เปิดตัวมะพร้าวลูกผสมสามทาง 2 พันธุ์ใหม่ ยกระดับรายได้

ชาวสวนนางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป การซื้อขายตลาดมุ่งเน้นที่ขนาดของผลเป็นหลัก ในขณะที่โรงงานแปรรูปมุ่งเป้าไปที่เนื้อมะพร้าวสด และเปอร์เซ็นต์น้ำมัน การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งท้าทายสำหรับนักวิจัย

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวใหม่ๆ โดยการวิจัยพัฒนามะพร้าวด้วยวิธีการผสมสามทาง เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ยังมีจุดอ่อนของมะพร้าวลูกผสมเดี่ยว จนได้มะพร้าวลูกผสมสามทาง จำนวน 2 พันธุ์ ที่ให้มีลักษณะดีเด่นตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงพันธุ์คือ ให้ผลผลิตสูง ผลขนาดกลางถึงใหญ่ เปอร์เซ็นต์น้ำมันไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ใช้ชื่อว่า มะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 1 และมะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 2 ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ โดยมะพร้าวทั้ง 2 พันธุ์ ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562

มะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 1 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,252 ผล ต่อไร่ ต่อปี ผลมีขนาดกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผล 1,882 กรัม ต่อผล น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง เฉลี่ย 767 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนมะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 2 ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผล 1,509 กรัม ต่อผล ผลผลิตเฉลี่ย 2,372 ผล ต่อไร่ ต่อปี น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง เฉลี่ย 584 กิโลกรัม ต่อไร่

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันได้แนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมด้วยวิธีการผสมสามทางไปสู่บริษัทเอกชนที่มีแปลงแม่พันธุ์ดังกล่าวแล้ว ในอนาคตคาดว่าจะสามารถกระจายพันธุ์ไปสู่เกษตรกรที่มีความต้องการพันธุ์มะพร้าวได้เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร นอกเหนือจากพันธุ์ที่มีปลูกอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถขยายพื้นที่ไปยังแหล่งปลูกใหม่ที่มีศักยภาพผลผลิตมะพร้าวเพียงพอต่อความต้องการ ช่วยรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าว ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมมะพร้าว รวมทั้งยังสามารถลดการนำเข้ามะพร้าวผลและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากต่างประเทศ

ไก่เชิงเมืองตราด สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่
เตรียมเก็บน้ำเชื้อพัฒนาสายพันธุ์เชิงพาณิชย์และอนุรักษ์
“งานวันระกำหวาน ผลไม้ และของดีเมืองตราด ประจำปี 2562” การจัดกิจกรรมประลอง ไทยไฟท์ไก่ชน บ๊อกซิ่ง (Boxing) เป็นกิจกรรมเสริมของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตราดร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด และภาคเครือข่ายเกษตรกรร่วมกันจัดขึ้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไก่ชนพื้นเมืองของจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดตราด โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมชมและเชียร์กันอย่างคึกคัก

ไก่ชนเมืองตราด ผลักดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่
คุณวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์จังหวัดตราด เล่าว่า ไก่ชนพื้นเมืองจังหวัดตราดเป็นไก่ชนที่มีชื่อเสียงและสร้างชื่อให้ผู้เลี้ยงมายาวนาน รู้จักกันดีในชื่อ “ไก่เชิงท่าพริก” สายพันธุ์ตราดจะมีลีลาชั้นเชิงดี ตีเจ็บ เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มเซียนไก่ ปัจจุบันไก่ชนจังหวัดตราดเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่สร้างรายได้ให้จำนวนมากจึงจัดกิจกรรมประลองไทยไฟท์ไก่ชน Boxing เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองตราดให้เป็นที่นิยมและรู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และเป็นการกระจายรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น

