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีก เพราะเห็นชัดว่าเป็นพืชเสริมที่ทำรายได้ดี

คุณเมืองชัย เล่าที่มาที่ไปของเรื่องนี้ให้ฟังว่า ก่อนจะมาทำไร่ดอกกระเจียวนี้ ได้หาประสบการณ์ในการทำเกษตรและการทำธุรกิจมาสักพักหนึ่ง คือพอเรียนจบ เมื่อปี 2556 ก็ได้เข้ารับใช้ชาติ 2 ปี โดยประจำการที่กองพันทหารราบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

ก่อนปลดประจำการเห็นเพื่อนที่จบมาพร้อมกันได้ทำงานไปไกลแล้วในสายงานที่เรียนมา ส่วนใหญ่ขึ้นเป็นผู้จัดการหมด เลยคิดว่าทำอย่างไรคงไม่ทันเพื่อนแน่ๆ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งที่แม่ฮ่องสอน ไม่ได้ทำงานตามสายงานที่เรียนมา แต่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงเลือกไปศึกษาการทำงานกับเพื่อนคนนี้ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทำไร่อะโวกาโด และมีธุรกิจเป็นของตัวเองจากการแปรรูปอะโวกาโด

ช่วงอยู่ที่แม่ฮ่องสอน 3 เดือน คุณเมืองชัย ยังได้ฝึกฝนการค้าขาย โดยนำสินค้าของเพื่อน อย่าง สบู่ อะโวกาโด และพันธุ์ไม้มาขายที่ถนนคนเดิน จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเย็นของวันเสาร์-อาทิตย์ พร้อม กับฝึกขายของออนไลน์ไปด้วย ทำให้รู้ระบบธุรกิจพอสมควร

จากนั้นจึงกลับบ้านเกิดที่บ้านโคกนาโก หลังจากเพื่อนแนะนำให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างอาชีพ นั่นก็คือ ดอกกระเจียวพันธุ์หวาน ซึ่งมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีสรรพคุณคล้ายคลึงกับพืชในตระกูลข่า และขิง ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน ช่วยเจริญอาหาร และช่วยขับเหงื่อ ฯลฯ โดยทำได้หลายเมนู อาทิ นำดอกอ่อนมาลวกจนสุกจิ้มกับน้ำพริก หรือจะรับประทานดอกสดก็ได้ บางบ้านนิยมนำมาทำแกงส้ม หรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อย

“คนนอกพื้นที่ยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก ส่วนใหญ่รู้จักแต่พันธุ์ประดับสวยงามอย่างของชัยภูมิ ซึ่งกินไม่ได้ และพันธุ์ดั้งเดิมที่แม้กินได้แต่มีรสชาติเฝื่อน ขม กินดิบไม่ได้ ต้องนำไปต้มก่อน แต่ของเราเป็นดอกกระเจียวพันธุ์หวานที่กินได้ รสชาติหวาน กรอบ ไม่เฝื่อนเหมือนดอกกระเจียวทั่วไป สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดฉ่า ยำ แกงส้ม ผัดน้ำมันหอย ผัดเต้าเจียว แกงส้ม และสลัด”

เน้นระบบเกษตรอินทรีย์

คุณเมืองชัย เล่าว่า ช่วงแรกเริ่มเพาะพันธุ์ผักขาย ทำนา ทำสวนยางพารา และได้เพาะพันธุ์ดอกกระเจียวหวานไว้ 200 ต้น แต่ไม่พอขาย ขณะเดียวกันก็เกิดอุปสรรคของบัณฑิตใหม่กลับสังคมบ้านๆ เนื่องจากโดนมองโดนดูถูกสารพัด แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้ท้อ กลับเป็นแรงผลักดันให้ตนยืนหยัดสู้ต่อ ต่อมาจึงได้เข้าร่วมกลุ่ม YFC (Yasothon’s Young Farmer Club) ของจังหวัดยโสธร เพราะมองเห็นโอกาสของอาชีพเกษตรกรรม

ปีต่อมาจึงวางแผนการทำงาน และสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อช่วยให้ชุมชนมีสถานที่ในการทำกิจกรรม โดยการรวมกลุ่มทำในนาม วิสาหกิจชุมชน ดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก

