เป็นประเทศที่มีรายได้สูงด้วยการส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัย

นวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยในระยะเร่งด่วนจะร่วมผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดทำขึ้นต่อท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้ทำหน้าที่

1. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ หรือเป็น “เสนาธิการ” ทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ บูรณาการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมมีนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน การดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

2. เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่หน่วยกำกับ ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “วิจัยกินได้” ของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ “จะเป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่ประชาชนต้องการและอยากได้ ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ของประชาชน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนและสังคมทั่วประเทศไทยต่อไป” โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินการเรื่อง “การขยายผล ธนาคารปูม้า” ไปแล้ว และยังมีอีกหลายโครงการที่เร่งรัดขับเคลื่อนต่อไป เช่น การกำจัดผักตบชวา การแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

3. ทำหน้าที่ประสาน กำกับ และติดตามการบริหารจัดการงบประมาณรูปแบบใหม่กับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดให้มีงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศแบบมุ่งเป้า ท้าทายไทย เกิดประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และมอบหมายให้ วช. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเปิดรับ “โจทย์ปัญหาใกล้ตัวของประชาชนไทย” เพื่อกำหนดเป็นโจทย์โครงการ “ท้าทายไทย” คัดเลือกโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด และพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยวิชาการ ให้เป็น Excellent Center ของประเทศต่อไป

4. การจัดทำฐานข้อมูลสำหรับระบบวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคลากร งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2561 วช. วางแนวทางในขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล 3 แนวทาง คือ 1) การบูรณาการเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 2) การใช้องค์ความรู้จากการวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 3) การบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งของการทำงาน โดยในโครงการ “ปั้นดาว” ภายใต้แนวคิด “วิจัยกินได้” วช. และเครือข่ายวิชาการ

ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีความเข้มแข็งในเชิงการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน การสนับสนุนการขยายสเกลการผลิตสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกแผนงานจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณแบบมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนตามประเด็นยุทธศาสตร์และตามรายพื้นที่ และมั่นใจได้ว่าผลสำเร็จที่จะต้องเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี และประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ลงนามเห็นชอบร่างกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 โดยสาระคือจะเพิ่มเติมเกณฑ์การพิจารณารายการสินค้าที่จะขอผ่อนผันให้สหรัฐฯ คงสิทธิกรณีเข้าข่ายมีการนำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดานที่กำหนด (CNL Waiver) แต่ไม่มีการผลิตในสหรัฐฯ ติดต่อกัน 3 ปี นับจากปีที่พิจารณาก็จะได้รับการผ่อนผันให้สามารถใช้สิทธิได้ต่อไป นอกจากนี้ยังได้เลื่อนกำหนดเวลาตัดสิทธิสินค้าที่ถูกระงับสิทธินำเกินเพดาน ในการพิจารณาทบทวนโครงการประจำปี จากเดิมวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีถัดไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการวางแผนการส่งออก-นำเข้าได้มากขึ้น โดยนำเพดานการนำเข้าเบื้องต้น คือ 1. กำหนดมูลค่านำเข้าในปี 2561 ไว้ที่ 185 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2. มีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าในสหรัฐฯ ตั้งแต่ 50%

นายอดุลย์กล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษจีเอสพีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กว่า 3,400 รายการ โดยสินค้าที่ได้รับสิทธิจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ (เหลือร้อยละ 0) โดยสินค้าไทยที่ขอใช้สิทธิเพียง 1,385 รายการ โดยในปี 2560 สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีการขอใช้สิทธิพิเศษคิดเป็นสัดส่วน 70% ของมูลค่าการส่งออก ซึ่งหลังจากสหรัฐฯ ต่ออายุจีเอสพีแล้ว ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอคืนภาษีอากรขาเข้าย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2561 เป็นต้นไป จากเดิมที่หมดอายุตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 จึงขอให้ผู้ส่งออกไทยประสานแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ลูกค้าปลายทางที่สหรัฐฯ ทราบและขอให้สิทธิต่อไปด้วย