“การจัดกิจกรรมประลองไทยไฟท์ไก่ชน Boxing จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดตราด เป็นเวทีสนามประลองไก่ชนพื้นเมืองเล็กๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าและอนุรักษ์ไก่ชนสายพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตราด ให้ผู้เลี้ยงไก่ชนที่เลี้ยงอยู่ทั่วไปได้ขายไก่ชนได้ราคาดีขึ้น ในวันงานได้มีการจัดแข่งขันประกบคู่ไก่ชนระหว่างอำเภอทุกอำเภอโดยใช้กติกาสากล มีการสวมเดือยนวมมาตรฐาน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ เพื่อเป็นการสร้างสีสันและเป็นการจัดครั้งแรกของจังหวัดตราด วันแรกได้จัดคู่พิเศษ ระหว่างไก่ชนของ คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับไก่ชนของ คุณวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด บรรยากาศการเชียร์เป็นไปด้วยความสนุกสนาน เป็นการจุดประกายให้เกษตรกรให้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงไก่ชนเพื่ออนุรักษ์และในเชิงพาณิชย์” คุณวีระสันติ กล่าว

ส่งตลาดต่างประเทศ
เดือนละ 50-70 ล้านบาท จีนลูกค้ารายใหญ่
คุณพูลไชย ลักษมีกุล เกษตรกรเลี้ยงไก่ชน บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 7 ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ประธานชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี วัย 55 ปี เล่าว่า ไก่ชนพื้นเมืองจังหวัดตราดมีไอคิวสูง และไหวพริบดี ชั้นเชิงสูง สมญา “ไก่ดี ตีเจ็บ” มีชื่อเสียงระดับประเทศ และระดับโลกมากว่า 20 ปี ทุกวันนี้ได้พัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจทำรายได้ให้จังหวัดตราดปีละ 50-70 ล้านบาท ไก่ชนเป็นที่นิยมตลาดในประเทศแล้ว ตลาดต่างประเทศให้ความนิยมมาก โดยเฉพาะจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ญี่ปุ่นนิยมบริโภคเนื้อไก่ชนมากเนื่องจากเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ปลอดโรค ราคาขายกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

“คุณวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราดสนับสนุนให้มีการตั้งเป็นชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี โดยมีสมาชิกทุกอำเภอ จำนวนกว่า 10,000 คน จัดให้มีสนามประลอง 1 ตำบล 1 สนาม แต่ละเดือนจัดเวทีประลองหมุนเวียนไปแต่ละอำเภอ เวทีหนึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เดือนละ 20,000-30,000 บาท หากเป็นไก่เชิงดี ตีเจ็บ คัดส่งตลาดจีนได้ราคาตัวละ 15,000-30,000 บาท การสนับสนุนให้มีเวทีประลองเชิงไก่นี้จะให้เกษตรกรตื่นตัวและหันมาอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองพันธุ์ตราดแท้ๆ ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ หากสำนักงานปศุสัตว์พัฒนาสายพันธุ์โดยการคัดพ่อพันธุ์เก่งๆ จากหลายๆ แห่งรีดน้ำเชื้อแช่แข็งไว้ผสมพันธุ์ เพราะไก่เก่งบางตัวค่าตัว 5-6 แสนบาท เมื่ออายุ 6-7 ปีก็ตาย จะช่วยพัฒนาสายพันธุ์ได้เร็วและขยายตัวมากขึ้น เพราะเกษตรกรทั่วไปเลี้ยงได้ ปล่อยหากินในบ้าน ตัวผู้คัดขายเป็นไก่เก่ง เป็นพ่อพันธุ์ เพศเมียขายกินเนื้อทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” คุณพูลไชย กล่าว

