เนื้อที่ 1 ไร่ สามารถเก็บดอกกระเจียวขายได้เดือนละ 20,000 บาท

ซึ่งเขาลงทุนไป 10,000 บาท ต่อไร่ ตอนนี้ได้ทุนคืนแล้ว โดยได้ผลผลิต เฉลี่ยที่ 20 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อวัน ทำให้มีรายได้ 500-1,000 บาท ต่อวัน ทั้งนี้ ต้นกระเจียวจะออกดอกทุกวัน คุณเมืองชัย อธิบายถึงการปลูกกระเจียวให้ได้ผลดีว่า ทางกลุ่มเลือกพันธุ์หวานโคกนาโกมาปลูก เนื่องจากให้ผลผลิตยาวนานกว่าพันธุ์ดั้งเดิม แตกกอดี มีรสชาติอร่อย ซึ่งสามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน ชอบแสงรำไร ไม่ร่มจนเกินไป ในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ควรยกแปลงปลูก ระยะห่าง 80×80 เซนติเมตร ในที่ดอนไม่จำเป็นต้องยกแปลงปลูก ปลูก 2-3 ปี ขุดหัวปลูกขยายใหม่ จะได้หัวพันธุ์ที่สมบูรณ์ ให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักฉีดพ่นทางใบ 10-15 วัน ต่อครั้ง

ทางกลุ่มใช้น้ำหมักสูตรเฉพาะ ดอกใหญ่ หวาน กรอบยิ่งขึ้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและแตกต่างจากที่อื่นแน่นอน ถึงแม้ว่าจะใช้พันธุ์หรือปลูกในเขตพื้นที่เดียวกันก็ตาม ขณะนี้มีสมาชิกที่ปลูกดอกกระเจียว ในพื้นที่นาของตัวเอง ประมาณรายละ 3 งาน ถึง 1 ไร่ ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์ เนื้อที่ 1 ไร่ ถือว่ากำลังดี เพราะสามารถดูแลได้ทั่วถึง

นอกจากนี้ เขายังขายทั้งต้นพันธุ์และหัวพันธุ์ด้วย ถ้าเป็นต้นพันธุ์พร้อมออกดอก ราคา 35 บาท ต่อต้น กระถางละ 50-100 บาท ถ้าเป็นท่อนพันธุ์ อยู่ที่ 15-20 บาท ต่อท่อน ส่วนหัวพันธุ์ขายอยู่ที่ 150-200 บาท ต่อกิโลกรัม

ต้นกระเจียวนั้น หลังจากหมดฤดูกาลออกดอกแล้วใบจะแห้งเหี่ยวตาย แต่หัวยังอยู่ใต้พื้นดินได้ตลอดจนกระทั่งเข้าหน้าฝน เมื่อถึงฤดูกาลอีกรอบ ต้นกระเจียวจะแทงยอดขึ้นมาอีกและออกดอกให้เก็บได้อีกเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตามวงจรชีวิตของกระเจียว

ในฐานะเกษตรกรมือใหม่ คุณเมืองชัยพูดถึงอุปสรรคและปัญหาที่เขาและกลุ่มสมาชิกเจอะเจอ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากช่วงปลูก เดือนแรกๆ จำเป็นต้องให้น้ำเข้าแปลง เพื่อกระตุ้นการงอก แต่พอเข้าสู่ฤดูฝนก็ปล่อยตามธรรมชาติ เพียงแต่คอยดูแลเรื่องวัชพืช และเมื่อฝนขาดช่วงหลายๆ วันก็จำเป็นต้องให้น้ำ เพื่อรักษาต้นไม่ให้โทรมและป้องกันผลผลิตลดลง

กรณีฝนตกต่อเนื่องจะทำให้ออกดอกดี แต่ถ้าฝนตกชุกเกินไปก็จะทำให้เกิดโรครากเน่า ต้องหาปูนขาวหรือไตรโคเดอร์มา มาใส่ และอาจจะเจอปัญหาหนอนเจาะกอ อาจจะต้องใช้น้ำหมักฉีด แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องเจอแบบนี้

ว่าไปแล้ว ตลาดของดอกกระเจียวเวลานี้ ยังคงเป็นตลาดพื้นบ้าน ตลาดอำเภอ ตลาดในจังหวัด และตลาดออนไลน์ ถือเป็นเอกลักษณ์เป็นของฝากของหมู่บ้าน เนื่องจากคนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยกับการกินดอกกระเจียวกันมากนัก