สำหรับกิจกรรมหลักๆ ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้คือ การแนะวิธีการปลูก การดูแล ที่ให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ โดยใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก ด้วยการใช้มาตรฐาน YASO BOS ในเบื้องต้น ที่ผ่านมาผลผลิตที่ได้ ประมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่/วัน ซึ่งดอกกระเจียวจะให้ผลผลิต 5-6 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยคุณเมืองชัยเองปลูกกระเจียวไว้ 1 ไร่

ทั้งนี้ ต้นกระเจียวจะออกดอกทุกวัน แต่ละวันสามารถเก็บส่งขายให้ลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 70 บาท เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้จากการจำหน่ายดอกกระเจียว วันละ 400-500 บาท ขณะนี้ดอกกระเจียวเป็นที่ต้องการของลูกค้าจนแทบไม่พอขาย โดยถ้าเป็นช่วงต้นฤดูประมาณต้นเดือนเมษายน-ต้นพฤษภาคม สามารถขายดอกกระเจียวได้กิโลกรัมละ 100 บาท เฉลี่ยแล้วในช่วง 4-5 เดือน ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท

คิดแล้วในเนื้อที่ 1 ไร่ สามารถเก็บดอกกระเจียวขายได้เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งเขาลงทุนไป 10,000 บาท/ไร่ ตอนนี้ได้ทุนคืนแล้ว โดยได้ผลผลิต เฉลี่ยที่ 20 กิโลกรัม/ไร่/วัน ทำให้มีรายได้ 500-1,000 บาท/วัน ทั้งนี้ต้นกระเจียวจะออกดอกทุกวัน

คุณเมืองชัย อธิบายถึงการปลูกกระเจียวให้ได้ผลดีว่า ทางกลุ่มเลือกพันธุ์หวานโคกนาโกมาปลูก เนื่องจากให้ผลผลิตยาวนานกว่าพันธุ์ดั้งเดิม แตกกอดี มีรสชาติอร่อย ซึ่งสามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน ชอบแสงรำไร ไม่ร่มจนเกินไป ในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ควรยกแปลงปลูก ระยะห่าง 80×80 เซนติเมตร ในที่ดอนไม่จำเป็นต้องยกแปลงปลูก ปลูก 2-3 ปี ขุดหัวปลูกขยายใหม่ จะได้หัวพันธุ์ที่สมบูรณ์ ให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักฉีดพ่นทางใบ 10-15 วัน/ครั้ง

ส่วนของกลุ่มจะใช้น้ำหมักสูตรเฉพาะ ดอกใหญ่ หวาน กรอบยิ่งขึ้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและแตกต่างจากที่อื่นแน่นอน ถึงแม้ว่าจะใช้พันธุ์หรือปลูกในเขตพื้นที่เดียวกันก็ตาม

เตือนระวังตอนฝนทิ้งช่วง

ขณะนี้มีสมาชิกที่ปลูกดอกกระเจียวและกำลังออกผลผลิตอยู่ ประมาณ 4 ราย นอกนั้นเป็นสมาชิกใหม่ที่กำลังเริ่มปลูกใหม่ โดยจะปลูกในพื้นที่นาของตัวเอง ประมาณรายละ 3 งาน ถึง 1 ไร่ ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์ เนื้อที่ 1ไ ร่ ถือว่ากำลังดี เพราะสามารถดูแลได้ทั่วถึง

นอกจากนี้ เขายังขายทั้งต้นพันธุ์และหัวพันธุ์ด้วย ถ้าเป็นต้นพันธุ์พร้อมออกดอก ราคา 35 บาท/ต้น กระถางละ 50-100 บาท ถ้าเป็นท่อนพันธุ์ อยู่ที่ 15-20 บาท/ท่อน ส่วนหัวพันธุ์ขายอยู่ที่ 150-200 บาท/กิโลกรัม

ต้นกระเจียวนั้น หลังจากหมดฤดูกาลออกดอกแล้วใบจะแห้งเหี่ยวตาย แต่หัวยังอยู่ใต้พื้นดินได้ตลอดจนกระทั่งเข้าหน้าฝน เมื่อถึงฤดูกาลอีกรอบ ต้นกระเจียวจะแทงยอดขึ้นมาอีกและออกดอกให้เก็บได้อีกเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตามวงจรชีวิตของกระเจียว

