เทคโนโลยีสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว และโปรตีนจากถั่วเหลือง

ยังขาดแคลนประเทศญี่ปุ่นมองประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตอาหารทางการแพทย์ และทุ่มงบฯ ถึง 650 ล้านบาท ขยายโรงงานผลิตอาหารทางการแพทย์เพื่อเป็นศูนย์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย แต่ปรากฏว่า ด้านการผลิตนั้นยังขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตรจากไทย โดยเฉพาะวิธีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว ทำให้วันนี้ประเทศไทยยังต้องนำเข้าข้าวจากประเทศในกลุ่มยุโรปเพื่อมาผลิตอาหารทางการแพทย์ จึงทำให้ต้องเร่งมองหาผู้ผลิตวัตถุดิบการเกษตรที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย และเกษตรกร รวมไปถึงการสกัดโปรตีนจากถั่วเหลือง

ไทยขาดนวัตกรรมสกัดวัตถุดิบทางการเกษตร ส่งผลนำเข้าจากต่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่า ประเทศไทย จะเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสร้างรายได้หลักให้กับประเทศมายาวนาน แต่ผลปรากฏว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว ที่นำมาใช้เป็นอาหารทางการแพทย์ ซึ่งในปี 2558 สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยถึงปีละ 300 ล้านบาท

เภสัชกรวัฒนชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ผู้ผลิตอาหารเสริมทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์น้ำเกลือ และนำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์ยาเวชภัณฑ์จากประเทศญี่ปุ่น เล่าให้ฟังถึงการขาดแคลนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีว่า ตอนนี้ประเทศไทยขาดแคลนเทคโนโลยีการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าวให้ได้คุณภาพที่เหมาะแก่การนำมาแปรรูปเป็นอาหารทางการแพทย์ รวมถึงวัตถุดิบทางการเกษตรบางตัว เพื่อมาผลิตอาหารทางการแพทย์ โดยปัจจุบันนี้ต้องนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหมาะแก่การนำมาผลิตเป็นอาหารทางการแพทย์มาจากต่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์

“ปัญหาอุปสรรคสำคัญในการสกัดวัตถุดิบทางการเกษตร มาทำอาหารทางการแพทย์ว่า อาหารทางการแพทย์ก็จะมีอยู่ 5 หมู่หลักๆ ก็คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน ถ้าเป็นโปรตีนก็อาจจะมาจากถั่วเหลือง และสารสกัดจากนม น้ำตาล เราใช้ของในประเทศได้ เช่น คาร์โบไฮเดรตอันหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ตัวแป้งต้องใช้ข้าวนำเข้าจากต่างประเทศ และอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร (supplier) เพราะประเทศไทยมีข้าวที่คุณภาพค่อนข้างดี แต่จะทำยังไงให้มีการเปลี่ยนมาใช้คาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพสูงทางการแพทย์ได้” เภสัชกรวัฒนชัย กล่าว

เภสัชกรวัฒนชัย บอกด้วยว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังทำไม่ได้ ต้องนำเข้าจากประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศสบ้าง กระบวนการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว เพื่อให้เป็นวัตถุดิบที่เรานำมาใช้ได้ ละลายได้ดี มีคุณภาพที่สูง ตรงนี้เรายังสู้ต่างประเทศไม่ได้ หรือโปรตีนที่สกัดจากนม โปรตีนที่สกัดจากนมต้องนำเข้าเหมือนกัน

นอกจากนี้ เภสัชกรวัฒนชัย ยังบอกอีกว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า หากใครมีไอเดียอย่าง บริษัท ไทยโอซูก้าฯ และ อยากได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพอย่างนี้ ก็ต้องไปหาอาจารย์ หรือหาผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร (supplier) ที่เก่งๆ และทำวิจัยกัน เป็นแบบทดลอง ถ้าทำได้จริงก็ค่อยขยายไปสู่วงกว้าง ซึ่งตอนนี้ยังเป็นความลับทางการค้า แต่ทางรัฐบาลอยากให้เกิดผลทางความร่วมมือด้านวิจัยให้เร็วที่สุด โดยบินไปทั่วประเทศเพื่อไปคุย อยู่ที่ว่าจะมีคนลงทุนด้วยหรือเปล่า เราลงทุนปลายทาง คืออาหารทางการแพทย์ แต่ว่าต้องอาศัยทั้งระบบ (supply chain)

“เราอยากใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อยากให้ส่งผลต่อวัตถุดิบทางการเกษตร เพราะอาหารทางการแพทย์มาจากสินค้าเกษตร หากเราสามารถช่วยกันพัฒนาระบบคนได้ เราเองก็จะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดี และส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศ ทำให้ข้าวมีราคาดีขึ้น นี่คือเป้าหมายของขบวนการแปรสภาพที่เริ่มต้นจากกระบวนการผลิตที่มาจากธรรมชาติ เพราะตอนนี้มีความต้องการใช้ข้าวที่มีคุณภาพ และมีเทคโนโลยีการสกัดให้ได้ข้าวที่มาทำอาหารทางการแพทย์ได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีระบบนี้ขึ้นมา” เภสัชกรวัฒนชัย บอกถึงความคืบหน้าในการหาเทคโนโลยี เพื่ออนาคตจะมีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวไทยให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้มากที่สุด

ผู้อำนวยการโรงงาน อธิบายให้ฟังอีกว่า อาหารทางการแพทย์ จะต่างจากอาหารทั่วไป เช่น อาหารเสริม อาจจะคุ้นเคย วิตามิน หรือแปะก๊วย ก็เป็นอาหารเสริม แต่อาหารทางการแพทย์เป็นอาหารหลัก ที่จะแทนการรับประทานอาหาร 1 มื้อ เพราะฉะนั้นการที่ใช้ชื่อ “อาหารทางการแพทย์” เพราะอาหารที่เราผลิตต้องเอาไปทดสอบกับผู้ป่วยจริงๆ จะเห็นว่า บริษัท ไทยโอซูก้า เป็นบริษัทเดียวในเอเซียที่มีวิจัยและพัฒนาอาหารทางการแพทย์

“ไทยโอซูก้าฯ ได้รับการร้องขอจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้เป็นโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมอาหาร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญไปเป็นทีมทำงาน และพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ ป้อนสู่ประเทศไทย ความต้องการของรัฐบาลคือ ต้องการให้เราใช้ศักยภาพทางการเกษตรให้เกิดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด เอาสินค้าทางการเกษตรมาแปรรูปให้มากที่สุด นโยบายรัฐบาล ซึ่งเขาก็มาเชิญเราให้เข้าไปร่วม เราก็มองอยู่และกำลังจะพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย แปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตรมาเป็นอาหารทางการแพทย์ในประเทศไทยให้ได้” เภสัชกรวัฒนชัย กล่าว

ญี่ปุ่น ทุ่มเงินกว่า 600 ล้านบาท ปั้นไทยเป็นผู้นำนวัตกรรม ผลิตอาหารทางการแพทย์ในเอเชีย

คุณชินสึเกะ ยุอาสะ ประธานบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เล่าว่า “ในกลุ่มประเทศที่โอซูก้า กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่นไปร่วมทุนนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่คิดค้นนวัตกรรมอาหารเสริมทางการแพทย์จากทีมแพทย์ของไทย ทำให้กลุ่มโอซูก้า กรุ๊ป มั่นใจและลงทุนด้านกำลังการผลิต โดยใช้งบฯ 650 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่เพิ่มในพื้นที่โรงงานเดิม ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร บนพื้นที่ 40 ไร่ (รวมพื้นที่โรงงานเก่า) นอกจากนี้ สังคมประเทศไทยเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้ต้องการอาหารเสริมมากขึ้นเช่นกัน เพื่อใช้ในการรักษาตัวเอง และรักษาโรคแต่ละโรคด้วย ทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคไตต่างๆ

สำหรับทีมแพทย์ผู้ที่คิดนวัตกรรม “อาหารทางการแพทย์” ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ จอมจักร จันทรสุกล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์เพียรวิทย์ ตันติแพทยางกูร คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย ตันไพจิตร คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี

ส่วนโรงงานใหม่ของ บริษัท ไทยโอซูก้าฯ มีกำลังการผลิต 3,000 ตัน ต่อปี รองรับการเติบโตของผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการอาหารทางการแพทย์ ทั้งประชากรในเมืองไทยและในต่างประเทศด้วย และจะสามารถลดการนำเข้าอาหารทางการแพทย์จากต่างประเทศ ขณะที่โรงงานเก่ามีกำลังการผลิต 600-700 ตัน ต่อปี