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้สานต่องานส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดได้ลงนามร่วมระหว่างหอการค้าสระแก้วกับหอการค้าบันเตียเมียนเจย และพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ไทย-กัมพูชา ระหว่างสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย สมาคมผู้รับจัดการขนส่งระหว่างประเทศ และสมาคมผู้ให้บริการขนส่งสินค้ากัมพูชา ถือเป็นผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านไทยกับกัมพูชา โดยมีจังหวัดสระแก้วของไทย และจังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา เป็นจังหวัดนำร่อง ก่อนขยายไปเมืองอื่นๆ ต่อไป รวมถึงมีการประชุมเพื่อขยายความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และผลักดันการท่องเที่ยวระหว่างกัน

นายวันชัยกล่าวว่า สำหรับในปี 2560 การค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 125,364.14 ล้านบาท ขยายตัว 3.52% แยกเป็นไทยส่งออกไปกัมพูชา 101,821.92 ล้านบาท ขยายตัว 0.39% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนไทยนำเข้าจากกัมพูชามีมูลค่า 23,542.22 ล้านบาท ขยายตัว 19.65% สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ลวดและสายเคเบิล อะลูมิเนียม และทองแดงและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยฝ่ายไทยยังเกินดุลการค้า 78,279.70 ล้านบาท โดยมีด่านพรมแดนคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นประตูการค้าสำคัญ ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าสูงถึง 67,674.32 ล้านบาท สัดส่วน 54% ของมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

วันที่ 30 มีนาคม นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นายอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก พร้อม นายปรีดา ฟุ่งตระกูลชัย หัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวศูนย์บ้านแม่หละ นำกำลังสมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ 4 อำเภอท่าสองยาง สนธิกำลังเจ้าหน้าที่สายตรวจป่าไม้ ทหารพราน ตำรวจ สภ.ท่าสองยาง จำนวนกว่า 50 นาย พร้อมอาวุธครบมือ ร่วมกันเดินเท้าลาดตระเวนไกลกว่า 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ภูเขาเขตป่าชุมชนบ้านปูแกง ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก หลังรับแจ้งข่าวจากชาวบ้านว่า พบกลุ่มชายฉกรรจ์ลักลอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ดังกล่าว

จนเวลาผ่านไปนานหลายชั่วโมงกำลังของเจ้าหน้าที่ที่เดินเท้าด้วยความยากลำบาก เดินทางไปถึงเนินเขาที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งห่างจากหมู่บ้านกว่า 5 กิโลเมตร และพบร่องรอยการลำเลียงชักลากไม้แปรรูปเป็นรอยยาวลงเนินเขา เจ้าหน้าที่จึงต้องรีบวางกำลังป้องกันไปรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันเหตุที่ไม่คาดคิด ก่อนจัดกำลังเดินหน้าเข้าเคลียร์พื้นที่ด้วยความระมัดระวัง จนเวลาผ่านนานกว่า 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงเข้าควบคุมพื้นที่โดยรอบไว้ได้อย่างปลอดภัย และก็ถึงกับตะลึง เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบตอไม้หวงห้ามอายุกว่า 100 ปี ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร และบางต้นกว้างเกือบ 2 เมตร ถูกกลุ่มขบวนการมอดไม้ตัดโค่นจนเหลือแต่ตอเป็น

นอกจากนี้ ยังพบท่อนซุงกว่า 20 ท่อน ถูกตัดไปทั่วพื้นที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่เดินเท้าไปตามเส้นทางขนาดเล็กที่จักรยานยนต์สามารถเข้าถึง ก็พบกับแท่นเลื่อยไม้เคลื่อนที่ขนาดใหญ่ พร้อมไม้กระยาเลยที่ถูกแปรรูปแล้ว จำนวน 162 แผ่น แต่ไม่พบผู้กระทำผิด ซึ่งคาดว่าจะไหวตัวหลบหนีไปก่อนที่กำลังของเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่จึงทำการบันทึก และตรวจยึดไม้ของกลางทั้งหมด พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ลำเลียงออกจากป่าเกิดเหตุไปทำการเก็บรักษาที่หน่วยพิทักษ์ป่าในเขตอำเภอท่าสองยาง