ในฐานะเกษตรกรมือใหม่ คุณเมืองชัย พูดถึงอุปสรรคและปัญหาที่เขาและกลุ่มสมาชิกเจอะเจอ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากช่วงปลูกเดือนแรกๆ จำเป็นต้องให้น้ำเข้าแปลง เพื่อกระตุ้นการงอก แต่พอเข้าสู่ฤดูฝนก็ปล่อยตามธรรมชาติ เพียงแต่คอยดูแลเรื่องวัชพืช และเมื่อฝนขาดช่วงหลายๆ วัน ก็จำเป็นต้องให้น้ำ เพื่อรักษาต้นไม่ให้โทรมและป้องกันผลผลิตลดลง

กรณีฝนตกต่อเนื่องจะทำให้ออกดอกดี แต่ถ้าฝนตกชุกเกินไปก็จะทำให้เกิดโรครากเน่า ต้องหาปูนขาวหรือไตรโคเดอมามาใส่ และอาจจะเจอปัญหาหนอนเจาะกอ อาจจะต้องใช้น้ำหมักฉีด แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องเจอแบบนี้

ว่าไปแล้ว ตลาดของดอกกระเจียวเวลานี้ ยังคงเป็นตลาดพื้นบ้าน ตลาดอำเภอ ตลาดในจังหวัด และตลาดออนไลน์ ถือเป็นเอกลักษณ์เป็นของฝากของหมู่บ้าน เนื่องจากคนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยกับการรับประทานดอกกระเจียวกันมากนัก

ดังนั้น ทางกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชน ดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก” ได้วางเป้าหมายว่าจะทำให้คนรู้จักมากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ว่า กระเจียวพันธุ์หวานนี้สามารถทำได้หลากหลายเมนู และจะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดยโสธร พร้อมแปรรูปผลผลิต กระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดที่มีระดับขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า และส่งออกต่างประเทศ รวมถึงจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาคุณภาพ และรักษามาตรฐานความเป็นผักอินทรีย์

กรณีผู้สนใจจะปลูกกระเจียวเพื่อขายนั้น คุณเมืองชัยให้คำแนะนำว่า ถ้ามีทุนน้อยก็ลงทุนน้อยไปก่อน ใช้วิธีทำจากน้อยไปหามาก โดยควรปลูกเสริมนอกเหนือจากพืชหลัก และให้ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี หรือสารเร่งดอกที่เป็นอันตรายใดๆ เลย จะทำให้ประหยัดต้นทุน และได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งหากเทียบผลตอบแทนกับพืชชนิดอื่นๆ ถือว่าดีมากๆ และแม้ว่าจะให้ผลผลิตแค่ช่วงเวลาหนึ่งแต่ก็คุ้ม

นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวแหล่งใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ เกษตรกรในชุมชนมีอาชีพทำสวนมะพร้าว และแปรรูปมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ มะพร้าวนับเป็นสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) ประกอบกับจังหวัดเร่งดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเตรียมผลักดันมะพร้าวพันธุ์ “นกคุ่ม” ซึ่งเป็นมะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอทับสะแก เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) และคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียน GI ในปี 2567 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเกษตรอำเภอทับสะแก อยู่ระหว่างดำเนินการรวมกลุ่ม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรวบรวมข้อมูลพื้นที่และเกษตรกรในการขอรับความคุ้มครอง