กลุ่ม “วิสาหกิจชุมชน ดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก” วางเป้าหมายว่าจะทำให้คนรู้จักมากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ว่า กระเจียวพันธุ์หวานนี้สามารถทำได้หลากหลายเมนู และจะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดยโสธร พร้อมแปรรูปผลผลิต กระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดที่มีระดับขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า และส่งออกต่างประเทศ รวมถึงจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาคุณภาพ และรักษามาตรฐานความเป็นผักอินทรีย์

กรณีผู้สนใจจะปลูกกระเจียวเพื่อขายนั้น คุณเมืองชัยให้คำแนะนำว่า ถ้ามีทุนน้อยก็ลงทุนน้อยไปก่อน ใช้วิธีทำจากน้อยไปหามาก โดยควรปลูกเสริมนอกเหนือจากพืชหลัก และให้ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี หรือสารเร่งดอกที่เป็นอันตรายใดๆ เลย จะทำให้ประหยัดต้นทุน และได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งหากเทียบผลตอบแทนกับพืชชนิดอื่นๆ ถือว่าดีมากๆ และแม้ว่าจะให้ผลผลิตแค่ช่วงเวลาหนึ่งแต่ก็คุ้ม

สนใจอยากลิ้มชิมรสชาติดอกกระเจียวที่ปลูกแบบอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก หรืออยากซื้อหัวและต้นพันธุ์ไปปลูก ติดต่อ คุณเมืองชัย ทองลา ได้ที่ โทร. (095) 593-9010

ชีวิตของลูกเกษตรกร ที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาสูง แต่สามารถเลือกทางเดินชีวิตตนเองได้ ด้วยการกลับมาทำการเกษตรที่บ้าน เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร คุณชุติมา จักษุมา ชาวอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เรียนจบผู้ช่วยพยาบาล ทำงานโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง ก่อนลาออกกลับบ้านเกิด และสมัครงานในตำแหน่งผู้ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง ใกล้บ้าน แต่ตอนนี้ เธอเป็นนายของตัวเองมาได้ 8 เดือนแล้ว

ถามว่า ทำไมจึงเป็นนายตัวเอง คุณชุติมาให้คำตอบว่า เธอลาออกจากงานประจำทั้งหมดที่ทำอยู่ เพื่อออกมาทำเกษตร “โคก หนอง นา” เป็นเกษตรกรเพียงอาชีพเดียว

“รายได้เดือนละ 8,000-10,000 บาท ยืนพื้น อาจจะมีมากหรือน้อยกว่าบ้าง แต่ละวันแทบไม่ได้ใช้จ่ายอะไรเลย” เกือบ 3 ปีก่อน คุณชุติมาลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ กลับมาอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ยังคงทำงานตามวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา ทั้งที่ลึกๆ ในใจ อยากทำตามความฝันของตนเอง คือการดำเนินชีวิตตามกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้อยู่อย่างพอเพียง

“เงินที่เก็บมาและขอที่ดินจากพ่อและแม่ ตั้งใจจะทำโคก หนอง นา โชคดีที่พ่อและแม่ไม่ขัด ทำให้เราทำตามความฝันเราได้ ใช้เงินไปทั้งหมดก้อนแรก 53,000 บาท ขุดบ่อ ทำคันนา ปรับสภาพที่ดินเริ่มจากพื้นที่ 6 ไร่ ค่อยๆ ปรับแต่งพื้นที่ ลงปลูกต้นไม้ตามทฤษฎีการปลูกพืชแบบผสมผสาน นำความรู้จากการเข้าอบรมการทำโคก หนอง นา ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง มาใช้ เรียกได้ว่าเป็นการหักดิบ เพราะตอนนั้น นอกจากพ่อและแม่แล้ว ไม่มีใครเห็นด้วยกับสิ่งที่กำลังทำ”

พื้นที่ 6 ไร่ ขุดเป็นบ่อน้ำ 2 บ่อ ทำคลองไส้ไก่รอบพื้นที่ ปลูกพืชแบบผสมผสาน เป็นไม้ 5 ระดับ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้กินหัว ซึ่งพืชแต่ละชนิด สามารถปลูกผสมผสานกันได้ในทุกพื้นที่ และให้ผลผลิตแตกต่างกันแต่ละช่วงเวลา ทำให้สามารถเก็บมาประกอบอาหารและจำหน่ายได้ จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่า แล้งมากจังหวัดหนึ่ง