ด้านเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมกล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูแล้ง ส่งผลทำให้กลุ่มขบวนการมอดไม้ลักลอบเข้ามาตัดไม้หวงห้ามได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยกลุ่มขบวนการที่คาดว่ามีการว่าจ้างคนในและนอกพื้นที่ ทำการตัดไม้ในเขตป่าที่เป็นทรัพยากรของคนทั้งชาติ โดยใช้วิธีการขับจักรยานยนต์ชักลากไม้ลงจากเนินเขา นำไม้ลำเลียงมาขึ้นรถยนต์ในจุดนัดหมายในหมู่บ้าน ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์นี้ นายอำเภอท่าสองยาง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอำเภอท่าสองยาง ระดมกำลังออกตรวจ และเร่งขยายผลหาตัวกลุ่มมอดไม้ที่เหิมเกริมตัดไม้หวงห้ามในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนแล้ว

เลย – นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ เสาวนาร่วมหาทางออกลดมลภาวะจากการเผาอ้อยเพื่อคนไทเลย เนื่องจากจังหวัดเลยมีโรงงานน้ำตาล 2 โรง อยู่ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง และมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยจำนวนมาก ซึ่งในช่วงที่โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยทุกปีนั้น เกษตรกรต้องเร่งรีบตัดอ้อยเพื่อจำหน่ายแก่โรงงานมีระยะเวลาจำกัด คือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ทำให้มีการเผาอ้อยก่อนตัดมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ การตัดอ้อยสดเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่าตัดอ้อยเผานั้นง่ายและเร็วกว่าและเป็นการลดต้นทุนได้มากกว่า ส่วนการตัดอ้อยสดตัดช้าหาแรงงานยาก

การเผาอ้อยก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากควันไฟและเขม่าตามมาอย่างมากมาย นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากอัคคีภัยและโครงสร้างการสูญเสียของหน้าดินในระยะยาว เกิดปัญหาด้านผลผลิตและคุณภาพของอ้อยที่ถูกไฟเผาซึ่งมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลลดต่ำลงด้วย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและร่วมกันหาทางออกลดมลภาวะจากการเผาอ้อย

เดินทางเที่ยวชุมแสง จ.นครสวรรค์ เมืองสุดคลาสสิคที่จะพาทุกคนไปสัมผัสกับความหลัง พร้อมพาไปชมการแสดงสุดพิเศษ ที่เรียกว่า “เอ็งกอ” จากนั้นพาข้ามจังหวัดไปยัง จ.อุทัยธานี จังหวัดเล็กๆที่แสนน่ารัก

จ๊อบ – นิธิ สมุทรโคจร และ โบ๊ท – ธารา ทิพา เดินทางออกโคจรกันต่อในเมืองชุมแสง พาไปพบกับหลุมหลบภัยโบราณ ที่ใช้สำหรับหลบระเบิดเมื่อเกิดสงครามในสมัยก่อน ต่อมาพาไปกินกุยช่าย ที่ร้านเจ้แมว กุยช่ายแป้งนุ่มใส่เน้นๆ ของเด็ดเมืองชุมแสงใครไม่ได้กินเหมือนมาไม่ถึง หลังจากนั้นพาไปพบกับไฮไลท์พิเศษที่เรียกว่า “เอ็งกอ” ซึ่งเป็นการแสดงของผู้กล้า 108 คน ซึ่งมาจากคนจีนที่อพยพมาอยู่ชุมแสง เมื่อมาเยือนทั้งทีสองหนุ่มก็ไม่พลาดที่จะขอลองเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเอ็งกอในครั้งนี้ ต่อมาออกเดินทางข้ามมายังอีกจังหวัดนั่นก็คือ จ.อุทัยธานี สัมผัสตลาดยามเช้าริมแม่น้ำสะแกกรังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความน่ารักของชาวอุทัยฯ อีกทั้งพาไปลิ้มลองกับขนมปังสังขยาไส้ทะลัก ที่เป็นต้นตำหรับของที่นี่ และอีกหนึ่งของเด็ดที่ไม่ควรพลาดกับขนมโบราณที่หาทานยากสุดๆ นั่นก็คือ “ขนมแคระ” ที่เป็นเจ้าเดียวในอุทัยฯ