บริษัท ไทยโอซูก้าฯ เป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับโอซูก้า กรุ๊ป ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 49% ต่อ 51% โดยเราร่วมทุนกันมาปีนี้ครบรอบปีที่ 43 แล้ว โดยมีเครือสหพัฒนฯ ร่วมถือหุ้น 10% ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และโอซูก้า กรุ๊ป ที่ญี่ปุ่น มองว่าไทยมีศักยภาพ จึงมองประเทศไทยเป็นที่แรกและขยายการลงทุนในส่วนโรงงานผลิตอาหารทางการแพทย์” ประธานบริษัท บอกถึงเหตุผลในการทุ่มเงินมาที่ประเทศไทย

โอซูก้า กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น มีรายได้ต่อปีประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยมีการลงทุนแบบร่วมทุน (join venture) กับแต่ละประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ฮ่องกง ปากีสถาน อียิปต์ และในส่วนยุโรป เป็นการลงทุนของโอซูก้า กรุ๊ป ญี่ปุ่น แบบ 100%

เศรษฐกิจไทยยังไปได้สวย อาหารทางการแพทย์ยังโตได้อีก

ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นยังเล่าถึงภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทยว่า ยังค่อนข้างมีความแข็งแรง โดยมาจากนโยบายของรัฐบาลหลายด้าน อาทิ ไทยแลนด์ 4.0 และเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ธุรกิจยาและอาหารทางการแพทย์เติบโตโดยไม่อิงกับภาวะเศรษฐกิจ

“ผมมาจากประเทศที่เศรษฐกิจไม่โต ประมาณ 20 ปี เพราะประเทศญี่ปุ่น เงินเดือนไม่ขึ้นมา 20 ปีแล้ว แต่ประเทศไทย เงินเดือนก็ขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่ำสุด 5-10% แล้วราคามูลค่าอาหารก็โตขึ้นเรื่อยๆ ผมมาประเทศไทยตั้งแต่ 20-25 ปีที่แล้ว ราคาน้ำตาล และกาแฟ ก็ 10 บาท 5 บาท ตอนนี้ก็ 30 บาท 50 บาท แต่ถ้าเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ราคาที่นั่นเหมือนกับเรารู้สึกว่าถูกมาก แต่ยาและอาหารทางการแพทย์ หรืออาหารสุขภาพ อาจไม่ไปด้วยกับเศรษฐกิจ เพราะความต้องการอยู่ที่ประชาชนคนไทยดูแลสุขภาพมากขึ้น และอายุยืนเฉลี่ยยาวเหมือนคนในประเทศญี่ปุ่น” ประธานบริษัท เล่าถึงมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

ปี 2558 กลุ่มธุรกิจไทยโอซูก้า กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น มีรายได้ 5 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีรายได้หลักมาจากยาถึง 70% รองลงมาคือ อาหารทางการแพทย์ และน้ำเกลือ ส่วนรายได้ของ บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด มีรายได้ 2,000 กว่าล้านบาท โดยมีรายได้มาจากน้ำเกลือถึง 700 ล้านบาท ยา 600 ล้านบาท อาหารทางการแพทย์ 300 ล้านบาท และที่เหลืออีก 200 กว่าล้านบาท มาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มสารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ

ขณะที่มูลค่าตลาดอาหารทางการแพทย์ ปี 2558 มีมูลค่ารวมกว่า 1,300 ล้านบาท เฉพาะที่ขายผ่านช่องทางร้านขายยาและโรงพยาบาลทั่วประเทศ และในปี 2559 คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดรวมอาหารทางการแพทย์จะโต 10% ขณะที่ไทยโอซูก้าคาดว่าเฉพาะอาหารเสริมทางการแพทย์ จะมีรายได้เติบโต 10% ตามภาวะการเติบโตของตลาดรวม

สำหรับนักวิจัยท่านใด หรือเกษตรกรที่มีความสามารถในการสกัดคาร์โบไฮเดรตจากข้าว และโปรตีนจากถั่วเหลือง ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำของกระบวนการผลิต “อาหารทางการแพทย์” สามารถโทรศัพท์ติดต่อเจรจา เปิดโอกาสให้กับตัวเองได้ทันที ที่โรงงานของไทยโอซูก้า อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โทร. (034) 878-188-9

นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการติดตามงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ที่ได้ดำเนินการโดยใช้ศูนย์เรียนรู้การ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเกษตร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม สามารถช่วยแก้ปัญหาของชุมชนและสามารถตอบสนองประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร

โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามงานแปลงใหญ่(ข้าว) ที่ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบว่ามีสมาชิกทั้งหมด 200 คน พื้นที่ในโครงการ 1,136 ไร่ เป็นพื้นที่ S3 ทั้งหมด พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ สันป่าตอง 1 , กข 6, ไรซ์เบอร์รี่, มะลิแดง,หอมนิล โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 1 กลุ่ม มีการวิเคราะห์พื้นที่จัดทำข้อมูลรายแปลง ทั้งนี้ ในการพัฒนาคุณภาพข้าวในรูปแปลงใหญ่ ได้กำหนดเป้าหมายและการดำเนินการตามแผนโครงการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมได้จัดตั้งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการผลิตจนถึงการแปรรูปเพื่อจำหน่าย

รองอธิบดีฯ ได้กล่าวชื่นชมผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ (ข้าว) ของที่นี่ ว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมาก คือ 1. สามารถลดต้นทุนการผลิต การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากเดิม 15 กก./ไร่ เป็น 10 กก./ไร่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี จาก 50 กก./ไร่ เป็น 30 กก./ไร่ โดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และลดการใช้สารเคมี โดยใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมลดลง จาก 5,182 บาท/ไร่ เป็น 4,041 บาท/ไร่ (ลดลงร้อยละ 22)

2.ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิม 494 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 543 กิโลกรัม/ไร่ ที่ ความชื้น 15% (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0) 3. มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยให้ความรู้และตรวจรับรองการผลิตข้าวตามมาตรฐาน Pre GAP 121 ราย GAP 4 ราย ตลอดจนส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองและจำหน่าย รวมทั้งแปรรูปข้าวเพื่อจำหน่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4. ตลาดมั่นคง เพราะมีการทำข้อตกลงซื้อ-ขาย ข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าตลาด 200 บาท/ตัน กับโรงสีข้าวในพื้นที่จังหวัดลำปาง(โรงสีทรัพย์ไพศาล) สหกรณ์การเกษตรอำเภอสบปราบรับซื้อข้าวเปลือกในราคาข้าวตลาด และจำหน่ายข้าวแปรรูป (ข้าวสี) ในตลาดชุมชน และจุดจำหน่ายสินค้าทั่วไป

สำหรับแนวทางพัฒนาต่อไปนั้น ทางกลุ่มฯ มีความต้องการเครื่องสีข้าวขนาดกลางเพื่อใช้สำหรับสีข้าวเพื่อจำหน่ายเองเพื่อลดต้นทุนในการแปรรูปเป็นข้าวสาร และยังได้ วัสดุจากการสี ได้แก่ รำข้าว แกลบ ที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

คุณทองคำ พิลากรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอบรบือ ผู้เพาะปลูกผักหวานป่า ในพื้นที่ บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 5 บ้านเปลือย ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า ส่วนตัวแล้วทำอาชีพรับราชการในสำนักงานเกษตร อีกทั้งเป็นเกษตรกรทำไร่มันสำปะหลังและทำนามาจนถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของการปลูกผักหวานป่า เนื่องจากเป็นเกษตรกรที่ทำไร่ทำสวนแบบผสมผสาน ประกอบกับมีความสนใจในตัวของผักหวานป่า เนื่องจากเป็นพืชที่คุ้นเคยมีอยู่แล้วในแถบภาคอีสาน และเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง เติบโตต่อเนื่อง จึงได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งจากการค้นคว้าและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ทำให้ทราบว่า ผักหวานป่า นั้นมีข้อดีหลักๆ อยู่ 2 อย่าง คือ

1. เป็นพืชที่ดูแลง่าย อายุยืน สามารถปลูกแล้วปล่อยไว้โดยไม่ต้องดูแลมาก ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้นาน

2. เป็นพืชเกษตรอินทรีย์ หมายความว่า การปลูกพืชชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี ใช้เพียงปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น

คุณทองคำ เริ่มต้นปลูกผักหวานป่า ในพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 200 หลุม ปัจจุบันขยายพื้นที่เป็น 2 ไร่แล้ว และยังสร้างเครือข่าย ให้ความรู้กับเพื่อนบ้านผู้ที่สนใจอยากสร้างรายได้จากการปลูกผักหวานป่า ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกทั้งหมด 30 ราย สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวานไปแล้วกว่า 2,000 เมล็ด เพื่อทดลองปลูกกับเครือข่าย

การเลือกเมล็ด
“ส่วนตัวแล้วหลังจากที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผักหวานป่า ก็พบว่า ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ปลูกผักหวานป่าขาย และมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าด้วย จึงได้ซื้อเมล็ดจากที่อำเภอบ้านหมอ จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมล็ดจะถูกส่งมาให้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี” คุณทองคำ กล่าว