จากการลงพื้นที่ของ สศท.10 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตมะพร้าวพันธุ์นกคุ่ม ในพื้นที่อำเภอทับสะแก พบว่า เกษตรกร ให้ความสนใจเพาะปลูกมากขึ้น เนื่องจากต้องการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองของอำเภอทับสะแกเพราะเป็นที่หายาก และต้องการส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สำหรับมะพร้าวพันธุ์นกคุ่ม จัดอยู่ในกลุ่มพันธุ์มะพร้าวต้นเตี้ย ลักษณะลำต้นเล็ก ตาใบถี่ เป็นมะพร้าวที่ให้ผลดก ผลมีขนาดเล็กคล้ายนกคุ่ม ลูกกลมก้นแหลม เหมาะสำหรับรับประทานสดเพราะมีรสชาติหอมหวาน น้ำมีความหวานระหว่าง 7-10 องศาบริกซ์ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกเป็นสวนผสม แซมในสวนมะพร้าวแก่ ซึ่งจากการติดตามกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีศักยภาพในการผลิต เนื่องจากเกษตรกรมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ และดินในการเพาะปลูก โดยเริ่มรวมกลุ่มเมื่อปี 2560 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวนกคุ่มกว่า 20 ไร่ มีเกษตรกรสมาชิก 5 ราย

ด้านสถานการณ์ผลิตมะพร้าวนกคุ่มของกลุ่ม มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 19,117 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 20 ปี) รอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 20 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน

คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 20,156 บาท/ไร่/ปี ราคามะพร้าวนกคุ่ม (ผลสด) ณ วันที่ 5 มกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท/ผล ทั้งนี้ หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มจะได้กำไร 403,120 บาท/ปี

ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ Holiday Palace ร้อยละ 70 จำหน่ายพ่อค้าในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งมารับซื้อผลผลิตที่สวนเกษตรกร ส่วนผลผลิตร้อยละ 30 จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยวบ้านทุ่งประดู่ โดยสวนมะพร้าวของกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม เป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ จึงเป็นอีกช่องทางสำคัญในการจำหน่ายผลผลิต สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนสมาชิก ขยายพื้นที่ปลูก และเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและเพิ่มโอกาสทางการค้า

ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้ายว่า มะพร้าวนกคุ่ม นับเป็นพืชที่มีอนาคตสดใส มีโอกาสทางการตลาด เพื่อให้เกิดการพัฒนามะพร้าวนกคุ่มมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรมีการฟื้นฟูต้นมะพร้าวที่มีอยู่เดิม ส่งเสริมการปลูกใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการและการนำไปใช้สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โอกาสนี้ ขอเชิญชวนผู้บริโภคมะพร้าวผลสดทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตที่มีคุณภาพของเกษตรกร โดยสามารถสั่งซื้อได้ที่วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านทุ่งประดู่ หรือช่องทางออนไลน์ Facebook “หมู่บ้าน CIV บ้านทุ่งประดู่” และ “สวนมะพร้าวลุงบูรณ์ทับสะแก” ซึ่งผลผลิตจะออกต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ เกษตรกร หรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตมะพร้าวนกคุ่ม ติดต่อได้ที่ นายวิบูรณ์ บุญลบ ตัวแทนสมาชิกของกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวนกคุ่ม ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร. 064-939-6524 ยินดีให้คำปรึกษาทุกท่าน หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร. 032-337-954

การทำเกษตรให้ดี มีกำไร พิสูจน์แล้วว่าไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก ไม่ต้องมีเงินทุนมาก ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน เพียงก่อนทำต้องมีการวางแผนให้รัดกุม เลือกชนิดพืชให้เหมาะกับพื้นที่ และเงินทุนที่มี หรือถ้าอยากทำแล้วได้ผลเร็ว เกษตรกรต้องมีไหวพริบสักหน่อย พยายามหาพืชที่มีราคา หากเลือกพืชที่คนทั่วไปปลูกได้ราคาหลักสิบ ก็จะได้จับเงินหลักสิบ แต่ถ้าเลือกปลูกพืชที่ตลาดต้องการ มีคนทำน้อย ราคาต้นละเป็นพันบาทคุณก็ขายได้

คุณปฏิภาณ ฤทธิ์นอก (สิทธิ์) เกษตรกรสายชิล เลือกปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง มีพื้นที่น้อยแต่รายได้มาก อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 4 บ้านห้วยไผ่ ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เล่าว่า เดิมทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์อยู่ที่จังหวัดชลบุรีมาก่อน แต่มีใจรักธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก เห็นพ่อแม่ทำก็ซึมซับมาเรื่อยๆ คิดว่าสักวันจะต้องกลับบ้านมาสร้างสวนในฝันให้ได้