สร้างเม็ดเงิน
คุณพรชัย แนวพนา เกษตรกรวัย 43 ปี บ้านเลขที่ 90/6 หมู่ที่ 3 อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ประธานชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี อำเภอเมืองตราด เล่าว่า มีอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้และเลี้ยงไก่ชนพื้นเมือง ประมาณ 300 ตัว โดยนิสัยชอบเลี้ยงไก่มาก เลี้ยงตั้งแต่อายุ 12 ปี รวม 20 ปีเต็ม ไก่ชนที่คัดจะส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ต่อมาเมื่อ 3 ปีเริ่มทำตลาดออนไลน์ ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก เพชรพรชัยตราด เมื่อขายทางออนไลน์มีรายได้เพิ่มขึ้น 80-100% เช่น จากที่เคยขายให้พ่อค้าคนกลางตัวละ 1,000-1,500 บาท จะขายได้ราคาเพิ่มตัวละ 2,000-2,500 บาท ตอนนี้มีเวทีประลองเชิงจะทำให้การตลาดดีขึ้น เพราะปกติจะมีคลิปประลองเชิงสั้นๆ 2-3 คลิป โพสต์ไว้ให้ลูกค้าดูอยู่แล้ว เมื่อลูกค้าสนใจจะแชทมา สั่งซื้อและนัดหมายส่งไก่ให้ลูกค้าจะมีรถบริการขนส่งไก่โดยเฉพาะไปส่งถึงบ้าน ส่วนใหญ่ไก่เชิงดีๆ อายุ 3-4 ปีจะเก็บไว้ทำพ่อพันธุ์จะไม่ขาย งานไทยไฟท์ไก่ชน บ๊อกซิ่ง นำไก่อายุ 3 ปีมาตีชนะ แต่จะไม่ขายเลี้ยงไว้ทำพ่อพันธุ์

ทางด้าน คุณลุงสมพงษ์ เหล็กเพชร วัย 68 ปี กับหลานชาย คุณภานุพงษ์ ทองดี อายุ 23 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด สมาชิกชมรมกลุ่มเกษตรกรคลองใหญ่ เลี้ยงไก่ชนเป็นอาชีพเสริม มีการพัฒนาสายพันธุ์เอง โดยเก็บไก่เก่ง เชิงดีไว้เป็นพ่อพันธุ์และมีการพัฒนาผสมไขว้สายพันธุ์ได้ประดู่หางขาว เลี้ยงไว้เป็นไก่สวยงาม ปี 2561 ส่งประกวดได้รับรางวัลที่ 1

ส่วนไก่ชน “ประดู่หางดำ” อายุ 4 ปี ชื่อ “เม็ดติ๊ด” ชนเดิมพัน 30,000 บาทชนะ มีคนให้ราคาแต่ไม่ขายเลี้ยงมาเป็นพ่อพันธุ์ถึงทุกวันนี้ เพราะต้องการเลี้ยงไว้ผสมข้ามสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ไก่ชนจะเลี้ยงทั้งเพศผู้ เพศเมีย เพศเมียขายเป็นไก่เนื้อราคากิโลกรัมละ 100 บาท เพศผู้ที่ลักษณะไม่ดีขายกิโลกรัมละ 80 บาท ถ้าลักษณะดีจะขายเป็นไก่ชนจะได้ราคาตัวละ 3,000 บาท ปกติเกษตรกรรายย่อยๆ เลี้ยงไก่ชนขายตลาดต่างจังหวัด ระยอง ชลบุรี ไม่ค่อยได้ราคาสู้บ่อนใหญ่ๆ ไม่ได้ และไม่มีโอกาสส่งตลาดต่างประเทศ แต่ถ้ามีสนามประลองจะช่วยให้ราคาสูงขึ้น 3,000-5,000 บาท ถ้าสวยๆ ถึง 10,000 บาท ทำให้ชาวบ้านที่ทำสวน ชาวประมง และเลี้ยงไก่ด้วยมีรายได้ดีขึ้น ไก่ชนจะเลี้ยงกันง่ายๆ แบบธรรมชาติในบ้าน ในสวนจะแข็งแรง เมื่อประลองใช้ยาพื้นบ้าน สมุนไพรบำรุงไม่สิ้นเปลืองแต่อย่างใด

เก็บน้ำเชื้อพัฒนาเชิงอนุรักษ์และพาณิชย์
คุณวีระสันติ กล่าวว่า ไก่จังหวัดตราดมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการไก่ชนเก่งที่สุดในประเทศ แต่ชาวบ้านที่เลี้ยงไก่ชนกลับขายไม่ได้ราคา จึงคิด “การตลาดนำการผลิต” ส่งเสริมการชนไก่บูมไก่ตราด โดยการตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนทุกอำเภอ และจัดตั้งชมรมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองตราด เอฟ ซี ซึ่งแนวทางการพัฒนาใช้ทฤษฎีของรัชกาลที่ 9 บันได 3 ขั้นสร้างความเข้มแข็ง คือ ขั้นที่ 1 ให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเอง ขั้นที่ 2 เกษตรกรช่วยเหลือกันเอง และขั้นที่ 3 เกษตรกรรวมพลังเป็นกลุ่มให้เข้มแข็ง จากนั้นสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการจัดสนามประลองเพื่อคัดไก่เก่ง อำเภอละ 1 แห่ง สำนักงานปศุสัตว์ออกใบรับรองให้ และจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ไปทั้งภายในและต่างประเทศ ต่อไปมีตลาดกลางเกษตรกรสามารถทำตลาดเองได้ราคาดีเพราะมีใบรับรอง ผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรงและตลาดออนไลน์โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