คุณชุติมา บอกว่า โชคดีที่บริเวณพื้นที่มีบ่อบาดาลน้ำตื้น 6 เมตร สูบน้ำขึ้นมาใช้ในพื้นที่ได้ แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่อาจจะขุดไม่เจอน้ำบาดาล นอกจากนี้ ดินในพื้นที่ยังเป็นดินเหนียว ทำให้การขุดบ่อเก็บกักน้ำไม่เกิดปัญหา

“การเกษตรที่สำคัญที่สุดคือ น้ำ โชคดีที่เรามีน้ำในที่ดินของตัวเอง ฤดูแล้งก็ยังมีน้ำ ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้เจริญเติบโตงอกงามดี แต่ถึงอย่างไร เมื่อเราเริ่มจากการไม่ใช้เคมี ทำเกษตรในลักษณะของอินทรีย์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะถูกแมลงศัตรูพืชรุมทำลายพืชที่ปลูกไว้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้บริโภคและตัวเราเองรู้ว่า ผลผลิตของเราปลอดสาร มีความปลอดภัย”

ช่วงแรกของการเริ่มทำโคก หนอง นา คุณชุติมายังคงทำงานเป็นผู้ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้บ้าน จึงมีเงินเดือนประจำและมีรายได้เล็กน้อยจากแปลงโคก หนอง นา ที่ทำอยู่ เริ่มแรกมีผลผลิตแค่ทำกินในครัวเรือน เมื่อเวลาผ่านไปผลผลิตที่ได้เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ผลผลิตเริ่มมีมากขึ้น จากทำกินในครัวเรือน เริ่มแบ่งปันเพื่อนบ้านและขยายต่อไปถึงการจำหน่าย

ภายในแปลง แบ่งเป็นพื้นที่ทำนาประมาณ 2 ไร่ ระยะแรกทำงานช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เพราะต้องปรับปรุงดินด้วยการห่มฟางกลางคืน

11 ไร่ในปัจจุบัน เป็นบ่อที่เชื่อมต่อถึงกัน 5 บ่อ และคันนาปลูกพืช ยังมีบ่อน้ำอีก 2 บ่อ ที่ไม่เชื่อมต่อกับบ่ออื่นสำหรับเลี้ยงปลากรายและปลาสวาย ส่วนหอยและกุ้งฝอยอยู่ในแหล่งน้ำทั้งหมดในแปลง จะจับเมื่อไหร่ก็ทำได้

คุณชุติมาบอกเราว่า ไม่เคยนำผลผลิตออกไปจำหน่ายที่ไหน มีแต่พ่อค้าแม่ค้าติดต่อเข้ามาขอซื้อและเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงแปลง และการขายก็ตั้งราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะคิดเสมอว่า ให้ขายด้วยความรู้สึกของการให้ 8 เดือนก่อนหน้านี้ คุณชุติมาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ดูแลโคก หนอง นา เมื่อถามว่า ทำไมต้องลาออก ทั้งที่งานประจำถึงเวลาก็รับเงินเดือน คุณชุติมาบอกด้วยความภาคภูมิใจว่า จากการที่ทำโคก หนอง นา มากว่า 2 ปี เพื่อนบ้านมองค้าน มีเพียงครอบครัวที่เห็นด้วย แต่โคก หนอง นา ที่ทำอยู่ประสบความสำเร็จ มีรายได้เข้าครัวเรือนเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี จากพืชต่างชนิดกันแต่ปลูกผสมผสานอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ซึ่งทุกอย่างแปรผันเป็นเงินให้จับต้องได้อย่างไม่ลำบาก แม้กระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่หลายคนประสบปัญหาว่างงาน รายได้ลดลง หรือประกอบอาชีพบางอย่างไม่ได้นั้น แต่การทำโคก หนอง นา กลับไม่ได้รับกระทบแม้แต่น้อยตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่โควิด-19 ระบาด รวมถึง กรมการพัฒนาชุมชน เห็นความตั้งใจและผลที่ได้จากการทำโคก หนอง นา จึงยกให้เป็นแปลงต้นแบบของจังหวัดอุทัยธานี ทั้งยังให้งบประมาณเพิ่มเติมมา สำหรับการจัดสรรพื้นที่อีก 3 ไร่อีกด้วย