เมล็ดผักหวานป่าที่คุณทองคำเลือกซื้อจากอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรีนั้น เป็นเมล็ดที่กะเทาะเปลือก และล้างทำความสะอาดด้วยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มาแล้ว เพื่อกำจัดเชื้อราป้องกันเมล็ดเน่าเสีย ราคาเมล็ดพันธุ์ที่กะเทาะเปลือก ขายเป็นเมล็ด เมล็ดละ 3 บาท ไม่กะเทาะเปลือก ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท

วิธีการเพาะเมล็ด
เมื่อมีเมล็ดพันธุ์ ให้นำมาล้าง ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นนำผ้าหรือกระสอบป่านชุบน้ำให้เปียกนำมาคลุมเมล็ดพันธุ์ไว้ ประมาณ 7-10 วัน เมล็ดจะแตก แต่ก็ยังไม่มีต้นอ่อน เนื่องจากต้นผักหวานป่าจะงอกช้ามาก ไม่ต้องรอต้นอ่อนงอก เพียงแค่ให้เมล็ดแตกก็สามารถนำลงดินที่เตรียมไว้ได้เลย

ก่อนที่จะนำเมล็ดพันธุ์ลงดิน ต้องเตรียมพื้นที่ปลูกก่อน ด้วยการขุดหลุม ขนาด30×30 เซนติเมตร แล้วนำดินผสมกับปุ๋ยคอกเก่า ที่ทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี ในอัตรา 1:1 ส่วน ก่อนที่จะนำเมล็ดลงดิน จะใช้เหล็กเส้น ขนาด 6 หุน ยาว 1 ศอก แทงลงในดินที่ขุดหลุมไว้ เพื่อเป็นเส้นทางให้รากของผักหวานลงไปในดินโดยง่าย วางเมล็ดผักหวานแนวขวางและให้เมล็ดโผล่อยู่เหนือดินครึ่งเมล็ด

“ผักหวาน เป็นพืชที่จะหยั่งรากลงดินก่อนโดยที่ยังไม่มีต้นอ่อน หลังจากหยั่งรากลงดินประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มแตกต้นอ่อนให้เห็น ช่วงเวลาระหว่างรอต้นอ่อนแตกยอดออกมา ต้องคอยสังเกตเมล็ดว่าเน่าหรือไม่ หากเมล็ดเปลี่ยนสีไปจากเดิม ไม่เหมือนวันแรกที่ลงปลูก หรือเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ให้สันนิษฐานว่า เมล็ดนั้นเน่า” คุณทองคำ กล่าว

ดูแลรักษาและให้น้ำ
ผักหวาน เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากนัก เนื่องจากเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าอยู่แล้ว การดูแลจึงไม่ยุ่งยาก ศัตรูพืชของผักหวานคือ จิ้งหรีด ที่จะมากัดกินยอดอ่อนในช่วงแรก คุณทองคำป้องกันด้วยการนำขวดพลาสติกตัดหัวท้ายให้เป็นรูปทรงกระบอก นำมาครอบเพื่อเป็นการล้อมต้นอ่อนผักหวานไว้ เมื่อต้นอ่อนมีความสูง ประมาณ 1 คืบ จึงสามารถนำขวดน้ำออกได้และปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ผักหวานเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยมาก จะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เท่านั้น ในฤดูแล้ง ที่แล้งจัดให้น้ำ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ส่วนในฤดูฝนจะไม่ให้น้ำเลย

การให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยคอกมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น เริ่มใช้มูลสัตว์ในการผสมกับดินใส่หลุมปลูก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงเตรียมการให้ผลผลิตจะโรยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณรอบโคนต้น และบำรุงใบไปด้วย ด้วยการฉีดน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ ในอัตรา 1:200 ส่วน ช่วยทำให้ใบเขียว นอกจากนี้ จุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำหมักจะช่วยย่อยสลายปุ๋ยคอกที่โคนต้นอีกด้วย

หลังจากที่ต้นเติบโต อายุได้ประมาณ 2 ปี จะให้ปุ๋ยมูลสัตว์ 2 ครั้ง ต่อปี คือช่วงต้นฝนและปลายฝน และฉีดน้ำหมักอีกเดือนละ 1 ครั้ง แต่การให้ปุ๋ยสำหรับต้นผักหวานป่าก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน คือห้ามใส่ปุ๋ยในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต จะให้ก่อนหน้าในช่วงต้นและปลายฝนเท่านั้น ซึ่งอายุของต้นผักหวานที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้คือ อายุตั้งแต่ 2-3 ปี ขึ้นไป