“คำถามต่อไปคือทำอย่างไรให้ไก่ชนพื้นเมืองตราด รักษาพันธุกรรมได้ เพราะอายุไก่พ่อพันธุ์เพียง 3-4 ปี หรืออาจจะมีโรคระบาด จึงคิดเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งในอุณหภูมิ -197 องศาเซลเซียสเพื่อผสมพันธุ์ จะสามารถใช้ต่อๆ ไปได้เป็น 50 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในวงการไก่ชนพื้นเมืองของประเทศไทย และมีการทำประวัติและรับรองไก่ชนสายพันธุ์ตราดเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ เปรียบเสมือนได้สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากนั้นอาจจะไปถึงการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของค่ายไก่ชนหรือผู้เลี้ยงไก่ชนของจังหวัดตราด การทำงานเป็นช็อตๆ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรก้าวเดินไปพร้อมกันจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มทุกอำเภอ มีการวิเคราะห์ประเด็นเดือนต่อเดือน คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือนจะประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว” ปศุสัตว์จังหวัดตราดกล่าวทิ้งท้าย

งานนี้เป็นงานท้าทายเป็นงานเสริมที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตราดคิดพัฒนา ถ้าทำเร็วจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรได้เร็ว ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น วันนั้นไก่ชนพื้นเมืองจังหวัดตราดจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างแท้จริง

น.ส.แฉล้ม ยอดสุวรรณ อายุ 52 ปี เกษตรกรบ้านคลองอ้ายกาบ ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่พลิกจากการทำนาข้าว ที่ปลูกกว่า 6 ไร่ หลังประสบปัญหาทำนาได้ปีละ1 ครั้ง ซ้ำร้ายราคาตกต่ำ ทำให้ไม่มีรายได้เหลือและเป็นหนี้จำนวนมาก จึงหันมาเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยปลูกทุกอย่างไว้กิน ที่เหลือจากกินจึงเก็บขาย รวมถึงหลังจากได้ไปดูงานการปลูกมะกรูดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบกับในพื้นที่มีการปลูกมะกรูดน้อย จึงได้ซื้อกิ่งพันธุ์ จำนวนกว่า 600 ต้น พร้อมวางระบบน้ำปลูกในพื้นที่ เกือบ 1 ไร่

ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้ดี ครั้งแรกได้เงินกว่า 7,000 บาท จากการขายให้กับพ่อค้าที่มารับถึงสวน หลังจากนั้นได้หาช่องทางการตลาด โดยส่งโรงงานอบแห้งมะกรูดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งบางช่วงได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยปัจจุบันสามารถส่งใบมะกรูดให้โรงงานได้เฉลี่ยปีละ 4-5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม มีรายได้หลักแสนบาท เลยทีเดียว