“การจะทำโคก หนอง นา ไม่ได้มีทฤษฎีอะไรตายตัว จริงๆ แล้วการทำการเกษตรทั้งหมดอยู่ที่ตัวเอง มีความมุ่งมั่นตั้งใจมากเพียงใด เมื่อพบปัญหา รู้จักแก้ปัญหาและปรับปัญหาให้เป็นทางออกที่ดี เป็นแนวทางใหม่ที่อาจจะไม่เคยทำมาก่อนเลยได้หรือไม่ต่างหาก”

แปลงโคก หนอง นา ของคุณชุติมา ตั้งชื่อง่ายๆ ว่า โคกหนองนาตากะยาย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลเขากวางทอง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี หากจะโทรศัพท์มาสอบถามเส้นทาง เพื่อเข้ามาศึกษาดูงาน คุณชุติมาก็ยินดี โทรศัพท์ 097-969-4522 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เฟซบุ๊ก นางชุติมา จักษุมา

ผมเป็นคนชอบรับประทานหน่อไม้ ผมว่าคนไทยทุกคนก็คงชอบเหมือนกับผม ทั้งนี้ ผมคิดว่าในหน่อไม้น่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์อย่างแน่นอน ผมอยากได้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในหน่อไม้มีธาตุอาหารสำคัญอะไรบ้าง นอกจากเป็นความรู้แล้ว ผมจะได้นำไปเล่าให้ลูกหลานได้รับทราบต่อไป ขอขอบคุณมาในโอกาสนี้ครับ หน่อไม้ ใช้ประกอบอาหารจานเด็ดได้หลากหลายเมนู ตัวอย่าง แกงอ่อม แกงหน่อไม้ แกงเหลือง ต้มจืด หน่อไม้ดอง ซุบหน่อไม้ หน่อไม้ผัดไข่ หรือแม้แต่ต้มจิ้มน้ำพริกก็แสนอร่อย นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ทางด้านอื่นๆ อีกหลายประการของหน่อไม้ เมื่อบริโภคจะช่วยดูดซับสารพิษในระบบทางเดินอาหาร แล้วขับถ่ายออกจากร่างกาย หน่อไม้ช่วยลดการกระหายน้ำ อุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่เป็นประโยชน์กับร่างกายหลายชนิด

ธาตุฟอสฟอรัส มีมากพอที่ให้พลังงานกับร่างกาย

แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

ธาตุเหล็ก มีบทบาทในการสร้างเม็ดเลือดแดง

ดังนั้น จะเห็นว่าหน่อไม้มีประโยชน์มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าต์และโรคไต ควรบริโภคหน่อไม้ด้วยความระมัดระวังด้วยครับ หอมหัวใหญ่…เป็นพืชผักคู่ครัว ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย และโตไว ปลูกได้ 2 วิธี คือ ปลูกแบบสวนหลังบ้านเพื่อเก็บผลผลิตมาบริโภค และการปลูกในเชิงการค้า จะเน้นการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาปริมาณมากที่เพียงพอกับความต้องการของตลาด หอมหัวใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้และมีความมั่นคงในการยังชีพ วันนี้จึงนำเรื่อง เกษตรกรปลูกหอมหัวใหญ่แปลงใหญ่…ได้คุณภาพผลผลิต มาบอกเล่าสู่กัน

คุณเจริญ พิมพ์ขาล หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังว่า หอมหัวใหญ่หรือหอมใหญ่ (Onion) เป็นพืชผักคู่ครัว มีสรรพคุณช่วยรักษาเบาหวาน โรคหัวใจ ลดน้ำตาลในเลือด บำรุงระบบโลหิต ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือมีวิตามินซีสูงที่เสริมสร้างให้มีสุขภาพแข็งแรง

หอมหัวใหญ่ เป็นพืชผักที่ปลูกเพียง 1 ครั้ง ต่อปี เมื่อย้ายต้นกล้าอายุ 45 วัน ลงปลูกในแปลง หลังจากนั้นอีก 90-110 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยลักษณะดอกหอมหัวใหญ่จะออกเป็นช่อ แทงขึ้นมาจากลำต้นใต้ดิน กลีบดอกสีขาว หัวหอมกลมป้อม เปลือกนอกบาง มีสีม่วงแดง เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เกษตรกรที่รวมกลุ่มปลูกหอมใหญ่แปลงใหญ่ จะเป็นศูนย์กลางเพื่อรองรับองค์ความรู้ มีการปฏิบัติตามคำแนะนำทางวิชาการ ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด และพร้อมรับคำแนะนำหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็จะผลิตได้คุณภาพ ทุกวันนี้หอมหัวใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการสูงจึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อการเพิ่มรายได้ หรือมีรายได้ต่อเนื่องตลอดปีและมีความมั่นคงในอาชีพ