เก็บเกี่ยวผลผลิต
ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะต้องตัดแต่งกิ่ง โดยคุณทองคำจะใช้วิธีการหักกิ่งด้วยมือเปล่า โดยหักช่วงปลายยอดของกิ่งทิ้ง ประมาณ 10-15 เซนติเมตร สามารถหักได้ทั้งกิ่งตรงและกิ่งแขนง จากนั้นลิดใบออก ให้เหลือกิ่งละประมาณ 3-4 ใบ เท่านั้น หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ ผักหวานจะเริ่มแตกยอดใหม่ อีกประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดผักหวานจำหน่ายได้

“การเก็บยอด ต้องเลือกยอดที่มีขนาดมาตรฐาน ที่ส่งขายกัน ความยาวจะอยู่ที่ 1 ฟุต สามารถเก็บได้ทั้งปี ช่วงที่ผักหวานให้ผลผลิตตามธรรมชาติคือช่วงปลายเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนเมษายน” คุณทองคำ กล่าว

ราคาขายผักหวานจะขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตออกมาในช่วงนอกหรือในฤดู ราคาขายส่งในฤดู อยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ขายปลีกกิโลกรัมละ 200 บาท หากขายนอกฤดูราคาจะเพิ่มขึ้นอีก 50 บาท คือขายส่งอยู่ที่ 200 บาท ต่อกิโลกรัม และขายปลีก 250 บาท ต่อกิโลกรัม โดยการขายส่งจะมีแม่ค้ามารับถึงที่ มีทั้งเจ้าประจำและขาจร เป็นรายได้ที่หาได้ตลอดทั้งปี

เทคนิคการปลูกเพื่อผลผลิตที่ดี
คุณทองคำ เล่าว่า “เทคนิคสำคัญในการปลูกผักหวานให้มีคุณภาพ และต้นแข็งแรงให้ผลผลิตดีอยู่ที่การแซม “ต้นไม้พี่เลี้ยง” หรือไม้ที่ให้ร่มเงา นอกจากผักหวานป่าเป็นพืชที่ไม่ต้องการแดดมาก ผักหวานต้องการแสงแดดเพียง 30% เท่านั้น พืชพี่เลี้ยงจึงเป็นประโยชน์ในการให้ร่มเงา

ในกรณีที่ไม้พี่เลี้ยงยังไม่โตพอที่จะให้ร่มเงากับผักหวานได้ ให้ใช้ซาแรนคลุมต้นผักหวานไปก่อน เป็นการช่วยลดแสงไม่ให้กระทบกับต้นผักหวานโดยตรง นอกจากนี้ ยังเป็นตัวช่วยหาอาหารใต้ดินให้กับผักหวานอีกด้วย เนื่องจากผักหวานจะอาศัยการกินอาหารกับรากพืชอื่น”

ไม้พี่เลี้ยงที่ คุณทองคำ เลือกปลูก ได้แก่ แคบ้าน มะขามเทศ และตะขบ ซึ่งจากการสังเกตแล้ว คุณทองคำ เล่าว่า ผักหวานที่อยู่ใกล้กับไม้พี่เลี้ยงแคบ้าน ใบจะมีสีเขียวสวย สันนิษฐานว่า เนื่องจากแคเป็นพืชในตระกูลถั่ว ซึ่งมีจุดเด่นในการตรึงไนโตรเจน มาใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง

คุณทองคำ แนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกผักหวานป่าว่า ต้องคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ให้ดี หากเก็บมาจากป่าให้เลือกเมล็ดที่แก่จัด มีสีเหลืองอมส้ม เมล็ดโตไม่ลีบ นำมาขยำเอาเปลือกออกด้วยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มา ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันเมล็ดเน่าเสียนั่นเอง

ทั้งนี้ ผักหวานป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Melientha suavis Pierre เป็นพืชในวงศ์ Opiliaceae เป็นพืชที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการแตกกิ่งและยอดอ่อนได้ด้วยการหักกิ่งทิ้ง นิยมบริโภคใบและยอดอ่อน โดยการนำมาปรุงอาหาร เช่น แกงใส่ไข่มดแดงและเห็ดฟาง ถือเป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวอีสาน นอกจากนี้ ยังนำมาผัดน้ำมันหอยและรับประทานเป็นผักต้มสำหรับจิ้มกับน้ำพริกได้ด้วย