สัมผัสความคลาสสิคและความน่ารักของสองจังหวัดนี้ได้ ในรายการสมุดโคจร On The Way วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง 28 (3SD) หรือติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

ตราด – นายภาวัต ฉิมวิเนตร หัวหน้าฝ่ายการตลาด สหกรณ์และวิสาหกิจในจังหวัดตราด เผยว่าหลังจากที่ราคาสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองตกต่ำ ทำให้สหกรณ์การเกษตรบ่อไร่ต้องเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่เป็นสมาชิกรับซื้อสับปะรดขนาด 1.3-1.5 กิโลกรัม ในราคา 8 บาท วันหนึ่งจะรับซื้อสับปะรดประมาณ 2,200 ลูก และกระจายส่งไปยังห้างสรรพสินค้า ราคาลูกละ 13-18 บาท จะเพิ่มการรับซื้อ ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรบ่อไร่มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก 50 ไร่ ปลูกสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง ประมาณ 100 ไร่ และ 1 ไร่ ให้ผลผลิต 5,000 ลูก เก็บผลผลิตไปแล้วบางส่วน ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้การปลูกสับปะรดมากขึ้น มาจากการโค่นต้นยางพาราและหันมาปลูกสับปะรดเพิ่มมากขึ้นนั้นเอง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตร จำกัด ส่งสับปะรดตราดสีทอง วันละ 3,500 ลูก วิสาหกิจชุมชนตราดสีทอง ส่งสับปะรดตราดสีทอง วันละ 6,500 ลูก คาดการณ์ผลผลิตในเดือนมีนาคมจะมีสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง จำนวน 4,097 ตัน ทั้งปีจำนวน 40,407 ตัน

การยางแห่งประเทศไทย เตรียมจัดงาน วันยางพาราแห่งชาติ ปี 2561 ร่วมน้อมรำลึก พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี บิดาแห่งยางพาราไทย และ หลวงราชไมตรี บิดาแห่งยางพาราตะวันออก ร่วมชมนิทรรศการชีวประวัติ พร้อมประดิษฐานและบวงสรวงอนุสาวรีย์ พระยารัษฎาฯ และ หลวงราชไมตรี ในวันที่ 10 เม.ย. นี้ ณ จ.จันทบุรี

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เห็นชอบให้ วันที่ 10 เมษายน ของทุกปี เป็นวันยางพาราแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันถึงแก่อนิจกรรมของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้ริเริ่มแนวคิดนำยางพารามาเป็นพืชเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดอาชีพชาวสวนยาง สร้างรายได้จากการทำสวนยางในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รวมถึงเป็นการเชิดชูเกียรติและรำลึกถึง บิดาแห่งยางพาราไทย และ หลวงราชไมตรี หรือ ปูม ปุณศรี ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกยางพาราในภาคตะวันออกคนแรก โดยจังหวัดจันทบุรี เป็นจุดกำเนิดยางพาราในเขตภาคตะวันออก

ในปีนี้ กยท. ได้เตรียมจัดงาน วันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยภายในงานจะมีนิทรรศการชีวประวัติของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี บิดาแห่งยางพาราไทย และ หลวงราชไมตรี บิดาแห่งยางพาราตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีพิธีประดิษฐานและบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ และ หลวงราชไมตรี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณและเชิดชูเกียรติของบิดายางพาราทั้ง 2 ท่าน ที่ได้สร้างคุณูปการไว้ให้แก่วงการยางพาราสืบมาจนถึงปัจจุบัน

โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่ภายใต้แผนงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ คาดว่าจะใช้งบประมาณกลางปี 2561 ประมาณ 190 ล้านบาท

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และชุมชน เพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม เสริมศักยภาพแหล่งน้ำ เช่น จัดทำระบบส่งน้ำใหม่ ทำคลองส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่มีการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสนับสนุนให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่รับประโยชน์นำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ เพื่อลดรายจ่ายครัวเรือน เพิ่มรายได้และส่งเสริมอาชีพให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชนตามโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเป็นงานต่อเนื่องจากบันทึกความเข้าใจเพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างปิดทองหลังพระฯ กับ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภายใต้แผนงานนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอขอรับงบประมาณกลางปี วงเงิน 190.398 ล้านบาท โดยจะนำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 198 โครงการ โดยมอบให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 9 จังหวัด ดังกล่าว ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 60 โครงการ น่าน 44 โครงการ บุรีรัมย์ 30 โครงการ อุดรธานี 17 โครงการ ยะลา 12 โครงการ ชัยภูมิ 10 โครงการ กาฬสินธุ์ 10 โครงการ ฉะเชิงเทรา 11 และปัตตานี 4 โครงการ มีประชาชนใน 47 อำเภอ ที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา

“ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมและได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพราะเห็นสอดคล้องกันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากการมีน้ำใช้ตลอดปี จึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง 9 จังหวัด”

การพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากประสบการณ์การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ส่วนราชการต่างๆ และชุมชน ทำงานร่วมกับปิดทองหลังพระฯ มา จะทำให้การทำงานเป็นไปได้โดยรวดเร็ว คาดว่าโครงการส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จภายใน 50 วัน และจะทยอยเสร็จไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ปี 2561 เป็นอย่างช้า

อุดรธานี – นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี (ทน.อุดรธานี) เผยว่า หลังจากรับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทยและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รางวัลชนะเลิศ เทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 2559 ทางเทศบาลเดินหน้าทำงานสานต่อโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยการจัดทำแอพพลิเคชั่น @นครอุดรธานี ให้ชาวเทศบาลอุดรโหลดใช้ ออกแบบให้เหมาะกับความต้องการของประชาชน

“แอพพลิเคชั่นจะอัพเดตความเคลื่อนไหวข่าวสารของเทศบาล กิจกรรมต่างๆ ประชาชนรับรู้ข่าวสาร ยังเปิดเป็น ช่องทางร้องทุกข์ปัญหาขอความช่วยเหลือจากประชาชน เรื่องจะถูกส่งต่อไปให้กับฝ่ายที่ดูแล รับผิดชอบและมีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลพร้อมกับนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้”

แอพพลิเคชั่น @นครอุดรธานี ยังทำหน้าที่รายงานสภาพการจราจรภายในเมืองเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเดินทางให้ทันกับเวลา และยังรวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินเพื่อให้ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้รวบรวมร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ของดีเมืองอุดร

ในส่วนนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับชาวอุดรและนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาเที่ยวในเขตเทศบาลอุดร ระบบเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรวดเร็ว เทศบาลพร้อมที่จะปรับปรุงระบบ โดยใช้ข้อมูลจากประชาชน มาเป็นโจทย์หลักสำคัญในการพัฒนา นอกจากนี้ทางเทศบาลยังมีแผนขยายจุดติดตั้ง cctv ระบบขนส่งมวลชน (city bus) รวมถึงเส้นทางจักรยานอัจฉริยะ (mobike)

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงกรณีมีการแชร์ในสังคมออนไลน์ถึงกรณีบอร์ด อภ. เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องกัญชาทางการแพทย์ที่ประเทศแคนาดา ว่า จากการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ พบว่า มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ซึ่งจะมีการออกประกาศว่าโรคใดที่สามารถใช้กัญชาบำบัดได้ เช่น อาการปวดเรื้อรัง อาการทางสมองบางอย่าง เป็นต้น โดยคนไข้ที่มีใบสั่งจากแพทย์จะสามารถปลูกกัญชาได้คนละ 4 ต้น เพื่อนำมาใช้ในการรักษาอาการ แต่การดำเนินการดังกล่าว พบว่า มีปัญหาคือ คุณภาพของกัญชาที่ไม่เท่ากัน และการลอบนำไปขายในตลาดมืด จึงมีการออกกฎหมายใหม่ โดยอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานในการปลูกกัญชาทางการแพทย์ได้ เพื่อควบคุมคุณภาพของกัญชาให้เท่ากัน