คุณแสนพลอย พรมหนองแสน เกษตรอำเภอชัยบาดาล เล่าให้ฟังว่า จากฤดูแล้งที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกอ้อยมักประสบกับปัญหามีน้ำไม่เพียงพอใช้ตลอดฤดูกาลปลูก จึงทำให้การยังชีพไม่มั่นคง ปีนี้จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลือกปลูกหอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ผักสลัด กระเทียม หรือหอมแดง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและได้ผลตอบแทนดีกว่า ในฤดูแล้งปีนี้มีเกษตรกรรวมกลุ่มปลูกหอมหัวใหญ่แบบแปลงใหญ่ พื้นที่ 126 ไร่ สมาชิก 25 ราย เป้าหมายการปลูกหอมหัวใหญ่แปลงใหญ่เพื่อ 1. สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน 2. ให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นรวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

คุณสมหวัง บุญยัง เกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ เล่าให้ฟังว่า หลายปีที่ผ่านมาได้ปลูกอ้อยพื้นที่กว่า 300 ไร่ แล้วต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำไม่พอใช้ ได้ผลผลิตไม่คุ้มทุนจึงทำให้มีรายได้ไม่พอเพียงในการยังชีพ

ต่อมาเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอชัยบาดาล กับอีกหลายหน่วยงาน ได้มาส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกหอมหัวใหญ่แบบแปลงใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรองรับองค์ความรู้นำมาสู่พัฒนาการผลิตที่ได้คุณภาพ ให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการผลิต ด้านการตลาดเพื่อการรองรับการจำหน่ายที่จะทำให้มีรายได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยแล้ว จึงตัดสินใจปลูกหอมหัวใหญ่ 20 ไร่

การเพาะต้นกล้า ดินเพาะต้องย่อยให้ละเอียด กำจัดวัชพืชออกให้หมด ตากดินไว้ 7-10 วัน จัดปุ๋ยคอกแห้ง 1,500-3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วใส่ลงไปคลุกเคล้ากับดินให้เข้ากัน เกลี่ยดินในแปลงให้เรียบ จัดแถวเพาะต้นกล้าให้มีระยะห่างกัน 10 เซนติเมตร ขุดทำเป็นร่องลึก 1 เซนติเมตร หยอดเมล็ดแล้วเกลี่ยดินกลบ ให้น้ำแต่พอชุ่ม และเมื่อเพาะได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ อายุ 40-45 วัน ก็ย้ายลงแปลงปลูก

เตรียมดินปลูก ต้นหอมหัวใหญ่จะชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ได้ไถพลิกดินตากแดด 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 2 ตัน ต่อไร่ และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ยกแปลงกว้าง 1-1.20 เมตร ปลูกระยะห่างระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 15-20 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น เกลี่ยดินกลบ ให้น้ำพอชุ่ม

การใส่ปุ๋ย หอมหัวใหญ่เป็นพืชผักที่มีระบบรากตื้นและมีรากจำนวนมาก ได้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ ร่วมกับใส่ปุ๋ยยูเรีย ในอัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต

การให้น้ำ เพื่อให้ต้นหอมหัวใหญ่เจริญเติบโตสมบูรณ์ ได้จัดการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ระยะแรกให้น้ำวันเว้นวัน และหลังจากต้นหอมหัวใหญ่เจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้ว ได้ให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้ง ทั้งนี้ต้องดูความชื้นในดินด้วย

การเก็บเกี่ยว เมื่อปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาทุกขั้นตอนดี จะได้ผลผลิตหอมหัวใหญ่ เฉลี่ย 8 ตัน ต่อไร่ หรือ 8,000 กิโลกรัม พื้นที่ 20 ไร่ ได้ผลผลิตหอมหัวใหญ่ เฉลี่ย 160 ตัน หรือ 160,000 กิโลกรัม จัดขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อที่แปลง เฉลี่ย 7 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 1,120,000 บาท ราคาซื้อขายขึ้นลงเป็นไปตามกลไกตลาด