คุณมงคล สุทธิสาร หรือ คุณกอล์ฟ เจ้าของบ้านสวนช่อจันทร์ เลขที่ 20 หมู่ที่ 2 บ้านสะอาด ตำบลพรสวรรค์ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การตลาด โดยก่อนหน้านี้คุณกอล์ฟทำงานที่ร้านอาหารระดับ 5 ดาว อยู่ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายการตลาด ด้วยหน้าที่ต้องมีการจัดหาซื้อวัตถุดิบ บวกกับร้านอาหารที่คุณกอล์ฟทำ มีมากถึง 6 สาขา

ช่วงหน้าแล้งร้านอาหารประสบปัญหาขาดแคลนมะนาวเป็นอย่างมาก ทางเชฟไม่สามารถหามะนาวมาทำอาหารได้พอ คุณกอล์ฟจึงต้องลงมาช่วยหาวัตถุดิบ ช่วงนั้นไปเกือบทุกตลาดก็ไม่ค่อยมี หายากมาก มะนาวแป้นรำไพที่เคยใช้ขาดตลาด จึงหันมาใช้มะนาวพันธุ์อื่นแทน แต่ด้วยคุณสมบัติของมะนาวพันธุ์อื่นไม่สามารถสู้แป้นรำไพได้ เพราะมะนาวแป้นรำไพมีลักษณะเด่น เปลือกบาง น้ำหอม ได้รสชาติ ช่วงนั้นลูกค้าที่ร้านขาดหายไปเลย คือรสชาติไม่ได้ กลิ่นไม่ได้ คุณกอล์ฟจึงต้องกลับไปใช้มะนาวแป้นรำไพอย่างเดิม ถึงแม้ว่าราคา ลูกละ 15 บาท ก็ต้องยอม ณ ตอนนั้น คุณกอล์ฟเลยมีความคิดว่าหันมาปลูกมะนาวดีกว่า ปลูกแล้วส่งร้านอาหารที่ตนเองทำงานอยู่นี่แหละ ปลูกแล้วได้ผลดีมาก ทีนี้ผลผลิตไม่พอที่จะส่งร้านอาหารทั้ง 6 สาขา ด้วยเมนูที่หลากหลาย วันหนึ่งต้องใช้มะนาวเป็นหมื่นลูก คุณกอล์ฟจึงลาออกจากงานมาลุยสวนมะนาวเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง ปลูกแต่พันธุ์แป้นรำไพป้อนให้ร้านอาหารก็ไม่พอขาย ปัจจุบัน ที่สวนของคุณกอล์ฟปลูกมะนาว 500 กว่าต้น หรือประมาณ 3 ไร่ จึงต้องไปหาลูกไร่อีกทีให้เขาปลูกช่วย

ปลูกมะนาวอย่างไรให้ได้ผลผลิตนอกฤดู

มะนาว เป็นไม้ผลขนาดเล็กที่นิยมนำมาปรุงอาหารต่างๆ หลากหลายเมนู มะนาวยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง สามารถนำมาทำน้ำสมุนไพรต่างๆ ได้หลากหลายชนิด การปลูกมะนาวสามารถปลูกได้หลากหลายวิธี แต่ถ้าต้องการบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดูโดยไม่ใช้สารเคมี ที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันคือ การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ โดยมีขั้นตอนดังนี้

การคัดเลือกพันธุ์
1.1 พันธุ์มะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ เพื่อบังคับให้ออกดอก ติดผลนอกฤดู สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลได้ทุกสายพันธุ์ มะนาวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ คือมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 มะนาวพันธุ์ตาฮิติ มะนาวพันธุ์แป้นรำไพ มะนาวพันธุ์ด่านเกวียน

ส่วนผสมดินสำหรับปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
2.1 หน้าดินที่มีความสมบูรณ์ 2 ส่วน

2.2 ปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว 1 ส่วน

2.3 ปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว 1 ส่วน

2.4 ขี้เถ้า (แกลบดำ) 1 ส่วน

3. การปลูก
นำดินที่ผสมแล้วมาใส่ในวงบ่อซีเมนต์ที่จัดเตรียมไว้ ย่ำให้แน่นพอควร พรวนดินปลูกขึ้นมา เมื่อปลูกมะนาวไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ดินจะยุบตัวพอดีกับขอบวงบ่อซีเมนต์

มะนาวที่จะออกดอกออกผลได้จนถึงการเก็บผล ต้องมีความสมบูรณ์ และสัมพันธ์กันในทุกๆ ส่วน ตั้งแต่วัสดุปลูกไปจนถึงการรักษายอด