“อย่างโรงงานที่ทางคณะเดินทางไปศึกษาก็พบว่า เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เปิดดำเนินการมาได้ประมาณ 4-5 ปี โดยมีการปลูกภายในโรงเรือน เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศเมืองหนาว แต่กัญชาเป็นพืชเมืองร้อน จึงต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและแสงไฟให้เหมาะสม ในการควบคุมคุณภาพของสารสำคัญในกัญชาให้เท่ากัน และมีการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งทางนั้นระบุว่าสายพันธุ์ที่ดีที่สุดคือ กัญชาสายพันธุ์ประเทศไทยที่ให้สารสำคัญได้มากและมีคุณภาพ ซึ่งจะมีสารสำคัญอยู่ 2 ตัว ในการนำมาใช้ทางการแพทย์คือ สาร Cannabidiol (CBD) และ สาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งมีผลต่อการรักษาที่แตกต่างกัน” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการนำมาใช้ทางการแพทย์ จะใช้ต้นกัญชาตัวเมีย คือ ใช้ส่วนของดอก โดยส่งไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับใบสั่งแพทย์ให้ใช้กัญชาในการรักษา และมีการนำดอกมาสกัดทำเป็นน้ำมันกัญชา สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับใบสั่งจากแพทย์เช่นกัน ส่วนการควบคุมนั้นโรงงานที่ผลิตต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล การเข้าออกมีความปลอดภัยสูง เพราะจะมีการสแกนบัตรในทุกจุดที่เข้าไป เพื่อป้องกันกัญชาเล็ดลอดออกมาสู่ภายนอก และต้องมีการบันทึกรายละเอียดทั้งหมดว่ามีการปลูกเท่าไร ใช้ไปอย่างไร และต้องรายงานให้แก่รัฐบาลรับทราบ ซึ่งตนไม่คิดว่าอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ที่แคนาดาจะใหญ่ขนาดนี้ และมีมูลค่ามหาศาล อย่างบริษัทที่มาดูก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยกัญชาดอกหนึ่งราคาก็ตกกว่า 10,000 บาทแล้ว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยนั้น ก่อนอื่นคงต้องรอให้มีการแก้กฎหมายให้ชัดเจนว่า กัญชาสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ จึงจะสามารถขับเคลื่อนได้ ขณะเดียวกันทางนักวิชาการอย่างกลุ่มโรงเรียนแพทย์ก็ต้องศึกษาให้ชัดเจนว่าบทบาททางยาของกัญชาเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันมีการพูดถึงทั้งการรักษาลมชัก พาร์กินสัน แม้กระทั่งมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันกฎหมายให้มาขออนุญาตศึกษาได้ เมื่อคำตอบเรื่องบทบาททางยาของกัญชามีความชัดเจน และกฎหมายปลดล็อกให้ใช้ทางการแพทย์ได้ ก็ต้องมาดูว่าจะขับเคลื่อนต่อเพื่อนำกัญชามาใช้อย่างไร เช่น นำเข้าจากประเทศที่ผลิตแล้วอย่างแคนาดา เพื่อป้องกันปัญหาการปลูกแล้วเล็ดลอดหรือไม่ หรือหากจะดำเนินการปลูกและผลิตเองก็ต้องมาพิจารณาให้รอบคอบว่าจะปลูกและใช้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะกัญชาสายพันธุ์ไทยถือว่าเป็นกัญชาที่มีคุณภาพดี ซึ่งแคนาดาก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดำเนินการได้ดี