ต้นทุน การปลูกหอมหัวใหญ่ 20 ไร่ มีรายจ่ายที่ต้องซื้อปัจจัยการผลิตและจ้างแรงงงาน ได้แก่ จัดซื้อเมล็ดพันธุ์หัวหอมใหญ่ ซื้อปุ๋ยคอกแห้ง ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมี จ้างวางท่อน้ำเพื่อติดตั้งการให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ จ้างไถผาน 7 หรือไถแปรละเอียด จ้างไถยกร่อง จ้างปักดำ หรือปลูก 20-30 คน จ่ายเงินค่าไฟฟ้าเพื่อนำน้ำมาให้น้ำหอมหัวใหญ่ จ้างฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช และฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช จ้างเก็บเกี่ยวหอมหัวใหญ่ 30-35 คน จ้างซ่อมบำรุงเครื่องมือเกษตรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมเป็นเงินประมาณ 400,000 บาท

จากเรื่อง เกษตรกรรวมกลุ่ม…ปลูกหอมหัวใหญ่แปลงใหญ่ ได้ผลผลิตคุณภาพ ความสำเร็จนี้ได้จากเกษตรกรมีการรวมกลุ่ม มีการบริหารจัดการร่วมกัน มีการรวมกันผลิตและจำหน่ายที่มีตลาดรองรับแน่นอน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ได้รับผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ได้ผลผลิตคุณภาพตามมาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำให้เกษตรกรสามารถยกระดับรายได้เพื่อก้าวสู่การยังชีพที่มั่นคง

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณสมหวัง บุญยัง เลขที่ 95 หมู่ที่ 2 บ้านแสมสาร ตำบลท่าดินดำ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โทร. 086-133-4489 หรือที่ คุณภูวิชญ์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. 087-959-5433 ก็ได้ครับ

ต้นยางนา พบได้ทั่วไปในประเทศไทย แทงบอล ซึ่งยืนยันได้จากชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ที่มีคำว่า “ยาง” มีอยู่ในทุกภาคของประเทศ เช่น อำเภอท่ายาง ท่าสองยาง ยางตลาด และยางชุมน้อย เป็นต้น และยางนา ไม้มีค่าคู่เมืองไทยมาช้านาน

ความสำคัญแต่โบราณ ยาง หรือยางนา คือต้นยางที่ให้น้ำมันยางแก่คนไทยในรุ่นโบราณอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมทั้งยังเป็นต้นไม้ที่คนไทยรุ่นเก่า ท่านได้นำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยเป็นลำดับรองลงมาจากไม้สัก เป็นต้นไม้ที่ขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตป่าดิบใกล้ๆ ลำห้วย ลำธาร

ปัจจุบัน ปริมาณไม้ยางนาในประเทศลดลงมาก เนื่องจากการบุกรุกทำลายป่า เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ใกล้ๆ แหล่งน้ำที่มีไม้ยางนาขึ้นอยู่ จะเป็นที่ต้องการเพื่อการเพาะปลูกมาก การเจาะโคนไม้ยางเพื่อเอาน้ำมันยาง โดยใช้ไฟสุมและเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำลายแหล่งพันธุกรรมไม้ยางนา จึงควรที่มีการอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกกันต่อไป

ลำต้น ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 40-50 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนา เรียบ สีเทาหรือเทาปนขาว โคนต้นมักเป็นพูสูงขึ้นมาเล็กน้อย ขนาดเส้นรอบวงเพียงอกของต้นที่มีอายุมาก ระหว่าง 4-7 เมตร หรือมากกว่า ยอดและกิ่งอ่อนมีขนทั่วไป และมีรอยแผลใบปรากฏชัดตามกิ่ง รูปทรงเรือนยอดเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ

ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบมน เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นเส้นกลางใบ ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม ใบอ่อนมีขนสีเทาประปราย ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อ มี 3-8 ดอก สีขาวอมชมพู กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย และมีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบบิดเบี้ยวแบบกังหัน ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ผล แบบผลแห้ง ตัวผลกลมหรือรูปไข่ มีครีบยาว 5 ครีบ ด้านบนมีปีก 2 ปีก ปลายมน มีเส้นตามยาว 3 เส้น ปีกอีก 3 ปีก มีลักษณะสั้นมากคล้ายหูหนู ผลแก่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

นิเวศวิทยา พบขึ้นในที่ลุ่มต่ำริมห้วย ลำธาร และตามหุบเขาทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในระดับความสูงของน้ำทะเล เฉลี่ยคือ 350 เมตร ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ และมาเลเซีย