น.ส.แฉล้ม กล่าวว่า มะกรูดนับเป็นพืชที่ปลูกยากในช่วง 2 เดือนแรก หลังจากได้กิ่งพันธุ์มาปลูก ห้ามใส่ปุ๋ย ใช้วิธีรดน้ำสม่ำเสมอ เดือนที่ 3 เริ่มใส่ปุ๋ย ห้ามใช้ยาร้อน น้ำส้มควันไม้ พริกแกงเผ็ดรดเด็ดขาด จะทำให้ใบมะกรูด ยอดหด ใบหงิกงอ ให้ใช้ปุ๋ยเย็นฉีด ปุ๋ยยูเรีย ควบคู่กับการฉีดน้ำปูนใส ที่ได้จากปูนขาว โดยหน้าฝนฉีดวันเว้นวัน ป้องกันโรคแคงเกอร์ จากนั้นดูแลรดน้ำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ดูแลเรื่องโรคระบาด ตัดแต่งกิ่งใบที่หงิกงอทิ้ง ดูแลให้แตกยอดใบเท่านั้น เมื่อใบเริ่มแก่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 4-5 ครั้ง ขณะที่รายได้ถ้าตัดขายเป็นกิ่ง ขายได้ กิโลกรัมละ 30 บาท แต่หากเด็ดขายเป็นใบ ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท ในขณะที่ผลผลิตใบมะกรูดช่วงนี้เก็บได้ครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม นับว่ามะกรูด เป็นอีกอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ดีตลอดทั้งปี สามารถทำเงินจากการปลูกเพียง 1 ไร่ ได้เงินเป็นหลักแสนบาท

กรมประมง ขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การผลิตสินค้าประมงมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาในการจัดการผลผลิตและช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังดำเนินการผลิตสินค้าแบบต่างคนต่างผลิต ทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด และขาดอำนาจการต่อรอง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดดังกล่าว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาของกระทรวง (Road map) โดยมีโครงการที่สำคัญ คือ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ด้านสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่อง การลดต้นทุนการผลิตด้วยการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพและเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มกันในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพได้

ในปัจจุบัน มีเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มแปลงใหญ่ด้านการประมง ทั้งด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง รวมจำนวน 111 แปลง มีเกษตรกร ภายใต้โครงการ จำนวน 6,171 ราย พื้นที่ประมาณ 59,000 ไร่ ซึ่งมีชนิดสัตว์น้ำที่หลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สกเทศ ปลากะพงขาว ปลาดุก กบ ปลาหมอ ปลาแรด ปลาสลิด ปลาสวาย ปลาช่อน ปูทะเล กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล เป็นต้น โดยจำแนกเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2559 จำนวน 11 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2560 จำนวน 16 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2561 จำนวน 50 แปลง และกลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2562 จำนวน 34 แปลง ซึ่งกรมประมงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแปลงใหญ่ด้านประมง ปี 2560-2564 ระยะเวลา 5 ปี มีเป้าหมายพัฒนาแปลงให้ได้จำนวน 300 แปลง

สำหรับการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายใต้การดำเนินโครงการของสำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มต้นโครงการในส่วนของปลานิลกระชัง ในปี 2559 ต่อมาปี 2560 ได้ดำเนินกาต่อในส่วนของกุ้งก้ามกราม โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การรวมกลุ่มเกษตรกรให้อยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาเป็นสหกรณ์ ฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรวมกลุ่ม การแปรรูป การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม GAP และการตลาด

ซึ่งจากผลการดำเนินตั้งแต่ ปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 4 แปลง ประกอบด้วย ปี 2559 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 67 ไร่ เกษตรกร 230 ราย ปี 2560 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ตำบลลำคลอง พื้นที่ 318 ไร่ เกษตรกร 30 ราย ปี 2561 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบานพื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 50 ราย และ ปี 2561 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 155 ราย

ในส่วนของกุ้งก้ามกรามจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมา ตั้งแต่ปี 2520 และถือว่าเป็นแหล่งผลิตกุ้งก้ามกรามแห่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีต้นทุนแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้กำหนดให้สำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์เสนอพื้นที่เพิ่มเติมในการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเข้าสู่ระบบแบบแปลงใหญ่ โดยได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลลำคลอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์

เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2560 เกษตรกร จำนวน 30 ราย และ ในปี 2561 ได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 รายปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในระบบแปลงใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม รวม 80 ราย เนื้อที่รวม 688ไร่ ผลการดำเนินการ ในปี 2561 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 187.55 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 203.88 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้น 8.71% ในขณะที่ ต้นทุนการเลี้ยงต่อกิโลกรัมลดลงจาก 137.61 บาท เหลือเพียง 126.20 บาท ลดลง 8.29%

สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งและการขายกุ้ง รวมทั้งมีการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์กุ้ง อาหารกุ้ง จำหน่ายแก่สมาชิก รวมทั้งได้มีการเชื่อมโยงกับตลาดโดยตรง และจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์แปลงใหญ่ พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อจะต้องติดต่อซื้อขายผ่านกลุ่มเท่านั้น โดยกลุ่มจะทำตารางการเลี้ยงกุ้งของสมาชิกแต่ละราย เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกในช่วงเดียวกันมากเกินไป และจะมีการจัดเรียงลำดับการจับกุ้งหมุนเวียนกันไปในแต่ละฟาร์ม การบริหารจัดการด้วยวิธีนี้ พบว่า เกษตรกรได้รับราคาหน้าฟาร์มสูงขึ้น ขายกุ้งคละไซซ์ได้ราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งจุดเด่นของกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์คือ เนื้อแน่น รสหวาน ได้มาตรฐาน GAP หากใครอยากกินกุ้งก้ามกรามที่เนื้อแน่น รสหวาน ต้องมากินที่กาฬสินธุ์ เพราะจะมีทั้งปี ในราคาที่จับต้องได้

ส่วนการส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแห่งความสำเร็จจากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2560 ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอยางตลาด อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอเมือง อำเภอห้วยเม็ก และอำเภอหนองกุงศรี โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว 522 ราย จำนวน 13,587 กระชัง ปริมาณการผลิต ปีละ 17,504 ตัน มูลค่าประมาณ 1,050 ล้านบาท ต่อปี

โดยการเลี้ยงปลานิลในกระชัง ในเขื่อนลำปาว ได้มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาในกระชังอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และกรมประมงยังได้ให้คำแนะนำและตรวจรับรองผลผลิตปลานิลให้เป็นไปตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP) อีกด้วย และในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลแปลงใหญ่ในกระชังเขื่อนลำปาว ยังได้ต่อยอดสร้างความเข้มแข็งด้วยกันร่วมบริหารจัดการในรูปของสหกรณ์ เพื่อบริหารจัดการภายในกลุ่มแปลงใหญ่ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง ซึ่งใน 1 ปี เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาได้ 2 ครั้ง มีตลาดรองรับที่ชัดเจน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีกว่า 200,000 บาท ถือเป็นความสำเร็จของการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ที่ในอนาคตมีโอกาสพัฒนาไปสู่การผลิตปลานิลที่มีคุณภาพป้อนของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดโครงการให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่องไผ่ เศรษฐกิจของไผ่ที่จังหวัดภาคใต้หลายจังหวัดและมีผู้นำกลุ่มเกษตรกรได้เดินทางไปดูงานที่ภาคเหนือ โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้วเกษตรกรจากภาคใต้ได้นำกล้าไผ่ซางหม่นไปลองปลูกที่จังหวัดยะลา ปรากฏว่าปีต่อปีไผ่เจริญเติบโตและแตกกอเร็วมากกว่าที่ภาคเหนือ อาจด้วยสภาพดินและน้ำน่าจะดีกว่า เกษตรกรที่ภาคใต้จึงสนใจว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจไผ่ได้อย่างไร จึงเสนอเรื่องโมเดลการทำหัตถกรรมการทำประโยชน์จากไผ่อย่างง่าย เช่น เรื่องการแปรรูปไผ่เป็นตะเกียบ ไม้บาร์บีคิว ไม้จิ้มฟัน หรืออื่นๆ ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจกันมาก

ต่อมาทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอบต.) แจ้งว่า มีบริษัทด้านพลังงานมาจากประเทศเกาหลีทราบว่าที่จังหวัดยะลาเกษตรกรให้ความสนใจปลูกไผ่จึงได้เดินทางไปเจรจานำมาสู่ภารกิจ ศอบต.ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา ส่งเสริมปลูกไผ่เพื่อนำไปทำเป็นพลังงานชีวมวลส่งออกไปประเทศเกาหลี นำมาซึ่งการบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสานผ่าน “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” พืชแห่งอนาคต

โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทดีเค เอเนอร์จี จำกัด, บริษัท วูแอม คอร์เปอเรชั่น, บริษัท จีบี เอเนอร์จี จำกัด, บริษัท วู้ดพลัส จำกัด รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์