สูตรน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งลดความอ้วน

ส่วนผสมน้ำผึ้ง 1 ช็อต น้ำมะนาว 1 ช็อต โรยเกลือนิดนึง แล้วคนใส่น้ำอุ่นดื่ม ไม่เกิน 20 วินาที เราจะรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ แต่คุณกอล์ฟบอกว่า เมื่อดื่มน้ำมะนาวสูตรนี้เข้าไปแล้วไม่ส่งผลให้ถ่ายพร่ำเพรื่อ ถ่ายรอบเดียวแล้วจบ ซึ่งสูตรนี้ทดสอบมาแล้วว่าช่วยลดความอ้วนได้ ช่วยล้างไขมันตามลำไส้ เพราะในลำไส้จะมีเศษไขมันเล็กๆ น้อยๆ ที่เกาะ น้ำผึ้งและน้ำมะนาวจะช่วยล้าง คุณกอล์ฟใช้ระยะเวลาดื่มเป็นระยะเวลา 4 เดือน จากที่เคยน้ำหนัก 108 กิโลกรัม ตอนนี้เหลืออยู่ 80 กิโลกรัม คุณกอล์ฟจึงได้แนะนำสูตรให้กับเพื่อนๆ ชิม ซึ่งได้ผลตอบรับดี เพื่อนบอกอร่อยต่อๆ กันมา และที่ลดน้ำหนักได้ตามๆ กันคือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ท่าน ผอ. ของ กศน. ในอำเภอ และคนในหมู่บ้าน คุณกอล์ฟจึงลองทำขาย ออกผลิตภัณฑ์ชื่อแบรนด์ “น้ำช่อจันทร์” ซึ่งส่วนผสมน้ำช่อจันทร์คุณกอล์ฟใช้วัตถุดิบอย่างดี น้ำมะนาวก็ใช้จากสวนตัวเอง น้ำผึ้งก็ต้องเป็นน้ำผึ้ง 3 ดอก หมายความว่าต้องสั่งซื้อน้ำผึ้งจากสวนที่ปลูกต้นไม้มากกว่า 3 ชนิดขึ้นไป เพื่อความหอม หวาน ของน้ำผึ้ง ซึ่งคุณกอล์ฟก็ขายไม่แพง เพียงขวดละ 120 บาท รสชาติอร่อย หอม หวาน จะผสมกับโซดาดื่มดับกระหายคลายร้อนก็ดีไม่น้อย

สำหรับท่านที่สนใจอยากเรียนรู้การปลูกมะนาว หรือการแปรรูปน้ำมะนาวที่สวนบ้านช่อจันทร์แห่งนี้ เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ สามารถแวะเวียนเข้าไปศึกษาดูงานได้ โทร. (085) 664-1347

ต้นดาวเรืองที่ออกดอกเหลืองอร่ามโปรกไสวตามแรงลมหนาว บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ หลังจากที่หนุ่มกบินทร์บุรี จบจากสถาบันเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ชลบุรี เห็นว่าพื้นที่ว่างเปล่าพอจะทำประโยชน์สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ และเห็นแม่ของตัวเองปลูกมะนาว ซึ่งมันต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ผลผลิต

นายอิทธิกร ดอกบัว อายุ 26 ปี ที่ตำบลเมืองเก่า สมัครเล่นคาสิโน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากเรียนจบจากสถาบันเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า เดิมทีหลังจากเรียนจบอยากเข้าทำงาน แต่เมื่อมาเห็นพื้นที่ว่างเปล่าที่แม่ซื้อไว้ และเห็นแม่ปลูกต้นมะนาวไว้ กว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลา ดังนั้นคิดว่าน่าจะปลูกพืชแบบผสมผสานโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช จึงนำมาปฏิบัติโดยปลูกพืชระยะสั้น ใช้น้ำน้อย และได้ผลิตดี จึงลองปลูกดอกดาวเรืองพันธุ์ทองเฉลิม ซึ่งมีตลาดลองรับและขายได้ราคาดี

นายอิทธิกร เปิดเผยว่าอีกว่า ก็เหมาะสมกับต้นทุนถ้าเราบริหารดี ไม่เกินตัว รายได้ก็ดีพอสมควร ถ้าเราปลูกแบบพอเพียงปลูกไม่เยอะแบบพอดีไม่เกินตัว ดูแลให้ดี เพราะดาวเรืองมีตลาดรองรับและเป็นที่ต้องการของตลาด มันก็สร้างรายได้ให้แบบพอเพียง